Skip to main content
สรุปสถานการณ์  
มกราคม 2554
 
ประเทศไทย
ความไร้เสถียรภาพ และการแบ่งขั้วทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไปในปี 2553 ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นเป็นครั้งคราว ในช่วงที่เกิดการต่อสู้กันบนท้องถนนด้วยสาเหตุทางการเมืองระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 2,000 คน คำสัญญาสาธารณะของรัฐบาลไทยที่กล่าวไว้ว่า จะให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ความปรองดองทางการเมือง และความรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมา
 
ความรุนแรงทางการเมือง

ภายหลังจากที่เริ่มการชุมนุมอย่างค่อนข้างสันติมาได้หนึ่งเดือน เมื่อวันที่ 7 เมษายน ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลจากแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ได้เคลื่อนขบวนไปบุกรัฐสภา ทำให้คณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาต้องหนีออกจากอาคาร นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน และทหารขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ และบังคับใช้อำนาจฉุกเฉิน
 
ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน ศอฉ. ระดมทหารนับพันนายเพื่อพยายามยึดพื้นที่สาธารณะคืนจากการครอบครองของ นปช. หรือ “คนเสื้อแดง” การดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงรอบๆ บริเวณสะพานผ่านฟ้า ตกกลางคืนทหารถูกกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า “คนชุดดำ” ซุ่มโจมตีด้วยอาวุธหนัก ทั้งนี้ กองกำลัง “คนชุดดำ” ดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับ นปช. และปฏิบัติการคู่ขนานกันไปกับ นปช. ขณะเดียวกันก็มีการ์ด นปช. และผู้ประท้วงบางคนใช้อาวุธ เช่น ปืนพก วัตถุระเบิดที่ทำขึ้นเอง ระเบิดเพลิง และหนังสติ๊กโจมตีทหาร ในระหว่างที่ทหาร ซึ่งอยู่ในภาวะแตกตื่นล่าถอยนั้น ทหารได้ยิงกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ประท้วง รัฐบาลรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 26 คน (รวมทั้งทหารห้าคน) และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 960 คน (รวมทั้งทหาร 350 คน) ในเหตุการณ์ครั้งนี้
 
ระหว่างวันที่ 23 และ 29 เมษายน กลุ่มการ์ดติดอาวุธของ นปช. บุกเข้าค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทุกคืน โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางคนยินยอมให้ทหาร และผู้สนับสนุนรัฐบาลเข้ามาใช้โรงพยาบาลเป็นสถานที่หลบซ่อนตัว ทำให้โรงพยาบาลต้องย้ายคนไข้ออกไป และปิดการให้บริการเกือบทั้งหมดเป็นการชั่วคราว
 
การเจรจาระหว่างสองฝ่ายในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมตามข้อเสนอ 5 ข้อของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ต้องล้มเลิกไป เมื่อพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของทักษิณ ได้ร่วมมือกับแกนนำหัวรุนแรงคนอื่นๆ พยายามยึดอำนาจจากแกนนำของ นปช. กลุ่มที่พยายามเดินสายกลาง ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ประกาศเตือนว่ารัฐบาลวางแผนสลายการชุมชนของ นปช. ที่บริเวณแยกราชประสงค์
 
ระหว่างที่กองกำลังของรัฐบาลเคลื่อนเข้าโอบล้อมบริเวณที่ชุมนุมของ นปช. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมนั้น มือปืนไม่ทราบฝ่ายลอบยิงพลตรี ขัตติยะ ซึ่งเขาเสียชีวิตในอีกสี่วันต่อมา ความรุนแรงยกระดับสูงขึ้นเมื่อผู้ประท้วงฝ่าย นปช. และกองกำลัง “คนชุดดำ” เริ่มต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มาโอบล้อมที่มั่นของพวกตน ศอฉ. ประกาศกฎการปะทะ ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กระสุนจริงได้ในกรณีต่อไปนี้ คือ 1) เป็นการยิงเตือนเพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ประท้วงเคลื่อนเข้ามาประชิด 2) เป็นการป้องกันตัว และ 3) เมื่อเจ้าหน้าที่มองเห็น “ผู้ก่อการร้าย” ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ให้คำนิยามที่ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติการจริงนั้น พลซุ่มยิงของกองทัพยิงทุกคนที่ล้ำเข้าไปเขต “ห้ามเข้า-ออก” ระหว่างแนวเครื่องกีดขวางของฝ่าย นปช. กับแนวของทหาร หรือใครก็ตามที่ขว้างปาสิ่งของใส่ทหาร นอกจากนี้ บางครั้งทหารก็ยิงเข้าใส่ฝูงชนฝ่ายผู้ประท้วงด้วยเช่นกัน
 
วันที่ 19 พฤษภาคม รัฐบาลเริ่มปฏิบัติการทางทหารเพื่อยึดพื้นที่คืนรอบๆ บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งนำไปสู่การสู้รบกันบนท้องถนนอีกครั้งหนึ่ง โดยทหารใช้กระสุนจริง ขณะที่ผู้ประท้วงฝ่าย นปช. บางส่วน และกองกำลัง “คนชุดดำ” ก็ยิงต่อสู้กับทหาร ประมาณเที่ยงวันแกนนำคนสำคัญของ นปช. ยอมเข้ามอบตัว ส่วนผู้ประท้วงนับพันพากันไปหาที่หลบภัยในวัดปทุมวนาราม ซึ่งถูกประกาศให้เป็นเขตปลอดภัย (“เขตอภัยทาน") โดยการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง นปช. กับรัฐบาลก่อนหน้านี้ การสอบสวนขององค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช โดยอาศัยปากคำของพยานผู้เห็นเหตุการณ์ และหลักฐานทางนิติเวชวิทยาพบว่า ทหารใช้ปืนยิงใส่ผู้ที่เข้ามาหลบภัยอยู่ในวัด ทำให้มีเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์อาสา และประชาชนเสียชีวิตหกคน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน ภายหลังจากการเข้ามอบตัวของแกนนำ นปช. ผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่ง และกองกำลัง “คนชุดดำ” ก็เริ่มบุกปล้นสะดม และวางเพลิงเผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และสถานที่อื่นๆ ในกรุงเทพเป็นเวลาสองวัน นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม โดยปฏิบัติการดังกล่าวมีลักษณะของการวางแผนประสานงานกัน อนึ่ง ก่อนหน้านี้ แกนนำคนสำคัญของ นปช. ยุยงให้ผู้ที่สนับสนุนฝ่ายตนลงมือปล้นสะดม และวางเพลิง ถ้าหากรัฐบาลใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของ นปช.
 
การต่อสู้กันบนท้องถนนทำให้ผู้สื่อข่าว และช่างภาพได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยเก้าคน โดยมีผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติเสียชีวิตสองคน กลุ่มผู้ประท้วง นปช. บุกเข้าเผาสำนักงานใหญ่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ในกรุงเทพฯ และเผาสำนักงานสาขาในต่างจังหวัดของสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม โดยกล่าวหาว่าสถานีทั้งสองแห่งรายงานข่าวด้วยอคติเข้าข้างรัฐบาล
 
ในวันเดียวกันนั้น ผู้สนับสนุน นปช. ในต่างจังหวัดได้ก่อจลาจล และเผาสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายในจังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี และมุกดาหาร ในเหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงปืนเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสามคน และบาดเจ็บอีกนับสิบคน
 
ตลอดปี 2553 มีการโจมตีด้วยระเบิดในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ หลายครั้ง โดยมีเป้าหมาย คือ สถานที่ราชการ และค่ายทหาร รวมทั้งการใช้ระเบิดโจมตีกลุ่มการเมือง บริษัท และทรัพย์สินของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับ นปช. ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 22 เมษายน มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลใกล้แยกศาลาแดง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน และบาดเจ็บอีก 85 คน
 
เพื่อปูทางไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ สนับสนุนให้มีการสอบสวนด้วยความเป็นกลางเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากกระทำของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม นปช. กล่าวว่ากระบวนการสอบสวนนี้ไม่เป็นอิสระ และไม่เป็นกลางอย่างแท้จริง รวมทั้งยังขาดความร่วมมืออย่างเต็มที่จากกองทัพ จนถึงขณะนี้ การสอบสวน ทั้งในส่วนที่ดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และโดยคณะกรรมาธิการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อความปรองดอง (คอป.) ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเป็นพิเศษยังมีความคืบหน้าน้อยมาก

การควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน รัฐบาลประกาศพระราชกำหนดในการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด
 
พระราชกำหนดฉบับนี้อนุญาตให้ ศอฉ. สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีข้อกล่าวหาได้นาน 30 วันในสถานที่คุมขังที่ไม่เป็นทางการ และยังให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ถูกดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจากการกระทำส่วนใหญ่ที่เป็นการบังคับใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนด
 
ศอฉ. ทำการสอบสวน จับกุม และควบคุมตัวแกนนำ และสมาชิกของ นปช. ที่ร่วมในการประท้วง รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสนับสนุน นปช. นอกจากนี้ ศอฉ. ยังได้ออกหมายเรียกบุคคลอีกนับร้อยมาสอบสวน ซึ่งประกอบด้วยนักการเมือง อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักธุรกิจ นักกิจกรรม นักวิชาการ และผู้จัดรายการวิทยุ รวมทั้งยังอายัติบัญชีธนาคารของบุคคล และบริษัท ตลอดจนได้ควบคุมตัวบุคคลบางคนไว้ในเขตทหาร ศอฉ. ออกคำสั่งให้ผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติ ผู้สื่อข่าวไทย และเจ้าหน้าที่ในหน่วยแพทย์อาสาไปรายงานตัวต่อกองบัญชาการของ ศอฉ. และแสดงหลักฐานยืนยันคำแถลงต่อสาธารณะของบุคคลเหล่านั้นที่ระบุว่า พวกตนเห็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ขณะที่องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชเขียนรายงานสรุปสถานการณ์ประจำปีนี้ รัฐบาลยังไม่แสดงข้อมูลว่า บุคคลที่ถูก ศอฉ. ควบคุมตัวไว้ โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหานั้น มีจำนวนทั้งสิ้นเท่าไร และบุคคลเหล่านั้นถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน

การปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ศอฉ. อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินปิดเว็บไซต์มากกว่า 1,000 แห่ง และปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหนึ่งสถานี รวมทั้งยังได้ปิดช่องโทรทัศน์ออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสถานีวิทยุชุมชนอีกมากกว่า 40 สถานี โดยสื่อมวลชนต่างๆ ที่ถูกปิดเกือบทั้งหมดนั้นถือได้ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกับ นปช.
 
นอกจากนี้ รัฐบาลยังอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และข้อหาเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต และดำเนินคดีกับผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับ นปช. โดยกล่าวหาบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นผู้ที่สร้างกระแสต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ จีรนุช เปรมชัยพร เว็บมาสเตอร์ของประชาไท ถูกจับเมื่อวันที่ 24 กันยายน ด้วยข้อหาการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการส่งข้อความจากผู้อ่านที่ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามายังกระดานสนทนาของเว็บไซต์ประชาไทเมื่อปี 2551
 
นโยบายการต่อต้านยาเสพติดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลสนับสนุนให้มีการรื้อพื้นการสอบสวนกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการค้ายาเสพติดจำนวน 2,819 คนถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่มีการประกาศ “สงครามยาเสพติด” เมื่อปี 2546 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความคืบหน้าน้อยมาก ทั้งในส่วนของการนำตัวผู้กระทำผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรม และในส่วนของการยุติการกระทำทารุณอย่างเป็นระบบของตำรวจ และการใช้อำนาจโดยมิชอบในปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด ในเดือนมิถุนายน 2553 ตำรวจจังหวัดราชบุรียิง และสังหาร มานิตย์ ตุ้มเมือง ผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติด ขณะที่เขาถูกใส่กุญแจมือ และอยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจ
 
ยังคงมีความห่วงใยต่อการนำผู้ใช้ยาเสพติดไปควบคุมตัวในศูนย์บังคับบำบัดการติดยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยกองทัพ และกระทรวงมหาดไทย โดย “การบำบัด” ดังกล่าวนั้นอาศัยการออกกำลังกายตามแบบทหาร โดยมีการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์น้อยมากในกรณีที่เกิดอาการลงแดง

ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชแสดงความห่วงใยต่อข้อกล่าวหาว่า มีการปฏิบัติที่ไม่ชอบต่อผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบที่ถูกคุมขัง สืบเนื่องมากจากกรณีการเสียชีวิตของสุไลมาน นะแซ ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ชาวมุสลิม และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ยังมีข้อร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการลอบสังหารครูสอนศาสนา และผู้นำชุมชนที่ถูกสงสัยว่ามีส่วนพัวพันกับการแบ่งแยกดินแดน โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินคดีอาญาที่บรรลุผลสำเร็จในกรณีเหล่านั้นแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 1 กันยายน ตำรวจยกเลิกการตั้งข้อหาทางอาญาต่อสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ สมาชิกกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการฝึกอบรมจากกองทัพบก ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำการบุกโจมตีผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มัสยิดอัลฟาร์กอน เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บอีก 12 คน
 
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังคงโจมตี และสังหารพลเรือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงครูโรงเรียนรัฐบาล รวมทั้งยังได้ข่มขู่คุกคามครู และผู้บริหารโรงเรียนรัฐบาล จนทำให้ต้องมีการปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราว เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ายึดครองโรงเรียนบ่อยครั้ง และได้เปลี่ยนโรงเรียนเป็นค่ายทหาร ซึ่งส่งผลกระทบที่บั่นทอนคุณภาพของการศึกษา ผู้ก่อความไม่สงบได้รับนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเข้าร่วมขบวนการ และมีบทบาทต่างๆ ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาล เช่น ให้ทำหน้าที่เป็นสายข่าว หรือวางเพลิงเผาสถานที่ต่างๆ ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็บุกเข้าไปในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม พร้อมกับควบคุมตัวครู และนักเรียนมาสอบปากคำหลายครั้ง

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย และคนงานย้ายถิ่น

รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของทางการไทยละเมิดหลักการระหว่างประเทศ โดยมีการส่งตัวผู้ลี้ภัย และผู้แสวงความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่บุคคลเหล่านั้นอาจจะถูกลงโทษ ถึงแม้จะมีการแสดงความไม่เห็นชอบจากประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งการคัดค้านอย่างจริงจังโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และเลขาธิการสหประชาชาติ แต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 กองทัพบกก็ดำเนินปฏิบัติการบังคับส่งกลับชาวม้ง 4,689 คนไปยังประเทศลาว ซึ่งรวมถึงผู้ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่าเป็น “บุคคลที่พึงห่วงใย” จำนวน 158 คนด้วย ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2553 รัฐบาลไทยส่งตัวชาวพม่าหลายพันคนที่หลบหนีการสู้รบในบริเวณชายแดนกลับไปยังประเทศพม่า ก่อนที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติจะมีโอกาสประเมินว่า บุคคลเหล่านั้นประสงค์จะเดินทางกลับด้วยความสมัครใจหรือไม่
 
เมื่อเดือนตุลาคม ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุมชาวทมิฬ 128 คน ในข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยในจำนวนนี้มีหลายคนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองข่มขู่ว่าจะส่งตัวบุคคลกลุ่มนี้ว่ากลับไปยังประเทศศรีลังกา
 
รัฐบาลไทยยังไม่ดำเนินการตามคำสัญญาที่ระบุว่าจะให้มีการดำเนินการสอบสวนที่เป็นอิสระเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่า เมื่อปี 2551 และ 2552 กองทัพเรือไทยได้ผลักดันเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาจากประเทศพม่า และบังคลาเทศมาเต็มลำกลับออกไปยังน่านน้ำสากล ซึ่งส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน จนถึงขณะนี้ ชาวโรฮิงญา 54 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์กักกันของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ยังไม่สามารถเข้าถึงกลไกตรวจสอบสถานะผู้ลี้ภัย หรือได้รับการดูแลรักษาพยาบาลตามความจำเป็นใดๆ อนึ่ง ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้เสียชีวิตในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวไปแล้วสองคนเมื่อปี 2552
 
คนงานย้ายถิ่นจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาวยังคงถูกตำรวจ ข้าราชการ นายจ้าง และเหล่ามิจฉาชีพในท้องที่ต่างๆ ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยแทบจะไม่ได้มีการลงโทษใดๆ ต่อผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนงานย้ายถิ่นเหล่านั้น และยังมีการใช้กฎหมายแรงงานไทยเข้ามาดูแลคนงานย้ายถิ่นน้อยมาก การบังคับใช้โครงการขึ้นทะเบียนเพื่อ “การรับรองสัญชาติ” ที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลทำให้คนงานย้ายถิ่นจำนวนนับแสนคนต้องสูญเสียสถานภาพตามกฎหมาย และทำให้บุคคลเหล่านั้นตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบมากยิ่งกว่าเดิม ซึ่งรวมถึงการที่ทำให้คนงานย้ายถิ่นหญิงต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์มากยิ่งขึ้นด้วย

ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลไทยมีความคืบหน้าน้อยมากในการสอบสวนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน 20 คนถูกสังหารไปก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงกรณีของทนายความชาวมุสลิม สมชาย นีละไพจิตร ซึ่งถูกทำให้ “สูญหาย” ไปเมื่อปี 2547 และเชื่อได้ว่าเขาถูกสังหารไปแล้ว
 
ตัวแสดงระหว่างประเทศ

สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรปแสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขันให้เกิดความปรองดองทางการเมือง และการฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน และระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาล และ นปช. เจรจากัน และขอให้ละเว้นการใช้ความรุนแรง สหประชาชาติจัดให้มีการฝึกอบรม และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่กระบวนการสืบสวนที่มีเป้าหมายในการนำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการสร้างความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
 
เมื่อเดือนตุลาคม นปช. ได้เสนอรายงานต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ผ่านสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศที่ทักษิณเป็นผู้ว่าจ้าง โดยร้องขอให้มีการสอบสวนเรื่องที่มีการกล่าวหาว่า รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของทางการไทยก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในระหว่างที่มีการสลายการชุมนุมประท้วงของ นปช.
 
ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายประการในการรณรงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และยังได้สร้างความคาดหวังมากขึ้น เมื่อเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน แต่จนขณะนี้ ยังมีความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำสัญญาเหล่านั้นน้อยมาก