ปริญญา นวลเปียน
(1)
ความพยายามที่จะลดความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านมา เป็นอีกบททดสอบถึงความเป็นไปได้ของการลดความรุนแรง และการสถาปนาสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งหลายฝ่ายตั้งความหวังต่อความท้าทายนี้ว่าจะเป็นความก้าวหน้าไปอีกขั้นหลังจากความสำเร็จจากการลงนามในข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) ระหว่าง พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลาขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และนายฮัซซัน ตอยิบ ผู้นำกลุ่ม BRN ณ กัวลาลัมเปอร์ โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามอีกมากมายว่าความพยายามดังกล่าวจะนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงในพื้นที่ภาคใต้ได้หรือไม่ ผู้คนจำนวนมากได้ตั้งข้อสงสัยในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ด้วยเหตุผลประการต่างๆ บางคนอาจขาดความไว้วางใจรัฐบาลไทย บ้างก็ไม่เชื่อมั่นฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน และบ้างก็หวาดระแวงรัฐบาลมาเลเซีย ในขณะที่ผู้คนอีกไม่น้อยเชื่ออย่างฝังใจตลอดมาว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่อาจคลี่คลายได้ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรืออีกนัยหนึ่งพวกเขาเชื่อว่าการพูดคุยสันติภาพมิใช่ทางเลือกที่ถูกต้องและไม่ควรดำเนินการมาตั้งแต่ต้น
แม้จะรับรู้กันในกลุ่มผู้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วบ้างว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งนี้ มิใช่ความพยายามครั้งแรกๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากการพูดคุยสันติภาพในหลายครั้งก่อนหน้านี้เป็นไปในทางลับ รายละเอียดของการพูดคุยในแต่ละครั้งยังเปิดเผยต่อสาธารณชนน้อยมาก อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้เขียนสำรวจข้อมูลจากเอกสารลับทางการทูตที่เว็บไซต์วิกิลีกส์ (Wikileaks) นำออกมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง พบว่าข้อมูลของวิกิลีกส์ได้เปิดเผยรายละเอียดบางด้านที่น่าสนใจของกระบวนการพูดคุยสันติภาพในทางลับหลายครั้ง
(2)
เว็บไซต์วิกิลีกส์เผยแพร่เอกสารหรือโทรเลขลับของสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ และในเชียงใหม่ รวมทั้งสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกัวลาลัมเปอร์และในจาการ์ตาที่บันทึกไว้ระหว่างปี 2548 – 2553 จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพในทางลับระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับผู้นำของ BRN และขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นๆ โดยผ่านการประสานงานขององค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ตลอดจนการประสานงานของนักการเมืองและรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้เขียนจะนำเสนอปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของการพูดคุยสันติภาพดังกล่าว โดยเรียบเรียงตามวาระของการพูดคุยสันติภาพที่ปรากฏในสถานที่และเวลาที่แตกต่างกันเป็น 4 ช่วงเวลาคือ การพูดคุยสันติภาพที่ลังกาวี มาเลเซีย: สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ, การพูดคุยสันติภาพที่บาห์เรน: สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์, การพูดคุยสันติภาพที่จาการ์ต้า อินโดนีเซีย: สมัยรัฐบาลสมัคร– สมชาย, และ การพูดคุยสันติภาพที่มะนิลา ฟิลิปปินส์: สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตามลำดับดังนี้
1. การพูดคุยสันติภาพที่ลังกาวี มาเลเซีย: สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
การพูดคุยสันติภาพครั้งแรกระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พตท.ทักษิณ ชินวัตร โดยการริเริ่มและประสานงานของ ดร.มหาเดร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกัวลาลัมเปอร์ จำนวน 2 ฉบับ[1] เปิดเผยว่าการพูดคุยครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ที่ลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยและกลุ่มผู้นำของขบวนการ BERSATU ซึ่งเป็นองค์กรร่วมของ BRN-C, GMP, และ PULO พร้อมกับผู้นำของกลุ่มย่อยเหล่านี้เข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพ
เอกสารลับจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกัวลาลัมเปอร์ ยังคลี่คลายข้อสงสัยที่มีโดยทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้นำรุ่นเก่าว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแหล่งข่าวของสถานทูตสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่าผู้นำรุ่นเก่าเหล่านี้ ยังคงมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมเหนือผู้นำรุ่นใหม่ที่เป็นแกนนำในการก่อความไม่สงบในพื้นที่ แต่ความพยายามที่จะดึงเอาผู้นำรุ่นใหม่เข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องที่ยากลำบากจนแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ปฏิเสธการพูดคุยตามวิถีทางการเมือง พวกเขาขาดความไว้วางใจ (trust) ต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย และยังเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงจะนำไปสู่อิสรภาพและสามารถจัดตั้งรัฐปัตตานีดารุสลามได้ในที่สุด[2]
การพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นหลายครั้งจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งกลุ่มผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้ง 4 กลุ่มได้ลงนามใน “ข้อเสนอสันติภาพ” (peace proposal) ประกอบด้วยข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยดำเนินการ จำนวน 8 ข้อ (ข้อเสนอที่ปรากฏอยู่ในโทรเลขลับฉบับนี้บันทึกไว้อย่างกระชับ ควรที่จะคำนึงด้วยว่าข้อเสนอฉบับเต็มนั้นมีเนื้อหารวมกันถึง 12 หน้า ซึ่งคงจะบรรจุรายละเอียดและเหตุผลประกอบข้อเรียกร้องแต่ละข้อไว้พอสมควร) ได้แก่[3]
(1) ให้รัฐบาลไทยปรับปรุง “ภาวะการนำ” โดยให้มีรัฐมนตรีด้านกิจการมุสลิมและองค์กรประสานงานด้านกิจการมุสลิม
(2) ให้รัฐบาลไทยปรับปรุงงานด้านการสื่อสารและความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนมลายูมุสลิม
(3) ให้สร้างความไว้วางใจ รวมทั้งให้โควต้าแก่ชาวมลายูมุสลิมในการเข้ารับราชการและในกองกำลังความมั่นคงในพื้นที่
(4) ให้ยุติการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่
(5) ให้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา
(6) ให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลต่างๆ เมื่อได้รับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์จากคณะกรรมการตราจสอบที่ตั้งขึ้นแล้ว
(7) ให้แต่งตั้งคณะตุลาการเพื่อไต่สวนและพิจารณาคดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
(8) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเรียกร้องต่างๆ ข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมีการส่งมอบข้อเสนอดังกล่าวให้แก่รัฐบาลไทย ก็ไม่ปรากฏการตอบสนองใดๆ ที่เป็นรูปธรรม และไม่ปรากฏรายงานเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพครั้งอื่นใดอีกจนกระทั่งเกือบสองปีต่อมา แม้ว่าแหล่งข่าวของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกัวลาลัมเปอร์เชื่อว่าความพยายามครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพูดคุยสันติภาพที่จะมีขึ้นในโอกาสต่อไป และ ดร.มหาเดร์ ยังคงให้ความสนใจกับการเป็นตัวกลางที่อิสระจากรัฐบาลมาเลเซียในการแก้ไขปัญหาภาคใต้และยังพบปะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและผู้นำของชาวมลายูมุสลิมอยู่เป็นระยะก็ตาม[4]
2. การพูดคุยสันติภาพที่บาห์เรน: สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์
การพูดคุยสันติภาพที่บาห์เรนเกิดขึ้นในช่วงปลายวาระของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2550 เพียงไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการพบปะกันครั้งแรกระหว่างผู้นำรัฐบาลไทยกับผู้นำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน คือกลุ่ม BRN-C และ PULO
โทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ จำนวน 2 ฉบับ[5] เปิดเผยว่าการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นในช่วงการเดินทางเยือนบาห์เรนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม 2550 หากเป้าหมายที่แท้จริงของการเยือนต่างประเทศครั้งนี้คือการพูดคุยสันติภาพในทางลับ ภายใต้การประสานงานขององค์กรเอกชนจากเจนีวาคือ HDC (Henri Dunant Center for Humanitarian Dialogue)
พล.อ.สุรยุทธ์ เปิดเผยเรื่องนี้ระหว่างที่เอกอัครราชทูตบอยซ์ ใช้โอกาสในช่วงที่โทรศัพท์อำลาการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ในการตอบคำถามเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพที่บาร์เรน พล.อ.สุรยุทธ์ระบุว่าการพูดคุยสันติภาพที่ใช้เวลาพบปะกันประมาณ 1 ชั่วโมง เริ่มต้นขึ้นอย่างเย็นชาก่อนที่บรรยากาศจะผ่อนคลายลงในช่วงท้ายๆ พล.อ.สุรยุทธ์ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะสื่อสารความจริงใจที่จะให้เกิดการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง และระบุถึงความพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นทุกเรื่องยกเว้นประเด็นการแบ่งแยกดินแดนออกจากรัฐไทย ในขณะที่ฝ่ายขบวนการได้อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมต่อนโยบายการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธีตามที่ประกาศไว้
ระหว่างการพูดคุย ผู้นำรัฐบาลไทยยังพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายขบวนการยอมรับให้รัฐบาลมาเลเซียเข้ามามีบทบาทร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งฝ่ายผู้นำขบวนการไม่ตอบรับและสื่อสารกลับมาว่าพวกเขายังขาดความไว้วางใจต่อท่าทีของรัฐบาลมาเลเซียในขณะนั้น “แกนนำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนระบุว่าพวกเขาหวาดระแรงต่อการยุ่งเกี่ยวของมาเลเซียและไม่ไว้วางใจในเจตนาของรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ได้บอกไปว่าพวกเขาควรจะทบทวนความคิดนั้น เนื่องจากมาเลเซียสามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ไขความรุนแรงได้”[6]
ความเห็นท้ายเอกสารลับของเอกอัครราชทูตบอยซ์ยังระบุถึงเหตุผลของการพูดคุยสันติภาพในทางลับด้วยว่า “พล.อ.สุรยุทธ์เชื่อว่าการพบปะกันในครั้งนี้ เป็นก้าวย่างสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างสรรค์วิถีทางใหม่ๆ ให้พ้นไปจากวังวนของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่ต้องการที่จะประกาศให้สาธารณชนสนใจกับการพูดคุยเหล่านี้ และยังดำเนินการเรื่องนี้โดยให้เจ้าหน้าที่ไทยฝ่ายต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด (ถึงแม้เราจะรับรู้ว่านายนิตยา พิบูลสงคราม รัฐมนตรีต่างประเทศ จะร่วมเดินทางกับนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเขาได้ร่วมการพูดคุยด้วย) เราไม่อาจยืนยันอย่างแน่นอนได้ว่าฝ่ายที่พล.อ.สุรยุทธ์พูดคุยด้วยที่บาห์เรนเป็นผู้นำตัวจริงของ BRN-C แต่มั่นใจว่าพล.อ.สุรยุทธ์ คงจะไม่วางกำหนดการเยือนบาห์เรนโดยไม่ได้รับการรับประกันว่าจะได้พูดคุยกับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจของขบวนการ”[7]
ภายหลังจากการพูดคุยสันติภาพที่บาห์เรน ผู้แทนขององค์กรเอกชนซึ่งทำหน้าที่ประสานการพูดคุยมีเสนอแนะต่อพล.อ.สุรยุทธ์ ว่าเพื่อส่งสัญญาณในเชิงบวกถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาภาคใต้โดยสันติวิธี รัฐบาลควรจะเร่งรัดการขออภัยโทษให้กับผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงบางคน (โดยอิงกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ – กอส.) และควรโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทุจริตและประพฤติมิชอบออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ตัวแทนของขบวนการ BRN-C ได้ยื่นเสนอเมื่อสิ้นสุดการพูดคุยสันติภาพด้วย[8]
3. การพูดคุยสันติภาพที่จาการ์ต้า อินโดนีเซีย: สมัยรัฐบาลสมัคร– สมชาย
ดังที่รับรู้กันแล้วผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทำให้พรรคการเมืองที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สนับสนุนอยู่กลับมามีอำนาจบริหารประเทศ และนายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 29 มกราคม 2551 ปรากฎว่าสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ และในเชียงใหม่ ได้ให้ความสนใจกับความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างใกล้ชิด
โทรเลขลับจำนวน 2 ฉบับ ได้เปิดเผยว่าการพูดคุยสันติภาพโดยการอำนวยความสะดวกของ HDC ได้เกิดขึ้นที่จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคม 2551[9] ตัวแทนรัฐบาลไทยที่ร่วมพูดคุยสันติภาพกับแกนนำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน นำโดยพล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แม้ว่าจะไม่มีความคืบหน้าจนนำไปสู่ข้อตกลงใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม แต่ฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกก็พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และหลังจากนั้นก็ยังมีการพูดคุยสันติภาพที่อินโดนีเซียอีก 3 ครั้ง คือที่บาหลี 1 ครั้ง และอีก 2 ครั้งที่จาการ์ต้า ในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2551[10]
ดูเหมือนว่าในการเจรจาครั้งแรกๆ ฝ่ายขบวนการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงความจริงใจต่อฝ่ายขบวนการโดยการนิรโทษกรรมนักโทษในคดีความมั่นคงบางส่วน แต่ไม่มีการตอบสนองใดๆ จากรัฐบาล รายงานในโทรเลขลับทำให้ทราบว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจได้อย่างยากลำบาก และส่งผลให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพไม่สามารถคืบหน้าไปอย่างที่มุ่งหวังได้[11]
วิกฤติการเมืองที่กรุงเทพฯ และความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยังมีผลบั่นทอนความก้าวหน้าของการพูดคุยสันติภาพที่โบกอร์ ทางตอนใต้ของจาการ์ต้า ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2551 การพูดคุยในทางลับครั้งนี้มีรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และกลายเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางหลังจากการแถลงข่าวของโฆษกประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งระบุว่าตัวแทนฝ่ายไทยที่เข้าร่วมการพูดคุยนำโดย พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไป (นายสมัคร สุนทรเวช) เป็นผู้นำคณะ แต่กองทัพบกและกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ออกมาปฏิเสธว่าคณะดังกล่าวมิได้รับมอบอำนาจใดๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง
สถานทูตสหรัฐอเมริกาบันทึกการตอบสนองต่อการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ไว้อย่างชวนขำขื่น เมื่อเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งแก่ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ ว่า “(ปัญหา) การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นกิจการภายในของไทย และไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือใดๆ จากอินโดนีเซีย” ในขณะที่โฆษกกองทัพภาคที่ 4 ให้ความเห็นแก่สถานทูตสหรัฐอเมริกาว่า “กองทัพจะไม่เปลี่ยนท่าที ในการที่จะไม่เจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ และใครที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุด... กองทัพถือว่าผู้ก่อความไม่สงบเป็นอาชญากร มิได้เป็นเรื่องของขบวนการจัดตั้งใด”[12]
ในขณะที่โทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในจาการ์ต้า เปิดเผยว่ารัฐบาลอินโดนีเซียได้รับการยืนยันจากรัฐบาลไทยว่ารับรองสถานภาพของคณะดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการพูดคุยครั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จนบรรลุข้อตกลงในกรอบกว้างๆ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจให้คำนึงถึงความต้องการของคนในพื้นที่ และการยอมรับในความแตกต่างของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้บูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย รวมทั้งได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้มีการพูดคุยสันติภาพขึ้นอีกสองครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551[13] แต่แผนการที่วางไว้ต้องล้มเลิกลงหลังจากข่าวคราวที่สับสนเปิดเผยต่อสื่อมวลชน
4. การพูดคุยสันติภาพที่มะนิลา ฟิลิปปินส์: สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์
รัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำได้ขึ้นมาบริหารประเทศ ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน และเกิดการพลิกขั้วทางการเมืองด้วยแรงหนุนของกองทัพในเดือนธันวาคม 2551 หลังจากนั้นอีกหลายเดือน โทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ และสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในเชียงใหม[14] จึงระบุว่านับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เริ่มที่จะรื้อฟื้นการพูดคุยสันติภาพขึ้นใหม่ผ่านทาง HDC ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยความสะดวกมาก่อนหน้านี้
โทรเลขลับยังให้ข้อมูลว่ารัฐบาลมีความคิดที่จะขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษคนสำคัญบางคน (เช่น “บาบอแม เบตง”) เพื่อส่งสัญญาณแสดงความจริงใจในการพูดคุยสันติภาพ แต่ติดขัดที่กระบวนการพิจารณาคดีทางศาลยังไม่ถึงที่สุด และยังให้ความสนใจต่อท่าทีของรัฐบาลมาเลเซียที่มีต่อการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งมีความพยายามที่จะดึงรัฐบาลมาเลเซียเข้ามามีบทบาทในกระบวนการพูดคุยสันติภาพมากขึ้น ดังจะเห็นเป็นรูปธรรมได้จากการเดินทางเยือนภาคใต้ของนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในวันที่ 8-9 ธันวาคม 2552 ซึ่งในมุมมองของผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น พวกเขารู้สึกว่ากำลังถูกกดดันให้ยอมรับบทบาทของรัฐบาลมาเลเซีย
ภายใต้การประสานงานของ HDC นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ มอบหมายให้ ดร.มารค ตามไท นักสันติวิธีและอดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.) นำคณะทำงานจากสภาความมั่นคงแห่งชาติและ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ คือนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เป็นตัวแทนในการมอบหนังสือแสดงเจตนารมณ์ที่จะรื้อฟื้นการพูดคุยสันติภาพในทางลับให้แก่ผู้นำ BRN-C และ PULO ที่จาการ์ต้า อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552
ในที่สุดการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับ BRN-C และ PULO โดยการอำนวยความสะดวกของ HDC ก็เกิดขึ้นที่มะนิลา ฟิลิปปินส์ ในเดือนพฤษจิกายน 2552[15] ภายใต้แรงกดดันที่สองฝ่ายกำลังแบกรับคือรัฐบาลไทยยังไม่สามารถคลี่คลายเหตุการณ์สะเทือนขวัญของคดีการสังหารหมู่ในมัสยิดที่บ้านไอปาแย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 ตามที่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนตั้งเงื่อนไขเอาไว้ก่อนหน้าการพูดคุย และในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคงก่อนหน้าการพูดคุยสันติภาพ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้แสดงความเห็นที่ไม่เชื่อมั่นต่อผลลัทธ์จากการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้
ในขณะที่ฝ่ายผู้นำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยข่าวกรองของมาเลเซีย ที่ต้องการให้ผู้นำของขบวนการ BRN-C และ PULO ให้การยอมรับต่อบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียในฐานะตัวกลางของการพูดคุยสันติภาพ และการเปลี่ยนสถานที่พูดคุยสันติภาพจากจาการ์ต้ามาสู่มะนิลา ก็เป็นไปตามการร้องขอของฝ่ายผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ไม่ไว้วางใจหน่วยข่าวกรองของมาเลเซีย ภายหลังจากรัฐบาลมาเลเซียได้รับการทาบทามจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยหวังที่จะให้รัฐบาลมาเลเซียคลายความกังวลต่อบทบาทในการเป็นผู้ประสานงานของรัฐบาลอินโดนีเซีย
ปัญหาอันเกิดจากการแทรกแซงกระบวนการพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลมาเลเซีย กลายเป็นประเด็นหลักที่ผู้นำบีอาร์เอ็นและPULO หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย ในระหว่างการพูดคุยสันติภาพครั้งสุดท้ายที่ถูกระบุไว้ในโทรเลขลับที่ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านเวบไซต์วิกิลีกส์
(3)
แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพในทางลับระหว่างรัฐบาลไทยสมัยต่างๆ กับผู้นำฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่เว็บไซต์วิกิลีกส์เปิดเผยออกมาจะจำกัดอยู่แค่ช่วงระหว่างปี 2548 – 2553 แต่เป็นการยืนยันให้เห็นว่าความรุนแรงท่ามกลางไฟสงครามของการต่อสู้ด้วยอาวุธ ระหว่างกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ มิได้ปิดกั้นความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
นับจนถึงปัจจุบัน การพูดคุยสันติภาพยังเป็นแนวทางที่ผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ให้ความสำคัญ เพื่อที่จะคลี่คลายความรุนแรงจากความขัดแย้งแบบถึงตาย (deadly conflict) ที่ดำเนินอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพในทางลับของเวบไซต์วิกิลีกส์ ทำให้รับรู้ได้ว่าการพูดคุยสันติภาพอย่างเปิดเผยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและฝ่ายขบวนการในนามกลุ่ม BRN โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐบาลมาเลเซีย และการบรรลุข้อตกลงที่จะลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องมาจากความสำเร็จและความล้มเหลวของการพูดคุยสันติภาพในทางลับ ที่หลายภาคส่วนทั้งรัฐบาลไทยสมัยต่างๆ และฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน รวมทั้งองค์กรเอกชนในต่างประเทศและรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมกันดำเนินการตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านระยะเวลาที่สืบเนื่องยาวนานของการพูดคุยสันติภาพ มิใช่ตัวแปรที่จะยุติสถานการณ์ความรุนแรงโดยตัวของมันเอง แต่บทเรียนอันเกิดจากประสบการณ์ในการพูดคุยสันติภาพ จะเป็นตัวกำหนดจังหวะก้าวของฝ่ายต่างๆ ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกระบวนการพูดคุยสันติภาพในโอกาสต่อมา ข้อมูลเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพในทางลับจากเวบไซต์วิกิลีกส์ จึงเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญอีกชุดหนึ่งให้ผู้สนใจและสาธารณชนโดยทั่วไป ได้ตรวจสอบ ศึกษา และวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อยุติความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ต่อไป
[1] Acting Deputy Chief of Mission, Mark D. Clark (2007-03-08). Fighting, Not Talking - South Thai Militants No Longer Interested in Dialogue, Say Former Mediators. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR447. Retrieved 2012-12-11; Political Section Chief, Mark D. Clark. Honorary Consul Notes Malaysia as Safe Haven For Thai Insurgency, Relevance Of Old Guard. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR263. Retrieved 2012-12-11.
[2] Acting Deputy Chief of Mission, Mark D. Clark (2007-03-08). Fighting, Not Talking - South Thai Militants No Longer Interested in Dialogue, Say Former Mediators. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR447. Retrieved 2012-12-11.
[3] Political Section Chief, Mark D. Clark (2007-02-13). Honorary Consul Notes Malaysia as Safe Haven For Thai Insurgency, Relevance Of Old Guard. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR263. Retrieved 2012-12-11.
[4] Acting Deputy Chief of Mission, Mark D. Clark (2007-03-08). Fighting, Not Talking - South Thai Militants No Longer Interested in Dialogue, Say Former Mediators. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR447.
[5] Ambassador, Ralph L. Boyce (2007-12-16). Southern Violence: Surayud Talks to the BRN-C. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07BANGKOK6161. Retrieved 2012-12-11; Ambassador, Ralph L. Boyce (2007-12-27). Southern Dialogue Facilitator Gives Optimistic Readout on Bahrain Talks. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07BANGKOK6281. Retrieved 2012-12-11.
[6] Ambassador, Ralph L. Boyce (2007-12-16). Southern Violence: Surayud Talks to the BRN-C. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07BANGKOK6161. Retrieved 2012-12-11.
[7] Ambassador, Ralph L. Boyce (2007-12-16). Southern Violence: Surayud Talks to the BRN-C. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07BANGKOK6161. Retrieved 2012-12-11.
[8] Ambassador, Ralph L. Boyce (2007-12-27). Southern Dialogue Facilitator Gives Optimistic Readout on Bahrain Talks. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07BANGKOK6281. Retrieved 2012-12-11.
[9] Ambassador, Eric G. John (2008-04-10). Southern Violence: New NSC Chief Seen as Threat to Peace Process. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 08CHIANGMAI60. Retrieved 2013-02-05; Consul General, Mike Morrow (2008-04-18). Southern Violence: RTG Talks with Insurgents Stalled, But In “a Good Spot”. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 08BANGKOK1210. Retrieved 2013-02-05.
[10] Consul General, Mike Morrow (2008-09-15). Southern Violence: Searching for Ways Ahead. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 08CHIANGMAI141. Retrieved 2013-02-06; Deputy Chief of Mission, James F. Entwistle (2008-09-17). Southern Violence: Mediator Has Good News and Bad News, And Tries to Keep Talks Alive. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 08BANGKOK2808. Retrieved 2013-02-06; Deputy Chief of Mission, James F. Entwistle (2008-09-22). Southern Violence: Peace Talks in Indonesia Catch Thai Government by Surprise. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 08BANGKOK2871. Retrieved 2013-02-06.
[11] Acting Deputy Chief of Mission, Mark D. Clark (2007-03-08). Fighting, Not Talking - South Thai Militants No Longer Interested in Dialogue, Say Former Mediators. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR447. Retrieved 2012-12-11; Political Section Chief, Mark D. Clark. Honorary Consul Notes Malaysia as Safe Haven For Thai Insurgency, Relevance Of Old Guard. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR263. Retrieved 2012-12-11.
[12] Acting Deputy Chief of Mission, Mark D. Clark (2007-03-08). Fighting, Not Talking - South Thai Militants No Longer Interested in Dialogue, Say Former Mediators. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR447. Retrieved 2012-12-11; Political Section Chief, Mark D. Clark. Honorary Consul Notes Malaysia as Safe Haven For Thai Insurgency, Relevance Of Old Guard. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR263. Retrieved 2012-12-11.
[13] Acting Deputy Chief of Mission, Mark D. Clark (2007-03-08). Fighting, Not Talking - South Thai Militants No Longer Interested in Dialogue, Say Former Mediators. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR447. Retrieved 2012-12-11; Political Section Chief, Mark D. Clark. Honorary Consul Notes Malaysia as Safe Haven For Thai Insurgency, Relevance Of Old Guard. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR263. Retrieved 2012-12-11.
[14] Ambassador, Eric G. John (2009-08-21). Southern Thailand: The HDC Dialogue Resumes. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 09BANGKOK2096. Retrieved 2013-02-06; Consul General, Mike Morrow (2009-06-25). Southern Violence: Possible Resumption of Secret Dialogue Still Churning In Place. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 09CHIANGMAI89. Retrieved 2013-02-06.
[15] Acting Deputy Chief of Mission, Mark D. Clark (2007-03-08). Fighting, Not Talking - South Thai Militants No Longer Interested in Dialogue, Say Former Mediators. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR447. Retrieved 2012-12-11; Political Section Chief, Mark D. Clark. Honorary Consul Notes Malaysia as Safe Haven For Thai Insurgency, Relevance Of Old Guard. WikiLeaks. WikiLeaks cable: 07KUALALUMPUR263. Retrieved 2012-12-11.