Skip to main content

 ผู้หญิง: กับการดิ้นรนเพื่อสันติภาพ “ความท้าทายที่ไม่ท้าทาย”
(ฉบับร่าง)1
ห้ามเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต

นายอิสมาอีล เจ๊ะนิ2
บทคัดย่อ
 
เนื้อหาและจุดประสงค์ของบทวามนี้ มุ่งพิจารณาความเป็นสตรีในหลายแง่มุม นับตั้งแต่แง่มุมความเป็นเพศ(Gender) ความเป็นภาวะทันสมัย(Modernity) ความเป็นยุคลัทธิสมัยใหม่นิยมกับกระบวนการวางโครงสร้างองค์ความรู้ต่อผู้หญิงที่นำไปสู่เหตุแห่งการดิ้นรน ความเป็นผู้หญิงกับความรู้ในจักรวาลของผู้ชาย  การเคลื่อนไหวของขบวนการสตรีต่อการสร้างพื้นที่ทางสังคม จากนั้นจะอภิปรายถึงบทบาทของสตรีในหลายๆบทบาท เริ่มตั้งแต่ บทบาทต่อการขัดขวางสงคราม การทหาร การเมือง การสร้างสันติภาพ และการเคลื่อนไหว(Movement)ในรูปแบบต่างๆ โดยข้อถกเถียงหลักในงานชิ้นนี้คือ กระบวนทัศน์ใหม่ของสตรีในบริบททางความคิด ความเชื่อ ศาสนา พื้นที่ อำนาจ และการต่อรองดิ้นรนเพื่อสร้างสันติภาพ ว่าแท้ที่จริงเป็นความท้าทายหรือไม่ท้าทายกันแน่ แล้วอะไรคือความท้าทายที่ไม่ท้าทายเหล่านั้น?
 
คำสำคัญ: ความเป็นเพศ(Gender), ภาวะทันสมัย(Modernity), ลัทธิสมัยใหม่นิยมแบบตะวันตก(Western Modernism), สันติภาพ(Peace), การเคลื่อนไหว(Movement)
 
 
บทนำ
          คงเป็นความท้าทายไม่น้อยเมือจะหยิบคุยเรื่องเพศ เพราะเพศเป็นสิ่งกำกับที่มีชีวิต มีอำนาจ มีพลัง สามารถสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบกันได้ของสรรพสิ่งที่มีชีวิต แม้กระทั่งสัตว์ ก็จะโดนกำกับความเป็นเพศตัวผู้ ตัวเมีย หรือถ้าเป็นมนุษย์ก็ถูกจำกัด คำว่าเพศชายและเพศหญิง แม้ใครหลายๆคน พยายามดิ้นรน เพื่อแสดงความเป็นเพศอื่น เป็นต้นว่าขอเป็นเพศที่สาม ในเพศสถานะของความเป็นกะเทย เป็นท่อม เป็นเกย์ หรืออื่นๆอีกมากมาย แต่ก็หลีกหนี้ไม่พ้น พลังแห่งเพศที่ติดตัวด้วยตัวของมันอยู่แล้ว คำถามที่น่าสนใจอยู่ว่า แล้วเมื่อไหร่เส้นแบ่งความเป็นเพศ จะไม่ใช่อุปสรรคแห่งสถานะ ท่ามกลางที่ยุคสมัย ที่เพศสถานะต่างหาพื้นที่ยื่นท้าสิทธิสองขาอย่างน่าเกรงขาม โดยเฉพาะสตรีเพศ
 
          คำถามอยู่ที่ว่า อะไรที่สตรีเพศถึงออกมาทวงสิทธิแห่งสถานะ?
 
            คำถามถือๆนี้ มันออกจะสายเกินไปสำหรับสตรีเพศ เพศที่โดนกำกับด้วยความด้อยโอกาสของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือไม่เสมอภาคในรูปการถูกสร้างให้เพศหญิงมีบทบาทเดิมๆ ที่ได้มีการสั่งสมมา เช่น ถูกสร้างให้เป็นเพศที่อ่อนแอ หรือเป็นชนชั้นสองในสังคม  (สินิทธ์ สิทธิรักษ์, 2542: 26)
 
             หากมองในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสังคมตะวันตก ความเป็นชายและหญิงในสายตาความเป็นเพศแถบมีสถานะที่เหลือมล้ำออกเช่นกัน การบอกว่าผู้ชายเป็นนักรบ ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน ก็เป็นอะไรที่ตอบย้ำและชี้ชัดว่า สังคมแห่งเพศนั้น ก็หนี้ไม่พ้นที่ต้องถูกครอบแห่งอำนาจ เพราะในประวัติศาสตร์ชาติแถบไม่มีการให้ความสำคัญของผู้หญิง หากมีก็เป็นเพียงแค่ส่วนเพิ่มเสริมให้มีความสมบูรณ์เท่านั้น (ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, 2552: 3)
น่าสนใจมากไปกว่านั้น แม้แต่ในวรรณกรรม ก็เห็นภาพที่ถูกตีกรอบภายใต้สถานภาพของสตรีไทยสถานภาพอันอ่อนด้อยกว่าผู้ชายในทุกๆด้าน เช่น การจำกัดขอบเขตหน้าที่ การที่มองว่าสตรีเป็นเพียงผู้ให้บริการแก่ฝ่ายชายและสมาชิกในครอบครัว หรือการมองบทบาทสตรีเป็นเพียงแค่แม่บ้าน โดยมีเพศชายเป็นผู้นำหรือผู้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว (เสนาะ เจริญพร, 2548:15) เหล่านี้น่าจะเพียงพอสำหรับสตรีเพศออกมาทวงสิทธิแห่งสถานะหรือไม่?
 
            คำถามติดๆว่า แล้วเพศหญิงกล้าดีอย่างไงต่อการออกมาท้าสิทธิในสภาพสังคมที่เปลี่ยนผ่านเช่นนี้?
 
          คำถามนี้ น่าเสียดายที่ผู้เขียนเองไม่ได้เป็นเจ้าของแห่งสิทธิ แต่ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า อาจเป็นเพราะถูกวาทกรรมใหม่ วาทกรรมที่มองว่า การท้าสิทธิความเป็นเพศของสตรี แท้จริงก็เคยพยายามสู้ๆกล้าๆออกมาเช่นกัน โดยเฉพาะการที่เพศหญิงตื่นรู้แห่งสิทธิของตนมากขึ้น เห็นกระจ่างชัดผ่านภาพและบทบาทของผู้หญิงในวรรณกรรมไทย ภายหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2547 ในแต่ละยุค เป็นต้นว่า
 
            ยุคแรก–กล้าและทันสมัยแต่ไม่พ้นกรอบ (พ.ศ. 2476-2488) เป็นก้าวแรกของการตื่นตัวเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เนื่องจากได้อิทธิพลความคิดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยใหม่ แต่ก็ไม่อาจสลัดความเป็นหญิงที่สะสมมาตลอดเวลาอันยาวนานลงได้
 
            ยุคสอง-ผู้หญิงสองแบบ ทางใครทางมัน (พ.ศ. 2489-2500) สังคมไทยอยู่ในช่วงขัดแย้งระหว่างแนวความคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อศิลปะ” กับ “ศิลปะเพื่อชีวิต” จึงเกิดงานเขียนที่แสดงถึงภาพของผู้หญิงตามแบบฉบับกับภาพของผู้หญิงก้าวหน้าอยู่คู่กัน
 
            ยุคสาม-ผู้หญิงในโลกเพ้อฝัน (พ.ศ. 2501-2508) ภายใต้ระบบเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่งผลให้นักเขียนแนวศิลปะเพื่อชีวิตหมดบทบาทลงไป เหลือแต่ผลงานที่ให้ภาพผู้หญิงอันเกิดจากจินตนาการและความเพ้อฝันของนักเขียนเป็นส่วนใหญ่ หรือเรียกว่าหลุดลอยไปจากความเป็นจริง
 
            ยุคสี่-ผู้หญิงค้นหาตัวเอง (พ.ศ. 2509-2516) บรรยากาศตึงเครียดทางการเมืองเริ่มคลายลง ภาพของผู้หญิงจึงเป็นภาพของการค้นหาตัวเอง แต่เป็นในลักษณะที่ค้นลึกลงไปในอารมณ์มากกว่าหาภาพหรือบทบาทของหญิงที่เป็นจริง
 
            ยุคห้า-ผู้หญิงทวงสิทธิ เสรีภาพ (พ.ศ. 2517-2548) เป็นภาพของผู้หญิงที่เป็นตัวของตัวเอง มีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์สังคมมากขึ้น (เสนาะ เจริญพร, 2548:16-17)   
 
            การอธิบายจากวาทกรรมแนวมาร์กซิสม์ที่เชื่อว่า ธรรมชาติกำหนดให้ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นใหญ่ในครอบครัวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเป็นอคติหรืออุดมการณ์จิตสำนึกจอมปลอมที่ถูกผลิตขึ้นจากบริบทสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เพราะตามทัศนะของเองเกลส์ เชื่อว่าการที่ผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างผู้ชาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกดขี่ แท้จริงเป็นผลจากการเกิดสังคมชนชั้นมากกว่า และการกดขี่ดังกล่าวเป็นเพียงแค่ต้องการหาประโยชน์ภายใต้ระบบคิดแบบทุนนิยมเท่านั้น
 
การที่มาร์กซ์และเองเกลล์เชื่อว่าทุกสังคมในประวัติศาสตร์มีการแบ่งงานกันทำตามเพศ ซึ่งเองเกลส์เชื่อว่าเป็นการแบ่งงานกันทำ “ตามธรรมชาติ” โดยผู้ชายผลิตสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต ส่วนผู้หญิงทำงานในบ้าน ในระยะต้นของประวัติศาสตร์การแบ่งงานตามเพศมิได้ทำให้ผู้หญิงเป็นเบี้ยล่าง แต่ละเพศเป็นใหญ่ในอาณาจักรของตนเอง เพราะงานที่ทั้งสองเพศทำล้วนจำเป็นต่อความอยู่รอดทั้งสิ้น หรือการมองที่ว่า ผู้หญิงในฐานะของความเป็นแม่เท่านั้น ที่ถือว่าเป็นผู้ปกครองของคนรุ่นลูก และเป็นสายสัมพันธ์เดียวที่แน่นอน ผู้หญิงจึงมีสถานะที่ได้รับการเคารพอย่างสูงและมีเกียรติออกเช่นกัน (สินิทธ์ สิทธิรักษ์, 2542: 95-96)
 
            หลายๆข้ออ้างที่ผู้เขียนได้พยายามอธิบายนั้น ก็เพื่อต้องการมองว่า การที่เพศหญิงมักถูกมองว่าเป็นแค่สถานะความเป็นเมียในหม้อที่ขุดไม่ออก กุลสตรีคือคุณลักษณ์ บ่วงแห่งกามรส ธาตุแท้อันอ่อนแอของเพศชาย หรือการกดขี่ผู้หญิงเพื่อความแข็งแกร่งของชาย (เสนาะ เจริญพร, 2548:42-50)นั้น อาจเป็นมายาคติที่ตกขอบในสภาวะที่สังคมเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะในสภาวะที่สังคมเพศหญิงข้ามยุคสู่สังคมสมัยใหม่นิยมแบบตะวันตก (Western Modernism)
 
            ความเห็นของผู้เขียน มีความรู้สึกว่า การข้ามยุคสมัยใหม่นิยมแบบตะวันตก น่าจะเป็นบันไดสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านความคิด เพราะลัทธิสมัยใหม่นิยมแบบตะวันตก เป็นตัวเร่งสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติทางความคิดของมนุษย์ในสังคมตะวันตกอย่างมาก(นิพนธ์ โซะเฮง, 2552: 4) เห็นหลายๆอย่างที่ชี้ชัดจากการเปลี่ยนผ่านเหล่านั้น โดยเฉพาะมันทำให้เกิดการผันมโนทัศน์ กรอบคิด หรือกระบวนทัศน์ใหม่เกิดขึ้น เป็นต้นว่า
 
1.      รักในหลักเหตุผลมากขึ้น
2.      ระวังตนเอง
3.      ไม่เชื่อในความจริงสูงสุด มองว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
4.      มองศาสนาเป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคล
5.      รักในเสรีภาพ ความเสมอภาค
6.      ไม่ศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติ
7.      เคารพในหลักของ (Cause) ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมีที่มาที่สามารถพิสูจน์ได้
8.   เคารพในหลักตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ ที่ต้องผ่านกระบวนการ การทดลอง การสาธิต ประสบการณ์จริงที่ได้จากประสาทสัมผัส (นิพนธ์ โซะเฮง, 2552: 14)
 
            ความน่าสนใจอยู่ที่ผลจากฐานคิดของลัทธิสมัยใหม่นิยมแบบตะวันตก ที่มีส่วนช่วยสะท้อนภาวะทันสมัย(Modernity) ให้มีชีวิต และหาพื้นที่ให้ผู้หญิงหลายๆคนกล้าที่จะรุกคืบ รวมถึงโคนมายาคติที่ฝั่งลึกของกรอบแห่งเพศสถานะเดิมๆของเพศหญิง
 
            ความน่าสนใจต่อการรุกคืบจากฐานคิดสมัยใหม่นิยมแบบตะวันตกที่ไม่ธรรมดานั้นเอง นำไปสู่การเปลี่ยนสถานะและบทบาทของสตรีมุสลิมในภาวะทันสมัยในหลายๆมิติเกิดขึ้น อาทิเช่น
 
            มิติมนุษยนิยม (Humanist) เห็นว่า อิสลามกดขี่และลิดรอนสิทธิของผู้หญิง โดยการตีความใหม่เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ความเท่าเทียมศักดิ์ศรี และเสรีภาพสำหรับผู้หญิงมีอยู่ในทางเลือกของมนุษย์นิยม ดังนั้น ในแง่นี้ มนุษยนิยมควรเป็นศาสนาใหม่สำหรับผู้คนในโลก
มิติของการแสวงหาความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย (Feminist) กล่าวถึงอิสลามว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีรากฐานมาจากกำเนิดมาจากผู้ชาย การตีความใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในอัลกรุอานและหะดีษ จะทำให้ค้นพบอิสรภาพและความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงในอิสลามอันเป็นการกลับไปสู่อิสลามอย่างแท้จริง
 
            มิติไม่ฝักฝ่าย (Centrist) เป็นการไม่กล่าวถึงหลักการที่เป็นสาเหตุของการนำไปสู่การปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติตามหลักการอิสลาม
 
            มิติจารีตนิยม (Conservative) อิสลามเป็นศาสนาที่เป็นกลาง หญิงและชายในสังคมมุสลิมต่างมีบทบาท สิทธิ และมีหน้าที่ อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันไปบ้างก็เพราะความเหมาะสมตามธรรมชาติ อิสลามมิได้บอกว่าชายเหนือหญิงหรือหญิงเหนือชาย แต่ทั้งสองเพศย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามเพศของตนเอง (ฮาฟิสสา สาและ, 2552: 2) เมื่อถึงจุดนี้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกคลายต่อความพยายามในการรุกคืบของผู้หญิงบ้าง โดยเฉพาะการรุกคืบต่อสถานะความเป็นผู้หญิงให้ตกขอบความคิดเดิมๆของสังคม ในฐานะสตรีเพศคงอาจดีใจต่อปรากฏการณ์อันเป็นผลจากภาวะทันสมัยก็เป็นได้
 
            สำหรับผู้เขียนแล้ว คิดว่ายังไม่พอ ถ้าผู้เขียนมีสถานะเป็นเจ้าของแห่งสิทธิ ผู้เขียนอาจมีคำถามมากมายที่อยากถามเจ้าของแห่งสิทธิเป็นต้นว่า
 
          เอาเข้าจริงแล้วผู้หญิงยังตกอยู่ในกำมือในจักรวาลของผู้ชายเพราะผู้หญิงเองหรือไม่? และจักรวาลของผู้ชายเอาเข้าจริงมีความพร้อมหรือยังสำหรับจักรวาลของผู้หญิง?
 
            คำถามนี้ เป็นเพราะผู้เขียนมีความรู้สึกว่าผู้หญิงยังถูกจำกัดพื้นที่ชายขอบ หรือการที่ “โลก” ของตนเอง(หมายถึงโลกของผู้หญิง) ที่แยกจากกระแสหลักได้ยาก แม้จะพยายามรุกคืบของนักพินิจสตรีนิยมก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าการผลิตความรู้นั้นยังอยู่ในวงของผู้หญิงเอง “การที่ผู้หญิงเขียน ผู้หญิงอ่าน ผู้หญิงพูด ผู้หญิงฟัง” (สินิทธ์ สิทธิรักษ์, 2542: 6) แสดงให้เห็นว่า เอาเข้าจริงไม่ได้ดิ้นรนเพื่อเพศตรงข้ามได้รับ ได้ฟัง ได้เห็นแต่อย่างใด(หมายถึงเพศชาย) แต่ตรงข้ามก็จำกัดอยู่ในวงแคบที่ผู้หญิงทำเอง คือ ยังอยู่ในวงกตเฉพาะเพื่อผู้หญิงเท่านั้น(ผู้เขียน)
 
            หรืออีกแง่มุมหนึ่ง อาจเป็นเพราะการที่ผู้หญิงเองก้าวไม่ผ่าน หรือเกรงๆกลัวๆของการดำรงอยู่ของสตรีในระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่หรือเปล่า?
 
             ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่ผู้หญิงโดนครอบ เพราะถ้าผู้เขียนเชื่อในระบบอำนาจความจริง (Regime of Truth) กับการผลิตความรู้ก็จะเข้าใจว่า แท้จริงโลกนั้นก็ยังอยู่ในจักรวาลของผู้ชาย (Feminine World in Masculine Universe)  เพราะแม้แต่นักทฤษฎีและนักปฏิบัติในแนวสตรีนิยมมองเห็นโลกผ่าน “เลนส์” ที่มีอิทธิพลของปิตาธิปไตย(สินิทธ์ สิทธิรักษ์, 2542: 7) (คือนักสตรีนิยมเชื่อว่ายังโดนครอบจากระบบอำนาจความจริงที่ชายเป็นใหญ่ออกเช่นกัน)(ผู้เขียน) คือการเข้าใจโลกของผู้หญิงโดยผ่านความหมายและมาตรฐานของปิตาธิปไตยยังก้าวไม่พ้น แต่ยังโดนจำกัด (ผู้เขียน) ผู้เขียนมองว่าแท้จริงผู้หญิงเองก็ทำตัวจำกัดอยู่ในระบอบอำนาจความจริงออกเช่นกัน อาจเป็นเพราะระบบความเป็นชายยังมีชีวิตหรือเปล่า?.
 
คำถามต่อว่าอะไรที่คิดเช่นนั้น?
 
          ตอบ เพราะคำถามที่ผู้เขียนตั้งว่า การตกอยู่ในจักรวาลของผู้ชายก็ดี หรือเพราะจักรวาลของผู้หญิงทำเองก็ดี หรือการที่ผู้ชายไม่พร้อมมอบอำนาจให้จักรวาลแก่ผู้หญิงหรือไม่ที่เป็นเช่นนั้น?
 
           คำตอบนี้ บางคนอาจไม่เชื่อ แต่สำหรับผู้เขียนมีความรู้สึกว่าเมื่อผู้หญิงทำตัวมันเองอยู่ก่อนแล้ว และความที่ผู้ชายไม่พร้อมที่จะปล่อยให้อาณาจักรแห่งอำนาจของผู้หญิงอยู่ในอาณาจักรของผู้หญิงอย่างอิสระ เห็นได้ชัด การที่สตรีนิยม มองว่าการผลิตความรู้ในระบอบอำนาจความจริงที่มีรากฐานมาจากปิตาธิปไตย ที่บอกว่า การกำหนดโครงสร้างทางอำนาจที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้น แท้จริงเกิดจากการกำหนดทวิลักษณะขั้วตรงข้าม (binary oppositions)ที่เชื่อมโยง “ปัญญา” เข้ากับ “ความเป็นชาย” และ”อารมณ์” เข้ากับ “ความเป็นหญิง” และการแบ่ง “พื้นที่สาธารณะ” กับ “พื้นที่ส่วนตัว” ที่เชื่อมโยงกับเพศสภาพ จึงถูกผูกขาดอยู่โดยผู้ชายมาเป็นเวลานาน  ทำให้ตัวเขาเอง (หมายถึงนักสตรีนิยม) ตกเป็นเครื่องมือผลิตความรู้ในโลกที่ความจริงแท้เป็นของผู้ชาย อะไรเป็นความรู้เป็นเรื่องของผู้ชายที่ถูกผูกขาดโดยผู้ชาย และสามารถโยงใยของความหมายที่แบ่งพื้นที่แบ่งบทบาทและงานตามเพศสภาพ กำหนดพฤติกรรมที่เหมาะสมของคนแต่ละเพศสภาพนั้นแท้จริงล้วนมีรากฐานมาจากโครงสร้างทางอำนาจที่ผู้ชายเป็นใหญ่(สินิทธ์ สิทธิรักษ์, 2542: 8)หรือไม่?
 
            ดูเหมือนอะไรๆก็แคบไปหมด ดูถูกล้อมและจำกัดไปหมด ถ้างันในสถานะเพศหญิงถ้าจะเล่นบทบาทใหม่ในท่ามกลางที่สังคมเปลี่ยนผ่าน อะไรที่เพศหญิงน่าจะเล่นได้บ้าง?
 
          ในฐานะที่ผู้เขียนเองได้มีโอกาสแปลงานเรื่อง”Women Waging Peace” เขียนโดย Swanee Hunt and Cristina Posa ในชื่อภาษาไทยว่า “ผู้หญิงกับการดิ้นรนเพื่อสันติภาพ”
 
            ความจริงผู้ชาย หรือผู้หญิงอาจไม่เชื่อในบทความนี้ก็ได้ ว่าแท้จริงผู้หญิงยังมีศักยภาพพอกับการเข้ามีบทบาทในการดิ้นรนเพื่อสันติภาพ แม้จะมีความยากลำบาก แต่อาจเป็นเพราะคุณลักษณ์ที่เป็นลบในสายตาผู้ชาย อาจเป็นพลังในสายตาทั่วโลกต่อภารกิจการดิ้นรนเพื่อการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะในบทความ”Women Waging Peace”ของ Swanee Hunt and Cristina Posa มีหลายแง่มุมที่ดูเหมือนว่าผู้ชายกลับมองข้าม และไม่เชื่อ และมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ท้าทายสำหรับผู้หญิงเอาเลย แต่หารู้ไม่ในสายตาผู้เขียน (ผู้เขียนเอง)กลับมีแง่มุมหนึ่งว่า การที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องการหยุดสงคราม มีอิทธิพลทางการทหาร มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในการยุติความรุนแรง หรือเคลื่อนไหวดิ้นรนเพื่อสร้างสันติภาพ อาจเป็นความท้าทายที่ไม่ท้าทาย ในท่ามกลางจักรวาลของผู้หญิงอยู่ในอาณาจักรของผู้ชาย
 
          คำถามต่อว่า ไหนๆผู้หญิงพยายามรุกคืบมาตลอด ถ้าจะเปลี่ยนผ่านสู่การเล่นบทใหม่ อะไรที่ผู้หญิงต้องสร้าง และหนี้ให้พ้น
 
          ก่อนที่จะตอบข้อคำถามนี้ ขอทำความเข้าใจว่า เป็นไปได้ไหมที่ผู้เขียนจะมองว่าแท้จริงแล้วผู้หญิงเองรุกคืบไม่หมด รุกคืบไม่ขาด หรือโคนล้มไม่ตาย แต่อาจผลิตซ้ำแบบเดิมๆที่มองว่าผู้หญิงยังเป็นเพศที่อ่อนแอหรือไม่? เพราะผู้เขียนมีความรู้สึกจากการแปลในบทความเรื่อง”Women Waging Peace” แล้วจะมีความรู้สึกว่า แม้สตรีจะพยายามดิ้นรนเพื่อทำสิ่งซึ่งสาธารณะ เป็นต้นว่า การขอมีส่วนร่วมในการดิ้นรนเพื่อสันติภาพ แม้มีคำบอกกล่าวว่า สตรีควรจะเป็นศูนย์กลางในการสร้างสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่สตรีสามารถเอาประสบการณ์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งเข้ามาใช้ แต่หารู้ไม่ สตรีก็ยังถูกผลักไม่ให้เข้ารับโต๊ะเจรจาอยู่ดี
 
            คำถามว่าอะไรถึงเป็นเช่นนั้น?
 
            ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างหรือไม่? คำตอบนี้ มีบางคนอาจไม่แน่ใจ แต่หากเราติดตามสตรีจำนวนหนึ่งที่เข้ามีบทบาท เช่น การเข้าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือการเป็นทหารหญิง พบว่า ถ้าเป็นในระดับที่สูงขึ้นของการทำงานทั้งในระดับการเมือง หรือระดับกองทัพ ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการเจรจาเพื่อสันติภาพแล้ว มักจะถูกครอบงำโดยผู้ชาย
 
            คำถามว่า อะไรหรือ ที่ทำให้พื้นที่สำหรับสตรีไม่เอื้อ?.
 
            ถ้าจะตอบแบบลูกผู้หญิงสมัยใหม่ มองว่า อาจจะเป็นวิธีการขจัดไม่ให้ผู้หญิงมีอำนาจเทียบเท่า เพราะมายาคิดที่มองตลอดเวลาว่า การดิ้นรนเพื่อการยุติสงครามนั้น ยังคงถูกคิดว่า “เป็นงานของผู้ชาย” ด้วยเหตุนี้การยุติสงครามเพื่อสร้างสันติภาพมักจะให้ผู้ชายเป็นคนกระทำ
 
            คำถามต่อ มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่การที่ผู้หญิงมอง และติงมาตลอดว่า การให้ผู้ชายซึ่งวางแผนการรบมาวางแผนสันติภาพเป็นธรรมเนียมที่ไม่ถูกต้อง และมองว่าแท้ที่จริงแล้วเสียงของสตรีมักจะมีพลังสำหรับการคลี่คลายปัญหาเวลาที่มีความขัดแย้ง ด้วยเหตุผลที่ว่าการที่ผู้ชายออกสนามรบเข้าสู่โต๊ะเจรจาจะสู้กับผู้หญิงมาจากการเป็นพลเมืองที่ไม่ใช่ทหารในการเข้าสู่โต๊ะเจรจา คำถามว่าใครมีโอกาสสำเร็จในการเจรจาเพื่อยุติสงครามมากกว่ากัน
 
            คำถามที่ท้าทายอยู่ที่ว่าอะไรที่ผู้หญิงมั่นใจขนาดนั้น? ผู้หญิงอาจจะมองที่ลึกซึ้งมากกว่าผู้ชายก็เป็นได้ ผู้หญิงอาจจะมองว่า แม้การทำสงครามของเพศชาย เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ แต่ในตัวตนของเพศหญิงมองว่า การยุติสงครามก็เป็นพลังอำนาจที่มากพอๆกับเพศชายออกเช่นกัน แม้การทำสงครามนั้นจะเป็นหน้าที่ของเพศชาย แต่คงเป็นหน้าที่ของเพศหญิงกระมั่งที่จะรักษาสันติภาพจากสงคราม(ผู้เขียนมอง) อาจเป็นเพราะเพศหญิงมองว่าที่ผ่านมาสงครามไม่เฉพาะพวกตนเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ แต่สาธารณชนต่างโดนทารุณกรรมจากยุทธศาสตร์ทางการทหาร  หรือการตายของประชาชนที่มีจำนวนมากกว่าทหาร อาจเป็นความชอบธรรมที่ผู้หญิงจะต้องหาวิธีในการยุติสงครามก็เป็นได้
           
          คำถามว่าอะไรที่ผู้หญิงเพ้อฝันว่าตัวเองทำได้ดีกว่าผู้ชายในการสร้างสันติภาพ?
 
            ความจริงสันติภาพในความหมายของผู้หญิงไม่ได้มีความหมายเฉพาะการหยุดยิง หรือการหยุดสงครามเท่านั้น แต่สำหรับพวกเขามองว่า การหาวิธีการในการยุติสงครามโดยการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางสังคม โดยเฉพาะการใช้หลักความมั่นคงของมนุษย์เป็นฐานสำคัญในการสร้างสันติภาพมากกว่า เพราะถ้าได้ติดตามในนโยบาย โดยเฉพาะประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่ริเริ่มให้ความสำคัญของ “หลักความมั่นคงของมนุษย์”ในเรื่องความปลอดภัยและคุ้มครองชีวิตประชาชนนั้น แท้จริงก็มากพอๆกับกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมเรื่องเพศ ชาติพันธุ์ หรือศาสนาด้วยซ้ำ
 
            อันที่จริงผู้หญิงกับสันติภาพ ถูกเชื่อมร้อยไว้ลักษณะบุคลิกภาพตามธรรมชาติของผู้หญิงที่มีความอ่อนโยน ดูแลเอาใจใส่และรับผิดชอบสมาชิกในครอบครัว เป็นผู้ให้และผู้รักษาชีวิต ซึ่งลักษณะดังกล่าวอันเป็นด้านที่ตรงข้ามและแตกต่างออกไปจากผู้ชาย ผู้หญิงมีแนวโน้มของการเป็นผู้รักสันติภาพ ต่อต้านสงคราม รวมถึงการแสวงหาหนทางเพื่อระงับและยุติความรุนแรงอย่างสร้างสรรค์ (ฮาฟิสสา สาและ,2552: 7)อยู่แล้ว
 
            คำถามว่าทำไมผู้เขียนคล้อยตามด้วยในแง่มุมนี้
 
            ผู้เขียนเองก็ยอมรับในคุณลักษณ์ของผู้หญิงจริง และเห็นด้วยว่าคุณลักษณ์ของเพศหญิง แม้จะเป็นผู้อ่อนแอในสายตาของผู้ชาย แต่ตรงข้ามในเชิงการสร้างสันติภาพนั้น ถือว่าเพศหญิงกลับมีแนวโน้มของการเป็นผู้รักษาสันติภาพ โดยเฉพาะความไม่ธรรมดาที่ความอ่อนแอแต่กลับเสริมคุณค่าในการรักษาโลก อย่างเช่น การเพิ่มบทบาทด้านการเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน ขัดขวางสงครามและค้ำจุนสันติภาพ ตัวอย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2000 สภาความปลอดภัยแห่งสหประชาชาติ ออกคำสั่งเลขที่ 1325 เร่งเร้าให้เลขาธิการทั่วไป ขยายบทบาทของสตรีในเวที UN โดยเฉพาะในกลุ่มนักสังเกตการณ์ทางการทหาร ตำรวจพลเรือน นักทำงานเพื่อสิทธิมนุษย์ชน และเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยชน หรือองค์กรเพื่อความมั่นคงและร่วมมือยุโรป (องค์กร OSCE) เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสันติภาพ กลับให้ความสำคัญต่อผู้หญิงให้มีบทบาทในการสร้างสันติภาพโดยเอากลุ่มสตรีเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆกิจกรรมขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิทธิมนุษย์ชนทั่วยุโรป
 
            คำถามต่อว่าผู้เขียนมีเหตุผลอะไรสนับสนุน
 
            ในสายตาผู้ชายอาจไม่เชื่อ แต่สำหรับผู้เขียนเชื่อว่าเอาเข้าจริงสตรีไม่เฉพาะแค่นักขัดขวางสงครามเพื่อสร้างสันติภาพ แต่พบว่า มากกว่านั้นสตรียังสามารถที่จะเป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานความมั่นคงของประเทศ เช่นตำรวจ และกองทัพ และหน่วยสาธารณะได้ดี และเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการตอบสนองอย่างรวดเร็วในการแก้ไขความรุนแรง เช่นกรณี สตรีในไอร์แลนด์เหนือ ช่วยทำให้เหตุการณ์ “Marching Seasan” สงบลงโดยการสนับสนุนไกล่เกลี่ยระหว่างฝ่ายโปรแตสแทนท์กับฝ่ายชาตินิยมแคธอลิกให้สามารถอยู่ร่วมด้วยกันได้
 
            ด้วยการดิ้นรนเพื่อสันติภาพที่น่าสนใจคือ การที่สตรีเหล่านี้จะเสนอสมาชิกของแต่ละชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มออกจากคุกให้เป็นคนไกล่เกลี่ยเพื่อลดความตึงเครียด กลุ่มนักไกล่เกลี่ยได้ทำงานร่วมกับตำรวจท้องถิ่นตลอดเวลาเพื่อแก้ปัญหา และกลุ่ม “Marching Seasan” มีการพบปะกันอย่างเงียบๆและมีการติดต่อระหว่างกันตลอด 24 ชม ซึ่งการกระทำเช่นนี้ เป็นการทำลายขีดข้อจำกัดของเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของตำรวจท้องถิ่นและนโยบายรักษาความปลอดภัย
 
            หรือจากมุมมองอันน่าสนใจจากงานวิจัยพบว่า ความคิดที่จะให้สตรีเป็นนักสร้างสันติภาพเป็นสิ่งที่ถูกต้องทางการเมือง เพราะจากการวิจัยทางสังคมศาสตร์สนับสนุนว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีกว่าเพศชาย นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มในการประนีประนอมและมีความรอบคอบมากกว่าผู้ชาย
 อีกแง่มุมหนึ่งที่บอกว่า สตรีแตกต่างจากผู้ชายในเรื่องของการมีจิตวิทยาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สตรีมักอยู่กับสัญลักษณ์ที่แสดงตัวตนในความเป็นแม่ซึ่งสามารถข้ามผ่านเส้นแบ่งความเป็นต่างชาติและต่างเชื้อสายได้
 
             มันสอดคล้องกับงานค้นคว้าในบทความผู้หญิงมุสลิมในบริบทความขัดแย้งบทสะท้อนภาวะสมัยใหม่ ที่บอกว่าการเคลื่อนไหวงานสันติภาพที่ขับเคลื่อนโดยผู้หญิงนั้นจะใช้ความเป็นหญิงและความเป็นแม่ สามารถประสบความสำเร็จได้(ฮาฟิสสา สาและ,2552: 7)
หรือหากพิจารณาบทบาทที่มีความทะนุทะนอมของสตรีในการสร้างความมั่นคงให้กับสังคม ที่บอกว่าสตรี รู้เกี่ยวกับชุมชนของพวกเธอได้ดีกว่าทำให้สามารถคาดการณ์การ และง่ายต่อการวางแผนสร้างสันติภาพได้ดีกว่ากลุ่มอื่น
 
            แต่ประเด็นนี้ (หมายถึงประเด็นที่มองว่าผู้หญิงเท่านั้นมีความทะนุทะนอม) อาจมีบางกลุ่มมองต่าง และเห็นแย้งกันได้ โดยเฉพาะการที่บอกว่าความทะนุทะนอมของสตรีและความรุนแรงไม่ใช่วิสัยของผู้หญิง แน่นอนต้องมีคนตั้งคำถามว่า คุณแน่ใจอย่างไรว่าผู้หญิงไม่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง
คำถามนี้น่าสนใจมาก และผู้เขียนเองก็ยังคิดในใจว่า อะไรคือหลักประกันว่าผู้หญิงไม่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงแต่ใช้ความทะนุทะนอม เป็นเพราะถ้าได้พิจารณา ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง… ใครมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมากกว่ากัน?
 
            ข้อคำถามนี้แม้โดยทั่วไปเชื่อกันว่าผู้ชายเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและสงคราม แต่เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องราวของผู้หญิงในสงครามปรากฏอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง โดยพบว่า บทบาทของผู้หญิงในสภาพสงคราม จะมาในรูปผู้ช่วยเหลือ ผู้สนับสนุนทางจิตวิทยา กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ กรณีของ Amazon ในปกรณ์นัมของกรีก ชาว Amazon เป็นสังคมของผู้หญิงล้วนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของทะเลดำ พบว่า เมื่อกลุ่มพวกเขาถูกทำให้ท้องโดยผู้ชายในเมืองใกล้เคียง แต่พวกเขาปฏิเสธเด็กทารกโดยการทิ้งเด็ก(ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, 2552: 6-7)
 
            จากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่มองว่าจะเป็นไปได้หรือที่บอกว่าผู้หญิงไม่เคยใช้ความรุนแรงและมีแต่ทะนุทะนอมเท่านั้น เพราะถ้าดูการเคลื่อนไหวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมานั้น ผู้หญิงก็มีส่วนในการสร้างความรุนแรงไม่น้อย โดยเฉพาะการที่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ก่อการให้ออกมาเคลื่อนไหว เช่นกรณีการออกมาปิดถนน ปิดตาเรียกร้อง หรือการที่ผู้หญิงในพื้นที่บางกลุ่มเองก็เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง เช่น การให้การสนับสนุนและเคลื่อนไหวแบบเงียบในรูปการเฝ้าระวัง ติดตามและรายงาน หรือแม้กระทั้งลงมือเองก็มี หรือการที่ผู้หญิงบางกลุ่มออกมาเคลื่อนในเหตุการณ์ต่างๆเป็นต้น
 
            แม้ผู้เขียนจะยอมรับในปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริงของการใช้ความรุนแรงของผู้หญิง แต่ถ้ามาเปรียบเทียบระหว่างการสร้างความรุนแรงกับการสร้างสันติภาพนั้นน่าจะมีตัวบ่งชี้ที่ต่างกันไม่น้อยหรือไม่?
 
            เป็นเพราะผู้เขียนเคยได้ยินคำปรารภจากอดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) คือนายโคฟี อันนัน ได้กล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2000 ที่สภาความมั่นคงว่า โดยทั่วไปแล้วสตรีจะทำตัวเองเป็นนักศึกษาสันติภาพ ทั้งในเรื่องครอบครัวและสังคม เห็นได้จากสตรีนั้นเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสร้างสันติภาพมากกว่าการสร้างกำแพงสันติภาพ สตรีสามารถเชื่อมความแตกแยก แม้ว่าในสถานการณ์ที่ผู้นำคิดว่าความขัดแย้งนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะแก้ไขก็ตาม
 
            คำพูดของท่านมันชี้ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงประเทศหนึ่ง คือประเทศซูดาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความแตกแยกเพราะเกิดจากสงครามกลางเมือง แต่พบว่าในภาคใต้ซูดานของประเทศจะมีสตรีกลุ่มหนึ่งจะทำหน้าที่ในการดิ้นรนเพื่อสร้างสันติภาพ โดยกลุ่มนี้จะเข้าทำงานร่วมกันในสภาคริสตจักร ในการดำเนินการทางการทูตของตน โดยมีการประชุมสุดยอดผู้น้ำเผ่าต่างๆที่ Wunlit  เดือน ก.พ. ปี 1999 เพื่อการหยุดหนองเลือดระหว่างเผ่า Dinka และเผ่า Nuer ซึ่งข้อตกลง Wunlit รับประกันสันติภาพระหว่างสองเผ่า โดยเห็นพ้องในการแบ่งปันสิทธิในแหล่งน้ำ การประมง และสำหรับทำการปศุศัตว์ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของข้อตกลง ข้อตกลงนี้ได้ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักโทษสงคราม และรับประกันเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของสมาชิกทั้งสองเผ่าเกิดขึ้น
กรณีองค์กรสตรีระดับรากหญ้าในอิสราเอลมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสตรีชุดดำ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1988 และกลุ่มสตรีชุดเขียวซึ่งก่อตั้งในปี 1993 ทั้งสองกลุ่มอาจเห็นแตกต่างกับในเรื่องการเมือง แต่ทั้งสองกลุ่มเรียกร้องในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นผู้หญิง และความเป็นแม่ในการดิ้นรนเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
โดยพบว่า กลุ่มสตรีเล็กๆ กลุ่มหนึ่งตัดสินใจพบปะกันทุกๆวันศุกร์ที่สีแยกย่านคนพลุกพล่านในกรุงเยรุซาเล็ม โดยสวมเสื้อชุดสีดำและถือสัญลักษณ์รูปมือที่มีข้อความว่า “หยุดการยึดครอง” หรือสตรีชุดดำในอิสราเอลยังคงทำงานเพื่อลดความรุนแรงในการยึดครอง โดยการทำงานร่วมกับกลุ่มพันธมิตรที่ชื่อว่ากลุ่มเพื่อสันติภาพ โดยพวกเธอได้เดินขบวนต่อต้านการปิดเมืองในปาเลสไตส์ โดยอ้างว่า การปิดเมืองดังกล่าวเป็นการขัดขวางไม่ให้สตรีมีครรภ์เข้าถึงการบริการสาธารสุขและทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนพวกเธอยังได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมเต็มรูปแบบในการเจรจาสันติภาพเป็นต้น
 
            ข้อสนับสนุนต่างๆที่ผู้เขียนชี้ชวนว่า แม้ในสายตาของผู้ชายจะมองผู้หญิงในฐานะผู้ที่อ่อนแอ และไม่เชื่อในศักยภาพและคุณลักษณ์ของผู้หญิงว่าสามารถทำได้ แต่นั้นผู้เขียนเองมีความเข้าใจอยู่ก่อนแล้ว เพราะผู้เขียนยอมรับในระบบอำนาจความจริงที่ผู้หญิงถูกแย่งพื้นที่มาตลอด โดยเฉพาะพื้นที่ความเป็นใหญ่ของผู้ชายในสายตาผู้ชายหรือสายตาของผู้หญิงเอง ทำให้แม้สตรีจะพยายามหาพื้นที่สร้างภาพก็ตาม แต่ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าในอนาคตอาจไม่แน่ พื้นที่ระบบอำนาจความเชื่อเหล่านั้นอาจจะตกขอบความคิดเดิมๆที่บอกว่าอาณาจักรของชายก็เป็นจักรวาลของผู้ผู้ชาย แต่ในอนาคตอาจเปลี่ยนไปว่าอาณาจักรของชายแต่จักรวาลนั้นอาจเป็นของผู้หญิงก็เป็นได้ แต่มีข้อแม้อยู่ที่กระบวนทัศน์ใหม่ของสตรีในบริบททางความคิด ความเชื่อ ศาสนา พื้นที่ อำนาจ นั้นเปลี่ยนผ่านไปด้วย
 
            เพราะผู้เขียนมีความรู้สึกว่าหัวใจสำคัญของการดิ้นรนเพื่อสันติภาพนั้น อยู่ที่กระบวนทัศน์ใหม่ของสตรีในหลายๆ บริบทที่สตรีต้องเปลี่ยนผ่านเป็นต้นว่า
 
1.บริบททางความคิด
 
            การที่ผู้หญิงเองต้องเชื่อในศักยภาพของผู้หญิงที่มากกว่า การอยู่ในเขตแดนแค่“ขบวนการสตรีนิยม” แต่ต้องเปลี่ยนผ่านเป็นนัก “ขบวนการผู้หญิง” คือ จากที่เน้นแค่เพื่อผู้หญิง สู่การต่อสู้ทางสังคมของกลุ่มผู้หญิงที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสตรีและปรับคุณภาพชีวิตของสมาชิกในสังคม เพื่อใช้พื้นในการสร้างพลังความสามารถสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงโลกส่วนตัวและสังคมส่วนรวมที่ตนอาศัยโดยคาดหวังว่าตนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นและเพื่อสร้างการยอมรับระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย(สุไรนี สายนุ้ย, 2552: 8)
 
            ผู้เขียนมีความเข้าใจว่า ตราบใดที่คิดแค่เฉพาะกลุ่มนิยมสตรีมากกว่ากลุ่มสาธารณะ อย่าได้หวังว่ามายาคติของชายจะยอมรับในสถานะของผู้หญิงเลย ฉะนั้นทางเดินที่สำคัญคือ ผู้หญิงต้องหนี้กรอบและคิดใหม่ว่า การทำงานด้านสตรีนั้นไม่เพียงพอแค่ทำเพื่อสตรี แต่ต้องทำเพื่อมวลชนมากขึ้น คือต้องจับหลายๆบทบาทที่สร้างสรรค์และคิดว่าผู้ชายทำไม่ได้ หรือทำแล้วสู้ผู้หญิงไม่ได้(ผู้เขียน)
 
            กรณีกลุ่มเยียวยาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เริ่มต้นงานเล็กจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ทำการสำรวจสตรีที่ได้รับความสูญเสียเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค และการเยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจ ในกรณีสตรีได้รับผลกระทบทางจิตใจสูงอาจมีการช่วยเหลือโดยประสานงานเพื่อส่งไปรักษาตามความเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือจากนักวิชาการจากส่วนกลางในกระบวนการและวิธีในการเยียวยา และ ณ ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆทั้งในและนอกพื้นที่(สุไรนี สายนุ้ย, 2552: 9) เห็นไหม เมื่อกลุ่มสตรีเปลี่ยนกรอบคิด และเล่นพื้นที่ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ก็จะถูกการยอรับไม่เฉพาะแค่กลุ่มสตรีเท่านั้น แต่เพศชายก็ยอมรับด้วย
ดังนั้นหัวใจสำคัญคือ ผู้หญิงต้องกล้าเล่นที่ต่างจะผู้ชายเล่น และเล่นในคุณลักษณ์ที่ผู้หญิงมี แน่นอนการถูกยอมรับในพลังสตรีไม่เฉพาะแค่กลุ่มสตรียอมรับ กลุ่มผู้ชายต่างก็เห็นด้วยในศักยภาพเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนมายาคติที่ติดบ่วงของเพศหญิงอาจตกขอบก็เป็นได้
 
2.บริบททางความเชื่อ
 
            ภายใต้ลักษณะทางสังคมที่มีวัฒนธรรมโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันพบได้ในเกือบทุกๆด้าน เช่นในสังคมภาคเหนือได้สรุปไว้ว่า สังคมภาคเหนือเป็นระบบสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้มีผู้หญิงมีความรู้สึกว่าผู้หญิงมีคุณลักษณะเป็นผู้รองรับและผู้ถูกกำหนดอย่างไร้อำนาจ และถูกลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์(Dehumanize) ให้เป็นเพียงสิ่งของที่สามารถกำหนดความเป็นไปของสังคมรอบข้างหรือแม้แต่ชีวิตของตนเอง(สุไรนี สายนุ้ย, 2552: 3) แต่ทัศนะของผู้เขียนมีความรู้สึกว่า นั่นเป็นการตอบย้ำให้เกิดความอ่อนแอลง ด้วยมายาคติของผู้หญิงเอง เพราะการที่ผู้หญิงเองไม่ยอมหลุดพ้น และเชื่อตามในความเชื่อที่ผู้ชายผลิตซ้ำอยู่นั้น เท่ากับเป็นการยอมรับในความจริงที่ผู้ชายผลิตความรู้(ผู้เขียน)
 
             เพราะหากยอมรับตามทัศนะระบบอำนาจความจริง (Regime of Truth) ที่ว่าแท้จริงโลกนั้นยังอยู่ในจักรวาลของผู้ชาย (Feminine World in Masculine Universe)แล้วก็คงไม่มีสิทธิสำหรับผู้หญิงที่จะมีความชอบธรรมที่จะกล่าวหาว่าผู้ชายบ้าอำนาจและชอบเอาเปรียบ
 
             ผู้เขียนกลับมีความรู้สึกว่า หากกระบวนทัศน์ใหม่ของสตรีมีกรอบคิดใหม่ ที่มีความเชื่อในระบบลักษณะเด่นสำคัญของลัทธิสมัยใหม่นิยม หรือกระบวนการวางโครงสร้างองค์ความรู้ใหม่ลัทธิสมัยใหม่นิยมแบบตะวันตกจากนักคิดอย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ที่บอกว่าหากมนุษย์มีความเข้าใจและเชื่อในกระบวนการสร้างอำนาจ กระบวนการวาดวางสิทธิ และกระบวนการสร้างความจริง(นิพนธ์ โซะเฮง, 2552: 6) แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้หญิงหลายๆคนจะเกิดปฏิกิริยาใหม่ คือ ปฏิกิริยาการทอนภาวะทันสมัย(de-modernization)  คือผู้หญิงจะมีความท้าทายระบบต่างๆออกมาในรูปของขบวนการพิทักษ์สิทธิสตรี ขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุดมการณ์ฟื้นฟูภูมิปัญญาประเพณีพื้นบ้าน และจะเกิดปฏิกิริยาการพ้นภาวะทันสมัย(Post-modernization) คือจะเกิดการฟื้นคืนของสายสัมพันธ์ชาติพันธุ์ (ethnic resurgence) (ฮาฟิสสา สาและ,2552 :3) ก็เป็นได้
เมื่อถึงจุดนี้เอง ผู้เขียนเชื่อแน่เลยว่า ผู้หญิงจะเห็นพลังอำนาจของตัวเองที่หลุดพ้นความเชื่อเดิมๆ และอาจจะหันมาดูศักยภาพใหม่ของตัวเองว่าเอาเข้าจริงแล้วเขาก็มีความสามารถมากมายทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ดังที่ปรากฏในบทบาทใหม่ของสตรียุคสมัยใหม่(ผู้เขียน)
 
3.บริบททางศาสนา
 
            ความจริงเรื่องนี้ผู้เขียนจะต้องขอเวลาอธิบายให้เข้าใจอย่างมาก บางครั้งมักมองว่าความเท่าเทียมไม่เท่าเทียมนั้น ส่วนหนึ่งมาจากศาสนามาครอบงำ โดยเฉพาะในมิติทางศาสนาอิสลามมักจะถูกโจมตีและกล่าวหาจากโลกตะวันตกว่า เป็นกำแพงขวางกั้นความเท่าเทียมเหล่านั้น และก็นำไปสู่กรอบคิดที่ผลิตขึ้น และรักษาสภาพจากผู้ชายที่พยายามรักษา และสงวนสิทธิ โดยเฉพาะผู้ชายในศาสนาอิสลาม ทำให้ผู้หญิงเองไม่กล้าที่จะทลายกำแพงเหล่านั้น เพราะกลัวโดนกล่าวหาว่าเป็นผู้หญิงเลว
 
            ข้อเท็จจริงพระมหาคัมภีร์กรุอ่านมีหลักการมากมายที่บ่งบอกถึงความเท่าเทียมและความเป็นเอกภาพ ระหว่างหญิงและชายในอิสลาม อาทิ บทบัญญัติที่กล่าวว่า “…นางทั้งหลายนั้นคือเครื่องนุ่งห่มของพวกเจ้า และพวกเจ้าคือเครื่องนุ่งห่มของพวกนาง…” หมายความว่า อิสลามถือว่าหญิงมีความสามารถและมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ และถือว่าหญิงมีความเท่าเทียมกับชายทั้งด้านจิตวิญญาณและสติปัญญา ส่วนความแตกต่างทั้งสองเพศอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างทางสรีระร่างกายเท่านั้น (สุไรนี สายนุ้ย, 2552: 2)
 
            ผู้เขียนก็มีความเห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่มีอะไรทับซ้อนและครอบงำในเรื่องความเท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียม และผู้เขียนมองว่า นั้นเป็นความชอบธรรมของผู้หญิงด้วยซ้ำที่จะไม่ให้ใครมาล่วงละเมิดสิทธิแห่งเพศ และเป็นความชอบธรรมด้วยซ้ำในการปกป้อง คุ้มครองและรักษาทั้งที่เป็นชีวิตของตนเอง และคนอื่น และไม่ได้หมายความว่า การรักษาความมั่นคงของมนุษย์นั้นไม่ได้แค่เป็นหน้าที่ของเพศชายเท่านั้น ผู้หญิงก็สามารถทำได้
 
            ผู้เขียนมีความเชื่อบนตรรกะที่ว่า แท้จริงแล้วทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ และคุณก็เป็นมนุษย์ ไม่มีใครเหนือกว่าต่ำกว่า เพราะแท้จริงแล้วพระเจ้าสร้างมนุษย์บนความเท่าเทียมแห่งอำนาจและแห่งสิทธิในฐานะที่บ่าวของพระองค์อยู่เอง (ผู้เขียน) เพราะถ้าพิจารณาการตอบสนองของลัทธิสมัยใหม่นิยมแบบอิสลามต่อความทันสมัยในทัศนะตะวันตกและลัทธิจารีตดั้งเดิมนิยมแบบอิสลาม เช่น มองว่าบรรดาอุลามาอ์(traditionalist) เป็นต้นต่อของความตกต่ำ เพราะสร้างวัฒนธรรมการเลียนแบบ (ตักลีด) หรือ การมองว่าอิสลามเป็นเรื่องง่าย ทันสมัย ก้าวหน้า มีพลวัตรตามเวลาแลสถานที่ เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนว่า ในภาวะยุคสมัยใหม่นิยม อะไรที่อยู่ในกรอบเดิมอาจมีการดิ้นรนใหม่ๆเกิดขึ้นมาก็เป็นได้
 
            จากที่มองว่าผู้หญิงไม่มีพลัง มีอำนาจ อาจสร้างพลังและอำนาจที่เหนือกว่าเพศชายที่หลงตัวเอง และอาจทำให้ผู้หญิงก้าวสู่แนวหน้าทัดเทียบชายที่หลงตัวเองก็เป็นได้ แม้ใครจะเชื่อหรือไม่อยากเชื่อ แต่ที่แน่สังคมยุคสมัยไม่อยู่กับที่แน่นอน
 
4. บริบทพื้น อำนาจ และการต่อรอง
 
            ประเด็นนี้ผู้เขียนขอวางกรอบว่า เมือไหร่ที่ผู้หญิงคิดว่าตัวเองมีของดี และนำเสนอ หรืออธิบาย เมื่อนั้นจะมีอำนาจ และมีการต่อรองเกิดขึ้นแต่ทั้งนี้อยู่ที่การปรับใหม่ของผู้หญิงที่ต้องกล้าแสวงหาพื้นที่ เพื่อเล่นบทบาทใหม่ และแสดงคุณลักษณ์ใหม่ที่เอื้อต่อการเปิดพื้นที่ทางสังคม ให้สามารถมีอำนาจและต่อรองที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ที่ไม่เฉพาะแค่สตรีเพศเท่านั้น แต่เป็นการหาอำนาจและต่อรองเพื่อเพศอื่นๆ เชื่อว่าพื้นที่ของผู้หญิงจะมีความโดดเด่น และเป็นที่ยอมรับจะเพศตรงข้าม (เพศชายและเพศที่สาม)ก็เป็นได้
การที่ผู้หญิงมีความกล้าที่จะเผชิญกับปฏิกิริยาสำคัญสี่อย่าง คือ ปฏิกิริยาภาวะทันสมัย (Counter- modernization) ปฏิกิริยาการเร่งภาวะทันสมัย(hyper- modernization)ปฏิกิริยาการทอนภาวะทันสมัย (de-modernization) และปฏิกิริยาการพ้นภาวะทันสมัย(Post-modernization) ก็เพียงพอแล้วในการถามท้าโลกสมัยใหม่ ที่สามารถสร้างโอกาสให้แก่ผู้หญิงในการก้าวสู่การเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในการทำงาน เพราะมีโอกาสออกสู่โลกภายนอกเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ จนสามารถเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตัวผู้หญิงไปสู่บทบาทการทำงานช่วยเหลือพัฒนาชุมชนเพื่อให้มีศักยภาพในการรองรับหรือต่อรองกับการเปลี่ยนแปลง(ฮาฟิสสา สาและ,2552: 12)
 
            หากผู้หญิงมีความเชื่อต่อทัศนะของ(Michel Foucault) ที่บอกว่าหากมนุษย์มีความเข้าใจและเชื่อในกระบวนการสร้างอำนาจ กระบวนการวาดวางสิทธิ และกระบวนการสร้างความจริงนั้น ผู้เขียนมีความมั่นใจว่าบริบทเชิงพื้นที่ ในการสร้างสันติภาพด้วยเครื่องมือเล็กอย่างกลุ่มเยียวยา กลุ่มสันติภาพ แม้ผู้ชายจะมีความภูมิใจต่อการสร้างสงครามว่าตนมีอำนาจและยิ่งใหญ่แต่ผู้หญิงก็คงมีความภาคภูมิใจไม่น้อยต่อภารกิจการสร้างสันติภาพเฉกเช่นกัน
 
สรุป
 
 แม้ผู้หญิงจะมีความรู้สึกว่าตนมีอำนาจจำกัด และถูกกำหนดขอบเขตโดยผู้ชาย ทำให้หาพื้นที่ยากต่อการดิ้นรนเพื่อสร้างสันติภาพ แต่ผู้เขียนคงมีความเข้าใจที่ตรงกับผู้หญิงออกเช่นกันว่า แท้จริงมันเป็นมายาคติของผู้ชายที่ดำรงอยู่มาช้านาน พร้อมๆกับยอมรับอำนาจความเป็นชายเหนือกว่าผู้หญิงที่ผู้หญิงสร้างเอง และผู้ชายผลิตซ้ำ แต่ภาวะทันสมัยนั้น กลับสร้างพื้นที่ใหม่ให้ผู้หญิงที่อ่อนแอกลับหาพื้นเล่นบทใหม่ที่คิดว่าผู้หญิงเล่นบทบาทได้ดีกว่าผู้ชาย และกล้าเปลี่ยนกรอบคิด จากแค่เล่นเพื่อผู้กลุ่มสตรีนิยมสู่การเล่นเพื่อมวลชน เห็นได้จากการเกิด ขบวนการเคลื่อนไหว กระบวนการสร้างเครือข่ายผ่านการมีอิทธิพลทางทหาร ทางการเมือง หรือความพยายามสร้างและขยายเพิ่มพื้นที่สันติภาพในแบบฉบับผู้หญิง นั้นอาจเป็นความท้าทาย แม้ผู้หญิงจะถูกจักรวาลของชายครอบมาช้านาน แต่อนาคตอาจเปลี่ยนสู่การคงสภาพเพียงแค่อาณาจักรของผู้ชายแต่จักรวาลนั้นเป็นของผู้หญิงก็เป็นได้
 
 -------------------
1บทความฉบับร่าง กรุณาอย่าไปอ้างอิงหรือเผยแพร่ ใช้ในการนำเสนอในวิชาสมัมนา วิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
2นักศึกษาปริญญาโท สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่