Skip to main content

ผู้หญิงภาคประชาสังคม 

"ในยามตะวันสาดแสงทาทาบทั่วหมู่บ้าน
หัวใจฉันสัมผัสผิวถนนสีขาวโรยด้วยกรวด ก้อนหิน
และต้นหญ้าที่แซมขึ้นท่ามกลางทางเดิน
ถึงกลิ่นยาสูบมอดไหม้ในมวนใบจาก
และควันพวยพุ่งจากเตาเผาถ่าน
โอ กระท่อมน้อยแสนรักใต้หลังคามุงจาก
วัยเยาว์อันแสนไกลพร่างพราวด้วยดวงดาว
กระชากหัวใจฉันแทบหลุดจากร่าง
ด้วยความอาลัยอาวรณ์คิดถึงเจ้า”..............

 นี่เป็นบทกวีที่นักกวีรางวัลซีไรต์คนล่าสุด ซาการีย์ยา อมตยา ได้ร้อยเรียงจากประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่เติบโตแถบเทือกเขาบูโด อำเภอบาเจาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเขารู้สึกผิดหวังเมื่อมีโครงการพัฒนาสร้างถนน จากที่มีดินทรายขาว ยามฝนตกน้ำก็จะซึม แต่เมื่อมีถนนใหม่ ถนนกลายเป็นสีแดงเป็นดินลูกรังยามฝนตกก็จะเป็นโคลน

คุณซาการีย์ยา อมตยา ย้อนชีวิตเมื่อสมัยจำความได้นั้น เขาเริ่มอ่านตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เขาอธิบายการอ่านที่ล้ำลึกและมีความหมายอย่างยิ่งว่า

การอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านตัวหนังสือ แต่อ่านชีวิต อ่านโลก อ่านต้นไม้ เช่นเดียวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเริ่มด้วยการอ่าน อ่านความคิดของคนอื่น อ่านโดยการสนทนา (Dialoged) เพราะการอ่านสามารถเปิดโลกทัศน์ เปิดโลกใหม่ และที่สำคัญจะได้รู้ว่าเขาชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร และเห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซาการีย์ยา  อมตยาได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ณ โรงแรมซีเอส. ปัตตานี เขาเล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ ก็หยิบหนังสือแล้ว เนื่องจากพี่สาวทุกคนเรียนหนังสือ ที่บ้านจึงมีหนังสือจำพวกนิตยสาร ขวัญเรือน นานา แม้ว่าเขาจะอ่านไม่ได้ แต่เพียงแค่หยิบดูรูปเท่านั้น แต่เมื่ออ่านอ่อนเสียงได้ เขาก็เริ่มอ่านคอลัมภ์เด็ก และ เรื่องต่างแดน ซึ่งเป็นจุดประกายให้เขาอยากไปต่างประเทศ

สำหรับหนังสือที่ซาการีย์ยาประทับใจ และทำให้เขามีความกล้าที่จะใฝ่ฝัน คือช่วงที่อยู่ชั้น ป.4 เขาได้อ่านนิยายเรื่อง “แผ่นดินนี้เราจอง” ซึ่งเป็นหนังสือแปล เขียนโดย รีชาร์ด โกเวล ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงเรื่อง สิทธิพลเมือง ของครอบครัว ตระกูลกิปเปอร์จากประเทศอเมริกา
“มีอยู่วันหนึ่งครอบครัวนี้ได้ไปเที่ยวกับรถคันหนึ่งแต่ช่วงขากลับ พวกเขาตัดสินใจเลือก เส้นทางที่คนไม่ค่อยผ่าน ปรากฏว่า รถยนต์เสีย พวกเขาก็เลยหาเศษไม้เพื่อสร้างกระท่อมหลังเล็ก ๆ แต่เมื่อได้อยู่นาน ๆ พวกเขากลับติดใจเพราะบริเวณนั้นอยู่ริมทะเล อากาศดี พวกเขาจึงตัดสินใจปักหลัก และเริ่มสร้างบ้านที่ถาวร ทั้งนี่ตามกฎหมายอเมริกานั้น แผ่นดินที่ไม่มีใครจับจองมาก่อน หากครบกำหนดเวลาที่อาศัย และ มีโรงเรืองที่ถาวรแล้ว ก็จะตกเป็นเจ้าของ

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจดู ก็กลับรู้สึกชอบด้วย จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาคืน แต่ตามกฎหมายไม่สามารถไล่ทันที สุดท้ายเจ้าหน้าที่รัฐก็เลยกลั่นแกล้งโดยการทิ้งระเบิดในทะเล เพื่อให้เกิดพายุพัดบ้าน บ้านเขาจึงถูกพัดหมด เหลือเสาที่เป็นหลักฐานว่าเป็นโรงเรือนที่ถาวร ตระกูลนี้ก็เลยชนะว่าความในศาล แผ่นดินผืนนั้นจึงตกเป็นของพวกเขา จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่อง “แผ่นดินนี้เราจอง”
ซาการ์รียาย้ำว่า นิยายเรื่องนี้สอนเขา เรื่อง “สิทธิพลเมือง” หรือ “เสรีภาพ” หากไม่รู้กฎหมาย หรือ สิทธิของพลเมือง ก็จะทำให้รัฐ หรือคนอื่นเอาเปรียบ หรือถูก กดขี่ได้

เมื่อมีความรู้ ก็จะทำให้เรามีความกล้าที่จะใช้กฎหมาย และ รู้ สิทธิ หน้าที่ ตราบใดที่เรามีบัตรประจำตัวประชาชน ก็ถือเป็นสิทธิพลเมืองอย่างถูกต้อง และไม่ต้องกลัวอะไร ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่รู้สิทธิ หน้าที่ ทำให้เรารู้สึกว่า เราถูกกดขี่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตามงานเขียนของเขาไม่ได้เน้นเรื่องสามจังหวัดภาคใต้อย่างเดียว แต่เขาเลือกที่จะเขียนเพื่อคนทั้งโลก ให้ได้อ่านเรื่องราวความรู้สึกนึกคิดของเขา เพราะเขามองว่า ไม่ว่ามนุษย์จะมีเชื้อชาติ ศาสนาใด ก็มีความรู้สึก หิว หรือเจ็บเหมือนกัน

อย่างเรื่องการตาย หากเป็นความตายที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าเขาเป็นคนเชื้อชาติ ศาสนาใด คนที่ตายราชประสงค์ หรือ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่เห็นด้วย
“ถ้าแค่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเราเป็นคนสามจังหวัด หรือเพราะเราเป็นพี่น้องมุสลิม และ ดีใจกับการตายของคนที่ราชประสงค์ เช่นนั้น จิตสำนึกของผมรับไม่ได้ แต่ต้องไปไกลมากกว่า ชาติ ศาสนา เพราะมนุษย์มีความเหมือนกัน คือ ความเป็นมนุษย์ นั่นหมายความว่า หากมีการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ เราก็ต้องไม่เห็นด้วยกับความอธรรมนั้น”

ซาการีย์ยา ยังบอกเพิ่มเติมว่า อย่าคิดว่า เป็นมุสลิม หรือเป็นคนสามจังหวัดแล้วจะไม่มีสิทธิได้รางวัล เพราะเขาเปิดพื้นที่เหล่านี้โดยไม่ได้ปิดกั้นเพื่อคนกรุงเท่านั้น แต่เขาพร้อมที่จะตีพิมพ์หนังสือมุสลิม ถ้ามันดีจริง
การถ่ายทอดข้อเท็จจริงเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพียงแค่เปิดโอกาสให้ตัวเอง โดยการมุ่งมั่นอดทน แต่ต้องเลือกทำในสิ่งที่เราชอบ และมีความสุข

ส่วนบทบาทของครอบครัวจำเป็นต้องปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน ซาการีย์ยา แนะว่า อันดับแรกต้อง ต้องสร้างบรรยากาศในบ้าน เช่น ให้มีหนังสือในตู้หลาย ๆ เล่ม อ่านนิทานให้ลูกฟังบ้าง หรือซื้อหนังสือเป็นของขวัญ หรือให้เขาสมัครเป็นสมาชิกโดยให้เด็กเลือกว่า จะเอาหนังสือประเภทไหน
ทั้งนี้ อัลกุรอาน อายะห์แรกที่ถูกประทานมา คือ “อิกรออ์” แปลว่า “จงอ่าน” ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะ อ่านอัลกุรอานเท่านั้น แต่อ่านชีวิต อ่านโลก อ่านต้นไม้เพื่อครุ่นคิด ในอัลกุรอานได้พูดถึงเรื่องการครุ่นคิดหลายครั้งหลายครา และกล่าวถึงขบวนการเรียนรู้ด้วย

ซาการีย์ยา ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่จะเป็นอูลามาอ์ ไม่ใช่ต้องเรียนศาสนาอย่างเดียว เพราะอูลามาอ์ สมัยท่านนบี นอกจากเป็นผู้นำศาสนา แต่พวกเขามีความรู้บูรณาการมาก บางคนเป็นแพทย์ เป็นนักดาราศาสตร์พร้อมกันด้วย ในขณะที่ปัจจุบันศาสนากลับถูกแยกจากความรู้ทางโลก

เมื่อถามถึงบทบาทการแก้ปัญหาสามจังหวัดในฐานะนักกวี เขาบอกว่า สิ่งเดียวที่บอกได้ขณะนี้คือ การสนทนา (Dialogue) แต่ขณะนี้ไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร แต่หากได้คุยกันแล้ว จะทำให้เรารู้ว่า คนอื่นชอบ และไม่ชอบอะไร และ รู้ว่าคนอื่นคิดอะไรอยู่บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเพราะไม่ได้มีการคุยกัน ส่งผลให้มีการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน และรุนแรงกัน ซึ่งการใช้อาวุธ ก็เป็นการใช้ภาษาอย่างหนึ่ง ซึ่งเขายอมรับว่ายังไม่เข้าใจอะไรอีกมากมาย แต่สิ่งที่รู้คือ คนในพื้นที่ไม่ได้ต้องการอะไรนอกจาก ต้องการ “สามารถปฏิบัติศาสนกิจ ทำงาน ส่งลูกเรียน และได้งานทำ”
สำหรับ อีกข้อเสนอหนึ่ง คือ “การศึกษา” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนสามจังหวัดฯ เพราะความรู้จะนำไปสู่ความดี ความคิดที่ดี สามารถประเมินความจริงว่าอะไรเป็นเรื่องจริงไม่จริง รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร และสามารถเลือกหนทางได้หลากหลาย มากกว่านั้นหากคนมีความรู้แล้ว เขาจะมีความเอื้ออาทรต่อมนุษย์ จรรโลงสังคมโลก และจะไม่กลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป