Skip to main content
 
การสานเสวนาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ได้ดำเนินมา 3 ครั้งแล้ว ในครั้งสุดท้าย ตัวแทนรัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอให้มีการยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งฝ่ายบีอาร์เอ็นก็รับข้อเสนอดังกล่าว แต่ต่อมาได้เสนอ ‘เงื่อนไขและขอบเขต’ หลายข้อผ่านทางสื่อ ในขณะที่ตัวแทนรัฐบาลไทยกำลังรอรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นผ่านทางรัฐบาลมาเลเซียอันเป็นกระบวนการที่ตกลงกันก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นนั้น  ได้มีปฏิกิริยาในเชิงลบจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะในเรื่องการถอนกำลังทหาร อันที่จริง แต่ละฝ่ายควรจะเสนอต่อสาธารณะว่า ฝ่ายตนจะทำอะไร  หรือไม่ทำอะไรเพื่อยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ในกรณีที่อีกฝ่ายยุติความรุนแรงตามที่เสนอไว้เช่นกัน
 
ผู้ลงนามท้ายถ้อยแถลงนี้ ซึ่งอยู่ในหน่วยงานที่ทำงานเรื่องสันติภาพ ขอสนับสนุนการสานเสวนาสันติภาพ  ขอเรียกร้องให้สาธารณชนมีขันติธรรมและความหนักแน่นโดยเห็นแก่ประโยชน์ระยะยาวอันจะเกิดจากสร้างสันติภาพ ขอให้กำลังใจแก่คณะผู้สานเสวนา/เจรจาให้ร่วมกันหาทางออกที่ยั่งยืนต่อไปแม้ภารกิจจะยากเย็นสักเพียงไร และขอเรียกร้องให้สาธารณชนให้ความสนใจแก่กระบวนการสันติภาพในภาพรวมเพื่อจะได้มีส่วนร่วมหรือให้การสนับสนุนได้อย่างเหมาะสม จึงขอเสนอข้อคิดเห็นในเรื่องภาพรวมดังนี้
 
1. เห็นด้วยกับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นที่ว่ากระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นวาระที่ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ร่วมกันหาทางออก ส่วนฝ่ายราชการ ฝ่ายการเมือง และบีอาร์เอ็นตลอดจนกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ควรรับฟังเสียงจากประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่การสร้างสรรค์
 
2. ขั้นตอนปัจจุบันของกระบวนการสันติภาพเป็นขั้นตอนก่อนการเจรจา จึงเรียกชื่อว่าการสานเสวนา ตามที่ได้มีการใช้คำว่า dialogue ในข้อตกลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์   ดังนั้น การสานเสวนาสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ควรมีวัตถุประสงค์
 
(1) เพื่อรู้ถึงความต้องการของแต่ละฝ่าย  
(2) เพื่อเข้าใจกรอบการสานเสวนาให้ตรงกันตามที่ได้ลงนามตกลงกันไว้ นั่นคือ ‘กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย’ 
(3) เพื่อให้มีการตกลงและปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจ (confidence building measures CBM) เช่น การยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน 
(4) เพื่อเตรียมการเจรจา ทั้งในเรื่อง
            4.1) หลักการ เช่น เป็นการเจรจาที่อ่อนตัวและปรับตัวได้ เป็นการเจรจาในฐานะพันธมิตรที่หาทางออกร่วมกัน
            4.2)  กระบวนการ เช่น ผู้เข้าร่วม การมีผู้อำนวยความสะดวก/คนกลาง โครงสร้าง ฯลฯ
            4.3)  ขั้นตอน เช่น การกำหนดระเบียบวาระ และปรับเปลี่ยนระเบียบวาระ
 
3. ยุทธศาสตร์การเจรจาน่าจะครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้
 
3.1 การเยียวยาอดีต ซึ่งรวมถึงการบอกความจริง การเล่าเรื่องใหม่ การเยียวยาเชิงสังคม ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องอัตลักษณ์ ฯลฯ 
3.2 การแก้ปัญหาปัจจุบัน เช่นการลดความรุนแรงไปจนถึงการหยุดยิง การลดความไม่เป็นธรรม การให้เกียรติและการเคารพซึ่งกันและกัน ฯลฯ 
3.3 การสร้างวิสัยทัศน์ที่จะอยู่ร่วมกัน การปกครองที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น ซึ่งอาจหมายถึงการปกครองตนเองในด้านต่าง ๆ ยกเว้นในเรื่องการคลัง ความมั่นคงและการต่างประเทศ เป็นต้น 
3.4 การกำหนดแผนที่เดินทางร่วมกันเพื่อให้วิสัยทัศน์ร่วมนั้นเป็นจริง
 
สิ่งที่พึงกระทำในปัจจุบันนอกจากการให้กำลังใจคณะผู้สานเสวนา/เจรจาก็คือ การศึกษาข้อเสนอต่าง ๆ ของ บีอาร์เอ็น โดยพยายามทำความเข้าใจว่า เป็นข้อเสนอผ่านสื่อที่กลุ่มเป้าหมายในการสื่อสารคือผู้ที่มีเชื้อสายมลายูในพื้นที่ และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีที่พร้อมจะเรียกร้องให้มากและพร้อมที่จะยกความรับผิดชอบให้แก่ฝ่ายรัฐบาลหากกระบวนการสันติภาพต้องสะดุดหยุดลง ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลควร
 
(1) มียุทธศาสตร์การสื่อสารที่เน้นคนในพื้นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น 
(2) ตอบสนองต่อข้อเสนอต่างๆ ของบีอาร์เอ็นด้วยความเข้าใจนัยยะของข้อเสนอ และตอบในประเด็นหลักอย่างมีเหตุมี
ผลที่อธิบายสาธารณชนเข้าใจได้โดยง่าย  และเปิดพื้นที่ให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์โดยไม่เพิ่มอคติที่มีต่อกัน
 
โคทม อารียา
อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
สุริชัย หวันแก้ว
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย