Skip to main content
เผยแพร่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554
 
ตำรวจใหญ่อดีตผู้ถูกกล่าวหาซ้อมผู้ต้องหา
ฟ้องกลับเหยื่อถูกซ้อมทรมานเกี่ยวเนื่องคดีปล้นปืนอุ้มทนายสมชาย
 
ในวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 10.00 น. นายซูดีรือมัน มาและ เหยื่อถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่าปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อปีพ.ศ. 2547 จะเดินทางไปรายงานตัวพร้อมกับทนายความจากสภาทนายความตามหมายเรียกของกองบังคับการปราบปราม (กองปราบ) พร้อมเหยื่อซ้อมทรมานราษฎรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสที่ถูกหมายเรียกรวมทั้งหมด 8 ราย   กรณีที่นายตำรวจระดับสูงฟ้องกลับเหยื่อซ้อมทรมานดังกล่าวทำให้ผู้ถูกทรมานซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าพนักงานตำรวจนั้นกลับตกเป็นจำเลยเสียเอง แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมทั้งในระบบตำรวจและกลไกพิเศษเช่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ รัฐตำรวจไทยยังคงมีอิทธิพลในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมการไม่รับผิด (Impunity) ในสังคมไทย
ผู้ต้องหาคดีปล้นปืน 5 คน ได้แก่ นายมะ กะตา ฮารง, นายสุกรี มะมิง, นายมะนาแซ มามะ, นายซูดีรือมัน มาเละ และนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวหาว่า พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งในปัจจุบัน) และพล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ตำแหน่งปัจจุบัน) กับพวกรวม 19 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นตำรวจชุดจับกุมซ้อมทรมานให้พวกตนรับสารภาพว่าเป็นตัวการร่วมกันปล้นปืน   ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวพันกับคดีการหายตัวของนายสมชาย นีละไพจิตร ในคืนวันที่ 12 มี.ค. 2547 เนื่องจากวันที่ 11 มี.ค.  2547 นายสมชายฯ เป็นทนายความให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา ได้ทำจดหมายร้องเรียนให้แก่ผู้ต้องหาทั้งห้าซึ่งต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม อีกทั้งนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารีพยานในการคุ้มครองของกรมสอบสวนคดีพิเศษถูกบังคับให้หายตัวไปในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อเดือนธันวาคมพ.ศ. 2552 โดยปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่อย่างไร
 
               ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมพ.ศ. 2553 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้แถลงถึงกรณีผลการพิจารณาชี้มูลความผิดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาพลตำรวจนายหนึ่งและพวกรวม 10 นาย กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมกันกลั่นแกล้งผู้ต้องหาคดีปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547  โดยใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนด้วยอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษกว่า 6 ปีและ ปปช. ใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อชี้มูลเป็นเวลากว่า 3 ปี ผลการพิจารณาเป็นแต่เพียงว่าการซ้อมทรมานไม่มีหลักฐาน คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า “จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า พลตำรวจเอก ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา กับพวก รวม 19 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามที่ถูกกล่าวหาให้ข้อกล่าวหาตกไป” จึงเป็นเหตุให้นายตำรวจระดับสูงกลุ่มนี้ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษพยานทั้ง 8 ในคดีดังกล่าว โดยที่พยานกลุ่มนี้ได้รับการคุ้มครองพยานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษในระหว่างการพิจารณาคดีของ ปปช. แต่หลังจากปปช.ไม่ชี้มูลความผิดดังกล่าวการคุ้มครองพยานก็สิ้นสุด   
 
สำหรับนายซูดีรือมัน มาเละยังคงได้รับการคุ้มครองพยานอยู่โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552  พล.ต.อภาณุพงศ์ สิงหรา เป็นโจทก์ฟ้องนายซูดีรือมัน มาเละ แล้วแต่ศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูล   และพล.ต.ท.จักรทิพย์   ชัยจินดา ก็เป็นโจทก์ฟ้องนายซูดีรือมัน มาเละ มาแล้วหนึ่งคดีเป็นคดีดำหมายเลข อ.2161/2552 ว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษและต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของปปช. และขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพในวันที่ 30 มิถุนายน, 1, 5 และ 6 กรกฎาคม พ.ศ.  2554