Skip to main content

 

บทสรุปของความอยู่รอดของสังคมไทย
ท่ามกลางของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นอื่น
 
ตอนที่ ๒ : มองพื้นที่แห่งความถูก-ผิด......มองอะไร?
ความจริงจะพูดถึงเรื่องนี้รู้สึกไม่สบายใจ ไม่สบายใจที่ต้องล่วงรู้ เพราะการล่วงรู้บางอย่างนั้น บางครั้งก็บั่นทอนความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกที่ไม่สามารถข้ามพ้นสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นได้  โดยเฉพาะสิ่งเลวร้ายที่เกิดจากความเชื่อ แต่ก็คงปฏิเสธแห่งความเชื่อ เพราะความเป็นกฎธรรมชาติของมนุษย์ที่มนุษย์นั้นจะมีอุดมการณ์แห่งความเชื่อที่แตกต่างกัน(มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี 2550)
สอดคล้องกับอาจารย์อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มองว่า แม้ความเชื่อของมนุษย์มีความแตกต่างก็จริงอยู่ แต่กฎพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่เหมือนๆกันคือ ความเป็นมนุษย์ หมายความว่า ทุกคนเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน และมนุษย์ต่างก็มีพ่อคนเดียวกัน  และทุกคนต่างอยู่ในสมัยเดียวกัน และทุกคนที่เป็นมนุษย์เป็นพี่น้องกัน และยิ่งใหญ่คือทุกศาสนาสอนเหมือนกัน ว่าเราต่างเป็นศัตรูของมาร(....)  เมื่อฟังเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าความเป็นมนุษย์แท้จริงก็แยกไม่ขาด แม้จะทะเลาะถึงพันครั้งก็ตาม แต่ก็หาได้หนีในกฎพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และกฎธรรมชาติของความเชื่อเหล่านั้นได้
หากได้พิจารณาในเชิงจริยศาสตร์ในโลกทัศน์พุทธปรัชญาและปรัชญาตะวันตก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษย์และโลกธรรมชาติ ตามทัศนะของอาจารย์เนื่องน้อย บุณยเนตร ได้กล่าวว่า มนุษย์และสัตว์อยู่ในสังคมที่สืบสายชีวิตต่อเนื่องมาจากแหล่งเดียวกันในกระบวนการวิวัฒนาการ ดังนั้นความเสมอภาคในโลกธรรมชาตินั้นย่อมที่จะลงตัว หากความเป็นมนุษย์มีความลงตัวต่อกฎธรรมชาติความเป็นมนุษย์อยู่ก่อนแล้ว
คำถามที่น่าสนใจอยู่ว่า ความถูกผิดของชีวิตคือความไม่ลงตัวต่อกฎธรรมชาติความเป็นมนุษย์หรือ?.. เมื่อคำถามข้อนี้หลุดปากอย่างไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ผู้เขียนต้องรีบเร่งหาคำอธิบายในประเด็นเหล่านั้นว่า แท้จริงความถูกผิดของมนุษย์นั้นเป็นกฎธรรมชาติหรือไม่?... ความถูกผิดของมนุษย์มีอะไรวัด อะไรเป็นเกณฑ์หรือบรรทัดฐาน?... หรือลึกไปกว่านั้น กรอบและเขตแดนของความถูกผิดของมนุษย์มีแค่ไหน?...  
ความจริงคำถามนี้น่าสนใจ น่าสนใจตรงที่ความถูก-ผิด เป็นอะไรที่สังคมโลกร่วมสมัยต่างได้ส่งคำตอบอยู่ก่อนแล้ว อย่างน้อยในสภาวะที่โลกมีคำตอบอยู่ก่อนแล้วนั้นมีใครหลายๆคนต่างโดนคำวินิจฉัยที่เกินเลยความถูก-ผิดที่จะจำยอมได้ ง่ายๆเมื่อสื่อถึงมุสลิมคำตอบคือหัวรุนแรงเป็นต้น ทำให้ผู้เขียนอดที่จะต้องหาคำตอบที่พอจะมีนำหนักเพื่อจะถ่วงดุลแห่งอำนาจที่เกินเลยแห่งความถูก-ผิดเหล่านั้น
 หากได้ร่วมพิจารณาจากหนังสือชีวิตและการรู้จักตนเองในความถูก-ผิดของชีวิตคืออะไรของอาจารย์จุฑาทิพย์ อุมะวิชนี ได้พูดถึงอยู่ก่อนแล้วว่า ในชีวิตของมนุษย์แต่ละคนต้องเผชิญกับมาตรการการตัดสินความถูก-ผิดทั้งสิ้น เขากล่าวว่า เมื่อคนสองคนต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว คือปัญหาการตัดสินความถูก-ผิดนั้น สิ่งที่ต้องตั้งหลักคือ เราควรมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการตัดสินการกระทำนั้นๆว่าถูกหรือผิด
งานเขียนของอาจารย์จุฑาทิพย์ กล่าวว่า ถ้าได้ศึกษาจากนักปราชญ์ชาวเยอรมัน ชื่ออิมมานูเอล คานต์ ได้กล่าวว่า สำหรับเขาแล้วจะถือเอาเจตนาและหน้าที่เป็นเครื่องตัดสินการกระทำถูก-ผิดของมนุษย์ คือ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งดี หรือการกระทำอันใดอันหนึ่งดี ต้องดีเสมอ โดยไม่เลือกเวลา สถานที่ สิ่งแวดล้อม หรือตัวบุคคล หมายความว่า จะอยู่ ณ ที่ใด สภาพแห่งที่ความถูกผิด ก็จะถูกผิดแห่งสภาพแห่งที่นั่นอยู่แล้ว โดยไม่เลือกปฏิบัติแห่งความถูกผิด เช่นคานต์บอกว่า การพูดความจริงเป็นของดี และดีไม่ว่าจะเวลาใด สถานที่ใด กับใคร หรือสภาพการณ์เช่นใด
 เพราะคานต์มองอยู่บนหลักที่ว่า การกระทำที่ดีเกิดจากเจตนาที่ดี หมายถึงการกระทำที่นำไปสู่ผลดีและคำว่าผลดีพิจารณาตรงไหน หลักของคานต์อยู่ที่ว่า ผลดีคือ ประโยชน์หรือความสุขของคนส่วนใหญ่ ผลร้ายคือโทษหรือทุกข์ของคนส่วนใหญ่เป็นต้น ดังนั้น คาตน์จึงมองไปอีกว่าเรื่องที่สำคัญสำหรับถูกผิดอยู่ที่หน้าที่ เพราะคานต์พูดว่า การกระทำที่ดีคือการกระทำตามเจตนาที่ดี และการกระทำจากเจตนาที่ดีคือ การกระทำตามหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงตัวบุคคล
ส่วน จอห์น สจ๊วต มิลล์ มองว่า สิ่งชี้ความถูก-ผิดของชีวิต ขึ้นกับผลการกระทำว่าก่อให้เกิดอะไรบ้าง หรือพิจารณาเมื่อการกระทำนั้นเสร็จลงไปแล้ว มิลล์เรียกหลักนี้ว่า หลักมหสุข หมายความว่า การกระทำใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือความสุขมากที่สุด แก่คนจำนวนมากที่สุด ถือเป็นการกระทำที่ดี การกระทำที่ก่อให้เกิดทุกข์และสุขแต่เมื่อหักลบกันแล้วข้างสุขมากกว่าก็ย่อมเป็นการกระทำที่ถูก เพราะมิลล์เองตระหนักอยู่ว่า ถ้าเราถือเอาความรู้สึกเป็นเกณฑ์ ไม่อาจตัดสินการกระทำได้ โดยเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ถือว่าศีลธรรมอยู่ที่ความรู้สึก แต่อยู่ที่ข้อเท็จจริง”
ปัญหาอยู่ที่ว่ามิลล์ไม่เชื่อว่า เจตนาหรือแรงจูงใจเป็นเครื่องตัดสินการกระทำ ทำให้ผู้เขียนแอบคิดในใจว่าการที่มิลล์ไม่เชื่อต่อคานต์ในประเด็นเจตนาหรือแรงจูงใจเป็นเครื่องตัดสินการกระทำหรือเปล่าที่เจตจำนงแห่งความถูกผิดออกฤทธิ์ ทำให้มวลมนุษย์เห็นต่างมุมของความถูก-ผิด แต่ผู้เขียนมองอย่างรอบคอบแล้ว แม้ ที่แห่งสภาพแห่งความถูก-ผิด จะมีนิยามอย่างไร แต่ความถูก-ผิดก็จะถูก-ผิดด้วยตัวของมันอยู่แล้ว
 มีเด็กคนหนึ่งระหว่างที่ผู้เขียนรับประทานข้าวตามลำพัง เขาพูดถึงเรื่องความดี ผู้เขียนถามว่าอะไรคือความดี เด็กคนดังกล่าวตอบว่า อะไรที่เขาเห็นและสิ่งที่สากลเห็นว่าดี ก็คือดี หมายความว่าไม่เฉพาะแค่เราเองเท่านั้นบอกว่าดี แต่มวลมนุษย์ต่างมองว่าดีเช่นกับที่เราเห็น กระจ่างชัดขึ้นเมื่อเขากล่าวว่า การเป็นคนดีมันจะดี เพราะการทำความดีมันก็สมบูรณ์แบบในตัวของมันอยู่แล้ว แค่คิดมันก็ดี แล้วถ้าทำมันก็ยิ่งดีนั้นแหละ
คำถามอยู่ที่ว่า แล้วทำไมผู้เขียนต้องร่ายยาวเรื่องความถูก-ผิดให้เสียเวลา คำตอบคือ มันไม่ใช่หรือที่เราเหล่ามนุษย์กำลังแย่งพื้นที่แห่งความถูก-ผิด เพราะพื้นที่แห่งความถูกผิด ณ วันนี้กลายเป็นอื่นไปแล้ว ยามที่เป็นพวกเรา แม้ผิดก็ถูก ยามที่เป็นของพวกเขา ทำดีแถบตาย ก็ผิดอยู่ดี และสำคัญมาก ต้องการจะคลายความรู้สึกในสภาวะที่สังคมกำลังหาพื้นที่ถูก-ผิด และกล้าแสดงสภาวะแห่งความถูก-ผิดให้เป็นความจริง เพราะถ้าสภาวะแห่งความถูก-ผิดแสดงความจริง อะไรบางอย่างที่ซ่อนเงื่อน และซ่อนรูป หรือสับสน ก็จะคลายกันออกไป เพราะถ้าใครได้ติดตามข่าวจากการสำรวจของเอแบคโพลล์ ที่บอกว่า ประชาชน 51.2% รับได้หากรัฐบาลคอร์รัปชั่น แต่ประเทศรุ่งเรืองมันฟังแล้วน่ากลัว น่ากลัวตรงที่สังคมไทยกลับมองศีลธรรมเป็นเพียงเรื่องที่ยอมได้
แต่เมื่อผู้เขียนได้ลองตั้งคำถามเล่นๆว่าทำไมมนุษย์ต้องจำยอมความถูก-ผิดง่ายเกินไปเหล่านั้นได้ ทำให้ผู้เขียนต้องใช้เวลาในการสืบค้นเพื่อที่จะล่วงรู้ในเรื่องดังกล่าวให้แจ่มชัดมากขึ้น ว่าอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้มนุษย์ต้องจำยอมความถูกผิดที่ง่าย และดัจริตเหล่านั้นได้ เลยนึกขึ้นได้ในองค์ความรู้หนึ่งที่พอจะอธิบายให้ลงตัวได้ คือ องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาของความเป็นมนุษย์(จุฑาพรรธ์ ผดุงชีวิต ...) ที่ว่าด้วย ศาสนาและระบบโลกทัศน์ ที่เกี่ยวเนื่องกับมุมมองด้านจิตวิทยาสามแบบว่าด้วยความเป็นมนุษย์ ที่มีมุมมองพอสรุปได้ดังนี้
มุมมองที่หนึ่ง: แนวคิดด้านพฤติกรรม (Behaviorist Approach) กล่าวว่า อันที่จริงมนุษย์เรานั้นเข้าข่ายสุขนิยม คือ พยายามแสวงหาความสุข และหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดในชีวิตให้มากที่สุด เพราะฉะนั้น พฤติกรรมอะไรได้รับการตอบย้ำว่าถูกผิดจะเรียนรู้โดยเน้นให้มีความสุขมากที่สุดเจ็บปวดน้อยที่สุด
มุมมองที่สอง: แนวคิดว่าด้วยจิตวิเคราะห์ ของ Sigmund Freud (Psychoanalytic) ที่เชื่อว่า มนุษย์ คือ ระบบของพลังงานขับเคลื่อนโดยตัวเร้าสองตัวหลัก คือ ความต้องการทางเพศ และความก้าวร้าวในด้านของระบบการทำงานของสมอง เพราะเขาเชื่อว่า คนเรามีระบบความคิด 2 แบบ คือ
ระบบแรก คือ ความคิดระดับปฐมภูมิ คือ จิตใต้สำนึกที่ต้องการการตอบสนองแบบฉับพลัน ทำตามอำเภอใจ ไม่รวมความคิดเหตุผล ศีลธรรมจรรยา
ระบบที่สอง คือ ความคิดระดับทุติยภูมิ คือ สภาวะก่อนมีสติ ถึงมีสติ คือรู้ตัวจะยั้งคิด หรือดึงสติมาคิดได้ ซึ่งประกอบด้วยเหตุผล ศีลธรรมจรรยา ความสงสัย ความขัดแย้ง ความไม่แน่นอน ไม่แน่ใจ คือ การคิดระดับนี้อยู่ใต้กฎเกณฑ์ความจริง โดยจะสร้างการควบคุมให้ตนเองมีพฤติกรรมตามที่สิ่งแวดล้อม สังคมรอบข้างต้องการ เมื่อสร้างพฤติกรรมได้ถูกต้อง เหมาะสม จะเกิดระดับพลังงานสมดุลขึ้นภายในมนุษย์
Freud ยังได้กล่าวถึงกระบวนการทางจิต 3 ระดับในตัวมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย จิตใต้สำนึก (id) คือ การทำตามอำเภอใจ ระดับที่สอง คือ ego หรือตัวควบคุม ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความสมดุลระหว่าง id และ superego และระดับที่สูงขึ้นไปอีกคือ เป็นเรื่องของการรับรู้ โลกทัศน์ หรือการมองโลก ความทรงจำ การเรียนรู้ การปรับตัว วิจารณญาณ และเรื่องของระบบความเชื่อต่างๆและรวมถึงศาสนาด้วย
มุมมองที่สาม: แนวคิดว่าด้วยมนุษย์นิยม (Humanistic Approach) มองว่า ความหมายที่แท้จริงในชีวิตมนุษย์คือ การมีส่วนให้ แบ่งปันกับสังคม ไม่ใช่ตอบสนองแต่ความต้องการของตนเอง แต่ต่อผู้อื่นและสังคมด้วย
สรุปแล้ว แม้เราจะห้ามการมองถูก-ผิดไม่ได้ ในสภาวะที่สังคมมีมากหลายอย่างคิด แต่จะอย่างไรหากเราได้มองพื้นที่แห่งความถูกผิดอย่างเป็นคุณ เป็นกลาง เป็นจริง เชื่อว่าเจตนาแห่งการมองที่มิอาจบังคับลงได้นั้นจะไม่ง่ายเกินไป