Skip to main content

 

 
          เสียงดังโหวกเหวงด้วยภาษามลายูท้องถิ่นดังไม่ขาดสาย ทำให้บรรยากาศดูอบอุ่นมาตั้งแต่เช้า เนื่องจากผู้มีน้ำใจมากหน้าหลายตาต่างมาร่วมกันลงแรงสร้างบ้านหลังใหม่ให้กับชาวบ้านที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก
 
          ผ่านไปเดือนเศษแล้วที่คนในหมู่บ้านปาตา อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ต้องประสบภัยพิบัติจากพายุและคลื่นทะเล จนทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหายสิ้น
 
          บ้านปาตาเป็นหมู่บ้านเล็กๆริมอ่าวปัตตานี ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมง เช่นเดียวกับอีก 26 ชุมชนรอบอ่าว ซึ่งพายุใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ทำให้หมู่บ้านนับสิบชุมชนต่างๆประสบความเสียหายกันถ้วนหน้า โดยมีบ้านเรือนที่พังยับและที่พังบางส่วน ร่วมพันหลัง
 
          นอกจากนี้เครื่องมือทำมาหากินต้องสูญหายไปจำนวนมาก เช่นเดียวกับเกลือที่กองรอขายมูลค่านับสิบล้านบาทที่ต้องละลายไปกับน้ำ จนเจ้าของนาต้องสิ้นเนื้อประดาตัว
 
         ชุมชนปาตาแยกออกมาจากชุมชนตันหยงลูโละ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่และมีตำนานเล่าว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาสิ้นชีวิตที่นี่ และในอดีตชาวบ้านตันหยงลูโละก็อาศัยใช้น้ำจากบ่อบ้านกรือเซะที่อยู่ห่างออกไป 2 กิโลเมตร เพราะดินที่นี่เปรี้ยวทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาบริโภคได้
 
          ชุมชนปาตามีบ้านได้รับความเสียหาย 11 หลัง แต่เนื่องจากที่ดินที่ชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นที่ดินสาธารณะ ซึ่งผู้อาวุโสบ้านตันหยงลูโละเห็นว่า ชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่มีที่อยู่ จึงสนับสนุนให้ย้ายมาอยู่ที่นี่ แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติ ทำให้ส่วนราชการกระอักกระอ่วนใจที่จะเข้ามาสร้างบ้านใหม่ให้เพราะระเบียบของทางการที่เอื้อประโยชน์เฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์
 
          ในที่สุดชาวบ้านทั้งมุสลิมและพุทธต่างร่วมแรงร่วมใจกันยกบ้านหลังใหม่ขึ้นมา ทำให้เจ้าของบ้านพอที่จะยิ้มออกได้ ขณะที่ทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ก็ได้รับมอบหมายให้สร้างบ้านบางส่วนด้วยเช่นกัน แต่ความคึกคักดูเหมือนจะเทไปที่บ้าน "ชาวบ้านช่วยชาวบ้าน” มากกว่า
 
           เสียงล่าถึงเหตุการณ์ในค่ำคืนนั้นดังไม่ขาดสาย ภัยธรรมชาติอันรุนแรงกลายเป็นฝันร้ายที่ชาวบ้านต่างจดจำและเล่าขานไปอีกนาน
 
           “น้ำมาหลายระรอก ตอนแรกสูงแค่เอว แล้วก็ลงไป ครั้งสุดท้ายสูงมาก ทำให้บ้านพังหมด แต่ผมพาครอบครัวหนีไปอยู่ที่บ้านใหญ่แล้ว” แวอาลี มะรอแม ยังคงมีน้ำเสียงตื่นเต้นทุกครั้ง เมื่อถ่ายทอดประสบการณ์หมาดๆให้เพื่อนๆต่างถิ่นฟัง “ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้เลย เคยเจอพายุหมุนครั้งหนึ่งตอนยังเด็ก แต่ก็ไม่มีน้ำท่วมมากเหมือนครั้งนี้”
 
           บ้านของแวอาลีสร้างด้วยอิฐบล็อค แต่ความรุนแรงของคลื่นลมทำให้ผนังอิฐทะลุและพังราบคาบ
ในชีวิตเขาไม่เคยคิดว่าอ่าวปัตตานีที่เคยคุ้มกายชุมชนมายาวนาน จะต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้
หรืออ่าวปัตตานีกำลังเปลี่ยนไป
 
            อ่าวปัตตานีมีพื้นที่ 75 ตารางกิโลเมตร โดยมีแหลมยื่นไปในทะเลที่เรียกกันว่าแหลมโพธิ์มีความยาว 22 กิโลเมตร
            ทุกตะกอนที่ไหลมาตามแม่น้ำปัตตานีและคลองยะหริ่ง สู่อ่าวปัตตานีทำให้เกิดนิเวศวัฒนธรรมที่สั่งสมเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่งในแหลมมลายู
 
            หลายปีมาแล้วที่มะรอนิง ตานอ ชาวบ้านบูดีกัมปง ชุมชนปลายสุดของแหลมโพธิ์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิทักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวปัตตานี
 
            ในอดีตเขามีอาชีพหาปลาในอ่าวปัตตานี ซึ่งมีรายได้เลี้ยงดูลูก 9 คนอย่างไม่เดือดร้อน ในยามขัดสนก็ยังจับหอยที่มีอยู่มากมาย ทั้งหอยแครง หอยขาว หอยตาควาย ขึ้นมาขายเป็นรายได้เสริม
 
            แต่ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ระบบนิเวศในอ่าวปัตตานีเปลี่ยนไปมาก ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว
 
            “นายทุนเข้ามาจับจองพื้นที่ในอ่าวทำเป็นที่เลี้ยงหอยแครงเยอะมาก พวกเราพยายามคัดค้านเพราะในอ่าวควรเป็นพื้นที่สาธารณะ พวกเขาไม่ยอมเข้าไปหากิน เขาคราดหอยทีก็ทำลายระบบนิเวศหมด” มะรอนิงสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในหลากหลายรูปแบบที่รุกรานวิถีชีวิตของชุมชน
 
            ในขณะที่ปากอ่าวปัตตานีกำลังแคบลงเรื่อยๆเพราะแนวกันคลื่นที่ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง พื้นที่หญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารและอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญได้หดแคบลงมาก เช่นเดียวกับการขุดรอกร่องน้ำและโครงการถมทะเลเพื่อพัฒนาท่าเรือ ซึ่งไม่มีการศึกษาและทำความเข้าใจในระบบนิเวศ ทำให้กลายเป็นตัวเร่งความเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้น
 
            รอบๆอ่าวยังมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย หลายแห่งประกอบกิจการอย่างมักง่ายโดยปล่อยน้ำเสียที่ไม่ได้บำบัดลงท้องอ่าว
 
            “ทุกวันนี้หาปลาในอ่าวอย่างเดียวไม่พอกินหรอก เด็กๆรุ่นใหม่ต่างก็หนีไปหางานทำในมาเลย์กันหมด ไปที่นู่นรายได้ดีกว่าทำงานอยู่แถวบ้านเยอะ” มะรอนิงเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่ชัดเจนคือในหมู่บ้านโดยรอบอ่าวแทบไม่มีกำลังแรงงานในวัยหนุ่มเหลืออยู่เลยเพราะพากันไปทำงานร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซียกันหมด
 
            เมื่อหลายปีก่อน เขาและชุมชนรวมตัวกันสร้างเขตอนุรักษ์หอยเพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรในน้ำกันอย่างทั่วถึง เช่นเดียวกับชาวบ้านอีกหลายชุมชนที่พยายามลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรของตัวเอง
 
            ชุมชนรอบอ่าวปัตตานีได้ทักทอกันเป็นเครือข่ายเพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้อยู่ยั่งยืนขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงของไฟใต้ที่ยังลุกโชน
 
            “เมื่อ 2-3 ปีก่อน พวกเราพยายามจัดตั้งสภาอ่าวปัตตานีขึ้นมา เพื่อให้พูดอะไร จะได้มีน้ำหนักขึ้น” เขาบอกถึงกลไกที่ชุมชนต่างๆร่วมกันสร้างขึ้น แม้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก แต่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านพยายามแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยระดมความคิดเห็นและยกระดับการรวมตัวของชุมชนให้แนบแน่นมากกว่าเดิม
 
            กลไกที่ชาวบ้านสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในนามเครือข่ายอนุรักษ์หรือสภาอ่าว ไม่เคยสร้างปัญหาหรือเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นใต้ดินหรือบนดิน นอกเสียจากพวกนักฉกฉวยผลประโยชน์โดยมิชอบ
 
            “ผมอยากให้หอย ให้ปลา กลับมาอยู่ในอ่าวอย่างอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม” มะรอนิงสวดขอพรพระเจ้าอยู่เป็นประจำ
 
            สภาอ่าวปัตตานีได้รับเสียงตอบรับจากเครือข่ายชุมชนต่างๆ นักวิชาการในม.อ.ปัตตานีและอีกหลายภาคส่วนอย่างคึกคัก
 
            ภาพความร่วมแรงร่วมใจกันสร้างบ้านให้ผู้ประสบภัย ตลอดจนการระดมสมองของชาวบ้าน ทำให้เกิดบรรยากาศอันอบอุ่นขึ้นมาในชุมชนอ่าวปัตตานี
 
            หลังพายุใหญ่ ท้องฟ้ามักแจ่มใส และธรรมชาติก็ยังให้โอกาสมนุษย์อยู่เสมอ
 
            แต่ที่น่าหนักใจคือภัยจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันเอง เพราะยิ่งเลวร้ายมืดดำขึ้นทุกที และยังไม่มีทีท่าว่าจะมีแสงให้พอมองเห็นอุ่นใจเหมือนฟ้าหลังฝนได้บ้างเลย
 
            บางทีชุมชนอาจต้องเปล่งประกายขับไล่ความมืดกันเอง
 
                                                                                                          ภาสกร จำลองราช