สุชาติ เศรษฐมาลินี
สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ
มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เดิมมีชื่อว่า “การสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม” ซึ่งได้นำเสนอต่อโครงการปริทรรศน์องค์ความรู้สันติวิธีจากสายธารภูมิปัญญาตะวันออก สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เนื่องจากต้นฉบับนั้นมีขนาดยาว การเผยแพร่ในที่นี้จึงตัดแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ตอน เรียงตามหัวข้อที่จัดเรียงไว้ในต้นฉบับเดิมและจะทยอยนำเสนอตามวาระจากนี้เป็นต้นไป
หลักการและคุณค่าในอิสลามเกี่ยวกับสันติวิธีและการสร้างสันติภาพ[1]
ส่วนนี้จะให้ภาพแนวคิดพื้นฐาน หลักการและคุณค่าของสันติวิธีซึ่งอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิที่จะสามารถเป็นกรอบในการประยุกต์สู่การสร้างสันติภาพในบริบทของศาสนาอิสลามได้ต่อไป และยังต้องการงานศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจว่าหลักการและคุณค่าเหล่านี้ได้สะท้อนอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของของชาวมุสลิมหรือไม่ อย่างไร
มีนักวิชาการจำนวนมาก (ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม) ที่ได้ระบุถึงแนวคิด คุณค่าและหลักการคำสอนในอิสลามซึ่งมีปรากฎอยู่มากมายในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน และอัล-หะดิษ ดังนั้น ในส่วนนี้จึงเป็นการสรุปถึงแนวคิด คุณค่าสำคัญๆ ในคำสอนของอิสลาม ซึ่งสามารถใช้เป็นกรอบในการสร้างสันติภาพในบริบทของชุมชนมุสลิม[2]
1. การสถาปนาความยุติธรรม
ข้อเรียกร้องสำคัญที่สุดประการหนึ่งในศาสนาอิสลามทั้งต่อผู้ที่แข็งแรงหรืออ่อนแอก็ตามคือ การสถาปนาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น การกระทำใดๆ ก็ตามเพื่อสร้างความยุติธรรมจึงเปรียบเท่ากับว่าเป็นการกระทำเพื่อผู้เป็นเจ้า ดังตัวอย่างคำสอนในอัล-กุรอ่าน ที่เรียกร้องให้มุสลิมต้องมีหน้าที่ในการสร้างความยุติธรรมและต่อต้านการกดขี่และความอยุติธรรมทั้งหลายทั้งในระดับบุคคลและระดับโครงสร้าง
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้รักษาความยุติธรรมและทำดี และการบริจาคแก่ญาติใกล้ชิดและให้ละเว้นจากการทำลามกและการชั่วช้า และการอธรรม พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจักได้รำลึก” อัล-กุรอ่าน (16: 90)
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮ์ เป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรมและจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรง อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน” อัล-กุรอ่าน (5: 8)
ดังนั้น ความเชื่อมโยงระหว่างการสร้างสันติภาพกับการสถาปนาความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควบคู่กันเสมอในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม สันติภาพจึงเป็นผลผลิตของความมีระเบียบและความยุติธรรม และมนุษย์จะต้องพยายามแสวงสันติภาพด้วยความยุติธรรมซึ่งหลักการนี้เป็นหน้าที่ของผู้คนโดยทั่วไปและผู้ปกครอง
“แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้พวกเจ้าให้มอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม แท้จริงอัลลอฮฺทรงแนะนำพวกเจ้าด้วยสิ่งซึ่งดีจริง ๆ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยินและได้เห็น” อัล-กุรอ่าน (4: 58)
“อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวข้องกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม” อัล-กุรอ่าน (60: 8)
ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้เรียกร้องให้มุสลิมยึดมั่นในความยุติธรรมและต่อต้านความ
อยุติธรรมทั้งหลายไม่ว่าความอยุติธรรมนั้นจะมาจากผู้ที่เป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม หรือแม้แต่ผู้ที่ใกล้ชิดก็ตาม
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม จงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ และแม้ว่าจะเป็นอันตรายแก่ตัวของพวกเจ้าเอง หรือผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม หากเขาจะเป็นคนมั่งมีหรือคนยากจน อัลลอฮฺก็สมควรยิ่งกว่าเขาทั้งสอง ดังนั้นจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำในการที่พวกเจ้าจะมีความยุติธรรม และหากพวกเจ้าบิดเบือนหรือผินหลังให้แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน” อัล-กุรอ่าน (4: 135)
ดังนั้น การมุ่งเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับความยุติธรรมตามหลักการคำสอนของอิสลามจึงเป็นสิ่งเดียวกับการใช้แนวทางสันติวิธีในการเรียกร้องผู้คน-ชุมชนเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม สันติวิธีจึงไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจกันแบบผิดๆ ว่าเป็นวิธีที่ให้เรางอมืองอเท้าและอญุ่แบบเฉือยชาโดยไม่ต้องกระทำการใดๆ ต่อความก้าวร้าวและอยุติธรรมในสังคม จุดหมายปลายทางหลักของสันติวิธีได้แก่การแปรเปลี่ยนและขจัดโครงสร้างความรุนแรงในทุกระดับซึ่งการแปรเปลี่ยนดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นในการสถาปนาสังคมที่มีความความยุติธรรม
2. การสร้างความเข้มแข็งทางสังคมผ่านการกระทำด้วยคุณธรรมและความดีงาม
การสร้างพลังทางสังคมของผู้ถูกกดขี่โดยผ่านคุณค่าสำคัญในอิสลามสองประการคือ ความมีคุณธรรม (ihsan) และการประกอบความดีงาม (khayr) นับเป็นสิ่งสำคัญเพื่อนำสู่ความยุติธรรมเช่นกัน การแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางของศาสนาอิสลามมาจากพื้นฐานในการช่วยเหลือและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ที่อ่อนแอหรือไร้อำนาจในสังคม การต่อสู้เพื่อต่อต้านการกดขี่ การช่วยเหลือคนจนผู้ยากไร้ และการมองมนุษย์อย่างมีความเท่าเทียมกัน สิ่งเหล่านี้นับเป็นคุณค่าอันเป็นแก่นของคำสอนของศาสนาอิสลาม อิสลามเรียกร้องให้มนุษย์ต้องกระทำความดีไม่เพียงต่อผู้ที่เป็นบุพการีและผู้ที่เป็นญาตอพี่น้อง หากรวมถึงต้องกระทำดีและรับผิดชอบต่อผู้ที่เป็นเด็กกำพร้า คนยากจน ผุ้คนที่ไม่มีผู้คอยให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนผู้ที่เป็นเพื่อนบ้านไม่ว่าพวกเขาจะมีความเกี่ยวข้องกับเราในทางใดหรือไม่ก็ตาม คำสอนอิสลามเน้นการกระทำความดีงามตามทางที่เที่ยงตรง (al-sirat al-mustaqim) ตามแนวทางอันดีงามของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ไม่ได้เน้นที่การใช้อำนาจและกำลัง
“และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดีและใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบและชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ” อัล-กุรอ่าน (3: 104)
หลักคำสอนเกี่ยวกับการกระทำความดีงามในอิสลามนั้นจะเป็นพื้นฐานเพื่อนำสู่ความยุติธรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น มุสลิมจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ที่มีฐานะด้อยกว่าในชุมชนของเขา
“พระองค์มิได้ทรงพบเจ้าเป็นกำพร้าแล้วทรงให้ที่พึ่งดอกหรือ และทรงพบเจ้าระเหเร่ร่อน แล้วก็ทรงชี้แนะทาง (แก่เจ้า) ดอกหรือ และทรงพบเจ้าเป็นผู้ขัดสน แล้วให้มั่งคั่ง (แก่) เจ้าดอกหรือ ดังนั้นส่วนเด็กกำพร้าเจ้าอย่าข่มขี่ และส่วนผู้เอ่ยขอนั้น เจ้าอย่าตวาดขับไล่ และส่วนความโปรดปรานแห่งพระเจ้าของเจ้านั้น เจ้าจงแสดงออก” อัล-กุรอ่าน (93: 6-11)
โดยสรุป มุสลิมจะต้องสร้างความยุติธรรม มีคุณธรรม และกระทำความดีงามทั้งต่อผู้ที่เป็นมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม คำสอนในอัล-กุรอ่านและแบบอย่างจากท่านนบีนั้นได้ให้ความสำคัญตลอดจนชื่นชมคุณค่าดังกล่าวเพื่อสร้างสันติภาพในสังคมทุกระดับ ดังนั้น ในกระบวนการแสวงหาสันติภาพด้วยสันติวิธีในอิสลามจึงจำเป็นที่คำนึงถึงเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งที่จะสามารถเข้าถึงการตัดสินใจได้อย่างมีความเท่าเทียมกัน
3. ความเป็นสากลและเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อิสลามได้ส่งสารที่ชัดเจนและหนักแน่นเกี่ยวกับความเป็นสากลและเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยอิสลามมองว่ามุนษย์ทุกคนต่างมีจุดกำเนิดเดียวกันและอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น มนุษย์จึงมีสิทธิเท่าเทียมกัน มนุษย์เป็นสิ่งสรรสร้างที่เลอเลิศและสวยงามที่สุดของผู้เป็นเจ้า มีศักยภาพที่จะเรียนรู้ ความสามารถในการตัดสินใจและรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเอง มนุษย์ในทัศนะอิสลามจึงเกียรติศักดิ์ศรีสูงส่งในฐานะเป็นผู้แทนของผู้เป็นเจ้าบนหน้าแผ่นดินนี้ ดังอัล-กุรอ่าน กล่าวว่า
“และจงรำลึกถึงขณะที่พระเจ้าของเจ้าได้ตรัสแก่มะลาอิกะฮฺว่า แท้จริงข้าจะให้มีผู้แทนคนหนึ่ง (นบีอาดัม) ในพิภพ” อัล-กุรอ่าน (2: 30)
ดังนั้น การเป็นมนุษย์จึงมีสถานะและได้รับเกียรติอย่างสูงส่งจากผู้เป็นเจ้า การปกป้องชีวิตและเคารพในเกียรติศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจจะล่วงละเมิดกันได้ในทัศนะอิสลาม
“และโดยแน่นอน เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัม และเราได้บรรทุกพวกเขาทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขาและเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดมาเป็นส่วนใหญ่” อัล-กุรอ่าน (17: 70)
“โดยแน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์มาในรูปแบบที่สวยงามยิ่ง” อัล-กุรอ่าน (95: 4)
ในทัศนะอิสลาม เกียรติศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ได้รับจากผู้เป็นเจ้านี้จะต้องได้รับการปกป้องซึ่งหมายรวมถึงผู้ที่เป็นศัตรูต่ออิสลาม เด็ก สตรีและคนชรา ดังนั้น เมื่อการกล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งในมุมมองของอิสลามจึงต้องให้ความสำคัญและเคารพในเกียรติศักดิ์ศรีของคนทุกฝ่ายในขั้วความขัดแย้งซึ่งสิ่งนี้เป็นคุณค่าสำคัญของวิถีทางสันติวิธี
4. ความเท่าเทียม
ในคำสอนของอิสลามนั้นให้ความสำคัญมากกว่าเพียงเพื่อให้ความขัดแย้งเฉพาะกรณีหนึ่งๆ ยุติลงไป แต่คำสนอยังมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะนำสู่การบรรลุความเป็นครอบครัวเดียวกันของมนุษย์ คุณค่าเรื่องความเท่าเทียมกันในหมู่มวลสมาชิกในสังคมเป็นเรื่องสำคัญในอิสลามเพราะอิสลามมองว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมากจากจุดกำเนิดเดียวกัน
“โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ.นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ.นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” อัล-กุรอ่าน (49: 13)
ในหลักอิสลามไม่ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้คนบนพื้นฐานของเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ ตลอดจนฐานะเงินทองหรือชนชั้นทางสังคม หากตัดสินด้วยความศรัทธาต่อผู้เป็นเจ้าและคุณธรรมความดีงามเพราะทุกคนต่างเป็นสิ่งถูกสร้างจากผู้เป็นเจ้าอย่างเท่าเทียมกัน ท่านศาสดามุฮัมหมัดได้กล่าวถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ไว้ว่า
“มนุษย์ทุกคนต่างเท่าเทียมกันดั่งก้านของหวี คนอาหรับไม่ได้เหนือกว่าคนที่ไม่ใช่อาหรับ หรือผู้ชายก็ไม่ได้เหนือกว่าผู้หญิง ผู้ที่มีความยำเกรงต่อผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่เป็นชื่นชอบของพระองค์”
ท่านอิบนิ ตัยมียะฮ์ นักวิชาการคนสำคัญของโลกมุสลิม (ค.ศ.1263- 1328) ได้ให้ความเห็นว่า “ผู้ที่มีความอยากอยู่สูงเหนือผู้อื่นนั้น นับเป็นสิ่งที่อยุติธรรมเพราะมนุษย์ทุกคนต่างเป็นสัตว์สปีซี่ (ชนิด) เดียวกัน” อิสลามมองว่ามนุษย์ทุกคนต่างเป็นลูกหลานของท่านนบีอาดัมกับนางฮาวา ซึ่งมุมมองดังกล่าวเป็นข้อเสนอของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งและเรียกร้องสู่ความสมานฉันท์
5. ความศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตมนุษย์
แนวทางการสร้างสันติภาพและสันติวิธีมีพื้นฐานคุณคื่ที่ว่าชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์และมีคุณค่าที่จะต้องได้รับความปลอดภัยและได้รับการปกป้องจากความรุนแรง ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญหากแต่ถูกสร้างจากผู้เป็นเจ้าอย่างมีความหมายและมีเป้าหมายที่ชัดเจน
“และเรามิได้สร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสิ่งที่อยู่ในระหว่างทั้งสอง เพื่อการสนุกสนานอย่างไร้ประโยชน์” อัล-กุรอ่าน (21: 16)
“และเรามิได้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดิน และสิ่งที่อยู่ระหว่างทั้งสองอย่าง อย่างไร้สาระ” อัล-กุรอ่าน (44: 38)
และคุณค่าคำสอนของอิสลามได้ให้ความสำคัญและรับประกันว่าชีวิตและการงานของมนุษย์จะต้องได้รับการปกป้องและห้ามมีการล่วงละเมิด การฆ่าทำลายชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งโดยไร้เหตุผลจึงนับเป็นบาปใหญ่ในอิสลาม
“แท้จริงผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล และหากผู้ใดรักษาชีวิตหนึ่งก็ประหนึ่งว่าเขาได้รักษาชีวิตมนุษย์ทั้งมวล” อัล-กุรอ่าน (5: 32)
หรือแม้แต่การทำลายทรัพยากรอันเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ก็เป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม ดังตัวอย่างในช่วงยุคต้นของอิสลาม ท่านอะบูบักร ผู้นำท่านแรกที่สืบทอดการปกครองต่อจากท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้วางกฎเกณฑ์ในช่วงการทำสงครามไว้ดังนี้
โอ้พี่น้องทั้งหลาย ฉันขอวางกฎเกณฑ์ เพื่อเป็นแนวทางแก่ท่านในสนามรบ ดังนี้ จงอย่าทรยศหรือเบี่ยงเบนไปจากหนทางที่ถูกต้อง จงอย่าทำร้ายศพที่ตายไปแล้ว จงอย่าฆ่าเด็ก ผู้หญิง คนชรา หรือผู้ป่วย จงอย่าสร้างความเสียหายหรือเผาต่อต้นไม้ (จงอย่าฆ่าศัตรูคนใดที่อยู่ในศาสนสถาน จงสำรองอาหาร ท่านจะผ่านพบผู้คนที่อุทิศตนให้กับการบำเพ็ญธรรม (นักบวชในศาสนาอื่น) จงอย่าฆ่าคนเหล่านั้น
โดยสรุป การริเริ่มสู่การสร้างสันติภาพในอิสลามจึงต้องสร้างและพัฒนาเงื่อนไขที่จะปกป้องชีวิตและเกียรติศัดิ์ศรีของมนุษย์ และสนับสนุนความเท่าเทียมกันของทุกคนไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติ หรือนับถือศาสนาใดก็ตาม
6. การมุ่งสู่สันติสุข
สันติภาพที่แท้จริงในทัศนะอิสลามคือ สภาวะที่กลมกลืนกันทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจและจิตวิญญาน เป็นการดำรงอยู่อย่างสันติโดยยอมจำนนต่อผู้เป็นเจ้า ตลอดจนอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติและด้วยความยุติธรรมอันเป็นเป้าหมายของการดำรงอยู่ของมนุษย์
ดังนั้น สันติภาพจึงเป็นสภาวะทั้งในระดับภายในของปัจเจกบุคคลและในระดับสังคม โดยมีผู้เป็นเจ้าทรงเป็นคุ้มครองรักษา การยอมจำนนต่ออำนาจผู้เป็นเจ้าโดยสมบูรณ์จึงเป็นหลักรับประกันในการสร้างสันติภาพในทัศนะอิสลาม
“เจ้าจงปราบความชั่ว ด้วยสิ่งที่ดียิ่ง (คือ ด้วยการอภัย และทำตัวเป็นผู้มีมารยาทดี เพื่อดึงดูดจิตใจ ทำให้การเป็นศัตรูกลายเป็นมิตร และความโกรธแค้นกลายเป็นความรักใคร่)” อัล-กุรอ่าน (23: 96)
“และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายแต่อัลลอฮฺเถิด แท้จริงนั้นพระองค์คือผู้ทรงได้ยินทรงรอบรู้” อัล-กุรอ่าน (8: 61)
ชีวิตของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการตอบโต้ความชั่วร้ายด้วยความดีงาม ครั้งหนึ่ง มีชาวยิวคนหนึ่งได้มาหาท่านนบีและกล่าวว่า “ขอความตายจงประสบแก่ท่าน” ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ผู้เป็นภรรยาได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกโกรธและตอบโต้ด้วยการขออัลลอฮ์ (ซ.บ.) สาปแช่งชาวยิวผู้นั้น ท่านนบีจึงปลอบท่านหญิงอาอิชะฮ์ว่า “จงสุภาพเถิด โอ้ อาอิชะฮ์ และขอให้ท่านเอาตัวออกห่างจากความหยาบคาย”
อิสลามจึงเป็นศาสนาที่เรียกร้องให้มุสลิมต้องเป็นผู้ใฝ่ในสันติไม่ใช่กระหายสงครามและนิยมความรุนแรง แม้ว่าชีวิตของท่านศาสดาจะถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกทำร้าย หรือแม้กระทั่ง บรรดาญาติและมิตรสหายผู้ใกล้ชิดถูกฆ่าอย่างโหดร้ายและแม้กระทั่งศพพวกเขายังถูกทำร้ายอย่างป่าเถื่อนจนท่านเสียใจเป็นที่สุด แต่ท่านไม่เคยคิดเครียดแค้นต่อศัตรูของอิสลามและกลับให้อภัยพวกเขาเหล่านั้นจนท่านชนะจิตใจของชนชาวมักกะฮ์ในที่สุด เพราะท่านยึดมั่นในคำสอนอัล-กุรอ่านที่ว่า
“และความดีและความชั่วนั้นหาเท่าเทียมกันไม่ เจ้าจงขับไล่ (ความชั่ว) ด้วยสิ่งที่มันดีกว่าแล้วเมื่อนั้นผู้ที่ระหว่างเจ้ากับระหว่างเขาเคยเป็นอริกันก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน” อัล-กุรอ่าน (41: 34)
“และจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์เถิด และจงอย่าขัดแย้งกัน จะทำให้พวกเจ้าย่อท้อ และทำให้ความเข้มแข็งของพวกเจ้าหมดไป และจงอดทนเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอยู่กับผู้ที่อดทนทั้งหลาย” อัล-กุรอ่าน (8: 46)
อย่างไรก็ตาม คงจะไม่สามารถกล่าวถึงหลักการและคุณค่าในการสร้างสันติภาพในทัศนะอิสลามได้อย่างสมบูรณ์หากไม่มีการพูดถึงประเด็นเรื่องคุณค่าของ “การญิฮาด” ถึงแม้ว่า นักวิชาการมุสลิมต่างยอมรับถึงเงื่อนไขที่จำกัดของการสามารถใช้กำลังได้ แต่ก็มีการถกเถียงอย่างมากในหมู่นักวิชาการทั้งมุสลิมและผู้ไม่ใช่มุสลิมเกี่ยวกับบริบทและการตีความหมายเกี่ยวกับ “การญิฮาด” มีงานศึกษาจำนวนมากที่สรุปว่า “ญิฮาด” ไม่ได้หมายถึง การใช้อาวุธเข้าแก้ไขปํญหาความขัดแย้งกับศัตรูที่ไม่ใช่เป็นชาวมุสลิม หรือกับชาวมุสลิมด้วยกัน หากอัล-กุรอ่าน ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำญิฮาดแบบสันติวิธี เช่น การต่อสู้เพื่อเอาชนะอารมณ์ของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นการญิฮาดที่ยิ่งใหญ่และทำสำเร็จได้ยากที่สุด เป็นต้น
มีความเข้าใจที่ผิดพลาดของคนจำนวนมาก (ทั้งมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม) ไม่ว่าจะเป็นไปโดยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ที่ให้ความหมายของคำว่า “ญิฮาด” ว่าหมายถึง การทำ “สงครามศักดิ์สิทธิ์” (holy war) ในประเด็นนี้ Khaled Abou El Fadl[3] ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายอิสลาม ได้ให้ทัศนะอย่างน่าสนใจว่า ในทางเทววิทยาอิสลาม “สงคราม” ไม่เคยศักดิ์สิทธิ์ (holy) ไม่ว่าสงครามนั้นจะเป็นไปโดยชอบธรรมหรือไม่ หากเป็นสงครามที่ชอบธรรมเพื่อป้องกันศาสนาตัวเอง ผู้ที่เสียชีวิตในสนามรบถือว่าเป็นผู้ที่พลีชีพเพื่อศาสนา (martyrs) คัมภีร์อัล-กุรอ่าน ไม่เคยยอมรับการทำสงครามที่ไร้ขอบเขต ไม่มีที่สิ้นสุด และต่อต้านการใช้เหตุผลเพียงผิวเผินเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำสงคราม และแม้แต่การพลีชีพเพื่อศาสนาหากเป็นไปเพียงเพื่อต้องการสนองอารมณ์ส่วนตัว ผู้พลีชีพนั้นจะต้องถูกพิพากษาจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นบุคคลแรก ดังมีรายงานจากอัล-หะดิษ ดังนี้
จากรายงานของท่านอะบู ฮุรอยเราะฮ์ ได้รายงานว่า ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
“บุคคลแรกที่จะถูกสอบสวนในวันพิพากษา (หลังจากที่เสียไปชีวิตแล้ว) คือ บุคคลที่ตายในฐานะผู้ที่พลีชีพเพื่อศาสนา (martyrs) เขาจะถูกนำมาอยู่ต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจะบอกให้เขานับความโปรดปรานที่พระองค์มอบให้แก่เขาเมื่ออยู่ในโลกนี้ และเขาก็จะนับมัน หลังจากนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะถามว่า ‘แล้วท่านได้ทำสิ่งใด (ให้ฉัน) บ้าง’ เขาจะตอบว่า ‘ข้าพระองค์ได้ต่อสู้เพื่อพระองค์จนกระทั่งกลายเป็นผู้พลีชีพเพื่อศาสนา’ และพระผู้เป็นเจ้าจะกล่าวขึ้นว่า ‘ท่านกำลังพูดโกหก ท่านได้ต่อสู้เพียงเพื่ออยากจะได้ชื่อว่าเป็นนักรบผู้กล้าหาญเท่านั้น และท่านก็ได้รับชื่อเสียงนั้นไปแล้ว’ ดังนั้น เขาจึงถูกพิพากษาให้ตกนรกไปในที่สุด” (หะดิษ-ศอเฮี๊ยะมุสลิม 4688)
7. การสร้างสันติภาพเพื่อลดความขัดแย้ง
การสื่อสารกันแบบตัวต่อตัวในท่ามกลางความขัดแย้งนั้นย่อมมีผลดีกว่าการละเลยปัญหาหรือใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา การเจรจาสื่อสารกันจึงเป็นการช่วยลดความขัดแย้งที่รุนแรงลงได้และช่วยแสดงออกถึงความเสียใจที่เคยกระทำไปโดยทุกฝ่าย ในที่นี้ ผู้เป็นคนกลางมีบทบาทสำคัญในการเจรจาสร้างสันติภาพเพื่อลดความขัดแย้งอันอาจนำสู่การใช้ความรุนแรง
อิสลามสนับสนุนให้มุสลิมมีบทบาทและทำหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานขั้วขัดแย้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
“และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้วพวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม(แก่ทั้งสองฝ่าย) เถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม” อัล-กุรอ่าน (49: 9)
“ไม่มีความดีใดๆ ในการพูดซุบซิบอันมากมายของพวกเขา นอกจากผู้ที่ใช้ให้ทำทานหรือให้ทำสิ่งที่ดีงาม นอกจากผู้ที่ใช้ให้ทำงานหรือให้ทำสิ่งที่ดีงาม หรือให้ประนีประนอมระหว่างผู้คนเท่านั้น และผู้ใดกระทำดังกล่าวเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺแล้ว เราจะให้แก่เขาซึ่งรางวัลอันใหญ่หลวง” อัล-กุรอ่าน (4: 114)
ดังนั้น จากคำสอนของอิสลามให้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยความก้าวร้าวรุนแรงและมีอคติระหว่างกันจึงสอดคล้องและมีประสิทธิภาพตามหลักการของการสร้างสันติภาพเพื่อลดความขัดแย้งที่จะนำสู่ความรุนแรง
8. การให้อภัย
อิสลามมีคำสอนเช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ ในหลายศาสนาที่ให้คุณค่าอย่างมากกับการรู้จักให้อภัยมากกว่าการมุ่งโกรธเกลียดเคียดแค้น
“และการตอบแทนความชั่วคือความชั่วเยี่ยงมัน แต่ผู้ใดอภัย และไกล่เกลี่ยคืนดีกัน รางวัลตอบแทนของเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ไม่ชอบบรรดาผู้อธรรม” อัล-กุรอ่าน (42: 40)
การให้อภัยเป็นวิถีที่ผู้คน (ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม) พึงมีต่อกันและกัน ดังที่คัมภีร์อัล-กุรอ่าน กล่าวไว้ว่า
“เจ้า (มุฮัมมัด) จงยึดถือไว้ซึ่งการอภัย และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และจงผินหลังให้แก่ผู้โฉดเขลาทั้งหลายเถิด” อัล-กุรอ่าน (7: 199)
“และบรรดาผู้ที่หลีกเลี่ยงการทำบาปใหญ่และการทำลามก และเมื่อพวกเขาโกรธพวกเขาก็อภัยให้” อัล-กุรอ่าน (42: 37)
เมื่อท่านนบีสามารถเข้าครอบครองเมืองมักกะฮ์ พร้อมกับบรรดาอัครสาวกผู้ติดตามจำนวนมาก และเมื่อท่านพบกับชาวมักกะฮ์ผู้ไล่ล่าและเข่นฆ่าทำร้ายชาวมุสลิมอย่างโหดร้าย แต่ท่านกลับยกมือขอพรจากผู้เป็นเจ้าว่า “ขอผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยพวกเขาเหล่านั้นด้วยเถิด เพราะพวกเขาไม่รู้ในสิ่งที่ตนเองได้ทำไป” ความเมตตาต่อผู้อื่นเป็นคุณค่าสำคัญในอิสลามและเป็นเงื่อนไขที่จะนำสู่การให้อภัย อิสลามสอนว่า “ผู้เป็นเจ้าจะให้อภัยต่อผู้ที่มีความเมตตาต่อผู้อื่น” หรือ” ผู้ใดที่ไร้ความเมตตา ไร้ความดี” และเมื่อท่านนบีถูกชาวมุสลิมเรียกร้องให้ทำการแก้แค้นต่อชาวมักกะฮ์ที่เคยทำร้ายชาวมุสลิมอย่างโหดร้าย ท่านจึงได้ยกคำสอนของผู้เป็นเจ้าว่า
“และเรามิได้ส่งเจ้า (มุฮัมหมัด) มาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย” อัล-กุรอ่าน (21: 107)
การให้อภัยนับเป็นคุณค่าสำคัญในหลักการและกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติการของการสร้างสันติภาพทั่วโลก
9. ความรับผิดชอบในการกระทำและการตัดสินใจ
อิสลามเป็นศาสนามองว่าการปฏิบัติเป็นสิ่งพิสูจน์ความศรัทธาของคนเป็นมุสลิม และมนุษย์ทุกคนจะต้องถูกสอบสวนในวันฟื้นคืนชีพและจะต้องรับผิดชอบในการกระทำทุกอย่างของตนเอง
“ดังนั้นผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน ส่วนผู้ใดกระทำความชั่วหนักเท่าละอองธุลีเขาก็จะเห็นมัน” อัล-กุรอ่าน (99: 7-8)
“หากพวกเจ้าทำความดี พวกเจ้าก็ทำเพื่อตัวของเจ้าเอง และหากว่าพวกเจ้าทำความชั่วก็เพื่อตัวเอง” อัล-กุรอ่าน (21: 107)
“แท้จริง บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบคุณงามความดีทั้งหลายนั้น พระผู้ทรงกรุณาปรานีจะทรงโปรดปรานความรักใคร่แก่พวกเขา” อัล-กุรอ่าน (19: 96)
“ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขา ที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้” อัล-กุรอ่าน (16: 97)
สำหรับมุสลิมมีความรับผิดชอบส่วนบุคคล 3 ประการ ที่จะถูกตัดสินโดยผู้เป็นเจ้าคือ
1) ความรับผิดชอบต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) ผู้เป็นเจ้า เกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามศาสนบัญญัติ
2) ความรับผิดชอบต่อตนเอง คือ อยู่อย่างเป็นสุขสงบกับตัวเอง
3) ความรับผิดชอบต่อผู้อื่น คือ อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติ
ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ย้ำว่าทุกคนมีอำนาจในการเลือกตัดสินใจในการกระทำของตนเอง และทุกคนจะได้รับผลในการตัดสินนั้นๆ จากผู้เป็นเจ้าอย่างเที่ยงธรรม ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสร้างสรรค์ให้เกิดสันติภาพในสังคมจึงนับเป็นการกระทำดีที่เราจะได้รับรางวัลจากผู้เป็นเจ้า
10. ความอดทน
มุสลิมถูกสอนให้ต้องเป็นผู้อดทนซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญของผู้มีความศรัทธาในผู้เป็นเจ้าไม่ว่าเขาจะเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากมายเช่นไรก็ตาม
“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอาศัยความอดทน และการละหมาดเถิด แท้จริงอัลลออ์นั้นทรงอยู่ร่วมกับผู้อดทนทั้งหลาย” อัล-กุรอ่าน (2: 153)
“แน่นอนยิ่งพวกเจ้าจะถูกทดสอบ.....และหากพวกเจ้าอดทนและยำเกรงแล้ว แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่เด็ดเดี่ยว” อัล-กุรอ่าน (3: 186)
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงมีความอดทน และจงต่างอดทนซึ่งกันและกันเถิด” อัล-กุรอ่าน (3: 200)
ความอดทนเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้มีความศรัทธารวมทั้งคนทำงานด้านการสร้างสันติภาพในการรณรงค์สู่เปลี่ยนแปลงสังคมด้วยสันติวิธี ดังนั้น การเรียกร้องให้มุสลิมใช้ความอดทนและรู้จักควบคุมตนเองในสถานการณ์ความขัดแย้งจะทำให้เป็นนักสร้างสันติภาพที่ดีในท่ามกลางความขัดแย้ง
11. กระบวนการมีส่วนร่วมและยอมรับซึ่งกันและกัน
การมีส่วนร่วมและเปิดใจยอมรับทุกฝ่ายย่อมเป็นผลดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้อำนาจแบบเผด็จการและปิดกั้นการตัดสินใจ ยุทธศาสตร์ในการสร้างสันติภาพวางอยู่บนพื้นฐานให้ทุกฝ่ายเข้าสู่การเจรจาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันหรืออาจใช้คนกลางช่วยดำเนินการในการไกล่เกลี่ย
อิสลามส่งเสริมให้มนุษย์เปิดใจกว้างมากกว่าที่จะมีจิตใจคับแคบ โดยใช้หลักความยุติธรรมแทนที่ความอยุติธรรม หลักการนี้สะท้อนได้ดีในระบบการปกครองแบบชูรอ (การปรึกษาหารือ) ความหมายของระบบชูรอ คือ ความสมานฉันท์ในสังคมที่เกิดจากการที่ทุกฝ่ายได้พูดคุยเสวนากันโดยอิสระอย่างแท้จริง แสดงความคิด ความเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ปกครองจะเก็บรวมรวมความเห็นหรือคำแนะนำทั้งหมดจากหมู่มวลสมาชิกเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป
“และบรรดาผู้ตอบรับต่อพระเจ้าของพวกเขาและดำรงละหมาด และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา” อัล-กุรอ่าน (42: 38)
บทบาทสำคัญของกระบวนการชูรอในระบบการปกครองตามแนวอิสลามเป็นที่ถกเถียงในกันอย่างมากในแวดวงหมู่นักวิชาการโดยเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไมได้ขัดกับหลักการของอิสลาม ทั้งนี้เนื่องจากผู้เข้าร่วมในระบบชูรอจะประกอบด้วยผู้คนทุกภาคส่วนในสังคม โดยยึดหลักการสำคัญดังนี้
1. เป็นการปกครองเพื่อคนโดยส่วนรวม เป็นความพึงใจและได้รับความเห็นชอบจากคนทั้งชุมชนมากกว่าจากผู้ที่เป็นตัวแทนเท่านั้น
2. การจะได้รับการมีชีวิตที่ดี มีศาสนาและนำสู่ประโยชน์สาธารณะร่วมกันนั้น ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองเท่านั้น เช่น ระบบการจ่ายซะกาต เป็นหน้าที่รับผิดชอบของมุสลิมทุกคนที่จะต้องให้ความช่วยเหลือค้ำจุนสมาชิกอื่นๆ ในสังคม
3. เสรีภาพเป็นสิทธิของคนทุกคน หากเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้รับการรับรองในสังคม ระบบชูรอก็ย่อมไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างแท้จริง
4. มนุษย์ทุกคนต่างมีความเท่าเทียมกัน มีพ่อ-แม่ คนเดียวกัน และต่างถูกสร้างมาจากวิญญาณเดียวกัน
5. ผู้อื่นที่ต่างจากเราย่อมมีสิทธิอำนาจเช่นกัน
6. การกดขี่และการไร้ความยุติธรรมเป็นสิ่งต้องห้ามเนื่องจากเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักคำสอนของอิสลามอย่างร้ายแรง
7. หลักการของระบบชูรอเป็นไปตามระบบกฎหมายอิสลามซึ่งจะต้องได้รับการปฏิบัติตามทั้งโดยผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป หลักดังกล่าวจะช่วยปกป้องประชาชนจากการฉ้อฉลของผู้ปกครอง
12. ความเป็นพหุลักษณ์และความหลากหลาย
ในประเพณีคำสอนของอิสลาม ความเป็นพหุลักษณ์และความหลากหลายเป็นคุณค่าที่มีความสำคัญอย่างมาก อัล-กุรอ่าน ได้ระบุถึงการให้มีความอดกลั้นต่อความหลากหลายที่ว่างอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างทางเพศ สีผิว ภาษา ความเชื่อและตำแหน่งทางสังคม ความสมานฉันท์ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนับเป็นคุณค่าที่ดีงามของสังคม ในขณะที่ ความพยายามจะแข่งขันและควบคุมเหนือผู้อื่นเป็นสิ่งที่ถูกตำหนิ อิสลามเชื่อว่าความแตกต่างเป็นลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นเจตจำนงค์ของผู้เป็นเจ้า
“และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์แน่นอนพระเองค์จะทรงทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน” อัล-กุรอ่าน (11: 118)
ดังนั้น อิสลามได้เน้นให้มุสลิมมีความอดกลั้นต่อผู้อื่นที่แตกต่างจากตน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม และจะต้องปฏิบัติดีต่อผู้อื่นโดยไม่ได้ใช้ความแตกต่างทางความเชื่อของศาสนามาเป็นเส้นแบ่งแยก นอกจากนั้นอัล-กุรอ่าน ได้เรียกร้องให้มุสลิมละเว้นการต่อสู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติสุข
ธรรมนูญมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นสัญญาที่ลงนามโดยท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) กับชนอาหรับหลายศาสนา หลายเผ่าพันธุ์ นับเป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายด้วยความอดกลั้น โดยถือว่าเป็นชุมชนหนึ่งเดียวกัน และจะร่วมกันปกป้องและช่วยเหลือกันและกันหากชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดถูกโจมตีจากศัตรูภายนอก
จากการให้ความเคารพและยอมรับในความหลากหลายดังกล่าว สามารถสรุปเป็นหลักการของอิสลามเพื่อให้มุสลิมดำรงอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติสุขในท่ามกลางความหลากหลาย ดังนี้
1. เกียรติศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จะต้องได้รับการปกป้องโดยสมบูรณ์ไม่ว่าคนผู้นั้นจะมีความแตกต่างทางศาสนาความเชื่อ ชาติพันธุ์ หรืออุดมการณ์ความคิดใดๆ ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้ได้รับการปกป้องโดยผู้เป็นเจ้า อัล-กุรอ่าน (17: 70)
2. มนุษย์ทุกคนต่างมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน อัล-กุรอ่าน (4: 1; 6: 98; 5: 32)
3. ความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์เป็นสิ่งสรรสร้างและเป็นกฎของผู้เป็นเจ้า อัล-กุรอ่าน (30: 22; 10: 99; 11: 118-119)
4. อิสลามไม่ยอมรับในการละเมิดศาสนาอื่นๆ อัล-กุรอ่าน (42: 15)
5. มุสลิมมีเสรีภาพที่จะเลือกและตัดสินใจหลังจากที่ผู้เป็นเจ้าได้ส่งสารอันชัดแจ้งแล้ว (อัล-กุรอ่าน 2:256; 18:29; 17:107; 109:4-6)
6. ผู้เป็นเจ้าคือผู้ที่จะเป็นผู้ตัดสินการกระทำของมนุษย์ทุกคนแต่เพียงพระองค์เดียว ท่านนบีเป็นเพียงผู้นำสารของพระองค์เท่านั้น (อัล-กุรอ่าน 42:48; 16:124; 31:23; 88:25, 26)
7. มุสลิมจึงต้องปฏิบัติแต่ความดีงาม ดำรงความเท่าเทียมและความยุติธรรมในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (อัล-กุรอ่าน 5:9; 4:135; 60:8)
ความอดกลั้นต่อความแตกต่างและการเคารพในความหลากหลายนับเป็นแก่นของหลักปฏิบัติในแนวทางการสร้างสันติภาพ นักสร้างสันติภาพต่างมีความหวังที่จะให้ผู้คนตระหนักในความแตกต่างเพื่อที่จะไม่ถูกนำไปใช้ในการเลือกปฏิบัติหรือสร้างอคติใดๆ คุณค่าเหล่านี้เป็นหลักการสำคัญในคำสอนของอิสลาม เพราะความหลากหลายเป็นพระประสงค์และเป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของผู้เป็นเจ้าแต่เพียงองค์เดียวที่มุสลิมทุกคนต้องให้การยอมรับเพราะมาดแม้พระองค์สงค์ประสงค์ที่จะทำให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวเหมือนกันทั้งหมดย่อมพระองค์ย่อมมีอำนาจที่จะทำได้อย่างแน่นอน
(กรุณาติดตามตอนต่อไป)
เอกสารอ้างอิง
มัสลัน มาหามะ (แปล). 2549. สันติภาพและสงครามระหว่างบทบัญญัติในอัลกุรอานและคัมภีร์โตราห์. กรุงเทพฯ: สำนักพิพม์อัล-อีหม่าน.
สุชาติ เศรษฐมาลินี. 2551. ความรุนแรง สันติภาพและความหลากหลายในโลกอิสลาม. กรุงเทพฯ : สยาม
อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา. 2547. อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ. ปัตตานี: มัจลิสอิลมีย์.
Abu-Nimer, Mohammed. 2008. A Framework for Nonviolence and Peacebuilding in Islam.
Muis Occasional Papers Series Paper No. 6. Singapore: Islamic Religious Council of Singapore.
. 2003. Nonviolence and Peacebuilding in Islam: Theory and Practice. Florida: University Press of Florida.
Cetin, muhammed. 2009. The Gulen Movement: Civic Service Without Borders. New York: Blue Dome Press.
Easwaran, Eknath. 2002. Nonviolent Soldier of Islam: Badsha Khan, A Man to Math His Mountains. California: Nilgiri Press.
Esposito, John and Ihsan Yilmaz. 2010. Islam and Peacebuilding: Gulen movement Initiatives. New York: Blue Dome Press.
Huda, Qamar-Ul. 2010. Crescent and Dove: Peace and Conflict Resolution in Islam. Washington, D.C.: United states Institute of Peace.
Khan, M. Ahsan. 2011. The Vision and Impact of Fethullah Gulen: A New Paradigm for Social Activism. New York: Blue Dome Press.
Pal, Amitabh. 2011. Islam Means Peace: Understanding the Muslim Principle of Nonviolence Today. California: Praeger.
Satha-Anand, Chaiwat. 1993. “The nonviolence Crescent: Eight Theses on Muslim Nonviolent Actions.” In G. Paige; C. Satha-Anand and S. Gilliatt. Islam and Nonviolence. Honolulu: Center for Global Nonviolence Planning Project.
[1] นอกเหนือจากงานที่ Abu-Nimer ได้สรุปไว้ในแนวนี้แล้ว ยังมีงานอิสลามกับการสร้างสันติภาพที่เป็นขบวนการคลื่อนไหวในระดับโลกที่น่าสนใจเป็นอย่างมากของขบวนการ Gulen Movement ที่มีต้นกำเนิดในประเทศตุรกี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสันติภาพโดยผ่านการวางระบบการศึกษาสมัยใหม่ การเสวนาระหว่างศาสนา และการบริการสังคมโดยภาคประชาสังคม ดูรายละเอียดได้ใน Esposito and Yilmaz (2010); Cetin (2009)
[2] ดูเพิ่มเติมในงานของ อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา (2547)
[3] อ้างใน สุชาติ เศรษฐมาลินี (2551)