Skip to main content

ศรยุทธ์ เอี่ยมเอื้อยุทธ

การหายตัวไปของบิลลี่ทำให้นึกถึงประสบการณ์ของผมที่สามจังหวัดภาคใต้ แม้ทั้งสองเรื่องนี้จะมีความแตกต่างกันมากมาย ทั้งภูมิหลังทางประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์ และกรณีปัญหา ทว่าปรากฏการณ์นี้คล้ายกันอยู่บางประการคือ บุคคลซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนซึ่งมีความขัดแย้งกับรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐได้หายตัวไปอย่างไร่ร่องรอย ข้อสัณนิษฐานหลักจากปีกของผู้ประสบเคราะห์ก็คือ ถูกอุ้มหายโดยรัฐ
แน่นอน แม้จะไม่สามารถระบุหรือค้นหาอันชอบธรรมได้ว่ารัฐเป็นผู้กระทำความรุนแรงดังกล่าว ทว่า มันได้สะท้อนภาพความรุนแรงของรัฐบางแง่มุมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มันไม่ใช่ภาพความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หากเป็นการสร้างความรุนแรงจากการสร้างภาพความน่าสะพรึงกลัวของรัฐได้กลายเป็นภาพประทับอยู่ในสำนึกของผู้คน ภาพความสะพรึงกลัวนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่กดข่มผู้คนไม่ให้ตั้งคำถามและสยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจ
จากประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันของกรณีของคุณบิลลี่และผู้คนในสามจังหวัดก็คือ พวกเขาตั้งคำถามกับการกระทำอันมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ คุณบิลลี่และชุมชนกะเหรี่ยงแห่งแก่งกระจานเคยผ่านประสบการณ์ถูกจับกุมและเผาบ้านเรือนโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาหลายครั้ง พวกเขาเรียกร้องหลายครั้ง พร้อมๆกับการเห็นกับตาของตัวเองว่า "ผู้กระทำความผิด" ในมุมมองของพวกเขามักจะหลุดรอดปลอดภัยจากเงื้อมมือของกฎหมายแทบทุกครั้ง ทุกครั้งที่ผู้กระทำผิดรอดตัว พวกเขาก็จำต้องอยู่ด้วยความหวาดผวา เรื่องพวกนี้ ไม่ต่างจากในสามจังหวัดภาคใต้เลย เมื่อมองให้กว้างออกมาก็คือ กฎหมายอันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยุติธรรมกลับเป็นสิ่งที่ "ถูกยกเว้น" เมื่อจำเป็นต้องต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ
ความน่าสะพรึงกลัวของรัฐจึงไม่ใช่อยู่ที่การกระทำเพื่อสร้างความรุนแรงเพียงอย่างเดียวหากเป็นการกดข่มให้คู่กรณีกับรัฐเล็งเห็นว่าพวกเขาไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้ ตระหนึกถึงสิ่งที่ไม่สามารถแตะต้องได้ เรื่องพวกนี้ ถูกส่งผ่านกันมาเป็นคำบอกเล่าบ้าง เรื่องเล่าบ้าง มานานในสังคมของเรา
เรื่องเล่ามิได้เกิดขึ้นจากการเห็นความน่าสะพรึงกลัวของรัฐเพียงอย่างเดียว ทว่ารัฐก็ยังสร้างความน่าสะพรึงกลัวต่อปฏิปักษ์ของรัฐในพื้นที่สาธารณะเช่นกัน วิธีการเช่นนี้ นับเป็นการตัดช่องทางในการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี กรณีสามจังหวัดภาคใต้ เราตะหนักกันดีว่า ภาพลักษณ์ที่รัฐสร้างให้กับมลายูมุสลิมนั้นอยู่ในฐานะสิ่งแปลกปลอมมาอย่างยาวนาน เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นไทย และมีภาพที่เกี่ยวโยงกับความมั่นคงแห่งชาติโดยตรง กรณีของกลุ่มกะเหรี่ยงแก่งกระจานก็เช่นกัน ตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไหว พวกเขาถูกเหมารวมว่าเป็นชาวเขา เป็นพม่า ไม่ใช่คนไทย และทำลายป่าไม้ เรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐพวกนี้เองมิได้เกิดขึ้นเพียงเพื่อทำให้พวกคนกลุ่มนี้กลายเป็นเพียง "คนอื่น" เท่าน้ัน แต่ยังมีส่วนเร่งให้เกิด "การจัดการ" ประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะการเร่งเร้ากระตุ้นให้สาธารณะมีส่วนในการใช้ความรุนแรง ในฐานะตัวแทนโดยชอบธรรมของรัฐหรือร่างทรงของรัฐนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่มีพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะสื่อ จึงมักมีการตั้งคำถามที่ว่า คนกลุ่มนี้เป็นใคร เป็นคนไทยหรือเปล่า เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ ทำลายป่าจริงหรือปล่าว เป็นต้น
สิ่งที่หายไปท่ามกลางเรื่องเล่าก็คือ การพิจารณาความผิดและความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ
ราวสองปีเศษที่ผ่านมา คุณบิลลี่และกะเหรี่ยงจากแก่งกระจานเคยมาร่วมงานในวงเสวนาที่ผมจัดขึ้นครั้งหนึ่งที่สถาบันวิชาการแห่งหนึ่ง แถบตลิ่งชัน วันนั้นเราจัดคุยกันเรื่องความรุนแรงของรัฐต่อกรณีกะเหรี่ยงที่ป่าแก่งกระจาน โดยผมเชิญอาจารย์และนักวิชาการมาเป็นวิทยากรหลัก เนื่องจากไม่กล้าเชิญตัวแทนชาวกะเหรี่ยงที่แก่งกระจานมาคุยเพราะกลัวว่าจะทำให้พวกเขาอยู่ยากลำบากกว่าเดิม ปรากฏว่า ก่อนถึงวันงานเพียงหนึ่งวันคุณบิลลี่และคุณทัศน์กมล โอบอ้อม ได้ติดต่อมาเพื่อขอเข้าร่วมงานเสวนา ผมกับเพื่อนมีความยินดีอย่างยิ่ง เมื่อพวกเราพบกันผมพวกเขาไม่ได้มีความหวาดกลัวแม้แต่น้อย กะเหรี่ยงหลายคนต้องเดินป่าลงมาสองวันเสียด้วยซ้ำเพื่อเข้าร่วมวงเสวนานี้ พวกเขายืนยันถึงสิทธิในการจะพูดความจริงและการเรียกร้องความเป็นธรรม หลังจากงานเสร็จสิ้นไปสองวัน ผมก็ได้รับข่าวจากเพื่อนทางโทรศัพท์ว่า คุณทัศน์กมล ตัวแทนในการเรียกร้องสิทธิดังกล่าวได้ถูกลอบยิงเสียชีวิต พวกเราไปงานศพเขาและพบเห็นว่าคนเข้าร่วมงานศพมีจำนวนมากมายหลายพันคน จำนวนคนเหล่านั้นน่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่ารัฐไม่อาจสร้างความน่าสะพรึงกลัวต่อผู้คนได้ทั้งหมด คนเรามีสายสัมพันธ์หลายด้านที่จะระลึกถึงกันและรัฐเองก็ไม่สามารถเข้าควบคุมมันทั้งหมดได้
สองสามวันมานี้ได้ทราบข่าวว่าคุณบิลลี่หายตัวไป ผมไม่อยากคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาบ้าง สิ่งที่ยอากรู้ในเบื้องต้นแต่ก็ไม่อาจรู้ได้ก็คือ ระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พวกเขาคุยอะไรกันบ้าง ?บิลลี่ถูกปฏิบัติอย่างไรบ้าง? กรณีนี้กรณีนี้หัวหน้าอุทยานเป็นผู้ต้องหาหรือไม่? ทำไมยังไม่มีการควบคุมตัวหรือสอบปากคำเสียทีในฐานะผู้พบเห็นบิลลี่เป็นคนสุดท้าย? ทำไมต้องรอให้มีการเปิดอกคุยแถลงข่าวโดยหัวหน้าอุทยาน ? กรณีนี้เอง ยิ่งเป็นการย้ำให้เห็นถึง "ข้อยกเว้น" บางประการที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องสงสัยเสียเอง
ความน่าสะพรึงกลัวของรัฐเกิดขึ้นในความหมายที่ว่าเราไม่สามารถแตะต้องมันได้ เอาผิดมันได้ ตรวจสอบมันได้ ขณะเดียวกัน ยิ่งแตะต้องมันตัวเราก็จะยิ่งเป็นอันตรายและพร้อมที่จะถูกลงทัณฑ์ได้จากหลายๆ ฝ่าย
ยามใดที่เราตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความน่าสะพรึงกลัวของรัฐ เราอาจอยู่รอดปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแต่เราเองก็มีสิ่งที่ต้องจ่ายไป นั่นคือ ศักดิ์ศรีในความเป็นคนของเรา รวมไปถึงการสะบั้นสายสัมพันธ์ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน
ผมคิดว่าคุณบิลลี่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เขาอาจตระหนักถึงความน่าสะพรึงกลัวแต่เขาไม่ได้กลัว เฉกเช่น กรณีญาติพี่น้องของคนที่ถูกอุ้มหายในสามจังหวัดภาคใต้ พวกเขาก็ยังคงต่อสู้อยู่ตลอดเวลา การเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเองและบุคคลอื่นจึงเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นศักดิ์ศรีความเป็นคนให้กลับมาเพื่อยืนยันว่าเราคือใครและจะอยู่ไปเพื่ออะไรทั้งในเชิงอุดมคติและในชีวิตจริง
ร่วมตามหาคุณบิลลี่และตรวจสอบความรุนแรงของรัฐด้วยกัน