หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ ‘รอมฎอน ปันจอร์’ ผู้ปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกที่เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2556 ในชื่อเดิม “ก่อนถึง 'เจรจาสันติภาพ' เส้นทางสานเสวนายังยาวไกล ในมุมคิด 'รอมฎอน ปันจอร์'” แม้ว่าจะเป็นการเก็บคำสัมภาษณ์ในวันเวลาก่อนจะมีการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนทางการไทยและตัวแทนขบวนการปลดปล่อยปาตานีในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา แต่กองบรรณาธิการเห็นว่าเนื้อหาในคำสัมภาษณ์นั้นไม่เพียงแต่พยายามทำความเข้าใจภาพรวมของกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เท่านั้น หากแต่ยังทำให้เห็นทิศทางที่ควรจะเป็นสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคตอีกด้วย จึงขอนำบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มมาเผยแพร่ พร้อมทั้งปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนเพื่อความสมบูรณ์มากขึ้น
ก่อนถึง 'เจรจาสันติภาพ'
เส้นทางสานเสวนายังยาวไกล
ในมุมคิด 'รอมฎอน ปันจอร์'
โดย นภาพร แจ่มทับทิม
ก้าวย่างที่สำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังเดินมาสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ชื่อว่า B.R.N. Coordinate
เส้นทางการสู้รบที่ดำเนินต่อเนื่องมานับ 10 ปี ก่อนที่ปัญหาความรุนแรงจะถูกหยิบยกสู่การตั้งโต๊ะเจรจาที่ประเทศมาเลเซียในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ความรุนแรงไปสู่กระบวนการพูดคุยเจรจาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม การพูดคุยครั้งนี้คงไม่อาจยุติความรุนแรงในพื้นที่ได้ชั่วข้ามคืน เพราะความแตกแยก ความไม่ไว้วางใจได้ร้าวลึกในความรู้สึกของผู้คน แต่กระบวนการสร้างสันติภาพที่มีความต่อเนื่อง บนพื้นฐานการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน จะนำมาสู่ขั้นตอนการเจรจาต่อรอง เพื่อการหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ในอนาคต เป็นมุมมอง รอมฎอน ปันจอร์ ผู้ปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เน้นย้ำถึงการความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่
ในระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch - DSW) เป็นองค์กรประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีภารกิจสำคัญ คือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ความขัดแย้งและความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ โดยใช้ข้อมูลและการคิดค้นหาเหตุผลเพื่ออธิบายปรากฏการณ์จากมิติต่างๆ อีกด้านหนึ่ง คือการทำหน้าที่สื่อสารข้อเท็จจริงจากพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งไปในทิศทางที่นำไปสู่สันติภาพและความยุติธรรม บนพื้นฐานจากองค์ความรู้และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
บทบาทของสื่อสารมวลชนที่ทำงานคู่ขนานกับฐานทางวิชาการ เขาได้เชื่อมโยงสถานการณ์จากในพื้นที่และส่วนกลาง โดยมองว่า การผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับชายแดนใต้จำนวนมากในระยะหลายปีมานี้ ถือว่าไม่สูญเปล่า เพราะความรู้ได้ทำหน้าที่ฉายให้เห็นถึงโอกาส ความหวังต่อสถานการณ์ และนำไปสู่ทางเลือกให้ผู้คนในสังคม ที่เห็นได้ชัดคือ สังคมไทยเข้าใจรูปแบบเขตปกครองที่สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพราะหากพูดถึงเขตปกครองพิเศษเมื่อ 5 ปีก่อน ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะคนเข้าใจว่าคือการแบ่งแยกดินแดน
ต่อจากนี้ สังคมไทยยังคงต้องเผชิญกับข้อท้าทายต่างๆ ในกระบวนการสร้างสันติภาพที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานการยอมรับจากทุกภาคส่วน และคนในสังคมที่ช่วยกันประคับประคอง ไม่ให้สะดุดลงไปในเส้นทางสันติภาพที่กำลังทอดยาวอยู่นี้
0 มองกระบวนการเจรจาสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างไรบ้าง
กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่ใช่กระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ แต่คือกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (peace dialogue) อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แปลคำนี้ว่า ‘สันติสนทนา’ อาจารย์ปาริชาด สุวรรณบุบผา จากมหาวิทยาลัยมหิดล ใช้คำว่า ‘สานเสวนา’ ซึ่งก็คือการพูดคุย แลกเปลี่ยนระหว่างกัน กระบวนการพูดคุย (dialogue) กับการเจรจาต่อรอง (negotiation) นั้นมีความแตกต่างกัน เพราะเป้าหมายของ dialogue คือความพยายามที่จะแลกเปลี่ยนและเข้าใจคู่สนทนาว่ามีความคิด ความเชื่อและความต้องการอะไร การพูดคุยแลกเปลี่ยนจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ นำไปสู่การทำงานร่วมกัน และนำไปสู่กระบวนการเจรจาต่อรองในอนาคต
ส่วนการเจรจาต่อรอง (negotiation) มีเป้าหมายคือการทำข้อตกลง (agreement) ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาและกระบวนการอีกยาวไกล ปัญหาสำคัญคือ คนในพื้นที่ สื่อมวลชนไทย หรือนักวิชาการบางคนเข้าใจกระบวนการเหล่านี้แตกต่างกัน เพราะสังคมไทยไม่เคยเผชิญหน้ากับการจัดการความขัดแย้งที่อาศัยระยะเวลาในการพูดคุยทำความเข้าใจในลักษณะนี้มาก่อน
สังคมไทยอาจจะคุ้นเคยกับการเจรจาต่อรองความขัดแย้งกับเรื่องเขตแดนกับกัมพูชา หรือแสวงหาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศจีน แต่ความขัดแย้งที่มีลักษณะการใช้ความรุนแรง โดยมีภูมิหลังจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ศาสนานั้นต้องอาศัยความพยายามในการหาพื้นที่พูดคุย กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ ที่มีนัยสำคัญมาก
เพราะก่อนหน้านี้ทุกคนรู้ว่ามีการพูดคุยเจรจา แต่บางครั้งก็อาจเป็นเพียงการหาข่าว แสวงหาเครือข่าย แต่ท้ายที่สุดไม่ได้มีความยั่งยืน เพราะไม่ได้ถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ถูกจับตามองจากสังคม แต่การพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้นบนโต๊ะที่มีรัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลเซีย เข้าทำหน้าที่ประสานและรองรับกระบวนการนี้
0 เหตุการณ์ในวันที่ 28 มีนาคม ยังไม่ใช่การเจรจาสันติภาพ เพราะอะไร
เพราะการพูดคุยกันครั้งนี้ ยังไม่ถึงขั้นที่จะยืนยันทำข้อตกลงกันอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการแสวงหาความเป็นไปได้ในการที่คุยกันต่อไปในอนาคต เนื้อหาในการพูดคุยอาจจะมีข้อตกลงกันเล็กน้อย
สำหรับรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นขบวนการปลดปล่อยปาตานี ต้องการเอกราช ด้านรัฐบาลไทยอาจจะมีความต้องการให้หยุดการเรียกร้องเอกราช ส่วนคนที่สนับสนุนรัฐบาลไทย อาจจะบอกว่าขบวนการเป็นกลุ่มคนที่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ส่วนขบวนการย่อมบอกว่า รัฐไทยไม่จริงใจ เป็นฝ่ายกระทำกับคนมลายูปาตานีมานาน มีประวัติศาสตร์ที่รุกรานปาตานี กระบวนการพูดคุยที่ดำเนินการอยู่นี้ยังมีความเปราะบางและพร้อมที่จะถูกทำลายอยู่มาก
0 เงื่อนไขที่จะไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพได้คืออะไร
เงื่อนไขของการพูดคุยจะเป็นการสร้างมาตรการการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของคู่สนทนา ที่สำคัญคือ 1.ผู้ที่จะเป็นตัวแทนในการเจรจามีความชอบธรรม หรือลักษณะการเป็นตัวแทนของคนที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐไทย ก็ต้องพิสูจน์ว่าเป็นคนที่ถืออำนาจรัฐมาด้วย เป็นคนที่สามารถสั่งกลไกผู้กำหนดนโยบายของรัฐได้ การสร้างมาตรการในการทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถพูดคุยกันต่อไปได้ โดยที่ไม่ลำบากใจมากนัก 2.กระบวนการต่างๆ ควรจะมีความคืบหน้าต่อไป และ 3.นำไปสู่การวางกติการ่วมกันว่าจะพูดคุย ต่อรองกันในอนาคต
กระบวนการเจรจาสันติภาพต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จากประสบการณ์ของหลายประเทศ มีระยะเวลาการดำเนินการโดยเฉลี่ยราว 5-6 ปี จนกว่าจะได้ข้อตกลง แต่ว่าการสร้างมาตรการความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในช่วงแรกนั้นสำคัญที่สุด และอาจจะต้องอาศัยระยะเวลานานกว่าขั้นตอนอื่นๆ เพราะเมื่อเข้าสู่การเจรจาแล้ว จะต้องอาศัยเจตนาจำนงทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย (Political will) ที่มีมวลชนให้การสนับสนุนในระดับหนึ่ง ซึ่งการพูดคุยเพื่อจะนำไปสู่ข้อตกลงได้น่าจะใช้เวลาไม่นานแล้ว
อีกส่วนหนึ่ง เรากำลังก้าวสู่ปีที่ 10 ของสถานการณ์ความรุนแรง รัฐไทยใช้ทรัพยากรเยอะมาก ใช้วิธีการหลากหลายมาก ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ขณะที่คนในพื้นที่บางส่วนที่ปรารถนาจะได้รับเอกราช การต่อสู้ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด จึงเป็นคำถามจากทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ความสูญเสียก็เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่ดำเนินมาตลอดเกือบ 10 ปี ได้เปิดช่องทางให้เกิดกระบวนการทางการเมือง การพูดคุยสันติภาพ ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้ภายในสองปีแรกของการใช้ความรุนแรง
0 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม สมช., ศอ.บต. ได้ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายภาคส่วนเพื่อร่วมสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพ เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไร
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ก็มีการจัดเวทีเสวนาโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำนักงานอธิการบดี มอ.ปัตตานี เวทีการแสดงความคิดเห็นทั้งสองเวทีได้ชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านสนใจเกี่ยวกับการพูดคุยเจรจามาก พวกเขาอยากรู้ว่าจะเข้าใจกระบวนการพูดคุยนี้อย่างไร และรู้สึกว่า หากตัวเองไม่แสดงออกทางการเมือง กระบวนการเหล่านี้จะถูกเทคโอเวอร์จากคนที่ไม่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นว่า กระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น เป็นสิ่งที่ทุกคนจับจ้อง พร้อมที่ตรวจสอบหรือให้การสนับสนุน
จะเห็นได้ว่า ทุกฝ่ายต่างอ้างว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่นี้เป็นไปโดยพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การรวมกลุ่มในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม จึงกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงทางการเมือง บทบาทที่สำคัญของภาคประชาสังคมคือ จะทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายคุยในประเด็นหรือทิศทางที่ชาวบ้านอยากจะให้เกิดขึ้นในอนาคต และไม่ใช่เพียงทั้งสองฝ่ายปิดห้องคุยกันเท่านั้น เมื่อสองฝ่ายตระหนักรู้ว่า มีคนที่จับจ้องอยู่ และต้องการการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น ‘Safety Net’ ที่แปลว่า ‘ตาข่ายนิรภัยของภาคประชาสังคมเพื่อรองรับกระบวนการสันติภาพ’ ดังนั้น การดึงข้อเรียกร้องจากข้างล่างขึ้นสู่เชิงนโยบาย จะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับไม่ให้กระบวนการพูดคุยนี้ล้มเหลวได้ง่าย
ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ความรุนแรงมันได้ทำให้คนเงียบ ไม่กล้าคิดหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน รัฐไทยตระหนักรู้ว่าขบวนการเป็นนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ เมื่อทิศทางนโยบายของ สมช.เปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องเกิดการสื่อสาร เพื่อกำหนดทิศทางกับอนาคตของปาตานี ทั้งหมดนี้กลายประเด็นสาธารณะที่จะถูกหยิบยกขึ้นถกเถียงพูดคุยกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นคุณูปการของการริเริ่มพูดคุยครั้งนี้ และเป็นการขยายพื้นที่การรับรู้จากข้างล่าง ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ หลายสำนักโพลล์ระบุว่าประชาชนเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนการเจรจาที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่เห็นได้ชัด
0 การสร้างความรุนแรงของขบวนการได้ทำให้เขาเสียฐานมวลชนไปหรือเปล่า
มวลชนในพื้นที่ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มีคนที่สนับสนุนทุกเงื่อนไขของการสร้างความรุนแรง เพราะว่าเขารู้สึกว่าการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทยลำบากมาก ดังนั้นการรณรงค์ให้ปลดปล่อยคนในพื้นที่ มันสมเหตุสมผลสำหรับพวกเขา เป้าหมายและวิธีการอาจจะพอรับได้ หรือบางส่วนรับได้กับเป้าหมาย แต่รับไม่ได้กับวิธีการ บางกลุ่มอาจจะเคลื่อนไหวด้วยวิธีการแบบอื่นที่เราได้เห็น แต่ทั้งหมดแล้ว เราไม่สามารถมองคนมลายูปาตานีในพื้นที่ เป็นหนึ่งเดียวกันได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าพวกเขาต้องการเอกราชด้วยวิธีการแบบนี้เสมอไป เพราะยังมีหลากหลายมาก เพราะฉะนั้น การขึ้นมาต่อรองในพื้นที่ทางการเมือง พวกเขาย่อมตระหนักรู้ว่า หากอยู่ในพื้นที่สว่าง มันง่ายที่จะถูกตรวจสอบ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือแรงสนับสนุนจากคนในพื้นที่ในการต่อรองกับรัฐไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการเกิดขึ้น ภาพที่แตกต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่ในพื้นที่ คือ ก่อนหน้านี้เห็นอาการเงียบของคน แต่ในทางกลับกัน มันก็ทำให้มวลชนฮึกเฮิมต่อการก่อความไม่สงบด้วยเช่นกัน แม้ไม่สามารถบอกว่าได้ว่ามีจำนวนมากแค่ไหน แต่การที่บีอาร์เอ็นเป็นองค์กรนำในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย บีอาร์เอ็นก็ต้องทำความเข้าใจกับมวลชนที่สนับสนุนพวกเขาด้วย เพราะอาจจะมีคนบางกลุ่มที่ไม่ยอม และรู้สึกว่า การพูดคุยกับรัฐไทยเป็นการยอมแพ้ เพราะการพูดคุยวางอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทย หรืออาจจะไปไกลที่สุดเพียงแค่รูปแบบการปกครองพิเศษ ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อหาในการพูดคุยกันในอนาคต หรือบางส่วนของคนในพื้นที่รู้สึกว่าการพูดคุยครั้งนี้เป็นการมัดมือชก
ข้อเท็จจริงในแง่กระบวนการ บางฝ่ายบอกว่า ตัวแทนของบีอาร์เอ็นขึ้นโต๊ะเจรจาได้ทำให้มวลชนบางส่วนเกิดความเคลือบแคลงสงสัย เสียงสะท้อนในพื้นที่ก็รู้สึกว่า กระบวนการเหล่านี้อาจจะไม่ยั่งยืนพอ เพราะเริ่มต้นจากการบังคับฝืนใจ โดยหลักการแล้ว กระบวนการพูดคุยควรจะเริ่มต้นจากการไว้เนื้อเชื่อใจ การสมัครใจ ซึ่งอาจจะต้องดูต่อไปว่า 28 มีนาคม หรือครั้งต่อไปจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป
0 มองบทบาทของคณะผู้แทนดำเนินการพูดคุยฝ่ายละ 15 คนอย่างไร
เมื่อเราอยู่ในขั้นตอนริเริ่มการพูดคุย คณะทำงานทั้ง 15 คนนี้ อาจจะไม่ใช่ผู้แสดงในการดำเนินการต่อไปครบทั้งกระบวนการสร้างสันติภาพก็ได้ อาจเป็นทีมหรือคณะทำงานที่สนับสนุนในบางประเด็นที่ลงลึกได้ เพราะการพูดคุยที่แท้จริงไม่ต้องการคนจำนวนมาก สัญญาณเชิงบวกต่อกระบวนการพูดคุยคือ ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า ควรจะต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาครัฐ และที่ไม่ใช่รัฐ คนในขบวนการบีอาร์เอ็นขึ้นโต๊ะพูดคุย หรือภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้นำศาสนาหรือใครก็ตามที่สามารถพูดคุยในฝ่ายตนเองได้ ซึ่งทำให้เห็นว่า คู่สนทนากำลังตระหนักรู้ว่า พวกเขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงสองฝ่าย และต้องการการสนับสนุนจากภาคสังคม เพื่อรองรับความชอบธรรมและความเป็นตัวแทน ทางการมีความพยายามจะดึงนักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักเคลื่อนไหวหลายคนเข้าไปมีส่วนการเจรจา เท่าที่ผมทราบมีทั้งคนที่ตอบรับและไม่ตอบรับ ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นเองก็สองฟากความคิด คือการจำกัดบทบาทของคู่สนทนาให้เป็นคนที่เคลื่อนไหวทั้งสิ้นกับอีกความคิดหนึ่ง คือเขาต้องการให้อีกภาคส่วนหนึ่งมานั่งร่วมอยู่ในแถวเดียวกับเขาด้วย เพราะถือว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปาตานี ไม่ได้นำโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นการต่อสู้ของคนปาตานีทั้งหมด เพราะฉะนั้น เขาต้องอาศัยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม
0 บุคคลที่เข้าร่วมพูดคุยครั้งนี้ คือขบวนการรุ่นเก่าที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ก่อการในปัจจุบัน
เท่าที่เราทราบคือ ฮัสซัน ตอยิบ เป็นผู้อาวุโสคนหนึ่งในขบวนการบีอาร์เอ็น เขาอายุเกือบ 70 ปี ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวมาตลอด และคงเร็วเกินไปหากเราจะตัดสินว่าฮัสซันเป็นตัวปลอมหรือไม่มีบทบาทอะไรเลย ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรายังมีความรู้น้อยมากว่า เขามีบารมีหรือมีอำนาจแค่ไหนทั้งในสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น มีความเป็นตัวแทนแค่ไหน มีสายสัมพันธ์กับกองกำลังในพื้นที่มากน้อยเพียงใด แต่กระบวนการพูดคุยที่ดำเนินต่อจากนี้ จะพิสูจน์ว่าเขามีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นมากน้อยแค่ไหน เขามีอิทธิต่อการกำหนดทิศทางของนักต่อสู้เพื่อปาตานีในทุกระดับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งกระบวนการพูดคุยจะค่อยๆ คลี่คลายข้อสงสัยเหล่านี้ แต่จากข้อมูลที่ตรงกันของฝ่ายภาคประชาชนและนักเคลื่อนไหว เขาไม่ได้เป็นที่สงสัยในเรื่องความเป็นตัวจริงของเขามากนัก ฮัสซันเองน่าจะเป็นตัวประสานหลักที่สำคัญ หรือแม้ว่าเขาจะไม่มีบทบาทในการนำ แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีบทบาทในการประสานงาน
จากความร่วมมือของทางการไทย ทางการมาเลเซียที่ได้ลงทุนลงแรงกันมา ได้ส่งผลให้แรงสะเทือนต่อการพูดคุยในครั้งนี้มีสูง ซึ่งได้ส่งผลประโยชน์ต่อกลุ่มการเคลื่อนไหวเพื่อปาตานี และทำให้เกิดการยกระดับการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีให้มาอยู่ในพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งเขาไม่สามารถกระทำได้ด้วยตัวเอง เพราะการใช้กองกำลังทางทหารอย่างหนักเข้าต่อสู้ในเวลาที่ผ่านมา มันยากที่จะมีพื้นที่ทางการเมืองในการต่อรองกับรัฐไทยได้ เพราะปฏิบัติการทางการทหารหลายกรณี เป็นที่น่าสงสัยหรือถกเถียงกันว่า พวกเขาใช้กำลังเกินขอบเขต เช่นการทำร้ายพลเรือน การโจมตีสัญลักษณ์ทางศาสนา ทำให้องค์กรระหว่างประเทศ บางองค์กรสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามกับการกระทำเหล่านี้ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ขบวนการจะมีสถานะทางการเมืองขึ้นมาต่อสู้กับรัฐในวิถีทางการเมืองได้มากนัก
0 ตัวแทนคนสำคัญในฝ่ายบีอาร์เอ็นคนอื่นๆ
ในทางข่าวเปิด คนสนใจบทบาทของสะแปอิง บาซอ ในฐานะที่เป็นผู้ต้องหาคนสำคัญและมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ผมบอกไม่ได้ว่า สะแปอิงมีบทบาทอย่างนั้นจริงหรือไม่ เท่าที่ทราบคือการนำของบีอาร์เอ็น ไม่ได้นำโดยคนใดคนหนึ่ง บทบาทสำคัญน่าจะอยู่ภายใต้โครงสร้างของสภาองค์กรนำ หรือ DPP (Dewan Pimpinan Parti) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์คล้ายกับคณะกรรมการบริหารพรรค บางคนบอกว่ามีทั้งหมด 7 คน บ้างบอกว่ามี 12 คน หรือน่าจะมีองค์กรที่สูงกว่านั้น ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างที่เรารู้หรือทางการรับรู้ยังน้อยมากหรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปก็ได้
ที่สำคัญคือระหว่างสภาองค์กรนำกับผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ ระหว่างผู้ที่มีบทบาทหรือมีอิทธิพลในสภาองค์กรนำกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ได้มีการสื่อสารหรือทำความเข้าใจในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของฝ่ายขบวนการ เพราะความขัดแย้งไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับการใช้ความรุนแรง เพราะความขัดแย้งสามารถเปลี่ยนไปสู่วิธีการต่อรองในแบบอื่นๆได้ แต่ปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าอยู่คือการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายขบวนการที่ใช้ความรุนแรงอย่างมากจนกระทั่งโอกาสในการต่อรองทางการเมืองลดน้อยลงไป การต่อรองภายในขบวนการ และต้องเข้าใจว่าสถานการณ์เพื่อปลดปล่อยปาตานีควรอยู่ในระดับไหน และดำเนินการอย่างไร
ที่ผ่านมาสังคมภายนอก สามารถตรวจตราการดำเนินงานของรัฐไทยได้ง่าย เพราะให้สัมภาษณ์สื่อ มีความเคลื่อนไหวในที่สาธารณะ ขณะที่บีอาร์เอ็น ถ้าเขาไม่มีการสื่อสารจะทำให้มีปัญหาในระยะยาว ในฐานะคนที่มอนิเตอร์เรื่องนี้ บีอาร์เอ็นจะต้องมีการสื่อสารกระบวนการของเขาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพูโล และทุกพรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยปาตานี ต้องสื่อสารต่อสาธารณะว่าพวกเขาคิดว่าอย่างไร จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ที่ผ่านมาพวกเขาสื่อสารโดยใช้ความรุนแรงมาโดยตลอด ซึ่งในสถานการณ์ขณะนี้ เมื่อพื้นที่ทางการเมืองเปิด ทำให้เกิดการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนมีข้อเสนอแนะต่อทั้งรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นด้วย ซึ่งได้ส่งสัญญาณไปว่าขบวนการจะต้องสื่อสารบางอย่าง ไม่อย่างนั้นก็อาจจะทำให้เขาสูญเสียโอกาส
0 มองบทบาทของมาเลเซียในการสร้างพื้นที่การพูดคุยครั้งนี้อย่างไร
มาเลเซียได้มีบทบาทอย่างสำคัญ ที่ผ่านมาไทยมองว่ามาเลเซียไม่จริงใจ ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ทำเสมือนปิดตาข้างเดียว ให้ผู้ก่อการพักพิง หลบภัย สั่งการจากที่ฝั่งมาเลเซีย ในมุมของมาเลเซียมองว่า รัฐไทยต่างหากที่หวาดระแวง ทั้งที่เขามีศักยภาพสามารถเป็นตัวกลางในการต่อรองเพื่อหาข้อยุติ อำนวยความสะดวกได้ บีบบังคับหรือสร้างบรรยากาศได้
ผมคิดว่า เงื่อนไขในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้บีบบังคับให้ทั้งมาเลเซียและรัฐไทย ต้องยุติ คลี่คลายปัญหานี้ให้ได้ หากเรามองในแง่ความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นทักษิณ ชินวัตร หรือนาจิบ ราซัค ทุกคนก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าจะทำให้ผลประโยชน์เหล่านี้สอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนร่วมอย่างไร
เงื่อนไขในขณะนี้มีความพร้อมที่จะให้รัฐบาลมาเลเซียและไทยเดินหน้ากระบวนการแล้ว แต่ยังมีความท้าทายอยู่สูงมาก ความท้าทายในการพูดคุยเรื่องสันติภาพ มีการกดดันรัฐบาลมาเลเซีย ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ มันเริ่มต้นด้วยกระบวนการที่มีการบีบบังคับหรือไม่ กระบวนการจะมีความต่อเนื่องแค่ไหน กระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างของคู่ขัดแย้ง สร้างบรรยากาศให้สองฝ่ายสบายใจที่จะคุยกันต่ออย่างเนื่อง ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลมาเลเซีย รัฐบาลไทย และไม่ใช่เรื่องง่าย
0 ที่ผ่านมามีการพูดคุยเจรจาที่สวีเดนหรือประเทศในยุโรป
สำหรับผมทุกการพูดคุยล้วนสะสมความได้ประโยชน์ทางการเมือง เท่าที่ผมทราบ บุคคลที่อยู่ในยุโรปหรือสวีเดน เป็นอดีตนักรบ นักต่อสู้ แม้ว่าจะอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่น่าจะมีส่วนในปฏิบัติการในพื้นที่อยู่น้อย อย่างไรก็ตาม การพูดคุยไม่ได้ต้องการข้อตกลงเสียทีเดียว แต่กระบวนการเหล่านี้มันได้ความเข้าใจความต้องการจากอีกฝ่ายหนึ่ง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยในวันนี้ แม้ว่าจะพูดคุยกันคนละครั้ง คนละพรรค หรือคณะ แต่ที่สุดแล้ว กระบวนการพูดคุยไม่ได้ง่าย มันมีการช่วงชิงภายในฝ่ายของเขาด้วย ช่วงชิงระหว่างพรรคบีอาร์เอ็น มีพรรคพูโล ซึ่งก็มีความแตกแยกภายในพรรค ว่าใครเป็นประธาน และความไม่เอกภาพภายใน ทำให้การพูดคุยค่อนข้างมีความยากลำบาก ในแง่ที่การเกาะเกี่ยวระหว่างพวกเขาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะส่งผลต่อความยั่งยืน และประสิทธิภาพของการพูดคุยด้วย หรือแม้ว่ารัฐไทยดำเนินการพูดคุย แต่ไม่ได้มีเจตจำนงทางการเมือง ไม่ได้มีอำนาจทางการบริหารมารับรอง ในอนาคตกองทัพจะรองรับกระบวนการที่ทำอยู่หรือไม่ หรือหลายกลุ่มพลังที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายของรัฐไทย จะเห็นด้วยกับกระบวนการเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็อาจจะทำให้กระบวนการต่างๆ หยุดชะงักก็ได้
ส่วนภายในบีอาร์เอ็น สภาองค์กรนำและผู้คนในระดับปฏิบัติการในพื้นที่ยังมีการเกาะเกี่ยวกันเพียงใด ระหว่างบีอาร์เอ็นกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี ถ้ามีความเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงระหว่างกันน้อย ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงที่ทำให้การพูดคุยเกิดปัญหาได้เช่นกัน
0 ผู้ก่อความไม่สงบมีเป้าหมายคือการแบ่งแยกดินแดน ข้อเสนอโมเดลการปกครองในรูปแบบต่างๆ จึงถูกนำเสนอขึ้นมารองรับกระบวนการพูดคุยครั้งนี้
หากมองว่าปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้นั้น ความรุนแรงเป็นเพียงอาการที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งแบบหนึ่ง เราควรต้องมองว่า ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งทางการเมือง และเกี่ยวข้องกับความชอบธรรมในการบริหารการปกครอง คนไม่พอใจรัฐไทยที่ปกครอง ผู้คนตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีอิสรภาพ หรือสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง
ดังนั้น ข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองพิเศษ ท้องถิ่นแบบเฉพาะ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของการต่อรอง เท่าที่เคยไปทบทวนข้อเสนอเรื่องโมเดลการปกครองในลักษระอย่างนี้ ถูกนำเสนอมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 คนแรกๆ ที่พูดเรื่องนี้คือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งกล่าวขึ้นครั้งแรกหลังเหตุการณ์กรือเซาะ
แต่หลังจากนั้น 7-8 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่ามีข้อมูลความเคลื่อนไหวรองรับทั้งการให้สัมภาษณ์ การวิจัย การปราศรัย บทความทางวิชาการ หรือการเคลื่อนไหวของมวลชน ทำให้ข้อเสนอเหล่านี้มีเนื้อหาที่จับต้องได้ มีฐานความรู้รองรับว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 78 ได้เปิดช่องให้ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพื้นที่ ควรจะมีลักษณะที่สอดคล้องกับพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้โครงสร้างการปกครองแบบที่เป็นชัยชนะของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มาจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ และน่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุย
ในระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีการพูดถึงโมเดลหรือทางเลือกต่างๆ มากมาย ในมุมมองของผม แม้ว่าจะเร็วไปเกินไป แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องหยิบยกขึ้นมา โดยเฉพาะสถานการณ์แบบนี้ เพราะคนในพื้นที่ย่อมอยากจะรู้ว่ามีข้อเสนอหรือทางเลือกอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาพวกเขามีทางเลือกแค่สองทาง คือการอยู่กับรัฐไทยแบบตั้งรับหรือไม่ก็ต้องแบ่งแยกดินแดนไปเลย ซึ่งทำให้คนรู้สึกไม่มีทางเลือก แต่จากการเคลื่อนไหว การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับความขัดแย้งท่ามกลางไฟใต้ ได้มีการหยิบยกข้อเสนอเหล่านี้ขึ้นมา ข้อเสนอสองขั้วนี้ถูกแบ่งออกเป็นหลายแนวทาง นี่คือสัญญาณของสันติภาพ เพราะเมื่อคนรู้สึกว่าเลือกได้ ถกเถียงได้ วิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มันจะสร้างพื้นที่ทางการเมือง จากด้านล่างขึ้นมาไปสู่ระดับนโยบาย จากเดิมที่รัฐไทยไม่ได้ผ่อนคลายขึ้นมาง่ายๆ แต่เมื่อรัฐเริ่มเข้าใจว่า หากจะปกครองพื้นที่ลักษณะนี้ ควรจะมีการทำความเข้าใจ ซึ่งในส่วนของขบวนการก็ต้องรับรู้ว่าต้องรับฟังชาวบ้านเหมือนกัน
ปัญหาที่ผ่านมา คือข้อเสนอโมเดลการปกครองแบบมีเอกราชของคนมลายูปาตานี ก็ไม่ได้มีรูปแบบที่มีความชัดเจน เป็นเพียงความปรารถนา แต่ไม่เห็นว่ารูปแบบรัฐในแบบที่ปรารถนาอย่างไร คนจะสัมพันธ์กันอย่างไร คนมลายูจะอยู่ตรงไหน ใครเป็นพลเมืองของปาตานี พื้นที่ของปัตตานีจะอยู่ตรงไหน แต่แนวทางต่างๆ เหล่านี้ มันได้ทำให้เห็นว่ามันทีทางออกอื่นๆ
0 การปกครองในรูปแบบเฉพาะพื้นที่ ย่อมจะถูกนำเสนอเป็นทางเลือกในอนาคต
เป็นความจำเป็นเพราะการพูดคุยของรัฐไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น ย่อมต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้ ซึ่งหากดูจากเอกสารทางเลือกกลางไฟใต้ (กรุณาคลิกดู ที่นี่) เราจะเห็นว่า ทางเลือกแรกก็คือรูปแบบ ศอ.บต. แบบปัจจุบัน ทางเลือกที่สอง คือ สภารูปแบบทบวง ทางเลือกที่สามถึงหก คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ การเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ทั้งหมดมาจากฐานงานวิจัย สภาพความเป็นจริง และข้อเสนอของนักการเมืองอาวุโสบางคนที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น เพราะเนื้อแท้ของขบวนการเจรจาสันติภาพ หรือขบวนการทางการเมือง เราต้องการข้อตกลงทางการเมืองในอีก 5 ปี 10 ปีหรือ 15 ปีในอนาคต ซึ่งทั้งหมดก็ต้องพูดด้วยว่าอนาคตของสามจังหวัดชายแดน หรือปาตานี ในความหมายที่อ้างอิงกับประวัติศาสตร์ คนมลายู คนพุทธ คนไทยจีน จะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร จะเลือกผู้นำในพื้นที่ได้หรือไม่ คนจีนจะมีกลุ่มการเมืองในพื้นที่ได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้มันทำให้การใช้กำลังหรือกฎหมายเข้าบังคับน้อยลง
การปกครองที่ดีไม่ควรข่มขู่ประชาชนด้วยกำลังและกฎหมาย เพราะเป็นการปกครองที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของรัฐเอง ซึ่งเป็นการบังคับชาวบ้าน แต่ควรจะต้องเป็นการปกครองที่ผู้คนสามารถต่อรองและรับฟังความคิดเห็นกันได้ โดยสิ่งนี้จะกลายเป็นกระบวนการสันติภาพที่เน้นไปที่วิธีการและลำดับขั้นตอนต่อไป