Skip to main content
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2555 ในชื่อ “Building the case for peace dialogues” ข้อเขียนข้างล่างนี้เป็นบทความฉบับเต็มที่ได้รับการอนุญาตให้กองบรรณาธิการทำการแปลและผ่านการตรวจทานโดยผู้เขียน กองบรรณาธิการเห็นว่าในสถานการณ์ที่ความรุนแรงกดทับและมีการถกเถียงถึงกระบวนการสันติสนทนาและการเจรจาสันติภาพอย่างกว้างขวาง การทำความเข้าใจสิ่งที่ “สันติสนทนา” เป็นและไม่เป็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของผู้เขียนในบทความชิ้นนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
English version please see below.
 ๐๐๐๐๐
สันติสนทนาในบริบทของความรุนแรงที่ภาคใต้
โดย
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
 
แปลโดย
รอมฎอน ปันจอร์
         
ในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ความรุนแรงในภาคใต้ได้ปะทุขึ้นด้วยเหตุการณ์ระเบิดจำนวน 5 ครั้ง โดยเกิดเหตุในจังหวัดยะลา 3 ครั้ง ในจังหวัดปัตตานี 1 ครั้ง และอีกครั้งที่โรงแรมลีการ์เดนท์ซึ่งตั้งอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมืองหาดใหญ่ เหตุร้ายเหล่านี้ต้องนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะมองในแง่ขององค์ประกอบในการก่อความรุนแรง, ความโดดเด่นของภาพความรุนแรงที่ปรากฏและผลของการแลเห็นภาพดังกล่าวในใจคน และที่สำคัญคือจำนวนของผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวน 14 คน และบาดเจ็บอย่างน้อย 549 คน ซึ่งรวมไปถึงเด็กๆ อีกร่วมร้อยคน แม้แต่เด็กทารกวัยเพียงสองเดือนก็พลอยเป็นเหยื่อความรุนแรงครั้งนี้ไปด้วย จำนวนตัวเลขของผู้บาดเจ็บที่สูงที่สุดมาจากกรณีระเบิดที่โรงแรมลีการ์เดนท์ ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 416 คน
เมื่อราวหนึ่งปีก่อน ในวันที่ 30 มีนาคม 2554 คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี (คยส.) ซึ่งเป็นคณะทำงานทางความคิด (think tank) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำเสนอรายงานเชิงนโยบายของคณะทำงานฯ พร้อมกับข้อเสนอหลายประการ รวมทั้งการเสนอแนะให้มีนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการสันติสนทนาที่เป็นเอกภาพ รายงานเชิงนโยบายชิ้นนั้นยังได้ระบุว่าความรุนแรงในภาคใต้ดูเหมือนจะพุ่งสูงขึ้นคล้ายแนวโน้มที่เห็นตั้งแต่ต้นปี 2547 กระทั่งถึงปี 2550 รายงานดังกล่าวยังได้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าการใช้ระเบิดนั้นแพร่หลายมากยิ่งขึ้นและดูเหมือนว่าจะมีความซับซ้อนในทางเทคนิคยิ่งกว่าเมื่อก่อน (กรุณาคลิกดูรายงาน. "รายงานยุทธศาสตร์จัดการความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2554 – 2547")
เหตุการณ์สำคัญก่อนหน้าเหตุร้ายเมื่อวันที่ 31 มีนาคมคือเหตุระเบิดรถยนต์ที่จอดอยู่ใกล้กับศาลากลางจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ระเบิดในรถยนต์น้ำหนัก 30 กิโลกรัมดังกล่าวได้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีก 12 คน ทำให้ตึกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 จังหวัดปัตตานี รวมไปถึงรถยนต์ที่จอดอยู่ในที่เกิดเหตุ 12 คันเสียหายยับเยินไปด้วย เหตุระเบิดที่ปัตตานีในครั้งนั้นได้แสดงให้เห็นการเคลื่อนตัวชนิดใหม่ของความรุนแรงในภาคใต้อย่างชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญคือระเบิดขนาดนี้ที่มีอำนาจทำลายร้ายแรงถึงเพียงนี้ทำให้เห็นว่าผู้ผลิตและใช้ระเบิดมีความสามารถทางเทคนิคเหนือกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ในบริบทเช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องยืนยันและ/หรือนำเสนอนโยบายที่เป็นเอกภาพของภาครัฐเกี่ยวกับสันติสนทนา (peace dialogue) ในเวลาเช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อความรุนแรงในภาคใต้ขยายตัวและเข้มข้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การตระหนักแน่ถึงความจำเป็นของนโยบายดังกล่าวควรต้องวางอยู่บนสาระของการทำความเข้าใจสันติสนทนาให้ดีขึ้น ทั้งในแง่ที่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ว่านี้คืออะไร และจะสามารถทำงานได้อย่างไรในบริบทของความรุนแรงที่สุดขั้วเช่นนี้
สันติสนทนาไม่ใช่อะไร?
บางคนแน่ใจว่าการที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ขยายความขัดแย้งที่ถึงตายด้วยระเบิดเหล่านั้นก็เพื่อกดดันรัฐบาลให้นั่งลงพูดคุยกับพวกเขา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกปรารภว่าการสนทนากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพียงบางกลุ่มคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการโจมตีด้วยระเบิดในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ในอีกด้านหนึ่ง พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้ออกมาปฏิเสธเมื่อเร็วๆ นี้ว่าไม่มีการพูดคุยที่ไม่เป็นทางการใดๆ ระหว่าง ศอ.บต. กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ (Bangkok Post, 3 และ 4 เมษายน 2555)
การโต้ตอบเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทของรายงานข่าวว่ามี “สันติสนทนา” ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างแพร่หลาย พร้อมๆ กับการดำเนินการผลักดัน “นโยบายบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557” ฉบับใหม่ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติและขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาให้ความเห็นของวุฒิสภาไทย (กรุณาคลิกดูรายละเอียด ‘นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557’)
ที่สำคัญ วัตถุประสงค์ข้อที่ 8 ของนโยบายดังกล่าวคือการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับสันติสนทนาและเอื้ออำนวยให้มีความต่อเนื่องของกระบวนการสันติสนทนากับกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อต้านรัฐอันเนื่องมาจากอุดมการณ์ที่เห็นแย้งแตกต่าง
จากงานศึกษาเกี่ยวกับ “การสานเสวนา” ของ มารค ตามไท รองประธานของ คยส. และ ปาริชาต สุวรรณบุบผา จากมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีเหตุผลอยู่หลายข้อที่ตอบต่อคำถามที่ว่าเหตุใดสันติสนทนาจึงมักจะถูกปรามาสและตั้งแง่สงสัย
ประการแรก มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ควรจะต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับการสนทนากับผู้คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม
ประการที่สอง เมื่อบางคนเข้าร่วมสานเสวนาก็เป็นเพียงเพื่อพยายามจะปกป้องผลประโยชน์ของตนและกลุ่มเท่านั้น
ประการที่สาม สำหรับผู้คนที่ต้องการเข้าไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าว พวกเขาก็ทำเพียงเพื่อป้องกันมิให้ “สูญเสีย” คนของพวกตนให้กับอีกฝ่าย ขณะที่มองกระบวนการเสมือนที่เก็บเกี่ยวข้อมูลสำคัญๆ เท่านั้น ไม่ต่างกับการพบปะกับ “ศัตรู” ก่อนหน้าการสู้รบในสมรภูมิ
ประการที่สี่ ไม่เพียงคนที่เข้าร่วม “สานเสวนา” จะไม่ไว้ใจกันเอง บางคนยังไม่มีความเชื่อมั่นในตัวกระบวนการสานเสวนานั้นเองด้วย
ประการที่ห้า บางคนมั่นใจว่าหลักการบางอย่างที่ใช้กับกระบวนการสานเสวนา (เช่นว่าการเปิดเผยความจริง?) ไม่สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ในชีวิตจริงใดๆ ได้เลย
และประการที่หก เพราะไม่ใส่ใจว่า “สานเสวนา”เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา บางคนจึงรีบชี้เลยว่าการสนทนานั้นไร้ประโยชน์ เนื่องจากผู้คนยังถูกฆ่าต่อเนื่องไม่หยุด
คงต้องกล่าวถึงประเด็นที่ควรจะชัดเจนแต่ต้น คือ สันติสนทนาไม่ใช่การเจรจา (negotiation) เป้าประสงค์ของการเจรจานั้นคือข้อตกลง ซึ่งบางครั้งก็หมายถึงข้อตกลงสันติภาพ การเจรจาในที่นี้ควรต้องนำผู้คนที่มีอำนาจหน้าที่จากทั้งสองฝ่ายมาสู่โต๊ะเจรจา บ่อยครั้งมักมีตัวกลาง (mediator) ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการเหล่านี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงในท้ายที่สุด
ตัวอย่างเช่นข้อตกลงสันติภาพเดย์ตันซึ่งจัดทำกันที่ฐานทัพอากาศไรท์-แพทเทอสันใกล้เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 โดยมีประธานาธิบดีสามคนจากเซอร์เบีย โครเอเชีย และบอสเนีย เข้าร่วม มีการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ธันวาคม 2538 และถือเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามในบอสเนีย
อีกตัวอย่างหนึ่งคือข้อตกลงแคมป์เดวิดในปี 2521 ซึ่งยังผลให้เกิดสนธิสัญญาสันติภาพอียิปต์-อิสราเอลในปี 2523 ที่ประธานาธิบดีซาดัตแห่งอียิปต์และนายกรัฐมนตรีเบกินแห่งอิสราเอลลงนามกันที่กรุงวอชิงตันดีซี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2523 โดยมีประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ เป็นประจักษ์พยาน
นอกจากนี้ สันติสนทนายังไม่ใช่การพูดคุยระหว่างคู่ขัดแย้งที่มีเป้าประสงค์ในเชิงการทหารเพื่อการค้นหาว่าอีกฝ่ายนั้นต้องการอะไรและมีลักษณะอย่างไร (เช่น ควานหาข้อมูลเกี่ยวกับขนาดและโครงสร้างของกลุ่มหรือที่ตั้งของอีกฝ่าย) งานเช่นนี้คือการแสวงหาข่าวกรอง สันติสนทนายังแตกต่างจากการพูดคุยในกรอบของการทำสงครามจิตวิทยาที่มีเป้าประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่าย ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการทำสงคราม
ทำความเข้าใจสันติสนทนา
นอกจาก “สันติสนทนา” จะขึ้นต่อลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งในแต่ละที่ เป้าประสงค์ของสันติสนทนายังถูกกำหนดโดยธรรมชาติของการสนทนานั้นเองด้วย มักถือกันว่าการสนทนาหมายถึงวิธีการที่จะต้องใช้เผชิญหน้ากับความขัดแย้ง “ผ่านถ้อยคำ (through words)” สำหรับคำว่า “ผ่าน (through)” นี้ ในภาษากรีก คือ “dia” ซึ่งหมายถึง “ระหว่าง (during)” “ห้วงเวลาที่ต่อเนื่อง (successive intervals)” “ในทิศทางที่แตกต่าง (in different directions)” “ผละจากห้วงเวลาที่หยุดหรือพัก (leaving an interval)” หรือ “รอยแยกหรือเปิดช่อง (breach)” กล่าวให้ถึงที่สุดการสนทนาเป็นวิธีการที่ผู้คน (โดยเฉพาะคนที่เลือกจะเอาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับการพยายามทำสิ่งนี้ในท่ามกลางความขัดแย้งที่ถึงตาย) จะมองเห็นทั้งตัวของพวกเขาเองและตัวตนคนอื่น อันตอกย้ำยืนยันถึงวิถีทางที่อัตลักษณ์อันแตกต่างกันจะได้เผชิญหน้ากันและกันในกระบวนการสนทนา เมื่อสันติสนทนาก่อตัวขึ้นในท่ามกลางความขัดแย้งที่ถึงตายดังเช่นกรณีชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ผู้ที่เข้าร่วมสนทนาเหล่านั้นอาจไม่ได้มาในฐานะเพื่อน หากแต่แรกมาร่วมกระบวนการในฐานะศัตรู หากเขาจะตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการนี้
สันติสนทนาจึงมีเป้าประสงค์อยู่ที่เข้าถึงความเข้าใจกันและการสร้างความไว้วางใจ ความเข้าใจในกรอบคิดของการสนทนาดังกล่าวนี้หมายถึงอะไรบางอย่างที่ใกล้เคียงกับการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) กล่าวคือ การมองเห็นและรู้สึกเกี่ยวกับโลกเหมือนกับที่อีกฝ่ายหนึ่งมองเห็นและรู้สึก ความเข้าใจในลักษณะนี้สำคัญยิ่ง หากปรารถนาจะเข้าใจให้ได้ว่าการต่อสู้ของฝ่ายนั้นวางอยู่บนฐานความชอบธรรมเช่นไร
คนไม่ควรเข้าร่วมกระบวนการสันติสนทนาด้วยความรู้สึกอับจนสิ้นหนทาง แต่ด้วยความมั่นอกมั่นใจว่ามีทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากการใช้ความรุนแรง ทั้งยังมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการที่จะรักษาเสริมสร้างทางเลือกเหล่านั้นผ่านการทำความเข้าใจเหตุผลและโลกของอีกฝ่ายอย่างลึกซึ้ง ด้วยความหวังว่าความเชื่อมั่นไว้วางใจระหว่างคู่ขัดแย้งจะก่อตัวขึ้นในท้ายที่สุด
ปัญหาของสันติสนทนากับความรุนแรงในภาคใต้นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีการสนทนากันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยในบางระดับกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในอีกบางปีก สิ่งที่จำเป็นในขณะนี้คือการมีนโยบายของภาครัฐที่เป็นเอกภาพเกี่ยวกับสันติสนทนาเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดช่องทางสื่อสารอันหลากหลาย กล่าวอีกอย่างก็คือ ควรต้องมีนโยบายที่เกี่ยวกับสันติสนทนาที่มีความเป็นเอกภาพโดยที่เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับการสนทนาอันหลากหลายช่องทางในเวลาเดียวกัน
นโยบายที่เป็นเอกภาพจะทำหน้าที่เป็นการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ที่กว้างขวางครอบคลุมการแสวงหาทางออกทางการเมืองต่อปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ พร้อมๆ กับการเอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานสันติสนทนาอยู่มีความรู้สึกถึงความมั่นคงและมั่นใจ การแสวงหาโอกาสของสันติสนทนาอันหลากหลายจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้มีผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมกระบวนการอย่างกว้างขวางครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากในฝ่ายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเอง
ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการสันติสนทนายังน่าจะช่วยเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่นิยมแนวทางสายกลางภายในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้คนที่มีแนวคิดสุดโต่งในกลุ่มพวกเขาอ่อนกำลังลง ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง กระบวนการสันติสนทนาจะทำหน้าที่เป็นดั่งพื้นที่ซึ่งทรงพลังอำนาจให้กับความเป็นไปได้อื่นๆ ที่อาจจะบรรเทาโศกนาฏกรรมแห่งความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในภาคใต้ได้ในที่สุด

๐๐๐๐๐

 
Peace Dialogue
in the Context of Historic Southern Violence
 
Chaiwat Satha-Anand
Professor of Political Science, Thammasat University
Chairperson, Strategic Nonviolence Commission, Thailand Research Fund
         
On March 31, 2012, southern violence exploded with 5 bombs causing three explosions in Yala, one in Pattani and another at the Lee Garden Hotel right in the heart of Haad Yai business district. These incidents together are historic in terms of the organization of violence, the centrality of the spectacle and its psychological impacts, and especially- the number of people directly affected since they killed 14 people and wounded at least 549, including about a hundred children, one is a two-month old baby. The highest number of casualties comes from the Lee Garden Hotel explosion with 416 wounded.
Almost exactly a year ago, on March 30, 2011 the Strategic Nonviolence Commission (SNC), a think tank under the auspices of the Thailand Research Fund (TRF) presented its policy paper with a recommendation for a unified policy on peace dialogue, among other things. The policy paper also indicated that southern violence seems to be picking up paralleled to the trend which began in early 2004 and moving up until 2007. It also pointed out the fact that the use of explosion was becoming more prevalent and seems to be more technically sophisticated.
Then a homemade-bomb hidden in a car parked near the provincial hall of Pattani exploded on February 9, 2012. The 30 kg.-car bomb killed one person and wounded 12 others. It caused damage to the public health office, education zone 1 head office as well as 12 parked vehicles. This Pattani bomb attack marks a new departure in southern violence because to get such a destructive effect out of that amount of explosive indicates a fact that the technical ability of the bomb maker is superior to anything that occurred there until then.
In this context, I would argue that there is a need to reaffirm and/or introduce a unified state policy on peace dialogue at this time, precisely because of the intensity and possible escalation of southern violence. This policy need could be substantiated by a better understanding of peace dialogue both in terms of what it is and how it works in the context of extreme violence.
What peace dialogue is not?
 While some people maintained that the insurgents escalated the already deadly conflict with these bombs to pressure the government to hold talk with them, General Prayuth Chan-ocha, the army chief, remarked that the dialogue with only certain groups of insurgents and not others was the reason for the March 31 bomb attacks. The secretary general of the Southern Border Provinces Administration Centre (SBPAC), Police Colonel Thawee Sodsong, on the other hand, recently came out to deny that there has ever been any informal talk between SBPAC and the insurgents. (Bangkok Post, April 3 and 4, 2012) These exchanges took place in the context of reports about prevalent “peace dialogues” between the government and the insurgents as well as the pending new “Southern border provinces administration and development policy, 2012-2014, prepared by the National Security Council and now waiting for its final discussion in the Thai Senate. Importantly, the eighth objective of this 2012-2014 plan is to create appropriate environment for peace dialogue and to foster continuity of peace dialogue process with those who choose to use violence against the state because of their opposing ideology.
Drawing on the works on dialogue of Mark Tamthai of the SNC and Parichart Suwanbuppa of Mahidol University, there are many reasons why peace dialogue is often treated with contempt or suspicion. First, there are those who see no reason why one should engage in dialogue with people from other side. Second, when some have to participate in dialogue, it is only an attempt to defend one’s own interest and group. Third, for those who want to engage in it, they do so to protect their people from “losing” to the other side while seeing dialogue as an important information gathering platform, not unlike meeting the “enemy” before the battlefield. Fourth, not only does mistrust exist among people who are supposed to engage in dialogue, some don’t have trust in the dialogue process itself. Fifth, some maintained that certain rules governing the dialogue process (such as truth telling?) cannot be applied in any real-life situation. Sixth, ignoring the notion of dialogue as a process which can take time, some quickly point out that dialogue is useless since the killings continue unabated.
It is important to first point out the obvious: peace dialogue is not a negotiation. The aim of a negotiation is an agreement, sometimes referred to as a peace agreement. A negotiation should involve authorized persons on both sides to come to the negotiating table, often times with a mediator to help facilitate the process aiming to reach an agreement. An example would be the Dayton peace agreement reached at Wright-Patterson Air Force Base near Dayton, Ohio in November 1995 attended by three presidents from Serbia, Croatia and Bosnia, formally signed in Paris on December 14, 1995 and put an end to the war in Bosnia. Another example would be the 1978 Camp David Accord which resulted in the 1979 Egypt-Israel Peace Treaty signed in Washington D.C. on March 26, 1979 by President Sadat and Prime Minister Begin, with President Jimmy Carter as the witness.
In addition, peace dialogue is not a conversation between two conflicting parties aiming to find out what the other side wants and what they are like militarily (e.g. finding out about the size of their group, its structure or its location). This is intelligence gathering. It is also different from conversation in the framework of psychological warfare, an important part of conducting war, aiming at conversion of the other party.
Understanding peace dialogue
Though heavily shaped by the specific reality of a particular conflict, the aim of peace dialogue is also governed by the nature of dialogue itself. Dialogue is generally seen as a means to come to terms with conflict “through words”. Apart from “through”, the Greek word “dia” can also mean “during”, “successive intervals”, “in different directions”, “leaving an interval” or “breach”. Dialogue then is about how people, especially those who choose to engage in this effort in the midst of deadly conflicts, see both themselves and the others. It underscores the ways in which different identities encounter one another in dialogue. When peace dialogue takes place in the midst of deadly conflicts, such as southern Thailand or southern Philippines, participants in a dialogue may not come as friends, but enemies, if they do come at all.
 Peace dialogue aims at reaching understanding and creating trust. Understanding within the framework of dialogue means something closer to empathy: to see and feel the world as the other side does. This empathic understanding is crucial if one wishes to construe the other side’s claim to legitimacy of their cause. One engages in peace dialogue not from a sense of helplessness, but from confidence that there are alternatives to violence and that both sides need to nurture such alternatives through profound understanding of each side’s cause and world in the hope that trust among conflicting parties will eventually emerge.
The problem with peace dialogue and southern violence is not that there is no dialogue between Thai government officials at some levels and some factions from the insurgents. What is needed now, however, is a unified state policy on peace dialogue that would allow the many channels of communication in existence. In other words, there should be a unified peace dialogue policy with many windows of opportunities for several of them to take place.
A unified policy would serve as a broad strategic direction in pursuit of political solutions to the problem of southern violence, while giving a sense of security for government officials working on peace dialogue. The pursuit of several peace dialogue opportunities would contribute significantly to the inclusivity of participants, especially from among the insurgents. Moreover, peace dialogues would also open up a space for the moderates within the insurgent groups, while potentially help weaken the extremists among them. Properly understood, peace dialogue could serve as a powerful space for other possibilities that could alleviate the tragic curse of violence in southern Thailand.