Skip to main content
'วิทยุ ม.อ.ปัตตานี' การทำงานบนพื้นฐานของการสื่อสารเชิงสันติภาพ 'พัชรา ยิ่งดำนุ่น' นักจัดรายการวิทยุที่เกาะติดสถานการณ์มาโดยตลอด เล่าถึงกระบวนการออกแบบสื่อวิทยุให้มีรูปแบบรายการที่หลากหลายเกาะติดสถานการณ์บนพื้นที่ในมิติ 3 วัฒนธรรม ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
ปักหมุดหมาย: การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย จำเป็นต้องฟังและดึงเสียงจากประชาชนรากหญ้าทุกกลุ่มขึ้นมาเพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมของของตนเองในอนาคต ซึ่งวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชนมากที่สุดและเป็นช่องทางสำคัญในการทำหน้าที่นั้น การค้นหา การทำให้ "สื่อสันติภาพในระดับชุมชน" ปรากฎตัว และทำให้เขาและองค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเป็น 'เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้' (Deep South Community Radio Network - DSR) และทำงานร่วมกันในการฟัง เปิดพื้นที่กลางการพูดคุย และดึงเสียงของ "คนใน" ออกมาก พลังเหล่านี้จะกลายเป็นจักรสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

 โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) สัมภาษณ์ นางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น นักจัดรายการวิทยุ ม.อ.ปัตตานี หนึ่งในผู้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการขับเคลื่อนในเรื่องกระบวนการสันติภาพแบบบริการสาธารณะ ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม และสามารถเลือกสรรรายการได้อย่างหลากหลาย

                                                                                       
        พัชรา ยิ่งดำนุ่น  ภาพโดย: อิบรอเฮ็ม มะโซ๊ะ

DSJ :สื่อวิทยุของม.อ.ปัตตานีขับเคลื่อนรายการใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ
พัชรา: รายการที่ทางสถานีดำเนินการเองในช่วงเวลาของสถานีที่เป็นการบริการสาธารณะ ได้แก่ รายการ “รักกัน ช่วยกันชายแดนใต้” ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.10-14.00น. และรายการ “ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันชายแดนใต้” ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.35-17.00 น. มีช่วงเบรกสำคัญสนับสนุนร่วมในรายการเฉพาะวันจันทร์-อังคาร เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวกระแสสันติภาพ “เสียงวานีตา ผู้หญิงชวนคุย” โดยความร่วมมือของผู้หญิงยุติความรุนแรง แต่ละเรื่องจะมีการสรุปทั้งภาษาไทยและมลายู

DSJ :ผู้จัดรายการคือใคร กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร รูปแบบรายการเป็นอย่างไรบ้าง
พัชรา: จัดเอง ทางสถานีมีการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะเรื่องการตั้งประเด็นในแต่ละวันที่จะออกอากาศในรายการ ควบคู่กับการทำข่าวในพื้นที่ด้วย

รูปแบบรายการ “รักกันช่วยกันชายแดนใต้” แรกเริ่มที่จะมีการพูดคุยกันในเรื่องสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลและ BRN มีการติดตามลำดับพัฒนาการของเหตุการณ์ตลอด มีการสัมภาษณ์นักวิชาการในพื้นที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของภาครัฐมีมุมมองอย่างไร เช่น ศอ.บต. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นต้น รวมถึงการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมอย่างกลุ่มสตรี กลุ่ม Deep Peace และกลุ่ม WE Peace
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ว่ามีการเพิ่มขึ้น ลดลงเกิดจากปัจจัยใด มีการวิเคราะห์สถานการณ์ในทีมและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็ติดตามฐานข้อมูลการเก็บสถิติเหตุการณ์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เช่นกัน ตั้งประเด็นกระบวนการสันติภาพว่ามีการเปิดพื้นที่อย่างไร

DSJ : กลุ่มเป้าหมายของแต่ละรายการ
พัชรา: แต่ละรายการมีกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง เช่น รายการ “เสียงวานีตา ผู้หญิงชวนคุย” เป็นกลุ่มผู้หญิง ส่วนรายการ “รักกันช่วยกันชายแดนใต้”และ “ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันชายแดนใต้” กลุ่มเป้าหมายจะมีความหลากหลาย ทั้งไทยพุทธ-มุสลิม หน่วยงานราชการ รวมทั้งประชาชนทั่วไป 

DSJ : ในแต่ละรายการมีการสัมภาษณ์ประชาชนทั่วไปหรือไม่ อย่างไร
พัชรา: มีการสัมภาษณ์สดในรายการ หรือถ่ายทอดเสียงในสถานี เราลงพื้นที่สัมภาษณ์ในหลากหลายมุมมองของแต่ละบุคคล เช่น ภาครัฐ ทหาร ตำรวจ ประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ สตรี นักศึกษา และคนทำงานด้านกระบวนการสันติภาพ ถือเป็นการทำงานที่ครบทุกองค์ประกอบ แต่ต้องอยู่ในกรอบเชิงนโยบายภายใต้สถานการณ์ เข้าร่วมในเวทีต่างๆ โดยเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้ผู้ฟังสามารถรับฟังข่าวสารที่หลากหลาย ทั้งนี้รวมไปถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อให้เห็นกระบวนการของทุกฝ่ายที่มีการขับเคลื่อนอย่างไร และมองภาพรวมต่อไปจะเป็นไปในทิศทางใด

DSJ: เนื้อหาในรายการมุ่งเน้นการนำเสนอในแนวทางใด การขับเคลื่อนนโยบายของสถานีเพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านใด
พัชรา: ส่วนใหญ่ตามเหตุการณ์ในพื้นที่ ไม่ได้แยกส่วนเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น รายการ “ร่วมแรงร่วมใจ” เราจะร่วมอย่างไรกับสถานการณ์นั้นๆ ทั้งเรื่องของสถานการณ์ สันติภาพ เศรษฐกิจ ปากท้องชุมชน เรามุ่งเน้นการสื่อสารที่นำไปสู่สันติภาพ ทั้งความสงบสุข ความเข้าใจ การงดใช้ความรุนแรง
โดยเริ่มจากการเป็นต้นแบบสื่อสาธารณะเพื่อเพื่อนมนุษย์ เกาะติดสถานการณ์ความรุนแรงที่ประชาชนเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือหากเกิดวิกฤติอาทิเช่น พยากรณ์อากาศ พายุ ไฟฟ้าดับ ฯลฯ

DSJ: เรื่องที่น่าสนใจและนำเสนอในช่วงนี้คือเรื่องใด ส่งผลต่อสันติภาพอย่างไร
พัชรา: ขณะนี้ติดตามประเด็นราคายางที่ส่งผลต่อความสงบสุขของประชาชน การก่อม็อบส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งความมั่นคงในเรื่องของคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของคน ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่แค่เหตุการณ์สงบอย่างเดียว ยังมีเรื่องอื่นแฝงอยู่ด้วย มองแบบองค์รวมว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่เริ่มจากหัวใจของคนก่อน

ตราบใดที่คุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจในพื้นที่ยังส่งผลต่อราคาพืชผลทางการเกษตร แทนที่จะมองกลไกตลาดโลก หันกลับมาสร้างเศรษฐกิจในประเทศโดยนโยบายต้องมีความชัดเจนในระยะยาว ลดปัจจัยการผลิต เร่งกระตุ้นตลาดภายในประเทศอย่างไร เรามีต้นทุนการผลิตที่ดีอยู่ แต่กระทบในเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรง

DSJ: กระบวนการสันติภาพในมุมมองเป็นอย่างไร
พัชรา: มองว่าเป็นทางออกที่จะคลี่คลายและยุติเหตุการณ์ความรุนแรงได้ หากต่างฝ่ายยอมรับ และเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ยศถาบรรดาศักดิ์ อาชีพ เชื่อมั่นว่า ตราบใดที่คนไม่จับอาวุธ พยายามหาจุดร่วมในการหาทางออก มองจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่เป็นพี่น้องกัน อยากเห็นความสงบสุขที่เพื่อนมนุษย์ไม่ล้มตายจากสถานการณ์ความขัดแย้ง สันติภาพก็จะเกิดขึ้นได้

กรณีการเจรจาของภาครัฐและBRN ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน แม้ว่าทุกฝ่ายคิดต่างกัน แต่หากมองเป้าหมายเดียวกัน หยุดอุดมการณ์ที่ใช้ความรุนแรง โดยการปลุกพลังของคนในพื้นที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องของส่วนรวม ใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์สื่อสารกัน ไม่ใช้อารมณ์ตำหนิ หรือวิจารณ์ผู้อื่น เริ่มจากตนเอง ใช้หัวใจความเป็นมนุษย์คลี่คลายปัญหา จะทำให้การขับเคลื่อนสันติภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

000000000000000000000000

บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกในโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ในชื่อ "เสียงสันติภาพ(1) : วิทยุม.อ.ปัตตานีกับการทำงานบนเส้นทางสันติภาพ"