Skip to main content

ดาวน์โหลด

บทคัดย่อ (ภาษาไทย)
รายงาน “ภาคใต้ของไทย : ก้าวไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการเมือง?”
 
Full Report (รายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษ)
SOUTHERN THAILAND: MOVING TOWARDS POLITICAL SOLUTIONS?

http://www.crisisgroup.org/library/documents/asia/south_east_asia/181_southern_thailand___moving_towards_political_solutions.pdf

 
ใบแจ้งข่าว
ภาคใต้ของไทย : ก้าวไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการเมือง?
 
กรุงเทพฯ/ บรัสเซลส์, 8 ธันวาคม 2552:  รัฐบาลไทยจะต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาภาคใต้ด้วยแนวทางการเมือง ถ้าหากต้องการที่จะยุติความรุนแรงในภาคใต้อย่างจริงจัง โดยควรจะยกเลิกกฎหมายที่มีความรุนแรง แสวงหาทางเลือกรูปแบบการปกครองใหม่ๆ และพูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
 
“ภาคใต้ของไทย : ก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยการเมือง? รายงานฉบับล่าสุดของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ปได้ชี้ว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ได้ ซึ่งความรุนแรงได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 3,900 คนในช่วงเกือบหกปีที่ผ่านมา เกือบหนึ่งปีภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ได้ประกาศเมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าจะปรับนโยบายที่เคยเน้นความมั่นคงมาสู่เรื่องการพัฒนาและความยุติธรรม สถานการณ์ในภาคใต้กลับมีความรุนแรงมากขึ้น กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนยังคงบังคับใช้อยู่ นอกจากนี้การติดอาวุธให้ประชาชนโดยรัฐก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวพุทธกับมุสลิมตึงเครียดมากยิ่งขึ้น
 
“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องมุ่งใช้แนวทางการเมืองอย่างจริงจัง” รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์ของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิสกรุ๊ปกล่าว “รัฐบาลจะต้องคิดในเรื่องรูปแบบการปกครองใหม่สำหรับภาคใต้และทบทวนนโยบายที่ปฏิเสธการเจรจากับขบวนการก่อความไม่สงบ”
 
ปัญหาสำคัญก็คือการขาดความตั้งใจทางการเมือง   ผู้สนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ได้เคลื่อนไหวท้าทายรัฐบาลผสมของนายอภิสิทธิ์ตลอดเวลา รัฐบาลต้องพึ่งพากองทัพในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ความเกรงใจทหารได้เป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการปรับนโยบายภาคใต้ กองทัพได้สกัดกั้นความพยายามที่จะทำให้ศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เป็นอิสระจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งคุมโดยทหาร  นอกจากนี้ กองทัพยังไม่เห็นด้วยต่อการที่รัฐบาลแสดงเจตจำนงที่จะยกเลิกกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดฉุกเฉินซึ่งประกาศใช้อยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสอีกด้วย
 
การที่รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณเพื่อการพัฒนาลงไปในภาคใต้นั้น หากไม่มีมาตรการควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพและการบริหารที่โปร่งใสก็อาจจะทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นได้   งบประมาณการพัฒนาจำนวนมากอาจจะกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความพยายามในการหาทางออกจากความขัดแย้งเพราะว่าภาคใต้ได้กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์อันมีมูลค่ามหาศาลสำหรับเจ้าหน้าที่บางคน ในช่วงเกือบหกปีที่ผ่านมาเม็ดเงินที่ลงไปในภาคใต้ตอนล่างมากกว่า 109,000 ล้านบาท  คอร์รัปชั่นจะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลซึ่งในขณะนี้ก็ต้องต่อสู้อย่างยากลำบากเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากชาวมลายูมุสลิมอยู่แล้ว นอกจากนี้  โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้อาจไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานคือเรื่องการเมืองที่ผลักดันให้เกิดขบวนการต่อต้านขึ้น
 
แม้ว่ารัฐบาลจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาความยุติธรรม แต่กลับไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต   นอกจากนั้นรัฐบาลยังคงสูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นไปอีกเพราะไม่สามารถที่จะจับผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการสังหารโหดในมัสยิดอัล-ฟุรกอนซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตสิบคนได้   การสอบสวนของตำรวจชี้ว่าผู้กระทำการอาจเป็นชาวพุทธและบางคนก็อาจเป็นสมาชิกของกลุ่มอาสาสมัครรักษาหมู่บ้านที่รัฐจัดตั้งขึ้น รัฐบาลยังเพิกเฉยต่อข้อเสนอในการจัดตั้งระบบการบริหารรูปแบบใหม่ๆ ในภาคใต้อีกด้วยโดยอ้างว่าการดำเนินการเช่นนั้นจะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
 
“มีข้อเสนอทางการเมืองหลายๆ ข้อไม่ได้ขัดต่อหลักการรัฐเดี่ยวของประเทศไทยซึ่งควรจะได้นำมาอภิปรายกันอย่างเปิดเผย” นายจิม เดลา-จิอาโคม่า ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปกล่าว “ถ้ารัฐบาลจริงจังกับการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องเปลี่ยนทิศทางและแนวทางใหม่ควรจะต้องมีการพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มก่อความไม่สงบรวมอยู่ด้วย”