ปักหมุดหมาย: การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย จำเป็นต้องฟังและดึงเสียงจากประชาชนรากหญ้าทุกกลุ่มขึ้นมาเพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมของของตนเองในอนาคต ซึ่งวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชนมากที่สุดและเป็นช่องทางสำคัญในการทำหน้าที่นั้น การค้นหา การทำให้ "สื่อสันติภาพในระดับชุมชน" ปรากฎตัว และทำให้เขาและองค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเป็น 'เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้' (Deep South Community Radio Network - DSR) และทำงานร่วมกันในการฟัง เปิดพื้นที่กลางการพูดคุย และดึงเสียงของ "คนใน" ออกมา พลังเหล่านี้จะกลายเป็นจักรสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี |
วิทยุพระพุทธศาสนากลางไฟใต้
เรื่อและภาพประกอบ:
ฮัสซัน โตะดง
สถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติอำเภอเทพา ตั้งอยู่ที่วัดลำไพล อ.เทพา จ.สงขลา คลื่นความถี่ FM104.74 MHz เป็นสถานีวิทยุอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มุ่งสร้างสันติสุขด้วยหลักพุทธศาสนา ก่อตั้งโดยพระครูพิพัฒน์เมธากร เจ้าอาวาสวัดลำไพล
5 ปีแห่งการก่อตั้งสถานี
พระครูพิพัฒน์เมธากร เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถานีวิทยุแห่งนี้ เริ่มเมื่อปี 2549 พระอาจารย์เองอยากจัดรายการวิทยุ แต่เมื่อสอบถามสถานีวิทยุชุมชนที่อยู่ใกล้ๆวัดลำไพล ปรากฏว่าจะต้องซื้อเวลา ราคาประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นราคาที่แพงมาก หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาถึงการจดทะเบียนสถานีวิทยุด้วยตัวเอง จนกระทั้งเมื่อปี 2552 ได้ดำเนินการจดทะเบียนก่อตั้งสถานีวิทยุได้สำเร็จ ใช้งบประมาณ 1,300,000 บาท ซึ่งเป็นงบส่วนตัว ซึ่งในช่วงก่อตั้งได้ทำเรื่องของบประมาณสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ซึ่งจำชื่อไม่ได้แล้ว แต่เรื่องก็เงียบหายไปจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติอำเภอเทพา มีผู้ดำเนินรายการ 19 คน มีเครื่องส่งสัญญาณ 1,500 วัตต์ สามารถส่งสัญญาณในรัศมี 50 กิโลเมตร สามารถส่งสัญญาณได้ถึงพื้นที่ ต.ถ้ำทะลุ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
ให้ประชาชนฟังธรรมะโดยไม่ต้องไปวัด
“เป้าหมายในการก่อตั้งสถานีวิทยุคือ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถฟังธรรมะได้โดยไม่จำเป็นต้องไปที่วัด เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านเข้าวัดน้อยมาก เนื่องจากต้องให้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงาน เพื่อให้ชาวบ้านได้รู้ถึงหลักศาสนาพุทธที่ถูกต้อง เพราะคนที่รู้หลักพุทธศาสนาแล้วจะเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่หลงใหลอยู่กับวัตถุนิยมมากเกินไป” พระครูพิพัฒน์เมธากร บอกเล่าในเจตนา
“พระอาจารย์เคยผลิตหนังสือเกี่ยวกับธรรมะแจกชาวบ้าน ปรากฏว่าชาวบ้านอ่านกันน้อย ต่อมาผลิตแผ่นซีดีธรรมะแจกชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็เปิดฟังแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องเล่นซีดี และสุดท้ายใช้วิธีชื้อวิทยุราคาเครื่องละ 350 บาท แจกชาวบ้านที่ต้องการ”
“ตอนนี้แจกวิทยุไปแล้ว 450 เครื่อง เพื่อให้ชาวบ้านเปิดฟังรายการธรรมะของสถานี เพราะคิดว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนคริสต์ พุทธหรืออิสลาม หากอยู่ในกรอบของศาสนาจะทำให้มีความสุขได้ ไม่หลงใหลอยู่กับวัตถุนิยมมากจนเกินไป”
สถานีวิทยุชุมชนอยู่ด้วยประชาชน
พระครูพิพัฒน์เมธากร ยังเล่าอีกว่า สถานีวิทยุแห่งนี้เป็นของประชาชน อยู่ได้ด้วยประชาชนที่ฟังรายการเป็นประจำ แฟนรายการบางคนได้บริจาคเงินค่าไฟแต่ละเดือน เฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาท
“ไม่สามารถบอกจำนวนแฟนรายการได้ เพราะแต่ละครั้งมีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาในรายการไม่ขาดสาย บางครั้งทำให้ผู้ดำเนินรายการไม่มีเวลาพูดคุยด้วยมากนัก นอกจากนี้ พระอาจารย์ได้ไปร่วมงานต่างๆของชาวบ้าน ก็จะมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งบอกว่าฟังรายการสถานีวิทยุของพระอาจารย์เป็นประจำ”
“สถานีวิทยุแห่งนี้ เป็นสถานีวิทยุเพื่อให้บริการประชาชนและไม่แสวงหากำไร จึงไม่มีโฆษณา ขณะเดียวยังเปิดโอกาสคนที่สนใจอยากจัดรายการได้มาจัดรายการได้ โดยไม่ต้องซื้อเวลา”
บอกกล่าวเล่าขาน ความสัมพันธ์พุทธ-มุสลิม
พระครูพิพัฒน์เมธากร เล่าให้ฟังว่า สำหรับรายการของทางสถานี ประกอบด้วย 1.รายการการศึกษา เป็นรายการที่นำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวกับการศึกษา 2.รายการปราชญ์ชาวบ้าน เป็นรายการเกี่ยวกับยาสมุนไพรกับการรักษาสุขภาพ 3.รายการนายต้นน้ำ เป็นรายการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.รายการธรรมะกับชีวิต และ 5.รายการสวดมนต์พระ
นอกจากนี้ยังมีการรายการ “เสียงจากเยาวชน” ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 - 12.00 น. เป็นรายการที่นำเรื่องธรรมะ เกร็ดความรู้และบทความต่างๆ มาเล่าในรายการ โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนชุมชนบ้านนากัน และโรงเรียนบ้านนาม่วง ต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ประมาณ 20 คน สลับหมุนเวียนกันเป็นผู้ดำเนินรายการ
“การให้เด็กๆเหล่านี้มาจัดรายการ เพื่อใช้เวลาว่างในวันหยุดให้เป็นประโยชน์ และเพื่อให้เด็กกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง”
ส่วนรายการของพระอาจารย์เอง คือรายการ “บอกกล่าว เล่าขาน” ทุกคืนวันจันทร์ถึงวันศุกร์เวลา 22.00 – 23.00 น. เป็นรายการที่นำสถานการณ์ปัจจุบันมาบอกเล่าในรายการ พร้อมนำหลักพุทธศาสนาที่ถูกต้องมาเปรียบเทียบ เช่น สถานการณ์การเมืองการปกครองเป็นอย่างไร และเปรียบเทียบกับหลักพระพุทธศาสนาในเรื่องการเมืองการปกครองที่ถูกต้องว่าเป็นอย่างไร เป็นต้น
รายการนี้ ยังเป็นรายการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว ซึ่งมีชาวบ้านโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาจำนวนมาก บางครั้งมีคนมุสลิมโทรศัพท์มาปรึกษาด้วย ในรายการยังกระตุ้นให้คนไทยรักการอ่านหนังสือ เนื่องจากคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8บรรทัด ซึ่งน้อยมาก
“ในรายการยังเล่าเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสมัยก่อนระหว่างคนไทยพุทธกับคนมุสลิมในพื้นที่ เพื่อให้บรรยากาศเหล่านั้นกลับมาอีกครั้ง” พระอาจารย์ ยังให้ข้อมูลอีกว่า ยังมีรายการ “สานใจสู่สันติ” จัดโดยทหารจากหน่วยเฉพาะกิจสงขลา (ฉก.สงขลา) กับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จาก ฉก.ตชด 433 เป็นรายการส่งเสริมการอยู่ร่วมอย่างสันติสุขในความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นรายการหนึ่งที่ส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่
รายการ “วัฒนธรรมสัญจร” เป็นรายการเกี่ยวกับการให้ประชาชนอนุรักษ์วัฒนธรรมของคนไทยไม่ให้สูญหาย จัดรายการโดยเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอเทพา
“การให้หน่วยราชการเหล่านี้มาจัดรายการ เพราะพระอาจารย์มองว่า การบริหารองค์กรจำเป็นต้องให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วม เพื่อให้องค์กรสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว”
ต้องสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ
พระครูพิพัฒน์เมธากร กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางออกของปัญหาในพื้นที่ คือต้องสร้างบรรยากาศของการร่วมกันอย่างเข้าใจระหว่างคนไทยพุทธกับมุสลิม หรือสร้างความสนิทสนมกันให้เหมือนเดิมอีกครั้ง และต้องให้เด็กนักเรียนคนไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ เรียนในโรงเรียนเดียวกันตั้งแต่เด็กๆจนถึงวัยผู้ใหญ่ เพราะสิ่งนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันและสามารถที่จะลดความหวาดระแวงกันได้ดีที่สุด
แง่นี้ ช่องทางการสื่อสารของเครือข่ายคนไทยพุทธในพื้นที่กำลังถูกรื้อฟื้นขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งใน “สนามสันติภาพ” ที่ต้องการผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม.
000000000000000000
บทสัมภาษณ์พิเศษนี้เผยพร่ครั้งแรกที่โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
ติดตามอ่านสัมภาษณ์พิเศษ "เสียงสันติภาพ" เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้ได้ ดังนี้
- 'วิทยุม.อ.ปัตตานี': การทำงานบนเส้นทางสันติภาพ
- "We Voice ตามหาสันติภาพ”: วิทยุเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมบนเส้นทางสื่อเพื่อสันติภาพ
- “จูลี แห่งวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอ” สถานีความรู้คู่ชุมชน
- 'มันโซร์ สาและ': ผู้เปิด "หน้าต่างสังคม" ผ่านสื่อวิทยุภาษามลายู
- ‘แวหะมะ แวกือจิก’: เสียงที่ไม่หลั่งเลือด พื้นที่สันติภาพของ ‘Media Selatan’