Skip to main content
 
ต่อไปนี้ เป็นคำกล่าวสุนทรพจน์ของ Y.A.Bhg.Tun. Dr. Mahathir Bin Mohamad (ดร.มหาเฎร์ โมฮามัด) อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย หัวข้อ "บทบาทองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค" เนื่องในโอกาสรับมอบปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แห่งมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ณ หอประชุมวันมูหะมัดนอร์ มะทา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา
 
สุนทรพจน์ดังกล่าวได้รับการแปลจากภาษามลายูโดย อาจารย์มัสลัน มาหะมะ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
 
.................
 
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งในความกรุณา และผู้ทรงยิ่งในความปรานี
 
ขอความสันติสุข จงมีแด่ท่านทั้งหลาย
 
ก่อนอื่นผมใคร่ขอบคุณเป็นอย่างสูงต่อมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่ให้เกียรติแก่ผมรับปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีปัณฑิตกิตติมศักดิ์ในวันอันทรงเกียรตินี้
 
ประเทศไทยคือมิตรประเทศที่ใกล้ชิดกับประเทศมาเลเซียมากที่สุด มีความผูกพันฉันมิตรมาอย่างยาวนาน เราได้มีความร่วมมือด้วยดีเสมอมา ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับอาเซียน หรือแม้กระทั่งในระดับนานาชาติ นับเป็นความสำเร็จที่เราต่างภาคภูมิใจ
 
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพลเมืองนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่มาเลเซียมีพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนมาก แต่ความแตกต่างด้านศาสนาไม่เป็นอุปสรรคต่อสัมพันธภาพอันดีงามระหว่างเรา
 
ผมรู้สึกภูมิใจที่เห็นมุสลิมในประเทศไทยสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข การที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาแห่งนี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันในความใจกว้างและการให้โอกาสอย่างทั่วถึงของรัฐบาลไทยที่มีต่อพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย และนี่คือความอิสระที่เราควรต้องตระหนักและให้ความสำคัญมาก
 
มนุษย์มักได้รับอิทธิพลจากอารมณ์และสติปัญญา โดยปกติแล้ว อารมณ์ ความรู้สึก จะชักจูงเราให้คล้อยตามความต้องการของเรา ในบางครั้ง หากความต้องการของเราไม่ได้รับการควบคุม อาจก่อให้เกิดความโกลาหล วุ่นวาย และเป็นบ่อเกิดแห่งความหายนะต่อตัวเราเอง
 
ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ (พระเจ้าที่ชาวมุสลิมนับถือ) จึงประทานสติปัญญาแก่มวลมนุษย์ เพื่อสามารถควบคุมและป้องปรามความรู้สึกมิให้กระทำการใดๆ ตามอำเภอใจ
 
ในขณะเดียวกัน มนุษย์สามารถใช้ปัญญาพิจารณาว่า การกระทำอันใดที่ก่อประโยชน์สูงสุด มีความเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด และเพื่อให้การใช้สติปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
 
เราจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ ซึ่งความรู้ ณ ที่นี้ ไม่ได้จำกัดเพียงความรู้ด้านศาสนาเท่านั้น แต่ครอบคลุมศาสตร์อื่นๆ ที่สามารถประกันความสำเร็จและสันติสุขในชีวิต
 
ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่า ประเทศต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นคลังสมองและเปิดโอกาสให้ประชาชนศึกษาเรียนรู้และสร้างสังคมดุลยภาพ ไม่ถูกครอบงำโดยอารมณ์และความต้องการอันไร้ขอบเขต
 
ด้วยพื้นฐานองค์ความรู้ มนุษย์รู้จักวางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ ที่สร้างความดีงามแก่ตนเอง สังคมภูมิปัญญาและการเรียนรู้เป็นสังคมที่มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าสังคมที่ไร้การศึกษา ความรู้จึงมีบทบาทสำคัญในการจรรโลงความสำเร็จสู่สังคม
 
ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ถึงแม้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยอิสลาม แต่ไม่ได้หมายความว่า สถาบันแห่งนี้จะเปิดการเรียนการสอนด้านศาสนาเพียงด้านเดียว
 
ฐานทางศาสนามีความสำคัญในการกำกับดูแลมนุษย์มิให้ออกนอกลู่นอกทาง แต่ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้เปิดสาขาวิชาต่างๆ มากมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
 
ในฐานะมุสลิมเรามีหน้าที่สร้างหลักประกันการดำเนินชีวิตที่ดีงามทั้งบนโลกนี้และโลกอาคิเราะฮฺ (วันพิพากษา, โลกหน้า) เราไม่ลืมอาคิเราะฮฺ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ลืมโลกนี้เช่นกัน
เรามีความจำเป็นต้องดำเนินชีวิตบนโลกนี้อย่างมีความสุข และประสบผลสำเร็จสูงสุด ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับการจัดการวิธีการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาดของเราเอง เราจะเป็นผู้กำหนดและผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่สร้างหลักประกันความผาสุกและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต
 
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถครอบครองศาสตร์และองค์ความรู้เท่านั้น
 
ดังที่ได้เรียนแล้วว่า ปัจจุบันวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างรวดเร็วมาก และเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เราสามารถสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกโดยใช้โทรศัพท์มือถือ เสมือนกับเราอยู่ใกล้ชิดกัน
 
นี่คือผลพวงของการพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ และยังมีศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อีกมากมาย
 
ข้อสำคัญ เราอย่าใช้องค์ความรู้เหล่านี้ไปในทางที่ผิด เพราะผู้ที่มีการศึกษา ใช่ว่าสามารถประยุกต์ใช้คำสอนที่ถูกต้องเสมอไป หลายคนที่ใช้องค์ความรู้เพื่อทำลายตัวเอง ครอบครัวและสังคม
 
ดังนั้น นอกจากการแสวงหาความรู้แล้ว เราจำเป็นต้องมีศาสนาคอยกำกับดูแลและสร้างมาตรฐานชีวิตที่สมบูรณ์ นี่คือหน้าที่ของเราในการนำองค์ความรู้เพื่อสรรค์สร้างสังคมที่ดี
 
หากทุกคนตระหนักว่า การพัฒนาสังคมและการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ถูกต้องคือภารกิจหลักของเราแล้ว ผมเชื่อว่าสังคมมุสลิมเป็นสังคมสันติสุข ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม-อินชาอัลลอฮฺ (หากเป็นความประสงค์ของอัลลอฮฺ)
 
 ในปัจจุบัน สังคมมุสลิมกำลังประสบปัญหาวิกฤติมากมาย หลายๆ ประเทศมุสลิมต้องเผชิญกับความเดือดร้อนวุ่นวาย ถูกกดขี่และไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างอิสระชน เพราะถูกกดดันจากฝ่ายที่ไม่หวังดี
 
ในประเทศไทยถึงแม้มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข แต่พึงระวังเราอย่าใช้องค์ความรู้ไปในทางที่ผิด ที่อาจสร้างความสูญเสียแก่สังคม ดังที่เกิดขึ้นในประเทศมุสลิมบางประเทศที่เกิดสงครามกลางเมือง และสู้รบในหมู่มุสลิมด้วยกันเอง ซึ่งตามทัศนะอิสลามแล้ว ถือเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะอิสลามสั่งห้ามมิให้ฆ่าบุคคลอื่นโดยมิชอบ ทั้งที่เป็นมุสลิมหรือชนต่างศาสนิก
 
การเข่นฆ่าชนต่างศาสนิกไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเรา แต่สิ่งที่อิสลามเรียกร้องเชิญชวนคือใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับชนอื่นๆ ท่ามกลางความแตกต่างทางความเชื่อ
 
อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ความว่า “ศาสนาของท่านเป็นศาสนาของท่าน และศาสนาของฉันคือศาสนาของฉัน” โองการนี้แสดงให้เห็นว่า เราไม่เป็นศัตรูกับผู้ใด และเราจะไม่ประกาศสงครามกับคนอื่น ยกเว้นในกรณีเราถูกรุกรานเท่านั้น
 
ปัจจุบันเราพบว่า มีมุสลิมจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามประเทศที่ปกครองโดยผู้นำที่ไม่ใช่มุสลิม มีมุสลิมราว 10 ล้านคน อาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กว่า 3 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมัน
 
ในขณะที่ในประเทศอังกฤษก็มีมุสลิมเป็นเรือนแสน ในฝรั่งเศสมีมุสลิมมากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งชาวมุสลิมเหล่านี้ สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข เพราะพวกเขาใช้ความรู้ที่ถูกต้อง และปฏิบัติตามหลักศาสนบัญญัติที่สอดคล้องกับความสามารถของตนเอง
 
ซึ่งหากเราเป็นพลเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา เราก็ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักศาสบัญญัติได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอาจขัดแย้งกับกฎหมายของประเทศ เช่นเดียวกันกับที่มาเลเซีย ซึ่งมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม 60% ในขณะที่อีก 40% ไม่ใช่มุสลิม เราจึงจำเป็นต้องมีความรอบคอบและเฝ้าระวังมิให้เหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นในประเทศของเรา
 
ขอขอบคุณอัลลอฮฺที่ถึงแม้เรามีทัศนคติที่แตกต่างกันบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว เรายังสามารถยืนหยัดบนหลักการความยุติธรรม ตามเจตนารมณ์ของอิสลาม มาเลเซียจึงเป็นประเทศที่สงบสุข และท่ามกลางบรรยากาศอันสงบสุขนี้ เราสามารถพัฒนาประเทศอย่างเต็มศักยภาพ
 
นอกจากนี้เราสามารถมีบทบาทบนเวทีโลก เนื่องจากความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและการปกครอง
 
ถึงแม้เรามีรัฐบาลที่ปกครองโดยชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม แต่ด้วยพลังแห่งความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราจึงสามารถสร้างประเทศที่มีความปรองดองและพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว และนี่คือผลพวงจากองค์ความรู้ของบรรดาผู้นำประเทศมาเลเซีย
 
ด้วยความรู้ ทำให้ผู้นำเหล่านี้สามารถแยกแยะสิ่งไหนควรทำและสิ่งไหนไม่ควรทำ เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ มาเลเซียจึงปลอดภัยจากวิกฤติที่ร้ายแรง เพราะอัลลอฮฺทรงไม่ชอบคนที่สร้างความวุ่นวาย
 
เราควรพยายามหาแนวทางเพื่อสร้างหลักประกันให้เกิดสันติสุขในสังคม โดยให้ความสำคัญประเด็นศาสนา และนี่คือบทบาทของความรู้ที่ไม่ใช่นำพามนุษย์ให้จมปลักตามอารมณ์ของตนเองเท่านั้น
 
มนุษย์มีสติปัญญา จึงต่างกับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่สามารถกระทำตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ ยามใดที่จนตรอก มันก็จะจู่โจมและทำร้ายโดยไม่ยั้งคิด แต่ด้วยอาศัยพลังแห่งปัญญาและความรู้ มนุษย์สามารถหาจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง
 
เมื่อใดที่มนุษย์รับทราบถึงจุดอ่อนจุดแข็งของตนเองแล้ว เขาสามารถกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์และสร้างความปลอดภัยให้กับตนเอง แต่หากเราคล้อยตามอารมณ์หรือดำเนินการใดๆ ที่ไม่ก่อประโยชน์แก่ตนเอง เราก็จะประสบกับความวุ่นวายและความยากลำบากในชีวิต จนกระทั่งในบางครั้ง อาจทำให้ศาสนาของเราหม่นหมองไปด้วย
 
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงพยายามไขว่คว้าหาความรู้ ณ ทุกแห่งหน การแสวงหาความรู้จึงเป็นบทบัญญัติทางศาสนา อิสลามสั่งใช้ให้มนุษย์ “อ่าน” และเรียนรู้ เพราะเมื่อเราอ่าน เราก็สามารถเพิ่มพูนความรู้ ผู้ใดที่ไม่อ่านหนังสือ เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะมีความรู้ การอ่านจึงเป็นความพยายามที่กว้างขวางครอบคลุมทุกศาสตร์วิชา และเราต้องเรียนรู้ในทุกแขนงวิชา หากเราไม่รู้ เราจะเป็นคนปลายแถวทันที
 
ณ ที่นี่ ผมใคร่พูดถึงประวัติศาสตร์ของประชาชาติมุสลิม ซึ่งในยุคแรกของประวัติศาสตร์อิสลาม มุสลิมขวนขวายหาความรู้ด้วยความมุ่งมั่น พวกเขาเป็นผู้บุกเบิกศาสตร์ด้านต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์และปรัชญา พวกเขามีความเชี่ยวชาญภาษาอื่นๆ เช่น ภาษากรีก ฮินดู เพื่อใช้เป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ พวกเขาจึงแตกฉานศาสตร์ต่างๆ และเผยแพร่ไปทั่วโลก
 
ในเมืองสำคัญของประเทศอิสลามในขณะนั้น จึงอุดมด้วยห้องสมุดและวิทยาการ แต่ในช่วงทศวรรษที่ 15 ได้มีแนวคิดว่า วิทยาศาสตร์และความรู้อื่นๆ ไม่มีประโยชน์อันใดต่อชีวิต การเรียนรู้ในศาสตร์เหล่านี้ ไม่มีผลบุญอันใดเลย ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ค่อยให้ความสนใจพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์มากนัก
 
ในขณะเดียวกันยุโรปขณะนั้นกำลังอยู่ในยุคมืด (The Dark Ages) ชาวยุโรปได้ศึกษาอารยธรรมอิสลาม และเห็นความก้าวหน้าทางวิชาการของโลกมุสลิม พวกเขาจึงศึกษาเรียนรู้ภาษาอาหรับ เพื่อเป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ที่ปรากฏในประเทศอิสลาม
 
ในขณะเดียวกันชาวมุสลิมได้พร้อมใจหันหลังกับวิทยาการสมัยใหม่ แต่ชาวยุโรปกลับลุกขึ้นจากการหลับใหล หันมาสนใจศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ จนกระทั่งยุโรปสามารถสถาปนาอารยธรรมที่มั่นคงเข้มแข็งตราบจนปัจจุบัน ในขณะที่ชาวมุสลิมกลับถอยหลังเข้าคลอง พวกเขาไม่สามารถแม้กระทั่งปกป้องตนเอง
 
เราพบว่า ขณะนี้สภาพของมุสลิมประสบกับความตกต่ำแค่ไหน พวกเขาไม่สามารถลุกขึ้นปกป้องตนเอง นี่คือบทบาทองค์ความรู้ต่อการสร้างอารยธรรม หากเราไม่สามารถสรรค์สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ แสดงว่าเรากำลังเลือกเดินบนเส้นทางแห่งความถดถอย แต่หากเราเป็นสังคมภูมิปัญญา มีการศึกษาทั้งศาสตร์ศาสนา และศาสตร์การดำเนินชีวิต เราจะเป็นสังคมที่เจริญที่สามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ทัดเทียมกับอารยประเทศ
 
นี่คือเหตุผลที่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เราอยากเห็นสังคมมุสลิมมีการพัฒนาเช่นเดียวกันกับสังคมอื่น เราไม่ตั้งใจที่จะประกาศสงครามกับชนต่างศาสนิก แต่เราควรแข่งขันกับเพื่อนมนุษย์บนโลกนี้ในทุกด้าน ทั้งด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิชาการ
 
เราไม่เพียงแต่ไขว่คว้าความรู้ที่มาจากข้างนอก แต่เราต้องคิดค้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ ขอให้ท่านมั่นใจว่า ด้วยวิธีการนี้เท่านั้น ทำให้เราเป็นสังคมที่พัฒนา ไม่ว่าจะเป็นสังคมมุสลิมหรือไม่ก็ตาม
 
ผมขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง ที่ให้โอกาสแก่ผมพูดคุยกับนิสิตนักศึกษา บรรดาผู้นำและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายในวันอันทรงเกียรตินี้
 
ผมเชื่อเหลือเกินว่า มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเป็นสถาบันที่เปิดโอกาสให้บรรดาเยาวชนใฝ่หาเรียนรู้วิชาและศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะศาสตร์ด้านศาสนาเท่านั้น แต่ศาสตร์อื่นๆ ที่จำเป็นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
 
ผมเชื่อมั่นว่า หากเราสามารถแสวงหาความรู้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว เราสามารถยืนหยัดบนโลกนี้ท่ามกลางภาวะการแข่งขันในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ
 
ผมขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาแห่งนี้ โดยเฉพาะประเทศที่ให้การสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยโดยตลอด อาทิ ประเทศกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต เป็นต้น
 
ผมเชื่อว่าการสนับสนุนในลักษณะนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่มุสลิมที่พึงปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกับทุกสังคมในโลกนี้ได้อย่างสันติสุข
 
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาอีกครั้งหนึ่ง ที่มอบปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในวันนี้ และหวังว่าผมคงสามารถให้การสนับสนุนสถาบันแห่งนี้เท่ากำลังความสามารถของผม และผมขอดุอาให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นของผู้บริหารและคณาจารย์ตลอดจนความตั้งใจเรียนของบรรดานักศึกษาผู้โชคดีทั้งหลายที่สามารถเก็บเกี่ยวความรู้ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้
 
วัสสลาม.
 
  

 

 

 
 
คำประกาศเกียรติคุณ
Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad
รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
3 ตุลาคม 2554
 
Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศมาเลเซีย เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 20 ธันวาคม 1925 บิดาชื่อ Mohamad Iskandar มารดาชื่อ Wan Tempawan binti Wan Hanafi มีภูมิลำเนา ณ Seberang Perak, Alor setar, Kedah Darul Aman, สมรสกับ Y.A.Bhg.Tun Dr.Siti Hasmah binti Mohamad Ali เมื่อเดือนสิงหาคม 1956 มีลูกทั้งหมด 7 คน
 
Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad เป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 9 คน ได้รับการศึกษาขั้นต้นจาก Sekolah Melayu Seberang Perak ต่อจากนั้นได้เข้าศึกษาที่ Government English School, Alor Setar ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนาม Kolej Sultan Abdul Hamid และสำเร็จการศึกษาปี ค.ศ. 1945 ด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมรางวัล Senior Cambridge
 
ในปี ค.ศ. 1947 Y.A.Bhg.Tun Dr.MahathirMohamad ได้รับทุนการศึกษาต่อด้านแพทย์ศาสตร์ ณ King Edward Vll College of Medicine, Singapura
 
หลังจบการศึกษาในปี ค.ศ.1953 Y.A.Bhg.Tun Dr.MahathirMohamad เริ่มทำงานในตำแหน่งแพทย์ฝึกหัด ณ Hospital Besar Pulau Pinang หลังจากนั้นได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำ Hospital Besar Alor setar ฯพณฯ เคยปฏิบัติราชการที่ Langkawi, Jitra และ Perlis.
 
ในปี ค.ศ.1957 Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir ได้เปิดคลินิคส่วนตัวชื่อ Klinik MAHA ที่ Alor setar ซึ่งถือเป็นคลินิคเอกชนมลายูแห่งแรกในรัฐเคดาห์ นอกจากให้บริการด้านการแพทย์แล้ว Klinik MAHA ถือเป็นเวทีสำหรับ ฯพณฯ ในการดำเนินกิจกรรมให้บริการสังคมแก่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
 
Y.A.Bhg.Tun Dr.MahathirMohamad ได้เข้าสู่ในแวดวงทางการเมืองในปี ค.ศ.1959 เมื่อได้รับการคัดเลือกเป็นผู้สมัครการเลือกตั้งระดับรัฐเคดาห์ แต่ ฯพณฯ ตอบปฏิเสธ
 
ในการเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ.1959 Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad ได้รับไว้วางใจเป็นผู้สมัครเลือกตั้งและได้รับชัยชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต Kota Setar ในนามพรรค Perikatan และนี่คือจุดเริ่มต้นของการทำงานในแวดวงการเมืองของ ฯพณฯ ในระดับชาติ
 
Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad ได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งด้านการศึกษา ได้รับการประกาศเกียรติคุณ และยกย่องในแวดวงวิชาการต่าง ๆ มากมาย เช่น ประธานสภาการศึกษาแห่งชาติในปี ค.ศ.1968 คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาทางการศึกษาแห่งชาติในปีค.ศ.1972 กรรมการสภามหาวิทยาลัยมาลายา และประธานสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติในปีค.ศ.1974 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี ค.ศ.1974 ต่อมา ฯพณฯ ได้ลาจากการดำรงสมาชิกวุฒิสภาเพื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้งทั่วไป ปีค.ศ.1974 ซึ่งฯพณฯ ได้รับชัยชนะโดยไม่มีคู่แข่ง
 
ชัยชนะในการเลือกตั้งในครั้งนี้ ฯพณฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในช่วงดำรงตำแหน่งนี้ ฯพณฯ ได้ส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาแก่ภูมิบุตรอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาระดับชาตินานัปการ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง Maktab Rendah Sains Mara
 
ในปีค.ศ.1975 ฯพณฯ ได้รับการเลือกตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าพรรค UMNO
 
ในปีค.ศ.1978 ฯพณฯ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และในปีค.ศ.1981 หลังจากที่ Tun Hussien Onn นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากปัญหาสุขภาพ Y.A.Bhg Tun Dr.Mahathir Mohamad ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานพรรค UMNO และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 4 ในขณะที่มีอายุ 55 ปี
 
ตลอดยะระเวลา 22 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดแห่งชาติ Y.A.Bhg Tun Dr.Mahathir Mohamad ได้อุทิศตนเสียสละทั้งกำลังความคิดและสติปัญญาในการมุ่งมั่นพัฒนาประเทศมาเลเซียอย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งในปีค.ศ.1997 นิตยสารเอเชียวีคได้คัดเลือก ฯพณฯ เป็นบุคคลลำดับที่สองที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในจำนวนผู้นำ 50 ท่านของเอเชีย
 
ในช่วงที่ ฯพณฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซียต้องเผชิญปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ทั้งจากภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้กำหนดนโยบายและมาตรการอย่างกล้าหาญและเหมาะสม จนสามารถฝ่าวิกฤติไปได้อย่างราบรื่น และรอดพ้นจากพันธนาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ดังที่ประสบกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย
 
ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ ได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานต่างๆให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพแก่ส่วนรวม จนก่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มผลักดันนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายมองตะวันออก นโยบายการแปรรูปเป็นเอกชน นโยบายอุตสาหกรรมเครื่องยนต์แห่งชาติ นโยบายแทรกซึมวิถีอิสลาม นโยบายประชากร 70 ล้าน วิสัยทัศน์ 2020 นโยบาย “สะอาด กระชับ และซื่อสัตย์” อภิโครงการมหานคร Putrajaya เป็นต้น
 
ด้วยการพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad ได้ดำริอภิมหาโครงการ “Kuala Lumpur City Centre” (KLCC) ซึ่งเป็นตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก และถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นสง่างามที่สร้างความภูมิใจไม่เพียงแต่ประชาชนชาวมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวอาเซียนและมุสลิมทั้งโลก
 
ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ในการนำพาประเทศมาเลเซียสู่การเป็นผู้นำด้านการศึกษา ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและการทำงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของ ฯพณฯ บัดนี้ประเทศมาเลเซียได้กลายเป็นศูนย์รวมแห่งวิชาการที่ไม่เพียงแต่นักศึกษาต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซียเท่านั้น แต่สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลกได้เลือกมาเลเซียเป็นสถานที่เปิดวิทยาเขตใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวทางการศึกษาทั่วโลก
 
ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาประเทศมาเลเซียให้มีศักดิ์ศรีทัดเทียมระดับนานาชาติ Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad ไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาในระดับประเทศเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ฯพณฯ ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐกัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ แอฟริกาใต้ ซิมบับเว และมัลดีฟ
 
Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad ยังอาสาเป็นโฆษกในการสะท้อนสภาพปัญหาของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการแข่งขันที่รวดเร็วและรุนแรงของประเทศที่เจริญแล้ว ด้วยแนวคิดที่เด็ดเดี่ยว กล้าหาญแต่ชัดเจนและไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาคมโลก ทำให้ชื่อเสียงของประเทศมาเลเซีย มีความโดดเด่นและเป็นที่เคารพในเวทีโลก ทั้งนี้เพราะมาเลเซียไม่เพียงเป็นประเทศเอกราชด้านการเมืองเท่านั้น แต่ด้านเศรษฐกิจและที่สำคัญมีความเป็นเอกราชทางจิตใจ มุ่งมั่นใฝ่สัมฤทธิ์อีกด้วย
 
ที่สำคัญที่สุดคือการที่ Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad สามารถสร้างประเทศมาเลเซียให้เป็นประเทศตัวอย่างด้านความเป็นปึกแผ่น มีความสมานฉันท์ และเอื้ออาทรกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม
 
Y.A.Bhg.Tun Dr.Mahathir Mohamad ได้ถูกจารึกเป็น “บิดาแห่งการพัฒนามาเลเซีย” ถือเป็นรัฐบุรุษที่ขับเคลื่อนมาเลเซียให้เป็นประเทศที่เจริญ อุดมสมบูรณ์และมีศักยภาพ มาเลเซียได้ผ่านขั้นตอนการหลอมพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งกายภาพ สติปัญญาและสังคม บัดนี้ มาเลเซียได้กลายเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของโลกที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมนานาชาติ สามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับนานาอารยประเทศ นับว่า Y.A.Bhg. Tun Dr.Mahathir Mohamad ได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศมาเลเซียให้ได้รับการยอมรับจากชาวโลกอย่างไร้ข้อกังขา
 
โดยการที่ Y.A.Bhg.Tun Dr.MahathirMohamad เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความวิริยะ อุตสาหะ มีความรอบรู้ มีวิจารณญาณ มองการณ์ไกล เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ได้อุทิศแรงใจ แรงกายตลอดจนความรู้ความสามารถอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างอเนกอนันต์ สมควรได้รับการพิจารณายกย่องในวิชาการเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม สภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลาในคราวประชุมครั้งที่ 37 (2/2010) วันที่13 กุมภาพันธ์ 2554 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เพื่อเป็นเกียรติสืบไป