ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
หมายเหตุ: ข้อเขียนข้างล่างนี้เป็นรายงานตอนที่ 3 จากชุดรายงานจำนวน 4 ตอนจบ ซึ่งเรียบเรียงมาจากรายงานฉบับสมบูรณ์ของ ‘โครงการสำรวจและจัดทำแผนผังองค์กรประชาสังคม/องค์กรชุมชนที่ทำงานในภาคใต้’ ทีจัดทำโดย มูฮำมัดอายุบ ปาทาน และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP) โดยแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2554
หากนับเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นหมุดหมายสำคัญของความรุนแรงที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (ในขณะที่บางคนเชื่อว่าคลื่นรอบใหม่ก่อตัวตั้งเค้ามาตั้งแต่ปี 2544) ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นเป็นความรุนแรงได้นำพาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้จมอยู่กับความรุนแรงเป็นเวลากว่า 8 ปี ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ พบว่าในห้วงเวลานับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนเมษายน 2555 รวมทั้งสิ้น 100 เดือน มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ 11,698 ครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย (casualties) สูงถึง 14,249 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 5,170 ราย และบาดเจ็บ 9,079 ราย
น่าสนใจว่าเมื่อพิจารณาถึงประเภทเหยื่อที่ตกเป็นเป้าของการใช้ความรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต (ไม่ว่าจะกระทำจากฝ่ายใดและเพื่อเป้าประสงค์ใดก็ตาม) ก็พบว่าพลเรือนที่ไม่ติดอาวุธนั้นเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด จึงอาจกล่าวได้ว่า ลักษณะของความขัดแย้งที่ถึงตายซึ่งดำรงอยู่ในพื้นที่ในขณะนี้นั้นส่งผลกระทบต่อพลเรือนอย่างหนักหน่วงและสะท้อนถึงการขาดความสามารถของรัฐในการทำหน้าที่พื้นฐานในการปกป้องและรักษาชีวิตของประชากรภายใต้การปกครองของตนเองได้ แม้ว่าจะมีการทุ่มเทกำลังและทรัพยากรจำนวนมหาศาลเข้าถมทับเพื่อแก้ปัญหาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ลักษณะของกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านที่ไม่เปิดเผยตัวแสดงความรับผิดชอบและข้อเรียกร้อง ยังทำให้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมักถูกให้ความหมายอย่างสับสนตลอดมา
ความสูญเสียที่ประชาชนประสบนี่เองที่มีส่วนสร้างความชอบธรรมและสร้างแรงกระตุ้นให้พวกเขาลุกขึ้นมารวมกลุ่มและทำกิจกรรมอันหลากหลายในอาณาบริเวณนอกภาครัฐ หรือในที่นี้คือพื้นที่ของภาคประชาสังคมที่แยกขาดจากการกำกับชี้นำของรัฐ โดยที่อาจจะมีทั้งท่าทีที่ร่วมมือกับรัฐในบางระดับไปจนถึงการต่อต้านหรือท้าทายตั้งคำถามกับการใช้อำนาจอันมิชอบทั้งของรัฐและกองกำลังติดอาวุธฝ่ายตรงกันข้าม (กรุณาดูข้อถกเถียงเกี่ยวกับความหมายของ “ประชาสังคม” ในตอนที่ 1 ‘ทำความเข้าใจไอเดีย “ประชาสังคม” ในต่างบริบท’)
เพื่อที่จะทำการประเมินภาพรวมของกลุ่มประชาสังคม ตลอดจนวิเคราะห์บทบาทหน้าที่และศักยภาพในการทำงานเพื่อสันติภาพของพวกเขาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งสำรวจและจัดประเภทการทำงานของกลุ่มต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำแผนผังของกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่เพื่อสะท้อนให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขา ทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินและสร้างศักยภาพของพวกเขาในกระบวนการสร้างสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
งานวิจัยชิ้นนี้กำหนดกรอบการพิจารณาประชาสังคมในฐานะที่เป็น “พื้นที่กลาง” ที่ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถรวมกลุ่มและเข้ามาแสดงบทบาทและสะท้อนความต้องการของพวกเขาได้อย่างเสรีและปลอดภัยเพียงพอ ประชาสังคมในที่นี้เป็นอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่อยู่ระหว่างรัฐกับครอบครัว ในขณะเดียวกันก็เป็นอาณาบริเวณตรงกลางที่อยู่ระหว่างคู่ขัดแย้งหลักที่อ้างเหตุผลรองรับการใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าประสงค์ของตนเอง ซึ่งในกรณีความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ รัฐ ในความหมายอย่างแคบฝ่ายหนึ่ง และเครือข่ายของขบวนการติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐและมุ่งหวังสถาปนาอำนาจรัฐปาตานีขึ้นมาใหม่[1] อีกฝ่ายหนึ่ง
ประชาสังคมในที่นี้จึงหมายถึง กลุ่ม องค์กร สมาคม ชมรม ชุมนุม เครือข่าย คณะทำงาน หรือคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีการรวมตัวของสมาชิกโดยความสมัครใจเพื่อทำกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการบรรลุร่วมกัน โดยที่มีจุดสนใจหรือผลประโยชน์สาธารณะเป็นเป้าหมายด้านหลัก ที่สำคัญการรวมกลุ่มและการทำงานของพวกเขาไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการบังคับขู่เข็น ทั้งยังยึดมั่นในกระบวนการที่ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การรวมกลุ่มและปฏิบัติการขององค์กรประชาสังคมในที่นี้อาจวางอยู่บนพื้นฐานของทั้งค่านิยมประชาธิปไตยและเสรีนิยม และค่านิยมที่อ้างอิงพื้นฐานจากวัฒนธรรมและศาสนาที่ถักทอผู้คนให้อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ในแง่ความสัมพันธ์ต่อรัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐ หรือในกรณีนี้คือความสัมพันธ์ต่อคู่ขัดแย้งหลักนั้น องค์กรประชาสังคมที่งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาอาจมีท่าทีทั้งในด้านของการให้ความร่วมมือ สนับสนุน หรืออย่างน้อยก็เห็นอกเห็นใจ และทั้งในด้านของการต่อต้าน ตั้งคำถาม และวางตำแหน่งเป็นฝ่ายที่คอยตรวจสอบถ่วงดุลคู่ขัดแย้งทั้งสองขั้ว
นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังให้น้ำหนักกับองค์กรประชาสังคมในระดับท้องถิ่น (Local Civil Societies) เป็นสำคัญ กล่าวคือ จะมุ่งพิจารณาบทบาทของกลุ่มที่มีคนทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ในกรณีที่เคร่งครัด คือ พื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของสงขลา) เป็นด้านหลัก แม้ว่าจะมองเห็นบทบาทสำคัญขององค์กรประชาสังคมในระดับชาติและในระดับนานาชาติที่มีบทบาทในการทำงานหรือสนับสนุนการทำงานขององค์กรนอกภาครัฐอยู่ในปัจจุบัน แต่การจำกัดการพิจารณาการทำงานในระดับพื้นที่เช่นนี้น่าจะสอดรับการประเมินศักยภาพของกลุ่มประชาสังคมในกระบวนการสร้างสันติภาพที่มาจากข้างล่าง (bottom up approach) อันจะเป็นหลักประกันที่จะรักษาเสถียรภาพของข้อตกลงสันติภาพในระยะยาวอีกด้วย (กรุณาอ่านรายละเอียดในตอนที่ 2 ‘ความชอบธรรม หลักประกัน และบทบาทที่ควรเป็น’
อย่างไรก็ตาม ขอบเขตในการนิยามความหมายดังกล่าวยังเปิดกว้างให้หมายรวมถึงกลุ่มองค์กรที่แสดงบทบาทในระดับชาติและนานาชาติซึ่งมีฐานการทำงานหลักอยู่นอกพื้นที่ หากแต่มีสาขาหรือสำนักงานประจำอยู่ในพื้นที่อีกด้วย
งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งพิจารณาบทบาทหน้าที่ วัตถุประสงค์ ตลอดจนกิจกรรมหลักของกลุ่มที่ได้รับการปฏิบัติการจริงเพื่อเป็นหลักเกณฑ์หลักในการจัดประเภท โดยที่ตระหนักดีว่ามีบางกลุ่มที่มีสิ่งเหล่านี้ซ้อนทับกันในหลายประเภท ซึ่งในแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มดังกล่าวมีการสะสมต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มอำนาจต่อรองของตนไปในตัวด้วย ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้จำแนกประเภทของกลุ่มต่างๆ ออกเป็น 12 กลุ่ม (กรุณาดูรายละเอียดใน ‘แผนผังฐานข้อมูลองค์กรประชาสังคมในชายแดนใต้’
1. กลุ่มสิทธิมนุษยชน หมายถึง กลุ่มองค์กรที่มีบทบาทขับเคลื่อนในประเด็นการต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนการจัดการความขัดแย้งผ่านกระบวนการยุติธรรม รณรงค์การบังคับใช้กฎหมายปกติเพื่อเอาผิดกับผู้ละเมิดโดยไม่เลือกปฏิบัติ สนับสนุนหลักการนิติธรรมและวัฒนธรรมการพร้อมรับผิด (คลิกดูรายละเอียด)
2. กลุ่มเยียวยา หมายถึง กลุ่มองค์กรที่มีบทบาทช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนฟื้นฟูสภาพจิตใจเหยื่อและญาติของเหยื่อ และเสริมสร้างศักยภาพของพวกเขาให้ข้ามผ่านความเจ็บปวดทั้งทางจิตใจและทางกายภาพ ตลอดจนอคติและความเกลียดชัง (คลิกดูรายละเอียด)
3. กลุ่มสื่อสารสาธารณะ หมายถึง กลุ่มที่มีบทบาทในการสร้างพื้นที่การสื่อสารระหว่างผู้คนในพื้นที่ และระหว่างผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ความขัดแย้ง จัดทำสื่อที่พยายามสะท้อนเสียงของผู้คนในพื้นที่ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้าใจต่อสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ความขัดแย้ง รวมทั้งทำหน้าที่ในการเปิดเผยและตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายต่างๆ (คลิกดูรายละเอียด)
4. กลุ่มการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หมายถึง กลุ่มองค์กรที่มีบทบาทในการรณรงค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สะท้อนอัตลักษณ์ของผู้คนในกลุ่มต่างๆ ไว้ในทุกมิติ ตลอดจนเสริมสร้างเงื่อนไขในการเข้าใจข้ามวัฒนธรรม มีบทบาทเรียกร้องเชิญชวนผู้คนให้นำหลักการศาสนามาปฏิบัติในชีวิตประวัน ตลอดจนเคลื่อนไหวรณรงค์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักการศาสนา นอกจากนี้ ยังรวมถึงกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนนอกระบบของรัฐ (คลิกดูรายละเอียด)
5. กลุ่มทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หมายถึง กลุ่มองค์กรที่มีบทบาทส่งเสริมการพิทักษ์รักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รณรงค์เรียกร้องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม โดยเน้นการหนุนเสริมบทบาทของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของตนเอง (คลิกดูรายละเอียด)
6. กลุ่มวิชาการ หมายถึง กลุ่มองค์กรที่มีบทบาทสร้างองค์ความรู้และชุดคำอธิบายทางทฤษฎีในประเด็นต่างๆ ผ่านการผลิตงานวิชาการทั้งงานวิจัย บทวิเคราะห์ รายงาน ตลอดจนการสัมมนาวิชาการ เพื่อหนุนเสริมการทำงานและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม (คลิกดูรายละเอียด)
7. กลุ่มเศรษฐกิจ หมายถึง กลุ่มองค์กรที่มีบทบาทในการสร้างความร่วมมือและอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มธุรกิจภาคเอกชนในพื้นที่ ทั้งเพื่อเปิดโอกาสในการขยายตัวของภาคธุรกิจและความร่วมมือในประเด็นวาระต่างๆ รวมทั้งมีบทบาทผลักดันข้อเสนอในทางนโยบายของเศรษฐกิจมหภาค (คลิกดูรายละเอียด)
8. กลุ่มสาธารณสุข หมายถึง กลุ่มองค์กรที่มีบทบาทในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุข รณรงค์สร้างความเข้าใจและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนบทบาทในการบรรเทาสาธารณภัย (คลิกดูรายละเอียด)
9. กลุ่มพัฒนาชุมชน หมายถึง กลุ่มองค์กรที่มีบทบาทในการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในระดับรากหญ้าในชุมชน ทั้งเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกในด้านทักษะอาชีพและด้านการเพิ่มผลผลิตและการสร้างผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการรณรงค์ป้องกันปัญหาต่างๆ ที่ชุมชนนั้นๆ กำลังเผชิญ โดยเป็นตัวกลางในการแสวงหาความร่วมมือจากสมาชิกภายในชุมชนและฝ่ายต่างๆ (คลิกดูรายละเอียด)
10.กลุ่มผู้หญิง หมายถึงกลุ่มองค์กรที่มีบทบาทในการรวมกลุ่มผู้หญิงเพื่อสร้างความร่วมมือและขับเคลื่อนรณรงค์ในประเด็นต่างๆ (คลิกดูรายละเอียด)
11.กลุ่มเยาวชน หมายถึง กลุ่มองค์กรที่มีบทบาทในการรวมกลุ่มเยาวชนเพื่อสร้างความร่วมมือและขับเคลื่อนรณรงค์ในประเด็นต่างๆ (คลิกดูรายละเอียด)
12.กลุ่มเครือข่าย หมายถึง กลุ่มองค์กรที่ถูกจัดตั้งในลักษณะแนวราบเพื่อเชื่อมร้อยกลุ่มประชาสังคมต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในบางประเด็นและเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์บางประการ (คลิกดูรายละเอียด)
รายละเอียดของแต่ละองค์กรจะแสดงอยู่ในแผนผัง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ชื่อกลุ่ม ชื่อผู้ประสานงาน และข้อมูลสำหรับการติดต่อสื่อสาร ทั้งที่เป็นที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ และเว็บไซต์ โดยมีการจำแนกตามประเภทดังกล่าวข้างต้น (กรุณาคลิกดูรายละเอียด ที่นี่)
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่รวบรวมขึ้นนี้ (ปรับปรุงล่าสุดวันที่ 30 เมษายน 2555) ยังไม่อาจถือได้ว่าสมบูรณ์และสอดคล้องกับความเป็นจริงมากนัก หากแต่ยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม (อย่างน้อย 4 เดือนต่อครั้ง) โดยการเพิ่มกลุ่มองค์กรใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นหรือตกหล่นไปในระหว่างการสำรวจ หรือตัดกลุ่มองค์กรที่ยุบเลิกหรือยุติบทบาทไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ ตามสภาพ
ด้วยเหตุที่แผนผังดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลเปิด และวางอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน คณะผู้วิจัยจึงเปิดพื้นที่ให้สำหรับการแลกเปลี่ยนและพัฒนาฐานข้อมูลเหล่านี้ร่วมกัน โดยสามารถประสานมายังอีเมล์ [email protected] หรือผ่านกลุ่มในเฟซบุ๊ค ฐานข้อมูลประชาสังคมชายแดนใต้
หมายเหตุ: กรุณาติดตามอ่านรายงานพิเศษชุด “ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ” ตอนจบ เร็วๆ นี้
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง: ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ
ทบทวนแนวความคิดเกี่ยวกับ “ประชาสังคม” ที่ถือกำเนิดในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกและสร้างข้อถกเถียงในโลกนอกตะวันตกอื่นๆ รวมทั้งโลกมลายูและโลกมุสลิม ในขณะที่การพิจารณาประชาสังคมทั้งในฐานะที่เป็น “พื้นที่ทางการเมือง” ซึ่งแต่ละฝ่ายมุ่งใช้ต่อรอง และในฐานะ “ตัวแสดง” สำคัญในความขัดแย้งอาจส่งผลให้มองเห็นความเป็นไปได้ของสันติภาพบางประการ
สำรวจความรู้และประสบการณ์โดยย่นย่อเพื่อตอบโจทย์ที่ว่าเมื่อความขัดแย้งปะทุเป็นความรุนแรงทางการเมืองขึ้นมาแล้ว กลุ่มองค์กรประชาสังคมอยู่ตรงไหนและมีบทบาทหน้าที่อย่างไรได้บ้าง? ความแตกต่างหลากหลายในหมู่พวกเขาจะสร้างโอกาสให้กับสันติภาพได้อย่างไร? การรวมกลุ่มในอาณาบริเวณนอกรัฐเช่นนี้จะนำพาสังคมที่แตกร้าวจากความรุนแรงไปได้อย่างไร
[1] แม้ว่าฝ่ายต่อต้านในกรณีดังกล่าวจะยังไม่ประกาศแสดงความรับผิดชอบและข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการและน่าเชื่อถือเพียงพอ แต่การเคลื่อนไหวทั้งในแง่ของการทหาร การรณรงค์ขับเคลื่อนมวลชน และการโฆษณาชวนเชื่อก็ดำเนินการพร้อมๆ กันอย่างต่อเนื่อง งานศึกษาในระยะหลังบางชิ้นให้ความชัดเจนว่าเครือข่ายหรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นอยู่ภายใต้การนำของกลุ่ม BRN Coordinate ในขณะที่กลุ่มที่มีบทบาทลำดับรองลงมา คือ PULO ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้างแรงสนับสนุนในเวทีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกรับรู้จากชาวบ้านในพื้นที่ถึงการมีตัวตนอยู่จริงและเรียกขานพวกเขาในนาม “ญูแว” ซึ่งเป็นภาษามลายูถิ่นปาตานี ที่แปลว่า “นักต่อสู้”.