ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
4 มกราคม พ.ศ. 2547 ปมลึกแห่งปัญหาที่แฝงเร้นและเพาะตัวยาวนานนับสิบปีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประทุขึ้นอย่างฉับพลันรุนแรง และเป็นระบบ เป็นการรุกทางการทหารด้วยการโจมตีกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทหารเสียชีวิต 4 นาย คนร้ายชิงอาวุธปืนไปได้ 413 กระบอก เป็นจุดเริ่มต้นความรุนแรงรอบใหม่ของชายแดนภาคใต้ซึ่งผ่านมาเป็นเวลาถึงกึ่งทศวรรษ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ "... เราได้บทเรียนอะไร?..." แล้ว "...ยังไงต่อไป? ..."
ถ้าเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ก่อนการปะทุของเหตุการณ์ ในปี พ.ศ. 2547 เหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ได้สูงโด่งขึ้นมาอย่างฉับพลัน อย่างรุนแรงและเป็นระบบ ระหว่างเดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนธันวาคม 2551 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นรวมเป็นจำนวน 8,541 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 8,692 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้เสียชีวิต ประมาณ 3,287 ราย และบาดเจ็บ 5,405 ราย
ความไม่สงบดังกล่าวสะท้อนออกมาในรูปของการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ด้วยวิธีการโจมตีด้วยการยิงสังหาร การวางระเบิด การวางเพลิงและการก่อกวนทำลายสถานที่ต่างๆ เหมือนไฟที่เผาลามสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้และอารมณ์ความรู้สึกของคนทั้งชาติอย่างไม่รู้จบสิ้น
นโยบาย ยุทธศาสตร์ และการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคง : การปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม
การควบคุมความรุนแรงให้ลดลงโดยใช้มาตรการทางการทหารเป็นหลัก มาตรการการพัฒนาเป็นตัวเสริม นโยบายดังกล่าวมีต้นทุนที่สูงมากและอาจมีผลกระทบต่อเนื่องที่คาดไม่ถึง
ที่มาของนโยบายนี้ เป็นเพราะมาตรการตอบโต้ของฝ่ายรัฐต่อแรงกดดันจากความรุนแรงในระดับค่อนข้างสูงในช่วงต้นปี 2550 เกิดเหตุการณ์รุนแรงสะเทือนขวัญหลายครั้ง เช่น การโจมตีทหารรบพิเศษชุดปฏิบัติการทางจิตวิทยา (ปจว.) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทหารเสียชีวิต 7 นาย การลอบวางระเบิดและโจมตีทหารพราน ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในวันที่ 31 พฤษภาคม ทหารพรานเสียชีวิต 11 นาย และการโจมตีทหารชุดคุ้มครองครูเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน มีทหารเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้อีก 7 นาย ในช่วงต้นปี 2550 มีการลอบวางระเบิดรถของนายอำเภอไม้แก่น จ.ปัตตานี ทำให้นายอำเภอเสียชีวิตพร้อมกับนายทหารยศพันโทอีก 1 นาย
หลังจากนั้นได้มีการประกาศแผน "พิชิตบันนังสตา" และแผน "พิทักษ์ปาดี" มาตรการที่สำคัญก็คือการตรวจค้นหมู่บ้านเป้าหมายเพื่อถอนแกนและจับกุม หรือผลักดันให้แนวร่วมของกลุ่มก่อความไม่สงบออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้มีการประกาศแผนยุทธการ "พิทักษ์แดนใต้" ในช่วงหลังของเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ขยายผลตรวจค้นจับกุมแกนนำและแนวร่วมในพื้นที่แห่งอื่นๆ หลังจากผู้ที่ถูกจับกุมรอบแรกให้การซัดทอดคนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ยุทธวิธีดังกล่าวมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะและแนวโน้มของสถานการณ์ มีผลกระทบทั้งในด้านของฝ่ายรัฐ ในด้านของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ และต่อประชาชนทั่วไปในพื้นที่ ในด้านของฝ่ายของรัฐ มีการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมมากขึ้น กอ.รมน.ภาค 4 จึงเปิดแผน ยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ด้วยเหตุผลที่ว่า "เพื่อสร้างแรงกดดันขนาดรุนแรงลงไปในพื้นที่สีแดง เพราะหากจับกุมเป็นรายบุคคลเป็นครั้งเป็นคราวเหมือนที่ผ่านมา จะทำให้แนวร่วมที่เหลือไหวตัวทัน และหลบหนีออกนอกพื้นที่ได้"
ในการดำเนินการดังกล่าว รัฐได้ระดมกำลังทหารและตำรวจ รวมทั้งกำลังฝ่ายอื่นๆเข้าไปในพื้นที่จำนวนมากขึ้นกว่า 60,000 นาย ใช้งบประมาณเพื่อเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นับตั้งแต่ปี 2547-2552 เงินงบประมาณรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 109,296 ล้านบาท ถ้านับเฉพาะส่วนที่ใช้จ่ายไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2551 จำนวนเงินโดยประมาณ 81,748 ล้านบาท
ถ้าจะคำนวณการลงทุน ก่อนและหลังการใช้นโยบายการระดมกำลัง และปิดล้อมตรวจค้น ในปี 2551 เหตุการณ์ความไม่สงบลดลงจากปีก่อนหน้านี้จำนวน 1,238 ครั้ง (จากการคำนวณเหตุการณ์ในช่วงปี 2547-2550 มีสถิติเหตุการณ์เฉลี่ยรายปี ประมาณ 1,956 ครั้ง) อาจคิดมูลค่าการใช้เงินลงทุนเพื่อลดเหตุการณ์ความไม่สงบ ค่าประมาณการ "ต้นทุนการลดเหตุการณ์หนึ่งครั้ง" ใช้เงินลงทุนประมาณ 88.28 ล้านบาท ดังนั้น ถ้ารัฐจะใช้นโยบายเดิมเพื่อลดเหตุการณ์ทั้งหมดได้ก็จะต้องใช้เงินลงทุนเท่าเดิมเพื่อรักษาฐานเดิมของความมั่นคงที่ทำในขณะนี้ และต้องเพิ่มเงินอีกประมาณ 235,984 ล้านบาท หรือรวมแล้วประมาณ 345,280.68 ล้านบาท การคำนวณนี้ตั้งอยู่บนฐานคติที่ว่ารัฐจะยังคงใช้นโยบายที่เน้นการทหารเป็นหลักอย่างเช่นที่ผ่านมา และมีการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นตัวเสริม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่ซึ่งความรุนแรงลดลง ซึ่งรัฐจะต้องใช้เงินลงทุนอีกเท่าตัวเพื่อมิให้เหตุการณ์ความรุนแรงย้อนกลับมาอีก
ต้นทุนของการรักษาความมั่นคงดังกล่าวข้างต้น เป็นตัวเลขที่เปิดเผย แต่ถ้าความเป็นจริงต้นทุนที่ไม่เปิดเผย "สูง" กว่านี้ประมาณเท่าตัวหรือสองเท่าตัว ตัวเลขการลงทุนในอนาคตจะสูงกว่านี้มากขึ้นอีก สิ่งที่ต้องคิดด้วยก็คือ การวิเคราะห์นี้ยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางจิตวิทยาสังคมของประชาชนในพื้นที่ซึ่งจะทนได้หรือไม่กับการได้รับความกดดันทางการทหาร การละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือการเกิดเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่และการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐซึ่งอาจเป็นความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้ในบางครั้งในสถานการณ์การ ข้อมูลจากศูนย์ปฎิบัติการตำรวจส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ในรอบห้าปีที่ผ่านมา มีการปิดล้อมตรวจค้น 12,335 ครั้ง ต่อ 22,297 เป้าหมาย สอบสวนคดีความมั่นคง 6,103 คดี ออกหมายจับ 6,158 หมาย ดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 320 คน จับกุม 3,316 หมาย คนร้ายเสียชีวิต 126 หมาย ศาลได้พิพากษาไปแล้ว 153 คดีหรือร้อยละ 2.5 ของคดีทั้งหมด
ข้อควรระวังก็คือ การละเมิดสิทธิดังกล่าว หากเกิดขึ้นมากและเป็นระบบก็อาจจะเกิดกระแสความไม่พอใจของประชาชนสูงขึ้น เกิดการตอบโต้และต่อต้านรัฐมากขึ้น ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ลดลงตามเป้าหมายที่วางไว้
ลดความสูญเสีย หรือเพิ่มความรุนแรงเชิงคุณภาพ
การวิเคราะห์ในช่วงกลางปี 2551 ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการตายและบาดเจ็บ ทั้งก่อนและหลังเดือนมิถุนายน 2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มปฏิบัติการของฝ่ายทหาร ผลจากการวิเคราะห์แบบจำลองทางสถิติในแบบอนุกรมเวลาข้อมูลรายเดือนชี้ว่าการปฏิบัติการดังกล่าว "ยังไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราการตายและบาดเจ็บรายเดือนอย่างมีนัยสำคัญ" ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงหลังซึ่งเป็น "ความรุนแรงในเชิงคุณภาพ" มีเป้าหมายการทำลายที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้มีเหยื่อการตายและบาดเจ็บมากขึ้นในการโจมตีหรือก่อเหตุในแต่ละครั้ง
ข้อควรระวังในปี 2552 นี้ เมื่อมีการกดดันทางการทหาร ผลก็คือการลดพื้นที่และอิสระในการเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย ในขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถเอาชนะด้วยงานการเมืองและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หากมีความผิดพลาดทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจจากฝ่ายรัฐ ผู้ก่อเหตุความไม่สงบอาจจะหันไปใช้วิธีการโจมตีที่รุนแรงในแบบที่ใหญ่และส่งผลสะเทือนมากเช่น คาร์บอม ใช้ความรุนแรงเป็นการสื่อสารทางการเมืองแบบหนึ่ง หรือเพื่อหาทางออกจากการกดดันทางการทหารในสถานการณ์ที่ยังไม่มีการแก้ปัญหาทางการเมือง การที่ฝ่ายรัฐยังไม่รับทราบสัญญะหรือตีความไม่ออกว่าสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่ผ่านมาว่าเขาต้องการอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความรุนแรงที่แก้ได้ยาก การลดลงของเหตุการณ์ในบางช่วงจึงอาจจะเป็นการปรับตัวทางยุทธวิธีเท่านั้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือภูมิหลังด้านอาชีพของเหยื่อ ราษฎรโดยทั่วไปยังเป็นเป้าหมายมากที่สุด อันดับ 2 คือทหาร และนับตั้งแต่ปี 2550-2551 ผู้เสียชีวิตอันดับ 3 คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กลับมีมากกว่าการเสียชีวิตของตำรวจ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ผลจากการใช้นโยบายปิดล้อมตรวจค้นทำให้ผู้ที่เป็นตัวแทนรัฐในหมู่บ้านถูกมองว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุม จึงถูกมองเป็นผู้ทรยศหรือมูนาฟิกที่จะต้องถูกจัดการ
ยุทธศาสตร์ 5 ปีการต่อสู้กับความรุนแรงด้วยวาทกรรมนโยบายที่มีเหตุผล
จากการทบทวนความรุนแรงทั้งหมดในรอบ 5 ปี จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ถึงแม้จะมีแนวโน้มเหตุการณ์ที่ลดลงในปี 2551 ความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เป็นไปตามข้อสรุปวาทกรรมหลักทางนโยบายของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งสะท้อนให้เห็นการสร้างจินตนาการของเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วยกรอบการใช้เหตุผลและแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหา
ในปี 2548 สิ่งที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นก็คือ ความรุนแรงเกิดขึ้นในระดับสูง อย่างรุนแรง และอย่างเป็นระบบเพราะความผิดพลาดทางนโยบายรัฐในอดีต รัฐบาลทุกชุดทุกสมัยมีส่วนในความผิดพลาด แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายใต้รัฐบาลทักษิณ
ส่วนในปี 2549 การวิเคราะห์ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นความรุนแรงที่มีระบบและโครงสร้าง ไม่ใช่การก่อเหตุแบบไร้ทิศทางไร้เป้าหมาย สะท้อนว่ามีขบวนการและจัดตั้งในการก่อความรุนแรงในพื้นที่ การก่อเหตุกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ กลุ่มที่ก่อเหคุมีเหตุผลทางการเมือง มีแนวคิด กลยุทธ์/ยุทธวิธีในการก่อเหตุความไม่สงบ
นอกจากนี้ ในปี 2549 การขยายความรุนแรง แสดงออกมาในรูปการเมือง มีการประท้วงของผู้หญิงและเด็กต่อมาตรการการจับกุมและใช้ความรุนแรงของรัฐ แสดงให้เห็นว่ารัฐจะต้องระมัดระวังและใช้การเมืองในการแก้ปัญหา การเมืองในที่นี้เป็นการเมืองแห่งอัตลักษณ์ กลุ่มผู้ก่อเหตุมีแนวคิดและวาทกรรมในการต่อสู้เพื่อชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์และศาสนาในแบบบูรณาการ รัฐจึงต้องจัดการด้วยเหตุผลที่ลึก เพราะนี่เป็นการต่อสู้ทางความคิดและความรู้สึก ถ้ารัฐไม่จำกัดการใช้ความรุนแรงของฝ่ายตน และปล่อยให้มีการแก้แค้นตอบโต้อย่างเกินเลย สถานการณ์อาจจะนำพาไปสู่สงครามกลางเมือง ขยายตัวไปในเวทีนานาชาติ ซึ่งเป็นหัวใจหรือเป้าหมายของการต่อสู้ โดยเฉพาะในกรณีการประท้วงของผู้หญิง รวมทั้งกรณีการฆ่าคนไทยพุทธในพื้นที่
ปี 2550 ความรุนแรงยังคงต่อเนื่องและขยายตัวออกไปอีก แม้จะมีการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของทักษิณและการนำทางยุทธศาสตร์เป็นของฝ่ายทหาร ในทางการเมือง มีการพูดขอโทษต่อคนมลายูจากปากของนายกรัฐมนตรี แต่นโยบายสมานฉันท์ยังไม่บรรลุผลในทางปฏิบัติ ฝ่ายก่อการผลักดันด้วยปฏิบัติการก่อเหตุจนทำให้สถานการณ์ก้าวไปถึงสุดปลายขอบของของความสมานฉันท์ รัฐได้แก้ไขด้วยยุทธวิธีการระดมกำลังอย่างขนานใหญ่เข้าไปในพื้นที่ ควบคุมความรุนแรงด้วยการปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมด้วยมาตรการทางกฎหมายตามพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้ระดับความรุนแรงลดลงในครึ่งปีหลังของปี 2550 และปี 2551
จุดเน้นย้ำตลอดเวลาในวาทกรรมทางนโยบายในระยะหลังก็คือ นี่เป็นสงครามความคิด! และสงครามความรู้สึก! จะต้องแก้ที่การเมือง ความคิดและความรู้สึกเพื่อแก้โจทย์ใหญ่ของความรุนแรงในภาคใต้ แต่ในปี 2551 สิ่งที่เห็นก็คือการเมืองที่สับสนนำการทหารที่สับสน เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่กรุงเทพฯทำให้ฝ่ายการเมืองหลีกทางให้ฝ่ายทหารดำเนินการเองโดยไม่แทรกแซง การที่สถานการณ์ลดลง อาจจะเป็นความสำเร็จทางยุทธวิธีที่ทำให้ฝ่ายก่อความไม่สงบไม่สามารถก่อเหตุได้โดยง่าย อาจทำให้การข่าวดีขึ้น แต่สถานการณ์ก็ยังอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน มีการก่อความรุนแรงในเชิงคุณภาพมากขึ้นเพื่อตอบโต้ฝ่ายรัฐ สถานการณ์จึงอาจจะเป็นไปตามการวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ของรองปลัดกระทรวงกลาโหม ‘พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล' ที่ว่าการที่สถิติลดลงอาจจะเป็นเพียงตัวชี้ผลทางยุทธวิธี แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ในขณะนี้อยู่ในภาวะยันกัน ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถเอาชนะกันได้หรือไม่สามารถเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ที่เปลี่ยนไปสู่ชัยชนะอย่างยั่งยืนได้
ดังนั้นทางออกในปัจจุบันก็คือ การพยายามใช้ความยุติธรรมเพื่อแก้ปัญหา ใช้การเมืองนำการทหารอย่างแท้จริง ด้วยกระบวนการทางการเมือง นโยบายการเมืองที่ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการปกครองและการบริหารรัฐกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และสอดคล้องกับลักษณะพิเศษของสังคมวัฒนธรรม ตอบโจทย์เรื่องการเมืองแห่งอัตลักษณ์ รวมทั้งเปิดพื้นที่ทางการเมืองว่าด้วยการสานเสวนาพูดคุยกับฝ่ายที่ก่อความไม่สงบและกลุ่มประชาชนฝ่ายต่างๆ ภายใต้กรอบของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะลดต้นทุนความสูญเสียและต้นทุนของการรักษาความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมายหากไม่มีการปรับเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ดังกล่าว นี่คือการทำให้เกิดความฝันและจินตนาการทางการเมืองใหม่ของคนในพื้นที่ เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสันติสุขและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
คลิกอ่าน 'กึ่งทศวรรษของความรุนแรงและการแสวงหาทางออกด้วยเหตุผลในความสับสน' (ฉบับเต็ม)