Skip to main content
โคทม อารียา
 
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
 
            แนวทางการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งเช่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เรียกว่า แนวทาง 4 ค อันประกอบด้วย คลายปม คติใหม่ เคารพ และคืนดี ในบทความตอน 2 ได้ทำความเข้าใจความหมายและรายละเอียดของ 2 ค คือ คลายปม และคติใหม่ไปแล้ว ในบทความนี้จะกล่าวถึงอีก 2 ค ที่เหลือคือ เคารพ และคืนดี
 
เคารพ
 
มีคำกล่าวว่าในความขัดแย้งที่รุนแรง เหยื่อรายแรกคือความจริง กล่าวคือแต่ละฝ่ายต่างมุ่งสร้างวาทกรรมที่ทำให้ฝ่ายตนดูดี และให้อีกฝ่ายเป็นผู้ร้ายเสมอ ทั้งนี้ โดยให้ความสำคัญแก่ความจริงเฉพาะในส่วนที่สอดคล้องกับวาทกรรมดังกล่าว หากให้นิยามง่าย ๆ ว่าวาทกรรมคือการปั้นถ้อยคำให้เป็นตัว (objectivisation of words) ก็จะเป็นการเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนถ้อยคำเป็นตัวและเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก ‘ความจริง’
 
            แนวทางการเคารพหมายถึง การลดความรุนแรงด้วยวิธีที่นุ่มนวลและการมีพฤติกรรมเชิงบวก ความรุนแรงอันเนื่องมาแต่การสร้างวจีกรรมและวาทกรรมดังกล่าวข้างต้น จะมีผลเป็นการตอกย้ำอคติหรือทัศนคติเชิงลบที่ได้กล่าวมาแล้ว อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานและการสร้างความชอบธรรมให้แก่การใช้ความรุนแรงทางตรงหรือทางกายภาพด้วย
 
            แนวทางการเคารพหมายถึงการต่อสู้หรือเป็นศัตรูกับการกระทำของเขา โดยยังเคารพตัวตนหรือความเป็นมนุษย์ของเขาอยู่ วจีกรรมและวาทกรรมที่สร้างจะมุ่งชี้เภทภัยของการกระทำของศัตรู ไม่ได้ยุยงให้โกรธหรือเกลียดตัวบุคคล หากพร้อมเปิดทางแก่การขอโทษและการยกโทษให้แก่ตัวบุคคลเสมอ หากเขาลดหรือเปลี่ยนการกระทำที่ทำร้ายผู้อื่นลง
 
            นอกจากการลดความรุนแรงทางวจีกรรมแล้ว แนวทางการเคารพยังหมายถึงการลดความรุนแรงทางกายภาพด้วย แน่นอนว่าก้าวแรกสู่สันติภาพอาจเป็นสันติภาพเชิงลบ ซึ่งหมายถึงการหยุดยิงหรือการยุติความรุนแรงทางกายภาพ แต่ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตกว่าห้าพันคนดังใน จชต. เป็นการยากที่จะทำให้การใช้ความรุนแรงทางกายภาพยุติลงทันที แม้สมมุติว่าจะคลายปมเป้าหมายหลักไปแล้ว แต่ก็มียังเป้าหมายใหม่ของการแก้แค้น/เอาคืน เป็นต้น ดังนั้น จึงขอเสนอให้ถ้อยทีถ้อยลดความรุนแรงลงด้วยวิธีที่เหมือนการคลายปมดังนี้
- กลุ่มบุคคลที่พึงปลอดภัยไว้ก่อน ในเอกสาร ‘เบอร์จีฮาด ดิ ปาตานี’มีข้อความตอนหนึ่งว่า[1] ‘ไม่ว่าผู้ใดในบรรดาพวกเรา จะต้องไม่ฆ่าเด็ก ผู้หญิง หรือทำลายบ้านและฟาร์ม ด้วยความโกรธ เพราะอัลลอฮ์จะไม่โปรดการกระทำดังกล่าว’ ส่วนชัยวัฒน์ สถาอานันท์[2] อ้างถึงคำพูดของมูเซเวนีว่า ‘พวกคุณจะต้องไม่ทำงานผิดพลาด ดังนั้น เวลาที่คุณเลือกเป้าหมาย คุณต้องเลือกเป้าหมายอย่างรอบคอบ สิ่งแรก คุณจะต้องไม่โจมตีคนที่ไม่ติดอาวุธ ต้องไม่ทำ...ไม่ทำ...ไม่ทำ...เด็ดขาด’ ขณะที่พูดมูเซเวนีเป็นหัวหน้าของกองทัพต่อต้านรัฐบาลในยูกานดา ปัจจุบันเขาเป็นประธานาธิบดีของยูกานดามาตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1986
 
            เห็นได้ว่า บุคคลที่พึงได้รับความปลอดภัยแม้ในการสู้รบที่รุนแรงได้แก่ เด็ก ผู้หญิง ผู้อยู่ในบ้าน เกษตรกรในฟาร์ม ผู้ที่ไม่ติดอาวุธ ซึ่งอาจขยายกลุ่มบุคคลที่พึงปลอดภัยเช่นนี้ออกไปอีกก็ได้ เช่นให้รวมถึง ผู้นำศาสนา ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กล่าวโดยทั่วไปคือ ผู้ที่ไม่มีส่วนในการต่อสู้ด้วยอาวุธนั่นเอง แม้จะมีการกล่าวว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง หากเป็นเพียงความเสียหายข้างเคียง (collateral damages) ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น และมีการกล่าวอีกว่า กลุ่มเหล่านี้แม้ไม่ต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ก็พูดหรือแสดงออกในทางที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายของภาคีหลักของความขัดแย้ง แต่ถึงเรากำจัดตัวบุคคลก็ใช่ว่าจะกำจัดความคิดมิใช่หรือ และหากต้องกำจัดผู้เห็นต่างจากเรา ความรุนแรงอาจขยายตัวไปอย่างไร้ขอบเขต ดังนั้น จึงขอเสนอให้ภาคีหลักประกาศหลักการที่จะให้กลุ่มเป้าหมายจำนวนหนึ่ง เป็นกลุ่มบุคคลที่พึงปลอดภัยไว้ก่อน โดยอาจเริ่มที่เด็กและสตรี เพราะเชื่อว่าน่าจะมีความเห็นพ้องกันได้มากที่สุด
 
                   - สถานที่/พื้นที่ปลอดภัยไว้ก่อน หากมีหลักการที่จะดูแลความปลอดภัยให้แก่เด็กและสตรีแล้ว ในทางปฏิบัติ ก็ควรทำให้พื้นที่ของเด็กและสตรีเป็นพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ของเด็กมีหลายพื้นที่ เช่น บ้าน โรงเรียน รถรับส่งนักเรียน สนามเด็กเล่น สนามกีฬาเยาวชน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับเด็ก แต่โรงเรียนน่าจะเป็นสถานที่เฉพาะเจาะจงของเด็ก และเราอาจเริ่มที่ตรงนี้ ในการพูดคุยสันติภาพอาจตกลงกันได้ว่า สถานที่ปลอดภัยหมายถึงสถานที่ที่ปลอดอาวุธ ปลอดผู้ใช้อาวุธ ปลอดความรุนแรงและการยั่วยุ (การที่โรงเรียนถูกเผานั้น สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของการยัดเยียดวัฒนธรรมและการบังคับกลมกลืน ซึ่งแม้จะลดลงไปมาก แต่ก็ยังต้องระมัดระวังในเรื่องความรุนแรงทางวาจาและทางวัฒนธรรมที่อาจมีอยู่ในโรงเรียนบางแห่ง) ถ้าจะให้ดี อาจจัดให้นักเรียนเองเป็นผู้เฝ้าระวังและช่วยแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และเข้าร่วมการรณรงค์ในเรื่อง ‘พื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก’ ด้วย
 
            พื้นที่ของสตรีก็มีหลายพื้นที่ แต่เราอาจเริ่มที่ตลาด โดยปกติ ผู้ที่ไปขายหรือไปซื้อของที่ตลาดคือผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่ไปตลาดมีทั้งผู้มีเชื้อสายมลายู ไทยและจีน ในตลาดไม่น่าจะมีความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ เชิงชาติพันธุ์ ในทางตรงกันข้าม น่าจะเป็นพื้นที่แห่งความสัมพันธ์ข้ามขีดแบ่ง การช่วยกันทำให้ตลาดปลอดภัยน่าจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันได้ ในการพูดคุยสันติภาพ นอกจากจะตกลงกันในเรื่องนิยามของพื้นที่ปลอดภัยแล้ว อาจจะต้องพูดคุยกันในเรื่องของผู้เฝ้าระวังและการรณรงค์ในเรื่อง ‘ตลาดปลอดภัย’[3] ด้วย และผู้ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดีน่าจะเป็นกลุ่มสตรีที่ใช้ตลาดแต่ละแห่งนั้นนั่นเอง
 
หากตกลงกันได้และเริ่มนำแนวคิดเรื่องบุคคลปลอดภัย ตลอดจนแนวคิดเรื่องพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและตลาดปลอดภัยไปปฏิบัติใช้แล้ว ก็น่าจะริเริ่มพิจารณากลุ่มเป้าหมายต่อไป เช่น ผู้นำศาสนา ทั้งอิหม่าม และพระ/เณร เป็นบุคคลปลอดภัย (ซึ่งโดยหลักการ บุคคลเหล่านี้ก็ไม่ใช่ภาคีความขัดแย้งโดยตรงอยู่แล้ว) และสถานที่ปลอยภัยที่สมนัย นั่นคือมัสยิดและวัด สิ่งแรกที่น่าจะทำคือการถอนกองกำลังและผู้ปฏิบัติการจิตวิทยา (ถ้ามี) ออกจากสถานที่ดังกล่าว ผู้ที่จะเป็นเจ้าภาพดูแลในเรื่อง ‘มัสยิดคือสถานศักดิ์สิทธิ์’ และ ‘วัดคือเขตอภัยทาน’ น่าจะได้แก่คณะกรรมการอิสลามและเจ้าคณะสงฆ์ในระดับ ต่าง ๆ ตามลำดับ
 
             เท่าที่กล่าวมา เราเชื่อมโยงบุคคลปลอดภัยกับสถานที่ปลอดภัย แต่แนวคิดหลังนี้ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลก็ได้ ซึ่งขอเรียกว่าแนวคิดนี้ว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ซึ่งอาจเป็นตำบลหรืออำเภอก็ได้ ในที่นี้ขอเสนอว่า ‘ตำบลปลอดภัย’ และ ‘อำเภอปลอดภัย’ หมายถึงตำบลหรืออำเภอที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (nonviolent action area) เท่านั้น หมายความว่าไม่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ไม่มีกองกำลังยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่อาจมีกิจกรรมทางการเมืองแบบสันติวิธีได้ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พื้นที่ปลอดภัยเช่นนี้ น่าจะได้รับประโยชน์จากความสงบสุขที่เกิดขึ้น (peace dividend) อย่างเป็นรูปธรรม เช่น เจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนา ต้องแสดงความเข้าใจและเข้าถึง โดยลงพื้นที่อย่างเต็มที่ตลอดเวลา มิใช่อ้างความไม่ปลอดภัยเพื่อทำงานแต่ในสำนักงานเป็นส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจมุ่งเชิญชวน/อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการทั้งในพื้นที่และที่มาจากภายนอก เจ้าหน้าที่ด้านสังคมมุ่งจัดกิจกรรมถักทอความสัมพันธ์ ที่ช่วยให้เข้าใจ ชื่นชม และเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่าง เจ้าหน้าที่ด้านปกครองมุ่งส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และการระงับข้อพิพาททางเลือก ตลอดจนแนวคิดเรื่องสถานที่ปลอดภัย เป็นต้น
 
            - เวลาที่ปลอดภัย
           
            นอกเหนือจากมิติเรื่องบุคคลและสถานที่แล้ว เราอาจพิจารณามิติด้านเวลาได้ด้วย เราอยากปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่กฎหมายก็ยังจำแนกยามวิกาล โดยเพิ่มความคุ้มครองจากการเข้าไปในเคหสถานเพื่อการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ หรือในกรณีพิเศษ อาจลิดรอนเสรีภาพในการออกนอกเคหสถานในยามวิกาล เป็นต้น
 
            เราอาจเริ่มที่วันก่อน ในการพูดคุยสันติภาพ เราจะลดการปฏิบัติการจรยุทธหรือปฏิบัติการทางทหารเป็นบางวันได้ไหม เช่น วันศุกร์ วันพระ วันสำคัญทางศาสนา เราอาจเรียกวันดังกล่าวว่า ‘วันปลอดภัย’ ก็ได้แน่นอนว่าจะต้องคุยกันในรายละเอียดว่าการลดดังกล่าวหมายถึงอะไร เช่น กองกำลังฝ่ายความมั่นคงไม่ลงหมู่บ้าน ไม่ปิดล้อมตรวจค้น เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติการของขบวนการกลับไปเยี่ยมบ้านของตนได้อย่างปลอดภัย ส่วนกองกำลังฝ่ายขบวนการก็พักรบเพื่อปฏิบัติศาสนกิจหรือปฏิบัติการทางการเมืองอย่างสันติ แน่นอนว่า จะต้องกำหนดมาตรการและกลุ่มบุคคล ที่จะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ว่ามีการฝ่าฝืนข้อตกลงเรื่องวันปลอดภัยหรือไม่ มีการฉวยโอกาสของวันปลอดภัยเพื่อเตรียมก่อความรุนแรงหรือเตรียมการตรวจค้นจับกุมหรือไม่ เป็นต้น
 
            หน่วยเวลาต่อมาที่พึงพิจารณาก็คือเดือน เรื่องนี้ได้เกิดรูปธรรมขึ้นแล้วเมื่อรัฐบาลและบีอาร์เอ็นตกลงที่จะลดความรุนแรงลงในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ จริงอยู่ ความรุนแรงไม่หมดไปเสียทีเดียว และมีการสูญเสียชีวิตอยู่หลายครั้ง ที่น่าสลดใจอย่างยิ่งคือการยิงอิหม่ามยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่ตลาดจะบังติกอ ในเทศบาลเมืองปัตตานี กระนั้นก็ตาม ถือได้ว่าจำนวนของเหตุการณ์รุนแรง และจำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนรอมฎอนปีนี้ ได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ดังนั้น ได้พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า เป็นไปได้ที่จะมี ‘เดือนปลอดภัย’ จึงหวังได้ว่าในปีหน้า เดือนรอมฎอนจะเป็นเดือนที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นไปอีก แต่ในทางศาสนาอิสลามแล้ว ยังมีคำสอนที่ห้ามทำสงครามในเดือน 4 เดือนคือ ซุลเกาะดะฮฺ ซุลฮิจญะฮฺ มุฮัรรอม และเราะญับ[4] ถ้าเพิ่มเดือนเหล่านี้เข้าไปได้ โดยอาจเริ่มเป็นบางเดือนก่อนก็ยังดี จะทำให้เรามีเดือนปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นกุศโลบายลดความรุนแรงอย่างนุ่มนวลนั่นเอง
 
            กล่าวโดยสรุปคือ แนวทางเคารพหมายถึงการเคารพผู้อื่น เคารพในความรู้สึก ทรัพย์สิน และชีวิตของพวกเขา แนวทางคติใหม่คือการแปลงเปลี่ยนมโนกรรม ส่วนแนวทางเคารพคือการแปลงเปลี่ยนวจีกรรมและกายกรรม ถ้าทำเช่นนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมกับอีกสองแนวทาง (คลายปมและคืนดี) ก็จะเป็นการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งจากที่รุนแรงเป็นไม่รุนแรง ถ้าเรายังหยุดความรุนแรงทั้งหมดไม่ได้ เราก็เริ่มทำให้บางคน บางสถานที่/พื้นที่ บางเวลามีความปลอดภัยมากขึ้น ถ้าทำได้ ผลก็คือจะเกิดความไว้วางใจ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความรุนแรงต่าง ๆ ลงได้ในที่สุด
 
 
คืนดี
 
            การคืนดี (reconciliation) เป็นเรื่องเราต้องทำไปพร้อม ๆ กับแนวทางอื่น ๆ จะรอให้มีการคลายปม มีคติใหม่ และการเคารพก่อนถึงจะพยายามคืนดี ก็เห็นจะต้องรออีกนาน เพียงแต่การคืนดีในระหว่างความขัดแย้งรุนแรงจะมีความยุ่งยากลำบากมาก การคืนดีในที่นี้หมายถึงการเยียวยาอดีต การแก้ไขปัญหาปัจจุบันและสร้างสัมพันธ์ ตลอดจนการสร้างวิสัยทัศน์การอยู่ร่วมกันในอนาคต
 
            ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ดำเนินการเยียวยาทั้งทางวัตถุและจิตใจ ต่อเหยื่อความรุนแรง (ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต) ไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ควรพยายามต่อไปคือการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ให้มีการศึกษาวิจัย มีการศึกษาเปรียบเทียบ มีการศึกษาตำนานและเรื่องเล่าของท้องถิ่น เก็บรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดี ฟื้นฟูและอนุรักษ์โบราณสถาน จัดให้มีพิพิธภัณฑ์/สถาบันทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ ให้เข้าถึง ‘ความจริง’ ทางประวัติศาสตร์ให้ได้มากยิ่งขึ้น และการยอมรับว่า ‘ความจริง’ นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยเหตุปัจจัยทางประวัติศาสตร์ ‘ความจริง’ นั้นสามารถเป็นบทเรียนสำหรับเราได้ ส่วนเรื่องใดเป็นความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นหรือในชาติ ที่ไม่ใช่การทับถมผู้อื่น ก็ควรส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ การรำลึก และการให้เกียรติในสิ่งเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
 
            สำหรับการแก้ไขปัญหาปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์หรือวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น หรือการวางแผนและดำเนินการในการปฏิรูประบบ เช่น ระบบการศึกษา ระบบความยุติธรรม ระบบอาชีพการงาน ระบบการใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้น ได้มีการกล่าวไว้ในที่อื่น ๆ พอสมควรแล้ว จึงจะขอกล่าวในเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์เพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย ความรุนแรงทำให้เกิดการแยกขั้วและความหวาดระแวง ใครอยู่ข้างใครก็จะเชื่อ เห็นด้วย หรือแม้นไม่เห็นด้วยก็พอเข้าใจการกระทำของฝ่ายที่เราเลือกข้างได้ การลดช่องว่างและการสร้างสะพานข้ามขีดแบ่ง ‘เขา-เรา’ จึงมีความสำคัญ  การลดช่องว่างหมายรวมถึงการลดแนวโน้มของการขยายขีดแบ่ง เช่น การที่นักเรียนมัธยมแยกกันไปเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามกับโรงเรียนของรัฐมากขึ้นทุกที การที่ชาวพุทธบางคนย้ายถิ่นที่อยู่ไปอยู่ในชุมชนพุทธ การไม่ค่อยไปร่วมกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่เคยเข้าร่วมในอดีต จึงควรเร่งดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ โดยการสร้างสะพานข้ามขีดแบ่ง เช่น การจัดให้มีการเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่กันเป็นประจำจนอาจเกิดเป็นประเพณี การจัดประชุมสัมมนา/สานเสวนาโดยมีองค์ประกอบที่คละกันทั้งเพื่อทำความเข้าใจกันและเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่นการประชุมผู้นำศาสนา ผู้นำสตรี ผู้นำชุมชน การไปดูงาน/ฝึกงานเพื่อการอาชีพ การจัดค่ายเยาวชน การจัดกิจกรรมในลักษณะจิตอาสา อันที่จริงสิ่งเหล่านี้ก็จัดทำกันอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเก็บเกี่ยวผล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ทำงานกันเป็นเครือข่าย เป็นกลุ่มโรงเรียน เป็นองค์กรสตรีของอำเภอ เป็นองค์กรศาสนสัมพันธ์เพื่อสันติภาพ เป็นต้น
 
            การเยียวยาอดีตช่วยให้เรายอมรับว่าเราเป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร การแก้ไขปัญหาและการสร้างสัมพันธ์ช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันได้ดีขึ้น ส่วนการสร้างวิสัยทัศน์นั้นจะบอกว่าเราจะไปทางไหน จะอยู่อย่างมีความสุขในดินแดนนี้ร่วมกันหรือไม่และอย่างไร[5] เราควรรวมเรื่องอนาคตไกล ๆ ในสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าไว้ในการพูดคุยสันติภาพด้วย คือฝันให้ไกล หาความคิดนำทางที่เป็นความคิดในเชิงบวก เพื่อเป็นแรงจูงใจ เป็นความหวังว่าสิ่งที่ยังไม่เป็นจริงในวันนี้อาจจะเป็นจริงได้ในวันหน้า วิธีการสร้างวิสัยทัศน์วิธีหนึ่งคือการสร้างภาพอนาคต (scenario building) อีกวิธีหนึ่งคือการค้นหาอนาคต (future search) แต่อันที่จริง การใช้วิธีการที่ง่ายกว่า เช่น การระดมสมอง (brain storming) การสานเสวนา (dialogue) ในประเด็นกว้าง ๆ เช่น คุณค่าหลักของ จชต. (Southern Border Provinces Values) จชต. ในบริบทบูรณาการอาเซียน โลกมลายูใน จชต. ความสัมพันธ์มลายู-ไทย-จีนใน จชต. ภาษามลายูมาตรฐานของปาตานี
 
            การคืนดีที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องนั้น มีมิติเรื่องคน สถานที่และเวลา เช่นเดียวกับการแสดงความเคารพต่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเยียวยาอดีต การแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งในปัจจุบัน และการมองอนาคตร่วมกัน
 
----------------------------------------------------------------
อ่านเรื่องบทความในตอนที่แล้ว
 


[1] Gunaratna,Rohan et Al อ้างแล้ว หน้า 129
[2] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ 2556: ทำความเข้าใจสันติเสวนาและการเจรจาเพื่อสันติภาพ, บทความใน กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการ. ปัตตานี: ดีพบุ๊คส์ หน้า 122-123
[3] จอห์น พอล เลเดอรัค เขียน สดใส ขันติวรพงศ์ แปล 2555: พลังธรรมแห่งจินตนาการ: ศิลป์และวิญญาณการสร้างสันติภาพ. นครปฐม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล หน้า 35-40
[5] Lewicki, Roy J. and Al. 1999: Negotiation. Singapore, McGraw-Hill pp. 98-106