Skip to main content

 

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 “ผมขอโทษแทนรัฐบาลชุดที่แล้ว และขอโทษแทนรัฐบาลนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลชุดที่แล้ว ผมมาขอโทษแทน ผมอยากยื่นมือออกไปแล้วบอกว่าผมเป็นคนผิด ผมขอกล่าวคำขอโทษด้วยด้วยใจจริง” นี่คือคำกล่าวบนเวทีปาฐกถาพิเศษของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต่อหน้าผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ต่อหน้าประชาชนนับพันคน รวมทั้งผู้ว่าราชการทั้ง 3 จังหวัด ประธานและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำศาสนา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญเป็นการพูดต่อหน้าผู้สูญเสียสามีและญาติพี่น้องไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเช้าวันนี้ (2 พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา

เสียงปรบมือต่อเนื่องยาวนานและเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีดังกึกก้องทั่วห้องประชุมน้ำพราว ณ โรงแรมซีเอส.ปัตตานี หลังคำขอโทษประโยคแรกจากปากของนายกรัฐมนตรียังไม่ทันเสร็จสิ้น

 
 

“ผมเคยพยายามคัดค้านนโยบายหลายประการของรัฐบาลชุดที่แล้ว และผมก็มีส่วนผิดที่คัดค้านนโยบายแล้วไม่เป็นผล เขาจึงให้ผมอยู่ในลักษณะที่ไม่ให้ความร่วมมือ วันนี้ผมจึงต้องเอ่ยคำขอโทษ ผมขอโทษอีกครั้งหนึ่งครับ”

 
 

หลังเสียงประกาศของนายกรัฐมนตรีจบลง หยดน้ำตาและเสียงปล่อยโฮของผู้สูญเสียและผู้ได้รับผล กระทบในเหตุการณ์ตากใบก็พรั่งพรูออกมา พร้อมกับเสียงปรบมือก็ดังกึกก้องและยาวนานขึ้นอีกครั้ง

 
 

นับเป็นคำขอโทษอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำรัฐบาลต่อกรณีเหตุการณ์ตากใบที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นคำขอโทษที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และประชาคมมุสลิมทั้งในและต่างประเทศกำลังรอคอยมาอย่างยาวนาน

 
 

คำขอโทษที่ออกมาอย่างง่ายดายและไร้ข้อแม้ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากนายสุริยา ปันจอร์ เลขานุการคณะ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ส่งข้อเรียกร้องให้กับนายก รัฐมนตรี ให้เอ่ยคำขอโทษต่อประชาชนต่อกรณีตากใบ และนับรวมถึงเหตุการณ์กรือเซะ และปัญหาความไม่สงบ ที่ส่งผลให้ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ผิดพลาด ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่าได้คิดมานานแล้วว่าจะเอ่ยคำนี้ต่อพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ เพื่อลบล้างความรู้สึกแค้นเคืองของพี่น้องประชาชน และเชื่อว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะคลี่คลายความรุนแรงลงได้

 
 

“เป็นคำขอโทษที่ชาวบ้านเค้ารอมานาน ส่งผลมากในเชิงจิตวิทยา” โต๊ะครูท่านหนึ่ง จาก อ.ยะรัง จ.ปัตตานีกล่าว

 
 

โต๊ะครูท่านนี้บอกว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะลดลงอย่างเป็นรูปธรรมหลังมีคำขอโทษจากนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เนื่องจากหลายกลุ่มและหลายพื้นที่มีอุดมการณ์ต่างกัน แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งของผู้ที่ออกมาก่อเหตุ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีความโกรธแค้นสิ่งที่รัฐเคยกระทำต่อกรณีตากใบและกรือเซะคลายความเกลียดชังนั้นลงได้บ้าง

 
 

“เหตุการณ์ความรุนแรงจะลดหรือไม่ลด ไม่ต้องไปคิดมาก แต่อย่างน้อยวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกดีขึ้นมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่สูญเสียลูกและสามีไปในเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ คำขอโทษอย่างจริงใจช่วยลดความเจ็บปวดลงไปได้มาก” โต๊ะครูที่ออกตัวว่าสูญเสียลูกศิษย์ในเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อ 28 เมษายน 2547 แสดงความคิดเห็น

 
 

ส่วนนายต่วนบูตอลี โต๊ะกูบาฮา ประธานโต๊ะอิหม่าม อ.เมือง    จ.ปัตตานีเปิดเผยว่า เป็นสิ่งที่ดีที่นายกฯ ออกมากล่าวขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความน่ายกย่อง ตนฟังคำขอโทษแล้วทำให้น้ำตาเกือบจะไหลออกมา เป็นการจุดเริ่มต้นในการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อความจริงใจของรัฐบาล ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยยอมรับข้อผิดพลาด แต่พล.อ.สุรยุทธ์ออกมาขอโทษต่อประชาชนแทนรัฐบาลในอดีต ตนถือว่าเป็นวีระบุรุษทางการเมืองที่น่ายกย่อง

 
 

นอกเหนือจากคำขอโทษต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุในเหตุการณ์ตากใบแล้ว เรื่องการถอนฟ้องคดีตากใบก็ถูกนายกรัฐมนตรี นำมากล่าวในการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

 
 

พล.อ.สุรยุทธ์บอกว่าได้หารือกับศ.ดร.อักขราทร จุฬารัตน์ อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นผู้รู้กฎหมาย พร้อมกับได้หารือกับดาโต๊ะยุติธรรม และทนายความหลายคนบอกว่า คดีนี้สามารถถอนฟ้องได้ เพราะหลักฐานค่อนข้างอ่อน ส่วนเรื่องรายละเอียดจะหารือกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้รับคำตอบในเร็วๆ นี้ แต่จะไม่นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพราะไม่อยากให้เกิดการรวมศูนย์ใน ครม.

 
 

ด้านนางแยนะ สะแลแม ผู้ประสานงานคดีตากใบให้กับจำเลยทั้ง 58 คนเปิดเผยว่ารู้สึกตื้นตันใจที่นายกรัฐมนตรีออกมาขอโทษต่อกลุ่มจำเลยในคดีนี้ และญาติพี่น้องที่สูญเสียในเหตุการณ์เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 แม้เธอจะไม่ได้ยินด้วยหูตนเอง (ขณะที่เธอให้สัมภาษณ์กำลังอยู่ที่ศาลาประชาคมบ้านศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ประชุมจำเลยทั้ง 58 คนพร้อมทนายความ เพื่อพูดคุยความคืบหน้าและทิศทางของคดีนี้) แต่เธอเชื่อว่าช่วยลดความอัดอั้นตันใจให้กับจำเลยในคดีนี้ทุกคน

 
 

“ดีใจจนพูดไม่ถูก แต่ฉันขอนายกฯว่า อย่าให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีกเลย” เธอกล่าวทิ้งท้าย

 
 

เป็นคำกล่าวขอโทษครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการสอดรับกับการฟื้นคืน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้นมาอีกครั้ง นับจากนี้ต่อไป ก้าวย่างของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาคใต้ จึงน่าจับตามองยิ่งนัก.