ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
เก็บความคิดจากเวทีเสวนา ‘สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ’ จัดโดยโครงการวิชาการสาธารณะ กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ณ โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี ระหว่างแนวคิด ‘ความมั่นคง’ ที่มุ่งหมายปกป้องชีวิตและทรัพย์สินโดยรัฐกับจิตวิญญาณแห่ง ‘สิทธิเสรีภาพ’ อันเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นมนุษย์ ประเด็นสำคัญที่ยังคงไม่ตกผลึกบนพื้นที่แห่งการที่ปะทะสังสรรค์กันอย่างร้อนแรง ขอบเขตและความเหมาะสมควรอยู่ตรงไหนกันแน่
ศูนย์เฝ้าระวังชายแดนใต้ ตอนที่ 2 ขอนำเสนอบทวิเคราะห์และข้อเสนอจาก 2 นักวิชาการในสถานการณ์ไม่ปกติ ลองอ่าน..เพราะมันอาจเป็นทางกลับสู่สถานการณ์ปกติที่ทุกคนปรารถนา
000
“จุดหมายของสิทธิมนุษยชน คือ การนำไปสู่สิ่งที่ระบบประชาธิปไตยให้คำมั่นกับสัญญากับประชาชนก็คือการให้คนส่วนใหญ่ปกครองตนเองได้ เพราะฉะนั้นการพูดถึงเรื่องสิทธิในสังคมปัจจุบันต้องนำไปสู่การให้อำนาจการปกครองของคนส่วนใหญ่”
รศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์
พยายามนึกว่าสถานการณ์ไม่ปกติคืออะไร ตามความเข้าใจของผม รัฐปกติ คือ ระบบการปกครองหรือระบบสังคมต่างๆ มันเป็นไปตามกลไกของมัน เหมือนติดเครื่องแล้วเดินไปเรื่อยๆ คนที่ขับก็เพียงแต่ทำตามกลไกของมัน ทีนี้ถ้ารัฐไม่ปกติต้องตรงข้าม คือ ระบบโดยรวมโดยเฉพาะระบบการเมืองการปกครองไม่ดำเนินไปตามกลไกที่มันควรจะเป็นและใช้เครื่องภายนอกเข้ามาขับเคลื่อนแทน หลักใหญ่ๆ ก็คือระบบการปกครองไม่สามารถดำเนินระบบกฎหมายตามปกติได้ ซึ่งรัฐต้องมีระบบกฎหมายมิฉะนั้นต่างประเทศไม่รับรอง และกฎหมายต้องออกมาตามเตนารมย์ของกฎหมายของคนส่วนใหญ่
ถ้าเกิดสภาวะรัฐไม่ปกติ สิ่งที่กระทบกระเทือนแน่ๆ คือระเบียบทางสังคม ปกติเรามักปฏิบัติตามสามัญสำนึก หรือพิธีการที่ทำกันมา รัฐสมัยใหม่ทั้งหลายที่อยู่สงบและเจริญขึ้นมาได้ คิดว่าอาศัยความเข้าใจร่วมกัน มากกว่าเข้าใจหรือทำตามกฎหมาย สังเกตว่ารัฐไหนที่คนมีความสุขเขามักอยู่ด้วยมีความเข้าใจของเขาที่เหมือนคนอื่น
ปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชน ในความคิดเก่าพูดถึงเรื่องอำนาจที่คนสามารถปฏิบัติกิจกรรมหรือผลประโยชน์บางอย่าง รัฐก่อนรัฐสมัยใหม่ สิทธิๆ เป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง ชาวบ้านหรือไพร่ไม่ต้องมีเพราะเป็นผู้รับความสงบสุข ผลประโยชน์ต่างๆ เมื่อผู้ปกครองเป็นธรรมเขาจะให้เรา
แต่แนวคิดดังกล่าวเปลี่ยนเมื่อเกิดระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่บอกว่าอำนาจปกครองหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนใหญ่หรือคนธรรมดาไม่ใช่เป็นของผู้นำส่วนน้อยแบบแต่ก่อน แต่ในหลายสังคมที่พัฒนามาตอนหลังและพัฒนาเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยแนวคิดนี้ยากที่จะแปรมาเป็นรูปธรรมหรือแนวทางปฏิบัติ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วคนจะคุ้นกับสิทธิในแนวคิดเก่า คือ เป็นอำนาจของคนที่ปกครอง
เพราะฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมากมันจึงเท่ากับไปท้าทายอำนาจของผู้ปกครอง แต่สำหรับอเมริกาตีโจทย์นี้แตกตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะไม่มีชนชั้นศักดินา แต่เป็นพวกชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางที่อพยพจากยุโรปเข้าไป มันเหมือนสร้างข้อทดลองอันใหม่ที่ทุกคนอ้างอธิปไตยได้ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง คือ การกระจายอำนาจให้คนทุกคนสู้กัน ต่อรองกัน ผลสุดท้ายที่ออกมาจากสิทธิคือผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่วิธีแบบอเมริกาทำยากมากในประเทศอื่นๆ ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และอีกหลายอย่าง
หลายคนมองสิทธิว่าคือการเรียกร้อง แต่ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ สิ่งที่เรียกว่าสิทธิมีมาตลอดในประวัติศาสตร์ เป็นกระบวนการการต่อรองอำนาจในการปกครองและอำนาจในการถูกปกครอง ในระบบไพร่ หรือระบบทาส สิทธิของไพร่หรือทาสคือการที่ได้รับการคุ้มครอง ถ้าอยู่กับนายเก่าแล้วไม่ได้รับความสุขก็มีโอกาสหรือสิทธิในการย้ายนายไปหานายคนอื่น พอนานเข้าผู้ปกครองที่มีอำนาจจะพบว่าถ้าไม่ให้สิ่งที่เขาต้องการเขาก็ปฏิวัติและถูกต่อต้าน ชุมชนและสังคมไม่สงบ ผลประโยชน์ที่ได้ก็ไม่เต็มที่ นายที่ฉลาดก็จะให้ในสิ่งที่ต้องการ
ในปัจจุบัน จุดหมายของสิทธิมนุษยชน คือ การนำไปสู่สิ่งที่ระบบประชาธิปไตยให้คำมั่นกับสัญญากับประชาชนก็คือการให้คนส่วนใหญ่ปกครองตนเองได้ เพราะฉะนั้นการพูดถึงเรื่องสิทธิในสังคมปัจจุบันต้องนำไปสู่การให้อำนาจการปกครองของคนส่วนใหญ่
รูปธรรมตัวอย่างในพื้นที่โดยมองจากผู้ถูกจับและผู้ต้องหา ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมาย เรื่องที่เกิดขึ้นมันมีความไม่ปกติตรงที่กระบวนการ แม้จะมีบัญญัติไว้แต่ขั้นปฏิบัติเดินไปหรือไม่ไปบ้างหรือไปอย่างช้าๆ ซึ่งความล่าช้าทางกฎหมายมันไม่ได้เกิดเฉพาะที่นี่ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของการต่อสู้ถ้าฝ่ายรัฐมีจุดหมายอันหนึ่งและไม่เห็นด้วยกับผู้ต้องหา การทำให้เรื่องมันช้าภายใต้กระบวนการตามกฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากในการทำให้วุ่นวาย ถ้าคนบริสุทธิ์จริงๆ ก็ไม่อยากเข้าไปอยู่ในกระบวนการเพราะสูญเสียเสรีภาพทุกอย่างไป
ในขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำในอเมริกา ช่วงปี 1956 ที่มีมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นผู้นำการต่อสู้ เขาสู้ด้วยเครื่องมือเดียวกันกับอำนาจรัฐคือการใช้กฎหมาย เขาเรียน ศึกษากฎหมาย ยอมให้ถูกจับ ชาวบ้านมีการตั้งกลุ่มศึกษากฎหมาย สุดท้าย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็ถูกจับ นี่ขนาดในอเมริกาที่มีความเป็นธรรมมากกว่าประเทศใดในโลก คนผิวดำก็ถูกปฏิบัติไม่ต่างจากคนใน 3 จังหวัด
เมื่อ มาร์ติน ถูกจับในคุกแล้วเขียนจดหมายออกมา มีประโยคหนึ่งว่า “ความยุติธรรมที่ถูกทำให้ล่าช้า ก็คือการปฏิเสธความยุติธรรม ” หมายความว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรมโดยรัฐ เพราะฉะนั้นก็คือปัญหาที่กระบวนการนี้เกิดความไม่ปกติขึ้น
ในกรณีที่ว่า 400 กว่าคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้อง แต่ไม่มีคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้องร้อง ในขณะที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่บอกว่ามีการลงโทษ แต่ทำไมจึงไม่เกิดคดีหรือมีการฟ้องร้อง หรือมีแต่ไม่การบอกให้รู้ นี่คือข้อมูล 2 ชุด ซึ่งตรงข้าม เป็นปัญหาความไม่ปกติที่ค่อนข้างเยอะในพื้นที่ที่ทำให้มองปัญหาไม่เหมือนกัน
ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่ามีขบวนการเพื่อแบ่งแยกดินแดน ฟังทั้งหมดแล้วถ้ารัฐไทยไม่รู้สึกอะไรก็คงประสาทแข็งมาก คิดว่าโดยรูปการทั้งหมดเหมือนกับวิธีการที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)ใช้ แต่ที่น่าแปลกใจคือ กองกำลัง พคท.ไม่สามารถทำได้ถึงครึ่งในสิ่งที่ปรากฏใน 3 จังหวัดตอนนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังทหารบ้านที่ไม่ขึ้นกับกองกำลังหลัก การจัดตั้งอำนาจรัฐซ้อนรัฐในหมู่บ้าน ซึ่งถ้าทำถึงขั้นนี้ได้ ในแง่สงครามประชาชนมันคือขั้นสุดท้าย คือขั้นยึดอำนาจรัฐ ใช้ชนบทล้อมเมืองกำลังจะยึดอำนาจแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นมันเป็นสงครามกลางเมืองจริงๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง
แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง กฎอัยการศึกหรือกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินมันก็จำเป็นต้องใช้ เพราะถ้าเป็นสงครามขั้นสุดท้ายใครจะยอม และเรื่องการสร้างสันติ สิทธิในระบบกฎหมายมันก็คงจะต้องเอาไว้พูดวันหลัง เพราะไฟกำลังไหม้บ้านหรืออยู่ในห้องนอนไม่มีทางที่จะพูดกันได้เรื่องสิทธิ
ถ้าหากมุมมองของรัฐเชื่อเรื่องการจัดตั้งเป็นขบวนการแบบนี้จริง ผมคิดว่าโลกทัศน์หรือทัศนะในการมองปัญหา มองเรื่อง มองคน มันถูกแบ่งด้วยเส้นแบ่งที่ชัดมากจนไม่มีสิ่งที่เรียกว่าต่อรอง สิทธิ ความเป็นธรรมต่างๆ มันต่อรองไม่ได้เพราะมันหมายถึงการแพ้ – ชนะ ความตาย – เป็น
ความคิดอันนี้ คำตอบอย่างเดียวคือต้องทำลาย คำถามคือมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เพราะถ้าพูดอย่างนี้มันเหมือนสมัยนาซีที่มองเป็นศัตรูทั้งหมดและทำลายได้ เขาคิดขนาดนั้นเลยหรือไม่ ผมว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพราะคนก็ต้องรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใคร ไม่รู้จักกันเลยเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสงครามแบบสงครามเย็น อเมริกา รบโซเวียต ไม่ต้องรู้จักตัวคนโซเวียตก็เกลียดกันได้เพราะถูกฝังอุดมการณ์ในหัวว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ทำไมแนวคิดของการมองปัญหากลายเป็นความแตกต่างที่ตรงกันข้าม ไม่มีทางประนีประนอมได้ วิธีการมองฝั่งตรงข้ามแบบเป็นวิทยาศาสตร์ มีมูลเหตุเหมือนหมอวินิจฉัยโรค มองว่าขบวนการเหมือนมะเร็งก็ต้องทำลายมะเร็ง แต่คำถามคือปัญหาความขัดแย้งเป็นเรื่องของเชื้อโรคที่ต้องทำลายหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ไวรัสที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้นก็หายไปได้
การคิดว่าต้องเปลี่ยนความคิดใน 30 วัน คิดว่าการเปลี่ยนความคิดนั้น 30 ปีก็ยังน้อยไป ผมดูมาหลายปี จนเลิกที่จะเปลี่ยนความคิดคนแล้ว เพราะความคิดคนมันเปลี่ยนยาก ยิ่งถ้าเปลี่ยนทั้งสังคม ทั้งประเทศอย่าไปคิดเลยมันเป็นที่มาของสงครามล่าอาณานิคม ยิ่งปัจจุบันเรื่องอัตลักษณ์เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อ 100 ปีที่แล้วเรื่องอัตลักษณ์คนไม่รู้ ไม่แคร์ แต่ตอนนี้ความรู้ทำให้คนอยากเป็นตัวของตัวเอง ลูกสาวผม 10 ขวบก็มีอัตลักษณ์แล้ว
เรากำลังเข้าสู่ทางหลายแพร่ง โลกมันเกิดทางเลือกมากขึ้น แต่ว่าอดีตที่ผ่านมาเราพัฒนามาเป็นทางสายเดี่ยว มันง่ายต่อการควบคุม สร้างความสงบ แต่พอสถานการณ์มันเปลี่ยน ความคิดเรามันรับไม่ได้ ชาตินิยมในประเทศมีหลายชาตินิยมได้หรือไม่ เรามักคิดว่าประเทศไทยต้องมีชาตินิยมไทย อเมริกาก็ชาตินิยมอเมริกา ถ้าถามกลับไปว่ามีชาตินิยม เขมร มอญ กะเหรี่ยง รวมทั้งชาตินิยมมลายูอยู่ในรัฐชาติสมัยใหม่ได้หรือไม่
ผมคิดว่ามันท้าทายและอยากจะตอบว่ามันน่าจะอยู่ได้ แต่มันต้องเงื่อนไข มีการแลกเปลี่ยนต่อรองกันมากและมันต้องมาพร้อมกับการกระจายอำนาจ ชาตินิยมของหลายชาติพันธุ์จะอยู่ด้วยกันได้จะต้องไม่มีชาตินิยมไหนเหนือชาตินิยมอื่นเกินที่จำเป็น ถ้าหากอำนาจส่วนกลางกระจายลงไปอย่างมาก คิดว่าชาตินิยมนานาชาติจะอยู่ได้ คือผลประโยชน์แท้ๆ เลย
ผมคิดว่าคนไม่สนใจชาตินิยมมากเท่ากับสิ่งที่ตัวเองได้ คำว่าชาตินิยมนั้นจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เป็นการเชื่อตามความเข้าใจของตนเองแต่ไม่ได้คิดถึงคนอื่น สังเกตเวลาพูดถึงชาตินิยมไทยมันต้องตามมาด้วยการปฏิเสธชาติอื่น เราไม่ได้พูดเพื่อให้คนอื่นมีผลประโยชน์ร่วมกับเรา ประเด็นมันก็จะวนเวียนอยู่กับการสร้างระบบการปกครอง
เราต้องยอมรับจุดหมายร่วมกันเสียก่อน ถ้าหากบางกลุ่มคิดว่าต้องการอำนาจปกครองที่ควรอยู่กับคนบางคน มีลำดับขั้นก็คือเป็นประชาธิปไตยแบบจำกัด แต่บางกลุ่มอาจมองว่าถ้าประชาธิปไตยต้องให้คนส่วนใหญ่ได้ ต้องเป็นของคนจำนวนมาก ถ้าจุดหมายต่างกันก็เถียงกันอีกนานขอฝากตรงนี้ไว้
000
“ยอมรับว่ากฎหมายพิเศษมันยังจำเป็นแต่ต้องจำกัดเวลาและลดพื้นที่ลง ไม่ใช่จะอยู่กันแบบนี้ต่อไปอีก 4-5 ปี มิฉะนั้นผู้บริสุทธิ์จะได้รับผลกระทบไปด้วย”
ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สิทธิเสรีภาพในสถานการณ์ไม่ปกติ [1] : ตรงข้ามความคิด นักสิทธิฯ - ทหาร