ปักหมุดหมาย: การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย จำเป็นต้องฟังและดึงเสียงจากประชาชนรากหญ้าทุกกลุ่มขึ้นมาเพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมของของตนเองในอนาคต ซึ่งวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชนมากที่สุดและเป็นช่องทางสำคัญในการทำหน้าที่นั้น การค้นหา การทำให้ "สื่อสันติภาพในระดับชุมชน" ปรากฎตัว และทำให้เขาและองค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเป็น 'เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้' (Deep South Community Radio Network - DSR) และทำงานร่วมกันในการฟัง เปิดพื้นที่กลางการพูดคุย และดึงเสียงของ "คนใน" ออกมา พลังเหล่านี้จะกลายเป็นจักรสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี |
'มันโซร์ สาและ': ผู้เปิด “หน้าต่างสังคม” ผ่านสื่อวิทยุภาษามลายู
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้สัมภาษณ์นายมันโซร์ สาและนักจัดรายการวิทยุ “หน้าต่างสังคม” รายการวิทยุภาษามลายูด้านการวิเคราะห์ข่าว ปัญหาสังคมทีมีอย่างยาวนาน ล่าสุดเข้ารับบทบาทใหม่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Fokus ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูอักษรรูมี
รัฐธรรมนูญปี 40 จุดเริ่มต้นสื่อภาษามลายูภาคประชาชน
นายมันโซร์ สาและ ผู้จัดรายการวิทยุหน้าต่างสังคม ทางสถานีวิทยุ อสมท. ยะลา ซึ่งเป็นรายการวิทยุภาษามลายูในรูปแบบรายการวิเคราะห์ข่าวรายการแรกๆ ของพื้นที่ชายแดนใต้บอกว่าการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดช่องทางการสื่อสารภาษามลายูของสื่อที่ไม่ใช่ของรัฐโดยเฉพาะสื่อวิทยุ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องทางให้ภาคประชาสังคมสามารถเปิดวิทยุชุมชนได้ ทำให้เกิดสถานีวิทยุชุมชนที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารกับประชาชนที่เป็นกลุ่มคนฟัง โดยเฉพาะในช่วงประมาณปี 2543-2544 ที่ตื่นตัวกันมาก
ในความเป็นจริงสื่อวิทยุของรัฐเองก็มีรายการภาษามลายูเช่นกัน แต่เป็นรายการวิทยุที่ดำเนินรายการโดยดีเจ ซึ่งเป็นรายการบันเทิงแบบเปิดเพลงและพูดคุยแนะนะสินค้าที่สนับสนุนรายการ ไม่ได้มีเนื้อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์ หรือรายการในลักษณะให้ความรู้ อีกส่วนหนึ่งเป็นรายการศาสนาที่มีผู้รู้ทางศาสนามาดำเนินรายการ
ในช่วงดังกล่าว “รายการหน้าต่างสังคม” นับเป็นรายการวิทยุรายการแรกที่ทำรายการที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข่าว การให้ความรู้ทางสังคม พูดถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์ เป็นรายการแรกที่ใช้ภาษามลายู ซึ่งนายมันโซร์กล่าวว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความใจกว้างของรัฐที่เปิดโอกาสให้กับสื่อวิทยุภาษามลายู แต่เป็นความต้องการของสังคมมลายูอย่างแท้จริง
รายการวิทยุภาษามลายูในวันนี้
นายมันโซร์ตั้งข้อสังเกตว่า ในระยะช่วง 2-3 ปีมานี้ สื่อวิทยุภาครัฐเองเริ่มหันมาให้ความสนใจกับรายการวิทยุภาษามลายูมากขึ้น เห็นได้จากสถานีวิทยุของรัฐอย่าง สวท. และอื่นๆ มีการรับสมัครดีเจภาษามลายู และมีรายการภาษามลายูมากขึ้น แต่ก็มีข้อสังเกตว่านักจัดรายการมือใหม่เหล่านี้ใช้ภาษามลายูที่เขาเรียกว่าภาษามลายูแบบเต้าคั่วหรือแบบข้าวยำ เพราะเป็นภาษามลายูที่ผสมกับภาษาไทยมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์หรือบางกรณีเป็นภาษามลายูที่ปนภาษาไทยครึ่งต่อครึ่ง
ทั้งนี้ นายมันโซร์ ขยายความที่บอกว่านักจัดรายการใช้ภาษามลายูข้าวยำในการจัดรายการวิทยุนั้นไม่ใช่ว่าไม่มี “คำศัพท์” ในภาษามลายูให้ใช้ แต่เพราะนักจัดรายการเลือกที่จะใช้ภาษาไทยทับศัพท์ในการดำเนินรายการภาษามลายูมากกว่า เช่น คำว่า ประชุม เศรษฐกิจ เป็นต้น ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมีความรู้สึกไม่ดีต่อรายการวิทยุภาษามลายูเหล่านั้น
การพัฒนาของภาษามลายูในกระแสอาเซียน
นายมันโซร์กล่าวอีกว่า จากกระแสการมาถึงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ทั้งภาครัฐและประชาชนตื่นตัวกันมากนั้นได้ส่งผลต่อการใช้ภาษามลายูของสื่อในพื้นที่ด้วย โดยตั้งข้อสังเกตว่ามีกระแสที่ต้องการให้ยกระดับภาษมลายูที่ใช้อยู่ในพื้นที่ไปสู่ภาษามลายูมาตรฐานมากขึ้น ทั้งนี้เขากล่าวว่าภาษามลายูมาตรฐานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงภาษมลายูกลางสำเนียงกัวลาลัมเปอร์ หรือมลายูกลางของมาเลเซีย แต่หมายถึงการเรียกร้องให้ใช้ภาษามลายูที่มีการเรียงประโยคที่ถูกต้องเพื่อการรองรับกับมาตรฐานภาษมลายูอันเป็นภาษาที่มีประชาชนใช้มากที่สุดในอาเซียน
ด้านการตอบรับของคนฟังต่อรายการวิทยุหน้าต่างสังคมนั้น เขากล่าวว่าเสียงสะท้อนมีว่าก่อนกระแสอาเซียนนั้นนักจัดรายการวิทยุใช้ภาษามลายูที่เป็นศัพท์สูง แต่เมื่อมีกระแสอาเซียนมีการปรับเปลี่ยนภาษาเป็นสำเนียงแบบมลายูกลาง แต่ใช้ภาษาธรรมดาอย่างที่ชาวบ้านทั่วไปใช้มากขึ้น
ประชาชนตระหนักรู้มากขึ้น แต่ยังปฏิบัติน้อย
เมื่อถามถึงความตื่นตัวของประชาชนทั่วไปต่อการพัฒนาภาษามลายู นายมันโซร์ ประเมินว่าประชาชนทั่วไปมีความตื่นตัวในระดับต่ำ อาจจะมีความตระหนักที่จะพัฒนาการใช้ภาษามลายูแต่ก็เป็นเพียงภาพในอุดมคติ เพราะเห็นได้จากภาคปฏิบัติการ เช่น แม้แต่การประกาศในมัสยิดยังมีที่ใช้ภาษาไทย ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็ใช้ภาษาไทย การเชิญชวนต่างๆ ในระดับประชาชนรากหญ้าก็ยังใช้ภาษาไทย
นายมันโซร์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า เมื่อพิจารณาถึงคนที่มีส่วนในการพัฒนาการใช้ภาษามลายูกลับเป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่ใช้ภาษามลายูในสื่อสาธารณะเป็นผู้ยกระดับความสมบูรณ์ของการใช้ภาษามลายู ไม่ได้มาจากครูหรืออาจารย์ที่มีหน้าที่สอนภาษามลายูโดยตรง
นายมันโซร์ ยังเล่าถึงถึงบรรยากาศการแข่งขันในสื่อวิทยุในช่วงนี้ว่า ดูเหมือนจะเป็นการแข่งขันระหว่างรายการวิทยุของภาคประชาสังคมกับภาครัฐ อย่างเช่น ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เปิดสถานีวิทยุภาษามลายู 24 ชั่วโมง หรือสถานีวิทยุของรัฐอื่นๆ ที่มีรายการภาษมลายูมากขึ้น
ในอีกด้านได้เกิดสถานีวิทยุชุมชนภาษามลายูมากขึ้น โดยวิทยุของภาคประชาสังคมจะมีเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า อย่างเช่น สถานีวิทยุมีเดียสลาตันกล้าพูดถึงเรื่องการริเริ่มการพูดคุยสันติภาพระหว่าง BRN กับรัฐไทย รายการวิทยุหน้าต่างสังคมพูดถึงเนื้อหาวิชาการ ในขณะที่วิทยุของภาครัฐจะมีแฟนคลับที่เข้ามาขอเพลงและอีกส่วนหนึ่งเป็นรายการศาสนา
หนังสือพิมพ์ Fokus พัฒนาการภาษามลายูสู่วงกว้าง
พิจารณาถึงพัฒนาการของสื่อที่ใช้ภาษามลายู ปัจจุบันนี้เป็นเรื่องที่น่ายิ่งดีเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากสถานีวิทยุในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูแล้ว ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ภาษามลายูที่เป็นการขับเคลื่อนของนักกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่ด้วย เช่น หนังสือพิมพ์ Fokus ที่ตนเองได้ร่วมกันผลิตออกมาสู่ตลาดที่พิมพ์ด้วยอักษรรูมี หรือหนังสือพิมพ์ Sinaran ที่พิมพ์ด้วยอักษรยาวี (ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยกองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้)
สื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นรูปแบบการใช้ภาษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะไม่ใช่แค่การพูดกับการฟัง แต่เป็นการอ่านและการเขียนด้วย และยังเป็นเครื่องมือในการสื่อสารทางธุรกิจ นำเสนอข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางสังคม ซึ่งการที่สื่อเหล่านี้ใช้ภาษามลายูอักษรรูมีจะเป็นการสื่อสารให้คนนอกพื้นที่มีความเข้าใจเรื่องราวของพื้นที่นี้ด้วย
ข่าวสารที่หนังสือพิมพ์นำเสนอก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง เนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่ขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคมซึ่งหนังสือพิมพ์นี้เสนออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายต้องการเป็นสะพานของข้อมูลทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของพื้นที่ไปสู่เป้าหมายคนอ่านอีกว่า 600 ล้านคนที่ใช้ภาษมลายู
อย่างไรก็ตาม นายมันโซร์ สะท้อนว่า สำหรับผู้ที่ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูจะต้องรับภาระอีกอย่างหนึ่งนั้นคือ การกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ให้อ่านหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับสังคมในพื้นที่ที่มีคนอ่านหนังสือน้อยมาก แม้ที่ผ่านมาจะมีงานเขียนภาษามลายูอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตำราศาสนา ไม่ได้เป็นเนื้อหาที่ทันสมัยหรือเนื้อหาที่สะท้อนสังคม
การผลิตสื่อหนังสือพิมพ์จึงเป็นการขยับไปสู่การทำความเข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากขึ้นและขยายไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งหนังสือพิมพ์ fokus ได้มีการทำเป็น Ebook แล้วด้วยเพื่อการเผยแพร่สู่สื่อออนไลน์ นอกจากนั้นในช่วงของการผลิตรายการวิทยุก็ได้โฆษณาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ผ่านรายการวิทยุเพื่อจะสื่อให้เป็นวงกว้างยิ่งขึ้น
การสื่อสารเพื่อสร้างสรรค์สันติภาพ
นายมันโซร์ เปิดเผยว่า ทุกครั้งที่ได้เข้าอบรมหรือเสวนาในเวทีที่เกี่ยวกับการกระบวนการสร้างสันติภาพที่จัดโดยองค์กรภาคประสังคมหรือองค์กรต่างๆ ตนเองจะนำเอาเนื้อหาจากเวทีเสวนาหรือการอบรมต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมมาเล่าให้ผู้ฟังของรายการวิทยุ หรือบางครั้งจะเล่าถึงบทเรียนของการสร้างสันติภาพทั่วโลกมาเล่าแก่ผู้ฟังรายการ
การนำเสนอเช่นนี้เพื่อจะกระตุ้นให้ผู้ฟังรายการรับรู้ความเคลื่อนไหว การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ สะท้อนความต้องการของประชานในพื้นที่ว่าต้องการอะไรจากการพดคุยสันติภาพในครั้งนี้
ทั้งนี้ รายการหน้าต่างสังคมมี “หลักสูตรสันติภาพชุมชน” ที่จะเป็นการเปิดเวทีสร้างสันติภาพภายใต้ร่มเงาของมัสยิดในชุมชน การสร้างหลักสูตรสันติภาพชุมชนนี้เพื่อให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์สังคมได้ ทีมงานรายการหน้าต่างสังคมเปิดเวทีชุมชนเพื่อพูดคุยในเรื่องสร้างสันติภาพ มิติทางสังคมการเมืองในชุมชน เพราะหากไม่สามารถสร้างสันติภาพในชุมชนให้เกิดขึ้นได้ สันติภาพในกรอบใหญ่ก็ไม่ยั่งยืน
0000000000000000000000000000000
บทสัมภาษณ์พิเศษนี้เผยพร่ครั้งแรกที่โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
ติดตามอ่านสัมภาษณ์พิเศษ "เสียงสันติภาพ" เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้ได้ ดังนี้
- 'วิทยุม.อ.ปัตตานี': การทำงานบนเส้นทางสันติภาพ
- "We Voice ตามหาสันติภาพ”: วิทยุเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมบนเส้นทางสื่อเพื่อสันติภาพ
- “จูลี แห่งวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอ” สถานีความรู้คู่ชุมชน