Skip to main content

ใครเคยจินตนาการถึงอนาคตเด็กที่เติบโตท่ามกลางความรุนแรงจากไฟใต้ในช่วง 10 ปีนี้หรือไม่ ถ้าไม่เคย เรื่องเล่าของ 'รอซีดะ ดาโอ๊ะ' จะทำให้เราเรียนรู้จากอดีตได้ ผลจากการประท้วงที่มัสยิดกลางปัตตานี เมื่อปี 2518 ทำให้วัยเด็กเธอต้อง 'จากเป็น' กับพ่อซึ่งเป็นผู้นำศาสนาที่ยอมละทิ้งครอบครัว บ้าน ปอเนาะ และไปมีชีวิตรอดที่มาเลเซีย และต้องมา 'จากตาย' กับสามีอีกครั้ง ในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 มาตรการเยียวยาแบบใดจึงจะเป็นธรรมสำหรับครอบครัวเธอ เธอบอกว่า “ความเป็นธรรมยังเดินทางมาไม่ถึงพวกเรา”

 

หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข

'รอซีดะ ดาโอ๊ะ': แผ่นดินนี้...เพื่อเธอ

รอซีดะ  ดาโอะ
รอฮานี จือนารา
ภาพประกอบ: วิโชติ ไกรเทพ 

 


          ย้อนอดีตเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ครั้งพ่อของฉันยังอยู่ที่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว พ่อของฉันเป็นบาบอ ที่เขาเรียกในภาษาไทยว่า โต๊ะครูสอนศาสนาอิสลาม พ่อจะสอนกีตาบประจำอยู่ที่ ปอเนาะอัลฮิสลามียะห์ บ้านดาลัมกือราวัต ตำบลคลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ฉันยังจำภาพในช่วงนั้นได้ดีว่า พ่อจะสอนกีตาบบนบาลา หรือศาลาละหมาด และมีลูกศิษย์จำนวนมากมายมาเรียนกับพ่อ ทั้งระดับเยาวชน อายุวัยกลางคนจนถึงวัยชรา มีทั้งไปกลับ และอยู่ประจำ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกศิษย์ก็เป็นชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง สิ่งที่พ่อฉันสอนนอกจากหลักศรัทธา หลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม พ่อก็ยังสอนเรื่องชะตากรรมของความเป็นอยู่ของชาวมลายูปัตตานีในขณะนั้นด้วยว่า

          “คนมลายูปัตตานีเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ เรามีกฎหมายเฉพาะ (กฎหมายอิสลาม) ของเราเอง แต่เราไม่สามารถนำมาใช้ได้”

          ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงหน้าศาลากลางปัตตานีเมื่อปี พ.ศ. 2518 ปี ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวฉันก็ต้องเปลี่ยนไป!

          ตอนนั้นฉันอายุประมาณ 7 ขวบ เจ้าหน้าที่มาเยี่ยมพ่อบ่อยๆ มาเยี่ยมไม่ใช่ความสัมพันธ์ไมตรีอันดี หรอก แต่การมาเยี่ยมก็เพื่อจะมากระชากพ่อใส่ในกรงที่เขาเตรียมไว้ต่างหาก เหตุนี้พ่อต้องหนีออกจากบ้าน หนีจากความโหดร้ายของเจ้าหน้าที่ และต้องทิ้งปอเนาะให้ร้าง ทิ้งลูกๆ ให้กำพร้า ทิ้งภรรยาให้ทำงานเลี้ยงลูกตามลำพัง ทั้งๆ ที่พ่อยังไม่เสียชีวิต ยังมีเรี่ยวแรงและมีพลังอันแรงกล้าที่จะเลี้ยงลูก และส่งเสียลูกๆ ให้เรียนหนังสือให้จบชั้นสูงๆ  

         พ่อมีลูกกับแม่ของฉัน 5 คน ฉันเป็นลูกคนที่ 2 ส่วนน้องสุดท้องในขณะนั้นยังเล็กอยู่มากๆ ประมาณ 5 เดือนได้ ก่อนที่พ่อจะก้าวลงจากบ้าน พ่อเดินมาจูบลูกๆ ทั้ง 5 คน และอุ้มลูกคนสุดท้องพลางพูดเบาๆ ว่า “อยู่กันดีๆ นะ อย่าทะเลาะกัน พ่อจะไปทำงาน”

          หลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้เกือบ 40 ปีแล้ว พ่อไม่ได้กลับบ้านอีกเลย พ่อทิ้งปอเนาะ และครอบครัว ทำให้แม่ของฉันลำบากมากๆ แม่ต้องตระเวนออกหางานทำ แม่ไม่ได้เกี่ยงว่างานนั้นเป็นงานประเภทไหนขอแค่งานนั้นเป็นงานที่สุจริต แม่พูดเสมอว่า “แม่จะทำงานทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินส่งเสียลูกๆ เรียนหนังสือ” 

          อย่างไรก็ตาม ฉันก็มีโอกาสไปเยี่ยมพ่อในป่ากับแม่ ฉันจะไปเก็บยางวงที่เขาทิ้งบริเวณที่พ่ออยู่จำนวนมาก เพราะในแต่ละวันจะมีชาวบ้านนำอาหารไปให้พ่อและเพื่อนของพ่อประมาณ 20 คน อาหารในแต่ละวันก็กินไม่หมด 

          ด้วยใจที่รักแม่และเป็นห่วงแม่ เมื่อใดที่แม่กลับมาเหนื่อยๆ และนอนหลับสนิทแล้ว ฉันจะเอามือไปแตะที่อกของแม่สังเกตดูว่าหัวใจของแม่ยังเต้นอีกหรือเปล่า สิ่งที่ฉันกลัวที่สุดตอนนั้นก็คือ กลัวว่าแม่ต้องจากฉันไปอีกคน!

          ตอนที่แม่ส่งฉันเรียนชั้นอนุบาล อายุของฉันเข้า 8 ปีแล้ว ฉันตัวใหญ่ที่สุดในห้อง เพื่อนยังล้อว่า ทำไมเพิ่งเข้าโรงเรียน เพราะคนที่อายุคราวเดียวกันก็กำลังเรียนอยู่ชั้น ป. 1 หมดแล้ว ฉันเก็บคำพูดของเพื่อนมาเล่าให้แม่ฟัง แม่บอกว่า “แม่จะส่งตามกำหนดไม่ได้ เพราะลูกยังไม่มีสำเนาแจ้งวันเกิด แม่ต้องเดินเรื่องทำสำเนา จึงทำให้เสียเวลาและเรียนช้ากว่าเพื่อน”  แต่โชคดีที่ฉันเรียนใช้ได้ ทำให้เพื่อนๆ รัก และร่วมเล่นกับฉัน

          ในช่วงที่เรียนชั้นประถมแม่เริ่มสุขภาพไม่ค่อยดี บางวันแม่ทำงานไม่ไหว ทำให้พี่น้องของฉันต้องไปเรียนโดยไม่ได้พกเงิน แต่แม่จะห่อข้าวใส่กระเป๋าเพื่อเป็นอาหารกลางวัน ฉันจำได้ว่า ตลอด 7 ปีที่เรียนในโรงเรียนประถมไม่เคยพกเงินเกิน 5 บาท 

          ครั้งหนึ่งคุณครูพูดชวนคิดว่า “เอ๊ะ! ทำไมคนอื่นๆ สามารถเรียนหนังสือชั้นสูงๆ แล้วจบออกมาเป็นครูได้ เขาเอาเงินที่ไหนมาเรียน” ฉันจึงเก็บข้อสงสัยนี้ไปถามแม่ แม่กลับตอบเชิงการเมืองว่า

          “พวกเขาเหล่านั้น คือคนสยาม เขาปกครองประเทศเรา เขาก็มีเงินเยอะสิ ส่วนเราเป็นคนมลายูถูกเขาปกครอง ถูกเขากดขี่ ทำงานไปก็แค่นั้น หากเราเรียนสูงเกิน เราก็คงต้องเป็นคนรับใช้เขาอีก” ซึ่งคำตอบนั้นฉันไม่เข้าใจเลย ก็เงียบไม่รู้จะตอบว่ายังไง

          เมื่อจบ ป. 6 ฉันอยากเรียนต่อ ม.1 แต่แม่กลับบอกว่า “ไม่ต้องเรียนก็ได้สายสามัญ เรียนสายอาหรับอย่างเดียวก็พอแล้ว เพราะแม่ไม่มีเงิน” แต่ด้วยความมุ่งมั่นฉันคิดว่าต้องหาเงินด้วยตัวเอง ช่วงนั้นมีชาวบ้านรับจ้างห่อขนม จึงรับจ้างได้รายได้วันละ ประมาณ 20-30 บาท พอเป็นค่าขนม

          ช่วงที่กำลังเรียนชั้น ม.1 –ม.3 ฉันเรียนที่โรงเรียนประสานวิทยา บ้านพงสตา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี รู้สึกสนุกมาก แต่สงสารแม่มาก เพราะแม่ต้องกู้ยืมเงินของชาวบ้านมาส่งเสียลูกๆ เรียน ฉันเห็นแม่หน้าตาอิดโรย แต่แม่ไม่เคยบ่น เพราะลึกๆ แล้ว แม่อยากให้ลูกมีการศึกษา เมื่อจบม.3 ฉันก็อยากเรียนต่อม.4 ฉันได้บอกกับแม่ว่าอยากเรียนต่อ เมื่อพูดจบฉันเห็นน้ำใส ๆ จากดวงตาของแม่รินไหลลงมาอาบแก้มพลางพยักหน้าตอบรับ ฉันจึงไปสมัครเรียนที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา ตอนอยู่ ม.4 – ม.6  ค่าใช้จ่ายยิ่งมาก บางวันฉันต้องถือศีลอด เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร แต่มีพอจ่ายค่ารถเท่านั้น จำได้ว่าตอนนั้นค่ารถไป-กลับ 4 บาท เสื้อผ้าชุดนักเรียนไม่ต้องพูดถึงเพราะช่วงที่เรียนที่ยะลาภายใน 4 ปี ฉันมีชุดนักเรียนเพียง 2 ชุดเท่านั้น

           เมื่อฉันเรียนจบม.6 แล้ว ก็คิดว่าคงไม่ต้องต่อสายสามัญแล้ว แต่เลือกเรียนต่อสายศาสนาอย่างเดียวจนจบอยู่ชั้น 3 ซานาวี หรือชั้น 10 ช่วงปีสุดท้ายฉันไปฝึกสอนหนังสือที่โรงเรียนตาดีกา เพื่อประเมินว่าเราได้ความรู้มาเท่าไหร่ ช่วงนั้นต้องซื้อของจิปาถะ แม่ต้องกู้เขาอีก น่าเห็นใจแม่มากแต่แม่เก็บความรู้สึกนั้นได้ แม่ไปกู้เพื่อนมา 1,000 บาท แต่เพื่อนของแม่บอกว่ายกให้เลยเพื่อลูกของเธอ

           หลังจากจบชั้น 3 ซานาวี ฉันไม่ชอบอยู่เฉยๆ จึงไปเรียนกีตาบกับพ่อที่มาเลเซีย (ซึ่งแต่เดิมพ่อจะอยู่ที่บ้านไม่ได้เลยอพยพไปอยู่มาเลเซีย และได้เปิดปอเนาะที่มาเลเซีย) ในจำนวนลูกศิษย์ที่พ่อรักมีอยู่คนหนึ่ง พ่อจึงยกฉันให้เขา เขาคนนั้นคือ นายสการียา ยูโซะ ที่ไปเสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 

           เดิมทีเขารียนอยู่ตามปอเนาะดั้งเดิมในจังหวัดปัตตานี แต่พอได้ข่าวว่าบาบอ พ่อของฉันที่หายตัวไปจากปัตตานี และไปได้วาสนาบารมี มีผู้คนยกย่อง นับหน้าถือตา ได้เปิดปอเนาะที่ประเทศมาเลเซียเขาจึงตามพ่อฉันเพื่อไปเรียนต่อ

           พอทำพิธีแต่งงานเสร็จเรียบร้อยฉันกับสามีก็กลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง ความเป็นอยู่ที่มาเลเซียถึงแม้จะปลอดภัยอยู่อย่างเป็นสุขแต่สู้อยู่ที่บ้านเราไม่ได้  เราทั้งสองไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเป็นค้ำประกัน แต่ที่เราทั้งสองมีคือวิชาความรู้

            พอถึงบ้านเราก็สร้างกระต๊อบเล็กๆ ไว้ซุกหัวนอน และต่อมาก็มีเด็กๆ มาเรียนอัลกุรอาน และเรียนกีตาบไปด้วย ซึ่งชีวิตช่วงนั้นก็ลำบากเหมือนกัน เราไม่มีงานที่เป็นหลักเป็นแหล่ง เราต้องยึดอาชีพเป็นเกษตรกรไปชั่วคราว ต้องออกไปทำนา ปลูกมัน ปลูกข้าวตามประสาชาวบ้าน แต่เราไม่ลืมที่จะเอาหนังสือเรียนมาอ่านเสมอโดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับสังคม ต่อมาสามีได้ไปสอนหนังสือในโรงเรียนใกล้บ้าน

           ชีวิตครอบครัวของเราอยู่กันอย่างมีความสุข มีลูกด้วยกัน 5 คน ผู้ชายสองคน และผู้หญิงสามคน ส่วนสามีนั้นเมื่อว่างจากการสอนเขาจะไปทำสวน ทำนา หรือบางทีอาจจะรับจ้างงานทั่วไป เช่น ถางหญ้า เพาะชำต้นกล้า หาปลาตามหนองบึง คือพูดได้ว่างานไหนที่เขาชอบ เขาก็จะทำทุกอย่างโดยไม่ได้เลือกว่างานนั้นเป็นงานที่หนักหรือเป็นงานที่เบา แต่ขออย่างเดียวว่างานเหล่านั้นเป็นงานที่ไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม

           การเป็นอุสตาซสมัยนั้นเงินเดือนไม่แน่นอน บางเดือนถ้างบประมาณของโรงเรียนไม่มีเขาก็ไม่จ่ายให้ บางเดือนถ้างบประมาณมีน้อยทางโรงเรียนก็จะจ่ายแค่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่แน่นอนนัก แต่ด้วยใจรักการสอน รักในความเป็นผู้ให้ ถึงเงินเดือนจะได้หรือไม่ได้ เขาก็จะทำหน้าที่เป็นผู้สอนโดยไม่ได้บ่น ไม่ได้ย่อท้อ เพราเขาคิดว่า นั่นคือหน้าที่ของผู้รู้ที่จะต้องกระจายความรู้ที่นับวันสังคมไม่ค่อยเอาใจใส่ในเรื่องของศาสนา

          เพราะฉะนั้นรายได้หลักของครอบครัวตอนนั้นไม่ได้อยู่ที่เงินเดือนของการเป็นอุสตาซ แต่เราจะมีรายได้จากงานเสริมที่เราเจียดเวลาจากงานหลัก แม้เรามีรายได้ที่น้อยนิด แต่เรารู้จักพอในการจับจ่ายใช้สอย ไม่สุรุ่ยสุร่าย เลือกซื้อของที่จำเป็นมากที่สุด ของที่ไม่จำเป็นเราเลือกซื้อทีหลัง

          ฉันยังจำได้ว่าช่วงหลังมีชาวบ้านมาขอร้องให้สามีสอนอัลกุรอานและกีตาบในเวลากลางคืน สามีก็รับปากและจะสอนทุกคืนยกเว้นคืนวันศุกร์เท่านั้น สามีจะทุ่มเทชีวิตกับการสอน การอ่านมาก กลางวันจะสอนในโรงเรียน กลางคืนจะสอนกีตาบและอัลกุรอาน และจะสอนพิเศษวิชา นาฮู ซอราฟ (ไวยากรณ์ภาษาอาหรับ) ทำให้เขาไม่มีเวลาจะทำงานอย่างอื่น งานไร่ งานนาก็ต้องหยุดและต้องเพิ่มเวลาในการค้นคว้า หาหนังสืออ้างอิง เปิดพจนานุกรมอาหรับมลายู  หรือบางทีต้องไปถามผู้รู้เพิ่มเติม

          ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น เราอยู่อย่างง่ายๆ เราไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง สามีเคยบอกกับฉันว่า “วิชาความรู้ที่เราร่ำเรียนมานี่แหละ เป็นทรัพย์สินอันล้ำค่า ไม่มีใครสามารถมาปล้น มาขโมยจากเราได้ ที่สำคัญวิชาความรู้เหล่านี้เราก็สามารถแปรเป็นทรัพย์สินเงินทองได้”

          ในปี พ.ศ. 2546 ฉันคลอดลูกคนสุดท้องที่โรงพยาบาลปัตตานี นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันคลอดลูกที่โรงพยาบาล ส่วนลูกคนอื่นๆ จะคลอดที่บ้านกับหมอตำแย ฉันจะเลือกคลอดที่บ้านมากกว่า เพราะที่บ้านคนทำคลอดจะเป็นผู้หญิง และจะนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกับเราในยามที่เราเจ็บปวด เขาสามารถมาบีบนวด และให้กำลังใจในแนวทางของอิสลาม คือจะพูดเสมอๆ ว่า อดทนไว้ อย่าลืมคิดถึงอัลลอฮ อัลลอฮมีองค์เดียว จงยึดมั่นในความเชื่อต่ออัลลอฮ เขาจะยิ้มตลอดเวลาเพื่อให้เรามีกำลังใจในการคลอด และรอต้อนรับโลกใหม่ของลูกน้อย พอลูกเกิดเขาจะอ่านดุอาอ์ให้ฟังทันที

          สาเหตุที่ฉันไปคลอดที่โรงพยาบาลในครั้งนี้ เพราะฉันคลอดที่บ้านไม่ไหว ตอนที่เจ็บท้องใหม่ ๆ รู้สึกเพลียมาก อาจจะเป็นเพราะว่าเรามีอายุมากขึ้นและเป็นลูกคนที่ 5 ก็เลยตัดสินใจไปคลอดที่โรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลฉันและสามีได้รู้จักกับเจ้าของร้านทองฟิตรีปาลัส เราได้พูดคุยกันและได้ถามทุกข์สุขของกันและกัน จนเราสนิทสนมและไปมาหาสู่กันตลอด

         ครั้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 วันที่สะเทือนขวัญ สะเทือนใจของคนมลายูปัตตานี และสะเทือนใจของคนทั่วโลกก็ว่าได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชีวิตอันบริสุทธิ์ของคนที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐไทยที่พวกเขาถูกปกครองมาเป็นเวลาอันยาวนาน ต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมืออำมหิตของผู้ที่มีอำนาจในประเทศ หนึ่งในนั้นคือ สามีสุดที่รักของฉันร่วมอยู่ด้วย 

          เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธสงครามหนักถล่มในมัสยิดกรือเซะ เขาทำไปอย่างโหดร้ายทารุณเขาไม่ยึดหลักมนุษยธรรม เขาใช้อาวุธภาคพื้นดินและภาคอากาศ ซึ่งงบประมาณในการฆ่าคนบริสุทธิ์ในครั้งนั้นนับไม่ถ้วน เขาไม่คิดหรอกว่างบประมาณในการฆ่าคนที่กำลังหาความยุติธรรมนั้นมันจะนำพาซึ่งความหายนะของบ้านเมืองอย่างไม่รู้จบ

          สามีของฉันได้ออกจากบ้านไปเมื่อคืนวันพุธ  เขาบอกกับฉันขณะกำลังให้นมลูกคนสุดท้องอายุประมาณหนึ่งขวบว่าจะไปละหมาดมัฆริบที่มัสยิดใกล้บ้าน คืนนั้นทั้งคืนฉันเฝ้ารอการกลับมาของเขาและงีบหลับไป ตื่นขึ้นมาจะละหมาดซุบฮ.เขาก็ยังไม่กลับมาอีก

          เวลาประมาณแปดโมงเช้าของวันใหม่ วันพุธที่ 28 เมษายน 2547 มีข่าวออกมาทางช่องต่างๆ ของทีวีเมืองไทยว่ามีผู้ก่อการร้ายซุ่มตัวอยู่ในมัสยิดกรือเซะ เขาใช้มัสยิดเป็นเกราะกำบังซึ่งข่าวที่นักข่าวอ่านนั้นจะใส่ร้ายคนที่อยู่ในมัสยิดตลอด จะหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย บ้างก็บอกว่าเป็นโจรใต้ หรือเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งข่าวที่ออกมามันเฉือนหัวใจฉันมาก ซึ่งตอนนั้นฉันยังไม่รู้เลยว่า สามีของฉันร่วมอยู่ด้วย เพราะคิดว่าเขายังนอนอยู่ที่มัสยิดที่เขาไปละหมาดมัฆริบตั้งแต่หัวค่ำ

          ขณะที่กำลังฟังข่าวนั้น ฉันนึกสงสัยว่าแล้วใครบ้างละที่เป็นโจร หรือว่าสามีของฉันร่วมอยู่ด้วย ทำไมสามีของฉันยังไม่กลับ หรือว่าเขาใช่ไหมที่ถูกตีตราว่าเป็นโจรใต้ ฉันสับสนมากเลยต้องปิดทีวี นั่งอยู่เงียบๆ เห็นเสื้อผ้าของเขายังแขวนอยู่ที่ราวตากผ้า เห็นหนังสือตำรับตำรา ปากกาดินสอยังวางอยู่บนโต๊ะ เห็นรองเท้าที่เป็นคู่เดินทางยังวางอยู่บนชั้นบันได ลูกๆ เริ่มงอแง หิวข้าวร้องไห้ตามประสาเด็ก ฉันเข้าครัว หุงข้าว เจียวไข่เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ยกให้ลูกๆ กิน ส่วนฉันเองกินไม่ลง นอนกอดลูกคนเล็กใจคิดต่าง ๆ  นานา

          และแล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อผู้ใหญ่บ้านมาบอกว่า ช่วยหาบัตรประชาชนของสามีหน่อย เพราะเขาจะพาไปที่อำเภอ เมื่อฉันยื่นบัตรประชาชนให้เขา เขาพลันพูดว่า “สามีเธออาจเสียชีวิตแล้วที่มัสยิดกรือเซะ และจะนำศพไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร” ฉันตกใจมาก ทำอะไรไม่ถูก นั่งอยู่กับที่พลันอ่านดุอาอ์ให้กับคนตาย ลูกๆ ที่รู้ความนั่งเงียบไม่พูด ไม่จา ไม่ถามอะไรสักคำ

          พอจะพลบค่ำ มีคนมาบอกให้ไปรับศพที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อมาทำพิธีทางศาสนา วันนั้นทั้งวันฉันกินอะไรไม่ลง เรื่องศพของสามีญาติๆ ช่วยจัดการให้ เขาได้เอาศพจากค่ายมาถึงบ้านก็ค่ำแล้ว ญาติมารับฉันและลูกๆ ไปอยู่ที่บ้านญาติที่ใกล้กับกูโบร์ เพื่อนบ้าน ลูกศิษย์ ลูกหาของสามีมากันเต็มบ้านเต็มถนน เพื่อจะต้อนรับศพ และจะส่งศพไปยังสุสานที่ตระเตรียมไว้แล้ว

          โต๊ะอีหม่ามมาถามฉันว่าเขาสั่งเสียอะไรบ้างก่อนที่เขาจะไป ฉันก็ต้องบอกตามตรงว่า เขาคงไม่คิดว่า เขาจะตาย เขาไม่ได้สั่งเสียอะไร และไม่ได้มีลางอะไรที่บ่งบอกว่าเขาจะลาลูก เมีย ญาติมิตร ลูกศิษย์ที่เขารัก และห่วงใยอยู่เสมอๆ 

           ศพของสามีไม่ได้อาบน้ำศพ เพราะในบทบัญญัติของศาสนาอิสลามได้ระบุว่า ผู้ใดที่เสียชีวิตจากการไปปะทะกับกาฟิร หรือคนนอกศาสนาอิสลาม ศพผู้นั้นห้ามทำการอาบน้ำศพ และจะเก็บศพผู้นั้นด้วยเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ ห้ามเอาผ้าชิ้นอื่นมาสวมใส่แทน 

           ส่วนตัวของฉันสัปดาห์แรก หลังจากเขาจากไปฉันกินไม่ลง ลูกคนเล็กงอแงมาก เพราะดูดนมแม่ไม่อิ่ม ฉันเลยต้องซื้อนมกระป๋องให้กินแทน ลูกๆ คนโตก็พลอยกินไม่ลงเหมือนกัน ทุกคนคิดถึงพ่อ เพราะพ่ออันเป็นสุดที่รักต้องจากไปอย่างกะทันหัน ที่พิเศษกว่านั้น ชีวิตพ่อต้องจบลงด้วยน้ำมืออันโหดเหี้ยมของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง คำสนทนาของพ่อกับลูกๆ ยังได้ยินแว่วๆ ว่า “เรียนให้สูงๆ นะลูก โตขึ้นจะได้ไม่ต้องเป็นทาสเป็นบ่าวของเขา เรามีศักดิ์ศรีในตัวของเราอยู่แล้ว แต่ศักดิ์ศรีของเราได้ถูกคนอื่นขโมยไป”

           ข่าวการเสียชีวิตหมู่ในมัสยิดกรือเซะครั้งนี้ ทำให้คนทั่วโลกจับตามองประเทศไทย และตั้งคำถามว่าทำไมประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องลุกขึ้นต่อสู้ หรือต่อต้านรัฐบาลไทย นับตั้งแต่ปัตตานีถูกรุกรานจากไทยจนถึงปัจจุบัน การสู้รบไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลสักกี่ชุด เหตุการณ์ความไม่สงบยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

           แน่นอนที่สุดเมื่อสามีของฉันจากไป ผลกระทบที่ตามมาคือ ภรรยา ลูก ลูกศิษย์และสังคมรอบข้าง นักข่าวพูดอย่างสนุกปากว่าคนที่ไปก่อเหตุในมัสยิดกรือเซะนั้นคือ “โจรใต้”  แต่ผู้คนได้ยินข่าวการเสียชีวิตต่างมาแสดงความเสียใจกับฉันและต่างพูดประณามฝ่ายรัฐบาลและนักข่าวว่าไม่ระวังคำพูด และต่างเห็นพ้องต้องกันว่าฝ่ายรัฐบาลนั่นแหละที่เป็นโจรซึ่งทำร้ายเกินกว่าเหตุ

           ลูกศิษย์ที่เป็นเยาวชนไม่กล้าจะมาเยี่ยมครอบครัวของฉัน เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงคอยตรวจคอยจ้องมองว่าใครบ้างที่มาเยี่ยมและอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับสามีของฉันบ้าง

           หลังเกิด “เหตุการณ์กรือเซะ” ไม่นานนัก เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ใช้กฎอัยการศึกมาจับเยาวชนในหมู่บ้าน และจะถามถึงสามีของฉันว่าเป็นคนอย่างไร เคยเป็นผู้บงการก่อความไม่สงบมานานหรือยัง และเคยชักจูงเยาวชนให้เดินทางไปในทางที่ผิดเมื่อไหร่แล้ว ซึ่งทุกคนต่างตอบตรงกันว่า เขาเป็นคนดีคนหนึ่ง และยังเป็นผู้รู้ศาสนาที่ชัดแจ้งอีกต่างหาก

            ภายหลังจากที่สามีของฉันได้เสียชีวิต ภาระการเลี้ยงดูครอบครัวต้องตกอยู่ที่ฉันคนเดียว เงินที่ได้จากการบริจาคจากชาวบ้านที่มาเยี่ยมนั้นค่อยๆ หมดไป ลูกๆ ต้องไปโรงเรียนทุกวัน ส่วนทางรัฐบาลขณะนั้นเขาไม่ได้ใส่ใจในเรื่องผลกระทบของชีวิตที่เหลืออยู่ เขาไม่ได้เหลียวหลังแลหน้าว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้นจะอยู่กันอย่างไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับผลกระทบแก้ปัญหากันเอง 

           อาจารย์โซรยา จามจุรี เป็นผู้บุกเบิกมาเยี่ยมพวกเราถึงบ้าน จำได้ว่าครั้งแรกที่พวกเขามาเยี่ยมฉันตอนจะพลบค่ำแล้ว เขาถามถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละวันว่าได้จากไหน ฉันก็ตอบว่า มีอาชีพขายข้าวและขายขนมให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนอิสลามียะห์ รายได้ก็ประมาณ 100-150 บาทต่อวัน ซึ่งถ้าวันไหนโรงเรียนปิดนั่นแปลว่าฉันก็พลอยขาดรายได้ไปด้วย หรือถ้าโรงเรียนปิดเทอมนั่นก็หมายถึงเราไม่มีรายได้เข้ามาเลย ก่อนที่อาจารย์โซรยาจะกลับ เธอล้วงกระเป๋าตังค์และยื่นธนบัตรใบละร้อยสามใบมอบให้พร้อมกับบอกว่าใช้เป็นค่าขนมของลูกและบอกว่าวันหลังจะมาเยี่ยมใหม่

            จากนั้นไม่นาน เธอโทรศัพท์บอกว่ามีคนใจดีจากกรุงเทพฯ จะลงมาเยี่ยม ตอนแรกฉันรู้สึกสับสนหรือว่าคนนั้นจะเป็นสายลับจะมาสืบเกี่ยวกับครอบครัวของฉัน หรืออาจจะมาขู่ลูกเมียของผู้เสียชีวิตในมัสยิดที่เขาถล่มในวันนั้นหรือเปล่า ยิ่งได้ยินว่าเขาผู้นั้นเป็นถึง สว.จากกรุงเทพฯ (สมาชิกวุฒิสภาจากกรุงเทพฯ) ยิ่งทำให้รู้สึกกลัวมากขึ้น

            เมื่อถึงกำหนดการสว.คนดังกล่าวได้ลงมาเยี่ยมเราจริงๆ ฉันถึงกับตะลึงและคิดไม่ถึงว่าเขาจะลงมาเยี่ยมเราจริงๆ ยิ่งสถานการณ์ในช่วงนั้นยังร้อนระอุ  ตำรวจทหารยังทำงานหนัก บนถนนจะเต็มไปด้วยด่านตรวจของทหาร ชาวบ้านจะเดินทางต้องระวังตัวเป็นพิเศษเพราะกลัวลูกหลงที่ตำรวจ ทหารเหล่านั้นที่ถือปืนและพร้อมจะลั่นไกในยามที่เขาคิดว่าเขาผู้นั้นเป็นโจร โดยไม่ต้องตรวจสอบให้ละเอียดก่อนก็ได้ เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของเขาอยู่แล้ว หรือถ้าเขายิงผิดตัวก็ไม่เป็นไรอยู่แล้ว เพราะทางรัฐบาลมีงบประมาณในการชดเชยอยู่แล้ว ถือเป็นการเยียวยาบุคคลเหล่านั้นไป

          สว.ที่ฉันพูดถึงเขาชื่อ คุณโสภณ สุภาพงษ์ พูดจาเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกาลเทศะ เขายอมนั่งลงบนพื้นที่ไม่ค่อยสะอาดนัก พร้อมกับนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีอีกหลายคน เขาจะเลือกถามคำถามที่เบา ๆ เป็นคำถามที่เราสามารถโต้ตอบกันได้ คุยสนุก หัวเราะเป็นกันเองมาก ซึ่งเขาจะเป็นคนที่ไม่ถือตัว ไม่ดูหมิ่นเรา ซ้ำยังเอ็นดูลูกๆ ของฉันด้วย เขามาได้ไม่นาน ก็บอกลา เพราะจะไปเยี่ยมครอบครัวอื่นต่อ ก่อนจะกลับเขาพูดและให้กำลังใจลูกๆ ของฉันว่า “เรียนให้สูงๆ นะ แล้วจะได้มาแทนที่พ่อต่อไป”  ซึ่งฉันสัมผัสถึงทัศนคติเขาได้ว่า เขาไม่คิดว่าสามีฉันเป็นโจรแน่ ๆ 

           ฉันรู้สึกประทับใจสว.ท่านนี้มาก ทำไมเขาช่างเป็นคนเข้าใจพวกเรา ฉันคิดว่าหากเขาเป็นมุสลิม เขาจะสามารถเข้าถึงประชาชนมากกว่านี้แน่ หรือถ้าเขาเป็นผู้นำประเทศอาจจะนำพาประเทศนั้นสันติสุขได้แน่นอน

           วันนั้นเขาได้มอบเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาทเพื่อเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาของลูก และให้ฉันเก็บไว้ใช้สอย ซื้อของที่จำเป็น จะได้ไม่ต้องไปกู้ยืมใคร 

            เมื่อเขากลับไปกรุงเทพฯ เขาคงรู้สึกเห็นใจกลุ่มพวกเราที่ได้รับผลกระทบเขาเลยอาสามาเยี่ยมฉันเป็นครั้งที่สอง มาครั้งนี้เขาพูดว่า

            “เธอดูร่าเริงมากขึ้น ไม่ซึมเหมือนคราวก่อน”  

            ลูกๆ ก็พูดถึงเขาตลอด ยังถามเลยว่า เขาเป็นมุสลิมใช่ไหม ทำไมเขาใจดีจัง ฉันก็ตอบว่า เขาทำตามมารยาทของท่านนบีเรา มาครั้งนั้นเขายังมอบทุนอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นทุนการศึกษาของลูก ต่อมาเขายังมอบทุนอีกเรื่อยๆ  เพราะเขามองว่าผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และมีลูกหลายคนอีกด้วย เพื่อเพื่อนมนุษย์ที่กำลังตกยากลำบาก เขาเลยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเป็นทุนการศึกษาให้ลูก ทุนละ 500 บาท จำนวน 5 ทุน และจะเบิกสามเดือนครั้ง 

            ชีวิตและฐานะของครอบครัวตอนนั้นดีกว่าก่อนมาก เพราะเรามีเงินสะสมไว้ในธนาคาร ครั้นเราไม่มีงานทำ หรือช่วงโรงเรียนปิดเทอมเราสามารถเบิกมาใช้ได้

            พ.ศ. 2551 คุณโสภณขอยกเลิกในการโอนเงินเพราะเขาคิดว่า ผู้ได้รับผลกระทบพ้นวิกฤตชีวิตแล้ว สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ลูกๆ ก็โตแล้ว ประจวบเหมาะกับสมัยนั้นเป็นรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ช่วงแรกเขามอบให้กระทรวงศึกษาธิการมอบทุนการศึกษาให้กับลูกๆ ผู้ได้รับผลกระทบที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี และส่งบัณฑิตอาสาลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสำรวจรายชื่อของลูกๆ และในที่สุดลูกๆ ก็มีทุนการศึกษาใช้ในการศึกษาเล่าเรียนจนถึงปัจจุบัน 

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะให้เงินเยียวยาเป็นหลักล้าน. “เหตุการณ์กรือเซะ” ฉันยังให้คะแนนติดลบกับรัฐบาลชุดนั้นเพราะรู้สึกว่าบุคคลที่ยอมพลีชีพในครั้งนี้เขายังไม่ได้รับความเป็นธรรม การเยียวยาคงไม่ใช่ตัวเงิน หรือพาบุตรหลานของตัวเองไปเมกกะห์เท่านั้น แต่เป้าหมายสูงสุดคือ หาความจริงให้ปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นต้องการอะไรกันแน่ และต้องลงโทษผู้ที่บงการเหล่านั้นด้วยกฎหมายที่มีศักดิ์ศรี 

           หากให้พูดว่าขอบคุณที่เขาจ่ายเงินถึงหลักล้านกับญาติผู้เสียชีวิต คงพูดไม่ออกหรอก เพราะสถานการณ์มันไม่อำนวย “เขา” ทำไปเพียงเพื่อการเมือง และถูกกดดันอย่างหนักจากประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศมุสลิม.

          “ความเป็นธรรมยังเดินทางมาไม่ถึงพวกเรา”

000000000000000000000000000

เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ:
28 เมษายน 2547ความทรงจำที่ไม่เป็นธรรม

          10 ปี กับความรุนแรงรอบใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ส่งสัญญาณยืดเยื้อและเรื้อรังอย่างไม่เห็นจุดสิ้นสุด นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคา 2547 ตามด้วยเหตุการณ์ร้ายแรงรายวัน และความรุนแรงก็ยกระดับขึ้น หลังเกิด 'เหตุการณ์กรือเซะ' วันที่ 28 เมษายนปีเดียวกัน โศกนาฎกรรมที่ก่อความสูญเสียชีวิตผู้คนและเจ้าหน้าที่รัฐรวม 108 ชีวิต บาดเจ็บอีก 6 คน และถูกจับกุม 6 คน จนถึงวันนี้ยังเป็นปริศนาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุใดวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยซึ่งส่วนใหญ่มีมีดกับกริช จึงกล้าบุกโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารที่มีอาวุธครบมือ โดยกระบวนการยุติธรรมจบลงแค่การไต่สวนการตาย แต่ไม่พิสูจน์ความผิดถูกแก่ใคร ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ 'ความไม่เป็นธรรม' ในความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่และสังคมโลก

          เพียงแค่ 10  ปีของความรุนแรงรอบใหม่ อย่าเพิ่งลืมเลือนในรายละเอียด เหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 มิได้เกิดขึ้นที่มิสยิดกรือเซะเก่าแก่อันเป็นรากประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิมเท่านั้น วันเดียวกันนี้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นพร้อมกันสามจังหวัด รวม 11 จุด โดยแยกเกิดเหตุในจังหวัดปัตตานี 3 จุดคือ (1) อำเภอหนองจิก เกิดที่จุดตรวจบ้านหม้อแกง (2) อำเภอเมืองปัตตานี คือมัสยิดกรือเซะ ฐานทหารต.ตาเสน และ(3) สภ.อ.แม่ลาน ส่วนจังหวัดสงขลาเกิดเหตุที่ป้อมตำรวจอำเภอสะบ้าย้อย

          สำหรับจังหวัดยะลามีการก่อเหตุมากที่สุด 7 จุด ดังนี้ (1) อำเภอเมืองยะลา ที่จุดตรวจหน่วยปฏิบัติการหน่วนปฏิบัติการพิเศษ นปพ. (2) อำเภอรามัน คือที่ฐานปฏิบัติการตชด. ชุดสันตินิมิต ต.บาโงย (3) อำเภอบันนังสตา ที่ฐานปฏิบัติการตชด. ม. 2 บ้านบาเจาะ (4) อำเภอธารโต คือหน่วยปฏิบัติการพิเศษบ้านบัวทอง ต.บ้านแหร และที่กิ่งอำเภอกรงปินัง เกิดเหตุทั้งหมด 3 จุด คือ ฐานปฏิบัติการ กองร้อย ร.4151, ที่ว่าการอำเภอกรงปินัง และสถานีตำรวจภูธรกรงปินัง 

          สิ่งที่สะเทือนขวัญและเป็นที่ไม่พอใจของชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนทั่วโลกในเหตุการณ์นี้มีสองจุดด้วยกัน คือ หนึ่ง เหตุการณ์ที่กรือเซะที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ 32 คน เนื่องจากภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้เจรจากับกลุ่มก่อเหตุไม่สำเร็จแล้ว พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตนายทหาร จปร.7 ขณะนั้นตำแหน่งรองผอ.กอ.รมน. ได้สั่งยิงกลุ่มดังกล่าวด้วยอาวุธหนักเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 28 คน โดยอ้างว่าหากปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อถึงช่วงกลางคืน เกรงว่าจะเกิดเหตุแทรกซ้อนจนคุมไม่ได้ ทั้งที่เวลาที่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้อาวุธหนักเข้าถล่มนั้น เป็นเวลาเพียง 14.15 นาที 

          และอีกสถานการณ์ที่เป็นที่ความเคลือบแคลงใจในหมู่ประชนทั่วไปถึงความถูกต้องชอบธรรม คือ การวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มเยาวชนที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาจำนวน19 คน เนื่องจากในหนังสือรับรองการตายระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 คนจากจำนวน 19 คนถูกยิงบริเวณศีรษะ หรือใบหน้า และส่วนใหญ่เป็นการยิงจากข้างหลัง

          เหตุรุนแรงนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และอื้อฉาวไปทั่วโลก ทำให้หนึ่งเดือนต่อมา รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยนั้น ต้องมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ แม้ผลการไต่สวนจะไม่ได้สรุปด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่กระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่คณะกรรมการฯ ก็เห็นว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างจริงจังเพื่อให้มีการเจรจาและยุติเหตุการณ์โดยสันติวิธี แต่กลับใช้วิธีการเข้าปราบปรามด้วยอาวุธหนัก

           อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เบื้องต้นทางภาครัฐไม่ได้เข้าไปเยียวยาให้ความช่วยเหลือต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะทุนการศึกษา เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์การเยียวยาของคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) สำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่ไปก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่ทางองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ก็ได้มาช่วยเหลือเยี่ยมครอบครัวที่เหลืออยู่เหล่านี้ และเรียกร้องจากภาครัฐให้เยียวยาทายาทผู้เสียชีวิตให้ได้รับทุนการศึกษา กระทั่งปัจจุบันบรรดาลูกหลานของผู้เสียชีวิตเหล่านั้นก็ได้รับทุนการศึกษาและภรรยาและแม่บางส่วนก็ได้รับเงินช่วยเหลือด้านอาชีพ

           ปี 2555 ภายหลังจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เป็นประธาน ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยาฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมือง เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์รุนแรงก่อนช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน2549 ถึง เหตุการณ์รุนแรงเดือนพฤษภาคม 2553 ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน ภาคเอกชนตลอดจนครอบครัว ซึ่งจะได้รับการเยียวยาขั้นต่ำรวมแล้วเกินกว่ารายละ 7 ล้านบาทขึ้นไป

           ด้วยเหตุดังกล่าว ทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเรียกร้องให้มีการเยียวยากลุ่มที่เสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะ 'เหตุการณ์กรือเซะ' แม้ว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อน แต่คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้มีมติว่า เนื่องจากเจ้าหน้ากระทำเกินกว่าเหตุ ทำให้คณะกรรมการฯ มีมติจ่ายเงินให้ครอบครัวรายละ 4ล้านบาทให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ส่วนกรณีญาติผู้เสียชีวิตที่สะบ้าย้อย ทางคณะกรรมการฯมีมติจ่ายรายละ7.5 ล้านบาท ถือเป็นกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเกินกว่าเหตุ โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชื่อว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยสมานแผลแห่งความรุนแรง และเป็นก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นธรรมและมนุษยธรรม

            ทว่า รัฐไทยก็ยังไม่มีกลไกใดที่เข้ามาเยียวยาความเป็นธรรมและความบาดหมางได้จริง!!

         อ้างอิงข้อมูลจาก

  1. “สรุปเหตุการณ์สถานการณ์ใต้ วันที่ 28 เมษายน 2547,” ฐานข้อมูลข่าวจังหวัดชายแดนใต้ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ออนไลน์), วันที่ 10 พฤษภาคม 2547.
  2. “ยุติธรรมเพื่อสันติภาพ: แถลง 4 ปี เหตุการณ์กรือเซะ จับตากระบวนการไต่สวนคดีวิสามัญฆาตกรรม,” ประชาไท (สำนักข่าวออนไลน์), วันที่ 30 เมษายน 2551. 
  3. “เปิดมติเยียวยาใต้ 'สะบ้าย้อย-ตากใบ' 7.5 ล้าน กรือเซะ 4 ล้าน ตายรายวัน 5 แสน,” ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา (ออนไลน์), วันที่ 11 มิถุนายน 2555.

000000000000000000000000000

พลังส่งกลับ | เธอ สู่ ฉัน
ฉันชื่อ...รอฮานี จือนารา 

          ฉันลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำคัญหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่ปี 2547 ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังความสูญเสียมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีข้อสรุปสำหรับสิ่งที่ได้รับรู้มาตลอดสองสามข้อคือ “เหตุการณ์เลวร้าย” กระทบชีวิตผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย กำลังใจจากคนรอบข้าง สำคัญที่สุดในการประคับประคอง “เธอเหล่านั้น” ให้สามารถลุกขึ้นมาได้และผู้หญิงที่เข้มแข็งแล้ว มักจะผันตัวเองมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนอื่น 

          ผู้หญิงที่ฉันต้องพูดคุยด้วย มีทั้งที่เป็นชาวบ้านธรรมดาและเป็นผู้หญิงของนักรบของคู่ขัดแย้ง งานเขียนเล่มนี้ ก็เช่นกัน เพราะคนที่ฉันต้องคอยดูแลประคับประคองเรื่องเล่าให้นั้น หนึ่งคนเป็นภรรยา “นักรบไร้รัฐ”และอีกหนึ่งคือ ภรรยาผู้ที่ตามหาความเป็นธรรมให้สามีที่ถูกจับไร้หลักฐาน

          ฉันเห็น......ว่า ทุกชีวิตล้วนถูกทดสอบให้เจอกับอุปสรรคบางอย่าง หากแต่การจัดการหรือการก้าวข้ามต่างหากที่ไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญสำหรับใครที่มีศรัทธาในพระองค์อัลลอฮฺ คนนั้นก็จะสามารถฝ่าฟันหรือปล่อยวางได้เร็วกว่า 

          ฉันเห็น.....หนึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันส่งผลต่อความรุนแรงในอนาคต และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันย่อมมีต้นตอสาเหตุของมันอย่างแน่นอน มันไม่บังเอิญเด็ดขาด คนๆ หนึ่งจะไปใช้ความรุนแรงได้ย่อมมีเหตุและผลในการกระทำ เพราะมนุษย์ทุกคนมีเหตุผล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนของทุกคนที่จะสามารถเรียนรู้หรือหลีกเลี่ยงกับมันได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับการศึกษาและถอดบทเรียนและเท่าทันกับมัน 

          ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ เป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่ได้แยแสหรือความสนใจมากเท่าที่ควร หากรัฐไทยสนใจและให้ความสำคัญและไม่ยึดติดกับชาตินิยมมาก ก็จะสามารถเข้าใจปัญหาสามจังหวัดมากขึ้น 

          ฉันเห็น.....ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ ในขณะที่ผู้ชายถูกสร้างมาเป็นผู้นำโดยตรง แต่หากผู้ชายที่แข็งแกร่งอยู่ในบริบทของความรุนแรงก็ยิ่งทำให้ความรุนแรงทวีขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้นในบริบทของความรุนแรง ผู้หญิงเป็นเพศที่สำคัญสามารถมีบทบาทในการคลี่คลายความรุนแรงได้ ซึ่งในสามจังหวัดภาคใต้ โดยภาพรวมแล้วยังไม่ได้ยอมรับกับบทบาทเหล่านี้เท่าที่ควร บางคนก็ยอมรับแล้วบ้าง เพราะผู้หญิงก็ได้แสดงบทบาทอยู่แล้วบ้าง

          ฉันเห็น...การจะต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม หรือความไม่เป็นธรรม หรือการจะเอาชนะสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น อุดมการณ์ หรืออุดมคติอย่างเดียวคงไม่พอ หรืออย่างกลุ่มต่อต้านรัฐพยายามสร้างความเกลียดชังต่อรัฐไทย และความเป็นพวกพ้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่เพียงพอ หากแต่ความรัก ความพยายาม ความรับผิดชอบ ความศรัทธาต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้.

00000000000000000000000000000000000000

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี  

ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา