Skip to main content
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี, สกว.
 
             เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 อุสตาซหะซัน ตอยยิบ ตัวแทนคนหนึ่งของ BRN ในกระบวนการสันติสนทนาที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 ได้นำเสนอคำประกาศ BRN ครั้งที่ 4 ทาง Youtube ว่าจะยุติปฏิบัติการทางทหารตลอดเดือนรอมฏอน (เริ่มประมาณวันที่ 10 กรกฎาคม) จนถึง 10 วันแรกของเดือนเซาวาล (คือประมาณวันที่ 17 สิงหาคม) ดังที่ได้เคยตกลงกันในสันติสนทนาครั้งหลังสุดเมื่อ 13 มิถุนายน 2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์โดยมีเงื่อนไขให้ทางการไทยต้องถอนกำลังทหาร-ตำรวจออกไปจากพื้นที่สามจังหวัดและห้าอำเภอของสงขลา ให้ทหารของกองทัพภาค 4 อยู่ในที่ตั้ง ไม่ให้ฝ่ายราชการโจมตี ปิดถนน จับ ควบคุมคน หรือ จัดกิจกรรมสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน กับให้ อ.ส.ที่เป็นมุสลิมไม่ต้องประจำการเพื่อให้พวกเขาไปปฏิบัติศาสนกิจที่บ้านได้ อีกทั้งห้ามขายเหล้าหรือสิ่งมึนเมาอื่นๆ ปิดแหล่งอบายมุขต่างๆตลอดเดือนรอมฎอน ทั้งหมดนี้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ลงนามและต้องประกาศในวันที่ 3 กรกฎาคม 2556
 
คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะคาดคะเนสีหน้าของท่านผู้บัญชาการทหารบกเมื่อได้รับรู้เนื้อหาในคำประกาศ BRN ครั้งที่ 4 นี้
 
            ที่จริงคงไม่ได้มีแต่ท่านผู้บัญชาการทหารบกเท่านั้นที่จะรู้สึก “ปี๊ด”กับคำประกาศครั้งหลังนี้ แต่หลายฝ่ายในสังคมไทยนอกพื้นที่ซึ่งความรุนแรงดำเนินอยู่ก็คงจะ “ปี๊ด” เช่นกัน   ปัญหามีอยู่ว่าเมื่อ “ปี๊ด” ไปแล้วผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงภาคใต้ และผู้คนในสังคมไทยควรทำอย่างไรต่อ?
 
            ข้อเขียนสั้นๆนี้เป็นการชวนให้ฝ่ายต่างๆในสังคมไทยได้ทำความเข้าใจกับ “สันติสนทนา”  ที่กำลังดำเนินอยู่เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยมั่นใจในทิศทางการแก้ปัญหา และพร้อมเตรียมรับแรงกระเพื่อมที่จะเกิดจาก “สันติสนทนา” ได้ด้วยความรอบคอบ มีเหตุมีผลบนพื้นฐานของความรู้ในเรื่องนี้เพื่อประโยชน์สุขของประเทศ
 
1. สิ่งที่ผู้คนในสังคมไทยควรตั้งคำถามไม่ใช่ว่า BRN มีเจตนาอย่างไรจึงแถลงคำประกาศเช่นนี้หรือคิดอย่างไรจึงแถลงคำประกาศชนิดที่ก็รู้กันทั่วไปว่า ฝ่ายรัฐบาล ภาคราชการ และผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากคงรับข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้  แต่ควรถามว่าคำประกาศของ BRN กำลังทำงานอย่างไรในสังคมไทยขณะนี้โดยเฉพาะที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับ “สันติสนทนา”
 
2. ผมเลือกใช้คำว่า “สันติสนทนา” (peace dialogue) เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่ “การเจรจาสันติภาพ” (peace negotiation)ข้อต่างสำคัญคือ ผลลัพธ์ที่จะเกิดจากการเจรจาสันติภาพคือ ข้อตกลงสันติภาพ (peace agreement) แต่สิ่งที่อาจจะได้จาก “สันติสนทนา” คือความเข้าใจในกันและกันตลอดจนบรรยากาศในการร่วมกันหาทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรงที่กำลังรัดรึงทุกฝ่ายอยู่
 
3. กฎข้อแรกที่บิดาของสันติศึกษาคือ โยฮัน กัลตุง เคยสอนเกี่ยวกับการทำงานกับความขัดแย้งโดยเฉพาะในแนวทางสันติสนทนาคือ “อย่าฟังแต่เฉพาะสิ่งที่เขาพูด แต่ต้องฟังสิ่งที่เขาไม่ได้พูดด้วย”  ในแง่นี้จะเห็นได้ว่า คำประกาศฉบับที่ 4 ของ BRN สะท้อนการทำงานที่เตรียมการมา เพราะเลือกประกาศเสนอให้ยุติความรุนแรงในช่วงเวลาเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลาม (holy time) ด้วยการใช้วันที่สำคัญทางการเมืองของไทยในอดีตเป็นหมุดตรึงคือ วันเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามเมื่อ 81 ปีก่อนคือ 24 มิถุนายน อีกทั้งเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำประกาศของตนในวันที่ 3 กรกฎาคม อันเป็นวันครบรอบชัยชนะของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ผ่านการเลือกตั้งเมื่อสองปีก่อนพอดี กล่าวได้ว่าคำประกาศนี้เป็นการจัดวางเวลาศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาไว้ในเวลาทางประวัติศาสตร์และการเมืองประชาธิปไตยของสังคมไทย ทั้งหมดนี้หมายความว่า คงต้อง “อ่าน” ประกาศของ BRN ในฐานะคำแถลงต่อสังคม คือไม่ใช่ตั้งคำถามว่า ฝ่ายเขาต้องการอะไร แต่ที่สำคัญอยู่ที่เขากำลังบอกกับฝ่ายใด? ว่าเขาเป็นใคร? และคิดว่ารัฐและสังคมไทยเป็นอย่างไร?
 
4. ทุกครั้งและเกือบทุกหนแห่งที่เริ่มใช้  “สันติสนทนา” ความรุนแรงก็มักเพิ่มขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะ “สันติสนทนา”ไม่ใช่ “เทคนิค” ในการเผชิญกับความขัดแย้งที่ถึงตาย แต่ “สันติสนทนา” เป็น “การเมืองแห่งความขัดแย้ง” ชนิดที่การหาทางลดและมุ่งขจัดความรุนแรงให้หมดไปสัมพันธ์กับปัญหาความชอบธรรมที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของคนที่ก้าวเข้าสู่เวที “สันติสนทนา” กล่าวคือ ถ้า “สันติสนทนา” สร้างความชอบธรรมให้กับหะซัน ตอยยิบและมิตรสหายของเขาซึ่งก็มีบทบาทให้ฝ่ายอื่นๆซึ่งต่อสู้กับรัฐไทยอยู่ต้องยอมรับ ขณะที่ฝ่ายที่ไม่ได้ขึ้นรถไฟสันติภาพขบวนนี้ก็ต้องหาวิธีลดทอนความชอบธรรมของ BRN ซึ่งรวมทั้งการใช้ความรุนแรงเป็นฐานความชอบธรรมของตน เป็นไปได้ว่าเพราะเหตุนี้ในกรณีของไทยคณะทำงาน ศอ.บต.ที่ศึกษาเรื่องนี้จึงพบว่า นับแต่เริ่มสันติสนทนาเมื่อ 28 มีนาคม 2556 จนปัจจุบัน ความรุนแรงในพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
 
5. แต่ถ้าถามว่าแล้วยังจะต้อง “สนทนา” กันต่อไปอีกหรือ คำตอบก็คือแน่นอน เพราะในการศึกษากลุ่มใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะการ “ก่อการร้าย” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 268 กลุ่ม ของ Rand Corporation  พบว่า มีเพียงร้อยละ 7  หรือ 20 กลุ่มเท่านั้นที่รัฐใช้กำลังทหารเอาชนะได้ ขณะที่ ร้อยละ 43 ของกลุ่มใช้ความรุนแรงหรือ 114 กลุ่มโดยเฉพาะที่มีสมาชิกเกินพันคนเลิกสู้รบ เพราะหันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองปรกติ (Dudouet 2013) ได้  ปัญหาความขัดแย้งที่ถึงตายอย่างที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ที่สุดก็เช่นเดียวกัน ความรุนแรงคงไม่อาจทำให้ความขัดแย้งนี้จบลงได้ 
 
6. หลายคนคงถามว่า ถ้าเช่นนั้นจะต้อง “คุย” กันไปอีกนานเท่าใดกว่าจะตกลงกันได้? ผมคิดว่าไม่มีใครบอกได้ว่าในกรณีของไทยสันติสนทนาจะใช้เวลาเท่าใด เพราะเรื่องนี้เป็นกระบวนการที่อาจต้องใช้เวลากว่าจะกลายเป็นข้อตกลงสันติภาพ ในกรณีของอาเจะห์กับรัฐบาลอินโดนีเซียก็ใช้เวลา 16 ปี ตั้งแต่ 2532 ถึง 2548 จึงบรรลุข้อตกลงเฮลซิงกิ (เพราะมีฟินแลนด์เข้ามาช่วยกระบวนการ) หรือ กรณีมุสลิมมินดาเนากับรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ใช้เวลาพูดคุยกันนาน 26 ปีตั้งแต่ 2529 ถึง 2555 ผ่านข้อตกลงหยุดยิงหลายครั้งหลายหน และมีรัฐบาลจากหลายประเทศรวมทั้งมาเลเซียเข้ามามีส่วนร่วม
 
7. ถ้าถามว่าที่สนทนากันมาแล้วได้อะไร? คำตอบก็คือนอกจากจะได้พบเห็นตัวตนของฝ่าย BRNผู้เข้ามาเจรจา สร้างบรรยากาศแห่งการพูดคุยแล้ว ที่สำคัญยิ่งคือการเปลี่ยนแปลงดุลยภาพแห่งความชอบธรรมในความขัดแย้งนี้ เพราะการเมืองของสันติสนทนาเป็นการลดทอนความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงของผู้ใช้ (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด) โดยเฉพาะเมื่อเหยื่อเป็น เด็ก เป็นผู้หญิง เป็นคนแก่ หรือเป็นครูทั้งที่เป็นครูสอนศาสนาและครูโรงเรียนของรัฐ อาจเพราะเช่นนี้งานวิจัยของศอบต.จึงพบว่า หลังจากเริ่มสันติสนทนาเมื่อเดือนมีนาคม 2556 จนถึงบัดนี้ จำนวนเหยื่อความรุนแรงที่เป็นพลเรือนจึงลดลงครึ่งหนึ่ง
 
8. ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหานี้ควรคิดให้ชัดเจนว่า ที่ตัดสินใจเลือกเส้นทาง “สันติสนทนา”  ก็ไม่เพียงเพราะเห็นว่าหนทางนี้เป็นหนทางที่ถูกด้วยมีคุณค่าทางศีลธรรมแฝงอยู่ในตัว แต่เพราะประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ถึงตาย (deadly conflicts) รอบโลกสอนเราว่า ในที่สุดคู่ขัดแย้งก็ต้อง “คุย” กัน ไม่ว่าจะรบรากันนานเพียงไร แม้ที่ “ดูเหมือน” ว่าจะจบลงได้ด้วยการใช้กำลัง (อย่างในศรีลังกา) ก็พบว่าการใช้ความรุนแรงไม่ได้นำมาซึ่งสันติภาพยั่งยืน เพราะได้ทิ้งเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง โกรธแค้น ที่รอเวลาปรากฏตัวใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมในอนาคต และต้องหาหนทางเพาะสร้างสมานฉันท์ในสังคมด้วยความยากลำบาก(Keethaponcalan 2013) อีกทั้งความรุนแรงก็มีต้นทุนสูงไม่ว่าจะเป็นชีวิตผู้คนทั้งพลเรือนและนักรบของทั้งสองฝ่าย หรือต้นทุนทางวัฒนธรรมตลอดจนเงินทองมากมายที่หมดไปกับการใช้ความรุนแรง
 
9. ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและพลเรือนควรทดลองพิจารณาว่า “สันติสนทนา” เป็นวิธีการ/กระบวนการต่อสู้จัดการกับความขัดแย้งที่ถึงตาย โดยอาศัย “อาวุธ” ชุดใหม่ “อาวุธ” ที่ว่านี้มีอยู่ในเนื้อตัวทางวัฒนธรรม ในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย เป็นอาวุธที่เคยใช้เอาชนะความขัดแย้งใหญ่ๆมามาก ไม่ว่าจะเป็น “อาวุธ” ที่ช่วยให้ประเทศรอดจากการเป็น “ฝ่ายแพ้” ในสงครามโลก หรือเอาชนะภัยคุกคามจากอุดมการณ์ในอดีต
 
10. แต่ “อาวุธ” ชนิดนี้ก็เหมือน “อาวุธ” อย่างอื่นคือ คนใช้ก็ต้องใช้ด้วยความเข้าใจ และการใช้ “อาวุธ” เช่นนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากสังคมไทยโดยรวม ด้วยเหตุนี้จึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์การใช้ สันติสนทนาด้วยการตระเตรียมจริงจัง พร้อมจะทำงานเช่นนี้ในระยะยาวและท่ามกลางมรสุมอุปสรรคต่างๆ ทั้งหมดนี้เพื่อสถาปนาความมั่นคงที่ยั่งยืนในอนาคตบนพื้นฐานของความเป็นจริงที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคม