Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

            ระยะเวลากว่า 4 ปี ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 5 มาตรการ แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ผุดออกมามากมาย ผิดบ้าง ถูกบ้าง ได้รับการยอมรับบ้าง ถูกวิจารณ์อย่างเสียหายบ้าง แต่ความรุนแรงก็ยังไม่ยุติลง บางช่วงสถานการณ์นิ่ง แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ก็กลับมาปะทุขึ้นใหม่

          ในภาวะเช่นนี้ ประสิทธิภาพของฝ่ายรัฐถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด ความล้มเหลวในการแก้ปัญหา คือความรู้สึกที่ติดอยู่กับรัฐ ซึ่งยากที่จะสลัดให้พ้นไป

            อันที่จริง คำกล่าวหาที่สร้างความรู้สึกแง่ลบเช่นนี้ อาจไม่เป็นธรรม หากมองถึงสิ่งที่รัฐกำลังดำเนินการด้วยการทุ่มงบประมาณ กำลังพล และทรัพยากรด้านต่างๆ ลงไปในพื้นที่จำนวนไม่น้อย  รวมทั้งมาตรการแนวทางเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่ผลิตออกมาอีกเป็นจำนวนมาก

          คำถามก็คือว่า แล้วทำไมรัฐจึงไม่ได้คะแนนในแง่บวก !

            การสร้างความสับสน เข้าใจผิด ก่อความหวาดกลัว ปลุกปั่นขยายความเกลียดชัง คือยุทธวิธีเพาะสร้างความรู้สึกซึ่งขบวนการใต้ดินใช้มาโดยตลอด  และถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของขบวนการใต้ดิน หากพิจารณาจากการที่รัฐถูกตั้งคำถามในเชิงประสิทธิภาพ

          รัฐไทยมีบทเรียนจากการลองผิดลองถูกมาแล้ว ทั้งความเด็ดขาด และสมานฉันท์ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง อย่างน้อยในระยะสั้น ปฏิกิริยาจากฝ่ายใต้ดินก็แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า  ไม่ว่ารัฐจะใช้แนวทางใด ตราบใดที่มีช่องทางโอกาสพวกเขาก็ไม่หยุดก่อความรุนแรง ให้ปรากฏการณ์ความรุนแรงทำหน้าที่ส่งสาร ผูกขาดการบอกเล่าเพียงฝ่ายเดียว เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งตอกย้ำความรู้สึกแง่ลบต่อประสิทธิภาพของรัฐไทย

          โจทย์สำคัญ ในขณะที่สถานการณ์ชายแดนภาคใต้กำลังจะล่วงเข้าสู่ปีที่ 5 ก็คือ ทำอย่างไรที่รัฐไทยจะชิงนำสร้างความรู้สึก ให้รัฐเป็นผู้กำหนดวาระความสนใจต่อทิศทางมาตรการแก้ปัญหา โดยมิให้ปรากฏการณ์ความรุนแรงบอกเล่า ตอกย้ำความล้มเหลวของรัฐเพียงฝ่ายเดียว

          หากย้อนเกล็ดยุทธวิธีซึ่งขบวนการใต้ดิน ซึ่งใช้วิธีการก่อเหตุด้วยการสร้าง Surprise ! ในการเรียกให้ทุกสายตาพุ่งความสนใจมายังสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการบุกปล้นปืนค่ายทหาร ลุกฮือจู่โจมที่ตั้งกองกำลังของรัฐพร้อมกันหลายจุดในเหตุการณ์กรือเซะ และปลุกระดมประท้วง ยั่วยุให้รัฐใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าจัดการ จนก่อความผิดพลาดในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในเหตุการณ์ตากใบ

          รัฐไทยเองก็อาจจะต้องสร้าง Surprise ! ขึ้นมาเช่นเดียวกัน

          กรณีคำขอโทษ ของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี  คือสิ่งที่รัฐไทยต้องนำมาเป็นกรณีศึกษา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐไทยสร้าง Surprise !

          นโยบายของรัฐในอนาคตนอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความแปลกใหม่ แย่งชิงการจับจ้อง ดึงดูดให้มาสนใจในสิ่งที่รัฐพูดและทำ

          การปฏิบัติงานจิตวิทยา พูดคุยปรับความเข้าใจ อาจล้าสมัยไปแล้ว ในสงครามรูปแบบใหม่ เพื่อต่อต้านการก่อเหตุซึ่งสร้างความรู้สึกว่ารัฐล้มเหลว รัฐจึงจำเป็นต้องปรับตัว สร้างความน่าสนใจติดตามให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความน่าสนใจนี้จะต้องปฏิบัติให้ได้จริง

          ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐผลิตวาทกรรมที่เรียกความสนใจได้หลายคำทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น การเจรจา นิรโทษกรรม แม้กระทั่งเขตปกครองพิเศษ

          แม้ว่าคำเหล่านี้อาจเป็นแนวตั้งรับในระยะต่อไป แต่การชิงนำความรู้สึกให้รัฐเป็นฝ่ายกำหนดเกม กำหนดวาระของข้อมูลข่าวสาร อาจจะต้องใช้วาทกรรมที่กระตุกกระตุ้นความรู้สึก เรียกความสนใจได้เช่นนี้ มิฉะนั้น รัฐก็ตกเป็นฝ่ายถูกรุกด้วยความรู้สึกจากวาทกรรมเก่าๆ  อาทิ ขาดเอกภาพ ไร้ประสิทธิภาพ

          แนวรบด้านข่าวสารในวันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องผลิตสิ่งใหม่ออกมาขายแข่งกับสินค้าเก่าๆ เดิมๆ ดังกล่าว

          การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งภายในและภายนอกประเทศยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญจำเป็น แต่อาจไม่เพียงพอในการต่อต้านสงครามข่าวสาร ซึ่งฝ่ายใต้ดินสามารถขยายความรู้สึก ไปได้อย่างกว้างไกลในเวลาอันสั้น แนวทางเดียวที่จะเอาชัยในแนวรบด้านนี้ได้ รัฐต้องชิงนำสร้างความรู้สึกให้ได้

          จะพูดอะไรให้คนอยากฟัง พูดแล้วทำอย่างไรให้คนเชื่อ  เพื่อเรียกความสนใจในวาระต่อไป นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องเร่งคิด เร่งทำ ก่อนวาทกรรมเก่าๆ ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงได้สร้างขึ้น จะทำให้รัฐเพลี่ยงพล้ำจนฟื้นคืนมาชิงนำได้ยาก