Skip to main content
เผยแพร่วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554
 
 
แถลงการณ์
ปืนก็ยังถูกปล้น คนก็ยังหาย
ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีคิด การเจรจาคือทางออกร่วมกัน
กระบวนการสันติภาพต้องเริ่มจากรัฐและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
 
 
จากเหตุการณ์ปะทะระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับเจ้าหน้าที่ทหารในฐานปฏิบัติการ ร้อย ร.15121 ฉก.38จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554 ส่งผลมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และมีรายงานว่าอาวุธสงครามซึ่งเป็นปืนและเครื่องกระสุนจำนวนหนึ่งถูกปล้นไปตามข่าวระบุว่าเป็นจำนวน 50-60 กระบอก อาจไม่มีนัยสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ของการครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์การปล้นปืนเมื่อปีพ.ศ. 2547 แต่ก็เป็นสัญญานเตือนภัยให้กับคนทำงานทั้งรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน ว่าแนวทางสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมานั้นยังล้มเหลวและขาดเอกภาพจนเสียงปืนปะทะต่อสู้กันเฉกเช่นภาวะสงครามเกิดขึ้นอีกครั้ง
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ่งต่อครอบครัวของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บทุกท่านในเหตุการณ์ครั้งนี้ และหวังว่าบทเรียนการสูญเสียในครั้งนี้จะนำไปสู่การปฎิบัติหน้าที่ในแนวทางที่ส่งเสริมการพัฒนาและสันติที่ยังยืน
 
ในห้วงเวลาเดียวกันวันนี้ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ศาลอุทธรณ์ กรุงเทพได้นัดฟังคำพิพากษาคดีอาญาอันเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ศาลอุทธรณ์ได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปเป็นครั้งที่สอง โดยกำหนดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554[1] และก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคมพ.ศ. 2553 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้แถลงถึงกรณีผลการพิจารณาชี้มูลความผิดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาพลตำรวจนายหนึ่งและพวกรวม 19 นาย กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมกันกลั่นแกล้งผู้ต้องหาคดีปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นปฐมบทความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ลุกลามกว้างขวางทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องบาดเจ็บและล้มตายจนปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตกว่า 4000 คน โดยใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนด้วยอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษกว่า 6 ปีและ ปปช. ใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อชี้มูลเป็นเวลากว่า 3 ปี ผลการพิจารณาเป็นแต่เพียงว่าการซ้อมทรมานไม่มีหลักฐาน เป็นต้น
 
กรณีการปล้นปืนและกรณีทนายความของผู้ต้องหาปล้นปืนถูกบังคับให้หายไปในปีพ.ศ. 2547 เป็นปรากฎการณ์ความรุนแรงทางกายภาพและทางอาวุธ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นภาพซ้ำ ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนคลื่นหัวใจที่มีแต่ความไม่แน่นอนท่ามกลางความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ข้าราชการครู เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งไทยพุทธและมุสลิมอย่างไม่เลือกปฏิบัติทั้งเพศและวัย พบว่าผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงทางอาวุธต่อกันในจำนวนไม่น้อย   จากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหม่ในปีพ.ศ. 2554 และไม่คืบหน้าของคดีสำคัญในจังหวัดชายแดนใต้เช่นคดีทนายสมชาย คดีตากใบ คดีกรือเซะ คดีไอปาแย ที่ยังมีความกังขาในกลไกตรวจสอบและการนำคนผิดมาลงโทษของรัฐ แม้ในขณะเดียวกันจะมีความพยายามในการพูดคุยเรื่องการปกครองพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง การแก้ไขปรับเปลี่ยนการบังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การริเริ่มยกเลิกพรก.ฉุกเฉินในอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานีโดยจะนำกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มาใช้ การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของรัฐเช่นการผ่านพรบ.ศอบต. เพื่อให้พลเรือนมีบทบาทในการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น การปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ การปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ   รวมทั้งเสริมเพิ่มงบประมาณและกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ได้ใช้งบประมาณรัฐไปจำนวนไม่น้อยกว่า 1.4 แสนล้านบาทตลอดระยะเวลา 7 ปี เป็นต้น
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอสนับสนุนแนวทางการเจรจาโดยมีคนกลางจากภายนอกเพื่อเป็นจุดเริ่มที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้ โดยมีข้อเสนอดังนี้คือรัฐต้องทบทวนและศึกษาถึงวิธีการสร้างสันติภาพแนวใหม่ที่เป็นที่ยอมรับกันในทางสากลว่าจะสามารถนำไปสู่สันติภาพได้แทนการปฎิบัติการทางทหารและการตอบโจทก์โดยไม่ได้ถามและโดยไม่ได้มีการเจรจาต่อรอง การเจรจาคือทางออกร่วมกัน โดยกระบวนการสันติภาพดังกล่าวต้องเริ่มจากทั้งสองฝ่ายอย่างจริงจัง การเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษทั้งในและต่างประเทศดำเนินการโดยความร่วมมือของรัฐ กลุ่มก่อการความไม่สงบ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทั้งนี้รัฐต้องเริ่มด้วยการแสดงความจริงใจและเจตจำนงในการเจรจากับทุกฝ่าย อย่างมุ่งมั่น อดทนอดกลั้น เป็นพลังให้ทุกภาคส่วนกดดันกลุ่มก่อความไม่สงบให้ยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อการเรียกร้องทางการเมืองดังที่เป็นมาตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ปืนก็ยังถูกปล้น คนก็ยังหาย