ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
เป็นธรรมดาที่ก่อนการเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวเพื่อถกเถียงถึงภาพอนาคตของบ้านเมืองถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในหลากหลายช่องทาง กล่าวจำเพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อุดมด้วยความขัดแย้งที่รุนแรงมานานนับปี “ปัญหาไฟใต้” จึงกลายเป็นวาระสำคัญระดับชาติที่ถูกนักการเมืองหยิบยกขึ้นมาขายนโยบายกันขวักไขว่ ทั้งในเวทีเสวนาและพื้นที่สื่อมวลชน ในอีกด้านหนึ่งความคาดหวังต่อนโยบายในทำนองนี้ก็ถูกผลักดันมาจากฟากฝั่งของภาคสังคมด้วยไม่น้อย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างการเมืองการปกครองที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในพื้นที่และอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทย
หากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นหลักไมล์สำคัญที่จะชี้วัดหน้าตาของระบอบการเมืองไทยในอนาคต ดังที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตจริง ภาพของการจัดการความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่ก็ดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะขัดเกลาหน้าตาของสังคมการเมืองไทยด้วยเช่นกัน และหากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงแล้ว ย่อมส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในพื้นที่โดยตรง ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสนใจหรือความคิดทางการเมืองอย่างไรก็ตาม
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ “ไฟใต้ดับได้ด้วยการกระจายอำนาจ” ขึ้นที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับการอภิปรายถึงข้อเสนอการกระจายอำนาจที่ผลักดันจากภาคสังคม และรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนพรรคการเมืองที่ลงชิงชัยในพื้นที่ กองบรรณาธิการจึงรวบรวมบทสนทนาดังกล่าวไว้ ดังต่อไปนี้
หมายเหตุ: เวทีสาธารณะดังกล่าวร่วมจัดโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้, คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
(กรุณาดูกำหนดการได้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/1978) โดยมีการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org ทว่าเนื้อหาต่อจากนี้เป็นการรวบรวมจากสื่อมวลชนหลายสำนัก ได้แก่ สำนักข่าวอามาน (ปัตตานี- เชียงใหม่ ผนึกเสียง เดินหน้าเพื่อ “การจัดการตัวเองสู่ความเป็นมหานคร” อีกหนึ่งทางออกสู่สันติภาพ จชต.), ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา (เวทีชุกรับเลือกตั้ง "หนุนดับไฟใต้ด้วยกระจายอำนาจ" - ปชป.ชี้ชาวบ้านตัดสินที่ตัวบุคคลมากกว่าพรรค) และโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (ประชันกึ๋นดับไฟใต้ นโยบาย 6 พรรคในเวทีกระจายอำนาจ)
“ปัตตานีมหานคร” และกระบวนการเปิดพื้นที่ทางการเมือง
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองและประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมฯ กล่าวว่า การจัดเวทีสาธารณะครั้งนี้เพื่อต้องการขยายแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องจังหวัดปกครองตนเองหรือการจัดการตัวเองให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะทุกวันนี้ไม่ได้มีแต่นักวิชาการหรือคนระดับบนพูด แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็พูดกัน เราจึงเปิดเวทีให้ทุกคนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
“อย่างเช่น ปัตตานีมหานคร ถือเป็นรูปแบบการกระจายอำนาจที่สอดคล้องเหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่มหานครก็ดี ปัตตานีมหานครก็ดี จะต้องออกแบบปกครองให้ตรงตามความต้องการของประชาชน”
“โมเดลปัตตานีมหานคร เราได้รูปแบบจากความคิดเห็นของประชาชนที่เราได้จัดเวทีไปแล้วกว่า 50 เวที เมื่อได้ข้อมูลมาเราก็เอาข้อมูลไปสังเคราะห์ว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องการนั้น รูปแบบการปกครองจริงๆ ควรเป็นอย่างไร ตอนนี้เราได้รูปแบบการปกครองที่เหมาะสมแล้ว ตรงตามที่ชาวบ้านอยากได้ เรื่องนี้เราไม่ได้คิดเอง เป็นความคิดของชาวบ้าน เพียงแต่ชาวบ้านไม้ได้พูดว่าปัตตานีมหานคร ชาวบ้านอยากให้ท้องถิ่นจัดการเรื่องภาษา เรื่องการศึกษาของเขาเอง เขาอยากใช้ภาษามลายู อยากมีคนของเขาเป็นผู้นำการปกครอง ไม่ใช่มาส่งจากภาคกลางหรือภาคอีสาน นี่คือรูปแบบที่เขาคิด แต่เขาไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร เราเอารูปแบบเหล่านี้มาสังเคราะห์และสรุปออกมาเป็นโมเดลปัตตานีมหานคร”
กรุณาดูรายละเอียดรายงาน
(ร่าง)
ปัตตานีมหานครภายใต้รัฐธรรมนูญไทย:
ความพยายามในการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวอีกว่า เวทีที่จัดขึ้นครั้งนี้ก็เพื่อนำรูปแบบที่ผ่านการสังเคราะห์แล้วมาทำความเข้าใจกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง และฟังว่าคิดเห็นอย่างไร หลังจากนี้ทางเครือข่ายฯจะทำเวทีลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ โดยจะทำร่วมกับคนใน 14 จังหวัดภาคใต้ เราจะใช้เวทีของแต่ละจังหวัดนำความคิดเหล่านี้ไปเผยแพร่ เพื่อให้คนจังหวัดอื่นได้รับรู้ว่าคนปัตตานีต้องการแบบนี้ แล้วคนจังหวัดอื่นเห็นด้วยหรือไม่ ถือเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ และประชาชนปกครองตัวเอง เพื่อใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นต่อไป
“ถึงที่สุดเราก็จะล่ารายชื่อประชาชนที่สนับสนุน เพราะสุดท้ายมันต้องเป็นร่างกฎหมายที่จะนำไปเสนอต่อรัฐสภา และถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภา วันนั้นปัตตานีมหานครก็จะเกิดขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว
เชียงใหม่มหานคร & ปัตตานีมหานคร: คืนอำนาจการปกครองสู่ประชาชน
ในการเสวนาหัวข้อ “ปัตตานีมหานคร – เชียงใหม่มหานคร: ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสู่การดูแลตัวเอง” นายมันโซร์ สาและ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมฯ เปิดเวทีด้วยภาษามลายู เพื่อเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงผู้ฟังที่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ พร้อมทั้งกล่าวว่า คำว่า การกระจายอำนาจ กับ Otonomi (หรือ Autonomy) นั้นหมายถึง การดึงอำนาจซึ่งเดิมเป็นของประชาชนอยู่แล้วกลับมา แต่ในช่วงนี้ เมื่อมีการพูดถึงการกระจายอำนาจจะกระทบความรู้สึกของรัฐบาลน้อยกว่า แต่ถ้าพูดง่ายๆ การกระจายอำนาจคือเป็นการทวงคืนอำนาจให้อยู่ในมือของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง การชูเรื่องปัตตานีมหานครนั้น แค่เพียงให้รัฐตระหนักอีกครั้งว่าอำนาจในการบริหารและปกครองควรต้องเป็นของประชาชนในพื้นที่
ในขณะที่ความเคลื่อนไหวในจังหวัดเชียงใหม่และอีกหลายจังหวัดในขณะนี้นั้นพยายามหยิบยกข้อเรียกร้องให้มีจังหวัดสามารถจัดการตัวเองได้ นายสวิง ตันอุด จากเครือข่ายประชาสังคมเพื่อการจัดการตัวเองจังหวัดเชียงใหม่ จึงนำเสนอต่อเวทีสาธารณะดังกล่าวโดยเริ่มจากการตั้งโจทย์ว่า “ทำไมเราต้องคิดและทำเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง?” โดยเขาพยายามไล่เรียงให้เห็นว่า ในปัจจุบัน อำนาจการบริหารและปกครองนั้นกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ไม่ว่าจะคิดหรือจะสร้างอะไรก็จำต้องขออนุญาตจากกรุงเทพฯ แทบทั้งหมด แต่การรวมศูนย์อำนาจดังกล่าวไม่สามารถจะจัดการกับปัญหาที่สะสมในท้องถิ่นได้จริง
เขากล่าวอีกว่า ในกรณีของเชียงใหม่นั้นเป็นพื้นที่ที่ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่โดดเด่น ไม่ต่างกับในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การพัฒนามักจะถูกกำหนดจากคนข้างนอก และศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ ทำให้การพัฒนาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ ที่ผ่านมาจึงมีการต่อต้านโครงการพัฒนาของรัฐหลายโครงการ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสวนทางกับพัฒนาการทางการเมืองในหลายประเทศที่ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตัวเองได้
"รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นมาเพื่อชงให้ส่วนศูนย์กลางมีอำนาจมากกว่าเจ้าของอำนาจเอง นั่นคือ ประชาชน กลับถูกสุ่มครอบไว้ไม่สามารถไปไหนได้ แค่รอเวลา ผู้ดูแลมาโปรยอาหารให้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการประชากรในสุ่ม ส่งผลให้ตีกันเองเพื่อแย่งชิงอาหาร ความเป็นจริงแล้วเรามีสิทธิที่จะกำหนดว่าอาหารเหล่านั้นต้องมีปริมาณเท่าไหร่ กี่ครั้งต่อวันด้วยซ้ำ"
นายสวิงกล่าวด้วยว่า ในขณะนี้ประชาชนบางส่วนได้ลุกขึ้นมาดุลอำนาจกัฝ่ายบริหารและรัฐสภา โดยการเดินเรื่องยกร่างพระราชบัญญัติการจัดการตัวเองของจังหวัดเชียงใหม่ (กรุณาดู ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ... ) ซึ่งอยู่ในกระบนการประชาพิจารณ์ให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมผลักดัน ในขณะที่อีกกลไกหนึ่งได้แก่การผลักดันผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ฟังเสียงพรรคการเมือง: ดับไฟใต้ด้วยการกระจายอำนาจ?
ในช่วงบ่าย วงเสวนาในหัวข้อ “ไฟใต้ดับได้ด้วยการกระจายอำนาจ?” เปิดเวทีให้ตัวแทนพรรคการเมือง 6 พรรคได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนถึงทิศทางและนโยบายต่อการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะต่อประเด็นการกระจายอำนาจ โดยไล่เรียงแต่ละพรรค ดังนี้
ดาวน์โหลดแผนภาพเปรียบเทียบ
นายมูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา พรรคชาติไทยพัฒนา
(บัญญชีรายชื่อ ลำดับที่ 78)
พรรคชาติไทยพัฒนาจะตั้งศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ครบวงจร รูปแบบคล้ายรัฐบาลส่วนหน้าที่มาตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาพรรคสนับสนุนการออกพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. พรรคจึงพยายามนำเสนอนโยบายที่ทำได้ใน 4 ปี ไม่อยากเสนอโมเดล(รูปแบบ) ที่ทำไม่ได้ใน 4 ปีหลังจากเลือกตั้ง
ความแตกต่างของบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ครบวงจรกับ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) คือ ศอ.บต.มีงบประมาณของตัวเอง กระทรวงต่างๆ ก็มีงบประมาณของตัวเอง ต่างก็วางงบประมาณของตัวเอง ไม่มีความเป็นเอกภาพ สิ่งที่พรรคเสนอคือการวางงบประมาณตรงนี้ และมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจ
ถามว่าการกระจายอำนาจอยู่ตรงไหน ก็อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน และของทุกภาคส่วน มีอำนาจจริงๆในการวางกรอบงบประมาณ แม้ ศอ.บต.มีสภาที่ปรึกษาในการวางกรอบงบประมาณ แต่ก็เฉพาะงบประมาณของ ศอ.บต. และศอ.บต.ก็ไม่สามารถไปควบคุมงบประมาณกระทรวงอื่นได้ แต่ศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ครบวงจรมีอำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้น
เป็นการยกระดับ ศอ.บต.ขึ้นมาเป็นศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ครบวงจร ซึ่งทำได้แน่นอนในระยะเวลา 4 ปี โครงสร้างคือ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยอาจมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ
นายถาวร เสนเนียม พรรคประชาธิปัตย์
(สงขลา เขต 6)
หลายเวทีที่มีนักการเมืองและนักวิชาการเรียกร้อง ให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยรวม 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและ 4 อำเภอของสงขลา เป็นปัตตานีมหานครเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นใหญ่ จะมีรูปแบบอย่างไร ดูในเรื่องพื้นที่ก่อน คือ มีพื้นที่รวม 11,000 ตารางกิโลเมตรเศษ เทียบกับกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร ต่างกันมาก ประชาชนใน 3 จังหวัด มี 1.8 ล้านคน กรุงเทพมหานครมีเกือบ 6 ล้านคน 3 จังหวัดมี 32 อำเภอ กรุงเทพมหานครมี 50 เขต รูปแบบที่แต่ละคนเสนอยังไม่มีรายละเอียดที่พอจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร
พรรคประชาธิปัตย์ก็กระจายอำนาจ หนึ่งคือ มี อบจ. อบต. เทศบาล มี 200 กว่าภารกิจ ที่ส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเห็นได้ว่า ในท้องถิ่นมีพี่น้องมุสลิมเป็นผู้นำอยู่ ในเขตเทศบาลก็มีพี่น้องไทยเชื้อสายจีนเป็นผู้นำ ผมคิดว่าการกระจายอำนาจแบบนี้น่า จะใช้ได้ แต่ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของให้กระจายอำนาจเพิ่มอีกเป็น 300 ภารกิจ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่น่าจะยาก ยินดีที่จะเพิ่มภารกิจให้
อย่างเช่น เรื่องการศึกษาท้องถิ่น อยากให้มีโรงเรียนสองภาษา คือ ภาษามลายูถิ่นหรือภาษายาวีควบคู่กับภาษาไทย อันนี้ทำแล้วและตั้งใจจะเพิ่มทุกพื้นที่ สอง หลักสูตรที่ท้องถิ่นต้องการคือวิถีชีวิตมุสลิม อันนี้ได้ สาม ในพ.ร.บ.ศอ.บต.ได้เขียนให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ อยากได้เขตเศรษฐกิจที่ไร้แอลกอฮอล์ ปลอดอบายมุข ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิมก็ทำได้ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
ยังมีเรื่องที่กระจายอำนาจได้อีก คือ ตอนนี้หลายคนต้องการให้มีศาลชารีอะห์จากหลักนิติธรรมทั่วไป ในเรื่องครอบครัวและมรดก ตอนนี้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ลงนามในร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลชารีอะห์แล้ว ค้างอยู่ในสภาแล้ว สาระสำคัญคือ พี่น้องที่เป็นมุสลิมสมัครใจที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมที่ศาลชารีอะห์เมื่อมีข้อพิพาทในเรื่องครอบครัวและมรดก จะมีแผนกศาลชารีอะห์อยู่ทั่วประเทศ วิธีพิจารณาความก็ต้องตามหลักศาสนาอิสลามและผู้พิพากษาก็ต้องเรียนจบหลักสูตรกฎหมายอิสลาม
ถามว่า ศอ.บต.กระจายอำนาจการปกครองและการบริหารงบประมาณมาหรือยัง กฎหมายเขียนไว้อีกว่า ให้คณะกรรมการรัฐมนตรีภาคใต้ มี 34 คน มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา มีตัวแทนประชาชนอีก 5 คน
เรื่องที่อำนาจส่วนกลางเปิดโอกาสให้นายอำเภอกำกับดูแลการจัดทำงบประมาณของ อบต. และผู้ว่าราชการมากำกับดูแลการจัดทำงบประมาณของอบจ.เป็นเรื่องปลีกย่อย สามารถแก้ไขกฎหมายได้ โดยให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศอ.บต. จำนวน 49 คน เสนอแก้ไขได้ เพราะในกฎหมายฉบับนี้ บอกว่า การจัดทำนโยบายของจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ศาสนา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ชาติพันธ์ ประติศาสตร์และสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ถ้าจะหยิบเอากฎหมาย องค์กรและโครงสร้างที่สามารถดำเนินการได้เลยทันที ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ ตั้งมหานครปัตตานี ไม่ต้องจัดตั้งทบวงซึ่งต้องใช้เวลาจัดตั้งร่วม 2 ปี ใช้อันนี้ไปก่อน ถ้าใช้แล้วเห็นว่าไม่ดี ก็ค่อยๆวิวัฒนาการได้
ข้อสังเกต คือ การจัดการในรูปแบบการกระจายอำนาจ ต้องใช้งบประมาณเป็นมหาศาล ตัวอย่างเช่น ถ้าจะมีการเลือกตั้งในมหานครปัตตานี จะหาเสียงกันอย่างไร ต้องมีการลงทุนที่สูง ยกเว้นถ้าไม่มีการซื้อเสียง การติดต่อราชการกับสำนักงานมหานครปัตตานี ชาวบ้านจะทำอย่างไร เพราะมีสภาหลายชั้น ชาวบ้านที่อยู่ไกล จะเดินทางมาอย่างไร
นายอีรฟาน สุหลง พรรคเพื่อไทย
(ยะลา เขต 1)
ประเด็นการกระจายอำนาจ ได้มีการพูดถึงในนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยการนำของ นายบุรฮานุดิง อุเซ็ง สมาชิกพรรคเพื่อไทย นโยบาย คือ การเพิ่มงบประมาณให้องค์กรส่วนท้องถิ่น 25 เปอร์เซ็นต์จากงบประมาณแผ่นดิน
เพราะวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งงบหายไป อย่างเช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เมื่อปีที่แล้ว งบประมาณหายไป 35 ล้านบาท เพราะตัวเงินไม่มีมีแต่ตัวเลขงบประมาณ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงมีนโยบายที่จะเพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้ 25 %
นโยบายของพรรคเพื่อไทยมีทั้งหมด 36 นโยบายหลัก ในส่วนประเด็นนโยบายมหานครปัตตานีนั้น แม้จะยาก แต่เราจะพยายามทำ โดยรวม 3 จังหวัด เป็นนครปัตตานี โดยจะมีรูปแบบของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด เปรียบเสมือนองค์การบริหารส่วนตำบลใหญ่ แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นเดิม คือ อบต. อบจ.และเทศบาล ยังอยู่เหมือนเดิม
พรรคเพื่อไทยพูดถึงนครปัตตานี ไม่ใช่นครรัฐปัตตานี เราไม่คิดแบ่งแยกดินแดน แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในส่วนประเด็น ศอ.บต. ที่มีอยู่แล้วนั้น จะปรับให้ผู้อำนวยการมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต่างกับของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผู้อำนวยการ ซึ่งปัจจุบันคือเลขาธิการมาจากส่วนกลาง ตอนนี้ศอ.บต.ทำดีแล้ว แต่ถามว่า ผู้แทนที่อยู่ในสภาที่ปรึกษาของ ศอ.บต. มีมุสลิมอยู่กี่คน
วันนี้สังคมไทยมีปัญหามาก จะทำอย่างไรที่จะให้ท้องถิ่นสามารถปกครองตนเองได้ แต่รูปแบบที่พรรคเพื่อไทยจะทำนั้น เราเปลี่ยนนิดเดียวเอง และนโยบายเหล่านี้ ไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนคิด แต่มาจากทีมงานของเราที่คิดขึ้นมา ต้องขอบคุณพล.อ.ชวลิต ที่เป็นคนเสนอแนวคิดนี้ ตอนนี้ความคิดนี้ยังอยู่ แม้พล.อ.ชวลิตไม่ได้อยู่พรรคเพื่อไปแล้ว
พรรคมีนโยบายเพื่อปากท้อง 30 ข้อ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ จบปริญญาตรีได้เงินเดือน 15,000 บาท ส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนมุสลิม คือ จะโค้วต้าผู้ประกอบพิธีฮัจย์ จะยกระดับมาตรฐานการส่งเสริมกิจการฮัจย์ โดยจะสร้างที่พักใกล้กับมัสยิดฮารอมในประเทศซาอุดิอาระเบีย และจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย
นายมะเซะ บากา พรรคดำรงไทย
(บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5)
ต้นเหตุของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ดังนั้นนโยบายของพรรคเกี่ยวกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอย่างเดียว คือ การยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่
เหตุที่ต้องการยกเลิกเนื่องจากพรรคมีนโยบายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งแม้พรรคดำรงธรรมเป็นพรรคเล็ก แต่พร้อมทำงาน ส่วนหลังจากยกเลิกไปแล้ว จะทำอะไรต่อไปนั้น ต้องถามประชาชนอีกที แต่ผมต้องการให้พวกเรามีสิทธิเสรีภาพก่อน อย่างอื่นไม่มีอะไร ต้องถามพี่น้องประชาชน
เมื่อยกเลิกไปแล้ว ก็ทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าปัญหายังมีอยู่และอยากใช้พระราชกำหนดนี้อีก ก็ใช้ได้
นายมูฮำหมัดอารีฟีน จะปะกียา พรรคมาตุภูมิ
(ปัตตานี เขต 2)
ในมุมมองของพรรคมาตรภูมิ ประเด็นปัญหาภาคใต้เป็นวาระของชาติและเป็นนโยบายหลักของพรรคมาตุภูมิปัญหาภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาไม่มีจะกิน แต่เป็นเรื่องความจริง ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาไม่มีเอกภาพและไม่ต่อเนื่อง มีความขัดแย้งและแข่งขันอยากมาทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการแก้ปัญหาไม่นำเอาคำสอนในคำภีร์อัลกุร-อาน มาเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหา และ กำหนดประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น นโยบายหลัก คือ การสร้างความเข้าใจและสามัคคี
นโยบายของพรรคมาตุภูมิ คือการตั้งทบวงบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของสงขลา ผู้ที่เป็นหัวหน้าของทบวงต้องเป็นรัฐมนตรี มาประจำอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมที่นี่ รัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลประชาชน
ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสิทธิเป็นรัฐมนตรี โดยคนที่จะเป็นรัฐมนตรีจะต้องมีศาสนา คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีทบวงนั้น ต้องเป็นส.ส. จะมาจากจังหวัดไหนก็ได้ แต่ต้องมาอยู่ที่นี่
การพิจารณางบประมาณก็ต้องผ่านทบวงนี้ โดยกรมต่างๆ ก็ต้องมาอยู่ที่นี่ ส่วนจังหวัดยังเป็นข้าราชการ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะไม่แตะต้อง และจะคงไว้ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
พรรคมาตุภูมิเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ ซึ่งการกระจายอำนาจของพรรคคือการเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม
นายอัซโตร่า โต๊ะราแม พรรคความหวังใหม่
)นราธิวาส เขต 4)
นักการเมืองคนแรกที่พูดเรื่องการกระจายอำนาจและมหานครปัตตานี คือ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่และเป็นนักการเมืองที่ไม่เหมือนคนอื่น ในอดีตคนที่คิดเรื่อง การกระจายอำนาจ คือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา แต่สุดท้ายถูกมองว่า ต้องการแบ่งแยกดินแดน
พรรคความหวังใหม่ เป็นพรรคที่มาจากรากหญ้าจริงๆ ไม่ใช่มาจากส่วนบน และ ต้องการการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ รูปแบบมหานครปัตตานี ที่มีความหลากหลาย ทางศาสนาและเชื้อชาติ ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้
พรรคความหวังใหม่ต้องการมีมหานครปัตตานี เพื่อคนไทยพุทธและมุสลิม และเราจะมีเมืองใหม่นูซันตารา ซึ่ง ผมคิดเอง จะเป็นเมืองไหร่ก็ได้ แต่นี่คือนากือรี (เมือง)ของเราเอง
เราจะมีมหาวิทยาลัยของคนพุทธ มุสลิม มีมัสยิดที่ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีวัดที่ใหญ่ด้วย จะให้มีการสอนภาษามลายูมาตรฐาน
หมายเหตุ: ในเวทีเดียวกัน ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ยังได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละพรรคอีกด้วย (กรุณาดูรายละเอียดที่ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ต่อพรรคการเมือง)