ก่อนจะมาเป็นสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตันมีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปีพ.ศ 2546 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น (INN) ได้เข้าร่วมทุนกับสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานี เพื่อเปิดรายการร่วมด้วยช่วยกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเช่าเวลาของสถานีวิทยุ ม.อ. ปัตตานี ออกอากาศวันละ 2 ชั่วโมง
ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ 2547 หลังเกิดเหตุไม่สงบแล้ว สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นเห็นว่าสื่อจะนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ได้จึงขยายให้ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาจึงย้ายไปเช่าเวลาของสถานีวิทยุทหาร 3 สถานี โดยมีสถานีวิทยุ กวส7 ยะลาเป็นแม่ข่าย เชื่อมสัญญานไปยังสถานีวิทยุกองทัพภาพ 4 ที่จังหวัดปัตตานีและ กวส.6 ที่จังหวัดนราธิวาส
ภารกิจหลักๆ ของรายการคือลดความหวาดระแวงของคนในพื้นที่ ขจัดความยากจน และลดช่องว่างทางความรู้ที่จะเป็นอุปสรรคต่อพัฒนา
ตอนนั้นได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดีและเป็นรายการวิทยุแห่งแรกในพื้นที่ที่มีการสื่อสาร 2 ทาง คือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถโทรศัพท์แสดงความคิดเห็นผ่านทางรายการได้แทนที่จะให้ผู้ดำเนินรายการพูดอยู่คนเดียว
ขณะนั้นมีประชาชนสมัครเป็นสมาชิกของรายการ ประมาณ 4,000 คน จุดเด่นของวิทยุร่วมด้วยช่วยกันในตอนนั้นคือการทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งถึงประสานภาคธุรกิจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย แต่น่าเสียดายเมื่อปี 2552 อุดมการณ์ของสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นเปลี่ยนไปเน้นหากำไรมากขึ้น ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์ในพื้นที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ รายการนี้จึงยุบไป
จากนั้น จึงเรียกแกนนำสมาชิกประมาณ 350 คน มาประชุมกันที่จังหวัดยะลา เพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นในการยุบรายการ แต่ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ต้องการให้มีรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันต่อไป จึงกลายเป็นภาระหนัก ประกอบกับวิทยุชุมชนเกิดขึ้นมาพอดี ทำให้เรามีทางออก จึงตั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันและเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน” โดยตั้งสถานีวิทยุชุมชนครั้งแรกที่จังหวัดยะลา
แต่วิทยุชุมชนไม่ครอบคลุมพื้นที่ ทำให้คนในจังหวัดปัตตานีบางส่วนไม่สามารถรับฟังได้ จึงแก้ปัญหาโดยเชื่อมสัญญาณกับสถานีวิทยุกองทัพภาค 4 ที่ปัตตานี แต่ไม่สามารถเชื่อมสัญญาณกับสถานีวิทยุ กวส .6 นราธิวาสได้จึงเช่าสัญญาณวิทยุชุมชนในจังหวัดนราธิวาส ทำให้สามารถดำเนินการได้ระดับหนึ่ง
ต่อมา ปี พ.ศ.2553 ได้ย้ายสถานีแม่ข่ายมาตั้งที่ปัตตานีแล้วเชื่อมสัญญาณไปที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส โดยมีสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตันเป็นแม่ข่ายคลื่น ความถี่ 91.50 MHz
การทำงานของมีเดียสลาตันต้องประคับประคองมาตลอดเนื่องจากมีงบประมาณไม่มาก แต่ทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์ทำให้สามารถอยู่ได้
ต่อมาปี พ.ศ.2555 ด้วยความประสงค์ของพระเจ้ามีทุนจากต่างประเทศมาสนับสนุนมีเดียสลาตันในภารกิจ 2 หลัก คือ หลักธรรมาภิบาลและส่งเสริมประชาธิปไตยพร้อมกับการมีการส่วนร่วมของประชาชน ทำให้มีเดียสลาตันมีสีสันมากขึ้น กลายเป็นสื่อวิทยุที่สำคัญในพื้นที่
หมายเหตุ: ดูรายละเอียดของวิทยุมีเดียสลาตันได้ที่ rdselatan.com