Skip to main content
อัญชนา หีมมิหน๊ะ
กลุ่มด้วยใจ
 

           ข้าพเจ้าได้ยินข่าวที่น่ายินดีเมื่อนายอับดุลเลาะ สาแม ชาวบ้านตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมพี่น้องของเขาได้รับการประกันตัว และในที่สุดก็ได้รับการยกฟ้องเมื่อปี 2553 แต่หลังจากนั้น 1 ปี ข้าพเจ้าก็ได้รับข่าวร้ายว่าเขาถูกยิงเสียชีวิตด้วยปืนอาวุธสงครามในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ในสวนยางขณะที่เขากำลังเดินทางไปกรีดยางกับแม่ของเขา (เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายทั้งทหาร ตำรวจ และปกครองต่างรับรองกรณีของเขาให้ได้รับการเยียวยา)  สวนยางดังกล่าวนี้อยู่ห่างจากค่ายทหารไปเพียง 500 เมตร เหตุการณ์นี้ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับเพื่อนๆ ร่วมเรือนจำที่ได้รับการประกันตัวคือนายสามือรี เจะคอ เราได้ร่วมพูดคุยถึงมาตรการในการป้องกัน แต่ก็ไม่สามารถทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้

            สามือลีก็ได้ยินข่าวลักษณะนี้มาตลอดช่วง 2  ปี จนกระทั่งความกลัวของสามือลีในเรื่องความไม่ปลอดภัยของเขาก็กลายเป็นจริง เมื่อเขาถูกยิงเสียชีวิตด้วยปืนอาก้า ขณะขี่มอเตอร์ไซด์เพื่อไปกรีดยางพารา ระหว่างทางผ่านหมู่บ้านไทยพุทธและมุสลิมในตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556  ในขณะที่ภรรยาของเขาเพิ่งคลอดลูกได้เพียง 45 วัน

            สามือลีตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงด้วยข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และครอบครองอาวุธปืน ระหว่างการสอบสวนเขาเล่าให้ฟังถึงการซ้อมทรมานระหว่างการซักถาม  เขาได้รับการประกันตัวเมื่อปี 2553  และยกฟ้องในที่สุด เขาได้ใช้อิสรภาพหลังจากผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตเขาเพียงแค่ 3 ปี กลุ่มด้วยใจได้พบกับเขาครั้งแรกในงานเยียวยาที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการเยียวยาฯ เมื่อปี พ.ศ.2555 เราได้พูดคุยถึงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ยกฟ้อง เพราะเพิ่งเกิดเหตุกับนายอับดุลเลอะ สาแม มาไม่นาน หลังจากนั้น ทางกลุ่มด้วยใจได้ไปเยี่ยมเขาที่บ้านอีกครั้งในวันที่น้องชายเขาแต่งงาน

            ครอบครัวเขาจำเราได้เมื่อเราให้สลามทักทาย เรามองเห็นความโศกเศร้ามากมายในสายตาของผู้เป็นพ่อและแม่ ซึ่งก็คงเหมือนสายตาของครอบครัวผู้เป็นเหยื่อความรุนแรงทุก ๆ ครอบครัว โดยปกติเขาจะพักอาศัยที่บ้านภรรยา ตอนเช้าจะไปที่สวนยางพาราเพื่อกรีดยางและหากมีทุเรียนหรือผลไม้ที่สุกตามฤดูกาล เขาก็จะไปเก็บและนำมาให้พ่อแม่  แต่วันนั้นวันที่เขาถูกยิง เขาจะไปเก็บทุเรียนแต่ไม่ได้นำกลับมาให้พ่อแม่หรือใคร ๆ เลย เพราะเขาไปคนเดียว ผ่านเส้นทางบ้านทุ่งขมิ้น และเขาถูกยิง 5 นัดที่คอ แขน ขา และหลัง โดยก่อนหน้าที่เขาจะถูกยิงมีรถแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้านเป็นรถกะบะตอนครึ่ง สีบรอนซ์ ไม่มีป้ายทะเบียน (ปัญหาของรถไม่มีป้ายหรือป้ายปลอมทำให้ไม่รู้ผู้กระทำผิด) 

            สามือลี ไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งกลับใคร คดีที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีปืน ชรบ. ไม่ได้เป็นคดีที่มีคนตายที่จะทำให้ครอบครัวของเหยื่อโกรธแค้น

            หลังจากเกิดเหตุได้มีการควบคุมตัวอุสตาซคนหนึ่งในพื้นที่บางปอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุพอสมควร ทำให้ครอบครัวสามือลีมองว่าไม่เป็นธรรมกับการกล่าวหาอุสตาซ เพราะเขาไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งหรือรู้จักกับสามือลี

            สามือลีมีลูก 3 คน คนโตเป็นผู้ชายเรียนชั้นประถมที่ 1 คนที่สองเป็นผู้หญิงอายุเพียง 2 ขวบ และคนเล็กที่เป็นผู้หญิงเพิ่งคลอดเพียง 45 วันเท่านั้น

            หลังจากที่ได้รับการยกฟ้อง สามือลีได้รับเงินเยียวยาจากการตกเป็นจำเลยในคดีอาญาที่มีกรณีการยกฟ้อง แต่ในการตายของเขา เจ้าหน้าที่กลับไม่ได้รับรองทั้งสามฝ่าย จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินเยียวยาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ก็ถือว่ายังมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยจากการตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา โดยต้องยื่นไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

            พ่อของสามือลีมองว่าเขาเป็นคนดี ไม่เคยทำร้ายใคร ช่วยเหลืองานในทางศาสนา ตอนที่เขาอยู่ในเรือนจำจะเป็นคนอาซาน (กล่าวคำประกาศแจ้งเวลาละหมาด) ที่เสียงดีมาก กลับมาก็สอนตาดีกา คิดว่าสาเหตุที่เขาเสียชีวิตเป็นการเก็บของคดีความมั่นคง ไม่มีเรื่องอื่นที่เป็นสาเหตุ ชาวบ้านก็ไม่มีปัญหากับเรา เพื่อนของสามือลีที่มาแสดงความเสียใจกับครอบครัวของสามือลีก็บอกว่า แก้วที่มันแตกแล้วยากจะประสาน มีแต่จะพัง เพราะการล้อมจับกุมมันเกิดเหตุมา 10 ปีแล้ว เราก็เลยถามเขากลับไปว่าถ้า 10 ปี ก็คือเหตุการณ์ปล้นปืนใช่หรือไม่? เขาก็บอกว่าใช่ เพราะในอดีตคือ 20 กว่าปีมันเป็นเพียงการกระทำเชิงสัญลักษณ์ เช่น การเผาโรงเรียน แต่นี่เป็นการฆ่าที่ส่งผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง

            จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่อยมา ตั้งแต่ “อับดุลเลอะ สาแม” จนถึง “สามือลี เจะคอ” ความคลางแคลงใจหรือไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีสูงมาก เพราะเขามองว่าคู่ขัดแย้งนั้นมีฝ่ายเดียวคือเจ้าหน้าที่รัฐ เขาในที่นี้ไม่ใช่ผู้ตาย แต่เป็นบุคคลในครอบครัวเขา เพื่อนฝูงเขา ญาติพี่น้องเขา ผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกับเขา ที่เฝ้ามองหาความจริงใจจากรัฐ เพื่อประกอบการตัดสินใจอะไรก็ตามที่มีผลต่อชีวิตเขา เขาในที่นี้เป็นกลุ่มคนที่รัฐมองว่าเป็นผู้มีอาวุธ เป็นผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐ

            โจทย์ใหญ่ต่อฝ่ายความมั่นคงหรือรัฐบาลคือการสื่อสารถึงความจริงใจที่เป็นรูปธรรม การสร้างความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมเพื่อให้พวกเขาตอบรับเส้นทางสันติภาพ