Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

           เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีสัมมนาวิชาการหัวข้อ “การเมืองต้องนำการทหาร : ทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้สู่ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวทางความคิดสำคัญในพื้นที่สาธารณะถกเถียงถึงแนวทางการคลี่คลายความขัดแย้งที่ชายแดนภาคใต้อันควรจะเป็น

           ข้อเสนอตั้งต้นในวงสัมมนาครั้งนี้มาจากรายงานของนักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสันติสุข” รุ่นที่ 1 ก่อนที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้วิจารณ์หลักได้นำเสนอความเห็น กองบรรณาธิการดีพเซ้าท์เห็นว่ารายละเอียดปลีกย่อยที่ร้อยรัดข้อถกเถียงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีแง่มุมน่าสนใจยิ่ง

การเมืองนำการทหาร
นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน
บรรณาธิการดีพเซ้าท์ บุกกาซีน

 

           งานการเมืองนำการทหารต้องตอบโจทย์เรื่องอัตลักษณ์ เชื้อชาติประวัติศาสตร์มลายู และศาสนาอิสลาม ถ้างานการเมืองไม่อาจตอบโจทย์ซึ่งเป็นปัญหาใจกลางเหล่านี้ก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ รัฐต้องส่งเสริมอัตลักษณ์มลายูให้เป็นรูปธรรมจริงๆ ไม่ใช่แค่ปากว่าตาขยิบ ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ผมอยู่ในพื้นที่มา ยังไม่เคยเห็นอุทยานทางประวัติศาสตร์เลย นอกจากนี้ เราต้องสนับสนุนคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับชาติให้มีพื้นที่ทางการเมืองด้วย ซึ่งงานการเมืองนี้ต้องเชื่อมั่นในพลังประชาชนและต้องทำอย่างต่อเนื่อง

           เรากำลังต่อสู้กับกองกำลังที่มีการจัดตั้งที่ดีและแน่นหนา สามารถสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน ดังนั้น รัฐจะมาทำงานแบบเดิมๆนั้นไม่ได้ ในส่วนของทหารนั้น จะต้องทำงานทางความคิดให้มาก ถ้างานความคิดเราไม่ชนะ งานอื่นมันจะไม่ตาม งานความคิดสำหรับผมเป็นงานทางทฤษฎี ส่วนงานยกระดับความรู้สึกเชิงบวกของประชาชนเป็นงานทางปฏิบัติ ทั้งสองอย่างนี้ต้องทำ กองทัพควรตั้งสำนักทฤษฎีได้แล้ว จะเอาแต่ทฤษฎี 66/23 อย่างเดียวไม่พอแล้ว และจะใช้เสนาธิการทหารอย่างเดียวก็ไม่พอ จะต้องใช้นักรัฐศาสตร์และนักการศาสนามาช่วยด้วย ยกตัวอย่าง ที่เกิดเหตุ หากเจอเอกสารภาษามลายู กว่าจะแปลได้ใช้เวลาสองเดือน เจ๊ง ถ้าเป็นอย่างนี้

           ปัจจุบันงานการเมืองของฝ่ายรัฐในภาคใต้ยังสะเปะสะปะ ยังไม่เห็นชัดเป็นรูปธรรม การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้นเกิดจากการใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการจับผู้กระทำผิดเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากความร่วมมือของมวลชนจริงๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่างานการเมืองไม่ได้ถึงมวลชนเท่าไหร่ เป็นการทำงานการเมืองในเมืองและในโรงแรม มากกว่าในชุมชนและในพื้นที่

           วิธีการแก้ปัญหาคือจะต้องทำให้ประชาชนเห็นภาพอนาคต ในอดีตสมัยคอมมิวนิสต์เมื่อเราหลับตา เราจะเห็นภาพนโยบาย 66/23 แต่ตอนนี้ ประชาชนยังไม่เห็นภาพอนาคตของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

           เวลาเราพูดถึงเรื่องการพูดคุยซึ่งเป็นงานการเมืองอย่างหนึ่งนั้น ผมอยากให้เราเปิดใจให้กว้าง บางคนบอกว่าคุยไม่ได้เพราะจะเป็นการยกระดับไปต่างประเทศ สำหรับผม ถึงเราไม่พูดคุย ต่างประเทศก็สนใจอยู่แล้ว ที่ปัตตานีตอนนี้ก็คล้ายสหประชาชาติน้อยๆ อยู่แล้ว อันนี้เราต้องคิดใหม่ และหากเราไม่พูดคุยกับคนที่เห็นต่างจากรัฐ เราจะเอาทฤษฎีที่ไหนมาต่อสู้ทางความคิด มานั่งคุยกับพวกเรากันเองคงไม่ได้ การคุยนี้ไม่ใช่การเจรจา แต่เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ ทำไมเขาจึงใช้ความรุนแรง ถ้าเราไม่คุย เราจะใช้เวลาอีกกี่ปี งบประมาณอีกเท่าไหร่

           สุดท้ายที่อยากจะฝากงานการเมืองอีกประการคือ เราจะทำอย่างไรให้คนอีกกว่า 70 จังหวัดเข้าใจคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ งานนี้มีคนทำน้อยมาก แต่มีคนขยายความรู้สึกเกลียดชังโดยไม่ตั้งใจนั้นมีมาก ทั้งในเว็บหรือในสื่อต่างๆ ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดวิกฤติทางความรู้สึกระหว่างคนสองวัฒนธรรม

           ที่เรามานั่งคุยวันนี้ เราไม่ได้มีเจตนาอื่นเลย เจตนาหลักคือทำอย่างไรให้ข้อเสนอต่างๆนี้ ซึ่งทุกท่านอาจจะมาช่วยกันปรับแล้วนำไปร่วมกันทำ ทำให้เกิดประโยชน์เพื่อชาติ เพื่อคนในสามจังหวัด เพื่อคนทั้งประเทศ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้เลย นอกจากความตั้งใจจริงๆ

 

การพูดคุยสันติภาพ – Peace Talk
รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

           ข้อเสนอเรื่องการพูดคุยสันติภาพนั้นมีที่มา มีแรงบันดาลใจสองสามประการ เมื่อครั้งคณะนักศึกษาได้ไปดูงานที่ไอร์แลนด์เหนือ ก็ได้รับฟังบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เราต้องคิดเหมือนกันว่าหัวใจสำคัญของการแก้ไขความขัดแย้งที่เกี่ยวโยงกับอัตลักษณ์คือการพูดคุยกับคนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ

           การแก้ปัญหาที่ผ่านมาของเราปรากฏว่าเราต่างคนต่างทำ ฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการยังไม่ได้เดินไปด้วยกัน ต่างคนต่างใช้วิธีการของตนเอง อย่างที่อาจารย์มารค ตามไทถามว่าเราพร้อมหรือยังที่จะมีกระบวนการสันติภาพที่ไม่ใช่การแก้ปัญหารายวันหรือเป็นโครงการไป เราอาจจะต้องการภาพที่ใหญ่กว่านั้นคือกระบวนการสันติภาพ อันหมายความว่าการก้าวเดินไปด้วยกันระหว่างคู่ขัดแย้ง ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการแสวงหาทางออก

           การพูดคุยสันติภาพก็เป็นขั้นตอนเล็กๆ ที่สำคัญมากที่จะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน ทำให้รู้จักกันและกันว่าเป็นอย่างไร หากปฏิเสธที่จะพูดคุยกัน ก็จะมีคำถามว่าทำไมเราจึงเลือกเดินหาทางออกตามลำพัง ทั้งๆที่มันอาจจะไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงและยั่งยืนได้

           นอกจากนั้นคณะของเรายังได้ฟังการบรรยายของคนที่ทำงานด้านแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มินดาเนา คำถามที่เกิดจากการสัมมนาก็คือว่า ทำไมผู้นำกลุ่มขบวนการของมินดาเนาจึงสามารถแสดงตนเปิดเผยและบอกกับรัฐได้ว่าปัญหาของเขาคืออะไร โดยไม่ถูกจับกุม ดิฉันก็เชื่อว่ากลุ่มขบวนการในภาคใต้ก็ตั้งคำถามนี้เช่นเดียวกันว่าทำไมการที่เขาคิดต่าง ถึงไม่สามารถสื่อสารความต้องการและความทุกข์ของเขาได้ จุดนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่างานสำคัญงานหนึ่งที่ขาดหายไปคือการพูดคุยกับฝ่ายตรงข้าม

           คำถามอีกข้อคือแล้วเราจะไปคุยกับใคร นักวิชาการต่างประเทศบอกว่าเรากำลังสู้กับผี ดิฉันคิดว่าเราอาจจะยังไม่ต้องเข้าถึงตัวขบวนการ ถ้าเรากำลังสู้กับผี เราก็ต้องหาร่างทรง ซึ่งร่างทรงมีมากเลย ก็คือคนที่เข้าใจและอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมและความรู้สึกที่จะแสดงออกซึ่งความเป็นมลายูมุสลิมได้เต็มที่ อันนี้คิดว่าสามารถที่จะเกิดขึ้นได้

           การที่จะเริ่มพูดคุยกันนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องค้นหากลุ่มขบวนการให้ได้ทันทีทันใด แต่หมายความว่าเราจะต้องขยายวิธีการ ขยายการสื่อสารออกไป และเปิดให้เกิดบรรยากาศที่คนกล้าจะออกมาพูดคุยและแสดงตน ปัญหาเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ใช่ว่านั่งๆ คุยกันอยู่แล้ววันรุ่งขึ้นหายไปแล้ว ถูกจับไปแล้ว

           พอทำงานแก้ปัญหามาถึงขั้นนี้กว่า 5 ปีแล้ว เราถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องใช้วิธีการอื่นเพิ่มเติม กระบวนการสันติภาพในอาเจะห์ใช้เวลา 5-6 ปี กว่าจะหาข้อตกลงกันได้ ถือว่าเร็วมาก ของไอร์แลนด์เหนือนี่ 13-14 ปี ถ้าประเทศไทยเราไม่เริ่มต้นกระบวนการสันติภาพตั้งแต่วันนี้ อีก 20 ปีก็ไม่พอ หรือว่าจะรอให้เหมือนกับศรีลังกา คือตายไปเจ็ดหมื่น และจะใช้งบประมาณไปอีกกี่แสนล้าน ดังนั้น ดิฉันเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีกระบวนการสันติภาพ และฝ่ายกลุ่มขบวนการเองก็ไม่มีอนาคตหากใช้ความรุนแรง

           การพูดคุยภายในฝ่ายเดียวกัน ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เรามักจะตั้งคำถามว่าฝ่ายขบวนการมีเอกภาพมากน้อยเพียงใด แต่คำถามนี้อาจจะไม่สำคัญเท่ากับฝ่ายรัฐเองมีเอกภาพเพียงใด

           หากเปิดให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจความทุกข์ของกันและกัน ไม่เฉพาะของกลุ่มขบวนการ แต่ของภาครัฐและของทหารด้วย ก็อาจจะทำให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนจุดยืนได้ ในกรณีของไอร์แลนด์เหนือนั้น กระบวนการสร้างสันติภาพส่วนหนึ่งก็เริ่มมาจากจุดเล็กๆ ในคุก โดยเป็นการพูดคุยกันระหว่างนักโทษจากแต่ละฝ่าย ทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำให้เข้าใจกันได้ก็คือต้องสื่อสาร และการพูดคุยสันติภาพนี้ก็เป็นขั้นตอนเล็กๆที่สำคัญ