"ดวงสุดา สร้างอำไพ": ชีวิตหลังปลดแอก ดวงสุดา สร้างอำไพ เหนื่อย….เป็นคำติดปากที่ชอบบ่นพึมพำกับตัวเองมา 6-7 ปี หลังจากสิ้นเสียงปืนและกลิ่นคาวเลือด ชีวิตที่เคยอิสระไปไหนตามใจนึกคิด กลับต้องมาผูกติดกับอีกหลายชีวิตที่พ่อฝากไว้หลังลมหายใจสุดท้ายนั้น ฉันพยายามตั้งแง่กับผู้คน กับความคิดว่า ทำไมพ่อต้องตาย ใครฆ่าพ่อ ฆ่าทำไม เพราะอะไรเขาถึงต้องฆ่า หรือเพราะเป็นแค่คนธรรมดาสันโดษชีวิตจึงไม่มีค่าหรือ เป็นคำถามที่ค้างคาใจ ยิ่งพยายามหาคำตอบเพื่อหาทางออกให้กับเรื่องนี้ ก็เหมือนเดินปิดตาตัวเอง มีคำถามมากมายในโลกนี้ที่ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ!!! …..................................................... เสียงปืนแว่วมาไกลๆ ตามด้วยความวุ่นวายของผู้คน ในเช้าวันที่ 28 เมษายน 2547 ณ มัสยิดกรือเซะกับคนสองกลุ่มสองอุดมการณ์ สีหน้าดูกังวลของพ่อเหมือนจะล่วงรู้ถึงความวุ่นวายในอีกไม่ช้า ว่าลูกหลานจะอยู่กันอย่างไรในสภาพบ้านเมืองหลังจากนี้ แต่ทุกความกังวลก็พลันหายไปพร้อมกับลมหายใจของพ่อในเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ร่างของพ่อชุ่มไปด้วยเลือด บาดแผลของคมกระสุนที่ใครไม่รู้หยิบยื่นความตายให้ ระหว่างที่พ่อขี่มอเตอร์ไซต์จะกลับบ้าน มันคือจุดเริ่มต้นส่งสัญญาณเตือนให้ได้รู้ว่าอันตรายใกล้เข้าครอบครัวของเรามากขึ้นทุกที อีกสามปีต่อมา วันที่ 9 กันยายน 2550 แสงไฟลุกโชนในคืนอันเลวร้าย ได้พรางร่างของผู้เฒ่าซึ่งเป็นปู่ของฉันแทบมองไม่เห็นถึงเค้าโครงของร่างกายมนุษย์ หลงเหลือให้เห็นชัดเจนเมื่อรุ่งสาง แค่เถ้ากระดูกกระจัดกระจาย ไร้ซึ่งส่วนหัว คำว่าเสียใจคงดูน้อยไปสำหรับครอบครัวฉัน เหตุการณ์มันเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกและสัมพันธ์ภาพของคนรุ่นใหม่ มันตกต่ำลงเพียงใด เหตุการณ์ก็ยิ่งทวีมากขึ้นเท่านั้น ฉันแบกความคิดเคียดแค้นดังติดแอกแบกหามมา 4 ปี ก็ใช่ว่าจะรู้ถึงต้นสายปลายเหตุ แต่ความเจ็บปวดมันไม่ได้จบลงเสมือนพระอาทิตย์ตกและขึ้นใหม่ที่เฉิดฉายความเจ็บช้ำซ้ำหนักในชีวิต เหตุการณ์มันทำให้ความคิดยิ่งแคบลงจนไม่อยากคิด ความเงียบเหงาเริ่มคืบคลานมาเยือน ผู้คนเริ่มเคลื่อนย้ายออกจากชุมชนไปไปทีละหลัง บ้านเทียรยา ตำบาลตาแกะ อ.ยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นชุมชนที่มีไทยพุทธ – มุสลิมอยู่ร่วมกันร่วม 110 ครอบครัว เป็นไทยพุทธประมาณ 30% ที่เหลือเป็นไทยมลายูที่อยู่ร่วมกันมาด้วยความสงบสุขเป็นเวลาช้านานนับชั่วอายุคน ย่าเคยเล่าให้ฟัง เมื่อก่อนหมู่บ้านเราอยู่อย่างกลมเกลียว มีความสัมพันธ์อันดี ตั้งแต่สมัยโบราณที่ตั้งชุมชนกันใหม่ ๆ การลงแขก ดำนา เกี่ยวข่าวจะมาช่วยกันทั้งไทยพุทธมุสลิม ชาวบ้านชุมชนเชื่อมโยงกันทางประเพณี “ไปเถอะ เรายังมีอีกหลายชีวิต” เสียงสั่นเครือในตาที่แดงกล่ำ แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิงแกร่งของย่า (เคลื่อน สร้างอำไพ) ย่าไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตาที่ผ่านมา แต่กลับต้องแพ้ภัยให้กับคนที่อยู่ร่วมชาติเดียวกัน ถึงจะรักบ้านเกิดเมืองนอนสักเพียงใด แต่การอยู่โดยปราศจากความสุข และชีวิตที่เหลือล้วนแล้วก็เป็นผู้หญิง คิดแล้วคงลำบากน่าดู ถ้ายังใช้วิถีชีวิตเดิมๆ ที่เคยเป็น ในภาวะที่ขาดผู้นำครอบครัว ความคิดและการตัดสินใจครั้งสุดท้าย แม้หัวนอนปลายเท้าข้างหน้าจะไปตกอยู่หนไหน คงไม่สำคัญอีก ฉันคิดว่านั้นคงเป็นความอดทนสุดท้ายของความเป็นหญิงที่ใครๆ ก็ว่าเป็นเพศที่อดทนที่สุด ย่าเกิดที่หมู่บ้านนี้ และแต่งงานกับปู่ (เนย สร้างอำไพ) มีลูกชายสองคน และลูกสาวคนหนึ่ง ลูกชายคนหนึ่งของย่าเสียไปนานแล้ว ย่าเคยได้รางวัลแม่ดีเด่นด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำชุมนุมในการต่อต้านการตัดคลองชลประทานผ่านป่าของชาวบ้าน เป็นผู้อนุรักษ์ป่าสันทรายทำให้มีป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันหลายไร่ แต่วันนี้ย่าถือบทบาทของผู้สูญเสียซ้ำซ้อน ปีนี้ย่าอายุ 78 แล้ว โดยพ่อของฉันก็ไม่มีโอกาสได้อยู่ดูแลย่าในยามชรา และย่ายังต้องอยู่คนเดียว ขาดเพื่อนทุกข์เพื่อนยาก จากการถูกคนที่ได้ชื่อว่าเชื้อชาติเดียวกันเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ตัดหัวแล้วยังไม่ปราณีต่อร่างที่ไร้วิญญาณเผาซ้ำให้ช้ำใจของคนที่อยู่ข้างหลัง จะมีสักกี่คนที่จะทำใจยอมรับและอยู่เห็นการล่มสลายของความสงบสุข แต่ก็ยังมีความโชคดี ที่ยังเหลือให้เห็นสัมพันธ์ภาพที่ดีของชุมชนมันไม่ได้ล่มไปด้วย ถึงความหมายของความตาย คือความหมายของการเริ่มต้น โดยไม่จำเป็นต้องอรรถาธิบายอื่นใดอีก ถึงสิ่งที่ดำเนินต่อมาหลังจากนั้น ทุกๆ เหตุการณ์ที่ผันผ่านมาได้ ก็ใช่ว่า “ครอบครัวสร้างอำไพ” อยู่ลำพัง โดดเดี่ยว เพื่อนพ้องพี่น้อง พุทธ มุสลิม พวกเขาก็เปรียบเสมือนไม้ค้ำพยุงชีวิตไม่ให้เอนล้มตามแรงถาโถมของโชคชะตา ถึงฉันจะอยู่รายล้อมด้วยความโอบอ้อมอารีของคนที่ต่างศาสนิก คอยช่วยเหลือแม้ยามทุกข์สุข แต่อย่างไรก็ยังคิดว่าชีวิตที่เหลือต้องดำเนินต่อไปด้วยความปลอดภัย “เรา” ฉันและย่า พร้อมกับน้องๆอีก 6 คน บ้านของเราเหลือแต่ผู้หญิงแล้ว ต่างจัดแจงตระเตรียมของใช้ที่จำเป็นมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองที่แสนจะวุ่นวาย นี่คือจุดเริ่มต้นของความเหนื่อยยากของครอบครัวฉัน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อีกหลายๆ รายที่ประสบชะตากรรมเดียวกันก็ว่าได้ แม้ฉันไม่อยากไป ไม่อยากทิ้งแม่ไว้ที่ “หมู่บ้านเทียรยา” ตามลำพัง แต่ก็คงยากกับการอ้อนวอนให้แม่ไปอยู่ด้วย เพราะแม่ไม่ชอบวิถีชีวิตในสังคมเมืองเอาเสียมาก “ไปเถอะกูอยู่ได้” เสียงแม่และสีหน้าที่เรียบเฉย ไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็นแม้แต่น้อย นี่คือความเป็นแม่ของฉัน ที่มักจะพร่ำบอกเสมอว่าการให้อภัยคือทานที่ยิ่งใหญ่ ดังพุทธภาษิตที่ว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก อาจใช้อธิบายสิ่งเหล่านี้ได้เหมาะสมที่สุด ถึงแม้ฉันจะต้องพยามยามทำความเข้าใจกับคำนี้ก็ตาม ด้วยความเป็นฉัน ที่แรงด้วยโทสะในตัวค่อนข้างสูง แต่ก็ใช่จะเลวโดยสันดาน ก็เหมือนมุมมองและทัศนะคติที่มีต่อมุสลิมในพื้นที่ ฉันคิดว่าแผ่นดินนี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่คนชั่วช้าสามานย์ไปเสียหมด คนดีก็มีให้เห็น ถ้าทุกคนนั้นใช้ใจมอง ใช่อคติ เพราะส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่มีอะไรอยู่ได้โดดเดี่ยว โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทุกอย่างต้องเกื้อกูลกัน เป็นห่วงโซ่ นั่นคือระบบของวิถีชีวิตที่ฉันคิด ….......................... ชีวิตฉันเปลี่ยนไป ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจในครอบครัว ทุกเช้าต้องตื่นมาสูดเอาควันท่อไอเสียรถยนต์ในตัวเมืองปัตตานี ครอบครัวฉันก็คงอยู่ที่นี่อีกยาวแน่ ถึงต้องลำบากเพราะบ้านเช่า ข้าวต้องซื้อและซื้ออีกสารพัด เพราะไม่มีผืนดินให้ปลูกเหมือนเมื่อก่อน ฉะนั้น การทำงานจากเช้ายันเย็นมันยังน้อยไป อะไรที่เก็บเกี่ยวได้เป็นเงินเป็นทองไม่ผิดหมายอาญาบ้านเมืองก็ไม่จำเป็นต้องอายใครแล้ว หลายปีมานี้ ทุกก้าวย่างของชีวิต ฉันเห็นชีวิตที่ย่ำแย่ยิ่งกว่าที่ฉันเป็นหลายเท่านัก ถึงฉันจะลำบากแต่โอกาสยังมีมากกว่าอีกหลายคน ถึงแม้จะต้องอยู่อย่างยากเย็น ก็ยังไม่เห็นความย่อท้อของย่าฉัน ตลอดหลายปีหลังพ่อและปู่จากไป ไม่เคยมีใครล่วงรู้ถึงปมเงื่อนในใจของย่า ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มละไม พูดจาไพเราะทำงานหนักเกินวัย โดยไม่เคยตัดพ้อชะตากรรม ใครได้เห็นก็จะบอกว่า ย่าเป็นคนใจเย็น แต่ย่ามักจะบอกว่า “ถ้าใจเย็นก็คงได้อยู่บ้าน แต่นี่ใจมันร้อน” “ใจมันกลัว ความกลัวมีมากกว่าก็เลยต้องหนีมาอยู่ไกลถึงในเมืองนี้ ใครจะว่าตาขาวก็ให้ว่าไป” “อดอยาก ยากจน ก็ยังดีกว่าตายไปหนา...น่าเสียดาย” ลมหายใจสำหรับย่าฉันมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด ย่าบอกฉันให้รักชีวิตใช่แค่กลัวตาย แต่อยู่ใช้มันเพื่อสร้างคุณค่า เพราะมันมีค่ามากกว่าแค่มีลมหายใจ แค่คำสอนของสองผู้มีบุญคุณเหลือล้น พาฉันข้ามวิกฤตและปลูกจิตสำนึกรัก ศรัทธาในความเป็นเพื่อนมนุษย์ หลุดพ้นพันธะทางความคิดด้านลบกับสังคมในพื้นที่ ที่เป็นอยู่ ณ ห้วงเวลานี้ …...................................... ตอนพ่อตาย ฉันได้แต่ถามว่าทำไมต้องเป็นพ่อ...จิตใจสับสน ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเรา กับหมู่บ้านของเรา แต่พอปู่ถูกปลิดชีวิตอย่างโหดร้าย ฉันรู้สึกคับแค้นใจ รู้สึกว่าทำไมต้องมาทำซ้ำซ้อนกับครอบครัวของเราด้วย มองคนต่างศาสนาในแง่ลบ รู้สึกว่าน่าจะมีอะไรสักอย่างที่เข้ามา ต้องมาแก้ไขความรู้สึกเราให้ได้... ถึงชีวิตอาจมีเรื่องไม่คาดฝัน มีเรื่องเศร้าบ้าง เสียใจบ้าง หรือโหดร้ายบ้าง แต่ก็ชวนคิด ความสุขอยู่ที่ว่าเรารับบทบาทของเราได้ดีแค่ไหน เพื่อจะก้าวต่อไปอย่างมีสติ ครอบครัวเราได้รับการเยียวยาจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งกลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครเพื่อสันติภาพของพี่ละม้าย มนะการ พัฒนาสังคมเข้ามาเยียวยาด้านอาชีพ การยียวยาทางด้านจิตใจมีศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต ของพญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา เข้ามาพูดคุยด้วย มีทุนเข้ามาช่วยเหลือด้านการศึกษาให้น้องๆ เพื่อลดภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวไปได้บ้าง นานไปฉันกับย่าก็สามารถทำใจเป็นสุขได้ในทุกวัน การได้รับการเยียวยา ทำให้ชีวิตฉันออกมาสู่โลกกว้าง มีทัศนคติใหม่ที่ดีต่อสังคมรอบข้าง ความรู้สึกด้านลบต่อคนต่างศาสนิกค่อยๆ เลือนหายไป ย้อนมาวันนี้ ฉันไม่น่าคิดมาก โทษตัวเอง โทษว่าเพราะเราเป็นไทยพุทธหรือเปล่า โทษว่าทำไมต้องเกิดขึ้น เพราะว่าอย่างน้อยๆ คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ทุกคนก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม เหล่านี้สะท้อนให้ฉันได้คิดว่า จะแช่แข็งตัวเอง เป็นแค่ผู้ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ตลอดไปคงไม่ได้ต้องทำอะไรสักอย่าง และทุกครั้งที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ฉันได้เห็นถึงการสูญเสียทั้งชีวิตและสัมพันธ์ภาพของคนในชุมชน การเยียวคนอื่นก็เหมือนกันฉันได้เยียวยาตัวเองอยู่เสมอ สำหรับชุมชนฉัน หมู่บ้านเทียรยา จากอดีตที่เราเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่แล้ว รู้สึกว่าหลังเกิดเหตุการณ์ความรู้สึกนี้ยิ่งเหนียวแน่นขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าเราต้องต่อสู้กับหลายๆ สิ่งที่เข้ามาในชุมชนเรา ทุกคนรู้สึกว่าต้องทำหน้าที่ปกป้องชุมชน “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” เป็นรายการที่นำประสบการณ์ของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง และผู้หญิงที่ทำงานภาคประชาสังคม มาร่วมกันจัดรายการ ทีมงานทั้งหมดเป็นผู้หญิง โดยแบ่งงานตามหน้าที่ สัมภาษณ์ ตัดต่อ เขียนบท ดำเนินรายการ และกำกับรายการ กว่าจะมาเป็นรายการวิทยุ 'เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้' สมาชิกที่จะจัดรายการต้องเข้ารับการอบรมเสริมทักษะ ความรู้ด้านการจัดรายการวิทยุเบื้องต้น การเป็นนักสื่อสารและพลังของการสื่อสาร การได้มาพบปะ มาร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เป็นดั่งการได้เยียวยาตนเอง มีเพื่อนพูดคุย ช่วยคลี่คลายความทุกข์ ความโศกเศร้า เพื่อปัญหาที่อยู่ในใจได้รับการคลี่คลายบรรเทาบางเบาลง ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้รู้สึกภาคภูมิใจ แล้วก็เกิดความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง “การทำให้ผู้ได้รับผลกระทบลุกขึ้นมาเป็นนักสื่อสาร จึงนับว่าเป็นเสียงที่มีพลัง” อัสรา รัฐการัณย์ หนึ่งในทีมงานนักจัดรายการวิทยุให้ความหมาย เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2552 สะท้อนเรื่องราวของชีวิต ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ ผ่านมุมมองของผู้หญิง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลาย ปี 2554 เสียงจากผู้หญิงและภาคประชาสังคม ที่ทำงานเข้มข้นมากขึ้นโดยขยับขับเคลื่อนงาน ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งและภาวะยากลำบากที่ต้องร่วมก้าวข้ามให้ได้ โดยมีเนื้อหา อาทิ สาเหตุและทางออกของสถานการณ์ความขัดแย้ง บทบาทภาคประชาสังคมในสถานการณ์ความขัดแย้ง งานเยียวยา และการส่งเสริมอาชีพ บทบาทสื่อในพื้นที่ชายแดนใต้ ความสัมพันธ์ไทยพุทธ-มุสลิมในสถานการณ์ความขัดแย้ง ทรัพยากรธรรมชาติจากต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ชายแดนใต้ กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับครอบครัวและเยาวชน เป็นต้น ต่อมาปี 2555ได้ผลิตรายการเป็นภาษามลายูเพื่อสื่อสารกับคนในพื้นที่มากขึ้น ถึงผลกระทบที่ผู้หญิงได้รับ การก้าวข้าม การลุกขึ้นมาเยียวยาตนเอง สังคม และความสัมพันธ์พุทธ-มุสลิมตั้งแต่อดีต ในอนาคต รายการ “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” จะพัฒนาปรับปรุงรายการเพื่อให้เป็นเสียงที่มีพลัง มีความหมาย สะท้อนความจริงในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด และจะทำรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวมากขึ้น เพราะสันติภาพเริ่มต้นที่ครอบครัว และพยายามสร้างนักจัดรายการรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อให้เสียงสำคัญในพื้นที่ ถูกสะท้อนออกไปสู่การรับรู้ รับฟังของผู้ฟังมากขึ้น ส่วนนักจัดรายการที่ร่วมจัดอยู่แล้ว จะนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กระบวนการสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ให้มากขึ้น เมื่อฉันได้อ่านเรื่องของดวงแล้ว ไม่คิดว่าจะเป็นคนเดียวกับผู้หญิงที่เคยคุยด้วย ทุกครั้งที่เราทักทายกันจะมีแต่รอยยิ้มให้ฉันทุกครั้ง มันช่างแตกต่างจากเรื่องราวที่อยู่ข้างหลัง ดวงแบกความรับผิดชอบมากมายเกินตัว ต้องยืนให้ได้ท่ามกลางความสูญเสีย แต่การสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะรับได้ ฉันคิดว่าดวงเป็นผู้หญิงแกร่งคนหนึ่งที่ได้เดินตามรอยเท้าของผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่สองคนคือแม่และย่าของเธอที่ให้คำสอนที่มีคุณค่าทางจิตวิญญาณ เป็นตัวแบบ ต้นแบบของผู้หญิงที่ใจแข็งแกร่งยิ่งกว่าชาย กล้าเผชิญชีวิตอย่างไม่ท้อถอยหวังเพียงให้สมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่ได้มีที่กินที่อาศัยที่พักกายที่ปลอดภัย คำสอนของย่าที่บอกให้ “อยู่เพื่อสร้างคุณค่า เพราะมากกว่าลมหายใจ” สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความเอื้ออาทร ไม่เห็นแก่ตัว ช่างเป็นผู้หญิงที่มีเกียรติน่ายกย่องชื่นชม" |
ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942 หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี
ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา