Skip to main content
 
ศราวุฒิ อารีย์
ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา

         

          ปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในฟิลิปปินส์  นับเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุสลิมทางภาคใต้ของประเทศนี้ (ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก) พยายามเรียกร้องอิสรภาพในรูปแบบต่างๆ มายาวนานกว่า 40 ปี  ทำให้ประชาชนกว่า 120,000 คนถูกสังหาร และอีกกว่า 2 ล้านคนต้องละทิ้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเนื่องจากภาวะสงคราม แม้ว่าการต่อสู้ในปัจจุบันจะทุเลาเบาบางลง อันเป็นผลมาจากการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มเรียกร้องเอกราชกับรัฐบาลกลางฟิลิปปินส์ จนนำมาสู่การทำความตกลงระหว่างกัน ให้จัดตั้งเขตปกครองตนเองของมุสลิมมินดาเนา แต่ท้ายที่สุดความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ดังจะเห็นได้ว่าล่าสุดเมื่อต้นเดือน สิงหาคม 2008 การสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์กับกลุ่มเรียกร้องเอกราชโมโรได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

          การสู้รบครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์ มีคำสั่งระงับการจัดทำข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องอาณาเขต ซึ่งมีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลกลางกับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front : MILF)  เป็นการชั่วคราว ข้อตกลงนี้ระบุว่า จะมีการขยายพื้นที่เขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมบริเวณมินดาเนา  จากพื้นที่ซึ่งทางการได้เคยจัดทำข้อตกลงกับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยโมโร (Moro National Liberation Front : MNLF)  ไปแล้ว1  ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นก้าวย่างสำคัญ  ที่จะนำไปสู่การรื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม  รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกข้อตกลงสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยมุสลิม  หลังจากข้อตกลงดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนัก และตามมาด้วยการต่อสู้ปะทะกันอย่างหนัก

          บทความนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมุสลิมอุษาคเนย์ศึกษา (Muslim of Southeast Asia Monitoring Project) เป็นการศึกษาถึงรากเหง้าภูมิหลังของปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมฟิลิปปินส์ การต่อสู้ดิ้นรนของกลุ่มเรียกร้องเอกราช นโยบายการจัดการปัญหาของภาครัฐ โดยเฉพาะกระบวนการเจรจาสันติภาพและการจัดทำเขตปกครองตนเอง ความเป็นไปได้และข้อจำกัดของมัน


ภูมิหลัง


          ดินแดนโมโร (ปัจจุบันคือดินแดนภาคใต้ของฟิลิปปินส์) ประกอบด้วยเกาะมินดาเนา (ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของหมู่เกาะฟิลิปปินส์) หมู่เกาะซูลู ปาลาวัน บาซีลัน และเกาะต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียง ดินแดนโมโรมีพื้นที่ 116,895 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสามของเกาะฟิลิปปินส์ทั้งหมด มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคน ในจำนวนนี้ 12 ล้านคนเป็นมุสลิม ที่เหลือเป็นประชากรซึ่งอาศัยอยู่บนที่ราบสูง (ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม) และพวกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวคริสเตียนจากเกาะลูซอนและเกาะวิสายาส์

          ศาสนาอิสลามมาถึงดินแดนโมโรในปี ค.ศ.1210 นั่นหมายความว่าอิสลามมาถึงก่อนที่เฟอร์ดินานด์ มาเจลแลน (ชาวโปรตุเกสที่ทำงานให้สเปน) จะนำศาสนาคริสต์มายังภูมิภาคนี้ (ในปี ค.ศ.1521) เสียอีก อิสลามได้ถูกนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวอาหรับและผู้เผยแผ่อิสลาม หลังจากที่อิสลามมาถึงได้ไม่นาน การปกครองแบบสุลต่านก็ได้ถูกสถาปนาขึ้น  ภายใต้การปกครองของสุลต่านโมโรเอง ด้วยเหตุนี้ การเรียกร้อง “การปกครองตนเอง” ของชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเกาะมินดาเนา (Mindanao) จึงมีรากฐานความเป็นมาที่ยาวนานในประวัติศาสตร์ 

          ในศตวรรษที่16 ผู้รุกรานชาวสเปน ซึ่งนำโดยเฟอร์ดินานด์ มาเจลแลนมาถึงฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ.1521  ซึ่งในขณะนั้นศาสนาอิสลามได้เข้ามามีบทบาทในหมู่เกาะฟิลิปปินส์อยู่ก่อนแล้วมานานกว่า 3 ศตวรรษ  อำนาจและราชอาณาจักรสุลต่านมุสลิมแผ่ขยายครอบคลุมออกไปตั้งแต่เมืองโคตาบาตู (Cotabato) จนกระทั่งถึงกรุงมะนิลา ชาวสเปนเหล่านี้ไม่เพียงแต่เข้ามาประกอบธุรกิจการค้าในฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่พวกเขายังพยายามเปลี่ยนชาวพื้นเมืองและชาวโมโร (Moros)  ให้เข้ามายอมรับนับถือศาสนาคริสต์โดยใช้กำลังอีกด้วย ผลที่ตามมาก็คือ  ชาวเกาะลูซอนและวิสายาส์ทั้งหมด ได้เปลี่ยนศาสนามาเป็นคริสเตียน ในขณะเดียวกัน กองทัพสเปนก็เริ่มทำการพิชิตกองกำลังอิสลามทางตอนเหนือของประเทศ และเริ่มปฏิบัติการต่อต้านชาวโมโรในเกาะมินดาเนา และ ซูลู (Sulu) เสมือนกับการทำสงครามครูเสดที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 350 ปี

          การปกครองแบบอาณานิคมของสเปนต่อชาวมุสลิมและชนเผ่าท้องถิ่น (หรือที่เรียกว่าเผ่าลูมาด: lumad ) ในเกาะมินดาเนา เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งต่อมาหมู่เกาะฟิลิปปินส์ รวมทั้งมินดาเนาและซูลู ก็ตกอยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกา  โดยได้รับการยินยอมจากสเปนภายใต้สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ที่ทำขึ้นในปี ค.ศ.1898   โดยในสนธิสัญญาฉบับนี้   สเปนจะต้องยกฟิลิปปินส์ให้สหรัฐฯ แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ  ถึงแม้สเปนไม่สามารถที่จะปราบพวกโมโรได้สำเร็จ แต่สเปนก็รวมแผ่นดินโมโรไว้ในข้อตกลงด้วย

          การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นำมาซึ่งการต่อต้านอย่างรุนแรงโดยชาวมุสลิมทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้มากนัก เพราะกองทัพสหรัฐฯนั้นมีแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่ามาก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่กองกำลังต่อต้านของกลุ่มมุสลิมติดอาวุธ ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงคราม Bud Bagsak ในปี ค.ศ. 1913 สหรัฐฯ ปกครองอาณานิคมโดยใช้นโยบาย “ดึงดูด” (attraction) โดยมีเป้าหมาย  เพื่อให้ชาวโมโรได้เข้าไปรวมอยู่กับกระแสหลักของสังคมฟิลิปปินส์ ถึงกระนั้นก็ตาม การต่อต้านก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องในทศวรรษต่อๆ มา (ต่อต้านการบริหารอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา ต่อต้านสหพันธรัฐฟิลิปปินส์ก่อนเอกราช [ตั้งแต่ปี ค.ศ.1935] และต่อต้านรัฐบาลเอกราชของฟิลิปปินส์ [หลังจากปี ค.ศ.1945])2 


การผนวกดินแดนโมโรไว้กับฟิลิปปินส์


          เป็นเวลากว่า 300 ปีที่สเปนพยายามที่จะปราบปรามหรือกวาดล้างมุสลิมโมโร หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยความพยายามของสหรัฐฯอีก 47 ปี แต่ก็ไม่สามารถปราบปรามชาวมุสลิมได้สำเร็จ   สหรัฐฯ จึงเปลี่ยนไปใช้กลวิธีทางการเมือง ซึ่งทำให้สุลต่านโมโรหลายพระองค์ตอบสนองด้วยดี จนสุลต่านดาตุสถึงกับทำข้อตกลงโดยมีเงื่อนไขว่า สหรัฐฯ จะไม่เข้ามาแทรกแซงในกิจการท้องถิ่นของสุลต่านโมโร

          จากเหตุผลนี้เอง จึงได้มีการลงนามในสนธิสัญญา “กิรอม-บาเตส” (Kiram-Bates) ขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1899  ข้อตกลงเช่นเดียวกันนี้ ก็ทำกับสุลต่านแห่งมากินดาเนาในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1904 อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีรูสเวลท์ ของสหรัฐฯได้ประกาศยกเลิกสัญญาเหล่านี้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมและจริยธรรม

          เมื่อฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชจากสหรัฐฯในปี ค.ศ.1946 ชาวโมโรก็ได้คัดค้านอย่างรุนแรงต่อการนำเอาดินแดนโมโรไปรวมกับฟิลิปปินส์ด้วย แต่สหรัฐฯและชาวฟิลิปปินส์คริสเตียนก็ไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านแต่อย่างใด 


การต่อสู้ของชาวโมโรในปัจจุบัน


          การต่อสู้ของชาวโมโรสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรก คือการต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดินิยมสเปน (ระหว่าง ค.ศ.1521-1898) เป็นเวลา 377 ปี ช่วงที่สอง คือการต่อต้านนักล่าอาณานิคมชาวอเมริกัน (ระหว่าง ค.ศ.1898-1946) เป็นเวลา 47 ปี ช่วงที่สาม คือการต่อต้านรัฐบาลฟิลิปปินส์ (ตั้งแต่ ค.ศ.1970 – ปัจจุบัน)

          ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 รัฐบาลแห่งชาติในกรุงมะนิลามองว่า มินดาเนาเป็นเสมือนพรมแดนใหม่ที่มีปัญหา รัฐบาลจึงพยายามส่งเสริมให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเกาะลูซอน (Luzon)  และวิสายาส์ (Visayas) (ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรหนาแน่น) อพยพไปตั้งรกรากในเกาะมินดาเนา การอพยพดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งของรัฐบาล ในการส่งเสริมการเผยแพร่และผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของประชาชนต่างถิ่นเข้าไปยังมินดาเนา และที่สำคัญเพื่อลดภัยคุกคามจากการก่อกบฏของชาวโมโร และชนพื้นเมืองเผ่าลูมาด

          ก่อนหน้านี้ มุสลิมโมโรได้ปกครองพื้นที่ของตนเองในฐานะเป็นผู้ปกครองจังหวัดและเป็นผู้ว่าการมหานคร แต่หลังจากผู้ตั้งถิ่นฐานชาวคริสเตียนหลั่งไหลกันเข้าไปในดินแดนโมโร คนพวกนี้ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลมะนิลา ก็ได้เริ่มเข้ามายึดตำแหน่งที่มีความสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970s การอพยพที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและการปะทะกันบ่อยครั้ง ระหว่างผู้ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่กับมุสลิมและเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิม ตามแนวตะเข็บชายแดนที่เชื่อมต่อกับนิคมใหม่ นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยที่ทำให้มีการเผชิญหน้ากันรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันได้แก่ ปัญหาการล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนของผู้นำมุสลิมโดยกลุ่มการเมืองที่ก่อตั้งขึ้น ผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ (ชาวคริสเตียน) และปัญหาระหว่างกลุ่มคู่แข่งทางการเมืองท้องถิ่น และบรรดาขุนศึก (warlords) กลุ่มต่างๆ

          นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มนักรบติดอาวุธคริสเตียนนอกกฎหมาย ที่ปฏิบัติต่อพลเมืองชาวโมโร โดยใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และมีการสังหารหมู่ชาวมุสลิมอย่างต่อเนื่อง  เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ แน่นอนพลเมืองโมโรที่หวาดกลัวจึงจำต้องทิ้งบ้านและไร่นาของตน  ไปหาที่หลบภัยในพื้นที่ที่มุสลิมมีอำนาจ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสให้กลุ่มติดอาวุธชาวคริสเตียนเข้าไปยึดไร่และที่ดินของผู้อพยพชาวโมโร

          ความจริง ดินแดนโมโรถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุ  นอกเหนือไปจากความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน แต่ถึงกระนั้นชาวโมโรก็ยังคงล้าหลังทางด้านเศรษฐกิจเพราะถูกรัฐบาลฟิลิปปินส์ทอดทิ้ง นับตั้งแต่ฟิลิปปินส์ผนวกดินแดนโมโร รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้นำความมั่งคั่งของโมโรไปใช้  โดยทอดทิ้งชาวโมโรไว้ให้ยากจน

          จากภูมิหลังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้ จึงเป็นที่มาหรือจุดกำเนิดของกลุ่มแนวร่วมใหม่ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยโมโร (Moro National Liberation Front: MNLF) ขึ้นมา

-----------------------------------------------------

เชิงอรรถ

1 “ปปช. ภาคใต้ของฟิลิปปินส์เริ่มติดอาวุธเพื่อรับมือกลุ่มกบฏ”, ผู้จัดการออนไลน์ (22 สิงหาคม 2551)

2 ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ T.J.S. George, Revolt in Mindanao: The Rise of Islam in Philippines (Kuala Lampur: Oxford University Press, 1980)

 

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการมุสลิมอุษาคเนย์ศึกษา (Muslim of Southeast Asia Monitoring Project) ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา

หมายเหตุ : บทความ "โมโรมุสลิมและเขตปกครองตนเอง : ประสบการณ์จากฟิลิปปินส์" มีทั้งหมด 4 ตอน โปรดติดตามตอนต่อเนื่อง