Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

 

แม้สัญญาณการเลือกตั้งทั่วไปจะเริ่มปรากฏขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะก่อความมั่นใจถึงเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง

ในภาวะที่ปัญหาสารพันก่อตัวสุมรุมอยู่ในขณะนี้ กล่าวได้ว่าแทบจะไร้ความหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีความเข้มแข็งมั่นคง

สถานการณ์เช่นนี้น่าเป็นห่วงยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัญหากำลังเข้าสู่ภาวะแห่งการท้าทายสำคัญ

ช่วงเวลานี้อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้กำลังเข้าสู่วิกฤติ แม้ตัวเลขจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงจะลดลง แต่การปะทะกันระหว่างแนวทางการใช้มาตรการทางทหาร และแนวทางสันติวิธีที่ยึดมั่นในประเด็นสิทธิมนุษยชนกำลังเริ่มขึ้น

ตราบเท่าที่ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในแนวทางความคิดของตนเองอย่างเข้มข้น การปะทะกันของทั้งสองแนวทาง ย่อมซ้ำเติมสถานการณ์ให้ยุ่งยากขึ้นโดยไม่จำเป็น

ในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหารอย่างเบ็ดเสร็จ วันนี้อำนาจของแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 มีอยู่สูงยิ่ง

การกดดันทางทหาร ซึ่งอาจทำให้จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงลดลง ทำให้สังคมไทยส่วนใหญ่เริ่มเชื่อว่า นี่คือแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา แต่ความเปราะบางของสถานการณ์ก็คือ ด้วยระยะเวลาสั้นๆ ยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่า แนวทางนี้ได้ผลจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันการถอนแกนขบวนการใต้ดินออกนอกพื้นที่ ก็ถูกตั้งคำถามในประเด็นสิทธิมนุษยชน

ภาวะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า รัฐและกลุ่มองค์กรที่เรียกร้องความยุติธรรมกำลังคุมเชิงกันอยู่ หากวันหนึ่งสถานการณ์พลิกกลับ จำนวนเหตุการณ์รุนแรงปะทุมากขึ้น เมื่อนั้นไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ก็ย่อมประสบกับภาวะวิกฤติจากความไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพ หากแต่ละฝ่ายจะรอจนถึงวันนั้นย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร

ในภาวะเช่นนี้ การเฝ้าระวังความรู้สึกของสังคม มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

แนวทางมาตรการต่างๆ ของแต่ละฝ่าย ไม่ควรตอกย้ำ ซ้ำเติมความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของชาวบ้านไทยมลายูมุสลิม ชาวบ้านไทยพุทธในพื้นที่ และประชาชนไทยทั้ง อีกกว่า 60 ล้านคน ใน 73 จังหวัด

การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกเป็นพิเศษ ในอดีตทั้งมาตรการเด็ดขาดและแนวทางสมานฉันท์ ก็ล้วนถูกต่อต้านมาแล้วทั้งสิ้น และไม่ว่าจะเลือกใช้แนวทางไหน ความรุนแรงก็ยังคงอยู่กับพื้นที่ชายแดนภาคใต้

หากแต่ละฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันในการยุติความรุนแรง และสถาปนาความสงบสุขร่มเย็นอย่างยั่งยืนแทนที่จะตั้งป้อมจับผิดกัน ก็น่าจะจับมือร่วมคิด เสนอแนวทางที่เหมาะสม โดยรับฟัข้อเท็จจริงซึ่งกันและกัน

ในเมื่อทุกฝ่ายก็รู้ ก็พูดกันอยู่เสมอว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้นั้นมีความสลับซับซ้อน ดังนั้นก็น่าจะเข้าใจว่า การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนนั้น จะใช้มาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะไม่ได้ แต่ต้องใช้หลายแนวทางควบคู่ผสมผสานกันไปตามสภาพ

เลิกด่า เลิกจับผิด แล้วหันมาจับเข่าคุย ใช้ศักยภาพ ความชำนาญ ที่แต่ละฝ่ายมี เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาดีกว่า อย่าขยายความรู้สึกแง่ลบให้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นเลย