Skip to main content

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกฯ ผบตร.
ให้ตรวจสอบตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย สภ.ปะแต จังหวัดยะลา
 

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552  ทางโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย ภายใต้มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย สภ.ปะแต จังหวัดยะลา มีรายละเอียดดังนี้
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีผู้ต้องสงสัยถูกซ้อมทรมานในสถานีตำรวจปะแต อ. ยะหา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่านายชมาน ปะแตบือแน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายชุดเครื่องแบบอยู่ในสภาพที่เมาเหล้าและมีกลิ่นเหล้าติดตัว เข้าไปเปิดห้องขังแล้วถามนายชมานว่า “มึงเป็นครูฝึกใช่ไหม” นายชมานตอบว่า “ไม่” จากนั้นก็ถูกทำร้ายร่างกาย เช่น เจ้าหน้าที่ใช้เท้าที่ยังสวมรองเท้าขยี้ไปที่บริเวณแก้มและกกหูด้านซ้ายประมาณ 2-3 ครั้ง ทำให้มีรอยช้ำและรอยถลอก จากนั้นก็เตะที่บริเวณแผ่นหลัง คอ และศีรษะอีกนับสิบครั้ง แผ่นหลังของนายชมานยังคงมีร่องรอยถูกทำร้ายร่างกายมีอาการบาดเจ็บบริเวณหลังจากการถูกเหยียบทำร้าย และบริเวณใบหน้าด้านซ้ายมีร่องรอยการถูกทำร้ายเป็นรอยแดง  ขณะนี้ถูกฝากขังครั้งที่ 1 ที่เรือนจำจังหวัดยะลา   กรณีนายสมาน ปะแตบือแน นับเป็นกรณีที่ 18 จากการตรวจสอบและการรับเรื่องร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานนับแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2552 และนับเป็นกรณีที่สองที่การทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยเกิดขึ้นในสถานีตำรวจปะแต อ. ยะหา จ.ยะลา

เมื่อระหว่างวันที่ 30 มีนาคม -2 เมษายนพ.ศ. 2552 มีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีผู้ต้องสงสัยอีกหนึ่งรายคือนายมะคอเซ็ง เปาะแต ถูกซ้อมทำร้ายร่างกายอาการสาหัส ขณะที่ถูกควบคุมตัวและถูกสอบสวนที่สถานีตำรวจปะแต อ. ยะหา จ.ยะลา  และต้องได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ปัจจุบันถูกควบคุมตัวที่เรือนจำยะลา    โดยทางมูลนิธิฯได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังท่านแล้วเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ตามเอกสารที่แนบมาด้วยนี้

โดยระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 – เดือนเมษายน พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมาศูนย์ทนายความมุสลิมและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า  17 กรณี  กรณีการทรมานและทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีสถิติลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ใน 4 -5 ปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากการกำกับดูแลและการเอาผิดเอาโทษกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง    โดยมีสองกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ตรวจสอบและลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างจริงจัง   แต่ก็ มีหลายกรณีที่ทางราชการไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบและลงโทษอย่างจริงจัง และผู้เสียหายก็ไม่สามารถจะดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง  เนื่องจากผู้เสียหายและพยานเกิดความหวาดกลัวว่าตนเอง ครอบครัวและชุมชนมักจะตกอยู่ในอันตราย
               
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการสร้างความสมานฉันท์   บั่นทอนหลักนิติธรรมของประเทศไทย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการทำลายความไว้วางใจที่สังคมมีต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐในสามจังหวัดภาคใต้  

โดยตามรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2550 ได้รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกาย และห้ามไม่ให้มีการทรมาน      อีกทั้งประเทศไทยได้เข้าเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม   หรือย่ำยี ศักดิ์ศรี  (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าวอย่างเคร่งครัดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ดังนั้นจึงเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้โปรดดำเนินการให้มีการทำการสอบสวนโดยทันทีและดำเนินการกำกับดูแลการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน ห้ามการซ้อมทรมานโดยเด็ดขาด   กรณีพบว่ามีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการกระทำจริงขอให้โปรดย้ายหรือลงโทษทางวินัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกโดยจะต้องดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด ทั้งทางวินัยและทางอาญา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยแก่เหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงดังกล่าวอย่างเหมาะสม