Skip to main content

อารีฟิน บินจิ
 

          ท่านที่ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการนำเสนอปัญหาภาคใต้ของสื่อต่างประเทศในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะสื่อของโลกมุสลิมหรือโทรทัศน์อาหรับจะพบว่า อัล-จาซีรา ได้ให้ความสนใจข่าวคราวในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้จัดทำสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ขนาดยาว


          สงครามสื่อระหว่างรัฐไทยกับสื่อโลกมุสลิมเป็นการเดิมพันกันค่อนข้างจะสูสี เพราะในขณะที่กองทัพกำลังชื่นชมกับผลงานสถิติการก่อความไม่สงบดูที่ท่าว่าลดลง แต่ความรุนแรงของเหตุการณ์นับวันยิ่งจะเหี้ยมโหดมากขึ้นเช่นฆ่าตัดคอ ฆ่าแล้วเผา  ในสายตาชาวบ้านในภาคใต้รวมทั้งในสายตาของนักวิจารณ์การเมืองท้องถิ่นมองว่าลึกๆ แล้วสงครามข่าวสารครั้งนี้ ฝ่ายรัฐค่อนข้างจะเสียเปรียบอยู่หลายขุม  กล่าวคือ

          ประเด็นที่หนึ่ง การลำดับภาพและเหตุการณ์ของสื่อ อัลจาซีราค่อนข้างจะสอดคล้องเหมาะสมกับวิถีของชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้มากกว่าสื่อของรัฐ
 
          ประเด็นที่สอง ภาพของเยาวชนมลายูมุสลิมคนหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปสอบสวน ได้บอกเล่าให้ผู้สื่อข่าวทั้งน้ำตา ว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ทำร้าย ทรมาณ และละเมิดสิทธิมนุษย์ชนอย่างร้ายแรง ซึ่งดูแล้ว เรื่องนี้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องอ่อนไหวไม่น้อยในสายตาของชาวโลกและเป็นภาพลักษณ์ที่ตอกย้ำในเรื่องการละเมิดสิทธิของรัฐไทย ค่อนข้างชัดเจน
  
          ประเด็นที่สาม ภาพของโต๊ะครูผู้นำศาสนาจากบ้านสะกำ  ได้พูดถึงความสนใจต่อการเสียชีวิตรายวันของคนที่นั่นยังขาดความสนใจจากรัฐและชาวโลก รวมทั้งการไม่ยินดียินร้ายต่อการเจรจาหาข้อยุติจากภาครัฐยิ่งทำให้สื่ออาหรับมีน้ำหนักมากขึ้น
 
          ประการที่สี่ กรณีนายยะผา กาเซ็ง อีหม่ามบ้านโกตา อำเภอรือเสาะ ที่อยู่บ้านเดียวกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ท่านหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่จับไปซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหาร รัฐก็ยังไม่สามารถจะลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ กระทำผิดตามกฎหมายให้เป็นรูปธรรมได้
 
          ประเด็นที่ห้า ผู้สื่อข่าวอัลจาซีราสัมภาษณ์นักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ปัตตานี ซึ่งให้ความเห็นว่ารัฐยังไม่มีทางออกที่แน่นอนในการแก้ไขปัญหาในภาคใต้  (ถึงแม้จะเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์แล้วก็ตาม)

          อัลจาซีรา ได้พูดคุยกับ หัวหน้ากลุ่มบีอาร์เอ็น  (ที่ไม่ทราบชื่อ) โดยอ้างว่าเป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่กำลังต่อสู้อยู่ในภาคใต้ ก็ได้ความว่าการที่รัฐบาลไทยมอบหมายให้ทางรัฐบาลอินโดนีเซียเจรจากับผู้แทนชาวไทยมุสลิมในภาคใต้นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่ารัฐบาลกำลังเจรจาอยู่กับใครก็ไม่รู้ ที่มิใช่ตัวแทนของประชาชนและผู้ที่กำลังต่อสู้อยู่ในพื้นที่นั้นที่แท้จริง  จึงมองไม่เห็นข้อยุติลงได้ง่ายๆ

          นายคัสตูรี มะห์โกตา ผุ้แทนกลุ่มพูโล ก็เข้ามาร่วมวงด้วยว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์ น่าจะใช้โอกาสที่มีอยู่ในครั้งนี้แก้ไขปัญหาด้วยการเปิดโต๊ะเจรจาเช่นเดียวกัน แต่โอกาสก็หลุดลอยไป

          ที่น่าสนใจ คือนายทหารใหญ่ของกองทัพภาคที่ 4 ท่านหนึ่งที่คร่ำหวอดในพื้นที่มานาน บ่นด้วยความเหนื่อยหล้าในรายการนี้ด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งไปทำงานในภาคใต้ ส่วนมากไม่รู้จักวัฒนธรรมประเพณีของคนท้องถิ่น  และท่านเห็นว่าทางออกสุดท้ายของปัญหาภาคใต้ก็คือการเจรจา ที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญ

          ก่อนจะไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีของไทย นักข่าวได้สอบถามความคาดหวังจากนักเรียนหญิงในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส เธอตอบเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างชัดคำว่า “เราต้องการสันติภาพ”

          สุดท้ายก็พอจะทำคะแนนตีตื้นมาได้บ้าง ก็ตรงที่ท่านอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ได้ตอบคำซักถามของคุณสเตฟานนี  ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา ด้วยสำนวนภาษาอังกฤษที่น่าฟังและรื่นหูว่า กรณีภาคใต้ว่ารัฐบาลกำลังผลักดันนโยบายการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการศึกษา  และปัญหาความไม่ยุติธรรมเป็นปัญหาเร่งด่วน  แต่ก็ไม่มีรายละเอียดในนโยบายทั้งหลายเหล่านั้นมีอย่างไรบ้าง? และคำตอบท่านมักไม่ตรงประเด็นที่ไม่อาจจะทราบว่าจะปรากฏความสำเร็จได้อย่างไร ? ใช้เวลานานเท่าใด
 
          จึงเป็นการบ้านสำหรับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ จะต้องไปพิจารณากำหนดแนวนโยบายให้ชัดเจนว่า ปัญหาภาคใต้ท่านจะดำเนินการอย่างไรในระยะเร่งด่วน ระยะสั้นระยะยาว ไม่ควรจะให้ข้าราชการประจำเป็นผู้กำหนดนโยบายรายวัน
 
          สงครามสื่อในภาคใต้  รัฐมีเครื่องมือจำนวนมากมาย แต่หามีคนในรัฐบาลคนใดสนใจ  ไม่ว่าจะเป็นสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ที่อยู่ในกำกับของรัฐ ที่สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ในการทำสงครามสื่อได้ เช่นการแต่งตั้งบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น มาช่วยผลิตสื่อแข่งกับอัลจาซีราที่นับวันจะมีบทบาทต่อชาวมุสลิมในภูมิภาคมากขึ้น แต่รัฐกลับปล่อยให้กลุ่มมาเฟียอาศัยทำมาหากินกับสื่อของรัฐเหล่านั้นเป็นธุรกิจกอบเป็นกำ โดยไม่สนใจปัญหารอบข้าง  ไม่ลองถามรัฐมนตรีสำนักนายก ที่ดูแลกรมประชาสัมพันธ์บ้างเลยหรือว่า ท่านเพียงจะเปลี่ยนโลโก้เท่านั้นหรือ?  สถานีโทรทัศน์จะมีสัญลักษณ์อย่างไรแต่หากขาดเนื้อหาก็ไม่มีประโยชน์  ดังที่เหมาเจ๋อตุงเคยพูดว่าแมวสีอะไรไม่สำคัญ สำคัญว่ามันจับหนูได้หรือไม่?

          อย่าได้คิดไทยเราได้เปรียบการเมืองระหว่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อประชาสัมพันธ์ เพราะนับวันภาพพจน์ของไทยเรานับวันจะถดถอยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
          ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่รัฐจะให้ความสนใจกับภาพพจน์ของตนเองในสายตาสื่อต่างประเทศ กับบัญหาในภาคใต้?