หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข |
'นฤมล สาและ': คลื่นชีวิต
นฤมล สาและ
ภาพประกอบโดย: วิโชติ ไกรเทพ
ชีวิตของฉันดุจดั่งคลื่นกระทบฝั่ง คลื่นแห่งชีวิตได้พัดพาชีวิตเด็กสาวคนหนึ่งจากเมืองบางกอก ดินแดนศิวิไลซ์ ให้ต้องกระทบเข้าสู่ฝั่งของชุมชนชายทะเลแห่งหนึ่ง “ชุมชนบูดี” ตำบลแหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ฉันไม่เคยคิดว่าต้องมาอาศัยอยู่ในดินแดนที่ห่างไกลเหลือเกิน ดินแดนที่มีแต่ความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นภาษา การแต่งกาย วิถีชีวิต หรือแม้แต่ความสะดวกสบายทุกอย่าง
ฉันทิ้งอนาคตอันสดใสของตนเองด้วยวัยเพียง 18 ปี มาสร้างชีวิต สร้างครอบครัว สร้างชุมชน และสร้างสังคมที่นี่ วันนี้ ฉันอายุย่างเข้า 50 ปีแล้ว ครึ่งค่อนชีวิตของฉันผูกพันและเห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนชายทะเลและทรัพยากรธรรมชาติ
จำได้ไม่เคยลืมเลือน เมื่อปี พ.ศ.2523 ฉันทิ้งชีวิตในกรุงเทพมหานคร ด้วยรถไฟจากสถานีหัวลำโพง ถึงสถานีปลายทางจังหวัดยะลา แล้วต่อรถขนส่งจากจังหวัดยะลาถึงจังหวัดปัตตานี มาลงที่ศูนย์การค้าไดอาน่า ขณะนั้นเป็นเพียงศูนย์การค้าแห่งเดียวของจังหวัดปัตตานี ยังไม่ทันที่จะหายเหนื่อย ก็ต้องนั่งรถสองแถวต่อเพื่อเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านที่ฉันจะต้องใช้ชีวิตครอบครัวกับผู้ชายคนหนึ่งที่ฉันเลือก ว่าจะมอบอนาคตทั้งหมดไว้ในมือเขา
การเดินทางช่างยาวไกลเหลือเกิน จากตัวเมืองปัตตานีไปถึงหมู่บ้านบูดี ระยะทาง 38 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาในการเดินทางมากถึง 3ชั่วโมง ตลอดทางที่รถวิ่งผ่านได้มีคนขึ้นลงตลอดทาง เหมือนคนขึ้นรถเมล์ที่กรุงเทพมหานคร แต่ที่แตกต่างกันก็คือ ผู้โดยสารที่นี่แต่ละคนจะขนของที่ตนซื้อมาเพื่อนำไปค้าขายในชุมชนนั้นๆ ทำให้ต้องใช้เวลาในการขนของขึ้นลง ผู้โดยสารที่ซื้อของมากก็จะเสียเวลามาก ส่วนผู้โดยสารที่ซื้อของน้อยก็จะเสียเวลาน้อย มองตามถนนหนทางที่ผ่านตลอดทาง มีต้นไม้เขียวขจี บรรยากาศอบอวลไปด้วยกลิ่นดอกไม้หอมตามถนน จนถึงอำเภอยะหริ่ง ซึ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีวังเก่าที่สวยงาม และเคยมีเจ้าเมืองปกครองในอดีต
จากอำเภอยะหริ่ง ใช้เวลาเดินทางอีก 6 กิโลเมตร จึงถึงหาดตะโละกาโปร์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลตะโละกาโปร์ในปัจจุบัน ระหว่างทางที่รถแล่นต้องผ่านถนนลูกรังที่เป็นหลุมเป็นบ่อเป็นระยะ และเต็มไปด้วยฝุ่นตลบตลอดทาง แต่ทว่าข้างทาง สายตากลับสดชื่นไปด้วยสายน้ำที่เป็นสีฟ้า เขียว ได้ยินเสียงคลื่นจากทะเลที่กระทบฝั่งอย่างมีความสุข
ระหว่างทาง...ฉันตั้งคำถามในใจขึ้นหลายอย่าง จนเมื่อรถวิ่งเข้าหมู่บ้านดาโต๊ะ ผ่านหมู่บ้านตะโละสมีแล ผ่านหมู่บ้านปาตาบูดี และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่หมู่บ้านกำปงบูดี แล้วรถก็ได้จอดที่หน้ามัสยิดหมู่บ้านบูดี เพื่อมาลงปลายทางที่นี่ “หมู่บ้านบูดี” ทันทีที่ฉันลงจากรถ ฉันเห็นคนให้กล่าวให้สลาม “อัสลามูอัยลัยกุม” และเห็นอีกคนกล่าวตอบสลามว่า “วาอาลัยกุมมูสสลาม” และเขาก็จับมือกัน และบางคนก็สวมกอดกัน “แบบวิถีชีวิตมุสลิม” ที่ผิดแปลกจากฉันที่เคยนับถือศาสนาพุทธ ตั้งแต่เด็ก จะไปโรงเรียนก็ยกมือไหว้ พ่อแม่ ครูอาจารย์ และคนที่เคารพหรือผู้ใหญ่ ฯลฯ แต่ตอนนี้ฉันต้องให้สลามและต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามเหมือนกับคนที่นี่
ฉันต้องเริ่มเรียนรู้ในวิถีศาสนา วัฒนธรรม และบริบทชุมชน ที่ไม่เคยเรียนรู้เลย แล้วคำถามมากมายก็เกิดขึ้นมาอีกครั้ง ทำไมเขาถึงพูดคนละภาษากับฉัน ทำไมเขาถึงแต่งตัวแตกต่างไปจากฉัน ทำไม ทำไม และทำไมพวกเขาถึงมีความแตกต่างจากชีวิตฉันเหลือเกิน แตกต่างกันราวกับว่าฉันกำลังเดินทางอยู่ต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทย แล้วคำถามสำคัญก็ตามฉันมาทันที “ฉันจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้จริงๆ หรือ?” “ฉันทิ้งครอบครัว ทิ้งการเรียน และทิ้งอนาคตเพื่อมาอยู่ที่นี่จริง ๆ หรือ?”
ระยะเริ่มต้นของการใช้ชีวิตที่นี่ ฉันต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง ไม่ได้ห่างไกลแค่ระยะยทางแต่ห่างไกลจากส่งอำนายความสะดวกทั้งปวง ไม่มีไฟฟ้าและไม่มีแม้แต่น้ำประปา ชาวบ้านที่นี่ใช้น้ำบ่อที่ขุดขึ้นมาเอง ใช้ทั้งดื่ม อาบน้ำ ซักผ้า ฯลฯ ด้วยความเคยชิน ซึ่งฉันก็พยายามเรียนรู้เพื่อการมีชีวิตที่ดีของครอบครัว
ระหว่างที่ฉันเริ่มปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนบ้าน พี่น้องในชุมชนที่นี่ ก็เริ่มสังเกตเห็นสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ล้อมรอบไปด้วยทะเลสีคราม เห็นชายหาดที่ปูลาดไปด้วยหาดทรายสวย สีขาวสะอาดตา สามารถนั่งเล่น นอนเล่นได้ โดยไม่ต้องมีเสื่อปู เห็นป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นปูดำ ปลาตีน หอยขาว แมงดาทะเล แมงกะพรุน อีแร้ง อีกา นกอินทรีย์ ฯลฯ รวมถึงในป่าที่มีทั้งเสือ กวาง ลิง รวมทั้งทรัพยากรทางทะเล ที่มากมายไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น เต่าทะเล ปลาทู ปลาจาระเม็ดตัวใหญ่ ฯลฯ
นอกจากนั้น ยังมีการปลูกแตงโม มะม่วงหิมพานธ์ ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อของชุมชนแห่งนี้ และสิ่งที่สร้างความแปลกใจก็คือการที่ได้รับรู้จากคนเก่าคนแก่ในชุมชนว่าชุมชนชายหาดแห่งนี้ ในอดีตเคยมีการทำนาปลูกข้าว รวมทั้งมีพ่อค้าที่มาค้าขายจากประเทศจีนมาขึ้นฝั่งที่นี่ด้วย
ระยะแรกของการใช้ชีวิตที่นี่ ฉันจำเป็นต้องเรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน เกิดความผูกพันกับความเป็นไปของธรรมชาติแห่งท้องทะเลโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และประสบการณ์ก็สอนให้ฉันมีชีวิตอยู่อย่างชาวประมงที่นี่ได้อย่างกลมกลืนมากขึ้น
ฉันต้องตื่นนอนแต่หัวรุ่งเพื่อละหมาดซุบฮี ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งของการละหมาด 5 เวลา ในหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม จากนั้นก็จะเตรียมอาหาร ที่หุงข้าว และทำกับข้าวด้วยไม้ฟืน ให้สามีเพื่อออกทะเล หากวันใดไม่มีกับข้าว หรือขี้เกียจหุงข้าวก็จะซื้อข้าวยำ สมัยนั้นข้าวยำราคาห่อละ 1 บาท ฉันต้องเรียนรู้ชนิดของสัตว์ต่างๆ เมื่อสามีกลับจากทะเล ต้องไปช่วยเขาแกะกุ้ง หอย ปูปลา และเรียนรู้วิธีการคัดแยกประเภท ตลอดจนเรียนรู้วิธีการทูนกะลามังที่บรรจุปลาบนศรีษะ และเรียนรู้การร้อยปลา และเนื้อปู แกะเนื้อหอยขาว การหาสาหร่ายผมนาง เพื่อนำไปขายต่อ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เคยได้เรียนรู้ และคงไม่มีโรงเรียนที่ไหนสอนได้
อยู่หลายปีเข้า ฉันเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตที่นี่ มีความสนิทสนมกับชาวบ้านในชุมชนมากขึ้น คนที่นี่มีความสัมพันธ์กันแบบครอบครัวใหญ่หรือครอบครัวขยาย จะมีความเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาก หากถึงช่วงฤดูฝน อากาศหนาวเย็น ชาวบ้านจะร่วมกันก่อไฟ เพื่อผิงให้ความอบอุ่นกับร่างกาย การได้พูดคุยถึงทุกข์สุขของแต่คนและเพื่อนบ้าน ทำให้รู้ว่าในชุมชนมีใครเดือดร้อนหรือเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง การเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด ทำให้ภายในชุมชนไม่มีปัญหาสังคมหรือปัญหายาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่นให้พบเห็นได้เลย
หลายสิบปีผ่านไป ครอบครัวของฉันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 6 คน ลูกๆ ของฉันกำลังเติบโตขึ้นท่ามกลางชุมชนที่ห่างไกลจากความเจริญหลายอย่าง โดยเฉพาะเวลาที่ลูกเจ็บป่วย ไม่สบายแต่ละครั้ง หัวใจคนเป็นแม่อย่างฉันแทบจะทำใจไม่ได้ เมื่อไม่สามารถหายาหรือหาหมอมารักษาให้ลูกๆ ของฉันได้ ในความรู้สึกของผู้เป็นแม่อย่างฉันจึงเริ่มที่จะมองหาอนาคตที่ดีสำหรับลูกๆ ต่อไปในอนาคต และสิ่งที่จะทำให้ลูกๆ ของฉันมีอนาคตที่ดีได้ดีที่สุดก็คือการศึกษา เพราะสมัยนั้นปี พ.ศ.2528 ภายในชุมชนมีเพียงโรงเรียนระดับประถมศึกษา แต่ลูกฉันกำลังจะเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึง 2 คน
ฉันจึงต้องเริ่มหาโรงเรียนนอกชุมชน เพื่อให้ลูก ๆ ได้ศึกษาต่อ เพราะครั้งหนึ่งฉันเคยทิ้งมาอย่างน่าเสียดาย ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ มองเห็นความสำคัญเรื่องการศึกษาน้อยกว่าการได้ออกเรือหาปลาเสียอีก อันเนื่องจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในสมัยนั้น ฉันจึงพยายามทุกทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูก ๆ ทุกคนได้เรียนหนังสือ
จนเมื่อลูกทุกคนของฉันจบการศึกษาระดับประถมศึกษา ฉันจึงให้ออกไปเรียนที่โรงเรียนประจำ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มีการเรียนการสอนวิชาศาสนาควบคู่กับวิชาสามัญ เรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษปีที่ 1-6และในช่วงวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือช่วงปิดภาคเรียน ลูกก็จะกลับบ้านมาช่วยสามีของฉันออกทะเล เพื่อเก็บสาหร่ายผมนางมาตากแดดให้แห้ง และเก็บสะสมไว้ในกระสอบทุกครั้ง โดยแต่ละครั้งจะเก็บได้ประมาณ 2-3 กระสอบ จนเมื่อถึงช่วงเปิดภาคเรียน ลูกๆ ก็จะนำสาหร่ายผมนางที่เก็บไว้ไปขายเพื่อนำมาเป็นค่าเทอมจนจบการศึกษา
และสุดท้ายลูกๆ ก็สร้างความภาคภูมิใจให้ฉัน ทุกคนสามารถเรียนจนจบปริญญาตรี ทำงานรับราชการเป็นครู เป็นวิศวกร และประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง สามารถสร้างอนาคตและสร้างความหวังให้กับตัวเองได้ทุกคน ไม่มีใครทำให้ฉันผิดหวังเลยแม้แต่คนเดียว จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในปัจจุบันมากขึ้น
…...........................
เวลาผ่านไปอีกหลายปี ฉันซึมซับวิถีชีวิตของชุมชนที่นี่มากขึ้นทุกวัน ทุกวัน แต่ชีวิตฉันและชุมชนแห่งนี้ก็ไม่ต่างไปจากคลื่นทะเล ที่มีขึ้นมีลง
วิถีชีวิตของชุมชนที่นี่เริ่มเปลี่ยนไป ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่มีแต่ความเรียบง่ายของชุมชนแห่งนี้ ไม่อาจจะต้านทานระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ถาโถมซัดเข้ามาหาพื้นที่แห่งนี้ได้ นายทุนจากภายนอกเข้ามากว้านซื้อพื้นที่ ป่าชายแเลน ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นที่สำหรับกุ้งหอยปูวางไข่ในฤดูวางไข่ กลายเป็นนากุ้งสำหรับเลี้ยงกุ้งมากขึ้น และขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง จนแทบไม่เหลือป่าชายเลนสำหรับให้กุ้งหอยปูปลาได้วางไข่
นอกจากนั้น นายทุนยังได้รับสัมปทานการเลี้ยงหอยแครงแล้วมาจ้างชาวบ้านอีกทอดหนึ่ง แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวบ้านที่คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เก็บหอยแครงให้ได้มากๆ โดยการใช้เหล็กคราดในการเก็บหอยแครง สร้างความเสียหายแก่ป่าชายเลนในเวลาต่อมา การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเลของชุมชนตลอดมา
ผลจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในตัวเมืองปัตตานี มีการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานลงสู่ทะเลและอ่าวปัตตานีมากขึ้น รวมทั้งการหาปลาโดยใช้อวนรุน อวนลาก ล้วนเป็นสาเหตุทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลรอบอ่าวปัตตานีเริ่มเปลี่ยนไป สัตว์ทะเลเริ่มลดลง เช่น ปลากะเบนนก ปลาฉลาม ปลาดุกทะเล เต่าทะเล ปูม้า ปลาทุ หอยขาว อีแร้ง อีกา สาหร่ายผมนาง แมงดาทะเล ฯลฯ เริ่มหายไปจากทะเล บางอย่างก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เช่น เต่าทะเล หอยขาว
เมื่อสัตว์ทะเลเริ่มลดลงเรื่อยๆ ชาวบ้านในหลายชุมชนรอบชายฝั่งทะเล รวมทั้งชุมชนที่ฉันอาศัยอยู่แห่งนี้ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้อีกต่อไป เนื่องจากได้ไม่คุ้มกับค่าน้ำมันเรือ ทำให้ชาวบ้านแถบชายฝั่งทะเลหลายชุมชนก็เริ่มทยอยออกหางานทำนอกพื้นที่มากขึ้น บ้างก็ไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรมในตัวเมือง บ้างก็อพยพครอบครัวไปรับจ้างร้านอาหารที่ประเทศมาเลเซีย และจะกลับบ้านนานๆ ครั้ง ผู้ชายที่ไปทำงานมาเลเซียก็ถูกจับตาว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการหรือเปล่า มีอยู่กรณีหนึ่งไปมาเลเซีย 4-5ปีก็ยังไม่ได้กลับ เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมก่อการร้าย ทำให้ผู้หญิงต้องแบกภาระครอบครัวทั้งหมด ทั้งลูกและการศึกษา ปล่อยให้ชุมชนแห่งนี้ เงียบเหงา ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บางครอบครัวเหลือเพียงคนแก่และเด็กๆ จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว และปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติดซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญของชุมชนชายฝั่งทะเลที่มีมากไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไป
ปัจจุบัน การแย่งชิงทรัพยากรในอ่าวปัตตานียังคงเรื้อรังและไม่ได้รับความสนใจ เพราะทุกฝ่ายต่างพุ่งเป้าไปใจจอจ่อที่เหตุการณ์ความไม่สงบ ขณะที่ผู้ชายในชุมชนเองไม่กล้าเคลื่อนไหวหรือแสดงตนเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดการปัญหาชุมชน เพราะเกรงจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ภาระการรับผิดชอบครอบครัวจึงตกแก่ผู้หญิงในพื้นที่ในชุมชน ต้องออกมามีบทบาทมากขึ้น ทำงานนอกบ้านมากขึ้น แตกต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว พวกเธออยู่แต่กับบ้านเลี้ยงลูก หุงอาหาร ตัดยาง ปลูกผัก กว่าจะได้ออกนอกบ้าน ได้แต่งตัวสวยๆ ได้ต่างหน้าทาปากด้วยลิปสติกสีต่างๆ แต่ละครั้ง ก็ต่อเมื่อไปกินเลี้ยงงานแต่งงานของเพื่อนบ้าน หรือเรียกว่ามาแกปูโละ
ผู้หญิงในชุมชนส่วนใหญ่ไปทำงานโรงงานปลาแช่แข็ง เช้าขึ้นมาก็มีรถสองแถวมารับออกไปพร้อมๆ กันและกลับมาอีกครั้งพร้อมกันตอนเย็นๆ ชุมชนเจริญขึ้นมากก็จริง มีไฟฟ้าใช้ การคมนาคม ถนนหนทางลาดยางมะตอย มีเทคโนโลยีทันสมัย มีจานดาวเทียม มีคอมพิวเตอร์ มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาอยู่ในชุมชน สามารถรับข่าวสารได้ทันท่วงที แต่ความเรียบง่ายของอดีต ความเป็นเอกลักษณ์ วิถีชุมชน ทรัพยากรต่างๆ ของชุมชนสูญหายไปโดยไม่สามารถเรียกให้กลับคืนดังเก่าได้อีกแล้ว
ตอนนี้ฉันเป็นอาสาสมัครด้านต่าง ๆ ของชุมชนชายทะเลแห่งนี้ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทำหน้าที่ในด้านการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขของชาวบ้านในชุมชน เป็นอาสาสมัครท่องเที่ยว อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ คนพิการ ในชุมชน ฯลฯ ทุกวันนี้ฉันมีภารกิจมากมาย แต่ทุกหน้าที่ความรับผิดชอบล้วนเป็นสิ่งที่ฉันภูมิใจทำเพื่อชุมชนชายทะเลแห่งนี้ ฉันเพียงหวังว่าสิ่งที่ฉันทุ่มเททำ จะส่งผลทำให้พื้นที่แห่งนี่ มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ฉันจะทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำด้วยความเต็มใจ โดยไม่เคยคิดหวังสิ่งใดตอบแทน
วิถีชีวิตและความสุขสงบของชุมชน ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนไป ตอนนี้บ้านของฉัน ลูกหลานของฉัน และครอบครัวของฉันอยู่ที่นี่ ฉันต้องอยู่เพื่อคอยบอกเล่าให้ผู้คนของที่นี่ได้รู้ว่า ที่นี่เคยมีความภาคภูมิของท้องถิ่นอย่างไร ที่นี่เคยมีความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชุมชนอย่างไร และที่สำคัญที่นี่เคยสร้างชีวิต สร้างครอบครัว และสร้างสังคมแห่งชุมชนชายทะเลอย่างไร เพื่อว่าวันหนึ่ง สิ่งเหล่าจะกลายเป็นกระจกสะท้อนให้คนที่นี่ได้ถามหาอดีตที่ขาดหายของตัวเองกลับคืนมาด้วยตัวของเขาเอง เหมือนดั่งตัวฉัน ที่อยากเห็นภาพความสวยงามเหล่านั้น กลับคืนสู่ชุมชนของฉันอีกครั้ง.
00000000000000000000000
ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942 หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี
ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา
- 'สีตีนอร์ เจ๊ะเล๊าะ': ฉันเป็นพยานให้สามี
- 'สม โกไศยกานนท์': ต่อลมหายใจ
- 'มาริสา สมาแห': อยู่กับวิถีที่แปรผัน...
- 'อรอุมา ธานี': สิ่งที่เหลืออยู่
- 'นิเด๊าะ อิแตแล': พลังผู้หญิงสร้าง “ชุมชนสันติสุข”
- 'อารีดา สาเม๊าะ': ฉันคือเลือดของพ่อ
- 'คำนึง ชำนาญกิจ': แม่ผู้ตามหาความเป็นธรรม
- 'ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ': มีน้ำตา...ก็หัวเราะได้
- 'ดวงสุดา สร้างอำไพ: ชีวิตหลังปลดแอก
- 'แยน๊ะ สะละแม': ความเป็นธรรมต้องสู้ถึงจะได้มา
- 'ปัทมา หีมมิหน๊ะ': “ด้วยใจ”.... ภรรยาอดีตผู้ต้องหาความมั่นคง