'รอปิอ๊ะ สาแม' พี่ชายของเธอเป็นจำเลยและถูกสั่งประหารชีวิตใน 'เหตุการณ์ สภ.อ.แม่ลาน' ที่เกิดขึ้นพร้อม 'เหตุการณ์กรือเซะ' เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 เธอหาทางช่วยสู้คดี เพราะเชื่อว่าพี่ชายเป็นผู้บริสุทธิ์ ทุกวันนี้ ทำงานขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาชุมชน อสม.ของชุมชนควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เธอถามว่า (คดี)ความมั่นคงนี้เป็นของใคร เพราะครอบครัวและชุมชนไม่ได้ต้องการ |
หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข |
'รอปีอ๊ะ สาแม': (คดี)ความมั่นคงของใคร?
รอปีอ๊ะ สาแม
ปาตีเมาะ ยูโซ๊ะ
ภาพประกอบโดย: วิโชติ ไกรเทพ
ในค่ำคืนก่อนวันรายออีดีลฟิตรี เมื่อปี 2546 ฉันรีบวิ่งไปที่บ้านของพี่ชายที่อยู่ฝั่งตรงข้าม และตะโกนเรียกให้เปิดประตู ขณะนั้นพี่ชายกำลังเย็บหมวกกะปิเยาะห์ เพื่อที่จะรีบส่งหมวกไปฝากขายที่ซาอุฯ ในช่วงวันรายอฮัจย์ พี่ชายก็เปิดประตู ให้ฉันเข้าไป เห็นหมวกหลายร้อยใบที่เย็บเสร็จแล้ว วางเป็นมัดๆ หลายกอง ในขณะที่พี่สะใภ้กำลังต่อหมวกโดยเย็บด้วยมือ
พี่ชายถามฉันว่ามีเสื้อรายอใส่หรือยัง? ฉันบอกว่ายังไม่มี ด้วยน้ำเสียงที่เบาและอ่อนแรง เพราะว่าเสื้อที่สั่งให้เพื่อนเย็บนั้น ยังเย็บไม่เสร็จ พี่ชายก็บอกว่า ซื้อผ้ามาหรือยัง ให้ฉันกลับไปเอาผ้ามา เขาจะได้เย็บให้และปักดอกสีสดบนเสื้อให้สวยงามสมกับเป็นชุดรายอ ได้ยินแบบนั้น ดีใจมาก ฉันจึงรีบกลับไปที่บ้านเพื่อเอาผ้ามาให้พี่ชายเย็บ
แต่พี่ชายกังวลเรื่องหมวกที่ยังเย็บไม่เสร็จ บ่นให้ฉันฟังว่า แล้วหมวกฉันจะทันเย็บเสร็จมั้ยเนี้ยะ พรุ่งนี้เขาจะมารับหมวกไปขายแล้ว วินาทีนั้น รู้สึกน้อยใจ เพราะคิดว่าเขาคงไม่ทันเย็บเสื้อรายอให้ฉันใส่ในวันพรุ่งนี้แน่ จึงแอบกลับไปร้องไห้เหมือนเด็กๆ เพราะวันรายอ ทุกคนจะมีเสื้อสวยๆ ใส่ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่
เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันรายอ ยาซีรซึ่งเป็นลูกชายของพี่ชาย นำเสื้อรายอที่พี่ชายเย็บเสร็จแล้วมาให้ฉันที่บ้าน เป็นเสื้อยาวแนวปากี พื้นสีเทา ดอกที่ปักสีแดงเป็นลายดอกไม้ป่า เกษรเหมือนหนวดหมึกสีเขียวอ่อน ลวดลายบริเวณคอ ขอบขาวสีน้ำเงินเป็นลายก้นหอย ซึ่งเป็นลายเดียวกับที่เย็บบนหมวกกะปีเยาะห์
ฉันเอาเสื้อมาลองใส่ ก็พอดีกับตัว ทั้งๆ ที่พี่ชายเย็บโดยไม่วัดตัว ความรู้สึกตอนนั้นคือ ไม่มีเสื้อปากีตัวไหนสวยเท่าตัวนี้อีกแล้ว ฉันใส่เสื้อรายอนี้ ทุกครั้งที่ออกงานและจะบอกเพื่อนๆ ด้วย ความภาคภูมิใจว่า พี่ชายเป็นคนเย็บเสื้อให้และปักดอก
จนมาถึงในวันที่เกิดเหตุ ที่เขาไม่อยู่ เสียแล้ว ฉันก็เลิกใส่ และเก็บเสื้อรายอนี้ใส่ในปลอกหมอนยาวที่ฉันนอนหนุนทุกคืน เพื่อรำลึกและฝันถึงเขา
………………………….
วันที่ 28 เมษายน 2547 “เหตุการณ์กรือเซะ” วันนั้นฉันจำได้ดี มันยังติดตาและฝังใจ จำได้ว่าฉันอยู่ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ฉันไปกรีดยางกับสามี เวลาตีห้า หลังจากละหมาดซุบฮี หลังจากรีดยางจนเสร็จเวลาประมาณเจ็ดโมงเช้า ฉันก็ได้มานั่งพักที่กระท่อมในสวนยางสักครู่ ระหว่างนั้นก็ได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ของน้องเขยสามีขับผ่านมา
น้องเขยสามีเดินเข้ามาหาด้วยอาการตื่นตระหนก แจ้งข่าวกับฉันว่า ทางบ้านโทรมาบอกว่า “อาแบถูกยิง” ฉันแทบช๊อค และถามกลับไปด้วยความสับสน “ถูกยิงที่ไหน” น้องเขยตอบกลับมาว่าไม่แน่ใจ เพราะวันนี้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นหลายจุด โดยเฉพาะที่สามแยกบ้านเนียงและที่มัสยิดกรือเซะ น้องเขยบอกว่าเขาดูข่าวจากทางโทรทัศน์
รู้สึกสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก มันเกิดอะไรขึ้น และเหตุความรุนแรงมันเกี่ยวข้องอะไรกับพี่ชายฉัน ได้แต่ปลอบใจตนเองว่าพี่ชายคงจะถูกลูกหลงจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น และหวังว่าเขาต้องปลอดภัย
ฉันรีบกลับบ้านทันที ขับรถไปจนถึงสามแยกบ้านเนียง เห็นผู้คนกำลังยืนอยู่กันเต็มถนน ใกล้ๆ กันนั้นมีร่องรอยของคราบเลือดเต็มไปหมด เห็นดังนั้น ก็รีบขับรถให้เร็วขึ้น เพื่อให้ถึงที่บ้านให้เร็วที่สุด จนฉันขับรถเข้าไปถึงที่หมู่บ้านบ้านส้ม ต.ควนโนรี ปรากฏว่าภายในหมู่บ้านเงียบเชียบเหมือนเมืองร้าง เมื่อเข้าไปในบ้านของฉัน ก็ไม่มีใครอยู่บ้านเลยสักคน ก็เริ่มรู้สึกใจไม่ดี รีบวิ่งไปถามเพื่อนข้างบ้าน เขาบอกว่าครอบครัวของฉันไปตามหาพี่ชาย รวมทั้งชาวบ้านคนอื่นๆ ก็ไปตามญาติพี่น้องของตัวเองที่หายตัวไปพร้อมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฉันจึงต้องรออยู่ที่บ้านด้วยความงุนงงกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ระหว่างที่ฉันรอฟังข่าวคราวจากครอบครัว ก็เปิดทีวีบ้างและเปิดรายการวิทยุบ้าง ปรากฏว่าผู้ประกาศข่าวแจ้งรายชื่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหนึ่งในนั้นก็มีชื่อ 'อับดุลรอนี เจ๊ะเล๊าะ' พี่ชายของฉัน ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และแจ้งให้ญาติที่เกี่ยวข้องสามารถไปเยี่ยมได้ในวันพุธ คืออีกห้าวันข้างหน้าที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร
เมื่อถึงวันพุธฉันและครอบครัวมุ่งหน้าไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ โดยไม่รอช้า เมื่อไปถึงก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อทหารออกมาแจ้งว่าพี่ชายของฉันไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว แต่ฉันก็ยืนกรานไม่ยอมกลับ ระหว่างนั้นเห็นนักข่าวมาคอยทำข่าวบริเวณนั้นอยู่มาก จึงขอให้นักข่าวช่วยตามหาพี่ชายของฉันอีกแรง ขณะนั้นทางทหารเห็นว่าฉันและครอบครัวไม่ยอมกลับ จึงให้ฉันและครอบครัวขึ้นรถทหารไป แต่มีข้อแม้ห้ามบอกนักข่าวให้รู้ว่าพี่ชายยังอยู่ที่นี่
ระหว่างนั้นทหารที่พาฉันและครอบครัวไป ได้ขับรถ วกไป วนมา จนมาหยุดที่โรงพยาบาลค่าย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากทางเข้าไม่มากนัก เมื่อลงจากรถทหาร ฉันเริ่มรู้สึกกลัว เริ่มไม่กล้าที่จะยอมรับความจริงกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ฉันจึงให้แม่ พี่สะใภ้และหลานๆ (ลูกของพี่ชาย) เข้าไปพบพี่ชายก่อน ส่วนฉันนั่งรออยู่ด้านนอกและมีโอกาสสอบถามเจ้าหน้าที่ทหารท่านหนึ่ง เขาบอกว่าได้หัวหน้าแล้วคนหนึ่ง ท่าทางเคร่งครัดมากเลย ละหมาดไม่ยอมหยุด ฉันจึงถามว่าคนไหนหรือ เขาจึงชี้ไปที่พี่ชายของฉัน พร้อมตอบกลับมาว่าคนที่กำลังฟอกเลือดอยู่นั้นไง
ฉันรู้สึกตกใจมากเลย ในสายตาของทหารคนที่ละหมาดกลายเป็นหัวหน้าโจรขึ้นมาทันที ฉันได้แต่คิดในใจว่าจะต้องพิสูจน์ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
จากนั้นจึงเข้าไปเยี่ยมพี่ชายที่ห้องพยาบาล ต่อจากคนอื่น ๆ เมื่อเข้าไปก็เห็นสภาพพี่ชายที่มือถูกพันธนาการด้วยกุญแจมือที่ล็อกติดกับเตียงเหล็ก ที่หน้าอกมีผ้าพันแผลพันห้ามเลือด หน้าตาซีดเซียว ที่หัวก็มีรอยเย็บ ฉันเข้าไปกอดพี่ชายด้วยความเป็นห่วง พร้อมคำถามแรกว่า “เกิดอะไรขึ้น?” พี่ชายเล่าว่า “คนชื่อ xxxx เป็นคนชวนให้ช่วยไปส่งคนไปถางป่า” จากนั้นพี่ชายก็ร้องไห้
ฉันเห็นพี่ชายแล้วรู้สึกสงสารจับใจ พี่ชายถามกลับมาว่าเขาจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ ฉันปลอบว่าให้อาการดีขึ้นก่อนแล้วค่อยกลับบ้าน จากนั้นเขาถามอีกว่าแล้วเขาจะส่งเราไปไหนต่อ เขาจะให้เรากลับบ้านหรือเปล่า ในเมื่อเราไม่ได้ทำผิด พี่ชายพูดจบพร้อมกับขอให้ฉันช่วย ฉันไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะฉันก็ยังไม่รู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลยว่ามันมีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร มีแต่ความสับสน
ก่อนที่ฉันจะออกจากห้องพยาบาล ก็ได้มีนายตำรวจคนหนึ่งเข้ามาบอกให้ฉันหาทนายมา ต้องเป็นทนายที่เก่งด้วย มิฉะนั้นพี่ชายฉันอาจติดคุกแน่นอน คำพูดนั้น ทำให้ฉันยิ่งรู้สึกปวดหัวและเครียดยิ่งขึ้นกว่าเดิม จึงเริ่มตั้งสติและคิดหาทางออกเพื่อแก้ปัญหา
ขั้นแรกที่คิดได้คือต้องถามคนที่รู้เรื่องและอยู่ใกล้ตัวมากที่สุด นั่นคือผู้ใหญ่บ้าน ฉันเริ่มไปหาผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอคำปรึกษาแต่คำตอบที่ได้รับทำให้ฉันรู้สึกท้อแท้เหลือเกิน ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า “คดีของพี่ชายเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ โอกาสที่จะได้รับการปล่อยตัวนั้นคงยาก”
ขณะนั้นนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะช่วยพี่ชายได้อย่างไร ได้แต่เพียงไปเยี่ยมพร้อมคำปลอบใจเท่านั้น หลังจากนั้นพี่ชายของฉันก็ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี ฉันและครอบครัวเริ่มมีความหวังที่จะสู้เพื่อพี่ชายอันเป็นที่รักของฉันอีก
ฉันเริ่มเรียนรู้ที่จะคิดหาทนายความเพื่อเป็นที่ปรึกษาเรื่องคดีความและช่วยเหลือพี่ชายต่อไป พ่อเลี้ยงฉันได้แนะนำทนายอาสาคนหนึ่งให้ช่วยพี่ชายของฉัน ทนายคนนี้เขาทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ เขาไม่ต้องการค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ฉันอยากจะให้ แต่เขาไม่เอา ฉันจึงได้ปรึกษาทนายคนนี้และเตรียมยื่นเรื่องประกันตัวโดยใช้โฉนดที่ดินของญาติเป็นหลักประกัน แต่ก็ต้องผิดหวัง เมื่อศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ฉันและครอบครัวได้พยายามดำเนินการยื่นเรื่องประกันตัวพี่ชายอีกครั้ง แต่ศาลก็ไม่อนุญาตเหมือนเดิม ระหว่างที่พี่ชายถูกควบคุมตัว ฉันและครอบครัวต้องดิ้นรนทุกอย่างเพื่อหาทางช่วยเหลือ คงไม่มีใครเข้าใจถึงความลำบากของชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่เคยเข้าใจขั้นตอนการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยขึ้นโรงขึ้นศาล แล้วต้องมาลุกขึ้นทำในสิ่งที่เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านธรรมดาๆ
แล้ววันที่รอคอยก็มาถึง นั่นคือวันที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของพี่ชาย และผลคำพิพากษาก็ทำให้ฉันและครอบครัวแทบหมดแรง เมื่อศาลพิจารณาพิพากษาให้ประหารชีวิต ฉันและครอบครัวจึงดำเนินการยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อ ซึ่งพี่ชายของฉันก็ยังให้การปฏิเสธเช่นเดิม และศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ประหารชีวิตอีก
ฉันและครอบครัวไม่ยอมละความพยายามในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพี่ชาย จึงก็ยื่นเรื่องฎีกา ซึ่งระหว่างนี้มีคนแนะนำว่า หากรับสารภาพก็จะทำให้โทษเบาลงกว่าเดิม จากโทษที่จะถูกประหารชีวิต ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่สุดท้ายพี่ชายของฉันก็ยังยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง โดยยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทุกศาล ถึงแม้ว่าจะถูกประหารชีวิตก็ตาม และตลอดระยะเวลาที่รอผลการพิจารณาคดีในชั้นฎีกา ฉันและครอบครัวอยู่ด้วยความเครียดมาตลอด เพราะกังวลเรื่องผลคดีว่าจะเป็นเช่นไร เพราะมันหมายถึงความเป็นและความตายของพี่ชาย แต่สุดท้ายผลของศาลฏีกา ได้เปลี่ยนคำพิพากษาให้จำคุกพี่ชายตลอดชีวิต มันทำให้ฉันและครอบครัวรู้สึกโล่งใจ จำคุกตลอดชีวิตก็ยังดีกว่าถูกประหารชีวิต
แม้ผลการพิจารณคดีของพี่ชายฉันสิ้นสุดลงแล้ว แต่คำถามที่ยังค้างคาในใจของฉันและครอบครัวกลับไม่ได้รับคำตอบ
ทำไมต้องเป็นพี่ชายของฉัน พี่ชายที่เป็นคนดี มีน้ำใจ คอยช่วยเหลือผู้อื่นมาโดยตลอด พี่ชายที่ซื่อตรง ไม่เคยคิดร้ายและไม่เคยว่าร้ายคนอื่น?
ทำไมต้องเป็นพี่ชายของฉัน ทั้งๆ ที่เขาและครอบครัวใช้ชีวิตอาศัยอยู่ที่ประเทศซาอุดิอารเบีย มานาน ตั้งเกือบ 20 ปี ที่เขาและครอบครัวประกอบอาชีพที่นั่น โดยที่ไม่ค่อยได้กลับมาเยี่ยมครอบครวของฉันที่ประเทศไทยเลย เขาเพิ่งกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยเป็นเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี แล้วเขาจะไปเป็นแนวร่วมกับเหตุการณ์ความไม่สงบตอนไหน?
ทำไมวันเกิดเหตุ พี่ชายฉันใส่เสื้อตาโละบลางอสีแดง ซึ่งเป็นการแต่งกายที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่ร่วมก่อเหตุทั้งหมด ซึ่งพวกเขาทุกคนใส่ชุดสีดำ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับก่อเหตุ?
และทำไมพี่ชายของฉันถึงยังยืนยันที่จะปฎิเสธข้อกล่าวหาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ทั้งๆ ที่หากรับสารภาพนั่นคือ การรอดชีวิต และหากยืนยันปฏิเสธ นั่นคือความตาย?
เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อบุคคลหลายๆ กลุ่ม เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ณ ที่ใด ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินย่อมส่งผลตามกันมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเจ็บปวด ความเกลียดชัง และความเคียดแค้น ก็เริ่มขึ้น ก่อตัวขึ้นเป็นธรรมดา ในฐานะมนุษย์ปุถุชน ความรุนแรง และผลแห่งการสูญเสียใดๆ ได้เกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ด้วยสถานภาพที่แตกต่างกันออกไป เช่น พ่อแม่ ลูกสามี ภรรยา พี่ชาย น้องชาย เครือญาติและเพื่อนๆ
ในขณะที่หลายหน่วยงาน หลายองค์กรลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นเด็กและสตรี ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้จะสูญเสียพ่อและสามี พี่ชายอันเป็นที่รัก ครอบครัวที่สูญเสียพ่อและสามีจากเหตุการณ์ พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือ ทั้งภาครัฐและเอกชน
แต่เขากำลังทอดทิ้งหรือลืมเลือนกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งแม้บุคคลอันเป็นที่รักมิได้สูญเสียชีวิต แต่ก็สูญเสีย “อิสรภาพ” กลุ่มคนเหล่านี้ คือกลุ่มผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ที่ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีตามกฎหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวอของพวกเรา มิได้ต่างอะไรกับลูกที่สูญเสียพ่อและภรรยาที่สูญเสียสามี น้องสาวสูญเสียพี่ชาย แต่อย่างใด และเหตุไฉนเล่าพวกเราถึงไม่ได้รับการเยียวยา เมื่อภาระและหน้าที่ทุกอย่าง ผู้เป็นน้องสาว ภรรยา และแม่ต้องแบกภาระ นับว่าเป็นเรื่องยาก และเหนื่อย อ่อนล้ารู้สึกหมดหวัง แต่เราไม่ถอย เพราะเราต้องหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและจุนเจือเรื่องการศึกษาของลูกๆ หลานๆ
ครอบครัวหนึ่งที่ผู้เป็นพี่ชายถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ถูกนำตัวขึ้นศาลเรามีความรู้สึกว่า เราถูกมองในแง่ลบตลอด แม้กระทั่งจะพาหลานเข้าไปในศาล มีเจ้าหน้าที่ศาลคนหนึ่งบอกกับหลานว่า “อย่าเข้าไปเลย อย่าให้เด็กๆ ไปดูพ่อเป็นโจรมันไม่ดี” ในใจของฉันขณะนั้นคิดไปในทางที่ดีตลอด คิดว่าเขาห้ามไม่ให้รู้จักโจรนั้นมันดี แต่คำว่าโจร สำหรับพ่อของเด็ก มันเป็นเรื่องที่เราไม่อยากได้ยินและไม่มีวันลืมตลอดชีวิต
ในช่วงแรกสี่ปีแรก พวกเขาไม่รู้เรื่องกฎหมาย และขั้นตอนทางกฎหมาย พวกเราต้องการให้มีความช่วยเหลือ หรืออธิบายถึงคดีที่พี่ชายถูกฟ้อง ว่ามันคดีอะไร รู้แต่ว่าเป็นคดีความมั่นคง แล้วความมั่นคงคืออะไร ขั้นตอนของศาลมีอะไรบ้าง ปัญหาส่วนใหญ่ที่เราซึ่งเป็นน้องสาวกังวลมากที่สุด คือปัญหาทางการศึกษาของลูกๆ หลานๆ ที่เป็นผู้ชาย เพราะสภาพแวดล้อมตอนนี้ ยาเสพติดระบาดมากที่สุด และอนาคตของหลานเรา ความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน
ยังไม่มีใครมาชี้ว่านี้คือผลกระทบหนึ่ง จากผลพวงของเหตุการณ์ความไม่สงบ อาจมีบางหน่วยงานที่มองว่าการเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวพวกเราเหล่านี้เป็นการช่วยเหลือครอบครัวโจร แต่ตามกฎหมายแล้วผู้ต้องหาคือผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าหากยังไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือหรือเยียวยากลุ่มพวกเราหรือพวกเขาอีกหลายร้อยครอบครัว จำนวนประชาชนผู้ต่อต้านและเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐย่อมมีเพิ่มขึ้น และปัญหาของสังคมย่อมมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัญหาเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา และขาดความอบอุ่น ปริมาณเด็กที่ไม่รู้หนังสือ หรือติดยาเสพติด เพราะขาดผู้นำครอบครัวที่เป็นเสาหลัก ก็ย่อมมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่รัฐต้องการลดจำนวนเด็กที่ไม่รู้หนังสือหรือลดจำนวนเด็กติดยาเสพติด โอกาสก็คงเหลือน้อยลง
ยังมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอีกกว่า 500คน นั้นหมายถึงเกือบ 500 ครอบครัวที่คูณจำนวนสมาชิกทั่วทุกสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งสงขลา ที่ประสบปํญหาเดือดร้อน ทุกคนทุกหน่วยงานทุกองค์กรในสังคมต้องหันมากลับมาคิด ทบทวนและลบอคติที่มีอยู่ในใจ เพื่อยุติวงจรของความรุนแรง
บ้านใคร ใครก็รัก ใครก็หวง
ครอบครัวใคร ใครก็หวง มิใช่หรือ
แผ่นดินเกิด บ้านที่สร้าง มากับมือ
ทุกสิ่งสื่อ สิ่งหวงแหน ดั่งดวงใจ
..................................................
ไร้คำตอบ ปลอบขวัญ ที่หวั่นจิต
บอกสักนิด ฉันมีสิทธิ คิดรู้ไหม
พี่ฉัน คิดร้าย ให้ทุกข์ใคร
ผิดสิ่งใด ใครให้ คำตอบที
............................................
เมื่อไปเยี่ยม เปี่ยมด้วยเศร้า น้องทุกข์หนัก
พี่ที่รัก ช่างอ่อนแอ แลเห็นได้
บาดแผลมี ที่อกซ้าย พาอ่อนใจ
เหตุไฉน ใครทำร้าย กายพี่เรา
เขาสืบหา หลักฐาน ยาวนานนัก
ไม่ประจักษ์ สักนิด ที่คิดเล่า
ต้องรอศาล ฎีกา กี่ปีราว
พี่ของเรา คืนสู่บ้าน สำราญใจ
00000000000000000000
พลังส่งกลับ จากเธอ | สู่ฉัน
ฉันชื่อ.....ปาตีเมาะ ยูโซ๊ะ
ฉันได้เรียนรู้ผ่านถึงชีวิตจริงของเธอทั้งหลายในเรื่องเล่า แต่ละชีวิตที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ล้วนผ่านบททดสอบที่แตกต่างกันไป บางคนผ่านการทดสอบจากความยากลำบากบางคนผ่านการทดสอบจากความสูญเสียทรัพย์สินมีค่า ตลอดจนเกียรติยศศักดิ์ศรี บางคนผ่านการทดสอบจากความสูญเสียคนรัก สามี ลูก และคนรู้จัก บางคนผ่านการทดสอบจากความกลัว ความเหงา ความเศร้าโศกคละเคล้ากันไป ทั้งหมดนี้ คือบททดสอบที่เกิดขึ้นกับตัวละครที่มีชีวิตจริงเหล่านี้
ดั่งวจนะของพระเจ้า “และแน่นอน เรา(อัลลอฮฺ)จะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จากความกลัวเล็กน้อยและความหิว และด้วยความสูญเสีย จากทรัพย์สมบัติ ชีวิตและพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด ซึ่งก็คือ บรรดาผู้ที่เมื่อมีเคราะห์ร้ายมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่าแท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์”
อัลกุรอาน อัลบะเกาะเราะฮฺ :155-156
สุดท้ายหากอดทนจากบททดสอบที่ได้รับเขาก็จะได้รับข่าวดี นั่นคือรางวัลแห่งชีวิตเป็นการตอบแทน เช่นเดียวกับตัวละครที่มีชีวิตจริงเหล่านี้ ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความอดทนของทุกท่านด้วยสิ่งที่ดีงาม
00000000000000000000000000
ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942 หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี
ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา
- 'รอซีดะ ดาโอ๊ะ': แผ่นดินนี้...เพื่อเธอ
- 'กัลยา โสพาศรี': หัวใจไม่ยอมแพ้
- 'นฤมล สาและ': คลื่นชีวิต
- 'สีตีนอร์ เจ๊ะเล๊าะ': ฉันเป็นพยานให้สามี
- 'สม โกไศยกานนท์': ต่อลมหายใจ
- 'มาริสา สมาแห': อยู่กับวิถีที่แปรผัน...
- 'อรอุมา ธานี': สิ่งที่เหลืออยู่
- 'นิเด๊าะ อิแตแล': พลังผู้หญิงสร้าง “ชุมชนสันติสุข”
- 'อารีดา สาเม๊าะ': ฉันคือเลือดของพ่อ
- 'คำนึง ชำนาญกิจ': แม่ผู้ตามหาความเป็นธรรม
- 'ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ': มีน้ำตา...ก็หัวเราะได้
- 'ดวงสุดา สร้างอำไพ: ชีวิตหลังปลดแอก
- 'แยน๊ะ สะละแม': ความเป็นธรรมต้องสู้ถึงจะได้มา
- 'ปัทมา หีมมิหน๊ะ': “ด้วยใจ”.... ภรรยาอดีตผู้ต้องหาความมั่นคง