หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข …... |
'มาริสา สมาแห': อยู่กับวิถีที่แปรผัน....
มาริสา สมาแห
รุสนีย์ กาเซ็ง
ภาพประกอบโดย: วิเชียร ไกรเทพ
ฟ้าหลังฝน....ไม่ต่างกับชีวิตของฉัน หลังมรสุมร้ายผ่านพ้นไป....
อัลฮัมดูลิลาฮ.(มวลการสรรเสริญแด่องค์อัลลอฮฺ) อัลลอฮฺทรงโปรดให้ความหวาดกลัวต่างๆ หายไป ฉันนอนหลับสนิทและไม่สะดุ้งตื่นตอนดึกแล้ว อัลลอฮฺทรงให้มากกว่าที่ฉันขอ ฉันปลื้มมากๆ ฉันดีใจที่ได้ตื่นตอนตี 4 ทุกคืน เพราะช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เงียบสงบ เราสามารถทำอีบาดะห์(ศาสนกิจ)หลายๆ อย่าง (เป็นต้นว่า การละหมาดสุนัต ตะฮัจญูด สุนัตก่อนซูบฮ. อ่านอัลกรุอ่าน ก่อนถึงเวลาละหมาดซูบฮฺ ) เราจะขออะไร เราจะพูดอะไรกับอัลลอฮฺ เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะและพระองค์ก็จะทรงตอบรับเรื่องราวที่เราขอได้ง่ายกว่าเวลาอื่นๆ
อีกครั้งที่ความสุข ความร่าเริง ความรัก ความห่วงใยวิ่งเข้ามาหาฉัน และเมื่อความดีทุกอย่างเข้ามา ฉันก็พร้อมที่จะทำ พร้อมที่จะอยู่กับมัน และหากใครประสบเหตุการณ์เหมือนกับฉัน ต้องการให้ฉันช่วยเหลือด้านจิตใจ หรือต้องการคำชี้แนะ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ฉันยินดีและพร้อมจะเดินและล้มลุก คลุกคลานไปด้วยกัน
ถึงเวลานี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉันก็พร้อมที่จะรับมันและจะไม่ยอมให้ความอ่อนแอมาควบคุม หรือเป็นเจ้าชีวิตของฉันอีก สิ่งเดียวที่ฉันจะบอกกับทุกคน คือ ความอดทนและการทำอีบาดะห์(ศาสนกิจ)เท่านั้นที่เป็นอาวุธป้องกันตัวเรา แม้ว่าศาสนาใดก็ตาม ก็ล้วนสอนให้เราทุกคนทำความดี อย่างที่เราเคยได้ยินคำว่า คิดดี ทำดี แล้วเราก็จะได้ดี ในวันข้างหน้า สำหรับศาสนาอิสลามแล้ว ไม่มีคำสอนใดๆที่จะทำให้เราเป็นคนดีอย่างแท้จริง นอกจากคัมภีร์อัลกรุอ่าน เท่านั้นที่จะทำให้มุสลิมเรามีความสุขที่แท้จริง ไม่ว่าในดุนยา(ช่วงชีวิตนี้) หรือในอาคีเราะฮฺ(ช่วงชีวิตหลังความตาย)
…................................
ย้อนไปขณะเกิดมรสุม(ชีวิต)…ขณะที่มันกำลังทำลายทุกอย่างในชีวิต…
“ปัง” เสียงที่ดังมาจากตลาดนัดพ่อมิ่ง เป็นอดีตฉันที่อยากจะลืม แต่กลับต้องจำไปตลอดชีวิต
ช่วงหัวค่ำของวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 19.30 น. โดยประมาณ เป็นเสียงที่ทำให้ฉันตกใจมาก และ ปัง ปัง ปัง ตามมาอีก 3 นัด ฉันหัวใจเต้นแรงขึ้น พร้อมกับตะโกนถามลูกชายว่า พ่ออยู่ไหน เป็นคำถามเดียวกันกับที่ลูกถามฉัน ก่อนที่จะได้ยินเสียงปืน ซึ่งตอนนั้นลูกชายกำลังจะละหมาดมัฆริบ (ละหมาดหลังดวงอาทิตย์ตกดิน) เมื่อได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4 นัดแรกเหมือนมีอะไรมาดลใจฉัน ทำให้ฉันรู้สึกว่า ต้องเป็นสามีฉันแน่นอน
จากนั้นมีเสียงปืนดังตามมาอีก 3 นัด ฉันเลยใช้ลูก วิ่งไปดูที่ตลาดนัดซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 300 เมตร ขณะที่ลูกกำลังวิ่งไปนั้น มีเสียงแม่ค้าคนหนึ่งห้ามลูกฉันไม่ให้ไป เพราะกลัวว่าจะโดนลูกหลง แต่ฉันก็พูดว่าให้เขาไปดูพ่อเขาว่าอยู่ที่ไหน ทำไมยังไม่กลับมาอีก เมื่อลูกไปถึงที่ตลาดนัด ฉันได้ยินเสียงลูกร้องไห้เรียกพ่อ “อาเยาะ...อาเยาะ” ฉันก็เลยวิ่งตามไป
ฉันเห็นลูกกำลังก้มลงกอดพ่อ ตอนนั้นสามีฉันสิ้นชีวิตแล้ว คำแรกที่ฉันพูดกับลูกคือ หยุดร้องไห้เถอะลูก พ่อเขาไปสบายแล้ว ฉันนั่งลงใกล้ๆ ศพแล้วช้อนหัวขึ้นกล่าวว่า “ลาอีลาฮาอิลลัลลอฮฺ” (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ) ข้างหูของเขา แล้วลูบตาทั้งสองข้างให้ปิดสนิท ตอนนั้นฉันมีสติ จัดการศพทุกอย่างได้ แล้วมีชาวบ้านคนหนึ่งพูดว่า “ทำไมไม่เอาหมอนมารองหัวศพล่ะ” ฉันก็วิ่งไปเอาผ้ามารองหัวเขา ฉันวิ่งไปวิ่งมา ทั้งๆที่เลือดนั้นเปื้อนผ้าถุงและเท้าฉัน ฉันนั่งอยู่ข้างๆ ศพสามีฉัน โดยมีลูกทั้งสามคนนั่งอยู่ด้วย แล้วฉันก็หันมาพูดกับลูกๆ ว่า
“อย่าร้องไห้นะลูก ยิ่งเราร้องไห้จะยิ่งทำให้พ่อเจ็บปวดมากขึ้น
เราต้องยอมรับว่า ถึงเวลาที่พระเจ้ากำหนดแล้ว "
ตอนนั้นฉันไม่ร้องไห้เลย น้ำตาสักหยดก็ไม่มี เพราะฉันเข้าใจในกฎกำหนดที่อัลลอฮฺทรงลิขิตไว้แล้ว เมื่อตำรวจมาถึง เขาก็เอาศพไปที่โรงพยาบาลกับรถตำรวจ โดยมีฉัน ลูก และญาติตามไปด้วย เมื่อคุณหมอชันสูตรศพเรียบร้อย ฉันก็พาศพกลับบ้านจัดการศพตามหลักศาสนาใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง ทุกอย่างก็เสร็จเรียบร้อย
เหตุการณ์ในคืนนั้น มันโหดร้ายกับครอบครัวเราเหลือเกิน เป็นเหตุการณ์ที่ฉันไม่เคยลืมมันเลย แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม แต่ฉันมีสติ มีความเข้มแข็งพอที่จะจัดการทุกอย่างกับศพของสามีฉัน
พอวันรุ่งขึ้นเพื่อนที่ทราบข่าวก็มาเยี่ยม มาแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกคนชมว่าฉันเก่งที่สามารถควบคุมอารมณ์และเก็บความรู้สึกได้ ไม่ช็อคกับเหตุการณ์ ซึ่งฉันสามารถไปให้ปากคำกับตำรวจที่สภ.อ.ปะนาเระได้
และแล้วสิ่งที่ฉันไม่คาดคิดก็มาเยือนในคืนที่สอง หลังเกิดเหตุการณ์ ขณะที่ฉันนอนหลับอยู่ ฉันมีความรู้สึกว่ามีใครมากระชากฉันอย่างแรง ทำให้สะดุ้งตื่น หลังจากนั้นความรู้สึกต่างๆ ก็เข้ามา มีทั้งความหวาดกลัว ระแวง ซึมเศร้า เลยทำให้ฉันนอนไม่หลับ กินไม่ได้ ไม่อยากพูดคุยกับใคร ในใจมีแต่คำถามต่างๆ นานา เข้ามา ยิ่งทำให้ชีวิต ของฉันยิ่งสับสน วุ่นวาย
คำถามแรกที่ผุดขึ้นในใจคือ ใครยิงสามีฉัน? ยิงทำไม? เขาผิดอะไร? แล้วฉันกับลูกๆ จะอยู่ต่อไปได้อย่างไร เพราะตอนที่สามียังมีชีวิตอยู่ ครอบครัวเรามีความสุขมาก เราทั้งคู่รักและเป็นเพื่อนในเวลาเดียวกัน สามีฉันเป็นคนดี มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือเพื่อนบ้านเสมอ ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้นำชุมชน แต่ทุกครั้งเมื่อชาวบ้านมีปัญหา ทุกคนก็จะมาปรึกษาและขอความช่วยเหลือ เขาเป็นคนที่ช่วยคนด้วยใจไม่มีค่าจ้างค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นและสำหรับตัวฉันเขาก็คือทุกอย่างในชีวิต
เมื่อสามีจากไป ฉันก็สับสนว้าเหว่ กังวลกับเรื่องต่างๆ มากมาย ถึงแม้ว่าฉันเป็นครูแต่ก็ขาดประสบการณ์หลายอย่าง แม้กระทั่งเบิกเงินเดือนก็ไม่เคยเบิกเอง ติดต่อประสานงานอะไรต่างๆ เขาเป็นคนบริการให้ทุกอย่าง แล้วชีวิตฉันที่เหลืออยู่จะเดินไปทางไหน นี่คือสาเหตุที่ทำให้ฉันต้องทรุดลงและอยู่แบบคนไร้จิตใจ ไร้ความสุข รอยยิ้มและเสียงหัวเราะมันก็หายไปด้วย
ตั้งแต่สามีฉันจากฉันไป ชีวิตมีอยู่แค่เช้าไปโรงเรียน ตอนเย็นกลับเข้าบ้าน ไม่เคยไปไหนนอกจากนี้ปฏิบัติอยู่เช่นนั้น ในระยะเวลาสี่เดือนกับสิบวัน ซึ่งเป็น “อิดดะห์” (ระยะเวลาที่ศาสนากำหนดให้ภรรยารอคอย ไม่สามารถแต่งงานใหม่หลังจากสามีเสียชีวิตหรือหย่าขาดจากนางไป) เมื่อฉันล้มลง ปัญหาที่ตามมา ทำให้ฉันต้องร้องไห้อยู่คนเดียว ไม่มีใครรับรู้กับฉันเลย คือ เมื่อลูกๆ มาเห็นฉันนอนนิ่งอยู่บนเบาะ ไม่กิน ไม่พูด ไม่จา ลูกๆ ก็จะไปหายายทวด แล้วถามยายทวดว่า ยายจ๋า แม่เป็นอะไร ทำไมแม่ไม่กินข้าว ทำไมแม่เอาแต่นอน ปกติแม่เป็นคนร่าเริง แจ่มใส เมื่อยายมาบอกฉัน ยิ่งทำให้ฉันต้องร้องไห้แล้วร้องไห้อีก แล้วพูดกับตัวเองว่า ฉันต้องลุกขึ้นมาสู้ ต้องร่าเริงเพื่อลูกๆ ทั้งสามคนของฉันให้ได้
สิ่งแรกที่ฉันทำคือ ลุกขึ้นมาละหมาดฮายัตขอพรจากพระเจ้าให้ฉันมีสุขภาพแข็งแรง และลืมเหตุการณ์ร้ายๆ นั้นไปเสีย และแล้วการขอพรของฉัน พระเจ้าก็ได้ตอบรับจริงๆ เพราะเมื่อฉันรู้สึกตัวในตอนกลางดึก ฉันมีความรู้สึกว่าตัวฉันเบามาก ความทุกข์ ความหวาดกลัว ความหวาดระแวง มันก็หายไปโดยสิ้นเชิง จากที่นอนไม่หลับก็กลายเป็นนอนหลับ ความรู้สึกหิวมันก็ตามมา หลังจากคืนนั้นฉันก็เริ่มทำอีบาดะห์(ศาสนกิจ)ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดฮายัตทุกคืน การอ่านยาซีนทุกวัน การละหมาดสุนัตต่างๆ
เมื่อสติมา ปัญญาก็เกิด สมองฉันเริ่มทำงานตามปกติแล้ว ฉันดีใจมาก ฉันก็ร้องไห้อีกครั้ง เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหมคนเราดีใจก็ร้องไห้ เสียใจก็ร้องไห้ เพราะมันเป็นความรู้สึกจากใจ ฉันเริ่มรับรู้แล้วว่า ฉันจะเดินไปทางไหน จะทำอะไรบ้างกับชีวิตที่เหลืออยู่กับลูกๆ สามคน ฉันเริ่มก้าวข้ามวิกฤตด้วยศาสนา มาบำบัดจิตใจ
อัลฮัมดูลิลลาฮฺ ฉันกล่าวขอบคุณอัลลอฮฺที่พระองค์ได้เปิดใจของฉันแล้ว ฉันจำได้ว่าเมื่อถึงเดือนรอมฎอน (ชื่อเรียกเดือนตามหลักจันทคติเป็นภาษาอาหรับ) ฉันเริ่มอ่านอัลกรุอ่านตั้งแต่คืนแรกของเดือนรอมฎอนจนถึงคืนสุดท้าย เพราะฉันได้ปฏิญาณกับตนเองว่า ฉันจะอ่านอัลกรุอ่านจบจบ สามสิบยุซ (จบเล่ม) ภายในเดือนนี้ และแล้วฉันก็ทำได้สำเร็จ ฉันดีใจมาก ทำให้ฉันยิ่งซึ้งในความเป็นอิสลามของฉัน นี่แหล่ะที่เขาบอกว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรกับชีวิตเราก็ตาม ถ้าเรามีศาสนาอยู่ในหัวใจ สิ่งเลวร้ายต่างๆ ก็จะผ่านพ้นไปด้วยดี แล้วชีวิตเราก็จะมีความสุขบนพื้นฐานแห่งศาสนาที่เรานับถือ
ถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้านไป ก็คือออกไปติดต่อ หรือประสานงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามีฉัน ฉันอยากอธิบายให้กับผู้หญิงหม้ายทุกคนให้เข้าใจถึงชีวิตหลังจากสามีเสียว่า ถ้าครอบครัวเรามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน อิสลามไม่อนุญาตให้ภรรยาผู้เสียชีวิตออกไปไหนโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งการแต่งงานก็ไม่อนุญาตในช่วงที่เราอยู่ในอีดดะห์ แต่ถ้าจำเป็นก็อนุญาตออกไปได้ การที่เรายอมรับและปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม ชี้ให้เห็นว่า เราเป็นภรรยาที่ดีของเขาและรักเขาตลอดไป
สำหรับฉันแล้ว ฉันไม่ชอบ เมื่อมีคนมาเรียกว่า “แม่หม้าย” เพราะฉันไม่เคยรู้สึกว่าฉันเป็นหม้าย ฉันยังมีเขาอยู่ในใจตลอดไม่เคยลืมแม้แต่วินาทีเดียว และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีคนเข้ามาในชีวิตฉัน แต่ฉันกลับปฏิเสธ และสิ่งที่แม่ทุกคนต้องมีคือรักลูก ห่วงลูก เพราะเป็นทุกอย่างของฉัน ฉันคิดอยู่เสมอว่าความสุขที่แท้จริง คือการที่เราอยู่กับลูกๆ รักเขา เข้าใจเขา เป็นทั้งพ่อและแม่ ตามด้วยเพื่อนในเวลาเดียวกัน แต่ที่ฉันปลื้มสุดๆ คือ ปีนี้ลูกสาวคนกลางเรียนจบปริญญาตรีแล้ว นี่คือกำลังใจของฉัน
ชีวิตของฉันน่าจะเริ่มต้นใหม่ได้แล้ว แต่.....
หลังจากเกิดเหตุการณ์ประมาณ 2 ปี มีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ฉันกำลังจะเอารถจักรยานยนต์ไปเก็บในโรงรถ จู่ๆ ก็มีชายผู้ไม่หวังดีสวมชุดไอ้โม่ง 2 คน โผล่ออกมาจากริมรั้วบ้านฉัน เขาตะโกนบอกฉันเป็นภาษาไทยว่า “ลาออกจากครู ไม่งั้นไม่รับรองความปลอดภัย ! ”
ฉันตกใจมากและมีอาการงงอยู่นาน ฉันเข้มแข็งได้ไม่นาน เหตุการณ์เดิมๆ ก็วิ่งเข้ามาชนฉันอีกครั้ง จนฉันต้องล้มอย่างไม่ทันตั้งตัว ล้มครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ซึ่งใช้เวลานานกว่าครั้งแรก อาการต่างๆ ก็เหมือนครั้งแรกมีทั้งหวาดกลัว หวาดระแวง ไม่พูด ไม่จา นอนไม่หลับ กินก็ไม่ได้ น้ำหนักลดลง 8 กิโล และปัญหาที่ตามมาคือ ฉันไม่สามารถพยุงตัวเองลุกขึ้นไปโรงเรียนสอนเด็กๆ ได้ ทำให้พ่อแม่และลูกๆ ต้องเป็นห่วง และคนที่เป็นทุกข์ตามมาก็คือเพื่อนครู โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียน ได้นำเรื่องฉันเข้าที่ประชุมเขตพื้นที่ ท่านผอ.เขตอนุญาตให้ฉันย้ายไปช่วยราชการที่โรงเรียนไหนก็ได้แล้วแต่ฉันสะดวก แต่ฉันบอกท่านผอ.ว่า ฉันจะไม่ย้ายไปไหน อะไรจะเกิดมันต้องเกิด ความตายไม่ต้องไปหนี ต่อให้ฉันหนีไปอยู่มุมไหนของโลก เมื่อถึงเวลาอัลลอฮฺกำหนด ฉันก็ต้องตายอยู่ดี นี่คือคำพูดของฉันกับผอ.โรงเรียน
แต่ฉันรู้สึกว่า ฉันโชคดีน่ะ มีทั้งพ่อแม่ ลูกๆ ญาติพี่น้องทุกคนมาดูแลฉัน ให้กำลังใจ พาฉันไปหาบาบอ(ผู้รู้และเป็นผู้สอนศาสนา)บ้าง ไปหาหมอบ้าง ช่วยกันรักษาจิตใจฉัน แม้กระทั่งเพื่อนครูที่โรงเรียน ถึงแม้ว่าเขาเป็นคนไทยพุทธ ต่างศาสนากับฉัน แต่ครูทุกคนเป็นห่วงฉัน มาเยี่ยมฉันสม่ำเสมอ และฉันยังจำคำพูดของเพื่อนครูคนหนึ่งได้ดี เมื่อเขาเห็นฉันร้องไห้ เขาก็เข้ามากอดฉันแล้วพูดว่า ตอนที่พี่มาเจอกับน้องกำลังหกล้มอยู่ สิ่งที่พี่ต้องทำคือ พี่ต้องพยุงน้องขึ้นมาให้ได้ พี่จะไม่ปล่อยหรือข้ามน้องไป แต่น้องต้องร่วมมือกับพี่ต้องพยายามลุกขึ้นมาให้ได้ มันเป็นคำพูดที่ทำให้ฉันมีพลังขึ้นมา แต่ไม่ใช่ว่าหายไปทันที ฉันก็ยังนอนไม่หลับ ไม่รับแขก ไม่อยากให้ใครมาเยี่ยม
ฉันยังจำได้ว่า เมื่อถึงเดือนรอมฎอน อ.โซรยา จามจุรี และคณะได้มาเยี่ยมฉัน ใจหนึ่งไม่อยากให้มาเยี่ยม เพราะกลัวว่าเขาจะมาเห็นสภาพที่แท้จริงของเรา เพราะเวลา อ.โซรยาโทรศัพท์มา ฉันจะบอกว่า ดีขึ้นแล้ว ทั้งที่แท้จริงอาการยังเหมือนเดิม แต่เมื่อปฏิเสธการมาเยี่ยมไม่ได้ ฉันจำเป็นต้องลุกขึ้นมาแต่งหน้า เพื่อปิดบังอาการหลายๆ อย่าง แต่อีกใจหนึ่งก็ดีใจที่มีคนเป็นห่วง อาจเป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้ฉันมีความผูกพันเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมมาก
เวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า ฉันก็ยังกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนวันหนึ่ง น้องของฉันได้พาฉันไปพบกับนายแพทย์ดำรง แวอาลี ครั้งแรกเอายากลับมากิน ยาก็เอาไม่อยู่ ฉันก็ยังนอนไม่หลับ เมื่อยาหมด ฉันก็ไปหาหมออีกครั้ง ครั้งนี้หมอเปลี่ยนยานอนหลับ แล้วหมอก็พูดว่า กินยานี้แล้วถ้านอนหลับ ก็ให้หยุดทันที
ด้วยตักดีร(การกำหนด)ของอัลลอฮฺ ทำให้ฉันเริ่มนอนหลับแต่ก็ยังไม่สนิท แต่ฉันมีกำลังใจดีขึ้นแล้ว ฉันก็เลยโทรไปบอกอาการกับบาบอ เมื่อฉันเล่าอาการให้บาบอฟัง บาบอบอกฉันว่า ให้ฉันอ่านซูเราะห์ต่างๆ ที่ขึ้นต้นด้วย “กุล” เช่นกุลฮูวัลลอฮฺ กุลอาอูน กุลยา ก่อนนอนทุกคืน ฉันก็ได้ปฏิบัติตามที่บาบอบอก
ชีวิตคนเรา มีทุกข์ มีสุข คละเคล้ากันไป ไม่ต่างอะไรกับอากาศที่บางวันมืดครึ้ม บางวันแดดออก สลับเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่อย่างนั้น หากเราเข้าใจและยอมรับความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่งได้ ชีวิตก็พร้อมจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง มั่นคง และพร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์....
เมื่อโรคร้ายที่ฉันได้พบเจอทั้งหมด ออกไปจากตัวฉัน ความสุข ความร่าเริงก็ได้วิ่งเข้ามาแทน จึงทำให้ฉันมีพลังขึ้นมาอีกครั้ง แต่พลังครั้งนี้เป็นพลังที่เต็มไปด้วย ความสว่างไสว พร้อมที่จะรับข้อมูลทุกอย่างที่เขาหยิบยื่นให้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดี เมื่อเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม เชิญประชุมและให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบ และจัดอบรมเกี่ยวกับการจัดรายการวิทยุเสียงผู้หญิงจากชายแดนใต้ จนในที่สุด ฉันกลายเป็นนักจัดรายการวิทยุ ซึ่งเป็นความโชคดีที่สามารถนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมาเล่าให้ผู้ฟังรายการได้สัมผัสถึงวิธีการแก้ไขปัญหา การเยียวยา และการใช้ชีวิตหลังเกิดเหตุการณ์ และยังได้รับเกียรติจากทีมงานของหมอดำรง เชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการเยียวยาจิตใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบ แถมยังได้เป็นอำเภอนำร่องในการดูแลเด็กกำพร้า ทำให้เด็กกำพร้าที่เกิดจากเหตุการณ์ได้เข้าร่วมโครงการที่ทางศูนย์สุขภาพจิตจัดขึ้น ยังได้รับทุนจากศูนย์ 2 ปีซ้อน เนื่องจากผลการประเมินโครงการเป็นที่ยอมรับของหน่วยงาน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจทั้งหน่วยงานและชุมชน
เมื่องานที่เราทำทุกอย่างคือความดี ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ฉันมีความรู้สึกว่า ฉันมีความสุข สนุกและเพลิดเพลิน ทั้งๆ ที่อันที่จริงฉันมีเวลาว่างแค่ เสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น แต่ฉันก็พยายามมาทุกครั้ง เมื่อทีมงานโทรมาบอก ฉันยอมรับว่าตอนนี้ฉันสบายใจที่สุด และพร้อมที่จะยื่นมือไปช่วยทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
ล่าสุดฉันก็ได้เข้ามาเป็นอนุกรรมการเกี่ยวกับการเยียวยา ซึ่งเปิดโอกาสให้ฉันได้นำเสนอข้อมูลต่างๆ และโดยเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน
จากการที่ฉันได้เข้ามามีบทบาทในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ทำให้ฉันมีโอกาสได้ไปสานเสวนากับท่านแม่ทัพภาค 4 ซึ่งในการเสวนานั้นฉันได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตำบลพ่อมิ่ง โดยเฉพาะ “ปอเนาะพ่อมิ่ง” ซึ่งเป็นปอเนาะที่ถูกเพ็งเล็งจากรัฐมากที่สุด หลายอย่างที่ฉันรับรู้ข้อมูลจากชาวบ้าน คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือ การที่ท่านแม่ทัพได้ เข้าถึงและปฏิบัติ และทำตามที่ท่านได้พูดไว้ ถือว่านี่คือผลกำไรที่ฉันได้เข้ามามีบทบาทตรงนี้ ซึ่งมันไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสแบบนี้ ฉันขอขอบคุณพระเจ้าที่ให้โอกาส ให้เวลา สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ออกสู่สังคม ฉันพร้อมที่จะลงมือปฏิบัติทุกเรื่อง ถ้าสิ่งนั้นคือความดี
ชีวิตต้องเดินหน้าไปพร้อมกับโลกที่หมุนไปไม่เคยหยุด และเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ร้ายดีสลับไป สลับมา ไม่หยุด แล้วเราจะหยุดอยู่กับความทุกข์โศกตลอดกาลได้อย่างไร.
00000000000000000000000
พลังส่งกลับจากเธอสู่ฉัน
ฉัน | รุสนี กาเซ็ง
"กะเราะห์" หรือ "มาริสา สมาแห" เธอทำให้ฉันรู้สึกว่า วิถีทางแห่งการหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ได้ผลที่สุด คือการศรัทธาต่อคำสอนตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ โดยพยายามขัดใจให้สะอาดด้วยศาสนา ไม่อาฆาตมาดร้ายแต่ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของการตอบสนอง ใครทำอะไรไว้เขาย่อมได้รับผลตอบแทนอย่างนั้น เมื่อใดที่ปล่อยวางความทุกข์ได้ ความทรมานใจจากเหตุการณ์ร้ายที่เกิดก็จางหายไป และทิ้งรอยแผลเป็นไว้ในความทรงจำ
“ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆชิ้นหนึ่งเท่านั้นที่อยู่เบื้องหลังการก่อร่างสร้างตัวเป็นหนังสือเล่มนี้ แต่ด้วยบทบาทเพียงเท่านี้ฉันก็รู้สึกอิ่มใจที่ได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้มีความสำคัญต่อการสะท้อนเรื่องราวชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบทุกคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้สู่สาธารณะ สิ่งที่อยากเห็นการสะท้อนกลับมา ไม่ใช่แค่ความเมตตาสงสาร เพราะแค่ความรู้สึกไม่ก่อประโยชน์ใดๆ แต่การลงมือกระทำต่างหากที่จะก่อให้เกิดผล”
000000000000000000000000
ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942 หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี
ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา
- 'อรอุมา ธานี'ซ สิ่งที่เหลืออยู่
- 'นิเด๊าะ อิแตแล': พลังผู้หญิงสร้าง “ชุมชนสันติสุข”
- 'อารีดา สาเม๊าะ': ฉันคือเลือดของพ่อ
- 'คำนึง ชำนาญกิจ': แม่ผู้ตามหาความเป็นธรรม
- 'ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ': มีน้ำตา...ก็หัวเราะได้
- 'ดวงสุดา สร้างอำไพ: ชีวิตหลังปลดแอก
- 'แยน๊ะ สะละแม': ความเป็นธรรมต้องสู้ถึงจะได้มา
- 'ปัทมา หีมมิหน๊ะ': “ด้วยใจ”.... ภรรยาอดีตผู้ต้องหาความมั่นคง