หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข …... |
"สม โกไศยกานนท์": ต่อลมหายใจ.......
อัสรา รัฐการัณย์
ภาพประกอบโดย: วิโชติ ไกรเทพ
“ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด 30 ปี เดี๋ยวก็ล้ม เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมา สิ่งที่เราดิ้นรนและพยายามขวนขวายหามามันไม่ใช่ พอสุดท้ายแล้ว เขาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ กว่าเราจะคิดได้ต้องเสียเขาไป ความรู้สึกของเราที่สุดก็คือ ต้องการเขาอยู่เคียงข้างเราเท่านั้นเอง” เป็นคำพูดที่พี่สมระบายให้ฉันฟัง เมื่อเราได้คุยกัน
สม โกไศยกานนท์ เป็นภรรยาของ พ.ต.ต.กร้าว โกไศยกานนท์ สารวัตรสำนักนโยบายและแผนบก.ภ.จว.ยะลา นายตำรวจที่ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 ในห้วงอุณหภูมิความไม่สงบ ณ ชายแดนใต้ขึ้นสูง หลังจากการสลายการชุมชนหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนเป็นเหตุให้เกิดการตายหมู่ 85 ศพ และคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกำลังเดินหน้า ตรวจสอบ เบื้องหลังหาข้อบกพร่อง และผู้รับผิดชอบ แต่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังดุเดือด มีเหตุไล่ฆ่ารายวัน
พี่สมที่ฉันเห็น และรู้จัก เธอเข้มแข็ง มั่นใจ พูดจาเสียงดัง ไม่ยอมใคร รักความยุติธรรม หลังจากสูญเสียสามีเธอช่วยดูแลผู้ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานผู้ได้รับผลกระทบของจังหวัดยะลา และยังเสนอแนะระบบงานเยียวยาให้เดินหน้าอีกหลายเรื่อง เมื่อฉันได้รับมอบหมายให้มาเขียนเรื่องของพี่สม ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตขึ้นอีกมากมาย ชีวิตที่เมื่อล้มแล้ว ต้องลุกขึ้นมาให้ได้
บันทึกข้างล่างนี้คือสิ่งที่พี่สมได้เล่าให้ฉันฟัง
….........................................
วัยเด็กที่ต้องดิ้นรน
“พ่อเป็นคนจีนไหหลำ ลูกๆ เรียกว่า 'เด' ส่วนแม่ เรียกว่า ‘หมะ’ มาจากเวียดนาม เข้ามาสมัยอินโดจีน เดและแม่เป็นลูกจ้างของโรงเตี้ยม เป็นโรงแรมเล็กๆ 2 ชั้น ชั้นล่างขายน้ำชา กาแฟ อยู่ที่กลางเมืองยะลา พอเจ้าของร้านที่มาจากเกาะไหหลำป่วย เสียชีวิต เขาไม่มีลูก เดกับแม่จึงสานกิจการโรงเตี้ยมต่อ” ครอบครัวพี่สม คือคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากที่จังหวัดยะลา เมื่อกว่า 60 ปีก่อน “ปี 2501 ตอนพี่อายุ 4 ขวบ เกิดปัญหาในครอบครัวทำให้เดจำเป็นต้องเซ้งโรงแรมให้ลุง แล้วย้ายไปอยู่ในป่าที่กำปงป๊าว ตำบลบาลอ อำเภอรามัน เป็นสังคมชนบท ชีวิตพลิกผันมาก จากครอบครัวคนร่ำรวยที่เคยอยู่สุขสบายมีเงินใช้จ่าย ครอบครัวอบอุ่น ต้องไปอยู่เป็นเด็กบ้านนอก วิ่งกระเซอะกระเซิง ไปตามทุ่ง” อันเป็นจุดหักเหในชีวิตครั้งแรก
“มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน พี่เป็นคนที่ 5 เรียนโรงเรียนบ้านบาลอ จนจบป.4 เพราะตอนนั้นที่บาลอยังไม่มีชั้นป.5-ป.7 จึงต้องนั่งรถไฟไปเรียนที่โรงเรียนรือเสาะ ไปกลับรถไฟทุกวัน ค่าตั๋วรถไฟเดือนละ 7 บาท 50 สตางค์ สมัยนั้น”
วันที่ 3 เมษายน 2511 พี่สมเรียนจบชั้น ป.7 แม่ที่ป่วยกระซอกกระแซะด้วยวัณโรคปอด เสียชีวิตลง “พอแม่เสีย ในครอบครัวเราคุยกัน 6 คนพี่น้อง ใครจะเป็นคนออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยเดทำงาน” แดงพี่สาวคนโตตอนนั้นจบมัธยมปลาย สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ส่วนพี่น้องคนอื่นๆ อยู่ในระหว่างเรียน มีคนจบป.7 คนหนึ่ง จบมัธยมปลายคนหนึ่ง “พี่จึงเป็นคนเลือกที่จะออกจากโรงเรียน เพื่อช่วยเดทำงาน ถ้าไม่มีใครออกคนหนึ่ง พี่น้องทั้งหมดจะไม่ได้เรียน นั่นคือสิ่งที่ต้องเลือก เราเป็นผู้เลือกเอง” ความเข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งใดเริ่มจากวัยนี้
พี่สมเล่าว่าในวัยเด็กทำทุกอย่างที่ทำได้ ช่วยพ่อค้าขาย วันจันทร์-ศุกร์ขายของที่โรงเรียน วันเสาร์-อาทิตย์ไปยะลาเพื่อซื้อของไปขาย พอช่วงปิดเทอมรับจ้างทุกอย่างที่เขาจ้าง วันละ 5 บาท 10 บาทก็เอา ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้มีเงินส่งพี่น้องเรียน ส่วนพี่น้องก็ทำงานหาเงินช่วงปิดเทอมเหมือนกัน สมัยก่อนเดือนหนึ่งหาเงินได้ 1,000-2,000 บาท ถือว่าเยอะมากแล้ว แถมต้องดูแลในบ้านแทนแม่ที่เสียไป วันหนึ่งๆ ทำกับข้าวเป็นหม้อๆ เลี้ยงทุกชีวิตในบ้าน รับจ้างทำยางแผ่น ไปนั่งม้วนๆ พี่สมชอบมาก แต่ส่วนมากไปเก็บน้ำยางในกะลามากกว่า ถีบจักรยาน เก็บกะลา ใส่เข่ง เดเป็นคนซื้อขี้ยาง ที่เดไปอยู่บาลอ ไปเป็นเถ้าแก่ยาง ความที่ต้องรับจ้างทำงานทุกอย่าง ทำให้ครอบครัวของพี่สมพูดภาษามลายูได้กันทุกคน
ตั้งแต่เด็ก พี่สมหาเงินทุกบาททุกสตางค์เก็บไว้ใช้ เพราะอยากมีอนาคตที่ดี ชีวิตที่ดีขึ้น พอโตก็ไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่ แต่เรียนไม่จบ เพราะไม่มีเวลา ต้องขายของ ไปเรียนตัดเสื้อผ้าก็ไม่ชอบอีก เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่ได้เงินช้า อย่างเดียวที่พี่สมทำได้คือค้าขาย ต่อมาย้ายบ้าน เดซื้อบ้านที่ตลาดในตัวตำบลบาลอ
วัยสาว การสร้างชีวิตใหม่
พออายุ 14 ปี พี่สมมารับจ้างขายกล้วยทอดได้วันละ 10 บาท ขายอยู่หน้าวิกสยาม ตัวเมืองยะลา ขายอยู่หลายปี ทำให้ต่อมาได้รู้จักพี่กร้าว ตอนนั้นพี่กร้าวยังเป็นแค่ครูฝึกสอนตำรวจ ตามจีบอยู่ 3 ปี ปี 2519 จึงแต่งงานกัน “ถึงพี่กร้าวไม่ใช่คนร่ำรวยแต่เป็นคนดี เพราะเราจะทนได้กับคนที่ดี จนไม่เป็นไร เราไปหาเอาข้างหน้าได้”
สำหรับพี่สมแล้ว พี่กร้าวเป็นผู้ชายที่ดี ซึ่งคงหาไม่เจอแล้วในโลกนี้ ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ มีวินัย เรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว มีชีวิตที่เรียบง่าย ช่วยเหลือครอบครัวทุกอย่างตามกำลังที่มี
“ตอนแต่งงาน พี่กร้าวมีเงินเดือน 550 บาท แถมยังต้องส่งน้องเรียน และให้เงินทางบ้าน ส่วนพี่ยังคงทำงานหนัก ช่วงอุ้มท้องลูกคนโต เป็นชีวิตที่ลำเข็ญมาก ไม่มีจะกินด้วย ตอนนั้นพักอยู่ในโรงเรียนพลตำรวจ เริ่มจากหาผัก หาปลา เพราะในรั้วโรงเรียนมีหนองน้ำ มีผักบุ้ง อ้อดิบ กระถิน เก็บมาขายได้หมด เป็นแม่ค้าแบกับดิน” พี่สมยังคงทำงานหนักเพื่อสร้างฐานะ ทำงานและเก็บออม ทำให้ฐานะเริ่มดีขึ้น จนต่อมาสามารถมีเงินทุนซื้อบ้านและซื้อที่ดินได้หลายแปลง
จนกระทั่งปี 2530 พี่กร้าวไปสอบนายร้อยตำรวจได้ ชีวิตเริ่มดีขึ้นอีก พี่สมลงทุนเซ้งร้าน และเปิดร้านค้าขายของ แม้ยังต้องทำงานหนัก แต่ก็มีความสุขกับครอบครัวที่อบอุ่น ทุกคนมีความรับผิดชอบเป็นอย่างดี ลูกชาย 2 คน จิ้นและแจ็ค เป็นเด็กดี ทั้งเรื่องเรียนและงานบ้าน
“ถึงแม้ครอบครัวจะอบอุ่น 10 ปีที่ผ่านมา พี่ได้ลงทุนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ช่วงแรกๆ มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ เมื่อเรามีรายได้มาก ทำให้เรายิ่งลงทุนมากขึ้น พอเจอปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ปี 2540 ทำให้ล้มไม่เป็นท่า” จากเคยมีรายได้เดือนละเป็นแสน กลับต้องมีภาระหนี้สิน ต้องมาใช้หนี้มากกว่ารายได้ที่เคยได้ ชีวิตพี่สมพลิกผันอีกครั้ง
พี่สมเล่าให้ฟังว่า “ครอบครัวเราจึงคุยกันว่าเราต้องกลับไปใช้ชีวิตที่ลำบากกว่าเก่าอีก เพราะก่อนหน้านี้ถึงแม้เราจน แต่เราไม่ได้มีหนี้สิน แต่ตอนนี้เรามีหนี้สินหลายล้าน เราต้องช่วยกันทำงาน ประหยัด เพื่อให้หลุดจากหนี้สินนี้ แต่เราไม่เคยทุกข์กับภาระตรงนั้น วันนั้นเรายังมีความสุขกับครอบครัวที่อยู่ครบ”
พี่กร้าวผู้เป็นที่รักจากไป
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 เป็นวันที่พี่สมรู้สึกมีความสุขที่สุดในชีวิต เพราะลูกชายคนเล็กน้องแจ็คเรียนจบปริญญาตรีด้านบริหาร สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปีครึ่งเท่านั้น น้องแจ็คเดินทางกลับมาถึงบ้านโดยรถไฟเวลาประมาณ 10.00 น. พี่สมกับพี่กร้าวมีความสุขมากที่ได้เจอหน้าลูก
“แต่แล้วเพียงแค่วันเดียว ไม่ถึง 24 ชั่วโมงที่เราเจอลูก เช้าวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 เวลา 7.30 น. ความสุขที่เราได้รับมันเกิดการสูญเสีย ทำให้เราเป็นทุกข์ตลอดชีวิต”
เสียงปีนเพียงแค่นัดเดียว ได้พรากชีวิตของคนที่เรารักมากที่สุด จากไปอย่างไม่มีวันกลับ วันนั้นพี่สมได้ยินเสียงน้องแจ็ค พูดอยู่ประโยคเดียวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “แค่วันเดียวนี้นะ แค่วันเดียวจริงๆ ที่พ่อรอผมอยู่” แล้วพ่อก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ เสียงของลูกดังก้องอยู่ในหูของพี่สม มันทำให้พี่สมเหมือนจะขาดใจตามไปด้วย พี่สมกอดลูก และเอามือจิกหลังลูก เพื่อให้เขารู้สึกตัว แล้วพูดว่า “ลูกไม่มีพ่อแล้ว แต่ลูกยังมีแม่เหลืออยู่” พี่สมพยายามคืนสติน้องแจ็คให้กลับมา แต่พี่สมก็แทบจะเสียสติไปกับลูกด้วย
งานศพพี่กร้าว เป็นงานศพที่มีคนมาเยอะมาก วันที่อาบน้ำศพ คนเต็มไปหมดในวัด วันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 วันพระราชทานเพลิงศพ คนเต็มทั้งข้างนอก และข้างในวัด ตำรวจ ทหาร ชาวบ้านเต็ม “พี่เชื่อว่าคนร้ายเลือกยิง ตั้งใจยิงคนดี คนที่เป็นที่นับหน้าถือตา เพราะคนเหล่านี้จะทำให้เกิดกระแสและส่งผลให้ดูเหมือนสถานการณ์รุนแรงขึ้น ยิ่งเป็นข้าราชการชั้นสูง ก็จะทำให้ผู้บังคับบัญชา ผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ให้ความสนใจกับสถานการณ์มากขึ้น”
ต่อลมหายใจ...ลุกขึ้นมาเป็นผู้ให้
หลังจากเหตุการณ์วันนั้น “พี่โทษตัวเองตลอดเวลาว่า เป็นเพราะเรา เป็นเพราะเรา” การลงโทษตัวเองทำให้พี่สมป่วยและจมปลักอยู่กับความรู้สึกเสียใจ กว่าจะยอมรับความจริงได้ต้องรักษาสุขภาพจิต และร่างกายอยู่เป็นเวลานานร่วมปี “ต้องใช้ยาเยอะมาก รวมทั้งยานอนหลับ ส่วนกิจการร้านค้ายกให้ลูกชายคนโตดูแลไปเลย พี่ไม่อยากขวนขวายอะไรอีกแล้ว”
“เพื่อนๆ และคุณหมอดำรง แวอาลี ซึ่งเป็นหมอจิตเวชจากโรงพยาบาลศูนย์ยะลา มาเยี่ยมหลายครั้งทุกคนให้กำลังใจ หมอดำรงพาไปฟื้นฟูสุขภาพจิต เพื่อนก็แนะนำให้ไปทำงาน” เพื่อนถามว่า “ตัวเองจะอยู่อย่างนี้อีกนานมั๊ย ตัวเองเป็นคนแข็งแรง เป็นคนแข็งแกร่ง เป็นคนเก่ง ทำไมไม่คิด ตัวเองเป็นคนมีความสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อีกเยอะเลย หยุดได้แล้ว ความรู้สึกที่จมปลักอยู่อย่างนั้น” พี่สมลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง เพราะหลายคน หลายหน่วยงานไปเยี่ยมให้กำลังใจ
“หลังจากที่ตั้งสติได้ และยอมรับความจริงก็กลับมาทบทวนว่า น่าจะเอาเวลาและลมหายใจที่ยังมีอยู่มาทำประโยชน์ต่อสังคมไม่ดีกว่าหรือ?” ทำให้พี่สมไปสมัครงาน "โครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วน 4,500บาท" ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดยะลา ณ จุดนั้น ทำให้มีโอกาสพบปะผู้ได้รับผลกระทบมากมาย การที่พี่สมเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ทางการจึงเรียกไปเยียวยาจิตใจ ไปประชุม รวมทั้งให้สะท้อนออกมาว่า จากการที่พี่สมเป็นผู้ได้รับผลกระทบ รู้สึกอย่างไร? “พี่เห็นผู้ได้รับผลกระทบหลายคนถูกเอาเปรียบ จากเรื่องเงินเยียวยา เยียวยาไม่เสมอภาค เยียวยาไม่เท่าเทียม เลือกปฏิบัติ เล่นพวกพ้อง เลือกคนที่มีความสามารถ กล้าพูด กล้าต่อรอง ถ้าเป็นชาวบ้านไม่มีสิทธิที่จะได้ เลือกปฏิบัติทุกหน่วยงาน ช้าบ้าง เอาไปดองไป ทำเอกสารหายบ้าง นั่นคือปีแรกๆ ไม่เป็นระบบ”
พี่สมเห็นว่า ผู้ได้รับผลกระทบบางคนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตอยู่อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างถูกต้อง และครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด โดยเฉพาะคนมุสลิม ซึ่งบางคนเป็นคนที่อ่านเขียนหนังสือไม่ออก พูดภาษาไทยไม่ได้ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาของรัฐได้
พี่สมมีโอกาสเข้าไปดูแลคนเหล่านี้ รวมทั้งคนพิการและเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ ทำให้รู้ว่ามีคนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบซึ่งขาดผู้นำครอบครัว แล้วยังมีฐานะยากจน บางครอบครัวมีลูกหลายคน ก็พยายามหาแหล่งทุนเพื่อให้เขาได้ประกอบอาชีพ และทุนเพื่อการศึกษาของลูก “บางคน แม้จะมีเงินจากโครงการจ้างงาน 4,500 บาท แต่เงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะดำรงชีวิต และดูแลคนในครอบครัวได้”
ปี 2549 พี่สมได้รับคัดเลือกเป็นประธานผู้ได้รับผลกระทบของจังหวัดยะลา ดูแลผู้ได้รับผลกระทบของจังหวัดยะลา รวมไปถึงคนพิการและเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ เยี่ยมเยียน เยียวยา ให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบด้วยกัน เข้าร่วมประชุม สัมมนา กับหน่วยงานรัฐและประชาสังคม เพื่อให้งานเยียวยาเดินหน้า ด้วยความธรรมและทั่วถึง
นอกจากทำงานช่วยเหลือด้านเยียวยาแล้ว พี่สมนำประสบการณ์ด้านการค้าขายที่มีมาอย่างยาวนานมาถ่ายทอด ฝึกอาชีพให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และกลุ่มแม่บ้านตามชุมชนต่างๆ ซึ่งส่วนมากเป็นคนมุสลิม เวลาที่พี่สมเข้าไปสอนในหมู่บ้าน “พี่มีความสุขเพราะชาวบ้านเป็นคนน่ารักและมีน้ำใจ” เพราะพี่สมพูดภาษามลายูได้ตั้งแต่เด็ก เวลาไปสอน ชาวบ้านชอบมาก บางคนที่บ้านมีอะไรก็มาแบ่งปันให้ บางคนที่บ้านปลูกต้นมะเขือต้นหนึ่ง ก็ไปเก็บมะเขือมาให้สัก 2 ลูก บางคนให้น้ำบูดู บางคนให้ทุเรียนกวนกับสะตอดอง “แม้ชาวบ้านไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่เขาอยากตอบแทนที่เราไปฝึกอาชีพให้แก่เขา เล็กๆ น้อยๆ ที่เขาสามารถให้ได้ เป็นความสุขที่ปลอบประโลมใจพี่ทุกวันนี้”
พี่สมเข้าพื้นที่และกลับมาด้วยความประทับใจทุกครั้ง และยังคงอยากทำตรงนี้ต่อ “เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการโอกาสในการฝึกอาชีพ เป็นการฝึกอาชีพแบบง่ายๆ ที่เขาสามารถนำไปประกอบอาชีพได้เลย” บางคนนำไปเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากการตัดยาง อย่างเช่น ทำขนมดอกจอก ถั่วแผ่น ขนมหัวเราะ โดนัทฟักทอง โดนัทเค้ก ขนมขาไก่ โรตีกรอบ ครองแครง อาหารจานเดียวก็สอนได้ ทั้งข้าวคลุกกะปิ ข้าวมันไก่ ข้าวหมกไก่ แล้วแต่เขาต้องการเรียนอะไร พี่สมสามารถสอนได้เพราะเป็นประสบการณ์ที่เคยทำมาก่อน “พี่อยากถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีอยู่ ให้กับคนรุ่นหลังให้มากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องอาชีพอย่างเดียว รวมเรื่องการบริหารจัดการ การค้าขาย การตลาด ก็สามารถถ่ายทอดได้เช่นกัน อยากให้โอกาสกับทุกคนที่มีความสนใจและอยากเรียนรู้จากประสบการณ์อันยาวนาน”
“เราไม่สามารถเลือกที่จะเกิดได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะเป็น และเป็นคนดีได้ มันอยู่ที่ตัวเรา ชีวิตของเราเกิดมา สิ่งเดียวที่จะทำให้เรามีความสุขได้ คือเราต้องยอมรับความจริง พี่สมสอนลูก และบอกเพื่อนๆ เสมอว่า เมื่อยอมรับความจริงได้ กำลังใจ สติเราที่ยังไม่มั่นคงก็จะกลับมา ทำให้เรามีจิตใจที่สามารถต่อสู้และฟันฝ่าอุปสรรคข้างหน้าได้ เมื่อก่อนเรายังมีความรู้สึกว่าเราอยากได้มากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงความสุขจริงๆ คือ เราอยู่อย่างไม่เดือดร้อน ไม่เบียดเบียนเพื่อน นั่นทำให้เรามีความสุขแล้ว”
การใช้การสื่อสารทั้งสองภาษาไทย-มลายูเข้ามาช่วยเหลือผู้อื่น “การสื่อสารให้อีกคนหนึ่งเข้าใจเป็นการสร้างสันติภาพอย่างหนึ่ง ยามที่เขาทุกข์ยาก เราก็ทุกข์ยากสาหัสด้วยกัน วันหนึ่งวันใดเพื่อนเราสาหัส เราสามารถไปเยียวยาเพื่อนกันได้ ไปสร้างอาชีพให้เขา” นั่นก็เป็นเรื่องการสร้างสันติภาพในมุมมองของพี่สม
ปี 2555 พี่สมถูกเชิญเป็นคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน ข้อเสนอสำคัญที่ได้ผลักดันคือ เมื่อก่อนชาวบ้านเสียชีวิตได้หนึ่งแสนบาท ข้าราชการเสียชีวิตได้ห้าแสนบาท ค่าชีวิตที่ไม่เท่ากัน จึงเป็นที่มาของการที่รัฐยอมจ่ายให้ทุกคนเป็นห้าแสนบาทเท่ากัน
แม้จะวิพากษ์โครงสร้างงานเยียวยาที่ไม่ได้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้เกิดความเป็นธรรมอย่างถึงพริกถึงขิงทุกเวทีที่ถูกรับเชิญ พี่สมก็ยังยืนหยัดกับงานด้านนี้ ตราบใดที่ความรุนแรงยังไม่สงบ “ระยะหลังพี่ให้ความสนใจเรื่องคนพิการ คนกลุ่มนี้เดือดร้อนจริงๆ เพราะศักยภาพทางกายภาพและครอบครัวเขายากจนไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ ถ้าเราไม่เข้าไปหาเขาในพื้นที่ ไม่มีวันที่เขาจะได้รับการช่วยเหลือ”
หากการเยียวยาสร้างความเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค และลดเงื่อนไขความรุนแรงได้ พี่สมเป็นอีกมือหนึ่งที่กำลังถักทอสันติภาพในภาพย่อย เพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่
“สันติและยุติธรรม”
0000000000000000000000
พลังส่งกลับจากเธอ | สู่ฉัน
ฉันชื่อ.....อัสรา รัฐการัณย์
ฉันชอบประโยคของคุณแจง - 'ฐิตินบ โกมลนิมิ' ที่บอกว่า “เรื่องเล่าของเพื่อนเป็นพื้นที่การเรียนรู้” ฉันจึงไม่ได้เรียนรู้เพียงแค่คนต้นเรื่อง 2 คนในฐานะพี่เลี้ยงต้องดูแล แต่อีก 10 กว่าเรื่องที่ได้อ่านและพูดคุยกันระหว่างเขียนต้นฉบับ ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้ได้มากมาย หลายคำให้การ หลายเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ แม้ได้คุยและรู้จักพวกเธอมาเป็นเวลาหลายปี บางคนตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ๆ ปี 2547
วันเวลาผ่านไป ทำให้เธอเหล่านี้เข้มแข็งขึ้น สามารถก้าวข้ามความเจ็บปวด ความทุกข์ยากลำบาก โดยที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ แล้วลุกขึ้นมาทำงานช่วยเหลือเยียวยาตนเอง สังคม และผู้สูญเสียรายใหม่ๆ หลายคนสามารถทำงานเป็นนักสื่อสาร บอกเล่าพูดคุยเรื่องราวของตัวเองและชุมชน ผ่านรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ และวันนี้เสียงเหล่านี้ก็ได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษร กลั่นกรองมาจากหัวใจของผู้หญิงที่เป็นแม่ เป็นภรรยา และเป็นลูกสาว
ฉันเชื่อเหลือเกินว่า เมื่อผู้อ่านได้อ่านมาถึงหน้านี้แล้ว คุณจะได้ทั้งกำลังใจ แรงบันดาลใจ พลังใจ เป็นยาบำรุงในการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และสามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคที่คุณกำลังเจออยู่ได้ เหมือนกับฉันที่ได้รับ และมองเห็นถึงพลัง พลังแห่งความอดทน พลังแห่งการให้อภัย และพลังที่จะต้องก้าวเดินต่อไป เพื่ออนาคตของลูกๆ ลูกที่พระเจ้าส่งมาเป็นของขวัญให้เราต้องดูแล และโอบอุ้มให้เขาประสบความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ฉันมีโอกาสได้เขียนเรื่องของพี่สม โกไศยกานนท์และช่วยเป็นพี่เลี้ยงตรวจทานเรื่องของสีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ สีตีนอร์หญิงวัยกลางคน อายุ 40 ปีเราสองคนอายุไล่เลี่ยกันห่างกันไม่ถึงเดือน ฉันรู้จักสีตีนอร์มา 5 ปีแล้ว ยิ้มหวานๆ คำพูดน้อยคำ แต่ด้วยท่าทีที่นุ่มนวลเสมอของเธอ สร้างความประทับใจทุกครั้งที่ได้เจอ ฉันดีใจที่สีตีนอร์สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของเธอออกมาเป็นตัวอักษรให้ผู้คนได้รับรู้ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งกับลูกๆ อีก 5 คนกำลังเผชิญอะไร ทั้งที่สามีของเธอยังมีชีวิตอยู่ในฐานะ “นักโทษทางการเมือง” มีศาลมีคำพิพากษาลงโทษให้ถึงตาย ฉันเห็นแววตาและความจริงจังของเธอกับความตั้งใจเขียนคำให้การนี้มาก แม้บางคำเธอจะสะกดไม่ค่อยถูกต้อง ฉันจึงเหมือนเป็นครูสอนภาษาไทยให้เธอด้วย
วันแรกที่เราอบรมการเขียนเรื่องเล่า คุณแจงให้ความรู้และพูดถึงพลังของเรื่องเล่าว่าสำคัญอย่างไร ต่อมาให้แต่ละคนที่เป็นคนต้นเรื่องได้คิดและเขียน ฉันช่วยแนะนำสีตีนอร์จนเธอเขียนไปได้ 2 หน้ากระดาษ ก็ขอตัวไปละหมาดประมาณครึ่งชั่วโมง พอกลับเข้ามาเธอสามารถเขียนเรื่องราวของเธอได้อีก 2 หน้ากระดาษ แม้จะผ่านการอบรมมาเพียงแค่ครึ่งวันเท่านั้น ฉันดีใจมาก เพราะสีตีนอร์เป็นคนที่พูดคุยไม่เก่งนัก วันนี้ตัวอักษรของเธอ จะช่วยทำให้ผู้คนได้รู้จักตัวตนของเธอและรู้จักครอบครัวเธอมากขึ้น
ขณะที่พี่สมเป็นคนเสียงดัง แต่เธอมักจะมีคำแนะนำดีๆ มาถ่ายทอดและเล่าให้ฟังเสมอ การได้ช่วยทำหนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันได้รู้จักพี่สมมากขึ้น ได้เรียนรู้ความเข้มแข็งของพี่สม ชีวิตที่พลิกผันตั้งแต่เล็กจนโต จนถึงวัยที่เป็นคุณย่า พี่สมผ่านอะไรมากมาย แล้วเธอก็ลุกขึ้นได้ทุกครั้ง
คุณผู้อ่านที่รัก หากวันนี้เรายังคงถามหาสันติภาพ พลังจาก 30 กว่าชีวิต ที่ร่วมกันทำหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ และแรงผลักให้ทุกท่าน ลุกขึ้นพูด ส่งเสียง สื่อสาร หรือช่วยกันออกแบบว่าสันติภาพแบบไหนที่เราต้องการ ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะเราต่างอยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นที่ชายแดนใต้
0000000000000000
ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942 หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี
ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา
- 'มาริสา สมาแห': อยู่กับวิถีที่แปรผัน...
- 'อรอุมา ธานี': สิ่งที่เหลืออยู่
- 'นิเด๊าะ อิแตแล': พลังผู้หญิงสร้าง “ชุมชนสันติสุข”
- 'อารีดา สาเม๊าะ': ฉันคือเลือดของพ่อ
- 'คำนึง ชำนาญกิจ': แม่ผู้ตามหาความเป็นธรรม
- 'ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ': มีน้ำตา...ก็หัวเราะได้
- 'ดวงสุดา สร้างอำไพ: ชีวิตหลังปลดแอก
- 'แยน๊ะ สะละแม': ความเป็นธรรมต้องสู้ถึงจะได้มา
- 'ปัทมา หีมมิหน๊ะ': “ด้วยใจ”.... ภรรยาอดีตผู้ต้องหาความมั่นคง