เทือกเขาบูโดทอดตัวตามแนวตะเข็บ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทิศเหนือติดอำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังวัดปัตตานี เหยียดยาวลงใต้ รายล้อมด้วยอำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง ไปจรดเทือกเขาสุไหงปาดีในจังหวัดนราธิวาส
ตีนเขาบูโดเป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่ ซึ่งชาวบ้านหลายชั่วอายุคนทำมาหากินพึ่งพิงอยู่ในพื้นที่ป่าเขา ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เทือกเขาแห่งนี้กลายเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชนมุสลิมมายาวนาน ทั้งประวัติเรื่องราวการต่อสู้ของคนกลุ่มต่างๆ นับตั้งแต่โจรร้ายไปยันกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งได้ใช้บูโดเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว และแหล่งหลบซ่อนพักพิง
ตำนานมากมายเกิดขึ้นและจบลงที่บูโด
สภาพภูมิศาสตร์เทือกเขาบูโดมีความสลับซับซ้อนและเป็นป่าดงดิบที่เป็นแหล่งพันธุ์ไม้หายาก เช่น ปาล์มบังสูรย์ หรือ ‘ลีแป' หวายตะคร้าแดง รวมถึงใบไม้สีทองที่มีชื่อท้องถิ่นว่า ‘ย่านดาโอ๊ะ' นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งนกเงือกตระกูลต่างๆ มากมาย
ในปี 2508 บริเวณพื้นที่เทือกเขาบูโดได้ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาในปี 2542 เทือกเขาแห่งนี้ ตลอดไปจนถึงเทือกเขาสุไหงปาดีซึ่งทอดตัวอยู่ทางทิศใต้ ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ครอบคลุมพื้น 293.7 ตารางกิโลเมตรหรือ 183,562.5 ไร่ ใน 3 จังหวัด 9 อำเภอ 24 ตำบล
การประกาศเขตอุทยานได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่รายล้อมป่าเขา เนื่องจากไม่มีกระบวนการจัดการและวางแผนที่ดี ทำให้ที่ดินทำกินจำนวนมากไม่ได้รับการกันแนวเขตออกก่อน และเมื่อนำกฎระเบียบของทางการเข้ามาบังคับใช้โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นศูนย์กลาง จึงเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับชาวบ้านมาโดยตลอด
ความเดือดร้อนของชาวบ้านย่านเทือกเขาบูโด สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของภาครัฐที่ไม่ลงตัว เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ
สวนดุซง สวนยาง ของชาวบ้านที่เป็นแหล่งทำมาหากินมาช้านาน ถูกตั้งเงื่อนไขให้อยู่ในกรอบที่ทางการกำหนด เช่น ห้ามตัดต้นยางพาราในสวนของตัวเอง จนชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
การแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นในลักษณะนี้เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่บ่มเพาะความไม่พอใจของชุมชนมุสลิมที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ทัศนคติของผู้บริหารและทางการ สวนทางกับวิถีชีวิตของคนที่นี่ เราอยู่กันอย่างสันโดษมาช้านาน ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ทำให้เราไม่ต้องกระตือรือร้นอะไรมาก หารายได้แค่พออยู่พอกิน แต่รัฐไม่ได้มองเช่นนี้ รัฐต้องเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ เขาต้องการการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จึงพยายามทำให้เกิดการแข่งขัน แต่คนที่นี่ไม่รู้ว่าจะทำเช่นนั้นไปทำไม และทำไมเขาต้องทำงานหนัก" ดือระแม ดาราแม หรือที่คุ้นเคยกันในนาม ‘เปาะจิ' ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบาเจาะ สรุปภาพกว้างและลึกได้ชัดเจน
เปาะจิเกิด เติบโต และใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ตีนเขาบูโด แกมีสวนดุซงที่ผสมผสานพันธุ์ไม้ไว้หลากหลายสำหรับหล่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว
"คนที่นี่มีรัฐธรรมนูญอยู่ 2 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญของบ้านเมือง และรัฐธรรมนูญทางศาสนา ถ้ารัฐธรรมนูญของบ้านเมืองขัดกับหลักศาสนา ชาวบ้านก็รับไม่ได้ หรือยอมรับแบบไม่เต็มใจ เช่น อยู่ๆ ไปออกประกาศทับพื้นที่ชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านไม่เคยคิดรุกพื้นที่ของรัฐเลย อย่างนี้เขารับไม่ได้" ผู้อาวุโสเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงบนเทือกเขาบูโดด้วยความเป็นห่วงมาโดยตลอด ซึ่งนับวันชาวบ้านมีแต่ถูกกีดกันให้อยู่ห่างจากธรรมชาติ
"พวกเราได้รับความสุขสงบ อยู่ดี กินดี เพราะอยู่ใต้ร่มเงาของบูโด ผู้เฒ่าผู้แก่สอนไว้ว่า หากขึ้นไปทำสวนบนเขา ให้ช่วยกันรักษาต้นไม้ไว้ แม้แต่ไม้เนื้ออ่อนก็เถอะ เพราะมันช่วยอุ้มน้ำ ยิ่งไม้ใหญ่ยิ่งห้ามตัด คนที่นี่เลยติดเป็นนิสัย"
คำว่า ‘อนุรักษ์' ที่ทางการนำมาใช้ในบูโด ด้วยการประกาศกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เป็นคนละความหมายของการอนุรักษ์ในวิถีชาวบ้านที่นี่ ซึ่งเปาะจิเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเอากฏหมายที่บังคับใช้ที่อื่นเข้ามา เพราะรอบบูโดมีวิธีการดูแลและจัดการกันเองโดยวิถีประชา หากใครทำผิดจะมีเสียงร่ำลือและเสียงแซวในร้านน้ำชา แค่นี้ก็ทำให้เกิดความละอาย จนคนที่ละเมิดข้อห้ามชุมชน ไม่กล้าทำผิดอีก
"ทางการส่งคนข้างนอกมาอยู่ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าป่าหมดไปแล้วกี่ไร่ แม้จะนั่งเฮลิคอปเตอร์ดูก็เถอะ การเอากฎหมายมาใช้อย่างเดียวไม่เป็นผลหรอก สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของจิตสำนึก" ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบูโดสะท้อนภาพความเป็นจริง
"ถ้ารัฐจริงใจที่จะช่วยประชาชนก็ต้องกู้ศรัทธาคืนมาให้ได้ ต้องเอาความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน"
นานกว่า 10 ปีแล้ว ที่เปาะจิพยายามกระตุ้นเตือนสติให้คนภาครัฐเข้าใจวิถีของชุมชนมุสลิมรอบเขาบูโด แต่สิ่งที่ผู้อาวุโสเรียกร้องกลับไม่เคยเป็นผล จนกระทั่งล่าสุด อำเภอบาเจาะได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการประกาศเขตอุทยานบูโด-สุไหงปาดี
"ถ้าตายก็ตายตาหลับแล้ว เห็นพวกเขาช่วยกันแก้ปัญหา ทั้งนักวิชาการตั้งแต่ดอกเตอร์ไปยันเด็กจบ ป.6 บรรดาลูกๆ หลาน และส่วนราชการร่วมมือกันดี ตอนนี้ทุกอย่างกำลังไปได้สวย"
ภายหลังเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันทน์ (กอส.) ขึ้น ได้มีการนำประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานบูโด-สุไหงปาดีเข้าไปหารือ
กอส.มีข้อสรุปคือ 1.อนุญาตให้ชาวบ้านสามารถโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุในที่ดินทำกินของตัวเองในเขตอุทยานได้ และ 2.ให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ช่วยเหลือเกษตรกรในการปลูกยางทดแทน
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ในศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ.ได้ดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้ โดยเลือกเอาอำเภอบาเจาะ ซึ่งมี 5 ตำบล 15 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ เป็นพื้นที่นำร่อง
ชาวบ้านและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเก็บข้อมูลและทำประชาคมอยู่หลายครั้ง พร้อมกับทำการสำรวจ จนกระทั่งแยกกลุ่มปัญหาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1.) ที่ดินอยู่นอกเขตอุทยานฯ และป่าสงวน แต่ไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน ทำให้ไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน โดยมีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 745 ราย จำนวนที่ดิน 4,116 ไร่ (2.) ที่ดินอยู่ในเขตอุทยานฯ แต่อยู่นอกเขตป่าสงวน มี 795 ราย จำนวน 4,942 ไร่ และ (3.) ที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนมี 264 รายจำนวน 2,439 ไร่
ขณะที่ สายัณห์ ชนะชัยวงศ์ นายอำเภอบาเจาะ ซึ่งเป็นแกนกลางที่เข้าไปร่วมแก้ปัญหา ชี้ทางออกว่า กรณีที่ชาวบ้านอยู่นอกเขตป่าสงวนและนอกเขตอุทยานฯ ได้มีการสำรวจร่วมกันแล้ว เพื่อพิสูจน์การถือครองที่ดินและการเข้าไปทำประโยชน์ ซึ่งขั้นต่อไปกรมที่ดินจะมารังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ต่อไป
ส่วนกรณีถูกอุทยานฯ ประกาศทับที่ดินนั้น หลังจากได้สำรวจจุดชัดเจนก็สามารถเสนอออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่ออกมาได้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการแก้ไขปัญหาโดยเอาที่ดินของชาวบ้านคืนจากอุทยานฯ
"ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น เดิมทีชาวบ้านไม่สามารถตัดต้นยางที่หมดอายุได้ ก็จะอนุญาตให้มีการตัด เพียงแต่อย่าตัดพร้อมๆ กัน ทีละมากๆ ซึ่งทางอุทยานฯ กลัวว่าจะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เราจึงหาทางออกร่วมกันว่า ทยอยตัดได้ปีละ 5% ของพื้นที่ปลูกยางในเขตนั้นๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ให้ชาวบ้านไปตกลงกันเอง นอกจากนี้เรายังได้เชิญ สกย.มาร่วมวางแผนปลูกยางใหม่ด้วย"
ตอนนี้ นายอำเภอสายัณห์และภาคประชาสังคมบาเจาะได้ตระเตรียมข้อมูลต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนของทางการ เช่น นำเสนอคณะรัฐมนตรี การรังวัดพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งแรกที่เดียว กระบวนการต่างๆ เกือบสำเร็จแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จึงต้องตั้งความหวังกันใหม่อีกรอบ
"ข้อมูลทั้งหมดเกิดจากคนในพื้นที่ ร่วมกันคิดร่วมกันทำ เราช่วยกันปักหมุดปักเสา เพื่อทำแนวเขต จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี" บังศิโรจน์ แวตาโอ๊ะ ผู้นำแก้ไขปัญหาที่ทำกินในเขตอุทยานฯ และชาวบ้านใช้กระบวนการชุมชนเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งแทบทุกหลังคาเรือนต่างร่วมมือกันอย่างคึกคัก
บังศิโรจน์ถือว่าเป็นแกนหลักมายาวนานในการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของชาวบ้านคืนมา เขาเคยเป็นประธานองค์การบริหารส่วนตำบล หลายครั้งที่ราชการส่วนกลางเข้ามาดูปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่ส่วนใหญ่ก็เงียบหายไป จนกระทั่งล่าสุดหลายฝ่ายช่วยกันเข้ามาหนุนเสริม
"ผมสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่และน้องๆ ว่าจะเอาอีกมั้ย เมื่อทุกคนบอกว่าเอา ก็เลยเดินหน้ากันต่อ"
บังศิโรจน์และชาวบ้านต่อสู้หลายยุคหลายสมัยจนแทบอ่อนล้า แต่เพราะการไม่ยอมแพ้ ทำให้แนวทางของชาวบ้านเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือพอช.ได้เข้ามาหนุนเสริมในเรื่องของงบประมาณ และการทำระบบข้อมูล โดยได้มีการฝึกฝนเยาวชนในหมู่บ้านให้รู้จักการใช้อุปกรณ์ต่างๆ
จนในที่สุด พื้นที่บาเจาะได้กลายเป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาอุทยานบูโด-สุไหงปาดี ทับที่ทำกินและสร้างผลกระทบให้ชาวบ้าน
"ก็ดีใจ หากได้ที่ดินของเรากลับมา" อับดุลย์ บาเซ รู้สึกใจชื้นขึ้นที่มีโอกาสได้กรรมสิทธิ์สวนดุซง 3 ไร่บนเขาบูโดคืนมา สวนของเขาเป็นมรดกตกทอดมาแล้ว 3 ชั่วอายุคน ซึ่งสมัยยังเด็กอับดุลย์เคยไปกินไปนอนอยู่บนเขานานนับสัปดาห์
"สมัยนั้นขึ้นไปกรีดยาง อาทิตย์หนึ่งถึงลงมาสักครั้ง อาชีพเราอยู่กับสวน อยู่กับต้นยาง แต่พอปี 2542 ประกาศเขตอุทยาน เขาห้ามเราโค่นต้นยางเก่า เขาบอกว่าจะให้ ส.ป.ก.บ้าง จะมาปักหลักเขตบ้าง แต่เราไม่ยอม เพราะผูกพัน สวนนี้เป็นมรดกที่เลี้ยงเรามาจนเติบใหญ่"
อับดุลย์ก็เหมือนกับชาวบ้านรอบบูโดที่พยายามเรียกร้องสิทธิของตัวเองคืนมา แต่เสียงของพวกเขาไม่เคยได้รับการตอบสนอง ทำให้สวนของเขาต้องพลอยหยุดชะงักไปด้วย
"ตอนนี้ก็ขึ้นไปตกแต่งอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาพวกเราพยายามสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนเห็นว่า พวกเราร่วมกันรักษาป่า เพื่อจะได้ไม่ต้องแห้งแล้งเหมือนภาคอีสาน"
ความรู้สึกของอับดุลย์ไม่แตกต่างจาก กูจิ สาและ ชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่ทำสวนอยู่บนบูโด ซึ่งที่ดินของเขามีอยู่ 6 ไร่ โดยบรรพบุรุษเป็นผู้บุกเบิกเช่นเดียวกัน แต่กูจิได้พยายามประยุกต์ดุซงให้เป็นเกษตรแบบผสมผสาน
"สวนแห่งนี้มีรายได้ให้เราทั้งปี นอกจากต้นทุเรียนเก่า ต้นมังคุด ต้นสะตอแล้ว ผมยังเอาต้นระกำ ต้นสละ และไม้อื่นๆ อีกหลายอย่างมาปลูกเพิ่ม สามารถเก็บผลผลิตผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล" กูจิพัฒนาสวนของเขาเรื่อยมา แม้ถูกอุทยานฯ ประกาศทับ พร้อมกับข้อห้ามสารพัด แต่เขาไม่ได้ใส่ใจนักกับกฏเกณฑ์ที่บุกรุกเข้ามาทีหลัง
วันนี้ โครงการนำร่องแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานฯ ของชาวบ้านอำเภอบาเจาะ จำนวน กว่า 1,800 ครอบครัวกำลังไปได้สวย โดยมีภาคประชาสังคมร่วมกันดำเนินการ
ถ้าโครงการนำร่องไม่ตกร่องไปเสียก่อน จะกลายเป็นแนวรูปแบบใหม่ที่สำคัญในการเรียนรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาชาวบ้านอีกกว่า 5,000 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี
ดีไม่ดีรูปแบบนี้อาจแพร่กระจายไปทั่วประเทศด้วย
หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในวารสาร deepsouth Bookazine ฉบับที่ 3 ‘สงครามความรู้สึก ปมลึกไฟใต้' ซึ่งกำลังจะตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้