Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

           นอกจากประเด็นการเมืองนำการทหารและประเด็น Peace Talk แล้ว วงสัมมนา “การเมืองต้องนำการทหาร : ทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้สู่ความยั่งยืน” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ยังเริ่มต้นด้วยการนำเสนออีก 3 ประเด็นหลักเพื่อเป็นตัวตั้งในการพูดคุย แม้ว่าหลายข้อเสนอในที่นี้จะฟังดูคุ้นหู ทว่าการผลักดันในพื้นที่ใหม่และบริบทที่เปลี่ยนไปจากเดิมเช่นนี้ก็น่าจับตาไม่น้อย

 

เครือข่ายสันติภาพ
รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด
อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)

 

           ในขณะที่ดิฉันนั่งอยู่บนเวทีนี้ มองลงไปจะเห็นท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มาจากหลากหลายภูมิภาคและหลากหลายอาชีพ การแต่งกายก็แตกต่างกันไป คงจะสะท้อนได้อย่างหนึ่งว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างจินตนาการความเป็นไทยอันใหม่ขึ้นมาตามที่ท่านหมอประเวศได้กล่าวไป

           คำถามแรกที่ดิฉันตั้งไว้คือ 300-400 คนในที่นี้ ท่านมาด้วยหัวใจ ท่านมาด้วยความปรารถนาอะไรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำตอบคือท่านต้องการเห็นสันติภาพ สันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของเรา แล้วจะใช้วิธีการอะไรที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น ซึ่งคำตอบก็คือสันติวิธี แล้วทำไมนักศึกษารุ่นนี้จึงใช้สันติวิธีมาเป็นกรอบการแก้ไขปัญหาของเรา ก็เนื่องจากสันติวิธีเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ไปทับซ้อนปัญหาเก่าจนแก้ไม่จบเสียที แต่สันติวิธีสามารถไปปลดล็อกปัญหาต่างๆ และสามารถสร้างความเป็นธรรมในพื้นที่ขึ้นได้

           ในส่วนของเครือข่ายสันติภาพ (PeaceNet) เราจะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคการเมือง และภาคประชาสังคมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ซึ่งการร่วมกันในที่นี้จะต้องเป็นการร่วมกันในแนวราบ คือทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แนวดิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือและความคิดทิศทางการแก้ไขปัญหาไม่ใช่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำและเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

           แม้ในพื้นที่จะมีเครือข่ายอยู่บ้างแล้ว แต่ก็อาจจะเป็นการเฉพาะกลุ่มและเฉพาะกิจ และอาจจะไม่ได้เป็นที่รับรู้มากนัก แต่หากภาคส่วนต่างๆ มารวมตัวกันก็จะทำให้การขับเคลื่อนมีพลังมากขึ้น

           อย่างน้อยที่สุด ทั้งสามองค์กรร่วมจัดงานในวันนี้คือสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ก็พร้อมที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการเพื่อนำร่องในการสร้างเครือข่าย

           กิจกรรมบางส่วนที่อาจจะดำเนินการโดย PeaceNet คือ การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อถอดบทเรียนประสบการณ์การใช้สันติวิธีร่วมกัน การจัดทำฐานข้อมูลองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆที่ทำงานในพื้นที่ว่ามีใครบ้าง ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หรือเปิดเวทีถอดบทเรียนกรณีการสร้างสันติภาพในต่างประเทศ

           ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ เชื่อว่าแต่ละคนมาด้วยจิตปรารถนาที่จะเห็นสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นดิฉันเชื่อมั่นว่าทุกท่านในที่นี้ก็พร้อมที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในประเทศเรา

 

การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม
นางอังคณา นีละไพจิตร
ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

 

           อยากจะขอพูดในฐานะคนนอกที่ได้มีโอกาสรับรู้ เรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ และในฐานะของคนเล็กๆ และเชื่อมั่นในการทำงานของคนเล็กๆ ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

           ที่ผ่านมาเราพยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยการปราบปราม จับกุมคุมตัว ซึ่งสุดท้ายก็กลับกลายมาเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีก ในขณะเดียวกันเราไม่เคยมานั่งคุยว่าเราขัดแย้งกันเรื่องอะไรถึงต้องมาไล่ตีกันแบบนี้ ตราบใดที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการใช้อำนาจตามอำเภอใจยังมีอยู่ก็คงยากที่จะแก้ความคับข้องหมองใจของคนในพื้นที่ ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ก็ตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวจนเกิดเป็นความระแวงและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจใคร

           การเมืองนำการทหาร ไม่ใช่การเมืองในระบบที่ต้องพึ่งพิงตัวแทนหรือนักการเมืองอย่างเดียว แต่การเมืองนำการทหารที่จะแก้ไขความขัดแย้งได้คือการเมืองภาคพลเมือง เป็นการเมืองที่ประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีสิทธิมีเสียงอย่างแท้จริง เป็นการเมืองของการมีส่วนร่วม เป็นการเมืองที่ประชาชนสามารถออกมาขับเคลื่อนและตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ซึ่งการขาดการมีส่วนร่วมนี้เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ในทุกภาคของประเทศไทย

           การเมืองภาคพลเมืองไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เพราะประชาชนขาดโอกาสในการสร้างความเข้มแข็ง การเมืองนำการทหารในความคิดของภาครัฐ คือการส่งทหารเข้าไปทำงานพัฒนา และพยายามแนะนำว่าประชาชนควรทำอะไร ไม่ใช่ให้ประชาชนคิดได้เอง ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงอาจจะคิดว่าถ้าทำให้ประชาชนเข้มแข็ง นั่นหมายถึงโจรก็จะเข้มแข็งด้วย

           การประชุมที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 เมื่อเดือนที่แล้วมีข้อสรุปหนึ่งว่าหน่วยงานความมั่นคงที่ลงไปในพื้นที่ไม่ควรแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่นั้นเสนอโครงการเพื่อของบประมาณได้เอง หากคนระดับสูงมีทัศนคติเช่นนี้ มองว่าประชาชนยังไม่สามารถทำอะไรได้เอง ก็คงจะยากที่จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้มแข็งได้จริง

           ทุกวันนี้ ทำไมเขตปกครองพิเศษในมินดาเนายังไม่สำเร็จ ก็เนื่องจากเขตดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนคนสามัญอย่างเท่าเทียมกัน

           ปัญหาความไม่เป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาฐานรากสำคัญที่มีผลต่อการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม หากสังคมยังมีความไม่เป็นธรรมอยู่ ประชาชนก็ยากที่จะมีความเข้มแข็งได้

           ชัยชนะในสงครามประชาชนไม่ได้วัดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีแดงเป็นสีเขียว หากแต่วัดด้วยการแย่งชิงพื้นที่ในจิตใจของมวลชนให้มาเป็นฝ่ายของรัฐ ด้วยนโยบายการเมืองที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

           ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ไม่เคยพูดถึงในแง่ของการใช้การเมืองนำการทหารเลยก็คือความยุติธรรม กรณีมัสยิดไอปาแย ชาวบ้านเขาไม่เชื่อหรอกว่าสุดท้ายจะนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ วันนี้สิ่งที่ทุกคนรออยู่คือใครจะรับผิดชอบ และรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน เมื่อพูดถึงการเมืองนำการทหาร เราต้องสร้างนิติรัฐให้เกิดขึ้นได้จริงโดยรัฐและหน่วยงานความมั่นคงต้องไม่ยอมให้ใครหน้าไหนอยู่เหนือกฎหมาย

           ทุกวันนี้รัฐแก้ปัญหาโดยการให้เงินเยียวยา ให้เงินเพื่อซื้อใจ แต่ไม่ว่าจะใช้เงินกี่แสนล้านก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะซื้อความน้อยเนื้อต่ำใจที่มีอยู่ในวันนี้ได้ ฉะนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนภายใต้การเมืองนำการทหาร คือ ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง สันติภาพที่เกิดขึ้นในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นไอร์แลนด์เหนือหรืออาเจะห์นั้นก็เกิดจากคนสามัญนี่เองที่ลุกขึ้นมาบอกกับสังคมว่าเขาไม่ต้องการความรุนแรง

           ในการแก้ไขความขัดแย้งที่รุนแรงในอาร์เจนตินานั้น ก็เริ่มต้นจากกลุ่มผู้หญิง 5-6 คนเท่านั้นที่ไปยืนชุมนุมประท้วง ตอนแรกผู้หญิงกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าผู้หญิงบ้า แต่สุดท้ายก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญและคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้

           หากจะสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน รัฐจะต้องไว้ใจประชาชน ต้องไม่หวาดระแวง ต้องมั่นใจในภูมิปัญญาของสามัญชนคนรากหญ้า ต้องมั่นใจว่าคนสามัญชนทุกคนก็รักชาติ รักแผ่นดิน รักความเป็นธรรม และต้องการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากผู้กุมอำนาจที่ไหน

           ดิฉันเชื่อว่าด้วยสันติวิธีบนพื้นฐานของความอดทนอดกลั้น บนพื้นฐานของการที่จะต้องทนกันได้บนความแตกต่างหลากหลาย การมีสติและปัญญาในการแก้ปัญหา รวมทั้งการฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความยุติธรรมบนพื้นฐานของความเท่าเทียม จะทำให้เราได้สังคมที่งดงาม เป็นธรรม มีส่วนร่วม สงบสุข และปราศจากความรุนแรงในที่สุด

การสื่อสารสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม
นางสาวปองจิต สรรพคุณ
ผู้อำนวยการฝ่ายละครชุมชน มูลนิธิสื่อชาวบ้าน

 

           ในเชิงยุทธศาสตร์ กระบวนการสื่อสารมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคม ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก จะแก้ไขสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการสื่อสารกับสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ว่าสภาพปัญหาเกิดจากอะไร มีรากเหง้าของปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งควรจะให้เข้าใจตรงกัน ตลอดจนสร้างกระบวนทัศน์ของสังคมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย

           แนวทางในการสื่อสารสังคมครั้งนี้มี 4 ประการ

           1) เรื่องของคนทำงาน - ควรมีคณะทำงานเพื่อออกแบบกลยุทธ์ในการสื่อสารสังคม วางแผนและนำข้อมูลต่างๆไปขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งคณะทำงานน่าจะประกอบด้วยสองส่วน คือส่วนแรกเป็นกลุ่มแกนหลักที่มีภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่มีแรงผลักอยากจะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องมีกำลังกายและแรงใจ มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่นอกจากกลุ่มแกนหลักแล้ว จะต้องประกอบไปด้วยกลุ่มพันธมิตร ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและนำกิจกรรมต่างๆไปดำเนินการในพื้นที่ กลุ่มนี้อาจจะเป็นนักเชื่อม เป็นข้อต่อในชุมชน ร้อยกับผู้คนในชุมชนต่างๆเพื่อนำกิจกรรมไปขับเคลื่อน เป็นนักวิชาการหรือปราชญ์ชาวบ้านเพื่อนำเสนอข้อมูลควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรม อีกส่วนหนึ่งคือเป็นนักขาย หรือสื่อมวลชน เพื่อตีฆ้องร้องป่าวประชาสัมพันธ์ว่าเกิดอะไรขึ้น

           2) เรื่องของสาร – คืออยากให้คนในอีกกว่า 70 จังหวัดได้รับรู้อะไร เปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร สารนั้นต้องมีความชัดเจน และโดนใจกลุ่มต่างๆ โดยอาจจะเริ่มต้นจากเนื้อหาสาระที่เป็นเชิงบวก เช่น เรื่องของประวัติศาสตร์ที่งดงามในท้องถิ่น หรือความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในท้องถิ่น แทนที่จะไปเริ่มต้นจากความเจ็บปวดหรือความรู้สึกเชิงลบต่างๆ เพื่อเป็นแรงใจให้คนเราสามารถก้าวข้ามความทุกข์ไปได้

           3) เรื่องของรูปแบบและช่องทางสื่อสาร – ใช้สื่อเชิงความรู้สึก (Pop Art/ Culture) เพื่อสร้างอารมณ์ร่วม ซึ่งเป็นสื่อที่ดูง่าย เข้าใจง่าย และเป็นรูปธรรม สามารถกระแทกความรู้สึกของคน อันจะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อทะลวงให้ผู้คนในสังคมใหญ่หันมาสนใจปัญหาก่อนที่จะเข้าไปสู่เนื้อหาที่ลึกซึ้งมากขึ้น โดยการจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของผู้คนได้ จะต้องมีการใช้สื่อผสมผสานเยอะมาก ทั้งสื่อแนวดิ่งและแนวราบ แนวดิ่งคือสื่อกระแสหลัก ซึ่งจะได้จำนวนปริมาณของคนรับมาก ส่วนแนวราบนั้น จะได้ปริมาณคนน้อยกว่า แต่ข้อดีคือเป็นการสื่อสารสองทางที่มีข้อมูลป้อนกลับ ช่วยให้เกิดพัฒนาการ

           4) เรื่องของกลุ่มเป้าหมาย – อาจจะมีการเปิดเวทีเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาคต่างๆกับกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น กลุ่มเยาวชน หรือปราชญ์ชาวบ้านจากภาคต่างๆ เมื่อภูเขาไม่เคลื่อนมาหาเรา เราก็ต้องเคลื่อนไปหาภูเขาเอง