Skip to main content

 

 

กรณีการหายไปของนายมะยาเต็ง มะรานอ
ภารโรงลูกจ้างประจำของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 2
ขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลสาบสูญเพื่อให้ครอบครัวได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

 

           ในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดยะลามีนัดไต่สวนคำร้องของนางซูมาอีเด๊าะ มะรานอ ภรรยาขอให้ศาลสั่งว่านายมะยาเต็ง มะระนอ สามีเป็นบุคคลสาบสูญตามมาตรา 61 วรรค 2 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยใช้เงื่อนเวลาสองปี เพราะเป็นการหายตัวไปในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยศาลได้มีหมายเรียกพยานสำคัญสองปากคือ แม่ทัพภาคที่ 4 พลโท พิเชษฐ์ วิสัยจร และ ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาเป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง หากศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่านายมะยาเต็งเป็นบุคคลสาบสูญแล้ว จะมีผลทำให้ครอบครัวของนายมะยาเต็งได้สิทธิจากเงินเดือนส่วนที่ถูกต้นสังกัดระงับจ่าย และได้บำเน็จและสวัสดิการที่สมควรจะได้รับจากต้นสังกัดของนายมะยาเต็ง อันเป็นการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ครอบครัว สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายไปทำให้ผู้เสียหายยังไม่สามารถฟ้องร้องทางแพ่งหรืออาญาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงอย่างกรณีการบังคับให้หายไปได้

           นายมะยาเต็ง มะรานอ ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการภารโรง โรงเรียนบ้านบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวไป สอบถาม ณ.ค่ายทหารที่โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉันท์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 และบัดนี้ไม่ทราบว่ายังถูกควบคุมตัวหรือไม่อย่างไร กลุ่มอำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 ได้งดเบิกเงินค่าจ้างประจำของนายมะยาเต็ง มะรานอตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 จนถึงถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 2 ปี และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาก็ได้มีมติให้นายมะยาเต็ง พ้นสภาพสมาชิก มีผลให้ครูผู้ค้ำประกันเงินกู้จำนวน 4 คนตกเป็นผู้มีภาระชำระหนี้สิ้นของสหกรณ์ประมาณ 1,400 บาทต่อเดือนเป็นเวลาปีเศษแล้ว และอีกทั้งรถกระบะที่หายไปพร้อมกับนายมะยาเต็งบริษัทที่เช่าซื้อรถกระบะก็ได้มาติดตามทวงหนี้กับครอบครัวของนายมะยาเต็ง

           ทั้งนี้ในประเทศไทยยังมีกฎหมายที่ระบุว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาทำให้ผู้เสียหายและครอบครัวไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ทั้งทางแพ่งและอาญา นอกจากนี้ครอบครัวของนายมะยาเต็งก็ไม่ได้รับการเยียวยาใดใดจากรัฐตามพรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2541 ซึ่งระบุว่าผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจะต้องปรากฎว่าเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น กรณีนี้นายมะยาเต็งหรือทายาทของนายมะยาเต็งไม่ใช่ผู้เสียหายตามพรบ.ฯดังกล่าว เพราะไม่ปรากฏว่านายมะยาเต็งได้เสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของผู้อื่น ดังนั้นจึงไม่ได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา

           ก่อนมายื่นคำร้องในคดีขอให้ศาลสั่งว่านายมะยาเต็ง มะระนอ สามีเป็นบุคคลสาบสูญนี้ นางซูมาอีเด๊าะ มะรานอ ภรรยาของนายมะยาเต็ง ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายมะยาเต็ง มะรานอ ผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อศาลจังหวัดยะลา ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 เป็นคดีหมายเลขแดงที่คป.1/2551 ยกคำร้องของผู้ร้อง เพราะไม่ปรากฏว่านายมะยาเต็งอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารแต่อย่างใด ผู้ร้องได้อุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดยะลาต่อศาลอุทธรณ์ และศาลได้กำหนดนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2552 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดยะลานี้