แปลและเรียบเรียง นายอิสมาอีล ฮายีแวจิ
สำนักสื่อวารตานี [WARTANI]
นักวิชาการรุ่นใหม่นิยามสันติภาพตามความพอใจของประชาชน ชี้แนวทางสู่สันติภาพไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้อำนาจกฎหมายรัฐอย่างเดียว แนวทางสู่สันติภาพมีมากกว่า 1 เส้นทาง ฝากผู้เกี่ยวข้องเปิดให้หมดแล้วค่อยให้ประชาชนเลือก
ผู้ดำเนินรายการ : อาเต๊ฟ โซ๊ะโก
นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า
หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศ สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา [YDA]
หลังจากนี้ผมขอถามคุณตูแวดานียา ตูแวแมแง ว่าเท่าที่เราจำกันได้คุณตูแวดานียา เป็นคนพูดออกมาเสมอว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจะเรียกว่าคนมลายูปาตานี หรือมุสลิมมลายูปาตานี หรือคนมลายู หรือคนมุสลิม หรือคนปาตานี ในวันนี้ไม่ทราบว่าเขาต้องการอะไรกันแน่ ? สิ่งที่เราได้ยินกันบ่อย คือ ต้องการอยู่ภายใต้รัฐไทยโดยมีหลายรูปแบบ
เช่น อยู่ในรูปแบบเดิมแต่ขอเพียงแค่ให้รัฐดูแลให้ดี หรือย่างที่มีบางกลุ่มบอกว่ามันสมควรที่จะได้ในรูปแบบกระจายอำนาจ (Decentralize) หรือในรูปแบบกระจายอำนาจเพียงน้อยนิด หรือในรูปแบบเขตปกครองพิเศษ (Authonomy) เหมือนกับที่อาเจะห์ได้รับ หรือในรูปแบบเขตปกครองตนเอง (Sub State) เหมือนกับประเทศที่มีสองรัฐย่อยๆ
แต่คุณตูแวดานียา เคยบอกเสมอว่าไม่ใช่มีเพียงแค่รูปแบบนั้น เพราะบนถนนยังมีคนเขียนคำว่าเมอร์เดก้า (Merdeka) มีคนเขียนว่าเอกราช มีคนเขียน Independent รูปแบบนี้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คนที่พูดในเวทีประชาสังคม อย่าเด็ดขาดที่จะไม่พูดประเด็นนี้ เพราะว่านอกเหนือจากรูปแบบดังกล่าวที่ผมพูดไปข้างต้น คำว่า เอกราช เมอร์เดก้า หรือ Independent ก็มีคนพูดเช่นเดียวกัน แล้วสิ่งนี้มันสอดคล้องกับสันติภาพอย่างไร ? แล้วคุณตูแวดานียา จะนิยามสันติภาพอย่างไร ?
ตูแวดานียา ตูแวแมแง
รองผู้อำนวยการ สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA)
Membomgkar Sejarah Silam, Insaf dengan Kenyataan, Mencipta Masa Hadapan หมายความว่า “จงขุดค้นประวัติศาสตร์อันยาวนาน สำนึกรับกับความเป็นจริง และจงวาดฝันอนาคตข้างหน้า” ขอแสดงความเคารพต่อกลุ่มนักศึกษาที่จัดโครงการครั้งนี้ขึ้นมา ซึ่งโครงการนี้คิดว่าเป็นโครงการที่ควรค่าแก่การบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ ในภาวะสถานการณ์ที่ไม่สงบและสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้าของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งนี้มาแล้วเก้าปี คิดว่าโครงการนี้น่าจะเป็นโครงการที่สามารถจุดประกายเพื่อให้เกิดพลังแก่ประชาชน เริ่มที่จะมองตนเองให้มีคุณค่ามากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้จะหาโครงการในรูปแบบนี้ได้ยากมาก
ถ้าจะย้อนถามตามหัวข้อเสวนาในครั้งนี้ว่า “ประชาชนปาตานีสามารถกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? สำหรับผมแล้วกับโครงการในครั้งนี้ถือว่าชัดเจนมาก เพราะโครงการเสวนาที่ผ่านมา ผมไม่เคยเห็นประชาชนปาตานี หรือผู้เข้าร่วมงานที่แต่งกายหลากสีและหลากหลายอย่างนี้ ส่วนใหญ่ที่เข้าไปฟังจะแต่งกายชุดสีขาวทั้งหมด เป็นโครงการเสวนาที่ทำขึ้นเพื่อจะให้ประชาชนมาร่วมฟัง แต่กลับเกณฑ์นักศึกษาเข้าร่วมฟัง
แต่วันนี้ไม่ใช่ วันนี้ชัดเจนว่าประชาชนออกมาร่วมฟังด้วยตนเอง ต้องการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ก็อยู่ที่ประชาชน แต่ผมคิดว่าประชาชนที่มาร่วมฟังในวันนี้ คือ ประชาชนที่ต้องการกำหนดชะตากรรมตนเองแล้ว เพราะถ้าไม่ต้องการ ก็คงไม่มาตั้งแต่แรกแล้วใช่ไหมครับ? ส่วนจะกำหนดในรูปแบบใดนั้นเราก็ลองมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าแนวทางที่ควรจะเป็นนั้น ควรเป็นอย่างไร ?
วันนี้มีคนมาจากหลากหลายพื้นที่ หลากหลายประสบประการณ์ มีที่มาจากมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ มาจากกรุงเทพมหานคร มาจากภาคอีสาน มาจากภาคเหนือ มาจากในพื้นที่เอง มาจากกลุ่มนักศึกษา มาจากกลุ่มภาคประชาสังคม มาจากกลุ่มคนรุ่นเก่า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนที่จะต้องส่งต่อวาระในการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของประชาชนปาตานี อย่างอาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ และกลุ่มคนที่มาจากรุ่นสืบทอดวาระอย่างผมเองและเด็กตัวเล็กๆที่กำลังวิ่งเล่นอยู่ด้านหน้าเวทีอย่างสนุกสนาน
วันนี้ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วสำหรับประชาชนที่จะต้องมาร่วมกันคิดอย่างจริงจัง เพื่อหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาตนเองด้วยตัวเราเองได้อย่างไร ?
“วันนี้ต้องขอโทษพี่น้องที่ฟังภาษามือลายูไม่ได้นะครับ คือเห็นแววตาของประชาชนที่มาในวันนี้ มันรู้สึกอยากจะพูดภาษาที่เข้าถึงหัวจิตหัวใจ”
โดยภาพรวมแล้วหนทางที่จะนำไปสู่การยุติสงคราม สู่สันติภาพควรเป็นอย่างไร?
วันนี้ผมถือว่าโชคดีที่ได้รับโอกาสจากพ่อแม่พี่น้องและประชาชนปาตานี ให้ผมมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนโดยที่ไม่มีอุปสรรคใดๆ และไม่มีท่าทีโกรธเคืองอะไรผมเลย “ผมไม่สนใจว่ารัฐจะโกรธเคืองผมอย่างไร แต่เพียงขอให้ประชาชนไม่โกรธเคืองผมก็พอแล้ว”
ผมเคยผ่านเวทีร่วมชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2550 วันนั้นถือว่าเป็นวันแรกที่ผมคิดว่าประชาชนปาตานีได้มอบความไว้ใจให้กับผมได้ทำการศึกษาและเรียนรู้เพื่อหาแนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ ให้พึงพอใจตามที่ประชาชนต้องการจริงๆ หากถามผมว่านิยามคำว่าสันติภาพอย่างไรนั้น ผมขอตอบว่า “ถ้าหากประชาชนพึงพอใจอย่างไร? นั่นก็คือ สันติภาพสำหรับผม”
ประชาชนพึงพอใจในรูปแบบใด หากประชาชนพึงพอใจในรูปแบบการกระจายอำนาจ เข้าไปถึงรัฐสภา เพื่อให้ออกพระราชบัญญัติ (พรบ.) หากประชาชนพึงพอใจ? นั่นก็คือ สันติภาพ
หากประชาชนพึงพอใจในรูปแบบการเจรจา ผ่านตัวแทนกองกำลังติดอาวุธที่ต้องการปลดแอกปาตานี ไปเจรจากับผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐไทย เพื่อต้องการเขตปกครองตนเองพิเศษ (Authonomy) หากประชาชนพึงพอใจ? นั่นก็คือสันติภาพ
หากประชาชนต้องการให้พึงพอใจมากยิ่งกว่าเขตปกครองตนเองพิเศษ (Authonomy) หรือต้องการให้เหมือนชาวติมอร์ตะวันออก ที่มีการทำประชามติเพื่ออิสรภาพและเพื่อสามารถปกครองตนเองด้วยรัฐอิสระได้? นั่นก็คือ สันติภาพสำหรับประชาชนเช่นกัน
นี่คือสิ่งที่ผมได้ศึกษามาตลอดระยะเวลาห้าปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550-2555 หลังจากที่ผมได้รับความไว้วางใจในการร่วมเคียงข้างกับประชาชน ถึงแม้ว่าในช่วงเวลานั้นประชาชนยังไม่มีความพร้อมที่จะสื่อให้เห็นถึงความรู้สึกของตนเองด้วยวิธีการตรงไปตรงมา โดยการเปิดหน้าในเวลานั้นเราทำไม่ได้ แต่การมาร่วมชุมนุมกับนักศึกษาประมาณ 10,000 กว่าคนในช่วงเวลานั้น ผมสังเกตดูแววตาของประชาชนทุกคนที่มาจากหลากหลายพื้นที่แล้ว ทุกคนก็ตอบไม่ได้เช่นกันว่าการเรียกร้องครั้งนั้นจะมีจุดสิ้นสุดอย่างไร ? แต่เป้าหมายนั้นทุกคนรู้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าจะต้องแลกด้วยเลือดเนื้อทุกคนก็ยอม เพียงเพื่อที่จะได้ความเป็นธรรมและการกำหนดชะตากรรมของตนเอง แม้จะไม่สามารถเปิดหน้าได้ในช่วงเวลานั้นก็ตาม
เนื่องด้วยจุดยืนและท่าทีอันแรงกล้าของประชาชนที่ปกป้องสิทธิของตนเองขณะนั้น ผมและเพื่อนๆนักศึกษารุ่นผม จำเป็นต้องรับภาระอันยิ่งใหญ่
ตลอดระยะเวลาห้าปีในการศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับวุฒิ ดร. ผมรู้ว่าคนที่มีวุฒิ ดร.เขาคิดอะไรอยู่ในวันนี้ จริงใจหรือไม่กับประชาชนบ้านเรา ถ้าพวกเขาจริงใจพวกเขาจะต้องมีเวทีในรูปแบบนี้อีกหลายๆเวที ไม่ใช่เพียงแค่เวทีเดียว และเวทีในหมู่บ้านก็ต้องมีเช่นเดียวกัน แต่วันนี้กลุ่มบุคคลที่มีวุฒิทางวิชาการสูงๆเขาพูดกันเฉพาะในห้องปรับอากาศในโรงแรมเท่านั้น พวกเขาจริงใจหรือไม่ ผมก็ไม่สามารถตอบได้เหมือนกัน ?
จะบอกว่าเส้นทางที่จะมุ่งสู่สันติภาพตามคำนิยามของสหประชาชาติที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษในวันนี้คือ คำว่า Peace ซึ่งหากพื้นที่ใดเกิดสงครามขึ้นมาก็จะมีการรณรงค์เพื่อให้เกิดสันติภาพจากทุกมุมโลก เช่น Peace ปาเลสไตน์, Peace มินดาเนา, Peace อาเจะห์, Peace ติมอร์, Peace ไอร์แลนด์ และล่าสุด Peace คาตาโลเนีย ในประเทศบาเซโลน่า วันนี้บาเซโลน่าจะแยกออกจากประเทศสเปนแล้ว
ผมจะบอกว่าเส้นทางที่จะมุ่งสู่สันติภาพที่มีการยอมรับโดยกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างชนชาติหรือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่สอดคล้องตามหลักการประชาธิปไตย ตามหลักการสิทธิมนุษยชน และตามหลักการแห่งการรักต่อสันติภาพ ในเมื่อรัฐไทยประกาศกับชาวโลกว่าตนนั้นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ในหลักของสหประชาชาติด้วย นั่นคือเส้นทางที่จะมุ่งสู่สันติภาพ
ฉะนั้นเมื่อเส้นทางที่จะมุ่งสู่สันติภาพนั้นเป็นที่ยอมรับโดยสังคมระหว่างชนชาติที่นำโดยสหประชาชาติ เส้นทางของสันติภาพก็ไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้อำนาจกฎหมายของรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ตลอดเวลาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
กฎหมายตามรัฐธรรมนูญนั้น เขาเรียกว่ากฎหมายเพื่อที่จะปกป้องสิทธิของพลเมืองในประเทศนั้นๆ เป็นกฎหมายสำหรับประชาชนที่ยอมรับความเป็นพลเมืองอย่างสมัครใจจะอยู่ภายใต้อำนาจของประเทศนั้นๆ ถามว่าตั้งแต่บรรพบุรุษปาตานี เฉกเช่น บรรพบุรุษที่เป็นเชลยศึกที่ถูกอพยพไปอยู่ถึงท่าอิฐ ผลพวงที่ได้เป็นพลเมืองของประเทศไทยนั้นมาจากไหน บรรพบุรุษเหล่านั้นเขาพึงพอใจหรือไม่ ? สมัครใจหรือไม่ ?
สำหรับผมเท่าที่ผมศึกษาประวัติศาสตร์มาคำตอบคือ ไม่เลย แต่ด้วยวิธีการบีบบังคับที่พวกเขาต้องเป็นพลเมือง ถ้าไม่ยอม ลูกหลานจะเข้าไปเรียนหนังสือได้อย่างไรหากไม่มีบัตรประชาชน ? จะทำงานหากินได้อย่างไร ? หรือต้องไปอยู่ในป่า ? แต่สิทธิพลเมืองที่พวกเขายอมรับนั้นเพียงแค่แลกเปลี่ยนกับบัตรประชาชน แต่ในใจจริงนั้นไม่เลย ในใจลึกๆของพวกเขานั้นจะต้องอิงกับหลักสิทธิของพลโลก หรือสิทธิประชาชาติ
ตามหลักสิทธิพลเมืองนั้น ต้องมีหลักสิทธิพลโลก หรือสิทธิประชาชาติรองรับอยู่ด้วย จึงจะทำให้ประเทศที่ใช้หลักสิทธิพลเมืองปกครองประเทศนั้น ไม่ไปรังแกหรือไม่กดขี่ประชาชนของตนเองหรือไม่ปล้นอำนาจของประชาชนตนเอง เพราะการปกครองตามหลักประชาธิปไตยจริงๆนั้น ชนชั้นปกครองประเทศทุกคนต่างก็กินเงินเดือนที่มาจากประชาชนตนเองทั้งนั้น
แต่สำหรับวันนี้ประชาธิปไตยของรัฐไทยค่อนข้างชัดเจนอย่างยิ่งว่า มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จะเป็นอย่างไรนั้นเดี๋ยวเพื่อนผมที่เดินทางมาจากกรุงเทพจะอธิบายให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง เพราะเขาค่อนข้างตามเรื่องความเป็นไปของประชาธิปไตยไทยอย่างเกาะติดมากๆ
แต่วันนี้สำหรับเส้นทางที่จะมุ่งสู่สันติภาพนั้น ข้อมูลการอธิบายที่ผ่านมามีข้อมูลที่ยังไม่อธิบายมากกว่าข้อมูลที่อธิบายไปแล้ว โดยบางกลุ่มที่ถือว่าเป็นกลุ่มนำในสังคมบ้านเรา พวกเขาอธิบายเพียงแค่หนึ่งเส้นทางเลือกเท่านั้น ที่เรียกว่า “การกระจายอำนาจ (Decentralize.)” โดยมีหกโมเดล (6 Model.) ด้วยกัน
แต่หากเราศึกษาดูแล้ว มันยังมีอีกหลายเส้นทางเลือก แต่เขาเลือกที่จะอธิบายเพียงแค่เส้นทางเดียวเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่มีความรู้อย่างพวกเราก็จะเกิดความกังวลว่าเส้นทางนี้มันใช่หรือไม่ ? จะวิพากษ์กลับไปก็อาจจะไม่ชัดเจนเพราะไม่มีความรู้ ถึงวิพากษ์ไปเขาก็คงไม่รับฟังเพราะเราไม่มีข้อมูล แต่พวกเขามีข้อมูลในการอธิบายที่ชัดเจนแต่กลับอธิบายให้พวกเรารู้ไม่หมด อธิบายเพียงแค่เส้นทางเดียว ระหว่างกลุ่มบุคคลที่อธิบายอย่างชัดเจนแต่กลับอธิบายไม่หมด กับกลุ่มบุคคลที่อธิบายไม่ชัดเจนแต่จะอธิบายให้หมดไม่ได้ กลุ่มไหนที่เราจะเชื่อมากกว่ากัน ?
สำหรับวันนี้ ห้าปีที่ผมพยายามศึกษามา นอกจากเส้นทางนี้แล้ว(การกระจายอำนาจ) ยังมีเส้นทางไหนอีกบ้าง เพื่อเป็นเส้นทางสำหรับประชาชนปาตานีในการที่จะกำหนดชะตากรรมตนเองได้ เพื่อสามารถหาแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งเต็มไปด้วยความโศกเศร้าของประชาชนปาตานีให้เกิดสันติภาพโดยเร็ว และจากการศึกษาผมเจอมาแล้วหลายเส้นทางด้วยกัน ทั้งนี้ก็อยู่ที่ประชาชนเองว่าต้องการเลือกเส้นทางไหนมากกว่ากัน ? เชิญเลือกได้เลย แต่สิ่งสำคัญคือต้องเปิดให้หมดก่อน แล้วมาเลือกกัน
เส้นทางหลักใหญ่ๆที่จะนำไปสู่สันติภาพปาตานีมีสามเส้นทางด้วยกันดังนี้
- “ภายใต้อำนาจรัฐจักรวรรดินิยม (Under Colonize State)”
คือ เส้นทางที่จะแก้ปัญหาโดยผ่านทางอำนาจรัฐจักรวรรดินิยม มันชัดเจนว่าวันนี้ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ปาตานีและสยามหรือรัฐไทยยังต้องก่อและทำสงครามอยู่อีกนั้นคือสยามยังใช้ระบอบจักรวรรดินิยม (แต่สำหรับพี่น้องเราที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่ภาคอีสานนั้น อันดับแรกที่พวกเขาโดนกดขี่และถูกทำลายนั้นก็คือจากความเป็นระบอบศักดินาและทุนนิยม)และภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยมนั้นมีเส้นทางย่อยทางที่จะไปสู่สันติภาพอยู่สองเส้นทางด้วยกัน
1.1 “การกระจายอำนาจ (Decentralize)”
ซึ่งในวันนี้มีกลุ่มบุคคลอยู่กลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ส่วนใหญ่กลุ่มบุคคลที่ทำงานอยู่ในองค์กรนี้คือ กลุ่มบุคคลรุ่นเดียวกันกับอาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ แต่อาจารย์อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน โดยมีหกโมเดล (6 Model.) ด้วยกัน แต่ทั้งนี้ทุกโมเดลก็จะอยู่ภายใต้หลักการผู้ว่าราชการ หรือผู้มีอำนาจในการปกครองนั้น จากที่ใช้ระบบการแต่งตั้ง เปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งแทน
· โมเดลที่ 1 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
· โมเดลที่ 2 ทบวง สามารถเทียบเท่าได้กับ กระทรวง
· โมเดลที่ 3 สามนครสองชั้น
· โมเดลที่ 4 สามนครหนึ่งชั้น
· โมเดลที่ 5 มหานครสองชั้น
· โมเดลที่ 6 มหานครหนึ่งชั้น
ข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดเผยผ่านทางอินเตอร์เน็ต (Internet) แล้ว ทุกคนสามารถหามาอ่านได้ และผมเชื่อว่าอีกไม่กี่วันก็จะมีตัวแทนจากกลุ่มบุคคลที่รณรงค์ในเรื่องนี้ จะเดินทางพบเจอกับพ่อแม่น้องในหมู่บ้าน เพราะพวกเขาประกาศแล้วว่าจะรณรงค์ทำความใจในเรื่องนี้ทั้งหมด 200 เวทีด้วยกัน เพื่อที่จะเข้าไปถามว่าเห็นด้วย หรือไม่กับแนวทางหกโมเดลนี้ ? วันหนึ่งพวกเขาคงไปถึงหมู่บ้านเรา
1.2 “การรวมศูนย์อำนาจ (Centralize)”
คือแนวทางที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือการรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพมหานคร ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากการตัดสินโดยศูนย์กลาง
- “ภายใต้อำนาจรัฐอิสระ (Independent State)”
คือ เมื่อประชาชนต้องการที่จะให้ไปถึงเส้นทางที่เกิดความพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งไม่พึงพอใจอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเดิม ก็จะนำไปสู่แนวทางต่อไป นั้นก็คือ ภายใต้อำนาจรัฐอิสระ สำหรับชนชาติที่ทำสำเร็จไปแล้ว โดยใช้ตามหลักกฎหมายสากล คือ ประเทศติมอร์เลสเต ประเทศซูดานใต้ และประเทศโคโซโว เป็นต้น หากเลือกแนวทางนี้จะออกมาในรูปแบบดังนี้
· “ สหรัฐ (United State)”
o คือ สหรัฐที่มีอยู่หลายๆรัฐและมีอำนาจในการบริหารเป็นของตนเอง อย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นต้น
· “รัฐราชอาณาจักร (Kingdom State)”
o คือ รัฐที่มีกษัตริย์โดยมีอำนาจอยู่หน้าม่านหรือหลังม่านก็ขึ้นอยู่กับประชาชนพึงพอใจ อย่างเช่น ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา ราชอาณาจักรอังกฤษ และราชอาณาจักรซาอุดีอาราเบีย เป็นต้น
· “สาธารณรัฐ (Republic)”
o คือ รัฐที่มอบอำนาจสูงสุดให้แก่ประชาชน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเตสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นต้น
· การปกครองแบบอื่นๆ
ถ้าหากประชาชนเลือกเส้นทางที่จะอยู่ภายใต้อำนาจรัฐอิสระแล้วก็จงเลือกรูปแบบต่างๆที่อยู่ภายใต้เส้นทางเหล่านั้นได้ตามสะดวก ประชาชนจะเลือกปกครองในรูปแบบสหรัฐ หรือราชอาณาจักร หรือสาธารณรัฐ ก็แล้วแต่ประชาชนจะใช้สิทธิกำหนดชะตากรรมของตนเอง
- ทั้งสองเส้นทางหลักข้างต้นนี้จะขั้นกลางด้วยเส้นทาง “เขตปกครองพิเศษ (Authonomy)”
คือ ถ้าหากไม่ต้องการเส้นทางที่หนึ่งก็เลือกเส้นทางที่สอง โดยมีเส้นทาง “เขตปกครองพิเศษ (Authonomy)” ขั้นกลางไว้ โดยส่วนใหญ่ประเทศที่เกิดสงครามเหมือนกับปาตานีและเลือกเส้นทาง Authonomy มันจะสิ้นสุดที่โต๊ะเจรจาทั้งสิ้น เช่น อาเจะห์ได้ Authonomy ผ่านการเจรจาโดยมีตัวแทนระหว่างกองกำลังติดอาวุธในการปลดแอกกับตัวแทนรัฐมาพบกัน เพื่อเจรจา หากผลออกมาไม่สามารถนำไปสู่การได้รับเอกราชมันก็จะตกลงมาเป็น Authonomy
ซึ่งเส้นทางต่างๆที่จะนำไปสู่สันติภาพเหล่านั้นวันนี้ชัดเจนแล้วว่ามันมีอยู่ตามหลักการและกฎหมายสหประชาชาติที่มีการยอมรับบนหลักการที่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือยอมรับโดยหลักสิทธิเสรีภาพของสหประชาชาติ บนหลักการการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ Right to Self Determination. (RSD.) มันชัดเจนหลังจากที่โลกได้รับบทเรียนอันใหญ่หลวงโดยมีประชาชนเสียชีวิตเป็นล้านๆคนที่เกิดจากการทำสงครามครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง
จึงเกิดองค์กรร่วมจากหลากหลายประเทศเพื่อไม่ให้การทำสงครามครั้งที่สามเกิดขึ้นอีก นั่นก็คือ องค์กรสหประชาชาติ (UN) หลังจากที่มีการรวมตัวกันโดยประเทศต่างๆในโลกนี้ แล้วก็มีการทำสนธิสัญญาร่วมกันว่าจะไม่กดขี่และทำร้ายกลุ่มชาติพันธ์ที่มีพลังอำนาจด้อยกว่า
เหตุเพราะผลพวงจากการทำสงครามครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองนั้นมันมาจากชนวนเหตุที่มีการปล้นและยึดครองดินแดนมาตุภูมิของคนอื่นและทำการกดขี่สารพัดภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยม ดังนั้น หากมีการใช้อำนาจในรูปแบบจักรวรรดินิยมอีก แน่นอนสงครามก็จะเกิดขึ้นอีกเช่นเคย
ในช่วงเวลานั้นนักวิชาการต่างๆได้มีการตกผลึกร่วมกันว่าเพื่อไม่ให้สงครามเกิดขึ้นในโลกนี้อีก กลุ่มชาติพันธ์ที่หลากหลายทุกกลุ่มชาติพันธ์ จำเป็นต้องมีรัฐของตนเองทุกๆที่ สมมุติว่ากลุ่มชาติพันธ์ทั้งหมดมีอยู่ 1,000 กลุ่มชาติพันธ์ ก็จะต้องมีรัฐของกลุ่มชาติพันธ์นั้น 1,000 รัฐเช่นเดียวกัน เพราะหลังจากนั้นมันจะไม่เกิดสงครามอีก นี่คือความคิดเห็นของนักวิชาการที่มีแนวคิดที่เรียกว่า แนวคิดชาตินิยมเสรี (Liberal Nationalism.)
ผลพวงจากการวิเคราะห์และการทำวิจัยเพื่อไม่ต้องการให้เกิดสงครามอีกนั้น จึงเกิดการตัดสินใจร่วมกันในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ (UN) ในปี ค.ศ.1960 ซึ่งเราสามารถไปอ่านดูได้ในอินเตอร์เน็ต (Internet.) กล่าวว่า “หากที่ใดก็ตาม ที่ถูกประเทศจักรวรรดินิยมเข้ามาปกครองชนชาติที่สูญเสียอำนาจอธิปไตยแล้ว ประเทศเหล่านั้นจะต้องคืนเอกราชและอำนาจอธิปไตยแก่ดินแดนอาณานิคมกลับไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับอยู่ประชาชนในดินแดนนั้นว่า ต้องการหรือไม่ ?”
“ประชาชนในดินแดนนั้นจะขอใช้สิทธิของพลเมือง หรือสิทธิประชาชาติ แต่ถ้าหากไม่ต้องการใช้สิทธิประชาชาติก็จะต้องยอมรับหลักสองอย่าง นั่นก็คือ หลักรัฐาธิปไตย กับ หลักความเป็นบูรณภาพของดินแดน สังคมระหว่างชนชาติก็จะไม่สามารถเข้ามายุ่งเกี่ยวได้หากประชาชนยอมรับที่จะอยู่ภายใต้รัฐไทย ปฏิเสธที่จะเป็นประชาชนมลายูปาตานี คนนอกหรือคนต่างชาติจะเข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้”
จะเห็นได้ว่าวันนี้ที่โรงแรม ซี เอส ปัตตานี คนต่างชาติเข้ามาทุกวัน การเข้ามาทุกๆวันก็หาใช่ว่าเขาเข้ามาท่องเที่ยว แต่เขาเข้ามาเพื่อที่จะจัดการเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ หากพวกเรายอมรับที่จะใช้สิทธิพลเมือง แต่ไม่ต้องการใช้สิทธิพลโลก หรือสิทธิประชาชาติ
สำหรับความคิดเห็นของผมที่ต้องการแลกเปลี่ยนกับพ่อแม่พี่น้อง หากเราต้องการที่จะให้ถึงวันกำหนดชะตากรรมตนเองจริง จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงภาวะของการทำสงครามอยู่ขณะนี้ ประชาชนจะต้องมีสถานะทางการเมืองที่มีการยอมรับโดยหลักกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มาจากการกำหนดทิศทางของประเทศมหาอำนาจที่ชนะในการทำสงครามครั้งที่สอง นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรอังกฤษ สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น
และทุกประเทศที่กล่าวมานั้น ล้วนยอมรับในหลักการประชาธิปไตย นั่นก็หมายความว่าถ้าหากประชาชนต้องการที่จะกำหนดชะตากรรมตนเอง แต่ใช้ชีวิตสัมพันธ์อยู่แบบปกติไม่ใช่แบบสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะสงคราม เพียงแค่ความสัมพันธ์แบบคนในครอบครัว ในชุมชนเดียวกัน มันก็จะไม่สามารถเกิดสถานะทางการเมืองขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากต้องการที่จะให้เกิดสถานะทางการเมือง โดยมีการรับประกันจากกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศนั้น เราจะต้องมีสามอย่างดังต่อไปนี้ด้วยกัน
1. “ความรู้(Knowledge.)”
คือ เพราะถ้าหากเราไปพูดคุยเรื่องเหล่านี้ในสนามฟุตบอลเหตุการณ์ตากใบสอง อาจจะเกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นในเรื่องความรู้ทุกคนจะต้องมีติดตัวไว้ และควรเป็นความรู้ที่ชัดเจนและรู้จริง สามารถนำไปพูดคุยกับคนอื่นได้ ความรู้เหล่านี้เท่าที่ผมศึกษาและเรียนมามันไม่มีเลยในวิชาเรียนที่อาจารย์สอน สำหรับผมแล้วผมศึกษาผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet.) และจากการอ่านหนังสือเท่านั้นเอง ผมศึกษาผ่านประสบการณ์จากรุ่นก่อนๆ ศึกษาจากอาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ ศึกษาจากโต๊ะกู เป๊าะนิ และจากอีกหลายท่านด้วยกัน
2. “เครือข่าย (Network.)”
คือ เนื่องจากเครือข่ายสามารถบอกให้เรารู้ว่าพวกเราไม่ใช่คนที่ผิดกฎหมาย สำหรับผู้มีอำนาจรัฐ หากเราเป็นคนดีที่คบค้าสมาคมไม่เป็น ฝ่ายรัฐก็จะมองว่าคุณเป็นคนดีจริงหรือไม่ ทำไมถึงไม่มีใครคบกับคุณ อย่างที่ผ่านมาพวกเราก็คบเพียงแต่แวดวงตนเอง เช่น เป็นครูสอนตาดีกา ก็คบเฉพาะแต่ครูสอนตาดีกา เป็นอีหม่าม คอติบ บีลาล ก็คบแต่อีหม่าม คอติบ บีลาล
พวกเรารู้หรือไม่ว่ามัสยิดและตาดีกา ฝ่ายรัฐเขาเคืองมานานแล้ว หากเครือข่ายนอกเหนือจากแวดวงของเรา เราไม่คบค้าสมาคมด้วย ก็จะง่ายต่อการถูกต้องสงสัยและกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างง่ายดายโดยการใช้หลักจิตวิทยาแทนหลักกฎหมาย ดังนั้น การสร้างเครือข่ายนี่แหละ ที่จะบ่งบอกว่าเราไม่ใช่คนที่ชอบความรุนแรงโดยไร้เหตุผลฉะนั้น
จะต้องคบค้าสมาคม ถึงแม้เขาไม่ได้นับถือศาสนาเหมือนกับเรา และถึงแม้ว่าเขาไม่ได้มีชาติพันธ์เดียวกับเรา ก็ต้องคบค้าสมาคมในมิติของการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจการกดขี่เดียวกัน
3. “การสื่อสาร (Communication.)”
คือ บทเรียนจากพี่น้องเราที่ตากใบ เขาสอนเราแล้วและเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อีกแล้ว ถือว่าเป็นบทเรียนครั้งสุดท้ายสำหรับพี่น้องเราที่ตากใบก็เพียงพอแล้ว บทเรียนในครั้งนั้นก็เกิดขึ้น เพราะเราไม่มีความสามารถที่จะสื่อสารอย่างชัดเจนและโปร่งใส
ส่งผลทำให้ชนชั้นปกครองประเทศที่เป็นเผด็จการหรือผู้มีอำนาจ กล้าที่จะตัดสินใจสั่งฆ่าประชาชน แต่เขากลับบอกกับสังคมว่าพวกเขาฆ่าโจรไม่ใช่ประชาชน สังคมสาธารณะเองในสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งไม่มีเวลามากพอที่จะพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากการเผยแพร่โดยสื่อกระแสหลักต่างๆนั้น ส่งผลให้รัฐมีโอกาสที่จะใส่ร้ายต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายหรือประชาชนของตนเอง
ด้วยความที่สังคมสาธารณะเองไม่มีความรู้มากพอที่จะพิจารณาข้อมูลเอง ทำให้รู้สึกเชื่อและสรุปไปตามข้อมูลการใส่ร้ายของรัฐจากสื่อกระแสหลักเหล่านั้นอย่างง่ายดาย พอสังคมสาธารณะเชื่อตามที่เห็นในสื่อกระแสหลักไปแล้ว พี่น้องตากใบก็ถูกสังคมสาธารณะตัดสินไปว่า “พวกเขาคือโจร” อย่างที่รัฐได้กล่าวหาไว้
ซึ่งรัฐเชื่อว่าหากใช้คำว่า “โจร” กล่าวหาพี่น้องตากใบแล้ว ก็จะสามารถฆ่าประชาชนตนเองได้อย่างสบาย จนถึงวันนี้กฎหมายพลเมืองก็ไม่สามารถที่จะเอาผิดหรือทำอะไรได้เลย เพราะศาลตัดสินไปแล้วว่า
บุคคลที่ฆ่าประชาชนตากใบจนเสียชีวิตนั้น คือ “อากาศ” หรืออาชญากร คือ อากาศ และด้วยความที่สังคมในพื้นที่เอง ณ ตอนนั้น ไม่มีใครลุกขึ้นมาเรียกร้องอย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อสื่อสารให้ชัดเจน ทำให้ประเทศจากโลกภายนอกเองก็ไม่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออะไรได้เลย ไม่ใช่ว่าประเทศจากโลกภายนอกไม่สามารถช่วยได้ แต่เป็นเพราะวิธีการสื่อสารของประชาชนในพื้นที่เองนั้นไม่ชัดเจน หากต้องการใช้สิทธิพลเมือง การสูญเสียจากเหตุการณ์นี้ก็ถือว่าจบ เพราะศาลได้ตัดสินไปแล้วอาชญากร คือ อากาศ เราก็ต้องยอมรับการตัดสินนี้
ดังนั้น การที่จะไปสู่สถานะที่มีความชอบธรรมในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยผ่านการขับเคลื่อนโดยประชาชนในพื้นที่เองในการกำหนดและเลือกเส้นทางสันติภาพตามความต้องของประชาชนเองนั้นต้องผ่าน 3 กระบวนการด้วยกัน
1. “ประชาธิปไตย (Democracy.)” ย้อนกลับไปดูข้อมูลที่ อาจารย์ อัฮฺหมัด สมบูรณ์ ได้บรรยายมาก่อนหน้านี้
2. “สิทธิมนุษยชน (Human Rights.)”ประสานไปยังสหประชาชาติ (UN)
3. “รักสันติภาพ (Love peace.)”เพราะวันนี้หากเกิดสงครามในพื้นที่ใดบนโลกนี้แล้ว ก็จะมีกระแสการรณรงค์จากทุกมุมโลกที่มีประชาชนรักในสันติภาพนั้นร่วมกันต่อต้าน และร่วมกันพยายามเพื่อให้พื้นที่นั้นเกิดสันติภาพโดยเร็ว จะเห็นได้จากตัวอย่างจากหลายพื้นที่ที่พิสูจน์มาก่อนแล้ว
เมื่อไหร่ที่เรามีสถานะที่มีความชอบธรรมเพื่อที่จะเคลื่อนไหวด้วยตนเองแล้ว ประชาชนก็จะสามารถตอบได้เอง หรือที่เรียกว่า “วาระประชาชน” คือคำตอบที่ว่า ความจริงแล้วประชาชนต้องการอะไร ? โดยผ่าน 3 วิถีทางด้วยกัน
1. “รัฐสภา (Parliament.)” คือ เข้าสู่รัฐสภาและรอพระราชบัญญัติ (พรบ.)
2. “เจรจา (Negotiation.)”คือเข้าสู้เวทีเจรจาระหว่างตัวแทนจากลุ่มติดอาวุธปลดแอกปาตานีกับตัวแทนจากรัฐไทย หากจะมอบให้แก่สองกลุ่มนี้ดำเนินการ เราก็ต้องรอรับความจริง หรือรอคำตอบที่พวกเขาสองกลุ่มนี้ไปตกลงกัน
3. “ประชามติ (Referendum.)”คือ หากไม่ต้องการให้คนอื่นมากำหนดชะตากรรมตนเองอย่างที่หนึ่งและสอง เราก็ต้องมาเลือกวิธีที่สามนั่นก็คือ มาร่วมกำหนดชะตากรรมตนเองด้วยการ “ทำประชามติ” เหมือนกับวิธีการที่นักศึกษาจัดทำเวที “จำลองประชามติ” ในวันนี้
และในเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่สันติภาพนั้น ผมขอพูดถึงความเป็นมาและตัวละครต่างๆว่าใคร ทำอะไร
เมื่อไร แล้ววันนี้เราอยู่ตรงจุดไหน สรุปคือ ตัวละครที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในบ้านเราตั้งแต่เริ่มแรกเกิดเหตุการณ์ ปี พ.ศ.2547 จนถึงวันนี้ รวม 9 ปีมีอยู่สามตัวละครด้วยกัน
1. Angkatan Bersenjata Independence Patani (ABRIP) หรือ “กองกำลังติดอาวุธปลดแอกปาตานี”
คือ กลุ่มที่จุดชนวนภาวะสงครามด้วยการรบแบบจรยุทธ์ในปี พ.ศ.2547 เพื่อที่จะบอกให้สังคมสาธารณะและโลกให้รู้ว่า ที่นี่ยังมีกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ที่นี่ยังมีความอยุติธรรม ชะตากรรมของคนที่นี่ยังคงโศกเศร้าเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน
2. “อำมาตย์ประชาสังคม”
คือกลุ่มที่มาฉวยโอกาส โดยเอาความต้องการของตนเองไปยัดเยียดให้เป็นความต้องการของประชาชน ทั้งๆที่มันไม่ใช่ความต้องการของประชาชนเสียเลยเพราะประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะที่ไม่พร้อมจะตอบว่า สันติภาพแบบไหนที่ตนเองต้องการ? เขาเรียกว่า “การจัดฉาก” หรือ “การแสดงละคร” ผ่านเวทีต่างๆแล้วสรุปเองว่าประชาชนต้องการสิ่งนี้ สิ่งที่พวกเขานำเสนอมา คือผมเปิดนะ หากใครจะวิพากษ์ผมกลับก็ไม่มีปัญหา ถือว่าเป็นเวทีเปิด
3. “นักศึกษา (Mahasiswa.)”
คือกลุ่มที่พยายามเยียวยาและสร้างพื้นที่ความรู้สึกที่น่าหวาดกลัวให้กลับมาเป็นปกติ เช่น เยียวยาประชาชนที่มีความรู้สึกหวาดกลัว ไม่กล้าที่จะออกไปไหนมาไหน แม้กระทั่งไม่กล้าไปนั่งร้านน้ำชาตามวิถีชีวิตของคนที่นี่
กลุ่มที่พยายามสร้างพื้นที่ให้ประชาชนกล้าที่จะเผชิญกับความไม่ยุติธรรม ผ่านการเยียวยา ผ่านการลงพื้นที่จัดทำค่าย เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย เรื่องกฎหมาย และเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ก็คือ “นักศึกษา” ที่ไปเรียกร้องและชุมนุมโดยไม่คำนึงแม้แต่ชีวิตของตนเอง อย่างเช่น การไปร่วมชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานีปี 50 แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ไม่โดนสลายการชุมนุมเหมือนกับเหตุการณ์ตากใบ
ช่วงเวลานั้นหากถามว่า “หลังจากชุมนุมเสร็จแล้วจะเอาอย่างไรต่อ ?” นักศึกษาก็คงตอบไม่ได้ ไม่รู้เลยว่าต่อไปหลังจากการชุมนุมเสร็จจะไปอย่างไรต่อไป ช่วงเวลานั้นรู้เพียงแต่ว่าไม่สามารถนอนนิ่งดูดายกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชน เพราะความไม่รู้ว่า จะสานต่อการเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนหลังจากประสบความสำเร็จในการชุมนุมในช่วงเวลานั้น ส่งผลให้ถูกช่วงชิงการนำโดยกลุ่มที่รอฉวยโอกาส นั่นก็คือ “กลุ่มอำมาตย์ประชาสังคม”
ถามว่าแล้วตัวละครอย่างประชาชนยืนอยู่ตรงไหน ขอตอบว่าไม่มี ประชาชนเพียงแค่นั่งรอดูตัวละครสามตัวนี้แสดงไปเรื่อยๆ
สำหรับผมวันนี้หากต้องการที่จะให้ปัญหาในพื้นที่นี้คลี่คลายก็ต้องให้ประชาชนเป็นคนกำหนดชะตากรรมของตนเองด้วยตัวของประชาชนเอง ประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องเอง ส่วนจะเรียกร้องอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยนั้นก็ต้องย้อนกลับไปดูสิ่งที่ผมอธิบายไปเมื่อสักครู่ คือ ต้องมีความรู้ ต้องมีเครือข่าย ต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และรักสันติภาพ
หลังจากนั้นก็คงต้องมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของพระผู้เป็นเจ้าต่อไป เพราะไม่มีใครที่หลีกเลี่ยงจากความตายได้ อยู่ที่ว่าจะเลือกที่จะตายอย่างไรแค่นั้นเอง
ผู้ดำเนินรายการ
คือผมมีเรื่องที่จะท้าทายคุณตูแวดานียา เหมือนกับอาจารย์อัฮฺหมัด สมบูรณ์ แต่ผมจะไม่ให้ตอบก่อนโดยจะให้ตอบหลังจากเสร็จสิ้นช่วงที่หนึ่ง ประเด็นแรกคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่คนปาตานีจะสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเอง ? คือ ผู้ที่ติดอาวุธทุกคนสิ่งที่พวกเขาต้องการนั้น แน่นอนคือเอกราช คงไม่มีกลุ่มติดอาวุธใดต้องการเขตปกครองพิเศษ และคงไม่มีกลุ่มติดอาวุธกลุ่มใดหรอกที่ยอมลงทุนเสี่ยงชีวิตเพื่อต้องการเพียงแค่การกระจายอำนาจ สมมุติว่า จำนวนคนมลายูปาตานีที่อยู่ในพื้นที่นี้มีเพียงแค่สองล้านคน ในขณะที่คนในประเทศไทยทั้งหมดมีจำนวน 63 ล้านคน คิดว่าคนปาตานีจะสู้ไหวหรือ ?
ส่วนในเรื่องงบประมาณ ปาตานีเป็นพื้นที่ที่สามารถเก็บภาษีได้น้อยที่สุดในประเทศไทย ในขณะที่รัฐไทยเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ใหญ่มากในภูมิภาคอาเซียน คนต่างชาติใครๆก็ตามก็อยากมาร่วมลงทุนในประเทศไทย
ส่วนเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ รัฐไทยมีเรือรบ มีจรวด มีรถถังที่ซื้อมาจากประเทศยูเครน และซื้อมาจากสหพันธรัฐรัสเซีย และอื่นๆอีกมากมาย เป็นต้น แล้วสิ่งที่คุณตูแวดานียา ได้พูดถึงกลุ่ม ABRIP เมื่อสักครู่นั้น พวกเขามีอะไรบ้างที่จะสามารถไปสู้กับรัฐไทย ?
ด้วยเหตุนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ หากความฝันสูงสุดของคนที่ปาตานีคือ เอกราช หรือ สิ่งที่ผิดกฎหมาย หนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่คุณตูแวดานียา ? หรือว่าความฝันเหล่านี้มันเป็นเพียงแค่ความหวังลมๆแล้งๆ คือสิ่งที่ผมอยากฝากให้คุณตูวาดานียา ลองคิดดูก่อนว่าตกลงความเป็นไปได้มันจะเป็นอย่างไร ? แต่ผมยังไม่ให้คุณตอบตอนนี้
บทเสวนาที่เกี่ยวข้อง
- ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [1] อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
- ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [2] ตูแวดานียา ตูแวแมแง
- ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [3] สุพัฒน์ อาษาศรี
- ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [4] กริยา มูซอ
- ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [5] ฮัมซะห์ โกมลซัง ลัยดายัน
- ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [6]
วิดีโอเสวนา