Skip to main content
มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
คณะรัฐศาสตร์ ม. รามคำแหง
 
บทความเรื่อง “ปฏิรูปบีอาร์เอ็น” ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเล็กๆ จากกัลยาณมิตรสามสี่ท่าน (หนึ่งในนั้นคือ “บทสะท้อนต่อ ‘ปฏิรูปบีอาร์เอ็น’” ของ บัณฑิต ไกรวิจิตร) เรื่องสำคัญและอยู่ในความสนใจเช่นนี้กลับมีการถกเถียงกันน้อยมากสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติบางอย่างในสังคม (ปาตานี) ของเรา นักการทูตชาวตะวันตกและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมุสลิมในอินโดนีเซียบอกกับผมว่า สังคมมุสลิมปาตานีไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “the battle of idea” (การสัปประยุทธ์ทางความคิด) ดังที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมอินโดนีเซีย อิสลามในปาตานีปัจจุบันจึงอ่อนไหวต่อการท้าทายจากภายนอกและง่ายต่อการถูกปล้นชิง (hijack) จากกลุ่มสุดโต่งทางความคิด[1]
 
ความผิดปกติที่ว่านี้เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ ที่อยู่ในความสนใจของเราและเกี่ยวข้องกับการถกเถียงในครั้งนี้คือ สังคม(มุสลิม)ปาตานีกลัวปริมลฑลสาธารณะ (public sphere)[2] ความกลัวนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการ กฎหมายพิเศษฉบับต่างๆ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการ “จัดการ”  กับเป้าหมายที่เห็นต่างในที่แจ้ง (สาธารณะ) มักถูกหยิบยกมาสนับสนุนคำอธิบายของความกลัวนี้อยู่เสมอ ผลของการกลัวดังกล่าวทำให้ปริมลฑลสาธารณะซึ่งเปิดให้มีการถกเถียงอย่างเสรีในสังคมสมัยใหม่ถูกจำกัด ก่อให้เกิดวิกฤติความชอบธรรม (legitimacy crisis) ทางอำนาจ[3] เกิดผลทางสังคมหลายประการหนึ่งในนั้นคือขบวนการต่อต้านทางการเมือง (political resistant movement) ในหลายๆ รูปแบบและรูปแบบที่สุดโต่งที่สุดคือขบวนการต่อสู้ติดอาวุธ (armed struggle movement, ซึ่งในกรณีนี้คือ บีอาร์เอ็น) ความกลัวนี้เกิดจากการสร้างปัจจัยแห่งความหวาดกลัว (fear factor) จากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐด้วยเช่นกัน (เช่นการฆ่าแล้วเผา ฆ่าด้วยการตัดหัว ฯลฯ)[4]  
 
ในภาษา Marxist ความกลัวมีนัยทางอำนาจ มันสัมพันธ์กับเทพนิยาย (myth) ตำนาน (legend) และพลังเหนือธรรมชาติ (supernatural forces) ที่มนุษย์เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา (man’s product) กล่าวโดยสรุปคือ ความเชื่อในเรื่องประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์นั้นเอง ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงสูญเสียความมั่นคง (เพราะเขาไม่สามารถควบคุมอนาคตของตัวเองได้) ท้ายที่สุดความกลัว “ต่ออำนาจที่ตนเองระแวงภัย” ดังที่บัณฑิตได้กล่าวไว้ในบทความ (บทสะท้อนต่อ “ปฏิรูปบีอาร์เอ็น”) ถูกทำให้เป็นรูปธรรม (reification) ผ่านกฎเกณฑ์ทางสังคมและกฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมมนุษย์ด้วยกันเอง Lukacs กล่าวสรุปในเรื่องนี้ไว้อย่างแหลมคม:
 
“มนุษย์ในสังคมทุนนิยมเผชิญกับสภาพความเป็นจริงที่ “ถูกสร้างขึ้น” โดยตัวของเขาเอง มัน (สภาพความเป็นจริงที่เขาสร้างขึ้น) ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเขาในลักษณะที่ทำให้เขาคิดว่ามันคือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตามปกติ โดยที่เขาทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากปฏิบัติตามกฎของมัน”[5]
 
พิจารณาในแง่ดังกล่าวข้างต้น ความกลัวจึงมีลักษณะเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม (socially constructed) มันเป็นเครื่องมือของชนชั้น (อำมาตย์) เพื่อการกดขี่ขูดรีด (exploit) ชนชั้นกรรมาชีพ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่าความกลัวเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอุดมการณ์ (Ideology)[6] และในความเห็นของ Marx   Ideology เป็นอะไรที่ไม่มากไปกว่าจิตสำนึกที่ผิดพลาด (False Consciousness)
 
แต่ผมคิดว่าบัณฑิตไม่ได้กล่าวถึงความกลัวในลักษณะที่ Marx ได้กล่าวไว้ข้างต้น เนื่องจากเขาอธิบายว่า “ความกลัวไม่ได้คงที่ ในบางครั้งมองไม่เห็น แต่สามารถลื่นไปซ่อนได้ หรือไม่นำมาอยู่ในบทสนทนา…” คำอธิบายเกี่ยวกับความกลัวของบัณฑิตทำให้ผมคิดถึง ความคิดเกี่ยวกับการต่อต้านความคิดแบบสองขั้วตรงข้ามของ แดริดา และแนวคิดเกี่ยวกับ anti exclusion ของเขาที่กล่าวว่า “เหตุที่ a คือ a เพราะ a ไม่ใช่ b ดังนั้น b จึง (ยังคงอยู่) ไม่ได้หายไปไหน (a is a only because it is not b, and thus b is never entirely out of the picture)[7]
 
แต่ถ้าเรานำเอาแดริดาเข้ามาอยู่ในการถกเถียง หมายความว่าเรากำลังนำการถกเถียงของเราเข้าสู่ข้อขัดแย้งในทางภววิทยาและญาณวิทยา (Ontological and Epistemological dispute) ระหว่างสองค่ายทางความคิด ค่ายแรก มองว่ามีสิ่งที่เป็นแก่นแกนและความเป็นจริงอยู่ข้างนอกนั่น (there is essence and reality out there) ซึ่งเป็นตัวแทนของจารีตทางปรัชญาในยุครู้แจ้ง (Enlightenment Philosophical Tradition) ที่นำโดยเฮเกล (Hegel) ดังคำพูดของเขาที่กล่าวว่า “ความเป็นจริงนั้นโดยเนื้อแท้แล้วคือเหตุผลและตรรกะ สิ่งใดที่สมเหตุสมผลนั้นเป็นจริง และสิ่งใดที่เป็นจริงนั้นสมเหตุสมผล” เนื่องจากความกลัวเป็นความรู้สึกไม่ใช่เหตุผล[8] (เนื่องจากเหตุผลมีลักษณะเป็นกระบวนการคิด/Cognitive) ความกลัวจึงสามารถทำให้หายไปได้ด้วยกระบวนการใช้เหตุผล ความกลัวจึงไม่มีภาวะของการดำรงอยู่จริง (Ontological Existence) มันดำรงอยู่อย่างสัมพัทธ์ชั่วคราว กล่าวคือ มันเป็นอุบัติการณ์ (Accident) มิใช่แก่นแกน (Essence)
 
แดริดา (ในความเห็นผม เพราะแดริดาเอง เคยบอกว่าคนที่คิดว่าแดริดาคิดอย่างโน้นอย่างนี้จริงๆ แล้ว ไม่ใช่) ใช้ทั้งชีวิตของเขาไปกับการปฏิเสธความคิด เรื่อง ปฐมกฎ (First  Principle), ความเป็นจริง (Reality), สัจจะ (Truth), การเผยตัว (Presence)
 
ถ้าการถกเถียงลงเอยในแง่นี้ ผมคงจะยอมรับ (acknowledge) ความคิดเกี่ยวกับความกลัวของบัณฑิตว่าเป็นเพียงสายธารทางความคิดหนึ่งเท่านั้น บัณฑิตมิอาจกล่าวอ้าง (claim) ได้ว่าความคิดเกี่ยวกับความกลัวดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นสากล (Universal) (ซึ่งผมเชื่อว่าบัณฑิตเองก็ไม่ได้ claim!).
 
 
 
หมายเหตุ: ขอขอบคุณ รอมฎอน ปันจอร์ ผู้แก้ไขให้บทความชิ้นนี้สามารถอ่านได้อย่างราบรื่นสำหรับผู้อ่านทั่วไป


[1] ดร.ยูซุฟ อัลกอรอดาวี  ได้แบ่งความสุดโต่งในศาสนาออกเป็น 3 ชนิด 1) ghuluw คือ ความล้นเกิน (excessiveness) 2) tanattu‘ คือสนใจเรื่องปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ จนมองข้ามหรือสูญเสียหลักการสำคัญ (nitpicking) 3) Tashdid คือ การเข้มงวดเคร่งครัดเกินกว่าที่ระบุไว้ในชารีอะฮ (strictness, austerity) ดู  Yusuf Al-Qaradawi, Islamic Awakening: Between Rejection and Extremism (Kuala Lumpur: Islamic Book Trust, 2010), 9; โปรดดู อัลกรุอ่าน (5:77) 
 
[2] ดู Jurgen Habermas, The Philosophical Discourse of Modernity: Twelve Lectures, 1987.
 
[3] Noorhaidi Hasan, “In search of Identity: The contemporary Islamic Communities in Southeast Asia,” Studia Islamika, Vol.7, No.3 (2000), 72.
 
[4] การต่อสู้กับผู้ล่าอาณานิคม (colonizer) ด้วยการสร้างปัจจัยแห่งความหวาดกลัว (fear factor) โปรดดู Frantz Fanon, The Wretched of the Earth (New York: Grove Weidenfeld, 1963).
 
[5] Gyorgy Lukacs, History and Class Consciousness, 1967, 163.
[6] ดู  Syed Hussein Alatas, The Myth of the Lazy Native (London: Frank Cass and Company, 1977), 5.
 
[7] Emily Eakin, “Derrida The Excluded Favorite,” www.nybook.com/blog
 
[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “อำนาจและความกลัว” มติชนรายวัน, 19 ก.ค. 2553.