หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข …... |
'อารีด้า สาเม๊าะ': ฉันคือเลือดของพ่อ...
อารีด้า สาเม๊าะ
ภาพประกอบ: วิโชติ ไกรเทพ
“ถึงท่านผู้อ่านที่เคารพ...
ข้าพเจ้าอภัยผู้ปลิดชีวิตบิดาของข้าพเจ้าแล้ว โดยปราศจากเงื่อนไข”
ถึงท่านที่ร่ายสายตาอ่านงานเขียนของข้าพเจ้า เด็กสาวคนหนึ่งกำลังเล่าถึงชีวิตหลังจากสูญเสียบิดาผู้เป็นที่รักไป ทุกตัวอักษรที่ข้าพเจ้าทำให้มันปรากฏขึ้นมา ช่างยากเย็น และขมขื่น เพราะทุกครั้งที่มือนั้นกำลังจะกดลงไปยังแป้นพิมพ์ สมาธิที่กำลังเพ่งไปที่เรื่องราว ที่ต้องย้อนเวลากลับไปเมื่อครั้งที่เหตุร้ายมาเยือนชีวิต มือนั้นเป็นอันต้องเปลี่ยนทิศ มาปัดน้ำตาที่ร่วงหล่น เพราะภาพที่พ่อล้มลง หลังกระสุนมรณะได้ลั่นออกมาจากปากกระบอกปืน ภาพวันนั้นมันกลับมาชัดขึ้น ชัดขึ้น ภาพเหตุการณ์ที่ฉายซ้ำในความคิด เหมือนได้เกิดขึ้นต่อหน้า เหมือนข้าพเจ้าอยู่ตรงนั้น ยืนดูพ่อล้มลงและเห็นภาพสุดท้ายที่พ่อยังหายใจรวยริน และจากไปในที่สุด ฉากเหล่านั้นข้าพเจ้าสร้างขึ้นเอง เป็นเพียงจินตนาการหลังจากที่พยายามประติดประต่อเรื่องราว ที่เกิดขึ้น เพราะวันนั้น ข้าพเจ้าเป็นคนสุดท้ายที่กลับมาดูร่างไร้วิญญาณของพ่อด้วยซ้ำไป
ถึงท่านผู้อ่านที่เคารพ
ข้าพเจ้า 'อารีด้า สาเม๊าะ' เป็นบุตรลำดับที่สองของนายอับดุลเลาะ สาเม๊าะ ผู้ที่มีชีวิตอีกครั้งในงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจพาตัวเองมาอยู่ในแวดวงทางเลือกของสังคม ที่พยายามตามหาสิ่งที่หลายคนเรียกมันว่า “สันติภาพ” ที่มันหายไปตั้งแต่สงคราม(ซ่อนรูป) ได้ประทุอีกครั้งหลังปี 2547 ณ ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้
มารดาของข้าพเจ้าคือนางพารีดะ สาเม๊าะ ผู้ที่ต้องรับภาระต่อจากบิดา ครอบครัวของเรามีสมาชิกก่อนหน้านี้ 9 คน และปัจจุบันเหลือเพียง 8 คน เนื่องจากพ่อเสียไปแล้ว
ข้าพเจ้าเป็นเด็กสาวที่อดีตเป็นเด็กน้อยที่ร้องไห้ได้ถ้วย ครั้งที่จำได้ว่า “เรา” ที่ข้าพเจ้าหมายถึงครอบครัวเล็กของข้าพเจ้า ยังอยู่ในครอบครัวใหญ่ ข้าพเจ้าจำได้ถึงเสียงเลื่องลือของตระกูลนี้ ว่าเป็นลูกหลานที่ “ขี้แย” ที่สุดเท่าที่ตระกูลนี้มี จนทวดพูดปลอบใจทุกคนที่ต้องทนเลี้ยงข้าพเจ้า ด้วยประโยคนี้ที่ยายมักเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่า “โบราณท่านว่า เด็กร้องไห้เยอะ โตขึ้นมันจะฉลาดนะ” นี่คือคำพูดของคุณทวด แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ความจริงของประโยคนั้น ต้องพูดว่า เด็กน้อยขี้แยในวัยเด็กจะกลายเป็นผู้ใหญ่ขี้แยในอนาคตต่างหาก เพราะจนถึงวันนี้ ข้าพเจ้ายังต้องผ่านเรื่องราวที่ทำร้ายความรู้สึกตลอดเวลา และร้องไห้กับทุกเหตุการณ์ไม่ว่างเว้น ยังไม่เห็นว่า จะเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาดขึ้นอย่างไร
ชีวิตข้าพเจ้า เด็กสาวที่เปลือกนอกดูไม่มีอะไร แต่ความคิดไม่เคยหยุดตั้งคำถาม เพื่อชดเชยความรู้สึกสูญเสีย และเป็นวิธีตามหาบางสิ่ง ที่จะอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ “ทำไมต้องยิงพ่อฉันด้วย”....
เรือนร่างของผู้ที่จากไป ย่อยสลายกลับสู่ดินดั่งจุดเริ่มต้นที่ร่างกายของมนุษย์ถูกสร้างมา แต่การจากไปของคนที่รัก กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดถึงอันยาวนาน อดีตที่ผ่านไป เหมือนถูกปลุกให้มีชีวิตตลอดเวลา
การจากไปอย่างอธรรมของพ่อ ย่อมส่งผลต่อชีวิตที่เหลือของข้าพเจ้าแน่นอน และจริงอย่างที่ว่า หกปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่ครอบครัวประสบพบเจอเป็นแรงผลักให้คนอย่างข้าพเจ้ามีความปรารถนาแรงกล้าที่จะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ทำให้พื้นที่สังหาร กลายเป็นบ้านแสนสุขของทุกคน บ้านที่หมายถึงพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่สันติสุข สันติภาพ ถูกทำให้มีชีวิตจริง ใช่เพียงคำปลอบขวัญให้คนมีความหวังในดินแดนสงครามไปวันๆ แต่ข้าพเจ้าเลือกแล้วที่จะร่วมสร้างพื้นที่เหล่านั้น พร้อมทุกคนที่ปรารถนาให้มันเกิด...อินซาอัลลอฮฺ ตะอาลา
…............................
“นี่ฉันเป็นคนสุดท้ายของบ้านใช่ไหม ที่รู้ว่าพ่อตายเพราะถูกยิง”
แม้วันนี้ จะผ่านไปแล้วกว่า 6 ปี แต่ฉันยังนึกย้อนไปถึงวันนั้น ที่พ่อฉันได้จากฉันไปอย่างถาวรสำหรับโลกนี้ เป็นวันที่ 15 กันยายน 2549 ฉันยังนึกประโยคนี้ได้แม่นยำ ท่าทางโกรธเคืองทุกคนในโลกที่ไม่บอกว่า พ่อตายเพราะอะไร โกรธทุกคนที่ปล่อยให้ฉันเข้าใจไปเองว่า ที่พ่อนอนแน่นิ่งไม่ขานรับเสียงตะโกนของฉันที่ดังก้องในใจเพื่อปลุกให้พ่อตื่นในคืนนั้น เป็นเพียงโรคร้ายที่พ่อเองก็ทรมานมานานกับมัน ตั้งแต่ฉันยังเด็ก โกรธเคืองทุกคนที่ทำให้ฉัน ซึ่งเป็นลูกที่พ่อรักที่สุดในบรรดาทุกสิ่งในโลกนี้ เป็นคนสุดท้ายที่รู้ว่า ที่พ่อจากไป เพราะคมกระสุนจากความมืดที่ไม่มีใครเห็นนั้นหรอกหรือ...
ฉันร้องไห้น้ำตานองหน้า พร้อมกระชากแขนญาติคนหนึ่งที่สนิทกันมากมาถาม “พ่อถูกยิงใช่ไหม พ่อถูกยิงใช่ไหม” เสียงถามจากฉันเงียบไปแทนที่ด้วยเสียงสะอื้น ตามด้วยคำตอบจากผู้เป็นญาติเพียงว่า “มันเป็นความประสงค์ของพระเจ้า ถึงเวลาของพ่อแล้ว ถูกยิงเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น เธอต้องทำใจให้ได้” พูดจบแล้วเดินจากฉันไปหยิบของวุ่นวายในครัว ปล่อยให้ฉันยืนน้ำตานองหน้าต่อไป ทว่าความงุนงงในชีวิตได้เริ่มต้น
… 8 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น ...
ฉันยังจำได้ดี วันนั้นกำลังเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบปลายภาคที่หอพักหลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อเตรียมสอบในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขณะนั้นอยู่ชั้นปีที่ 2 เทอม 1 และดำรงตำแหน่งเป็นประธานเอกชั้นปีที่ 2 ด้วย ยิ่งต้องเรียนหนังสือให้เก่ง เพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ
เที่ยงคืนแล้วมีเสียงคุ้นเคยมาเรียกชื่อฉันดังจากหน้าหอพัก “ดา อยู่ไหมๆ” เสียงคุ้นๆ นั้นเรียกสามสี่ครั้ง แล้วเงียบไปสักพัก ฉันชะเง้อออกไปผ่านหน้าต่างบานเล็ก ปรากฏว่าต้นเสียงคือญาติสนิทคนหนึ่งที่กำลังยืนมองว่าจะมีใครเปิดประตูให้หรือไม่ พร้อมกับญาติคนอื่นๆ อีกประมาณ 2-3 คน ฉันตกใจมากและรีบออกไปเปิดประตู เพื่อถามไถ่ “รู้ได้ยังไง ว่าอยู่ที่นี่ แล้วมาทำอะไรกันกลางดึกเนี้ยะ” ....หนึ่งในญาติฉันขอเข้าบ้าน เพื่อเจอเพื่อนคนอื่น และอีกคนตอบว่า “มาเที่ยวแถวนี้ เลยแวะมารับไปกินข้าว ไปแต่งตัวเร็ว” ด้วยความตกใจ เลยไม่ได้ถามอะไรมากมาย แต่ก็รีบเข้าบ้านไปแต่งตัวกลัวญาติจะรอนาน
ระหว่างทางที่เราทั้งห้าคน นั่งรถออกจากเมืองปัตตานี เดินทางบนถนนที่มืดสนิท ที่มีแต่ไฟหน้ารถที่ส่องไปตรงๆ ทำให้พอเห็นสองข้างทางได้บ้าง แต่ไม่พอที่จะทำให้ฉันเห็นว่า เส้นทางที่เรากำลังผ่าน คือ ถนนหลักที่เราใช้กลับบ้านเป็นประจำนั้นเอง
สองชั่วโมงกับการนั่งรถ ทุกคนไม่ได้สนใจว่า ฉันจะนั่งตัวเย็น หน้าซีด เพราะความตกใจ ว่าป่านนี้จะมารับไปเที่ยวไหนก็ไม่บอก และที่น่าสนใจคือญาติที่มาในวันนี้ มีความไม่ปกติ คือที่ผ่านมาไม่เคยมีใครในรถที่สนใจอยากจะชวนฉันไปไหนเลยในชีวิต
คำถามประดังประเดขึ้นมาอย่างไม่รู้จะหาคำตอบจากไหน...ฉันได้แต่ตั้งสมมติฐานไว้ว่า “ต้องเกิดอะไรขึ้นที่บ้านแน่ และสงสัยว่าจะต้องเป็นหนึ่งในน้องชายฉันที่เกเรไม่ฟังใครแน่นอน”
เมื่อถึงปากทางหมู่บ้าน ญาติผู้หญิงที่นั่งใกล้ที่สุดบอกว่า “ดารู้สึกใช่ไหม ว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นที่บ้าน และไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร ดาต้องรับมันให้ได้ และคิดไว้ว่าสักวันหนึ่งวันนี้ต้องมาถึงครอบครัวเรา” พูดจบ รถก็จอดถึงหน้าบ้าน ตัวฉันยิ่งสั่น และเกร็งมากขึ้นเมื่อมีญาติหลายคนที่อยู่ต่างหมู่บ้านมารวมตัวกันในคืนนี้ และในจำนวนนั้นมายืนรอฉันที่หน้าระเบียงบ้าน ฉันก้าวเท้าลงจากรถและเดินอย่างงงๆ กึ่งจะไม่รู้สึกตัว
สิ่งที่สังเกตเห็นบนบ้านคือ มีญาติหลายคนมองมาทางฉัน และมีผ้าม่านกั้นครึ่งบ้าน จำได้ว่า ตรงนั้นคือที่สุดท้ายที่ได้เห็นร่างปู่นอนอยู่ที่นั้น และภาพเดียวกันที่เคยเห็นก็ปรากฏอีกครั้ง มีขายื่นเหยียดตรง มีผ้าคลุมไว้ โผล่ออกมาจากม่าน ซึ่งฉันคิดในใจ “น้องชายฉันหรือนี่” ทันทีที่พยายามก้าวไปหาม่านนั้น มีอาสาวคนหนึ่งมาดึงแขนแล้วกอดฉันไว้แน่นพร้อมพูดว่า “พ่อไปดีแล้วนะ ทุกอย่างเป็นกำหนดจากอัลลอฮฺ” พร้อมป้าอีกคน มาตบบ่า “อดทนไว้ ทุกการงานเป็นของพระเจ้า ไม่มีใครทำได้นอกจากพระองค์ อดทนไว้นะลูก”
ฉันตกอยู่ในห้วงของความมึนงงอยู่หลายนาที ก่อนที่น้ำตาจะพรั่งพรูออกมาด้วยความตกใจสุดขีด ตัวสั่นสะท้าน กอดอาสาวไว้แน่น พร้อมถามว่า “เกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องเป็นพ่อ ทำไมต้องเป็นพ่อ”
สักพักอาพาไปดูศพ โดยเปิดจากเท้าก่อน ฉันก้มลงไปจูบเท้าพ่อเป็นครั้งแรกในชีวิตและคงเป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีอีกแล้วที่จะได้สัมผัสร่างกายของพ่อ ก่อนที่จะจากไปนานแสนนาน ต่อด้วยเปิดหน้าอกและเปิดหน้า ฉันก้มลงจูบหน้าผากพ่ออีกครั้ง ก่อนจะถูกปิดไปด้วยผ้าปิดร่างผืนนั้น
ลูกอีกหกคน นั่งพร้อมหน้าด้วยแววตาเศร้าสลด แต่ฉันคือคนสุดท้ายที่รับรู้ว่าพ่อของพวกเราทั้ง 7 ได้จากไปแล้ว นั่งน้ำตาหลั่งรินไม่ขาดสายอยู่คนเดียว นั่งดูร่างไร้วิญญาณ พลางเสียงดังก้องในใจ “ทำไมต้องเป็นตอนนี้ ทำไมพ่อต้องจากไปตอนนี้”
ด้วยความเหนื่อยล้า จากการร้องไห้ สุดท้ายฉันก็หลับไปข้างๆ ศพพ่อที่โรยแป้งกันมดขึ้นโดยรอบ ฉันขอนอนตรงนี้ กับพ่อเป็นครั้งสุดท้ายในค่ำคืนที่แสนทรมานและยังหวังไว้ลึกๆ ในใจว่าเดี๋ยวตื่นขึ้นมา ทุกอย่างที่เห็นคือความฝัน ฉันหวังไว้มากเหลือเกินในค่ำคืนนั้นว่า พ่อจะยังมีชีวิตอยู่หลังจากที่ฉันตื่นขึ้นมา
.....สิ่งที่คาดหวัง กลับสูญสลายไปกับความฝัน เมื่อความจริง คือ พ่อฉันจากไปแล้ว เมื่อฉันตื่น...
เช้าวันนั้น เรากำลังรอคนหนุ่มมาอาบน้ำศพให้พ่อ ฉันนั่งอยู่ในห้องกับน้องชายคนที่สี่ น้องสาวคนที่หก และน้องชายคนเล็ก น้องชายคนที่สี่ นั่งรำพึงรำพัน “พ่อไม่น่าจากไปเลย พ่อตายแล้ว พ่อตายแล้ว” ฉันไม่เคยเห็นน้องคนนี้ร้องไห้เสียใจมากขนาดนั้น ก็เข้าไปปลอบและเตือนสติว่า “พ่อไปแล้ว ไม่มีสิทธิทำความดีแล้ว ถ้าพวกเราเป็นคนดี ทำความดี พ่อจะสบาย แต่ถ้าพวกเราที่เป็นลูก เป็นคนไม่ดี พ่อจะทรมานในกูโบร์ เข้าใจไหม” น้องทั้งสามคน พยักหน้าเข้าใจ แต่ฉันเองน้ำตาก็ไม่หยุดไหลเหมือนพวกเขาที่จ้องมองอยู่
ใกล้ถึงเวลาจะอาบน้ำ หนุ่มๆ ที่รับอาสาอาบน้ำศพให้ เตรียมพร้อม ในระหว่างนั้น ฉันเข้าใกล้ผ้าม่าน อยากแอบดูว่าเขาจะอาบน้ำพ่ออย่างไร แต่มีหนึ่งในผู้อาบน้ำศพนั้นเอ่ยขึ้น ฉันถึงกับตาโตขึ้นมาอีกครั้ง “รอยกระสุนที่หลังหลายจุดนะ มีที่อกด้วย”
กระสุนมาเกี่ยวอะไรกับการตายของพ่อฉันละ พ่อฉันเสียชีวิตเพราะเป็นโรคนิ่วและเบาหวานไม่ใช่เหรอ ทำไมต้องมาพูดเรื่องกระสุนหล่ะ
นาทีนั้นน้ำตาก็พรั่งพรูอีกครั้งหนึ่ง เรื่องราวเหตุการณ์คร่าวๆ เริ่มลำดับขึ้นในสมอง ฉันเดินไปในครัว กระชากแขนญาติคนสนิทที่เดินผ่านพอดีว่า “พ่อถูกยิงใช่ไหม พ่อถูกยิงใช่ไหม” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันย้อนความทรงจำทั้งหมดเกี่ยวกับพ่ออีกครั้งหนึ่ง จนถึงวินาทีสุดท้ายที่พ่อจะได้อยู่บนบ้านหลังนี้ ในสมองฉันตอนนั้นแทบจะย้อนภาพเก่าที่พ่อเคยจับฉันขี่คอเดินตามทางกลับบ้านในวัยเด็ก และเสียงที่ตะโกนในใจตอนนั้นเริ่มเปลี่ยนเป็น “มันไม่ยุติธรรม มันไม่ยุติธรรม พ่อไม่ควรตายแบบนี้ มันไม่ยุติธรรมกับพ่อของฉัน ทำไมพวกเขาใจร้ายอย่างนี้”
ญาติคนนี้ดึงแขนฉันไว้แล้วบอกว่า “เธอหรือใครจะห้ามพ่อเธอไม่ให้ตายไม่ได้หรอก เขาหรือใครจะทำให้พ่อเธอตายไม่ได้หรอก นี่คือกำหนดจากอัลลอฮฺ กระสุนนั้นเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น”
..............................
“เพราะในคำบอกเล่าของญาติๆ กล่าวถึงพ่อว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ฉันจึงไม่วางใจ ว่าการที่พ่อถูกทำร้าย มันต้องมีมากกว่าหนึ่งเหตุผล”
พ่อ-นายอับดุลเลาะ สาเม๊าะ คือผู้ที่มักอยู่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของการเมืองท้องถิ่นมาตลอดเท่าที่ความทรงจำของฉันจะสามารถย้อนไปได้ ตั้งแต่ตำแหน่งอาสาสมัครรักษาความสงบในชุมชน (อส.) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบของหมู่บ้าน จนถึงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเมื่อปีพ.ศ. 2542
เหตุที่ค่อนข้างปักใจเชื่อเรื่องเครือข่ายยาเสพติด เนื่องจากยุคนั้น มีการปราบปรามยาเสพติดอย่างหนัก ถึงขั้นมีใบสั่งถึงพ่อค้ารายใหญ่ที่อยู่ในหมู่บ้าน ถ้าไม่มาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะเลิกขาย อาจจะมีมาตรการขั้นเด็ดขาดซึ่งอาจหมายถึงชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นที่รู้กันในวงคุยของผู้ใหญ่ในชุมชน เป็นผลให้พ่อค้าที่เคยมีรายได้จากการค้ายาในยุคนั้น มาแสดงตัวและหมู่บ้านเราสงบสุขมาก หลังจากที่มีกฏที่เคร่งครัดมากขนาดนั้น พ่อค้าตัวเล็ก ตัวใหญ่ไม่กล้าทำอะไรมาก และสุดท้ายเรื่องยาเสพติดก็หายไปจริงๆ ในหมู่บ้านของเรา แน่นอนว่า ข้อมูลเหล่านั้นต้องมาจากคนในหมู่บ้านที่มีหน้าที่ส่งรายงานความเคลื่อนไหวของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ อย่างผู้ใหญ่บ้านเป็นต้น และสมมติฐานนี้คงอยู่ในความคิดของฝ่ายที่เสียผลประโยชน์จากการค้ายาเป็นแน่
แต่จุดอันตรายเริ่มบังเกิด เมื่อถึงช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งอีกครั้ง และพ่อตัดสินใจลงอีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า อีกฝ่ายที่เป็นแนวร่วมของคู่แข่งซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพ่อเอง ก็คือผู้ที่เสียผลประโยชน์จากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดเมื่อช่วงที่มีการปราบอย่างหนักนั้นเอง ผลออกมาคือพ่อแพ้การเลือกตั้ง ทำให้ครอบครัวเราเริ่มประสบภาวะขัดสน และฉันก็เครียดมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตในช่วงนั้น
ครั้นที่เริ่มทำใจได้กับการจากไปของพ่อ สิ่งแรกที่ฉันโทษว่าเป็นสาเหตุของการจากไปในครั้งนี้ คือเรื่องที่พ่อทำงานให้กับรัฐมาตลอด เพราะตั้งแต่จำความได้ เห็นชุดประจำตำแหน่งของพ่อ ตั้งแต่ชุดเสื้อสีกากีของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จนวันหนึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน หนึ่งสมัย เป็นอาสาสมัครประจำตำบล เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ที่ทุกคนรู้จัก ประเด็นที่สำคัญคือ พ่อเป็นในช่วงที่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ถึงขั้นรุนแรงสูงสุด คือช่วง 2548-2549 ไม่คิดว่า ช่วงเวลาสั้นๆ จะทำให้พ่อกลายเป็นเป้าสำคัญที่ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจไว้ชีวิตพ่อได้อีก
แม่: “ดา พ่อแกสมัครเป็นชรบ.”
ฉัน : “แม่อยากให้พ่อเป็นหรือไง ทำไมไม่ห้ามพ่อละ”
แม่ : “พ่อแกบอกว่า พ่อไม่มีงานทำ เป็นก็ไม่เป็นไร”
เมื่อย้อนถึงหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้พ่อจากพวกเราไปอย่างถาวร ฉันจะนึกถึงเสียงแม่ที่โทรมาบอกกึ่งปรึกษาว่า พ่อจะสมัครเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หลังจากพ่อไม่ได้ทำงานมานานกว่าสองปี หลังจากเสียตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านให้กับเพื่อนที่เคยสนิทกัน ฉันนึกตำหนิตัวเองจนถึงวันนี้ ถ้าวันนั้น ฉันยืนยันเสียงแข็งกว่านี้ อย่างไรพ่อก็ต้องฟัง เพราะฉันถือเป็นลูกที่พ่อรักที่สุดในบรรดาลูกๆ ทั้งหมด
แต่อาจจะเป็นเพียงสิ่งที่ฉันคิดไปเอง เมื่อปัจจัยรอบด้านรุมเร้าการตัดสินใจของพ่อ ทำให้ท้ายที่สุด พ่อเลือกที่จะเป็นชรบ. แต่มีหน้าที่คุ้มครองผู้ใหญ่บ้านอีกหมู่ ซึ่งเป็นญาติสนิทกันทำให้ฉันวางใจบ้าง ว่าอยู่กับลุง คงจะไม่เป็นไร
…..................................
หนึ่งสัปดาห์กับการต้อนรับเพื่อนพ้องของพ่อที่เดินทางมาเยี่ยมครอบครัว หลังจากทราบข่าวคราวการจากไป การพบปะจะมาพร้อมเรื่องราวของพ่อเมื่อครั้งยังมีชิวิตอยู่ ผู้คนเหล่านั้นต่างพากันพูดถึงพ่อฉัน ในวันที่เขากับพ่อมีความทรงจำบางอย่างด้วยกัน เพียงพอแล้วกับเรื่องราวเหล่านั้น ฉันตัดสินใจเดินทางกลับมายังสถานศึกษา ที่อย่างน้อยภาพเหล่านั้นจะไม่ตำใจอีก โดยพยายามปรับความสนใจไปยังเรื่องอนาคตบ้าง
สิ่งที่ฉันนึกได้ก่อนกลับมายังมหาวิทยาลัย แม่ได้พูดถึงเอกสารที่ต้องไปยื่นให้ทางที่ว่าการอำเภอ เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิทายาทผู้ได้รับ เนื่องด้วยช่วงนั้นมหาวิทยาลัยยังไม่มีระบบการรับเรื่องนักศึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ ฉันไม่รู้จะพึ่งพาใคร ให้ช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษา เกรงว่าจะต้องหยุดเรียนกลางทาง กว่าจะได้รับสิทธิค่าเล่าเรียนตามกรอบการเยียวยาจากหน่วยงานรัฐ ฉันคิดว่าอีกหลายเดือนแน่นอน และช่วงนี้ แม่ต้องอยู่แต่ในบ้าน เพราะเป็นกฎของอิสลาม หลังจากสามีเสียชีวิต ผู้เป็นภรรยาต้องอยู่ในบ้านเป็นเวลาสี่เดือนกับอีก 10 วัน เป็นกฎที่เราต่างยอมรับกันดีช่วงนั้น ไม่มีรายได้เข้าครอบครัว และเป็นช่วงที่แม่เริ่มเข้าใกล้ศาสนากว่าที่เคย ภาพที่ฉันเห็นคือ แม่อยู่กับอัลกุรอานและผ้าละหมาด ตื่นหลังเที่ยงคืนเพื่อละหมาดอีก อยู่อย่างนี้ จนถึงวินาทีสุดท้ายที่ฉันอยู่บ้าน ก่อนจะตัดสินใจกลับมามหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง
หลายเดือนต่อมา ฉันเริ่มร้องไห้มากขึ้นทุกวัน เมื่อได้รับรู้เรื่องราวของน้องชายคนหนึ่งที่กำลังประสบภาวะทางจิต กักตัวอยู่ในห้องนอนนานร่วมเดือน ไม่ยอมออกจากบ้าน ไม่พูดไม่จากับใคร จะเห็นหน้าเขาได้ก็ต่อเมื่อน้องออกจากห้องเพื่อเข้าห้องน้ำ เป็นอย่างนี้นานพอสมควร นานจนแม่รู้สึกได้ว่า ต้องแก้ปัญหา และแม่ตัดสินใจโทรมาถามว่า “จะเอายังไงดี น้องท่าทางจะอาการหนักแล้วนะ”
ตัดสินใจกลับบ้านอีกครั้ง เพื่อมาดูใจน้อง และพบว่า สิ่งที่เราเรียกว่าผลข้างเคียงจากเหตุการณ์เริ่มลุกลาม โดยเฉพาะน้องชายคนนี้ อายุ 17 ปี วันที่เกิดเหตุการณ์ เขาอยู่บนบ้านและเป็นคนแรกที่วิ่งไปที่พ่อ และแม่เล่าว่า “น้องแกพยายามหาปืนพ่อเพื่อจะยิงตอบโต้นะวันนั้น แต่ปืนอยู่ที่เอวพ่อแก น้องเลยหาไม่เจอ” ประโยคบอกเล่าเพียงเท่านี้ ทำให้ฉันเข้าถึงความรู้สึกของน้องชายคนนี้ ว่าทำไมถึงปิดประตูขังตัวเองไว้กับอดีตอันเจ็บปวดนี้ ถ้าเป็นฉันคงคลั่งไปแล้ว
เดาว่า อาจเพราะน้องเห็นคนพวกนั้น แม้จะเป็นเงาตะคุ่ม แต่ก็เป็นคนปลิดชีพพ่อของพวกเรา และมีญาติที่ตรวจบริเวณหลังบ้าน ที่ๆ ซึ่งกลุ่มคนที่สังหารพ่อของฉันซุ่มอยู่ พวกเขายิงกระสุนด้านไปสองนัด ทำให้น้องชายฉันไม่กลายเป็นศพที่สอง และป้าของพ่อที่วิ่งมาหลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาที ซึ่งอาจจะเป็นศพที่สามของคืนนั้น น้องคงจะอึดอัดที่คืนนั้น ช่วยพ่อไม่ได้ ซ้ำยังตอบโต้ไม่ได้ มันคือโอกาสทั้งๆ ที่พวกมันยังยืนอยู่ตรงนั้น เป็นโอกาสแท้ๆ ถ้าเป็นฉัน ก็คิดแบบนี้ ถ้าฉันเจอปืนที่อยู่ที่เอวของพ่อ ฉันเองก็ยอมแลกแน่นอน
“ช่วยทำอะไรสักอย่างเถอะ” ฉันร้องขอจากญาติๆ ที่ยังมีกำลังใจเข้มแข็งกว่าแม่ จากการพูดคุยกับญาติในวันนั้น ทุกคนมีมติตรงกันว่า ต้องพาไปทำพิธีกรรมบางอย่างตามความเชื่อของพวกเรา ถ้าเปรียบเทียบคือการเรียกขวัญในแนวพุทธ แต่นี้คือการเรียกขวัญโดยการขอพรจากอัลลอฮฺ แต่ฉันกลับสนใจในส่วนของกระบวนการที่ทำให้ญาติหลายคนมาเชื่อมต่อกับน้องชายที่ต้องการคนเข้าใจอย่างมาก
“ได้ผล”
เมื่อน้องชายเริ่มยอมพูดคุยกับแม่ และฉันเริ่มกลับบ้านบ่อยขึ้น ไม่นานน้องชายคนนี้ทำให้ฉันแปลกใจขึ้นมาอีกขั้น เมื่อเขามาบอกกับแม่ว่า
“ส่งผมไปเรียนศาสนาเถอะ”
ตอนฟังครั้งแรก รีบบอกแม่ให้ตอบสนองความต้องการของน้องไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม นี้คือโอกาสที่เราจะดึงน้องคนนี้ให้อยู่ในร่องในรอย ซึ่งร่องนั้นคือ ร่องแห่งศาสนานั้นเอง
“สำหรับลูกชายของพ่อ ขออย่างเดียว ทำตัวดีๆ พวกเรายังทำความดีได้อยู่ แต่พ่อไม่มีโอกาสแล้ว อย่าทำให้เขาต้องมารับผลกรรมเพิ่มอีกเลยนะ ความดีที่เธอทำให้ตัวเธอเอง จะส่งให้พ่อด้วย” ฉันเคยพูดกับน้องชายอย่างนี้ เพื่อเป็นการเตือนสติเขาไม่ให้ทำตัวไม่ดีอีก
บ้านหลังเดิมที่เราอยู่ เป็นบ้านหลังเก่า ทรุดโทรม ทุกคนที่เหลือนั่งคุยกันว่า ถ้าได้เงินเยียวยา เราจะจ่ายหนี้ไห้พ่อก่อน และจะซ่อมบ้านให้แข็งแรงกว่านี้ นั้นคือสิ่งแรกๆ ที่เราวางแผนเรื่องเงินที่กำลังจะได้ และสิ่งต่อมาที่แม่เสนอคือ
“แม่จะให้พ่อไปฮัจย์”
ทุกคนเห็นด้วยกับการจ้างคนไปทำฮัจย์แทนพ่อ เรารู้สึกได้ว่าเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดแล้ว สำหรับคนที่ไม่มีโอกาสทำความดีบนพื้นแผ่นดิน แต่ยังได้รับผลบุญได้จากการทำบุญส่งไปให้
…………..
มันไม่มีคำตอบในห้องเรียน...ต้องเดินออกตามหาในโลกกว้าง ห้องเรียนทรงกลม....
กลับมาเรียนอีกครั้ง เริ่มรู้สึกไม่เหมือนเดิม จิตใจฉันตั้งคำถามกับสิ่งที่อาจารย์สอนมากขึ้น เมื่อสิ่งที่กำลังฟังอยู่ไม่ได้ทำให้จิตใจฉันสงบจากคำถามที่รุมเร้าว่า เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองนี้ เกิดอะไรขึ้นกับสังคม เกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวฉัน สมาธิเริ่มแตกกระเจิง และสุดท้ายผลการเรียนเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และฉันหายหน้าจากห้องเรียนบ่อยครั้ง กลับไปปรากฏตัวในวงเสวนาต่างๆ มากขึ้น เป็นเด็กหน้าใหม่ที่ฝากความคิดเห็นในหลายเวที จนหลายคนจำได้ และเริ่มติดต่อให้ร่วมวงเสวนามากขึ้น และหยิบยื่นงานเล็กน้อยๆ ให้ฉันได้เกลาความสามารถอยู่เรื่อยๆ ฉันสะสมประสบการณ์เหล่านั้นมากพอจนรู้สึกว่าปลายทางของฉันอาจจะมีอะไรเปลี่ยนไป
ฉันเรียนคณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป ภาษาอังกฤษคือวิชาที่เรียนแล้วมีความสุขที่สุด วิชาวิทยาศาสตร์บรรยายคือวิชาที่ทำให้กระบวนการคิดเชื่อมโยงสรรพสิ่งในโลกได้สนุกที่สุด แต่ไม่อาจทำให้ฉันเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนมากที่สุดในโลกอย่างความคิดของมนุษย์ได้ ยิ่งสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ความเข้าใจความคิดของมนุษย์ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องการมากที่สุด เพราะสังคมวันนี้แวดล้อมด้วยสิ่งที่ไม่อาจจะเข้าใจได้ง่ายๆ แต่การออกไปร่วมกิจกรรมข้างนอก กลับทำให้ฉันค้นพบอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสิ่งที่ฉันรู้สึกว่า ทำให้ฉันได้เข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงบางอย่าง ที่เป็นสาเหตุให้เกิดเหตการณ์อันน่าสลดในพื้นที่ และบางเรื่องราวที่เป็นผลของเหตุการณ์เหล่านั้น ที่เป็นแรงผลักให้ฉันอยากเดินตามหาความเชื่อมโยงเหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ
การเป็นคนชอบตั้งคำถามและอยากเรียนรู้ตลอดเวลาเป็นทุนเดิม ยิ่งผลักให้อยากเรียนรู้มากขึ้น เมื่อได้เข้าไปอยู่ในวงล้อมของผู้ใหญ่ที่มองเห็นความสำคัญและมองเห็นศักยภาพของฉัน มาชักชวนเข้าวงวิชาการ งานวิจัยบ้าง วงถกเถียงประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้าง วงกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบ้าง ช่วงหลังเป็นวงพัฒนาศักยภาพในการใช้ช่องทางการสื่อสารเป็นหลัก ซึ่งเป็นวงที่ทำให้ฉันเริ่มเห็นตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าใจว่า หลักการสื่อสารที่แท้จริงเป็นอย่างไร
ช่วงที่ยังถือว่าเป็นคนใหม่ของวงถกเถียงเหล่านั้น ฉันไม่ค่อยสบอารมณ์กับเยาวชนหลายคนที่ไม่แสดงออกในเวทีที่มีโอกาส โดยเฉพาะยามที่เขาไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งที่ผู้ใหญ่เสนอ แต่สิ่งที่เขาเลือกกระทำคือ ออกไปจับกลุ่มนอกห้อง แล้ววิจารณ์สิ่งที่เราถกเถียงกันเมื่อสักครู่ ฉันตั้งคำถามกับตัวเองทันที “ทำไมต้องมาแยกวงคุย ถ้าอยากให้ปัญหาเคลียร์ หากไม่เห็นด้วย ก็ต้องสู้กันต่อหน้าสิ ไม่ใช่มาเปิดวงต่างหาก แล้วความคิดจะถูกได้ยินได้อย่างไร ปัญหาจะถูกแก้ไขได้อย่างไร”
....นึกเสียดาย ความคิดดีๆ น่าจะมีคนได้ยินในวงกว้าง....
แต่นั้นมา ฉันเริ่มสังเกตการถกเถียงในหมู่คนวัยเดียวกัน และตั้งคำถามถึงสิ่งที่พวกเขาเป็น จนเริ่มเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มีที่มาของความไม่ไว้ใจกันมาก่อน กลุ่มเพื่อนของฉันเคยเล่าให้ฟังว่า พวกเขาเริ่มรู้สึกว่า เสียงของพวกเขาไม่มีน้ำหนัก เพราะผู้ใหญ่บางคนเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของพวกเขา รู้สึกเหมือนเป็นเครื่องมือของผู้ใหญ่เท่านั้น ในทางตรงข้าม ฉันได้ยินเสียงบ่นจากผู้ใหญ่ที่กล่าวถึงนักขับเคลื่อนรุ่นใหม่ว่า คนรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน สมาธิสั้นไม่เอาจริงเอาจัง และขาดวินัย
ฉันเห็นด้วย เพราะหลายอย่างฉันสัมผัสมาก็เป็นอย่างนี้จริง โดยเฉพาะลักษณะการไม่เข้าพวกอื่น เป็นสิ่งที่ต้องคิด เพราะจะทำงานขับเคลื่อนสันติภาพต้องเข้ากับกลุ่มอื่นให้ได้ ฉันถือเป็นหลักใหญ่ของการขับเคลื่อน เพราะการทำงานข้ามพวกจะทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ เสมอ แต่ฉันก็ไม่ใช่คนที่ไว้ใจคนง่ายๆ เช่นกัน ฉะนั้น จะเลือกทำงานเฉพาะคนที่คิดว่า มีประโยชน์กับการขับเคลื่อนของประเด็นสามจังหวัดมากที่สุด ส่วนเรื่องผลประโยชน์ฉันไม่อยากรับรู้ เพราะสิ่งที่ฉันมุ่งหมายถึงระหว่างทางให้มีคนสามารถอำนวยการเดินทางของฉันไปได้เสียก่อน ส่วนจะไปเสริมปลายทางของเขาอย่างนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย
“เรียนรู้โลกกว้าง กว้างขึ้นเรื่อยๆ ไปไกลยังต่างแดน”
ฉันกลายเป็นนักเดินทาง ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นปี 3 เริ่มมีตารางชีวิตไม่เหมือนนักศึกษาทั่วไป เริ่มมีปรากฏตัวและเสียงในเวทีที่ผู้ใหญ่ในวงการภาคประชาสังคมจัดขึ้น เพื่อถกเรื่องปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัด และฉันได้ร่วมเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น สะสมมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง รู้สึกว่าแค่เข้าร่วมหรือปรากฏตัวในเวทีสัมมนาเหล่านั้นไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ จึงหันหากิจกรรมที่พี่ๆ จากมหาวิทยาลัยเดียวกันจัด เช่น กิจกรรมลงไปเยี่ยมพื้นที่ ยิ่งทำให้โลกของฉันเปิดกว้างยิ่งขึ้น
ตอนนั้นเริ่มเห็นว่า โลกนี้ไม่ได้มีฉันคนเดียวที่กำลังร้องหาความยุติธรรม เมื่อมาเห็นบางครอบครัวที่สูญเสียผู้เป็นที่รัก จากเหตุความไม่สงบเช่นกัน ฉันลืมไปเลยว่า ฉันกำลังเสียใจกับเหตุการณ์ที่บ้านตัวเอง แต่สมาธิตอนนี้ กำลังเพ่งไปที่น้ำตาของคนอื่นๆ อีกมากมายที่ฉันได้ไปเยี่ยมเยียน
ครั้งหนึ่ง ที่ฉันร้องไห้ไปกับเรื่องเล่าของพวกเธอ ที่สูญเสียสามีและลูกรัก จากเหตุการณ์กราดยิง กระสุนปริศนามาจากหลังบ้าน ไม่มีใครเห็นว่าเป็นใคร แต่กระสุนมรณะได้คร่าสมาชิกครอบครัวของพวกเธอไปนานแสนนาน ฉันร้องไห้กับเรื่องเล่าเหล่านั้น พร้อมกับตั้งคำถามกับตัวเอง จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้อีกนานแค่ไหน ไม่เป็นธรรมเลย โลกนี้ใจร้ายเกินไปแล้ว
ครั้งหนึ่ง ที่ฉันได้ตามกลุ่มอาสาสมัครสันติอาสา สักขีพยาน นำโดยคุณนารี เจริญผลพิริยะ พาพวกเราลงพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี โดยตามกรณีกราดยิงชาวบ้าน หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าที่เราจะลงพื้นที่ ซึ่งการไปครั้งนั้นเช่นเคยคือได้รับรู้เรื่องราวที่น่าสะเทือนขวัญเหตุกราดยิงจากฝ่ายที่ไม่ประสงค์ให้มีความสงบสุขบังเกิดในบ้านเมืองนี้ ทำให้ชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างหวาดผวา ฉันรู้สึกหดหู่ แต่ก็ยังทนฟังจนจบเรื่องเล่าของชาวบ้านที่นั้น
ฉันได้เรียนรู้สิ่งใหม่ จากการลงพื้นที่กับกลุ่มนี้ คือ การบันทึกสิ่งที่ได้ฟัง เขียนเรียงร้อยใหม่ให้สามารถส่งไปยังสำนักข่าวทางเลือกที่สนใจนำเรื่องราวเหล่านี้เผยแพร่ผ่านช่องทางของพวกเขาได้ ซึ่งมีหลายสำนักสนใจ และเรื่องราวของชาวบ้านถูกพูดถึง พวกเราดีใจที่สามารถช่วยสื่อสารให้เรื่องราวเหล่านี้ เป็นที่พูดถึงในสังคม ในครั้งนั้น ฉันได้ค้นพบความสนใจใหม่ที่มีพลังคือ อยากเป็นนักเขียน อยากสื่อสาร อยากนำเรื่องเล่าออกมาจากความกลัวของชาวบ้านให้สังคมได้รับรู้บ้าง จึงตัดสินใจ หัดเขียนบทความและชิ้นแรกเผยแพร่ในสำนักข่าวอามาน โดยใช้ชื่อจริงของฉันเอง คือ 'อารีด้า สาเม๊าะ'
บทความเรื่องที่สอง สาม สี่ ตามมา อย่างไม่ต่อเนื่องนัก เนื่องจากฉันเรียนหนักขึ้นในชั้นปีที่สูงขึ้น แต่งานเขียนของฉันถูกกล่าวถึง และมีคนเริ่มเรียกฉันว่า “นักข่าว” ยิ่งทำให้ตัวเองมั่นใจว่าทางนี้อาจจะเป็นทางที่ควรจะเป็น คือเป็นนักข่าวจริงๆ
.... .... .... .....
“ไม่อยากเป็นครูตอนนี้” คำตอบสั้นๆ ที่มักจะบอกปัดแม่ไป เมื่อถูกถามว่าทำไมไม่ยอมไปสมัครเป็นครูเหมือนเพื่อนๆ ความจริงแล้ว ฉันอยากบอกแม่ว่าฉันได้งานที่ชอบมากกว่า คือเป็นนักขับเคลื่อนภาคประชาสังคม ซึ่งพูดไปแม่ก็ไม่เข้าใจจนถึงวันนี้ แม่ยังไม่เข้าใจ ว่าลูกทำงานอะไร และยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำงานมีค่าตอบแทนหรือเปล่า แต่สิ่งหนึ่งที่แม่มักอธิบายกับญาติเมื่อถูกถามว่า หลานทำงานอะไร เคยได้ยินแม่ตอบว่า
“ฉันไม่รู้ แต่รู้สึกว่า ไปโน้น มานี้ บ่อยมาก ฉันไม่รู้หรอกว่าวันนี้ มันอยู่ส่วนไหนของโลก” ได้ยินแล้วอดขำในใจไม่ได้ เพราะจริงที่แม่ว่า ฉันยังนิยามตัวเองไม่ได้เลยว่า กำลังทำงานอะไรอยู่ แล้วแม่จะอธิบายคนอื่นได้อย่างไร แต่ลึกๆ ฉันรู้สึกว่าแม่ภูมิใจเหมือนกันนะ ที่มีลูกสาวแปลกกว่าชาวบ้านแบบฉัน
ไม่ทราบมาก่อน การไม่ไปสอบในครั้งนั้นกลายเป็นโอกาสให้ฉันได้เดินทางไกล ครั้งแรกในชีวิต และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ฉันอยากมาทำงานสายภาคประชาสังคม อย่างจริงจัง...นั้นคือ การเดินทางไปฟิลิปปินส์ เมื่อปลายปี 2554ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนกับองค์กรภาคประชาสังคมที่นั่น
84 วันที่ใช้ชีวิตที่เมืองดาเวา เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เรียนรู้การขยับประเด็นกระบวนการสันติภาพของมินดาเนา ที่ขัดแย้งมานานกว่า 60 ปี ท้ายที่สุดก็สามารถคลี่คลาย โดยภาคประชาสังคม ทั้งยังได้ไปเยือนเมืองที่เคยเป็นดงสงคราม รับรู้ได้ว่า ความทุกข์ทนทรมานของคนในพื้นที่สงครามเป็นอย่างไร นาทีนั้น ฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่า “บ้านเราคงไม่ต่างจากนี้ หากไม่ทำอะไรสักอย่าง ภาพตรงหน้าจะไม่เกิดกับบ้านเราใช่ไหม”
ฉันกลับมา พร้อมกับความตั้งใจเต็มเปี่ยมว่า จะทำอะไรก็ได้ที่สามารถทำให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องของตัวเองมากกว่านี้ และท้ายที่สุดเขาจะกำหนดอนาคตของบ้านเมืองด้วยตัวเขาเอง ฉันและคนอื่นเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้พวกเขา ซึ่งฉันหมายถึงประชาชน รับรู้ถึงพลังของตัวเองเท่านั้นเอง
............................
“ฉันเลือก...ที่จะเป็นแบบนี้”
ความสูญเสียที่เกิดกับครอบครัวฉันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่มันเป็นเรื่องของส่วนรวมที่คนสามจังหวัดชายแดนต้องตระหนัก ว่าทำไมต้องมีการสังหารคนในพื้นที่อย่างน่าตกใจถึงขนาดนี้ นี้คือพื้นที่สงครามที่ซ่อนรูป ซึ่งมีเชื้อแห่งความเกลียดชังบางอย่างป้อนสู่ไฟสงครามที่กำลังลุกโชน ชีวิตของพ่อ ลุง และลูกพี่ลูกน้องของฉันที่ถูกสังเวยไป ฉันตะโกนกับตัวเองตลอด “มันไม่ควรเป็นอย่างนี้ มันต้องมีทางออกสำหรับสิ่งนี้ และต้องตัดวงจรความรุนแรงนี้ให้ได้”
สิ่งที่ฉันสนใจ คือ อะไรที่จะตัดวงจรความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในการจัดการคู่ต่อสู้ได้ เหตุการณ์ร้ายเหล่านี้ต้องทำให้จบ แต่ต้องจบอย่างเข้าใจ
หลายปีที่ได้มีโอกาสประติดประต่อเรื่องราวของคนอื่น ที่ประสบพบเจอเหตุการณ์ร้ายๆ ในชีวิตที่บ้างรุนแรงกว่าฉัน บ้างรุนแรงน้อยกว่า แต่ฉันรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจสิ่งหนึ่งว่า สิ่งที่ผลักให้คนหันมาใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ใช่เจตนาส่วนบุคคล แต่เป็นสายพานแห่งความเกลียดชังที่มันเชื่อมร้อยอคติที่สะสมมายาวนาน แล้วมารวมตัวกันเป็นความอึดอัดที่ต้องการปลดปล่อย ซึ่งวิธีการเลือกเพื่อการปลดปล่อยความอึดอัดของบางกลุ่มคน อาจจะดูเกินเลยบ้าง ทำให้คนอื่นถึงกับไม่มีโอกาสได้ดำรงชีวิตบนโลกนี้ได้อีกต่อไป รวมถึงพ่อของฉันด้วย
แต่การเรียนรู้ที่ผ่านมา ทำให้ฉันเริ่มมองที่ต้นเหตุ มองที่รากเง้าของปัญหามากกว่ามองที่เหตุการณ์ สถานการณ์หรือความรุนแรงที่มองเห็นด้วยตาเปล่า จึงรู้สึกว่า คนที่ฉันต้องตามหาเพื่อทวงความยุติธรรมให้พ่อ ไม่ใช่คนที่ลั่นไกในคืนนั้น แต่กลับเป็นการคลายปมอาฆาตที่มองไม่เห็นต่างหาก ที่จะทำให้ความยุติธรรมบังเกิดแก่สังคมชายแดนใต้ การหยุดการฆ่ากัน คือเป้าหมายใหญ่ของการขับเคลื่อนในครั้งนี้ เราต้องทำให้คนที่ไม่เข้าใจกัน เกิดความเข้าใจให้ได้ และทำให้คนที่อึดอัดใจ ได้ระบายออกมาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
ฉันคิดว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ หากมีการสื่อสารที่ดีพอ และนักสื่อสารในพื้นที่ขัดแย้งแบบนี้ ต้องอดทนสูงกว่านักสื่อสารปกติ ต้องเป็นคนที่เข้าใจและพร้อมอภัยกับเหตุที่กระทบจิตใจตัวเอง เพราะนั้นเรากำลังเพ่งไปที่เป้าใหญ่ ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวใครคนใดคนหนึ่ง แต่เรากำลังคลี่คลายปมของสังคมที่สะสมมานาน เพื่อให้สันติภาพในนิยามของเราได้มีชีวิตจริงอีกครั้ง
และฉันคิดว่า ฉันทำสิ่งนั้นได้ และเชื่อว่าทุกคนก็ทำให้สันติภาพกลับคืนมาได้.
ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942 หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี
ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา
- 'คำนึง ชำนาญกิจ': แม่ผู้ตามหาความเป็นธรรม
- 'ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ': มีน้ำตา...ก็หัวเราะได้
- 'ดวงสุดา สร้างอำไพ: ชีวิตหลังปลดแอก
- 'แยน๊ะ สะละแม': ความเป็นธรรมต้องสู้ถึงจะได้มา