ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
หลังที่คุยเคี่ยวกันมาหลายครั้ง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” จึงถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการผ่านการให้สัตยาบันร่วมกันขององค์กรประชาสังคม 20 องค์กร ในฐานะที่เป็นองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งตามร่างระเบียบการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ (กรุณาคลิกดู ที่นี่) โดยคาดหวังว่าจะมีองค์กรในภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมวงอีกในอนาคต
๐ เปิดพื้นที่ทางการเมือง (ใหม่)
ในวันดังกล่าว พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ข้าราชการบำนาญซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานในภาคประชาสังคมคนสำคัญได้อ่านปฏิญญาของสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ทิศทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ถูกผูกขาดโดยภาคราชการเป็นสำคัญ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐก็ยังไม่มีทีท่าจะยอมจำนนโดยง่าย ในขณะที่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นล้วนประสบกับผลกระทบจากการต่อสู้อย่างยากจะหลีกเลี่ยง การรวมตัวกันในครั้งนี้จึงเป็นการผนึกกำลังกันเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง บนฐานของแนวทางสันติวิธี พลังความรู้ สติปัญญา และพลังแห่งคุณธรรม (อ่านรายละเอียด “ปฏิญญาเพื่อการขับเคลื่อนข่ายงานประชาสังคมชายแดนใต้” ในล้อมกรอบ 1)
ในขณะที่นายประสิทธิ เมฆสุวรรณ รักษาการณ์ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้แถลงวิสัยทัศน์ของสภาฯ ว่า ภายในปี 2564 หรืออีกสิบปีข้างหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีระบบบริหารจัดการในรูปแบบปกครองพิเศษที่เข้มแข็งที่จะยังความเจริญรุ่งเรืองให้กับผู้คนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันทุกชุมชนก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อที่จะให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นจริง สภาประชาสังคมชายแดนใต้จึงมียุทธศาสตร์ 4 ประการ อันได้แก่ การขยายประชาธิปไตย การดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และประการสุดท้าย การส่งเสริมและสนับสนุนด้านอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรมแก่ประชาชนทุกชุมชน
“สภาฯ จะเป็นพื้นที่เสรีที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ บางคนอาจคิดแตกต่างกับรัฐ หรือแม้แต่เหมือนกับรัฐ พวกเขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพราะว่าเราไม่ได้มองว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นอริราชศัตรู สภาฯ จะเปิดให้แสดงความคิดเห็นได้ทุกมิติ สิ่งนี้จะตอบสนองยุทธศาสตร์ของสภาฯ ทั้งหมด แม้ว่าบางคนอาจรู้สึกโกรธเรา แต่เราจะไม่โกรธตอบ เพราะสภาแห่งนี้จะไม่มีไว้เพื่อให้สู้กับคน แต่จะต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง สู้ด้วยการใช้เหตุใช้ผล” นายประสิทธิกล่าว
ในแง่ของแนวทางการทำงาน รักษาการณ์ประธานสภาฯ ระบุว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้จะเป็นพื้นที่กลางให้ทุกกลุ่มประชาสังคมรวมตัวกันทำงานอย่างหลวมๆ โดยมีทิศทางร่วมกัน ในขณะที่ภารกิจประจำที่แต่ละกลุ่มองค์กรทำอยู่ก็สามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์เดิม กลุ่มต่างๆ ที่ร่วมกันใช้พื้นที่สภาฯ แห่งนี้จึงมีความเป็นอิสระ แต่ในอีกด้านหนึ่ง สภาฯ ยังเป็นพื้นที่ในการผลักดันเรื่องใหญ่ในระดับนโยบายของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ กล่าวคือ ประเด็นที่แต่ละกลุ่มเคลื่อนไหวผลักดันอยู่นั้นอาจจะมีอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่เกิดผลมากเพียงพอ สภาแห่งนี้ จะเป็นพื้นที่ในการกำหนดประเด็นร่วมและขับเคลื่อนร่วมกัน สภาฯ อาจต้องต่อรองกับอำนาจรัฐและต่อรองกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทั้งหมด
“ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลบอกว่าจะสนับสนุนให้มีการปกครองพิเศษในพื้นที่ เราก็เปิดพื้นที่ให้คนมาถกเถียงว่าสิ่งนี้มันดีมันเสียอย่างไร ทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านก็ต้องมีองค์ความรู้สนับสนุน และสุดท้ายประชาชนก็จะเป็นคนตัดสินใจเอง” รักษาการณ์ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้กล่าว พร้อมทั้งย้ำว่ากลไกการทำงานของสภาฯ นั้น ไม่เพียงแต่จะมีการประชุมหารือเท่านั้น หากแต่ยังใช้กลไกของการเปิดเวที การแลกเปลี่ยนกลุ่มย่อย และการสื่อสารสาธารณะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเด็นอีกด้วย
ในขณะที่นางสาวอลิสา หะสาเมาะ ซึ่งที่ประชุมในวันดังกล่าวมีมติให้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาฯ ชี้ให้เห็นถึงวิธีการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นเอกภาพและความแตกต่างหลากหลายของเครือข่ายองค์กรสมาชิกว่า แนวทางที่สภาฯ ควรต้องยึดถือเป็นหลัก คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างของกันและกัน เพราะพื้นที่ทางการเมืองของสภาจะต้องทำให้ความแตกต่างเหล่านี้ดำรงอยู่ร่วมกันได้ ในขณะเดียวกัน สภาฯ จะทำให้แต่ละกลุ่มก้าวข้ามประเด็นปัญหาเฉพาะที่แต่ละองค์กรทำงานอยู่ ซึ่งเดิมก็มีความเข้มแข็งและทำงานได้ตรงประเด็นอยู่แล้ว ให้ยกระดับสู่การพิจารณาว่าแนวทางของตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพได้อย่างไรอีกด้วย
ในขณะที่นโยบายในรอบ 1 ปีต่อจากนี้ ที่ประชุมสภาฯ ได้มีลงมติให้มีการดำเนินการในนโยบาย 10 ประการเริ่มแรก อันได้แก่
ประการแรก สนับสนุนให้องค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายมีความเข้มแข็ง
ประการที่สอง สนับสนุนให้มีเครือข่ายกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ชายแดนใต้
ประการที่สาม สนับสนุนให้มีการจัดตั้งมูลนิธิกองทุนชุมชน
ประการที่สี่ จัดทำฐานข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับชายแดนใต้ให้เป็นปัจจุบัน
ประการที่ห้า สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดช่องทางการสื่อสารทั้งในระดับพื้นที่ นอกพื้นที่ และสากล
ประการที่หก จัดให้มีสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการเมืองของจังหวัดชายแดนใต้ ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการรับใช้ประชาชนและสังคมเพื่อเป็นแบบอย่างแก่นักการเมืองทั่วประเทศ
ประการที่เจ็ด ส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับระบบงานยุติธรรม
ประการที่แปด สนับสนุนและส่งเสริมการแก้ปัญหา พัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยยึดหลักชุมชนเป็นศูนย์กลาง เป็นฐาน และเป็นแกนขับเคลื่อน
ประการที่เก้า ส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนตามอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรม
ประการสุดท้าย ร่วมกันดำเนินการผลักดันให้มีระบบการบริการจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและบริหารจัดการตนเองได้จริง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้ถกเถียงทั้งในแง่ทิศทางและนโยบายของสภาฯ อย่างกว้างขวาง อาทิเช่น นโยบายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดการศึกษาโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงนโยบายเฉพาะด้านที่สนับสนุนส่งเสริมกลุ่มเยาวชนและสตรีในพื้นที่ แม้ว่าจะไม่ได้ข้อสรุปเป็นมติ แต่ต่างก็เห็นร่วมกันว่าจะต้องมีการอภิปรายต่อในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 24 กันยายนศกนี้
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการหยิบยกประเด็นวาระเร่งด่วนให้สภาฯ ร่วมพิจารณาขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นแรก ข้อเสนอให้สภาฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดสมัชชาปฏิรูปภาคใต้ อันเป็นการผลักดันจากสมัชชาปฏิรูป (สปร.) ภายหลังจากมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและสาธารณะมาแล้วก่อนหน้านี้ ประเด็นที่สอง ข้อเสนอจากตัวแทนสภาผู้ชม ให้ใช้พื้นที่ของสภาฯ สะท้อนและประเมินผลการออกอากาศของโทรทัศน์สาธารณะ (ไทยพีบีเอส) และประเด็นสุดท้าย ข้อเสนอให้พิจารณาข้อเสนอ “ปัตตานีมหานคร” หรือการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ทางเครือข่ายพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังยกร่างเป็นพระราชบัญญัติ ก่อนที่จะมีการขับเคลื่อนให้มีการลงรายชื่อเสนอกฎหมายในอนาคต
๐ ที่มาและโครงสร้าง
การจัดตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ที่มีชื่อเป็นภาษามลายู (รูมี) ว่า “Dewan Badan Masyarakat Madani Selatan Thailand” และชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Civil Society Council of the Southernmost Thailand” นี้ เป็นผลมาจากมติของที่ประชุมของนักพัฒนาอาวุโสและนักกิจกรรมทางสังคมจำนวนหนึ่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วยเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการประสานและผนึกกำลังกันขององค์กรในภาคสังคมที่มีภารกิจอันหลากหลายและมีฐานการทำงานอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง จึงมีมติร่วมกันให้มีการจัดตั้งสภาฯ ขึ้นมาเป็นพื้นที่กลางและที่ประชุมพบปะหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลระหว่างกันของเครือข่ายดังกล่าว
ที่ประชุมในคราวนั้นยังมีมติให้นายประสิทธิ เมฆสุวรรณ ตัวแทนจากสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ประธานสภาฯ ในห้วงเวลาของการฟักตัวก่อตั้ง ในขณะที่กำหนดให้วันที่ 20 สิงหาคมเป็นวันลงสัตยาบันรับรองการก่อตัวของสภาฯ โดยมีองค์กรประชาสังคมที่ร่วมลงนามทั้งสิ้น 20 องค์กร ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวมีตัวแทนองค์กรต่างๆ ร่วมลงนาม 17 ราย โดยที่ตัวแทนองค์กรสมาชิกอีก 3 รายไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ยืนยันในการลงนามในภายหลัง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ตัวแทนของแต่ละองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งดำรงตำแหน่งกรรมการสภาฯ ในสมัยแรก ก่อนที่จะมีการคัดเลือกและคัดสรรจากบรรดาตัวแทนองค์กรสมาชิกอีกครั้งในอนาคต (ดูรายละเอียดใน “ร่างระเบียบการสภาประชาสังคมชายแดนใต้” )
ตามระเบียบการประชาประชาสังคมซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ระบุถึงที่มาของสมาชิกสภาจาก 3 ส่วน ได้แก่ สมาชิกผู้ก่อตั้ง สมาชิกทั่วไป และสมาชิกกิตติมศักดิ์ โดยที่สองส่วนแรกจะเป็นสมาชิกในฐานะองค์กร และเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ที่แน่วแน่และความพร้อมในการร่วมกันทำงาน ระเบียบการฯ ยังได้ระบุให้องค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งต้องบริจาคเงินอุดหนุนกิจการของสภาฯ ปีละ 10,000 บาท ในขณะที่การรับองค์กรสมาชิกใหม่จะดำเนินการผ่านการรับรองของที่ประชุมคณะกรรมการสภาฯ
ที่ประชุมยังมีมติให้นางสาวอลิสา หะสาเมาะ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาฯ โดยมีมติให้ใช้สำนักงานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จังหวัดปัตตานี เป็นสำนักงานสภาฯ ชั่วคราวไปก่อน นอกจากนี้ คณะกรรมการสภาฯ ยังมีการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีบทบาทโดดเด่นในการสนับสนุนการทำงานในภาคประชาสังคมอีก 12 คน เพื่อทาบทามให้มีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสภาฯ อีกด้วย
๐ ความหลากหลายและบทบาทนำ
การรวมตัวครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการสร้างเครือข่ายขององค์กรชุมชนและองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ แม้ว่าแต่ละองค์กรที่ร่วมก่อตั้งจะมีวัตถุประสงค์และภารกิจที่แตกต่างกัน แต่ดูเหมือนว่าจุดร่วมสำคัญที่สุดเห็นจะได้แก่การเป็นกลุ่มองค์กรที่ยึดโยงการทำงานอยู่ในอาณาบริเวณนอกภาครัฐ จริงอยู่ ที่บางองค์กรจะมีสมาชิกเป็นข้าราชการหรือพนักงานของภาครัฐ แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของแต่ละกลุ่มแล้ว เราอาจถือได้ว่ากลุ่มองค์กรเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงบทบาทที่เป็นอิสระจากการกำกับของรัฐ แม้ว่าในบางด้านจะมีส่วนที่สอดคล้องกับทิศทางของภาคราชการ แต่ก็มีไม่น้อยที่หลายกลุ่มก็เห็นค้านต้านรัฐในบางประเด็น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวก็ไม่น่าสนใจเท่ากับสัดส่วนขององค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งที่มีตั้งแต่กลุ่มที่เน้นภารกิจในด้านการพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นและผู้ด้อยโอกาสในสังคม องค์กรที่เน้นงานด้านผลิตองค์ความรู้และจัดการศึกษา องค์กรที่เน้นงานด้านการสื่อสารสาธารณะ หรือแม้แต่องค์กรที่สนับสนุนการทำงานอาสาสมัครสาธารณสุข แต่เมื่อพิจารณาฐานการทำงานของแต่ละองค์กรก็พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นองค์กรที่ฐานการทำงานอยู่ในพื้นที่เป็นหลัก จะมีเพียงอย่างน้อย 3 องค์กรเท่านั้นที่เป็นสาขาหรือศูนย์ประสานงานประจำพื้นที่ขององค์กรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ
สัดส่วนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มสำคัญของการทำงานในภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เริ่มผ่องถ่ายบทบาทนำในการขับเคลื่อนมายังในพื้นที่มากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมาหลายปี องค์กรภาคประชาสังคมจากต่างพื้นที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของคนทำงานในภาคประชาสังคม และทั้งเป็นผู้กำหนดประเด็นหลักในการขับเคลื่อนมาโดยตลอดก่อนหน้านี้ ซึ่งอันที่จริง แนวโน้มดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาได้ห้วงเวลาหนึ่งแล้ว
กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาสัดส่วนของคณะกรรมการสภาฯ ชุดแรกที่เป็นชุดรักษาการณ์ก็พบว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย เมื่อพบว่าคณะกรรมการส่วนมาก หรือ 14 คน เป็นมุสลิม (ส่วนใหญ่เป็นมลายูมุสลิม) ในขณะที่อีก 6 คน เป็นพุทธศาสนิก มีผู้หญิง 4 คน (ยังไม่รวมเลขาธิการด้วย) ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นส่วนผสมที่แตกต่างหลากหลายได้เป็นอย่างดี กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ก็คือ สิ่งที่สภาฯ จะขับเคลื่อนในอนาคตจึงน่าจะมีน้ำหนักไม่น้อย หากผ่านกระบวนการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างถึงที่สุดภายในพื้นที่ทางการเมืองแห่งนี้
“สภา” แห่งนี้มีทั้งข้อเหมือนและข้อต่างจาก “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อตอนต้นปีตามความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 หรือที่รู้จักกันดีในนาม “พ.ร.บ. ศอ.บต.” สภาชนิดหลังมีสมาชิกมาจากหลากหลายกลุ่มตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในกฎหมาย ผ่านทั้งการคัดเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพ และการแต่งตั้งโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและประเมินผลการทำงานของ ศอ.บต. ให้ความเห็นต่อนโยบายหลักในการแก้ปัญหา ตลอดจนพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ฯลฯ
แม้ว่าที่มาจะแตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนฐานความชอบธรรมคนละชุด ทั้งยังมีบทบาทที่กำหนดเอาไว้แต่เบื้องแรกแตกต่างกันบ้าง แต่ดูเหมือนว่าจุดเหมือนสำคัญจะได้แก่ความพยายามในการออกแบบพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะให้ผู้คนอันหลากหลายได้สะท้อนความคิดเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของตนเอง
สำคัญว่าพื้นที่ทางการเมืองที่เพิ่งผลิบานเหล่านี้จะมีความสามารถในการดูดซับเอา “ความคิดเห็นที่แตกต่าง” ตลอดจนนำพาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่จริงนอกสภาให้เข้ามาถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ กระทั่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้จริงหรือไม่เพียงใด จังหวะก้าวนับจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์
หมายเหตุ: ตราสัญลักษณ์ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ออกแบบโดย Sea Slow โดยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ระดมผ่านการประชันกันในกลุ่มสังคมออนไลน์ DSDC (Deep South Design and Culture)
ล้อมกรอบ 1
ปฏิญญาเพื่อการขับเคลื่อนข่ายงานประชาสังคมชายแดนใต้
ด้วยตระหนักว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุเป็นวิกฤตความรุนแรงอย่างเรื้อรังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ล้วนมีรากลึกมาจากความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่ส่วนกลางกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นโดยไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมมานานร่วมร้อยปี นอกจากนั้นยังมีประเด็นปัญหายาเสพติด สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นภาวะแทรกซ้อนจนทำให้ยากต่อการแก้ไข
ที่ผ่านมาทิศทางนโยบายในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ล้วนถูกผูกขาดอยู่กับฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานราชการ ในขณะที่ฝ่ายขบวนการต่อต้านรัฐ เองก็ไม่ยอมรับและไม่ยอมจำนนโดยง่าย ส่วนประชาชนและชุมชนท้องถิ่นทุกหมู่เหล่าล้วนตกเป็นผู้รับผลกระทบอันน่าขมขื่นจากการต่อสู้เพื่อเอาชนะกันด้วยอาวุธและมาตรการความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายและต้องทนอยู่กับสภาพดังกล่าวอย่างไม่มีทางเลี่ยง
พวกเราข่ายงานประชาสังคมชายแดนใต้ อันประกอบด้วยองค์กรชุมชน องค์กรประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีถิ่นฐานที่ตั้ง และภารกิจงานส่งเสริมและพัฒนาสังคมชายแดนภาคใต้อย่างถาวร มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาที่องค์กรภาคประชาชนทั้งมวลในพื้นที่จะต้องรวมตัวผนึกกำลังกัน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งนี้โดยใช้พลังแห่งสันติวิธี พลังความรู้และสติปัญญา และพลังแห่งคุณธรรมความดีเป็นธงนำ จึงมีมติร่วมกันเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ให้ก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และได้ร่วมกันลงนามประกาศคำปฏิญญาต่อกันไว้ ณ ดินแดนปัตตานี แห่งนี้ว่า :
ข้อ 1. เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และเพิ่มพลังอำนาจของภาคประชาชน ทั้งในการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง การร่วมกระบวนการนโยบายสาธารณะและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยมุ่งสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ พวกเราทั้ง 20 องค์กร ขอประกาศก่อตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ให้เป็นองค์กรประสานงานกลางของเครือข่ายในการขับเคลื่อนภารกิจร่วมกัน
ข้อ 2. เราจักขอมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นให้ภาครัฐ หน่วยราชการ และฝ่ายความมั่นคงที่รับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา และขอมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายการแก้ปัญหาชายแดนใต้ โดยยินดีร่วมคิดร่วมทำกับกลุ่มต่าง ๆ ทุกภาคีทั้งในและนอกพื้นที่ ที่มีเป้าหมาย คือ การอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ทั้งนี้บนพื้นฐานของการเคารพในความแตกต่างหลากหลายระหว่างกัน
ข้อ 3. เราจักส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสานสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายภาคประชาชน สร้างพื้นที่สาธารณะและการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมชายแดนใต้อย่างจริงจัง
ข้อ 4. ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาอุปสรรคใด พวกเราทั้ง 20 องค์กร ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง จักให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสภาประชาสังคมชายแดนใต้อย่างแน่วแน่มั่นคง ทั้งในด้านวิชาการ ด้านทุนทางสังคมและด้านทุนทรัพยากรต่าง ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี นับจากนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สภาประชาสังคมมีความเข้มแข็งและแสดงบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสังคมชายแดนใต้ สู่ สันติภาพและความรุ่งเรืองไพบูลย์สำหรับลูกหลานสืบไป.
20 สิงหาคม 2554
ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี
อ่านคำปฏิญญาโดย พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม
ล้อมกรอบ 2
20 องค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้ง
(ในวงเล็บคือตัวแทนองค์กรสมาชิกฯ ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการสภาชุดรักษาการณ์)
(1) สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปิยะพร มณีรัตน์)
(2) มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร (อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์)
(3) ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา (มาเรียม ชัยสันทนะ)
(4) โครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ผศ.นุกูล รัตนดากูล)
(5) สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) (รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล)
(6) มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ (มันโซร์ สาและ)
(7) มูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ (วศิน สาเม๊าะ)
(8) กองทุนเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมชายแดนใต้ มูลนิธิซีเมนต์ไทย (สมพร สังข์สมบูรณ์)
(9) ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล (สมชาย กุลคีรีรัตนา)
(10) สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา (อับดุลการิม อัสมะแอ)
(11) ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด “บ้านชีวิตใหม่” (พิศิษฐ์ วิริยสกุล)
(12) ศูนย์อัลกุรอานและภาษา โรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ (อับดุลสุโก ดินอะ)
(13) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (มูฮำมัดอายุบ ปาทาน)
(14) เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (โซรยา จามจุรี)
(15) ศูนย์ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี (กัลยา เอี่ยวสกุล)
(16) เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ (มูฮำหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ)
(17) เครือข่ายชุมชนศรัทธา (แวรอมลี แวบูละ)
(18) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ปัตตานี (สมเกียรติ พิทักษ์กมลพร)
(19) ศูนย์ประชาสังคมจังหวัดยะลา (สมนึก ระฆัง)
(20) เครือข่ายวิทยุชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มูฮำมัด บินหะยีอาบูบากา)