Skip to main content
ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
สภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. แถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ให้อยู่ภายใต้คำสั่ง กอ.รมน. เชื่อไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา “ไฟใต้” และไม่ใช่ความต้องการของประชาชน เตรียมเข้าพบ มท.1 เพื่อให้ทบทวน
 
วันที่ 14 ตุลาคม 54 ได้มีการประชุมสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ ศอ.บต. โดยมี นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานที่ปรึกษาฯ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดยมีการพิจารณาการแนวทางการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. ซึ่งเป็นข้อเสนอของ กอ.รมน. ที่นำเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 54 ที่ผ่านมา
 
 
 
โดยต้องการปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานระดับเดียวกับ กอ.รมน. โดยย้ายเลขาธิการ ศอ.บต ไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลาง และปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ในพื้นที่ให้เป็น ศอ.บต.ส่วนแยก และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. ขึ้นมาเป็นหน่วยงานใหม่ โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งทำหน้าที่ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ทั้งในด้านการพัฒนา และการแก้ปัญหาความไม่สงบ โดย ศอ.บต.ส่วนแยก จะมีเจ้าหน้าที่ระดับอำนวยการปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน ศบก.จชต.
 
ซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯได้ขอใช้ข้อบังคับให้เป็นการประชุมลับ และมีการอภิปรายถึงผลดี ผลเสีย ของการปรับโครงสร้างใหม่ของ ศอ.บต. โดยความเห็นของ กอ.รมน. อย่างกว้างขวาง และมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างใหม่ของ ศอ.บต. ในครั้งนี้ เพราะเห็นว่า ขัดกับเจตารมณ์ของ พ.ร.บ. ศอ.บต. ที่มีการแยกงานการพัฒนาและการแก้ปัญหาความไม่สงบออกจากกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา รวมทั้ง พ.ร.บ. ศอ.บต. กว่าจะเป็น พ.ร.บ.บังคับใช้ ได้ผ่านการทำประชาคมการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วน และมีสภาความมั่นคงเป็นผู้ร่วมในการทำยุทธศาสตร์จากความร่วมคิดของภาคประชาชน
 
หาก กอ.รมน. ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ ศอ.บต. จะต้องทำเวทีประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนก่อน แต่ในการประชุมตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 54 เป็นต้นมา และจะมีการประชุมสรุปความคิดเห็น และกำหนดรูปแบบการตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 18-19 ตุลาคม นี้ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด
นอกจากนั้น สภาที่ปรึกษาฯ ยังเห็นว่า กอ.รมน. ได้ดำเนินการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี โดยการควบคุมงบประมาณและอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ปัญหาการก่อความไม่สงบยังไม่ลดลง แต่กลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการไม่ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหา การที่ กอ.รมน. ต้องการปรับโครงสร้างของ ศอ.บต. ให้เล็กลง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงมี “นัยยะ” อื่นแอบแฝง ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบอย่างที่กล่าวอ้าง
 
ดังนั้น สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีมติไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ของ กอ.รมน. และได้ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนของสภาฯ ที่สมาชิกจำนวน 49 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ และได้ติดต่อขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็น และการไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างของ ศอ.บต. และการจัดตั้ง “ศบก.จชต.” ในครั้งนี้ ซึ่งทางสำนักนายกฯได้แจ้งให้ทราบว่า นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้สภาที่ปรึกษาฯ เข้าพบกับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ศอ.บต. ในเวลา 11.00 น. ของวันที่ 19 ต.ค. นี้
 
 
 
แถลงการณ์สภาที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในฐานะผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กรณีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล
 
๑. ความเป็นมา
 
รัฐบาล โดย ฯพณฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา จชต. อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยที่ประชุมมีข้อสรุปสำคัญ ดังต่อไปนี้
 
๑. นำยุทธศาสตร์กองอำนวยการรักษาความมั่นภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)๖ ยุทธศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ให้เป็นรูปธรรมโดยแต่ละยุทธศาสตร์ ควรให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เป็นเจ้าภาพหลัก
 
๒. ในระดับรัฐบาลควรจัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการบูรณาการแก้ไขปัญหา จชต.เพื่อแบ่งเบาภาระของนายกรัฐมนตรี และให้เป็นหน่วยงานที่ควบคุม กำกับดูแล กระทรวง ทบวง กรม, กอ.รมน. และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ให้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างมีเอกภาพ ทำให้แผนงาน/โครงการมีความประสานสอดคล้องโดยไม่มีการซ้ำซ้อน โดยให้ กอ.รมน. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ได้แนวทางในการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. ที่ทุกระทรวง ทบวง กรม มีส่วนร่วม
 
๓. ให้ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. ในระดับพื้นที่ สามารถควบคุม กำกับดูแล กำลังทหาร กำลังตำรวจและฝ่ายพลเรือน (ศอ.บต. ส่วนแยก, กอ.รมน.จว.) โดยให้ หารือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อจัดทำโครงสร้างการแก้ไขปัญหา จชต. พร้อมกำหนดแนวทางในชั้นต้นนอกจากนี้ให้ ศอ.บต. จัดตั้ง ศอ.บต. ส่วนแยก เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติในพื้นที่และให้ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการบูรณาการการปฏิบัติทั้งปวงในพื้นที่ ทั้งในด้านการพัฒนาและความมั่นคง   และใช้โครงสร้างเดิม (เพื่อพลาง) ในระหว่างที่ ศอ.บต. ยังไม่จัดตั้ง ศอ.บต. ส่วนแยกซึ่ง กอ.รมน. ภาค ๔ สน. ได้จัดให้มีการประชุมหารือฯ ไปแล้วได้ข้อสรุปว่า
 
๓.๑ ให้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. เรียกว่า “ศบก.จชต.” เป็นกองเลขานุการและมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหา จชต. ขึ้นมาชุดหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคล งบประมาณและแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา จชต.
 
๓.๒ ให้มีการจัด ศอ.บต. ส่วนแยก ไว้ในโครงสร้างของ กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า โดยเสนอให้ผอ.ศอ.บต.สย. เป็นข้าราชการฝ่ายบริหารระดับอำนวยการ ที่มีความรู้ ความสามารถและความเข้าใจปัญหา จชต. และเข้าใจยุทธศาสตร์ รวมถึง มีความสามารถในการประสานงานได้เป็นอย่างดี
 
๒. ข้อเท็จจริง
 
๒.๑ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา๑๙กำหนดให้มีสภาที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดหนึ่ง จำนวน ๔๙ คน มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ คือ ให้ความเห็นนายกรัฐมนตรีหรือเลขาธิการเห็นว่าสมควรได้รับฟังความคิดเห็นของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อประกอบการพิจารณาในการบริหารการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาใน จชต. ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุตามเจตจำนงของกฎหมายที่ต้องการให้มีหน่วยปฏิบัติงานหลักทำหน้าที่บูรณาการงานพัฒนาในพื้นที่ จชต. ให้เป็นระบบ มีเอกภาพทั้งในเรื่องนโยบายยุทธศาสตร์การบังคับบัญชา และการปฏิบัติ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
          ๒.๒ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังจะเห็นได้จากการยกร่าง พ.ร.บ. ที่กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นแนวทางหลักในการกำหนดรายละเอียดและสาระสำคัญของกฎหมาย รวมถึง แก้ไขปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาแท้จริงของพื้นที่ ทั้งในมิติความมั่นคงและมิติการพัฒนาให้เป็นไปอย่างสมดุล และรองรับ/ส่งต่อการปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งสาระจากการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลมาจากการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์การแก้ไขปัญหาพื้นที่ จชต. ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และเห็นว่ารูปแบบการทำงานที่ประสบความสำเร็จ จำเป็นจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกระดับให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ รวมถึง รักษาฐานมวลชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวนี้ ให้อยู่ร่วมดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นที่อยู่ควบคู่กับภาคราชการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนซึ่งขณะนี้ เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้น“การเมืองนำการทหาร”
 
๒.๓ กรอบแนวคิดหลักของนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากประชาชนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอาทิ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการนโยบายและการปฏิบัติต่างๆ ของรัฐ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ตลอดจน ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
 
๓. ข้อพิจารณา
 
๓.๑ การดำเนินการฯ ของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างความเป็นเอกภาพโดยการบูรณาการสรรพกำลัง (คน) ทรัพยากร และงบประมาณของแต่ละส่วนราชการภายใต้นโยบาย/ยุทธศาสตร์/แนวทางการบริหารจัดการร่วมกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีและจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหา จชต.แต่เพื่อให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมและเกิดการยอมรับจากประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ จชต. ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการให้ความร่วมมือในการดำเนินงานและเป็นพลังในการขับเคลื่อนการปฏิบัติไปยังกลุ่มเป้าหมายทุกระดับจึงควรมีการทบทวนบางประเด็นอย่างละเอียด รอบคอบและควรพิจารณาจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา จชต.
 
๓.๒ การจัดให้มีกลไกควบคุมการปฏิบัติงานของส่วนราชการทุกส่วนที่รับผิดชอบการบูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. ให้สามารถขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีเอกภาพ ตลอดจนมีการบูรณาการระดับยุทธศาสตร์ ที่นำไปสู่การพัฒนากระบวนการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่และการจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดกรอบนโยบายด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรอบแนวทางหลักในการดำเนินการควบคู่กับนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากนโยบายฯ ดังกล่าว มีการรับฟังความเห็นของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศมาเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนศาสนาวัฒนธรรมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ จชต.และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
 
๓.๓ ปัจจุบันพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ มีผลบังคับใช้ประมาณ ๑๐ เดือน แต่มีผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง เห็นได้จากการประเมินผลของภาควิชาการหลายหน่วยที่ระบุตรงกันว่า การมี ศอ.บต. ช่วยให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ สบายใจ พึ่งพาได้ และ ศอ.บต. ได้รับการประเมินเป็นลำดับที่ ๒ รองจากศาลยุติธรรม เรื่ององค์กรที่ประชาชนพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหา จชต. เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงควรพิจารณาทบทวนถึงการใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสนองเจตนารมณ์ของการจัดทำกฎหมายโดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
 
๓.๔ การดำเนินการแก้ไขปัญหา จชต.ตามแนวทางใหม่ ยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเนื่องจาก กอ.รมน. ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมการประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จชต. ดังนั้นจึงควรจัดประชุมเพื่อรับ-แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างรัฐบาล ส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เป็นจริงของพื้นที่และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานให้เป็นไปอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
 
๓.๕ เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓เป็นกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหา จชต. ในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ได้เป็นผลงานของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของกฎหมายเป็นการสั่งสม เรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมา ทำให้พบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องนั้นคือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ จชต. ร่วมกับภาครัฐอย่างต่อเนื่องและและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ดังนั้นหากจะต้องมีการปรับแก้ หรือเสนอเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา จชต. รัฐบาลควรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นหลักมากกว่ารับฟังจากส่วนราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ในพื้นที่
 
๓.๖ การแก้ไขปัญหา จชต. ควรยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารและการพัฒนา จชต. ของ สมช. และยุทธศาสตร์ร่วมกันของ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ส่วน “ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต.” หากจำเป็นจะจัดตั้งก็ให้ศูนย์ฯ ดังกล่าวมีหน้าที่บูรณาการประสานงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สำหรับ กอ.รมน.ควรมุ่งภารกิจสำคัญด้านการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกแซง มากกว่างานในมิติการพัฒนาเนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาหัวใจหลักของพื้นที่ ประกอบกับวันนี้ ยังมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ จนทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมและปัญหาการค้าของเถื่อน ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ จชต. และยังเป็นปัญหาที่มีความสำคัญลำดับสูงที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้รัฐร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
 
๔. ข้อเสนอ
 
๔.๑ ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหา จชต. ตามที่ กอ.รมน. เสนอให้มีคณะกรรมการบูรณาการฯ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เนื่องจาก ศอ.บต. และ กอ.รมน. แยกภารกิจออกจากกันจะทำให้ปฏิบัติงานได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่หากมีความจำเป็นที่จะจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต.” ก็ให้ศูนย์ฯ ดังกล่าว มีหน้าที่อำนวยการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะเป็นการสร้างเอกภาพทั้งในเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง
 
๔.๒ การแก้ไขปัญหา จชต. ขอให้รัฐบาลยึดกรอบแนวทางตามนโยบายด้านการบริหารและการพัฒนา จชต. ของ สมช. เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของ กอ.รมน. และ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาของ ศอ.บต. ซึ่งจะทำให้เกิดการบูรณาการในระดับนโยบายแล้วส่วนหนึ่ง
 
๔.๓ ข้อเท็จจริง แม้ว่างานของ ศอ.บต. จะเป็นการทำงานเชิงพัฒนาเป็นหลัก แต่ก็มีเป้าหมายสำคัญ นั้นคือ เพื่อไปส่งเสริมประสิทธิภาพงานด้านความมั่นคง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและผู้นำกลุ่มต่างๆ รวมถึง การปรับเปลี่ยนจิตวิทยาสังคมของประชาชนในพื้นที่ ทำให้สามารถดำเนินงานด้านความมั่นคงได้สะดวกยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการดำเนินงานด้านความมั่นคงของ กอ.รมน. มีส่วนสำคัญในการวางพื้นฐานงานพัฒนาของ ศอ.บต. ซึ่งเป็นการบูรณาการในเชิงการปฏิบัติของทั้ง ๒ หน่วยงานแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งใช้กลไกทั้ง ๒ ส่วนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่าการเลือกใช้กลไกอย่างใดอย่างหนึ่ง
 
๔.๔ การอำนวยการด้านความยุติธรรม เป็นภารกิจสำคัญของ ศอ.บต. ที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ จชต. รู้สึกอุ่นใจ สบายใจและรู้สึกมีที่พึ่งพา และเป็นแนวทางที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารจัดการไปเป็นฝ่ายการทหาร จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงานลดน้อยลง และนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่น และไม่ไว้วางใจราชการเช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมา และอาจนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่อีกครั้ง
 
นายอาซิส เบ็ญหาวัน
ประธานสภาที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้