Skip to main content
สุชาติ เศรษฐมาลินี
สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ
มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เดิมมีชื่อว่า “การสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม” ซึ่งได้นำเสนอต่อโครงการปริทรรศน์องค์ความรู้สันติวิธีจากสายธารภูมิปัญญาตะวันออก สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เนื่องจากต้นฉบับนั้นมีขนาดยาว การเผยแพร่ในที่นี้จึงตัดแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ตอน เรียงตามหัวข้อที่จัดเรียงไว้ในต้นฉบับเดิมและจะทยอยนำเสนอตามวาระจากนี้เป็นต้นไป
 
โลกเราปัจจุบันกำลังดำเนินไปในทิศทางที่แปลกๆ ท่านจะเห็นโลกที่เต็มไปด้วยการทำลายล้างและใช้ความรุนแรง และความสามารถพิเศษของความรุนแรงก็คือ การสร้างความเกลียดกลัวระหว่างผู้คน ฉันคือผู้ที่มีความเชื่อในสันติวิธีและขอพูดว่าสันติภาพและความสงบสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้ในหมู่มวลมนุษย์บนโลกนี้จนกว่าสันติวิธีจะได้รับการปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะว่าสันติวิธีคือ ความรักและช่วยกระตุ้นความกล้าหาญให้กับผู้คน...
 
และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดใจสำหรับชาวมุสลิมหรือชาวปาทานอย่างฉันในการเชื่อมั่นต่อวิถีแห่งสันติวิธีซึ่งมันไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด หากเป็นการเดินตามรอยท่านศาสดามายาวนานกว่าพันสี่ร้อยปี และผู้คนที่ต้องการโค่นล้มผู้กดขี่ต่างดำเนินตามรอยนี้ เพียงแต่เราลืมมันไปจนกระทั่งท่านคานธีได้นำมาใช้อีก เราจึงคิดว่าท่านเป็นผู้เริ่มต้นแนวทางสันติวิธี
 
Abdul Ghaffar Khan อ้างใน Easwaran (2002)
 
กรอบคิดเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในอิสลาม[1]
 
            บทความนี้พยายามมุ่งทบทวนแนวคิดทฤษฎี ตลอดจนคำสอนเชิงคุณค่าของศาสนาอิสลาม เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม Mohammed Abu-Nimer[2] (2003; 2008) ได้สังเคราะห์งานเขียนเกี่ยวกับความรุนแรง สันติวิธีและการสร้างสันติภาพในทัศนะอิสลามไว้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ โดยทำการศึกษาจากนักวิชาการทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม และได้สรุปเป็นกรอบคิดทฤษฎีเกี่ยวกับหลักการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในมุมมองของศาสนาอิสลาม[3] ดังนั้น บทความนี้จึงแบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
 
แนวทางการศึกษาสันติวิธี การสร้างสันติภาพ และการจัดการความขัดแย้งในวิถีอิสลาม
 
            ก่อนที่จะนำเสนอหลักการพื้นฐานของอิสลามที่เชื่อมโยงกับการจัดการความขัดแย้งและแนวทางสันติวิธี  จำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะและนิยามความหมายของการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในทัศนะอิสลาม รวมทั้งสมมติฐานที่อธิบายโดยนักวิชาการและนักปฏิบัติการสันติวิธีทั้งหลาย คือ 
 
ประการแรก ต้องเข้าใจอย่างชัดเจนถึงศักยภาพของศาสนาอิสลามว่าอุดมด้วยเมล็ดพันธุ์มากมายในการจัดการความขัดแย้งทางสังคมและทางการเมืองได้อย่างสันติ ในคัมภีร์และคำสอนของศาสนาตลอดจนจริยวัตรของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ในยุคต้นของอิสลามเป็นแหล่งบรรจุคุณค่า ความเชื่อ และยุทธวิธีมากมายในการสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิถีทางตามแนวสันติวิธี และมีอิทธิพลทางอุดมการณ์ความคิดเป็นแบบอย่างให้มุสลิมได้ยึดถือดำเนินต่อมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ดังมีตัวอย่างการสร้างสันติภาพและใช้สันติวิธีในวิถีอิสลามจนเป็นที่ประจักษ์ชัดมากมายในหลายๆ สังคม       
 
ประการที่สอง การทำความเข้าใจการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม นักวิชาการและนักปฏิบัติการสันติภาพมุสลิมจำเป็นต้องทบทวนและประเมินความเข้าใจอิสลามในท่ามกลางบริบทของความหลากหลายในช่วงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องตระหนักว่าในคำสอนของอิสลามนั้นมีการตีความอย่างแตกต่างหลากหลายในหมู่นักวิชาการมุสลิมตามแต่ละประเทศ วัฒนธรรมและสำนักคิด 
 
            ดังนั้น ความรู้และการตีความไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงความเข้าใจของกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ซึ่งไม่ได้สลักสำคัญแต่ประการใด หากการตีความและแบบแผนทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและสันติวิธีเหล่านั้นย่อมมีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเข้าถึงความหมายของอิสลามอย่างแท้จริง  
 
ประการที่สาม มีมุสลิมจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม รวมทั้งการเข้าถึงความหมายที่เกี่ยวโยงกับการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งโดยสันติวิธีผ่านคุณค่าคำสอนเกี่ยวกับสันติภาพ นักวิจัยส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่สนใจประเด็นอิสลามกับความขัดแย้งไม่เพียงแต่เป็นพวกนักบูรพคดีศึกษา หรือแม้แต่นักวิชาการมุสลิมเองก็พุ่งเป้าการศึกษาไปที่ การทำสงคราม การใช้ความรุนแรง อำนาจ และระบบการเมืองหรือกฎหมาย มุมมองเหล่านี้ ทำให้แนวการศึกษาอิสลามออกมาในด้านลบ โดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการจากโลกตะวันตก  
 
ประการที่สี่ ถึงแม้ว่าอิสลามมีคำสอนและการปฏิบัติอันหลากหลายเกี่ยวกับความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ แต่คำสอนที่ถูกนำไปใช้จริงนั้นย่อมขึ้นกับความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้ง เช่น เป็นความขัดแย้งในระดับใด ระดับบุคคล ครอบครัว หรือชุมชน เป็นความขัดแย้งระหว่างมุสลิมด้วยกันหรือกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม เป็นต้น  
 
            อย่างไรก็ตาม คำสอนอิสลามได้เป็นแหล่งคุณค่าของการสร้างสันติภาพและหากได้มีการประยุกต์ให้เป็นไปอย่างมีระบบและต่อเนื่องแล้วย่อมสามารถช่วยจัดการความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพในแทบทุกรูปแบบและทุกระดับ ดังเช่น คุณค่าเกี่ยวกับความยุติธรรม (adl) คุณธรรมความดีงาม (ihsan), และการใช้วิทยปัญญา (hikmah) ล้วนเป็นคุณค่าสากลที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกรอบคิดและยุทธวิธีในการสร้างสันติภาพ
 
            การขยายการตระหนักรู้และข้อสมมุติฐานทั้ง 4 ประการข้างต้นในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลามสามารถช่วยนักวิจัยที่สนใจทั้งผู้เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมในการเพิ่มพูนความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดและการปฏิบัติของสันติวิธี การสร้างสันติภาพ กับประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาอิสลาม นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือ การตระหนักดังกล่าวจะสามารถช่วยลดภาพลบของสังคมมุสลิมและศาสนาอิสลามทั้งในแวดวงสาธารณะโดยทั่วไปตลอดจนในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยขจัดการเหมารวมเกี่ยวกับวิธีคิด ความเชื่อ และชีวิตความเป็นอยู่ตามวิถีอิสลาม
 
และประการสุดท้าย การคำนึงถึงข้อสมมุติฐานเหล่านี้ จะช่วยให้นักวิจัยก้าวพ้นการสรุปอย่างลวกๆ ในการตีความในคำสอนของอิสลามในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน และจากแบบอย่างคำสอนและการปฏิบัติของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) หรือ อัสซุนนะฮ์ โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทแวดล้อมทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง ตลอดจนแรงกดดันทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนทั้งผู้เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม
 
 
(กรุณาติดตามตอนต่อไป)  
 
เอกสารอ้างอิง
 
มัสลัน มาหามะ (แปล).  2549. สันติภาพและสงครามระหว่างบทบัญญัติในอัลกุรอานและคัมภีร์โตราห์. กรุงเทพฯ: สำนักพิพม์อัล-อีหม่าน.
 
สุชาติ เศรษฐมาลินี. 2551. ความรุนแรง สันติภาพและความหลากหลายในโลกอิสลาม. กรุงเทพฯ : สยาม
 
อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา. 2547. อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ.  ปัตตานี: มัจลิสอิลมีย์.
 
Abu-Nimer, Mohammed. 2008. A Framework for Nonviolence and Peacebuilding in Islam.
Muis Occasional Papers Series Paper No. 6. Singapore: Islamic Religious Council of Singapore.
 
                               . 2003. Nonviolence and Peacebuilding in Islam: Theory and Practice. Florida: University Press of Florida. 
 
Cetin, muhammed. 2009. The Gulen Movement: Civic Service Without Borders. New York: Blue Dome Press.       
 
Easwaran, Eknath. 2002.  Nonviolent Soldier of Islam: Badsha Khan, A Man to Math His Mountains. California: Nilgiri Press.
 
Esposito, John and Ihsan Yilmaz. 2010.  Islam and Peacebuilding: Gulen movement Initiatives. New York: Blue Dome Press.    
 
Huda, Qamar-Ul. 2010. Crescent and Dove: Peace and Conflict Resolution in Islam. Washington, D.C.: United states Institute of Peace.
 
Khan, M. Ahsan. 2011. The Vision and Impact of Fethullah Gulen: A New Paradigm for Social Activism. New York: Blue Dome Press.    
 
Pal, Amitabh. 2011. Islam Means Peace: Understanding the Muslim Principle of Nonviolence Today. California: Praeger. 
 
Satha-Anand, Chaiwat. 1993. “The nonviolence Crescent: Eight Theses on Muslim Nonviolent Actions.” In G. Paige; C. Satha-Anand and S. Gilliatt. Islam and Nonviolence. Honolulu: Center for Global Nonviolence Planning Project.     
 
 


[1] ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และบรมครูทางด้านความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง ได้แนะนำผู้เขียนว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานในหัวข้อนี้คือ การแปลงานของ Mohammed Abu-Nimer ซึ่งได้ทบทวนงานเขียนเกี่ยวกับแนวคิด “อิสลามกับสันติวิธี” ได้อย่างเป็นระบบและสมบูรณ์ งานชิ้นนี้จึงเป็นการแปลและเรียบเรียงจากงานของ Abu-Nimer เป็นหลักและได้อ้างอิงงานอื่นๆ สอดแทรกเข้าไปบ้างเพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาในประเด็นนี้ต่อไป
 
[2]เป็นศาสตราจารย์ประจำโครงการการแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพนานาชาติ และเป็นผู้อำนวยการสถาบันการสร้างสันติภาพและการพัฒนา ที่ American University ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขความขัดแย้งและการเสวนาระหว่างศาสนาในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ปาเลสไตน์ อิสราเอล อิยิปต์ ไอร์แลนด์เหนือ ศรีลังกา และมิดาเนาในฟิลิปินส์ เป็นต้น ท่านได้เขียนหนังสือ  Nonviolence and Peace Building in Islam: Theory and Practice (2003); Dialogue, Conflict Resolution, and Change: Arab-Jewish Encounters in Israel (1999) เป็นบรรณาธิการร่วมหนังสือ Unity In Diversity: Interfaith Dialogue in the Middle East (2007) และเป็นบรรณาธิการก่อตั้งวารสาร Journal of Peacebuilding and Development
 
[3] นอกเหนือจากงานของ Abu-Nimer ในการทบทวนอิสลามกับสันติวิธีแล้ว ยังมีงานสำคัญใหม่ๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านการศึกษาอิสลามกับสันติวิธีที่ได้ขยายขอบเขตไปอย่างกว้างขวางได้แก่งานของ Huda (2010); Pal (2011)