ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
ข้อตกลงกรอบการทำงานว่าด้วย ‘บังซาโมโร’ ซึ่งมีการลงนามระหว่างผู้แทนของรัฐบาลฟิลิปปินส์และผู้แทนของแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงข้อตกลงสันติภาพในชั้นต้นที่ระบุถึงรายละเอียดที่แต่ละฝ่ายจะต้องร่วมกันยอมรับและร่วมกันการอีกเป็นเป็นเวลาระยะหนึ่ง แต่ถือได้ว่าเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญของกระบวนการสันติภาพในมินดาเนาที่พยายามเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนาน
เอกสารชิ้นนี้ระบุให้เห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งนำมาสู่แผนที่เดินทางไปสู่การสถาปนาหน่วยทางการเมืองใหม่ที่ชื่อว่า ‘บังซาโมโร’ การหยิบยกประเด็นที่ไม่เคยได้รับการระบุถึงในข้อตกลงฉบับก่อนหน้านี้ การปรับสภาพของสังคมและผู้คนให้เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งรวมถึงการรื้อฟื้นประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต รวมไปถึงการถอนประจำการกำลังรบของ MILF ตลอดจนมีข้อผูกพันที่แต่ละฝ่ายต้องทำงานร่วมกันหลายประการ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันอย่างหนักของหลายฝ่าย ไม่เฉพาะรัฐบาลฟิลิปปินส์ และ MILF ที่ต้องต่อสู้และอดทนผ่านการพูดคุยเพื่อสันติภาพถึง 32 ครั้งในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา หากแต่ยังมีการทำงานอย่างหนักร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้ง ตลอดจนองค์กรนานาชาติและรัฐบาลต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้เกิดกระบวนการดังกล่าว
การแปลเอกสารฉบับนี้เป็นภาษาไทย (อย่างไม่เป็นทางการ) อาจทำให้เราสามารถเรียนรู้บทเรียนของกระบวนการสันติภาพในความขัดแย้งในที่อื่นๆ ซึ่งในสถานการณ์ที่ชายแดนใต้/ปาตานี ยังอยู่ในห้วงเวลาที่ความรุนแรงยึดเรื่องเล่า จนไม่ง่ายนักที่จะจินตนาการถึงวิธีการต่อรองหรือรับมือกับความขัดแย้งในแบบอื่นๆ นอกเหนือไปจากการใช้กำลัง
หมายเหตุ: เอกสารชิ้นนี้แปลโดย ฮุสณา ตีบอซู นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานกับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) และ ฟารีดา ปันจอร์ ผู้ปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
คลิกดูต้นฉบับ
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
ข้อตกลงกรอบการทำงาน
ว่าด้วยบังซาโมโร (BANGSAMORO)
วันที่ 15 ตุลาคม 2555
รัฐบาลฟิลิปปินส์ (The Philippine Government - GPH) และ แนวร่วมขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) ซึ่งในที่นี้หมายถึงภาคีแห่งข้อตกลงนี้,
ได้บรรลุตกลงและยอมรับในสิ่งดังต่อไปนี้
I. การสถาปนาบังซาโมโร
1. ภาคีแห่งข้อตกลงนี้เห็นร่วมกันว่าการคงไว้ซึ่งสถานภาพเดิมไม่เป็นที่ยอมรับ และบังซาโมโร (Bangsamoro) จักก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแทนที่เขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา (Autonomous Region in Muslim Mindanao - ARMM) บังซาโมโรเป็นหน่วยทางการเมืองปกครองตนเองใหม่ที่ถูกอ้างถึงในเอกสารประเด็นที่ร่วมตัดสินใจในหลักการต่างๆ ในเดือนเมษายน 2555 (Decision of Principles as of April)
2. การปกครองของเขตบังซาโมโรจักมีรูปแบบกระทรวง
ภาคีแห่งข้อตกลงมีความเห็นร่วมกันว่าจะยึดมั่นระบอบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับการปกครองในรูปแบบกระทรวง ระบบการเลือกตั้งจักพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย การให้เชื่อมั่นต่อความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อประชาชนเป็นลำดับแรก และจักส่งเสริมให้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองที่ยึดกับหลักการอย่างแท้จริง ระบบการเลือกตั้งจักต้องบรรจุอยู่ในกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโร โดยบัญญัติผ่านกระบวนการออกกฎหมายโดยฝ่ายบริหารของบังซาโมโรและวิธีการที่มีความเกี่ยวพันต่อกฎหมายระดับชาติ
3. จังหวัด เมือง เทศบาล หมู่บ้าน (barangays) และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ภายในอาณาเขตของบังซาโมโรจักกลายเป็นเขตเลือกตั้งของบังซาโมโร
สิทธิอำนาจในการกำกับความรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการของเขตเลือกตั้งดังกล่าวจะได้รับการประกันภายใต้ขอบข่ายของกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโร สิทธิพิเศษต่างๆ ที่ใช้ไปโดยหน่วยการปกครองท้องถิ่นภายใต้กฎหมายที่มีอยู่จะไม่ถูกลดความสำคัญลงไป หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง การแก้ไข หรือการปฏิรูปเพื่อสร้างธรรมาภิบาลที่ดีตามตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายของหน่วยการปกครองบังซาโมโร
4. ความสัมพันธ์ของรัฐบาลกลางกับรัฐบาลกับหน่วยงานปกครองบังซาโมโรจักเป็นไปในลักษณะอสมมาตร
5. ภาคีแห่งข้อตกลงตระหนักร่วมกันถึงอัตลักษณ์ของบังซาโมโร ผู้คนที่อยู่ในช่วงเวลาของการรุกรานและการตั้งอาณานิคมได้รับการพิจารณาว่าเป็นคนพื้นเมืองหรือผู้พำนักอาศัยดั้งเดิมของมินดาเนาและหมู่เกาะซูลู รวมทั้งหมู่เกาะที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งรวมไปถึงหมู่เกาะปาลาวันด้วย และลูกหลานของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นลูกผสมหรือสายเลือดโดยตรงจักมีสิทธิที่จะระบุตัวเองว่าเป็นชาวบังซาโมโร ทั้งโดยการสันนิษฐานหรือการกล่าวอ้างด้วยตนเอง
คู่สมรสและลูกหลานของพวกเขาจะได้รับการจัดกลุ่มว่าเป็นชาวบังซาโมโร เสรีภาพในการเลือกของชนพื้นเมืองอื่นๆ จักได้รับการเคารพ
II. กฎหมายพื้นฐาน
1. บังซาโมโรจักปกครองด้วยกฎหมายพื้นฐาน
2. บทบัญญัติของกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโรจักสอดคล้องกับข้อตกลงทั้งหมดของภาคี
3. กฎหมายพื้นฐานจักสะท้อนถึงระบบชีวิตของชาวบังซาโมโรและเป็นไปตามมาตรฐานของหลักธรรมาภิบาลที่ยอมรับในระดับสากล
4. กฎหมายพื้นฐานจักบัญญัติขึ้นโดยประชาชาชนบังซาโมโรและให้สัตยาบันโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติภายในอาณาเขตบังซาโมโร
III. อำนาจต่างๆ
1. รัฐบาลกลางจะมีอำนาจซึ่งสงวนไว้ ส่วนหน่วยการปกครองบังซาโมโรจักมีอำนาจพิเศษเฉพาะ อีกทั้งจักมีอำนาจที่ใช้ร่วมกันของรัฐบาลกลางและหน่วยการปกครองบังซาโมโร
ภาคผนวกของการใช้อำนาจร่วมกัน ซึ่งรวมถึงหลักต่างๆ ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับหน่วยการปกครอง จะก่อรูปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้และนำทางไปสู่การยกร่างกฎหมายพื้นฐาน
2. รัฐบาลกลางจักมีอำนาจดังต่อไปนี้:
a) การป้องกันประเทศและความมั่นคงภายนอกประเทศ
b) นโยบายต่างประเทศ
c) ตลาดร่วมและการค้าในระดับโลก โดยมีเงื่อนไขว่าหากอำนาจที่จะนำไปสู่การทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจได้รับอนุมัติภายใต้บทบัญญัติแห่งสาธารณรัฐ หมายเลข 9054 อำนาจดังกล่าวจักถูกโอนไปยังบังซาโมโร
d) เงินตราและนโยบายการเงิน
e) ความเป็นพลเมืองและสัญชาติ
f) บริการไปรษณีย์
อำนาจดังกล่าวนี้ปราศจากข้อกังขาต่ออำนาที่เพิ่มเติมซึ่งอาจตกลงกันระหว่างภาคีแห่งข้อตกลงนี้
3. ภาคีแห่งข้อตกลงต่างตระหนักร่วมกันถึงความจำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับศาลชาริอะฮ์และการขยายขอบเขตอำนาจศาลไปสู่คดีต่างๆ บังซาโมโรจักมีอำนาจเหนือระบบยุติธรรมชาริอะฮฺ หลักการอำนาจสูงสุดของชาริอะฮฺและการนำมาใช้จะมีผลต่อชาวมุสลิมเท่านั้น
4. กฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโรอาจให้อำนาจแก่หน่วยปกครองบังซาโมโรในการแต่งตั้งหน่วยงานที่รับรองมาตรฐานฮาลาลในบังซาโมโร
5. กฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโรจะให้อำนาจต่อสถาบันที่เกี่ยวกับความยุติธรรมในบังซาโมโร ซึ่งประกอบด้วย:
a) อำนาจ
color:#595959;lumm=65000 lumo=35000"">เหนือระบบยุติธรรมชารีอะฮฺ เช่นเดียวกับการสร้างสถาบันที่เป็นทางการและการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันดังกล่าว รวมทั้งการขยายขอบเขตอำนาจศาลชาริอะฮฺ
b) มาตรการต่างๆ เพื่อปรับปรุงการทำงานของศาลแพ่งท้องถิ่นหากมีความจำเป็น
c) ระบบการระงับข้อพิพาททางเลือก
6. สิทธิทางจารีตประเพณีและขนบธรรมเนียมของชนพื้นเมืองจักนำมาพิจารณาในการสถาปนาระบบยุติธรรมของบังซาโมโร สิ่งนี้อาจรวมถึงการยอมรับกระบวนการในแบบของชนพื้นเมือง ในฐานะทางเลือกของการยุติข้อพิพาท
IV การก่อเกิดรายได้และการแบ่งปันความมั่งคั่ง
1. ภาคีแห่งข้อตกลงเห็นร่วมกันว่าการสร้างความมั่งคั่ง (หรือการก่อเกิดรายได้หรือการมีแหล่งรายได้) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินงานของบังซาโมโร
2. โดยที่สอดคล้องกับกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโร บังซาโมโรจะมีอำนาจในการสร้างแหล่งที่มาของรายได้ตนเองและการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าเรียกเก็บต่างๆ ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ภาคีตกลงเห็นพ้องร่วมกัน อำนาจดังกล่าวนี้จักรวมถึงอำนาจที่จะกำหนดฐานภาษีและอัตราภาษี ซึ่งอยู่ในแนวทางของหลักการของการถ่ายโอนอำนาจ การปรับดุลภาค ความเสมอภาค ความรับผิดชอบ ความเรียบง่ายในเชิงการบริหารจัดการ การสอดประสานกลมกลืน ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และการเป็นอิสระทางการคลัง
3. บังซาโมโรจะมีสิทธิอำนาจที่จะได้รับงบประมาณและเงินบริจาคจากแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนงบประมาณและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง อีกทั้งเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง ภายใต้ความน่าเชื่อถือที่เป็นที่ยอมรับได้ บังซาโมโรจักมีอำนาจที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันสินเชื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ เว้นแต่สินเชื่อต่างประเทศและในประเทศที่ต้องการการรับประกันจากรัฐ ทั้งโดยชัดแจ้งหรือโดยนัย ซึ่งจะต้องมีการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง
4. บังซาโมโรจักมีส่วนแบ่งที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกันของรายได้จากภาษีที่เก็บมาจากการสำรวจ การพัฒนา หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในทุกพื้นที่/ดินแดน พื้นดินหรือพื้นน้ำ ที่อยู่ภายในเขตอำนาจของบังซาโมโร ดังที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ภาคีแห่งข้อตกลงนี้ได้ตกลงกันไว้
5. บังซาโมโรอาจสร้างสรรค์หน่วยงานตรวจสอบที่เป็นของตนเองและสร้างกระบวนการเพื่อให้มีความโปร่งใสในการเก็บรายได้และกองทุนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคหรือจากแหล่งภายนอก สิ่งนี้ควรปราศจากความลำเอียงต่ออำนาจ สิทธิอำนาจ และหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีแห่งชาติ เพื่อติดตามตรวจสอบ ตรวจสอบบัญชี และจัดทำบัญชีทั้งหมดเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ของงบประมาณและจากทรัพย์สินที่เป็นของกลไกของรัฐ ซึ่งรวมไปถึงบรรดาบริษัทที่มีรัฐเป็นเจ้าของหรือควบคุมอยู่ (GOCCs) ด้วยเช่นกัน
6. รายละเอียดของรายได้และการจัดการแบ่งปันความมั่งคั่งระหว่างรัฐบาลกลางและหน่วยการปกครองบังซาโมโรจักตกลงกันโดยภาคีแห่งข้อตกลง ภาคผนวกที่ว่าด้วยการแบ่งปันความมั่งคั่งจักมีขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้
7. จักมีคณะกรรมการนโยบายการคลังระหว่างส่วนกลางกับหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีองค์ประกอบมาจากผู้แทนของบังซาโมโรและรัฐบาลกลางเพื่อที่จะหยิบยกประเด็นความไม่สมดุลของรายได้ ความผันผวนของความต้องการด้านการคลังในระดับภูมิภาค และขีดความสามารถในการเพิ่มรายได้ คณะกรรมการควรประชุมกันอย่างน้อยหกเดือนต่อครั้งเพื่อตัดสินใจในการปรับนโยบายการคลังประจำปี ภายใต้หลักการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ได้ตกลงโดยภาคีร่วมกัน ทันทีที่บังซาโมโรได้บรรลุซึ่งความเป็นอิสระทางการคลังอย่างเต็มที่แล้ว อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้แทนจากรัฐบาลกลางอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวอีกต่อไปที่ ความเป็นอิสระด้านการคลังจักหมายถึงการก่อเกิดและจัดทำงบประมาณที่เป็นแหล่งรายได้ของบังซาโมโร ส่วนแบ่งภาษีเงินได้ภายใน ทุนที่ได้รับจากส่วนกลาง และงบประมาณอุดหนุนที่ถูกจัดสรรโดยรัฐบาลกลางหรือจากผู้ให้ทุนใดๆ
8. ภาคีแห่งข้อตกลงนี้เห็นร่วมกันว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบังซาโมโร เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้ บังซาโมโรจักพัฒนากรอบการทำงานที่ครอบคลุมสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการประสานงานและการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานในเชิงนิติบัญญัติของบังซาโมโรจักใช้อำนาจในทางกฎหมายเพื่อก่อตั้งหน่วยงานระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นที่ประกอบไปด้วยผู้แทนของบังซาโมโรและผู้แทนรัฐบาลกลาง เพื่อให้เชื่อมั่นว่าจะสร้างการสอดประสานระหว่างแผนด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา รวมทั้งกำหนดวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
V .อาณาเขต
1. อาณาเขตหลักของบังซาโมโรจักประกอบด้วย (a) พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ปัจจุบันของ (ARMM) (b) เขตเทศบาล Baloi, Munai, Nunungan, Pantar, Tagoloan และ Tangkal ในจังหวัด Lanao del Norte และหมู่บ้านต่างๆ ในเขตเทศบาล Kabacan, Carmen, Aleosan, Pigkawayan, Pikit, และ Midsayap ซึ่งรวมอยู่ใน ARMM เมื่อครั้งมีการออกเสียงจากประชาชนในปี 2544 (ค) เมืองต่างๆ ใน Cotabato และ Isabela (d) และพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ติดกัน ซึ่งมีมติของหน่วยงานในท้องถิ่นหรือคำร้องของผู้ลงคะแนนเสียงที่มีคุณสมบัติในพื้นที่อย่างน้อยร้อยละสิบ (10%) ที่ขอให้มีการรวมพื้นที่ดังกล่าว อย่างน้อยสองเดือนก่อนหน้าที่จะดำเนินการให้สัตยาบันในกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโรและกระบวนการปักปันเขตแดนของบังซาโมโรจะได้รับการกล่าวถึงในย่อหน้าถัดไป
2. ภาคีแห่งข้อตกลงนี้จะทำงานร่วมกันเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้มีการยอมรับมากที่สุดในกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโร ดังที่ได้ยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านและพื้นที่หลักที่กล่าวถึงในวรรคก่อนหน้านี้ ผ่านกระบวนการให้สัตยาบันในหมู่ชาวบังซาโมโรภายในพื้นที่เพื่อให้มีการปรับตัว ส่วนคณะทำงานติดตามซึ่งเป็นภาคีที่สามจากนานาชาติจักได้รับการนำเสนอเพื่อสร้างความมั่นใจว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นจะเป็นอิสระ ยุติธรรม น่าเชื่อถือ มีความชอบธรรม และเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล
3. พื้นที่ซึ่งอยู่ติดต่อกันและที่อยู่นอกอาณาเขตหลัก อันเป็นที่ซึ่งมีประชากรของบังซาโมโรจำนวนมากอาจเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตดังกล่าว หากมีคำร้องของผู้อยู่อาศัยอย่างน้อยร้อยละสิบ (10%) และได้รับการอนุมัติจากเสียงส่วนใหญ่ของผู้ลงคะแนนเสียงที่มีคุณสมบัติในการออกเสียง
4. อำนาจในการควบคุมน่านน้ำทั้งอาณาเขตทั้งภายในและภายนอกจะถูกอ้างถึงในภาคผนวกที่ว่าด้วยแบ่งสรรความมั่งคั่งและการอำนาจ
5. อาณาเขตหมายถึงดินแดนบนแผ่นดิน เช่นเดียวกับดินแดนทางทะเล ดินแดนทางบก ธารน้ำ และเขตลุ่มน้ำ รวมทั้งในอากาศ และอวกาศเหนือดินแดนบนแผ่นดิน การบริหารปกครองจักได้รับการเห็นพ้องจากภาคีแห่งข้อตกลงนี้และในภาคส่วนของการแบ่งสรรความมั่งคั่งและอำนาจ
6. กฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโรจักตระหนักถึงสิทธิในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนผู้สิทธิเลือกตั้งในบังซาโมโรของ
VI. สิทธิขั้นพื้นฐาน
1. นอกจากสิทธิพื้นฐานจะได้รับการยึดถือแล้ว สิทธิต่อไปนี้ของพลเมืองทุกคนที่พำนักอยู่ในบังซาโมโรนั้นผูกพันอยู่กับอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตามกฎหมายที่สามารถที่บังคับใช้โดยตรงและได้รับการประกัน:
a. สิทธิในการมีชีวิตและการไม่ละเมิดชีวิตส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีของผู้ใดผู้หนึ่ง
b. สิทธิเสรีภาพและการแสดงออกทางศาสนาและความเชื่อ
c. สิทธิส่วนบุคคล
d. สิทธิเสรีภาพในการพูด
e. สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและดำเนินตามความมุ่งหมายทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย
f. สิทธิที่จะแสวงหาการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยวิธีการอันสันติและตามกรอบกฎหมาย
g. สิทธิของผู้หญิงที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองและได้รับการปกป้องจากความรุนแรงทุกรูปแบบ
h. สิทธิที่จะเลือกสถานหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัยได้อย่างอิสระและการไม่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน
i. สิทธิต่อการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติในกิจกรรมทางสังคมเศรษฐกิจและการบริการสาธารณะ โดยไม่คำนึงถึงชนชั้น หลักความเชื่อ ความทุพพลภาพ เพศสภาพและชาติพันธุ์
j. สิทธิที่จะก่อตั้งสมาคมทางวัฒนธรรมและศาสนา
k. สิทธิที่จะปลอดจากการคุกคามทางศาสนา ชาติพันธุ์และและการแบ่งฝักฝ่าย และ
l. สิทธิในการปลดเปลื้องความทุกข์ยากและสิทธิที่ได้รับตามกระบวนการของกฎหมาย
2. สิทธิในทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์จักได้รับการตระหนักและเคารพ เนื่องจากความคับข้องหมองใจที่ชอบธรรมของชาวบังซาโมโรก่อตัวขึ้นจากการแย่งชิงสิทธิทางดินแดนและสิทธิทางทรัพย์สินตนเองอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุนนี้การครอบครองที่ดินตามธรรมเนียมเดิมหรือ การกลายเป็นคนชายขอบของพวกเขาจักได้รับการยอมรับ เมื่อใดก็ตามที่การฟื้นฟูจากความเสียหายดังกล่าวเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป รัฐบาลกลางและหน่วยการปกครองบังซาโมโรจักใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูร่วมกัน เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนบังซาโมโร ทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ และต่อสถานะที่จะถูกตัดสินร่วมกันจากทั้งสองฝ่าย
3. สิทธิของชนพื้นเมืองจักได้รับการเคารพ
4. รัฐบาลกลางจักให้ความเชื่อมั่นในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนบังซาโมโรที่อาศัยอยู่นอกอาณาเขตของบังซาโมโร และตัดสินใจดำเนินโครงการการฟื้นฟูและการพัฒนาชุมชนของพวกเขา หน่วยการปกครองบังซาโมโรอาจให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของพวกเขา
VII. การเปลี่ยนผ่านและการทำเกิดผลในทางปฏิบัติ
1. ภาคีแห่งข้อตกลงมีความเห็นพ้องต่อความจำเป็นที่จะต้องมีช่วงเวลาในการเปลี่ยนผ่านและการมีสถาบันของกลไกในการเปลี่ยนผ่าน
2. ภาคีแห่งข้อตกลงมีความเห็นพ้องที่จะนำเอาภาคผนวกซึ่งว่าด้วยการจัดเตรียมและระเบียบการของการเปลี่ยนผ่านซึ่งจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความตกลงนี้เข้ามาปรับใช้และนำมารวมเข้าด้วยกัน
3. คณะกรรมการการเปลี่ยนผ่าน (Transition Commission) จักได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยใช้อำนาจตามคำสั่งของฝ่ายบริหารและสนับสนุนโดยมติของรัฐสภา
4. หน้าที่ของคณะกรรมการการการเปลี่ยนผ่านมีดังนี้
a) เพื่อยกร่างกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโร ด้วยบทบัญญัติที่สอดคล้องกับข้อตกลงทั้งหมดที่ถูกนำเข้ามาและอาจถูกนำเข้ามาโดยภาคีแห่งข้อตกลงนี้
b) เพื่อจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการบรรลุซึ่งข้อตกลงและปกป้องการสถาปนาข้อตกลงของภาคีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญตราบเท่าที่มีความจำเป็นโดยไม่เบี่ยงเบนไปจากข้อตกลงสันติภาพที่มีมาก่อนหน้านี้
c) เพื่อประสานงานโครงการการพัฒนาชุมชนในบังซาโมโรร่วมกับสำนักงานพัฒนาการแห่ง MILF(Bangsamoro Development Agency - BDA) สถาบันความเป็นผู้นำและการจัดการแห่งบังซาโมโร (Bangsamoro Leadership and Management Institute – BLMI) และหน่วยงานอื่นๆ เท่าที่มีความจำเป็น
5. คณะกรรมการการเปลี่ยนผ่านจักประกอบด้วยสมาชิกสิบห้าคน (15) ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวบังซาโมโร สมาชิกเจ็ดคน (7) ถูกเลือกโดยรัฐบาลฟิลิปปินส์และสมาชิกอีกแปดคน (8) รวมทั้งประธานจะจักถูกคัดเลือกโดย MILF
6. คณะกรรมการการเปลี่ยนผ่านจะเป็นอิสระจาก ARMM และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ รัฐบาลฟิลิปปินส์จักจัดสรรงบประมาณและจัดหาแหล่งทรัพยากรอื่นๆ เพื่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานของรัฐบาลจะจักสนับสนุนคณะกรรมการการเปลี่ยนผ่านในการดำเนินงานและภาระหน้าที่ จนกระทั่งได้สิ้นสภาพจากการปฏิบัติงานและยุติบทบาทลงไป
7. ร่างกฎหมายพื้นฐานแห่งบังซาโมโรที่ได้รับความเห็นชอบคณะกรรมการการเปลี่ยนผ่านจักได้รับการรับรองให้เป็นร่างกฎหมายเร่งด่วนโดยประธานาธิบดี
8. เมื่อมีการประกาศใช้และการให้สัตยาบันต่อกฎหมายพื้นฐาน ซึ่งได้จัดให้มีการสถาปนาองค์การการเปลี่ยนผ่านแห่งบังซาโมโร (Bangsamoro Transition Authority - BTA)) ขึ้น เขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา (ARMM) จะถูกถือว่ายกเลิกไปแล้ว
9. หน่วยงานของรัฐที่พัฒนาแล้วทุกหน่วยควรถ่ายโอนอำนาจไปยังหน่วยงานเปลี่ยนผ่านอำนาจ Bangsamoroในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ รูปแบบของกระทรวงและระบบรัฐมนตรีของรัฐบาลควรเริ่มทันทีเมื่อหน่วยเปลี่ยนผ่านอำนาจของ Bangsamoro ได้จัดตั้งแล้ว หน่วยเปลี่ยนผ่านอำนาจของ Bangsamoro อาจจัดระบบราชการเสียใหม่ในสถาบันของการปกครองที่เหมาะสม
10. องค์การการเปลี่ยนผ่านแห่งบังซาโมโรจักสร้างความมั่นใจว่าการทำงานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในพื้นที่ซึ่งมีการปกครองตนเองนั้นได้บริหารตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายภายใต้กฎหมายพื้นฐาน องค์การการเปลี่ยนผ่านแห่งบังซาโมโรจะเข้ามาแทนที่ทันทีในปี 2559 เมื่อมีการเลือกตั้งและการเข้ารับตำแหน่งของสมาชิกสมัชชานิติบัญญัติแห่งบังซาโมโรและการสถาปนาหน่วยการปกครองแห่งบังซาโมโร
11. จะมีการก่อตั้งคณะทำงานติดตามจากภาคีที่สาม ซึ่งประกอบด้วยองค์กรนานาชาติต่างๆ ตลอดจนกลุ่มองค์กรภายในประเทศเพื่อที่จะติดตามการดำเนินงานตามข้อตกลงทั้งหมด
12. ในตอนท้ายของช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน เวทีเจรจาสันติภาพของรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF รวมถึงผู้เอื้ออำนวยกระบวนการจากมาเลเซียและคณะทำงานติดตามจากภาคีที่สามจักประชุมร่วมกันเพื่อทบทวน ประเมินผลหรือประเมินค่าการนำข้อตกลงทั้งหมดไปปฏิบัติและความคืบหน้าของการเปลี่ยนผ่าน ‘เอกสารทางออก’ (‘Exit Document’) จะได้รับการยกร่างและลงนามโดยภาคีทั้งสองฝ่าย ซึ่งถือเป็นการยุติกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการ เมื่อข้อตกลงทั้งหมดได้รับการดำเนินการไปแล้วอย่างเต็มที่
13. เวทีการเจรจาของภาคีทั้งสองควรดำเนินต่อเนื่องไปจนกว่าประเด็นปัญหาทั้งหมดได้รับการแก้ไขและข้อตกลงทั้งหมดได้รับการนำไปปฏิบัติ
VIII. การกลับสู่ภาวะปกติ
1. ภาคีแห่งข้อตกลงเห็นพ้องกันว่าการกลับสู่สภาวะปกติมีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการสันติภาพ ด้วยการผ่านการกลับสู่สภาวะปกตินี่เองที่จะทำให้ชุมชนสามารถกลับสู่เงื่อนไขที่พวกเขาจะสามารถบรรลุถึงคุณภาพชีวิตที่ปรารถนาได้ ซึ่งรวมไปถึงการแสวงหาวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและการมีส่วนร่วมทางการเมืองภายในสังคมที่สงบสุข
2. จุดมุ่งหมายของการกลับสู่สภาวะปกติคือเพื่อสร้างความมั่นใจในความมั่นคงของมนุษย์ในบังซาโมโร การทำให้เป็นปกติช่วยสร้างสังคมที่ปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งทำให้ปัจเจกบุคคลปลอดพ้นจากความรุนแรงหรืออาชญากรรม และธรรมเนียมประเพณีและคุณค่าที่ยึดถือกันมายาวนานยังคงได้รับการให้เกียรติต่อไป ความไม่มั่นคงของมนุษย์เอื้อให้เกิดประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ความไม่เป็นธรรมทางสังคมและการเมือง และการละเว้นโทษเมื่อกระทำความผิด
3. โดยสาระของหลักการแล้ว เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่โครงสร้างและการจัดการในกิจการดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชนเช่นงานตำรวจจะต้องเป็นมืออาชีพและเป็นอิสระจากการควบคุมของพรรคการเมือง ระบบตำรวจจักต้องมีความเป็นพลเรือน เพื่อที่จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นธรรม และเป็นกลาง ตลอดจนมีความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายที่รองรับการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งยังมีความรับผิดชอบต่อทั้งรัฐบาลกลาง หน่วยการปกครองบังซาโมโร และชุมชน
4. คณะกรรมการอิสระจักได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยภาคีแห่งข้อตกลงเพื่อแนะนำงานกิจการตำรวจที่เหมาะสมภายในพื้นที่ คณะกรรมการจักประกอบด้วยผู้แทนจากแต่ละฝ่าย และอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นคนท้องถิ่นและนานาชาติเพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการในการทำงาน
5. MILF จักดำเนินการโครงการที่เป็นขั้นเป็นตอนสำหรับการถอนประจำการกำลังรบ เพื่อที่พวกเขาจะได้วางอาวุธ
6. การปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดจักได้รับการถ่ายโอนจากกองกำลังทหารแห่งฟิลิปปินส์ (Armed Forces of the Philippines – AFP) มายังกองกำลังตำรวจของบังซาโมโรอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ภาคีแห่งข้อตกลงเห็นพ้องที่จะดำเนินการเจรจาต่อไปในเรื่องของรูปแบบ หน้าที่ และความสัมพันธ์ของกองกำลังตำรวจของบังซาโมโร โดยคำนึงถึงผลของกระบวนการทบทวนอย่างเป็นอิสระดังที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ 4
7. คณะกรรมการประสานงานร่วมในการยุติการเป็นศัตรู (The Joint Coordinating Committees on Cessation of Hostilities - JCCCH) ตลอดจนกลุ่มปฏิบัติการร่วมเฉพาะกิจร่วม (Ad hoc Joint Action Group - AHJAG) ร่วมทั้งการมีส่วนร่วมของทีมติดตามนานาชาติ (International Monitoring Team - IMT) จักดำเนินการติดตามตรวจสอบข้อตกลงหยุดยิงจนกระทั่งมีการถอนการปฏิบัติการของกองกำลัง MILFกลไกการประสานงานที่มีอยู่เหล่านี้จักเป็นฐานสำหรับการสถาปนาคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการกลับสู่สภาวะปกติ (Joint Normalization Committee - JNC) เพื่อให้เชื่อมั่นว่าการประสานงานระหว่างรัฐบาลและกองกำลัง MILF ที่เหลืออยู่ และ MILF จะสามารถช่วยเหลือในการรักษาสันติภาพและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของบังซาโมโร จนกระทั่งการถอนกองกำลังจะเสร็จสมบูรณ์
8. ภาคีทั้งสองได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนเพื่อลดและควบคุมอาวุธปืนในพื้นที่และยุบกองทัพส่วนตัวและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ
9. รายละเอียดของกระบวนการกลับสู่ภาวะปกติและตารางเวลาสำหรับการถอนปฏิบัติการ จะอยู่ในภาคผนวกของการกลับสู่สภาวะปกติและเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้
10. ภาคีแห่งข้อตกลงเห็นพ้องกันที่จะขยายความพยายามในการพัฒนาเพื่อการฟื้นฟู การก่อสร้างใหม่ การพัฒนาของชาวบังซาโมโร และโครงการต่างๆ ในเชิงสถาบันเพื่อหยิบยกประเด็นความต้องการของกลุ่มติดอาวุธ MILF ประชาชนที่ผลัดถิ่นภายในประเทศ และชุมชนที่ยากจนข้นแค้น
11. ภาคีแห่งข้อตกลงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะดึงดูดการสนับสนุน การช่วยเหลือ และการให้ข้อผูกมัดต่อกระบวนการกลับสู่ภาวะปกติจากบรรดาประเทศผู้ให้ทุน เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์นี้ กองทุนแห่งความเชื่อมั่นไว้วางใจ (Trust Fund) จักได้รับการจัดตั้งขึ้นผ่านการสนับสนุนเร่งด่วน งบดำเนินการ และงบลงทุนที่จะใช้จ่ายไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบ ภาคีแห่งข้อตกลงเห็นพ้องที่จะปรับใช้หลักเกณฑ์เพื่อการจัดทำแผนการเงินที่เหมาะสมให้สะท้อนต่อโครงการต่างๆ เช่น การเรียงลำดับความสำคัญของพื้นที่ซึ่งต้องได้รับการเสริมสร้างศักยภาพ การสร้างความเข้มแข็งในเชิงสถาบัน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อหยิบยกความไม่สมดุลในการพัฒนาและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมในทางเศรษฐกิจเพื่อให้กลับสู่ชีวิตปกติ ซึ่งมีผลต่อนักต่อสู้ติดอาวุธและนักต่อสู้ที่ไม่ติดอาวุธของ MILF ชนพื้นเมือง ผู้หญิงเด็ก และประชาชนผลัดถิ่นภายในประเทศ
12. ภาคีแห่งข้อตกลงเห็นพ้องที่จะทำงานในแผนงานความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อหยิบยกความขัดข้องหมองใจที่ชอบธรรมของประชาชนชาวบังซาโมโร ชำระความไม่เป็นธรรมในประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง และหยิบยกประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
XI. เบ็ดเตล็ด
1. ข้อตกลงนี้จักไม่ดำเนินการโดยฝ่ายเดียว
2. ภาคีแห่งข้อตกลงยอมรับที่จะทำงานต่อไปเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงกรอบข้อตกลง ในบริบทของเอกสารนี้และทำให้ข้อตกลงนี้สมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้
ข้อตกลงนี้ได้ยกร่างจนแล้วเสร็จในวันที่ 12 ตุลาคม 2555 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียและมีการลงนามในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ในวันที่ 15 ตุลาคม 2555
ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์
|
ผู้แทนฝ่าย MILF
|
นายมาวิค เอ็ม. วี. เอฟ. ลีโอเนน
ประธานเวทีเจรจาฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์
|
นายโมฮาเกอร์ อิคบาล
ประธานเวทีเจรจาฝ่าย MILF
|
|
|
พยาน
เติงกู ดาโต๊ะ อับดุล ฆัฟฟาร์ บิน เติงกู มูฮัมหมัด
ผู้อำนวยกระบวนการชาวมาเลเซีย
|
|
|
|
ภายใต้การปรากฏตัวของ
|
|
|
|
เบนินโย ไซมอน อะควิโน ที่ 3
ประธานาธิปดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
|
ดาโต๊ะ ศรี มูฮัมหมัดนาจิบ บิน ตวน ฮัจญี อับดุลรอซัค
นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย
|
|
|
และ
|
|
|
|
อัล ฮัจ มูรอด เอ็บราเฮ็ม
ประธานของแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร
|