Skip to main content

 

นวลน้อย ธรรมเสถียร  

FT Media

เมื่อทหารก่ออาชญากรรม สังคมมีคำถามว่า เครื่องมือผดุงความเป็นธรรมของพวกเขาชำรุดตรงไห

ความตายของชาวบ้านอัฟกานิสถานสิบหกศพ กับการนำตัวนายสิบทหารของสหรัฐนายหนึ่งขึ้นศาล กลายเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูถึงเรื่องราวของการทำงานของกองกำลังทหารสหรัฐในต่างแดน คำถามที่ผู้คนระดมกันเข้าใส่ผู้ที่เกี่ยวข้องมีมากมาย ตั้งแต่เรื่องของความเหมาะสมของการจัดการของกองทัพ โดยเฉพาะเรื่องว่ามีการใช้งานทหารหนักเกินไปหรือไม่ คำถามถึงเรื่องความเป็นมืออาชีพและวินัยว่าย่อหย่อนหรือเปล่า ไปจนถึงคำถามเรื่องว่ากรณีนี้จะกลายเป็นการปล่อยให้คนตัวเล็กๆที่เป็นผลพวงของระบบที่เจ็บป่วยต้องรับโทษในความผิดที่ควรจะต้องปรับแก้กันในระดับขององค์กร 

คำถามเหล่านี้ล้วนน่าสนใจเพราะว่าสถานการณ์ที่ทหารอเมริกันที่เข้าไปทำงานในอัฟกานิสถานกำลังเผชิญหน้า ก็คือสถานการณ์ที่มีเงื่อนไขหลายประการคล้ายคลึงกันกับการทำงานของทหารในอีกหลายพื้นที่ รวมไปถึงทหารไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สิบโทโรเบิร์ต เบลส์ ของกองทัพสหรัฐ ถูกตั้งข้อหาไปแล้วอย่างเป็นทางการว่าลงมือสังหารหมู่ชาวบ้านอัฟกานิสถานที่กันดาร์ฮาร์ 16 ศพ ซึ่งข่าวบางกระแสก็ระบุว่า 17 ศพ - เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา และกระทำโดยลำพัง โดยแอบหลบออกจากค่ายทหารไปถึงสองครั้งเพื่อฆาตกรรมผู้คนสองแห่งในเวลาใกล้เคียงกัน ในคืนเดียวกัน  ข่าวบอกว่าหลังจากเรื่องเป็นที่รับรู้เจ้าหน้าที่อเมริกันรีบนำตัวเบลส์ออกจากอัฟกานิสถานอย่างรวดเร็ว ว่ากันอีกว่า ที่ต้องทำอย่างรวดเร็วก็เพื่อจะกันไม่ให้เบลส์ต้องเจอการลงโทษจากศาลชารีอะห์ในอัฟกานิสถาน ขณะนี้เขาถูกคุมตัวไว้ที่เรือนจำทหารในค่ายที่แคนซัสรอการดำเนินคดี ขณะที่อีกด้าน ภรรยาของเบลส์ก็ได้เริ่มรณรงค์ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสามีในการต่อสู้คดีที่ว่ากันอีกเช่นกันว่า น่าจะกินเวลายาวนานจนเราท่านอาจจะจำกันไม่ได้ก็เป็นได้

หากยกเว้นประเด็นเรื่องของความยากลำบากในการพิสูจน์การกระทำโดยเฉพาะเรื่องของการขาดหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และความยุ่งยากที่ทีมอัยการน่าจะเจอในการนำตัวพยานผู้เห็นเหตุการณ์ไปให้การในชั้นศาลในสหรัฐแล้ว ดูเหมือนประเด็นว่าเบลส์ลงมือจริงหรือไม่จะไม่ใช่ประเด็นไปแล้วสำหรับนักวิจารณ์หรือนักข่าวจำนวนมาก สิ่งที่พวกเขาพยายามหาคำตอบไม่ใช่ประเด็นว่า เบลส์ก่ออาชญากรรมหนนี้หรือไม่ แต่กลายเป็นการหาคำอธิบายว่า ทำไมเขาถึงทำ ซึ่งโดยอีกนัยหนึ่งกลายเป็นการวางกรอบว่าปัญหาหนนี้ใหญ่แค่ไหน

แนวทางของการเสนอข่าวส่วนใหญ่เน้นไปที่การนำประเด็นความบกพร่องส่วนบุคคลมาเป็นคำอธิบาย  ข่าวส่วนหนึ่งยกให้เบลส์เป็นคนสองบุคคลิก  ขณะที่รักครอบครัว เป็นคนดีของสังคม แต่อีกด้านก็มีภาพที่แนบแน่นกับความรุนแรงและการเสพของมึนเมา  

แน่นอนว่าข่าวส่วนนี้ยกเหตุผลการกระทำของเบลส์ให้เป็นอาการของคน “เบรกแตก” เพราะความเครียดสะสมอันเนื่องมาจากการที่ต้องไปทำงานในแนวหน้าต่อเนื่องยาวนาน พูดง่ายๆก็คือข่าวส่วนหนึ่งพยายามจะบอกเราว่า โรเบิร์ต เบลส์ก็เป็นเหยื่อเหมือนกัน และเป็นเหยื่อของสงครามนั่นเอง

คนกลุ่มหนึ่งไปไกลกว่า โดยบอกว่าส่วนหนึ่งเพราะมาจากการใช้คนที่ไม่ควรจะถูกใช้ให้ไปปฏิบัติงานในแนวหน้าแล้ว ข่าวซีกหนึ่งระบุว่า อันที่จริงแล้วเบลส์เคยเจออุบัติเหตุที่น่าจะกระทบกระเทือนถึงสมอง เมื่อบวกกับความเครียดทำให้เชื่อได้ว่าเขาคุมตัวเองไม่ได้ไปชั่วขณะ  นักวิจารณ์ที่ยึดแนวนี้จะตำหนิรัฐบาลสหรัฐอย่างรุนแรงที่ปล่อยให้มีการส่งทหารออกปฏิบัติการในแนวหน้าต่อเนื่องเกินเวลาที่ควรจะรับได้ 

เสียงของนักวิเคราะห์ในแนวนี้เดินไปในทิศทางอันเดียวกันกับฝ่ายทนายจำเลยที่คาดว่าคงจะต่อสู้ด้วยข้ออ้างว่าเบลส์มีอาการทางจิต PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder ซึ่งเป็นอาการเครียดจนก่อเหตุรุนแรงที่ทหารเป็นกันมากหลังจากถูกส่งไปทำงานในแนวหน้า และก็มีข้อมูลจากการศึกษาสนับสนุนว่าทหารอเมริกันเจ็บป่วยเพราะความเครียดอันนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะในความขัดแย้งที่เป็นการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ Scott Canon กับ Dawn Bormann เขียนไว้ใน The Kansas City Star ว่าเมื่อปีที่แล้ว ในกองทัพอเมริกันมีสถิติว่าทหารที่ออกทำงานปฏิบัติหน้าที่ฆ่าตัวตาย 166 ราย และอีก 116 รายเป็นพวกที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ออกปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้า ในช่วงระหว่างปี 2001-2011 อัตราส่วนของคู่สมรสในหมู่ทหารหย่าร้างกันมีมากถึง 40 % พร้อมกับคาดว่าตัวเลขน่าจะสูงขึ้นอีก เมื่อสามปีที่แล้ว Defense Business Board เผยผลการศึกษาที่พบว่า ทหารที่ออกทำหน้าที่ในแนวหน้าเกิน 25 เดือนจะมีอาการเครียดจัด ในขณะที่ Rand Corp ซึ่งเป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยด้านการทหารประเมินว่า ทหารที่ไปทำงานในอิรักและอัฟกานิสถานถึง 350,000 คนต่างมีปัญหามีอาการทางจิต สื่อหลายสำนักเน้นหนักรายงานที่ว่า ทหารอเมริกันจำนวนมากเวลานี้ต้องถูกเวียนออกไปทำงานในแนวหน้าเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน ทหารอเมริกันเกือบ 800,000 คนต้องออกไปทำงานนานกว่าปีในสนามทั้งสองแห่ง รายงานนี้บอกว่า มีตัวเลขว่ามีทหารอเมริกันอยู่หลายหมื่นคนที่กองทัพไม่รู้จะจัดการอย่างไร จะปลดประจำการก็ทำไม่ได้ จะส่งไปทำงานก็ไม่กล้า เพราะว่ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าคนเหล่านี้ที่เจออุบัติเหตุและผลกระทบจากการออกปฏิบัติหน้าที่นั้นมีเงื่อนไขทางสุขภาพและสุขภาพจิตพร้อมหรือไม่ในการที่จะออกไปทำงาน

http://www.kansascity.com/2012/03/24/3511650/many-think-bales-case-refle...

ตัวเลขเหล่านี้ล้วนช่วยสนับสนุนข้ออ้างเรื่องสภาพอาการไม่สมประกอบ(ชั่วคราว)ของเบลส์  ในสายตาของคนจำนวนหนึ่ง เบลส์ก็คือคนดีที่เบรกแตกเพราะรับไว้จนล้น ข้อแตกต่างของคนสองกลุ่มที่ยึดคำอธิบายแนวนี้ ก็คือเรื่องของระดับของปัญหา กลุ่มหนึ่งพยายามจะบอกว่า เบลส์คือกรณีพิเศษ และโดยทั่วไปแล้วกองทัพไม่มีปัญหา จะมีก็แต่ปัจเจกชนแค่ไม่กี่คนอย่างเบลส์ที่รับมือความเครียดไม่ไหวจนฟั่นเฟือนไปชั่วขณะ ซึ่งก็เป็นความผิดที่ไม่ได้มาจากเจตนา แน่นอนว่าหลายคนในกองทัพสหรัฐอยู่ในคนกลุ่มนี้  ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า เบลส์เป็นแค่ตัวอย่าง ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกระบบที่มีปัญหาเล่นงาน คนกลุ่มหลังบอกว่า ปัญหามีมากกว่าความบกพร่องของปัจเจกบุคคลเพียงไม่กี่คน ปัญหาอยู่ที่วิธีการบริหารจัดการที่ทำให้บุคลากรของกองทัพฟั่นเฟือน คนกลุ่มหลังรวมไปถึงคนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองทัพ คนที่ไม่ต้องการให้สหรัฐเข้าไปแสดงบทบาทเกินตัวในการ “รักษาสันติภาพ” นอกบ้าน  

แต่ขณะเดียวกันมีนักวิจารณ์อีกส่วนที่เชื่อว่า สิ่งที่เกิดกับโรเบิร์ต เบลส์ไม่ใช่เป็นเรื่องของอาการเบรกแตกเพราะเครียด แต่เป็นเพราะความเป็นปุถุชนมีพลังเหนือวินัยและจริยธรรมของความเป็นมืออาชีพ 

โรเบิร์ต ฟิส์ค ผู้สื่อข่าวของนสพ.ดิ อินดีเพนเด้นท์ของอังกฤษ ให้ความเห็นไว้ว่า หากเบลส์ “เพี้ยน” จนควบคุมตัวเองไม่ได้ไปชั่วครู่ชั่วยามดังว่าจริงแล้ว สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นน่าจะเป็นการหันปากกระบอกปืนเข้าใส่เพื่อนร่วมงานที่อยู่ใกล้เคียงกันมากกว่าหรือไม่  และเขาปักใจว่าแรงผลักดันเบื้องหลังที่ทำให้สิบโทโรเบิร์ต เบลส์ออกไปกราดยิงชาวบ้านน่าจะเป็นเรื่องของความต้องการล้างแค้น เนื่องจากเห็นความสูญเสียของเพื่อนทหารด้วยกันมากกว่า  เห็นได้จากการที่สามารถเลือกได้ว่าเป้าหมายของตัวเองจะเป็นใคร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเบลส์มีสติสมประกอบไม่ได้ฟั่นเฟือนชั่วขณะอย่างที่ทนายและเจ้าหน้าที่หลายรายพยายามจะให้ภาพ นักข่าวอย่างฟิส์คบอกว่าเบลส์เบรกแตกจริง แต่มันเป็นอาการเบรคแตกจากการที่ควบคุมอารมณ์และ “ความแค้น” ไม่ได้มากกว่า 

สิ่งที่ทำให้ฟิส์คเชื่อเช่นนั้น เขาบอกว่า เมื่อทหารอเมริกันเผาคัมภีร์กุรอ่านซึ่งทำให้มีการประท้วงตามมา หลังจากนั้นมีทหารนาโต้หกนายถูกสังหาร สองคนในกลุ่มนั้นคือทหารอเมริกัน หลังเหตุการณ์นี้พล.อ.จอห์น อัลแลน ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐในอัฟกานิสถานได้ลงทุน “ขอร้อง” บรรดาทหารอเมริกันในพื้นที่ให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจไม่ตอบโต้ 

Allen told his men that "now is not the time for revenge for the deaths of two US soldiers killed in Thursday's riots". They should, he said, "resist whatever urge they might have to strike back" after an Afghan soldier killed the two Americans. "There will be moments like this when you're searching for the meaning of this loss," Allen continued. "There will be moments like this, when your emotions are governed by anger and a desire to strike back. Now is not the time for revenge, now is the time to look deep inside your souls, remember your mission, remember your discipline, remember who you are."

(นายพลอัลแลนบอกเหล่าทหารของเขาว่า “ขณะนี้ไม่ใช่เวลาของการแก้แค้นให้กับทหารสหรัฐสองคนที่ถูกฆ่าในเหตุจราจลเมื่อวันพฤหัสบดี” เขาบอกว่า ทหารควรจะ “ยืนหยัดต้านทานความต้องการของตนเองที่จะตอบโต้” หลังจากที่ทหารอัฟกันสังหารทหารอเมริกันทั้งสองนาย “เมื่อเราค้นหาความหมายของการสูญเสีย แน่นอนเราย่อมจะเผชิญหน้ากับห้วงเวลาเช่นนี้” อัลแลนกล่าวต่อ “ในห้วงเวลาเฉกเช่นนี้เองที่ภาวะทางอารมณ์ของเราถูกครอบงำไปด้วยความโกรธแค้นและแรงปรารถนาที่จะตอบโต้ แต่เวลานี้ไม่ใช่เวลาของการแก้แค้น เวลานี้มันคือเวลาที่เราจะต้องมองให้ลึกลงไปถึงก้นบึ้งหัวใจของตนเอง  ระลึกถึงภาระหน้าที่ ระลึกถึงระเบียบวินัย และตระหนักให้จงได้ว่าเราคือใคร)  http://www.independent.co.uk/opinion/commentators/fisk/robert-fisk-madness-is-not-the-reason-for-this-massacre-7575737.html

นักข่าวอินดีเพนเด้นท์คือฟิส์คบอกว่าถ้าขนาดต้องให้คนระดับผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองกำลังออกมาเรียกร้องกันแบบนี้ได้ก็เรียกว่าน่าตกใจพอสมควร คาดได้ไม่ยากว่าพล.อ.อัลแลนคงจะพอมองออกว่าสถานการณ์กำลังตึงมือจนยากจะรับไหว และพยายามป้องกันไม่ให้สองฝ่ายเริ่มเข่นฆ่ากันไปมาจนกลายเป็นสงครามล้างแค้น แต่เสียงเรียกร้องของผู้บัญชาการกองกำลังทหารสหรัฐในอัฟกานิสถานดังขึ้นไม่ทันขาดคำ โรเบิร์ต เบลส์ก็ตกเป็นข่าวว่าลงมือสังหารหมู่อัฟกันสิบเจ็ดศพ สำหรับนักข่าวอย่างฟิส์ค นี่คือสัญญาณของนักรบที่ลืมตัวไปแล้วว่าเขาคือทหารมืออาชีพ และมีแต่คนที่รู้ตัวว่าเป็นทหารมืออาชีพเท่านั้นจึงจะรู้ว่าต้องรักษาวินัย ยึดมั่นภาระหน้าที่และยับยั้งตนเองเอาไว้ให้ได้จากความต้องการการฆ่าเพื่อล้างแค้น 

ความเห็นจากนักข่าวดิอินดีเพนเด้นท์สะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่าของทหารที่ทำงานในแนวหน้า มันคือความเป็นมืออาชีพของทหารแต่ละนายที่สัมพันธ์แนบแน่นกับความสำเร็จของกองทัพทั้งกองทัพ 

เสียงวิจารณ์ทั้งปวงนี้ทำให้เห็นภาพการตกเป็นจำเลยสังคมของกองทัพสหรัฐ และเมื่อบวกรวมกันเข้ามาก็ทำให้ความสนใจพุ่งเป้าไปที่การดำเนินคดีโรเบิร์ต เบลส์ กับคำถามที่ว่า กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐจะให้ความยุติธรรมกับชาวบ้านในอัฟกานิสถานได้แค่ไหน 

ทหารอเมริกันแม้จะไม่ได้ทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาสถิติก็ยังมีช่องว่างให้เห็นถึงปัญหา accountability ซึ่งมีผู้แปลเอาไว้ว่า คือความพร้อมรับผิด จากปี 2001-2011 กองทัพสหรัฐลงโทษทหารเพราะสังหารคนในพื้นที่สู้รบไป 44 ราย ในอิรัก ในปี 2005 มีนาวิกโยธินอเมริกันแปดนายถูกกล่าวหาว่าพัวพันการสังหารชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธกว่ายี่สิบคนในเมือง Haditha มีรายเดียวที่ถูกคุมขัง และด้วยเวลาไม่เกินสามเดือน ที่เมืองฟาลลูจาห์ ในปี 2004 นาวิกโยธินอีกสองนายถูกตั้งข้อหายิงพลเรือนสี่คนตาย หนึ่งในนั้นพ้นผิดจากการพิจารณาคดีในศาลทั่วไป ส่วนอีกรายยอมรับว่าบกพร่องไม่ปฏิบัติหน้าที่ทว่าไม่ถูกลงโทษ

หากความพยายามของทนายของเบลส์เน้นต่อสู้คดีด้วยการอ้างความเป็นเหยื่อในระบบของเบลส์ การกล่าวอ้างเรื่องจิตฟั่นเฟือนหรืออาการ “ชำรุด” ทางจิตใจของบุคลากรเป็นเรื่องที่ข่าวกล่าวไว้ว่า กองทัพสหรัฐไม่ค่อยจะยอมรับสักเท่าไหร่ในอดีตที่ผ่านมา คดีของเบลส์จึงอาจจะช่วยให้มีการส่องกล้องขยายไปยังระบบวิธีการทำงานของกองทัพอเมริกัน เช่นกองทัพรู้มากน้อยแค่ไหนเรื่องอาการความเจ็บป่วยของเบลส์ ซึ่งหากมีจริง เหตุใดยังใช้ให้คนที่มีอาการเช่นนี้ทำงานอยู่  Mac McClelland เขียนไว้ใน The Malaysian Insider ชี้ว่า ความไม่ปกติของทหารส่ออาการไม่ปกติของกองทัพ แต่ที่ผ่านมากองทัพสหรัฐมักพอใจกับการยอมให้คนของตนเองแค่ไม่กี่คนถูกลงโทษแต่ไม่แก้ไขระบบ  http://www.themalaysianinsider.com/sideviews/article/whos-to-blame-when-an-injured-soldier-kills-civilians-mac-mcclelland

เพราะเป็นอาชญากรรมที่รุนแรง และเพราะผลกระเทือนทางการเมือง เบลส์อาจจะถูกลงโทษหนัก หลายเสียงเชื่อว่าทีมอัยการอาจร้องขอให้ศาลลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตเขา แต่ก็มีคนเชื่อว่าคดีนี้อาจจะใช้เวลาต่อสู้ในชั้นศาลยาวนานนับสิบปีก็เป็นได้ และในระหว่างนี้อาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยกับความพยายามที่จะให้มีการมองปัญหาไปไกลกว่าเรื่องของคนคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสติแตกเพราะความเครียดหรือว่าการยอมให้อารมณ์อยู่เหนือหน้าที่ ซึ่งนับวันสถานการณ์นี้ยิ่งรุนแรงมากขึ้นทุกที 

สิ่งที่กองกำลังทหารสหรัฐกำลังเจอในอัฟกานิสถาน เช่นเดียวกับในอิรัก หลายคนระบุว่ามันเป็นการสู้รบรูปแบบใหม่ที่ท้าทายความสามารถของทหารอเมริกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน  ไม่ต่างไปจากทหารไทยที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือมิตรและศัตรูแยกกันแทบไม่ออก 

In previous conflicts, the draft mobilized a larger force. That, in turn, protected soldiers from years and years of tours. Most in Vietnam, where the ranks were swelled by a military draft, served a single tour. World War II lasted just five years.

Combat was also different, Abenheim said. The actual lines of war were decisive and the enemy was clearer. 

Today, troops feed villagers and share tea one minute, he said, “the next minute you’re terrified the very same people are going to blow your brains out. That leads to a very distinct mentality and a very distinct approach. 

(ในความขัดแย้งก่อนหน้านี้ กองทัพใช้กำลังสำรองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในทางกลับกันวิธีการนั้นได้ช่วยทำให้ทหารประจำการไม่ต้องออกปฏิบัติงานแบบปีแล้วปีเล่า ส่วนใหญ่เห็นได้ในเวียดนามที่ทหารสำรองมีจำนวนมากกกว่าประจำการอย่างมากและปฏิบัติงานในหนเดียว สงครามโลกครั้งที่สองก็กินเวลาแค่ห้าปี 

วิธีการสู้รบก็เปลี่ยนไป โดนัลด์ อะเบเนม นักวิจัยจากสถาบัน Hoover Institution on War, Revolution and Peace บอกว่าแนวปฏิบัติการของสงครามในอดีตและศัตรูก็เห็นตัวชัดเจน

 เขาบอกว่า ทุกวันนี้ทหารอาจจะเลี้ยงข้าวชาวบ้านและกินชาด้วยกันนาทีหนึ่ง “นาทีถัดมาคุณกลับต้องตกใจที่คนกลุ่มเดียวกันพยายามจะระเบิดสมองของคุณ จุดนี้กำหนดทัศนะและวิธีคิดแบบหนึ่งรวมทั้งวิธีการทำงานในแบบของมั)  Scott Canon, Dawn Bormann, ‘Many think Robert Bales case reflects a military pushed to limit’, the Kansas City Star.

ทหารอเมริกันที่หลงอยู่ในวังวนของการแก้แค้นก็คือคนที่หนุนเสริมศัตรูของตนเอง  ความข้อนี้ทหารไทยที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะตระหนักดี

รายงานข่าวจากหลายสำนักบอกว่า ตอนนี้ทหารอัฟกัน หรือไม่ก็นักรบตอเลบันที่แอบแฝงตัวอยู่ในหมู่ทหารอัฟกันกำลังหันปากกระบอกปืนเข้าใส่ทหารต่างชาติที่กำลังซักซ้อมงานในหน้าที่ให้พวกเขาเพื่อหวังให้กองทัพอัฟกันรับหน้าที่แทน ล่าสุดวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา เอพีรายงานว่าทหารอังกฤษสองนายโดนยิงตายโดยทหารอัฟกัน หรือจะพูดให้ถูกก็คือคนที่สวมใส่เครื่องแบบทหารอัฟกัน และนี่ไม่ใช่สองศพแรก ไม่ว่ากรณีของโรเบิร์ต เบลส์จะเป็นเรื่องของคนสติแตกหรือไม่ก็ตาม แค่ผลกระเทือนที่เกิดขึ้นแล้วก็หมายความว่ากำลังมีการแก้แค้น แก้มือและตอบโต้ซึ่งกันและกันซึ่งอาจจะไต่ไปสู่แนวโน้มที่สูงขึ้น  คำถามสำคัญที่สุดในเวลานี้สำหรับกำลังทหารสหรัฐ ทหารอเมริกัน หรือทหารอื่นใดที่ทำงานภายใต้เงื่อนไขคล้ายคลึงกัน มันจึงอาจจะไม่ใช่เรื่องของการสู้รบกับ “ศัตรู” ภายนอก 

แต่มันอาจจะหมายถึงการเอาชนะ “สงคราม” ในใจตนเอง

สิ่งที่จะแยกทหารออกจากศัตรูของพวกเขา และในฐานะทหารมืออาชีพของกองทัพ โรเบิร์ต ฟิส์คแห่งดิอินดีเพนเด้นท์บอกว่าสิ่งสำคัญ มันคือ “วินัย ศีลธรรม และความกล้าหาญการไม่ฆ่าเพื่อแก้แค้นคือความกล้าหาญ” และมันคือความกล้าหาญอย่างยิ่งยวดเสียด้วย

แต่เขาสรุปว่าอันนี้มันอาจจะยากสักหน่อยโดยเฉพาะเมื่อคนเรากำลังพ่ายแพ้ในสนามรบที่หลอกตัวเองว่ากำลังชนะ

โดยเฉพาะกับด่านแรก นั่นคือสนามรบเพื่อรักษาความเป็นมืออาชีพนั่นเอง